"ฮาคีม อัล อาไรบี" คือใคร? ทำไมเขาถึงถูกจับที่ไทย?

"ฮาคีม อัล อาไรบี" คือใคร? ทำไมเขาถึงถูกจับที่ไทย?

"ฮาคีม อัล อาไรบี" คือใคร? ทำไมเขาถึงถูกจับที่ไทย?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อดีตนักเตะทีมชาติบาห์เรนที่มีสถานะผู้ลี้ภัยถูกจับเพราะอะไร? หรือสิ่งที่เขากำลังต่อสู้อยู่มีอะไรมากกว่านั้น?

จบลงด้วยดีสำหรับ ราฮาฟ โมฮาเหม็ด แอล-เคนูน วัยรุ่นสาวชาวซาอุดิอาระเบียที่หนีมาที่ไทย และอ้างว่าเธออาจจะถูกฆ่าหากถูกส่งตัวกลับประเทศเนื่องจากละทิ้งศาสนาอิสลาม ก่อนที่เธอจะใช้พลังของโซเชียลมีเดีย จนสามารถลี้ภัยในแคนาดาได้

อย่างไรก็ดีเธอไม่ใช่เคสแรก สำหรับการส่งตัวผู้ลี้ภัย หรือผู้ที่กำลังจะขอลี้ภัยกลับประเทศบ้านเกิด เพราะเมื่อปลายปี 2018  ฮาคีม อัล อาไรบี นักฟุตบอลเชื้อสายบาห์เรน ก็ถูกจับที่สนามบินสุวรรณภูมิ ตามหมายจับของอินเตอร์โพล หรือองค์การตำรวจสากล

 

อย่างไรก็ดี อัล อาไรบี ไม่ได้โชคดีเหมือนราฮาฟ เมื่อเขายังคงถูกคุมขังที่ไทยจนถึงทุกวันนี้ รวมเป็นเวลาเกือบ 2 เดือนแล้ว และยังไม่ทราบชะตากรรมว่าจะถูกปล่อยตัว หรือถูกส่งกลับบาห์เรน ซึ่งเป็นที่ที่เขาอ้างว่าอาจจะถูกฆ่าเมื่อไปถึง

เขาเป็นใคร? อะไรที่ทำให้ให้เขาต้องมาถูกจับที่ไทย? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand

อาหรับสปริง

ปี 2011 ได้เกิดกระแสลุกฮือต่อต้านรัฐบาลไปทั่วทุกหย่อมหญ้าของในตะวันออกกลาง หรือที่เรียกกันว่า “อาหรับสปริง” เช่นเดียวกับที่บาห์เรน ประเทศเกาะเล็กๆ ในอ่าวเปอร์เซียที่มีประชากรไม่ถึง 2 ล้านคน

 1

ในวันวาเลนไทน์ของปีนั้น ผู้คนหลายหมื่นคนที่ส่วนใหญ่เป็นมุสลิมนิกายซุนนีออกมาชุมนุมที่จตุรัสไข่มุก กรุงมานามา เมืองหลวงของประเทศ จากความไม่พอใจในการแบ่งแยกชนชั้น และปัญหาเศรษฐกิจ พร้อมเรียกร้องประชาธิปไตยจากการปกครองของราชวงศ์คอลิฟะห์ ซึ่งเป็นมุสลิมนิกายชีอะฮ์

การชุมนุมประท้วงครั้งดังกล่าว นอกจากประชาชนแล้ว ยังมีคนดังที่เป็นนักกีฬา นักมวยปล้ำ นักแฮนด์บอล รวมไปถึงนักฟุตบอลระดับทีมชาติอย่าง ซาเยด อัดนาน, อาลา และมูฮัมหมัด สองพี่น้องฮูบาอิล เข้าร่วมการประท้วงด้วย

ซาเยดคือกองหลังตัวหลักของทีมชาติบาห์เรนที่เคยเกือบได้ไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายครั้งแรกในประวัติศาสตร์เมื่อปี 2010 รวมทั้งมีชื่อเข้าชิงรางวัลนักเตะยอดเยี่ยมแห่งปีเอเชียในปีเดียวกัน ในขณะที่อาลา คือ ดาวยิงสูงสุดตลอดกาลของทีมชาติในขณะนั้น  

 2

แม้ว่าการประท้วงจะเป็นไปด้วยความสันติ แต่ทางการกลับใช้กำลังในการปราบปรามและสลายการชุมนุม นักกิจกรรมอ้างว่ามีผู้เสียชีวิต 4 คนตอนที่ทหารใช้รถถัง ทำลายค่ายพักพิงของผู้ประท้วง และมีผู้คนกว่า 30 คนต้องสังเวยชีวิตจากเหตุการณ์นั้น

ผู้เล่นเอาชีวิตรอดไปได้ แต่พวกเขาก็ถูกติดตาม ทั้งสามรวมไปถึง ผู้รักษาประตูทีมชาติบาห์เรนถูกยืนยันตัวว่าอยู่ในเหตุการณ์ประท้วง พวกเขาถูกไล่ออกจากสโมสรและถูกแบนจากทีมชาติ ไม่นานหลังจากนั้นก็โดนจับ

“เราเห็นคนสวมหน้ากากเดินออกมาจากรถ พวกเขาพูดว่า ‘กัปตันอาลาพาน้องชายของคุณมาด้วย’ และเราก็ต้องไปกับพวกเขา” อาลากล่าวใน E:60 The Athletes of Bahrain สารคดีของ ESPN

“เขาพาผมไปไว้ในห้องและทำร้ายผม หนึ่งในกลุ่มคนเหล่านั้นทุบผมและบอกว่าจะทำให้ขาผมหัก พวกเขารู้ว่าเราคือใคร เราถูกบังคับให้อดทน เราต้องอดทน ถ้าเราไม่อดทนล่ะก็...สิ่งเลวร้ายกว่านี้อาจจะเกิดขึ้นกับเราก็ได้”

 3

นอกจากพวกเขาแล้ว นักกีฬาและสต๊าฟฟ์โค้ชจำนวนมากก็ถูกจับหลังเหตุการณ์ในครั้งนี้ เช่นเดียวกับ ฮาคีม อัล อาไรบี อดีตกองหลังทีมชาติบาห์เรน ที่ถูกล็อคตัวขณะเดินอยู่บนถนนขณะเดินทางไปชมเกมคลาสิโก ระหว่าง บาร์เซโลนา กับ เรอัล มาดริด ในผับที่บ้านเกิด 

ผมผิดอะไร?

อัล อาไรบี ถูกตั้งข้อหาว่าในช่วงอาหรับสปริง เขาได้บุกทำลายทรัพย์สินในสถานีตำรวจ แต่เขาก็ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้และยืนยันว่าในช่วงนั้นเขาลงแข่งฟุตบอลให้ทีมที่ต่างประเทศ และแข่งขันในนัดนี้ก็มีการถ่ายทอดสดทางทีวีอีกด้วย

กองหลังวัย 26 ปีเชื่อว่าสาเหตุที่เขาโดนจับในครั้งนี้ สาเหตุที่แท้จริงน่าจะมาจากการที่พี่ชายเขาทำกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งเป็นวิธีที่เจ้าหน้าที่บาห์เรนใช้กดดันคนที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล ด้วยวิธีกดดันครอบครัวของผู้เคลื่อนไหว

เขาถูกจองจำอยู่ราว 3 เดือน และตัดสินใจหนีออกนอกประเทศในปี 2014 ทันทีที่ถูกปล่อยตัว และลี้ภัยมาอยู่ที่ออสเตรเลีย เขาเปิดเผยภายหลังว่าในระหว่างถูกจับกุมเขาถูกทรมาน และกระทำอย่างทารุณ

"พวกเขาปิดตาผม" นายอัล อาไรบี กล่าวกับ New York Time จากเมืองเมลเบิร์นในปี 2014

 4

"พวกเขาจับผมแน่นมาก ๆ แล้วมีคนหนึ่งเริ่มทุบขาผมอย่างแรง แล้วก็พูดว่า 'คุณจะไม่ได้เล่นฟุตบอลอีกต่อไป เราจะทำลายอนาคตคุณ'"

สถานะผู้ลี้ภัยทำให้เขาได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ออสเตรเลีย อัล อาไรบี ได้เล่นฟุตบอลอีกครั้งกับ ก่อนจะเป็น  Pascoe Vale FC ในเนชันแนล วิคตอเรีย พรีเมียร์ลีก แม้จะไม่ใช่ลีกสูงสุด แต่ก็ทำให้เขามีความสุข แต่แล้วการมาไทยในปี 2018 อาจทำให้เขาคิดผิด

ฮันนีมูนฝันร้าย

ประเทศไทยในช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค. อาจจะเป็นหมุดหมายสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางมาพักผ่อนตามหัวเมืองใหญ่ เนื่องจากอากาศไม่ร้อนหรือหนาวจนเกินไป เช่นเดียวกับ ฮาคีม อัล อาไรบี

นักฟุตบอลชาวบาห์เรนในลีกรองของออสเตรเลีย เดินทางมาพร้อมกับภรรยาเพื่อดื่มด่ำกับบรรยากาศของสยามเมืองยิ้มในช่วงปลายปี 2018 ทว่าเขาต้องฝันสลาย เมื่อถูกเจ้าหน้าที่จากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองกักตัวไว้ ทันทีที่เดินทางถึงสนามบินสุวรรณภูมิ

"ผมรู้สึกช็อกมากกับข่าวนี้ และโมโหมาก ไม่รู้ว่าทำไม (รัฐบาลบาห์เรน) ถึงทำอย่างนี้กับผม" อัล อาไรบี กล่าวกับบีบีซีไทย ในขณะถูกควบคุมตัวที่สถานกักกันของ สตม. สวนพลู

 5

"ผมก็แค่นักฟุตบอลคนหนึ่ง ไม่ได้สังกัดฝ่ายการเมืองฝ่ายใด และไม่ได้ทำกิจกรรมทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น"

ในตอนแรกคาดกันว่าเขาถูกจับเนื่องจากมี “หมายแดง” ที่ออกโดย องค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ (Interpol) ที่ร้องขอจากรัฐบาลบาห์เรน จากคดีทำลายสถานีตำรวจที่ในช่วงอาหรับสปริงที่เขาถูกพิพากษาลับหลังจำคุก 10 ปี ทั้งที่ทั้งสองประเทศไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน

อย่างไรก็ดี อันที่จริงหมายแดงเขาน่าจะต้องถูกยกเลิกไปแล้ว เนื่องจาก อัล อาไรบี ได้รับรองสถานะผู้ลี้ภัยจากสหประชาชาติให้พำนักได้ที่ออสเตรเลีย แต่เขายังคงถูกกักตัวจนถึงวันนี้ แล้วอะไรคือสาเหตุที่แท้จริง?

เดอะ ลาสต์บอส?

จากเอกสารที่มีการเปิดเผยเมื่อปี 2015 ระบุว่า ช่วงที่มีการประท้วงขับไล่รัฐบาลอย่างรุนแรงในปี 2011 ได้มีการตั้งคณะกรรมการสืบสวนโดยเฉพาะ เพื่อค้นหาว่ามีนักกีฬาคนใดที่เข้าไปร่วมการชุมนุม ทำให้มีนักกีฬา โค้ช กรรมการอย่างน้อย 150 รายถูกจับกุมหลังเหตุการณ์ในครั้งนั้น รวมไปถึงอัล อาไรบี

“ความรุนแรงและความทารุณใหญ่โตมาก เรามีงานต้องทำมากเกินไป เราไม่สามารถรับมือได้ หมอและคนจำนวนมากถูกจับ นักฟุตบอล นักบาสเก็ตบอล ครู และครูสอนศาสนา” นาบีล ราญาบ ผู้นำกลุ่มสิทธิมนุษยชนในบาห์เรนเล่าย้อนกลับไปในปี 2012

“คนที่โดนจับ พวกเขาไม่แคร์เกี่ยวกับภาพลักษณ์ในระดับชาติ พวกเขาคือกองทัพประชาชน”

 6

แต่สิ่งที่ไม่น่าเชื่อก็คือหัวหน้าของคณะกรรมการสืบสวนในครั้งนี้คือ ชีค ซัลมาน บิน อิบรอฮิม อัล เคาะลีฟะฮ์ ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของกษัตริย์บาห์เรนองค์ปัจจุบัน และเป็นประธานสมาคมฟุตบอลบาห์เรนในขณะนั้น ตำแหน่งที่ควรจะอยู่เคียงข้างกับนักฟุตบอลมากที่สุด

จากเอกสารระบุว่าการสืบสวนต่างๆ ที่เกี่ยวกับหาตัวนักกีฬามาลงโทษนั้น ต้องผ่านความเห็นชอบของชีค ซัลมาน ที่หลังจากนั้นได้ดำรงตำแหน่งประธานสหพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย และรองประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ด้วยกันทั้งสิ้น  

“สมาคมกีฬาทุกสมาคมถูกควบคุมโดยสมาชิกจากราชวงศ์ เรามีสมาคมเป็น 100 สมาคมที่ควบคุมโดยสมาชิกจากราชวงศ์” นาบีลกล่าวต่อ

แม้เขาจะปฎิเสธ แต่ก็มีกระแสต่อต้านเขาในการลงสมัครชิงตำแหน่งประธานฟีฟ่าในปี 2016 และ อัล อาไรบี ก็เป็นหนึ่งในคนที่วิพากษ์วิจารณ์เขาอย่างรุนแรงจากกรณีนี้ และนี่อาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาถูกจับกุมตัวที่ไทย

"ในปี 2015 และ 2016 ฮาคีมให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศหลายแห่ง ซึ่งทุกครั้งเขาจะพูดไม่ดีเกี่ยวกับ ชีค ซัลมาน บิน อิบรอฮิม อัล เคาะลีฟะฮ์" เซเยด อาเม็ด เอลวาดาอี ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ของสถาบันเพื่อสิทธิและประชาธิปไตยบาห์เรน กล่าวกับ บีบีซีไทย

ชะตากรรมของ อัล อาไรบี

"ผมอยากกลับออสเตรเลียเพราะที่ออสเตรเลียมีสิทธิมนุษยชน ต่างจากที่บาห์เรนที่ไม่มีสิทธิมนุษยชน" เขากล่าวกับบีบีซีไทยผ่านโทรศัพท์ที่สถานกักกันของ สตม. สวนพลู เขากล่าวว่า อนาคตของเขา "ใกล้ที่จะจบสิ้นแล้ว" หากเขาจะต้องถูกส่งตัวกลับไปยังบาห์เรน

 7

"ผมรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับผม ผมรู้ว่าผมจะต้องถูกซ้อมทรมานและบังคับให้สารภาพในสิ่งที่ผมไม่เคยทำ" เขากล่าว

"ผมกลัวมาก ๆ ว่าอาจถูกส่งกลับไปบาห์เรนเมื่อไรก็ได้ ซึ่งถ้ามันเป็นแบบนั้นจริง ชีวิตผมต้องจบสิ้นแน่นอน ผมจะถูกซ้อมทรมาน และอาจจะถูกฆ่าตายด้วยซ้ำ" อัล อาไรบี กล่าวกับบีบีซีไทยทางโทรศัพท์ด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ

เป็นเวลาเกือบ 2 เดือนแล้วที่อัล อาไรบี ยังคงถูกกักขังที่ไทย และยังไม่รู้ชะตากรรม ทำให้มีหลายฝ่ายเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวเขาโดยเร็ว รวมไปถึง สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่า ที่ได้ออกแถลงการณ์ ใจความว่า

“หลังจากได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกับสมาพันธ์ฟุตบอลออสเตรเลียครั้งใหม่ ฟีฟ่าขอเรียกร้องอีกครั้งให้แก้ไขปัญหากรณีของฮาคีม อัล อาไรบี ซึ่งเป็นคดีที่น่าวิตกกังวลในขณะนี้ โดยเร็วและเป็นไปอย่างมีมนุษยธรรม”

ในขณะที่สมาพันธ์ฟุตบอลออสเตรเลียหรือ FFA ก็แสดงความกังวลในโอกาสที่จะมีการส่งตัว อัล อาไรบี ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน เดวิด กัลลอบ ซีอีโอของ FFA ย้ำผ่านทวิตเตอร์ว่าสมาคมฯ ให้การสนับสนุนนักเตะรายนี้

“เรายังคงรู้สึกกังวลเป็นอย่างมากต่อกรณีของนายอัล อาไรบี เราได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทย บาห์เรน และออสเตรเลีย ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อรับรองการปล่อยตัวของเขาตามอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ”

เช่นเดียวกับ มาริส เพย์น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของออสเตรเลีย ก็เพิ่งเข้าพบ ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศไทยเมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว อัล อาไรบี

เธอกล่าวกับ The Guardian สื่อยักษ์ใหญ่ของอังกฤษว่า “จะสนับสนุนการเดินทางกลับออสเตรเลียอย่างปลอดภัย ของ ฮาคีม อัล อาไรบี ที่ถูกคุมตัวที่ไทย”

“นายอัล อาไรบี ได้รับอนุญาตให้พำนักถาวรจากรัฐบาลออสเตรเลีย ที่รับรองสถานะของเขาในฐานะผู้ลี้ภัย”

8

แม้ว่าปัจจุบัน จะมีการใช้กระแสโซเชียลมีเดีย และแฮชแท็ก #SaveHakeem ในทวิตเตอร์เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวเขาโดยเร็ว แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าจากทางการไทยมากนัก

ชะตากรรมของเขาจะลงเอยอย่างไร จะถูกส่งกลับบาห์เรน อย่างที่ไทยมักจะกระทำกับผู้ลี้ภัย หรือสู่อ้อมอกของออสเตรเลีย ถิ่นพำนักถาวรใหม่ของเขา เรื่องนี้ก็คงต้องติดตามกันต่อไป

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ "ฮาคีม อัล อาไรบี" คือใคร? ทำไมเขาถึงถูกจับที่ไทย?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook