คุยกับ “เคร็ก ฟอสเตอร์” อดีตนักฟุตบอลผู้พยายามช่วย “ฮาคีม” ให้หลุดพ้นจากการจองจำในไทย

คุยกับ “เคร็ก ฟอสเตอร์” อดีตนักฟุตบอลผู้พยายามช่วย “ฮาคีม” ให้หลุดพ้นจากการจองจำในไทย

คุยกับ “เคร็ก ฟอสเตอร์” อดีตนักฟุตบอลผู้พยายามช่วย “ฮาคีม” ให้หลุดพ้นจากการจองจำในไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไม่ได้มีกระแสพูดถึงเพียงแต่ในแวดวงกีฬาเมืองไทยเท่านั้น แต่เรื่องราวของนักฟุตบอลคนหนึ่งนามว่า ฮาคีม อัล อาไรบี กำลังเป็นที่สนใจของ “คนทั่วโลก”

หลังจากเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2561 ฮาคีม อัล อาไรบี อดีตกองหลังเยาวชนทีมชาติบาห์เรนในวัย 25 ปี เดินทางมาพักผ่อนที่ประเทศไทยกับภรรยา ทว่าเมื่อมาถึงสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ เขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองดำเนินการเข้าจับกุมและโดนคุมขังอยู่ในเรือนจำในไทย จากคำร้องขอของรัฐบาลบาห์เรนที่ต้องการให้ประเทศไทยส่งตัวเขากลับบาห์เรนในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน

ฮาคีม อัล อาไรบี ขณะถูกจับกุมตัว

>> ตม.คุมอดีตนักบอลทีมชาติบาห์เรนฝากขัง เตรียมส่งผู้ร้ายข้ามแดน

ทว่าเรื่องไม่ได้จบลงเพียงแค่นั้น เพราะก่อนหน้านี้ ฮาคีม มีผู้สถานะเป็นผู้ลี้ภัยในออสเตรเลีย นั่นทำให้รัฐบาลออสเตรเลียออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวนักเตะคนดังกล่าว นักฟุตบอลและนักกีฬาจากทั่วทุกสารทิศพร้อมใจขึ้นแฮชแท็ก #SaveHakeem ในโซเชียลมีเดีย รวมถึงมีข่าวออกมาล่าสุดว่า ประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบจากฟีฟ่า โดยทัพช้างศึกอาจโดนคว่ำบาตรในการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2022 หากมีการส่งตัวข้ามแดนเกิดขึ้น

Getty Imagesคำว่า

>> ออสเตรเลียเรียกร้อง "บิ๊กตู่" ปล่อยตัวนักฟุตบอลบาห์เรน หลังได้สิทธิลี้ภัย
>> งานเข้าบอลไทย! อาจโดนฟีฟ่าแบนชวดคัดบอลโลก 2022 กรณี "ฮาคีม อัล อาไรบี"

หนึ่งในนักฟุตบอลที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ #SaveHakeem อย่างเต็มตัวก็คือ เคร็ก ฟอสเตอร์ อดีตมิดฟิลด์ทีมชาติออสเตรเลีย ที่เคยค้าแข้งอยู่กับสโมสรพอร์ทสมัธ และคริสตัล พาเลซ มาแล้ว และหลังจากที่เขาเลิกเล่นฟุตบอลอาชีพ เขาก็มุ่งหน้าสู่การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยรวมถึงเยาวชนที่อายุยังน้อยอย่างเต็มตัวมากว่า 10 ปี

Sanook! Sport มีโอกาสได้พูดคุยกับ เคร็ก ฟอสเตอร์ ภายในงานแถลงข่าวผลรางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2561 โดย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เกี่ยวกับประเด็นของ ฮาคีม อัล อาไรบี ที่เขาเอ่ยปากอย่างตรงไปตรงมาว่า “ผมต้องช่วยเขา”

เคร็ก ฟอสเตอร์

อะไรคือเหตุผลที่คุณลงมาทำแคมเปญ #SaveHakeem เพื่อช่วยเหลือ ฮาคีม อัล อาไรบี ให้มีอิสรภาพ?

เหตุผลก็คือ ผมเคยเล่นให้ทีมชาติออสเตรเลีย เคยค้าแข้งอยู่ที่ออสเตรเลีย ฮาคีมก็เล่นอยู่ในลีกรองของออสเตรเลีย ผมรู้สึกว่านี่คือหน้าที่ของผมที่ผมต้องดูแลผู้เล่นที่อายุน้อยกว่า และช่วยเขาจากปัญหาด้านการเมือง นอกจากผมก็ยังมีอดีตนักฟุตบอลทั่วโลกต้องการให้ความช่วยเหลือในกรณีนี้ด้วย ผมต้องช่วยเขา เพราะนอกจากเขาอายุยังน้อย เขายังมีภรรยาที่อดทนรออยู่ที่ออสเตรเลีย ฮาคีมเหมือนคนหนุ่มที่กำลังสูญเสียความหวังในชีวิต ผมคงนอนไม่หลับ ถ้าไม่ทำอะไรสักอย่างให้มันถูกต้อง

นี่คือสิ่งที่ไม่ยุติธรรมมากๆ สำหรับ ฮาคีม ในมุมมองของคุณ?

ใช่ มันไม่ยุติธรรมอย่างมาก เขาเป็นผู้ลี้ภัยซึ่งได้รับความคุ้มครองจากออสเตรเลีย ตอนนี้เขาควรจะต้องได้กลับบ้านไปหาภรรยาแล้ว มันไม่มีความจำเป็นที่รัฐบาลไทยจะมาขังเขาไว้ในคุกเลย ประเทศไทยเป็นประเทศที่ให้ความสนใจฟุตบอล และมีการพัฒนาด้านนี้อย่างรวดเร็ว เห็นได้จากศึกเอเชียนคัพที่ผ่านมา ซึ่งเราก็ยินดีและภูมิใจที่ประเทศในเอเชียมีฝีมือ ฮาคีมเองก็เป็นนักฟุตบอลคนหนึ่ง พวกเราชาวออสเตรเลียรักคนไทย แต่ปัญหาเรื่องนี้กำลังทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศห่างเหิน ผมไม่เข้าใจว่าคอฟุตบอลด้วยกันทำไมถึงไม่รักนักฟุตบอลคนหนึ่ง ถ้าคุณรักฟุตบอลจริง คุณต้องลุกขึ้นมาปกป้องเขาแล้ว เพราะหากไม่มีนักเตะ ก็คงไม่มีเกมการแข่งขันฟุตบอล มันเป็นไปได้อย่างไรที่นักฟุตบอลผู้มีสิทธิมนุษยชนคนหนึ่งกำลังถูกทอดทิ้ง ไม่ว่าใครก็ตามที่รักฟุตบอลควรจะให้ความช่วยเหลือกับเขาได้แล้ว

Getty Imagesเคร็ก ฟอสเตอร์ สมัยที่เล่นให้ทีมชาติออสเตรเลีย

>> "ฮาคีม อัล อาไรบี" คือใคร? ทำไมเขาถึงถูกจับที่ไทย?

กระบวนการที่คุณกำลังดำเนินการอยู่ในตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง?

เราคุยกับรัฐบาลไทย และคนของสถานเอกอัครราชทูตอยู่ตลอด ตอนนี้มีการสนับสนุนจากนานาชาติเพื่อ ฮาคีม มากขึ้น เพราะเขาเป็นเคสศึกษาสำคัญในการเดินทางระหว่างประเทศสำหรับผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ นอกจากที่เราพยายามเพิ่มโปรไฟล์ให้เขาแล้ว ยังมีอดีตตำนานนักเตะของลิเวอร์พูลอย่าง ร็อบบี้ ฟาวเลอร์ ออกมาบอกว่า “Hakeem, go home” หรือจะเป็น แกรี่ ลินิเกอร์ อีกหนึ่งตำนานของสโมสรท็อตแน่ม ฮอตสเปอร์ส ที่ทำงานให้บีบีซีก็กล่าวว่า “We Want Hakeem go home” ในขณะที่ผู้รักษาประตูสาวทีมชาติสหรัฐอเมริกา โฮป โซโล ก็เผยความในใจว่า “We support Hakeem” เช่นกัน มีผู้คนจำนวนมากกำลังโกรธกับการกระทำของประเทศไทย ไม่ใช่แค่เพราะเขาเป็นผู้ลี้ภัย แต่เขาเป็นนักฟุตบอลคนหนึ่งที่กำลังติดคุกทั้งที่เขาไม่สมควรต้องเข้าไปอยู่ในนั้น ประเทศที่คลั่งไคล้ฟุตบอลประเทศอื่นๆ ยังบอกว่า ทำไมประเทศไทยถึงทำกับนักฟุตบอลแบบนี้ ซึ่งเราพยายามจะเจรจากับรัฐบาลไทยให้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง คำนึงถึงกฎหมายระหว่างประเทศ และปล่อยตัวเขาออกมา

ซึ่งคุณยังหวังว่าผลลัพธ์จะออกมาดี?

เราเชื่อว่ารัฐบาลไทยจะทำสิ่งที่ถูกต้อง นอกจากนั้นเราก็ขอให้ฟีฟ่าช่วยคุยกับทางประเทศบาห์เรนว่า พวกเขาไม่สามารถส่งนักฟุตบอลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนได้ มันผิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ถ้าพวกเขายืนยันจะทำเช่นนั้น เท่ากับว่าเราต้องไปต่อสู้กันในศาล และบาห์เรนอาจจะถูกกีดกันจากการเป็นสมาชิกของฟีฟ่าและคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) เพราะในระเบียบของ IOC มีข้อบังคับว่าต้องทำตามกฎสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ดังนั้นถ้าพวกเขากระทำการอันซึ่งขัดต่อกฎระเบียบของทั้ง 2 องค์กร นั่นหมายถึงการถูกขับออกจากสมาคมทันที

>> "ผมยังไม่อยากตาย" คำขอร้องจาก "ฮาคีม" ที่ถูกกักตัวในไทย แอมเนสตี้ระดมคนทั่วโลกช่วย

Getty Imagesแม้แต่แมตช์การแข่งขันเล็กๆ ยังมีการแสดงจุดยืนในความต้องการให้ปล่อยตัว ฮาคีม ออกจากเรือนจำ

 

 

สำหรับบุคคลทั่วไปที่อยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้ ฮาคีม มีอิสรภาพ พวกเขาควรทำอย่างไร?

ผมอยากขอร้องให้คนไทยทุกคนผู้เป็นมิตรกับออสเตรเลีย ช่วยบอกทางรัฐบาลไทยให้เข้าใจว่า ฮาคีมควรถูกปล่อยตัวทันที มันไม่ยุติธรรมกับนักเตะอายุน้อยผู้บริสุทธิ์ที่จะถูกขังอยู่ในคุก เขากำลังสูญเสียความหวัง เขาทำอะไรไม่ได้แม้แต่จะกลับไปพบหน้าภรรยา ฮาคีมบอกว่า “พวกเขายึดอาชีพฟุตบอลของผมไป พวกเขาทรมานผม จนตอนนี้เขาพรากหัวใจของผมไปด้วย เพราะผมไม่สามารถกลับไปพบครอบครัวและเล่นฟุตบอลได้ ซึ่งนั่นคือ 2 สิ่งที่ผมรักที่สุดในชีวิต ผมเชื่อว่าคนไทยเข้าใจผม ทุกคนย่อมรักครอบครัว และคนไทยก็รักในกีฬาฟุตบอล” ฮาคีมก็เหมือนกับเราทุกคน รวมถึงผมและคุณเองก็ตาม เขาอยากเล่นฟุตบอล อยากกลับไปเจอหน้าครอบครัว คนไทยทุกคนควรบอกรัฐบาลไทย ได้โปรดปล่อยตัวเขาเถอะ

บทสรุปเรื่องราวของ ฮาคีม อัล อาไรบี ยังไม่สิ้นสุด คงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดต่อไปว่าประเด็นนี้จะจบลงเช่นไร และประเทศไทยจะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้างไหมในอนาคต...

อัลบั้มภาพ 30 ภาพ

อัลบั้มภาพ 30 ภาพ ของ คุยกับ “เคร็ก ฟอสเตอร์” อดีตนักฟุตบอลผู้พยายามช่วย “ฮาคีม” ให้หลุดพ้นจากการจองจำในไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook