รุ่นเล็กไม่ดีหรือไง? : ไขข้อข้องใจทำไม UFC อยากตัดหางปล่อยวัดรุ่น 125 ปอนด์
ทุกกีฬาการต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นมวยสากล, ยูโด, เทควันโด้ หรือแม้กระทั่งศิลปะการต่อสู้แบบผสม (MMA - Mixed Martial Arts) ล้วนมีกติกาที่สำคัญอยู่เรื่องหนึ่ง นั่นคือ น้ำหนัก
แน่นอน ทุกคนล้วนเกิดมาไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของสรีระและโครงสร้างทางร่างกาย การแบ่งรุ่นตามน้ำหนัก จึงถือเป็นวิธีการที่ดูจะเท่าเทียมกันที่สุด เพื่อไม่ให้คู่ชกเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกันจนเกินไป
ก่อนอื่น เราคงต้องทำความชี้แจงก่อนว่า แม้จะเรียกชื่อรุ่นเหมือนกัน แต่การแบ่งเกณฑ์น้ำหนักระหว่าง MMA กับกีฬาต่อสู้แบบอื่นๆ นั้นไม่เหมือนกัน โดยในรุ่นฟลายเวตของศิลปะการต่อสู้แขนงอื่น อย่าง มวยสากล, มวยไทย หรือเทควันโด้ น้ำหนักจะอยู่ที่ 112 ปอนด์ หรือราว 51 กิโลกรัม แต่สำหรับ MMA นั้นจะกระโดดขึ้นมาสูงถึง 125 ปอนด์ หรือราว 57 กิโลกรัม
แม้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทาง MMA ไม่เคยให้เหตุผลอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่สถานการณ์จริงคงทำให้เราเห็นภาพ เพราะการซอยรุ่นของทาง MMA ที่น้อยกว่า ส่งผลให้มีนักสู้ที่สามารถเข้ามาอยู่ในรุ่นเดียวกันได้มากกว่า อันจะเป็นการช่วยให้กีฬา MMA ซึ่งมีประวัติศาสตร์ที่ยังไม่นานเท่ากับศิลปะการต่อสู้แบบอื่นๆ เติบโตขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว
ถึงกระนั้น เรื่องน้ำหนักก็ได้กลายเป็นปัญหากับสถาบัน MMA หมายเลข 1 ของโลกอย่าง UFC (Ultimate Fighting Championship) กับกระแสข่าวที่ว่าทางศึกกำลังมีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ด้วยการยุบรุ่นฟลายเวต 125 ปอนด์
เกิดอะไรขึ้นถึงทำให้ทาง UFC มีความคิดเช่นนั้น?
เค้าลางร้าย
สัญญาณอันตรายของรุ่น 125 ปอนด์ใน UFC เกิดขึ้นเมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคม 2018 เมื่อทาง UFC และ ONE Championship ศึก MMA รายการใหญ่ของเอเชีย ประกาศการแลกตัวนักสู้กัน โดย ดิมิเทรียส จอห์นสัน นักสู้ชาวอเมริกันอดีตแชมป์รุ่นฟลายเวตย้ายจาก UFC ไป ONE สวนทางกับ เบน อาสเกรน นักสู้ไร้พ่ายเพื่อนร่วมชาติ ที่สละเข็มขัดแชมป์ ONE รุ่นเวลเตอร์เวต 170 ปอนด์ (77 กิโลกรัม) ไปสู้ใน UFC
แม้การแลกตัวนักสู้ในครั้งนั้นจะเกิดขึ้นได้ไม่นานหลังจากที่จอห์นสันเสียเข็มขัดแชมป์รุ่นฟลายเวตของ UFC ให้กับ เฮนรี่ เซฮูโด้ นักสู้ร่วมชาติดีกรีเหรียญทองมวยปล้ำโอลิมปิกปี 2008 แต่ก็เป็นเรื่องที่สั่นสะเทือนวงการไม่น้อย เมื่อจอห์นสันนั้นคือสัญลักษณ์ และครองความยิ่งใหญ่ในรุ่นฟลายเวตมาโดยตลอด
นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้น เพราะหลังจากการแลกตัวเกิดขึ้นได้ไม่เท่าไหร่ ทาง UFC ก็ได้ประกาศปล่อยตัวนักสู้ในรุ่นฟลายเวตออกจากสถาบันไปหลายราย แม้ UFC จะประกาศให้เซฮูโด้ต้องป้องกันตำแหน่งแชมป์ครั้งแรกในรุ่นฟลายเวตกับ ทีเจ ดิลลาชอว์ นักสู้ชาวอเมริกัน เจ้าของแชมป์รุ่นแบนตั้มเวต 135 ปอนด์ (57 กิโลกรัม) ซึ่งต้องลดน้ำหนักลงมาสู้กับแชมป์ในรุ่นเล็กกว่า แต่สิ่งที่ดิลลาชอว์เปิดใจถึงการได้มาสู้ในไฟต์นี้ กลับเป็นอะไรที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
"UFC ต้องการปิดรุ่นนี้ก็เลยจ้างผมให้ลงมาสู้ แถมยังจ้างผมด้วยเงินเยอะโคตรๆ ซะด้วยเพื่อให้ผมได้แชมป์ 2 รุ่น ซึ่งสำหรับผม ยังไงก็วิน-วินแหละ ผมได้แชมป์ ได้สร้างตำนาน ส่วน UFC ก็จะได้ในสิ่งที่ต้องการ"
ตั้งรุ่นนี้เพื่อผู้เดียว?
หากย้อนประวัติศาสตร์ของ UFC คุณๆ ก็จะเห็นว่า รุ่นฟลายเวตของสถาบันนี้เพิ่งมีอายุเพียง 6 ปีเท่านั้นเอง ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีนักสู้เพียง 2 คนเท่านั้นที่เคยได้แชมป์รุ่นนี้ ได้แก่ เฮนรี่ เซฮูโด้ แชมป์คนปัจจุบัน และ ดิมิเทรียส จอห์นสัน ที่เพิ่งย้ายจาก UFC สู่ ONE ซึ่งเป็นชายคนแรกที่ได้แชมป์รุ่นนี้จากการเป็นผู้ชนะของทัวร์นาเมนต์ชิงแชมป์เมื่อปี 2012
หลายคนว่ากันว่า ทาง UFC เปิดทัวร์นาเมนต์และเพิ่มเข็มขัดแชมป์รุ่น 125 ปอนด์ ขึ้นมาเพื่อเอาใจจอห์นสันนี่แหละ เพราะแม้เจ้าของฉายา ‘Mighty Mouse’ จะเป็นนักสู้ที่มีฝีมือครบเครื่อง แต่ด้วยสรีระที่เล็ก กลับทำให้เขาสู้ในรุ่น 135 ปอนด์ ที่ใหญ่กว่าไม่ไหว การเปิดรุ่นใหม่ที่เหมาะสมกับเขา และหานักสู้น้ำหนักเดียวกันมาเป็นคู่แข่งดูจะเป็นการดีกว่า
ถึงกระนั้น สถานการณ์ในรุ่นฟลายเวตก็ไม่ได้เป็นไปอย่างที่ UFC วาดฝันไว้นัก เมื่อจอห์นสันนั้นเก่งเกินไปสำหรับนักสู้ในโลกตะวันตกที่น้ำหนักเท่ากัน โดยสามารถป้องกันแชมป์ได้ถึง 11 ครั้ง ตบนักสู้ระดับท็อปมาหมดทั้งรุ่น ก่อนจะมาเสียท่าในไฟต์ล่าสุดต่อเซฮูโด้ คนที่ ‘DJ’ สามารถเอาชนะ และหยุดสถิติไร้พ่ายของนักสู้ดีกรีเหรียญทองโอลิมปิกได้ในการเจอกันครั้งแรกเมื่อปี 2016
การที่จอห์นสันตัดสินใจออกจาก UFC ไปหาความท้าทายใหม่ในอีกซีกโลก ประกอบกับการปล่อยตัวนักสู้ในรุ่นฟลายเวตออกอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในปัจจุบัน (กลางเดือนมกราคม 2019) UFC เหลือนักสู้ในรุ่นนี้เหลือเพียง 22 คนเท่านั้น ต่างจากรุ่นที่ใหญ่กว่า 1 ขั้นอย่างแบนตั้มเวต ซึ่งมีนักสู้มากถึง 65 คนอย่างเห็นได้ชัด
และด้วยความที่ในสหรัฐอเมริกา ไม่มีสถาบันไหนนอกจาก UFC ที่เปิดรุ่น 125 ปอนด์ นักสู้ที่ถูกปล่อยตัวออกมาจึงเหลือทางเลือกไม่มากนัก โดยหากไม่ย้ายมาสู้ในทวีปเอเชีย ซึ่งมีหลายสถาบันที่มีการแข่งขันในรุ่นนี้ ก็ต้องทำน้ำหนักเพิ่มเพื่อไปสู้ในรุ่นที่ใหญ่กว่า หรือมิเช่นนั้นก็ต้องอำลาวงการ MMA ไปเลย ส่วนจะไปแข่งขันในกติกาอื่นหรือลาขาดจากวงการต่อสู้ก็สุดแท้แต่ละคน
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ คอเนอร์ แม็คเกรเกอร์ นักสู้ MMA ชื่อดังชาวไอริชดีกรีแชมป์ 2 รุ่นของ UFC คนแรกอดไม่ไหว ออกโรงแขวะ ชาตรี ศิษย์ยอดธง ผู้ก่อตั้งและ CEO ของศึก ONE ว่า มีส่วนในการทำลายรุ่นฟลายเวตของ UFC จากการดึงตัว Mighty Mouse เข้าสังกัด
"คุณน่าจะเซ็นนักสู้รุ่น 125 ปอนด์ไปให้หมดเลยนะคุณชาตรี เห็นคุณพูดเรื่องศิลปะการต่อสู้และความเคารพอยู่บ่อยๆ แต่รู้ไหม ความละโมบของคุณมันส่งผลต่อนักสู้เพื่อนๆ ของผมไปครึ่งรุ่นละ ถือซะว่าช่วยเหลือครอบครัวของพวกเขาหน่อยละกัน ด้วยความเคารพ เซ็นเข้าสังกัดคุณไปให้หมดเลย"
ใครคือตัวร้าย?
ข้อความจากทวิตเตอร์ของ ‘เกรียนไอริช’ นอกจากจะยังคงความเกรียนสมกับที่เป็นเขาแล้ว ยังถือเป็นการสร้างภาพให้ผู้บริหารสูงสุดของศึก ONE เป็นตัวร้ายในสายตาของคนในวงการ MMA อีกด้วย ทว่าเรื่องดังกล่าวคือการสร้างภาพที่เกินจริงไปหรือไม่?
เพื่อหาคำตอบ เราคงต้องมาดูสิ่งที่ไม่สามารถโกหกได้ นั่นก็คือ ตัวเลขสถิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อ Pay-Per-View (PPV) เพื่อรับชม อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของวงการศิลปะการต่อสู้ โดยศึกใหญ่ของ UFC ที่มีคู่เอกเป็นการต่อสู้ในรุ่นฟลายเวต ซึ่งขายได้มากที่สุด ต้องย้อนกลับไปถึงปี 2014 ในศึก UFC 178 ที่ ดิมิเทรียส์ จอห์นสัน ป้องกันแชมป์กับ คริส คาเรียโซ่ โดยทำยอด PPV ได้อยู่ที่ 205,000 วิว
ประเด็นก็คือ ตัวเลขดังกล่าวถือว่าน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับรุ่นอื่น แม้กระทั่งรุ่นที่ใหญ่กว่าเพียงขั้นเดียวอย่างรุ่น 135 ปอนด์ โดยศึก UFC ซึ่งมีคู่เอกในรุ่นแบนตั้มเวทที่มียอด PPV สูงสุดคือ ศึก UFC 132 เมื่อปี 2011 ที่ โดมินิค ครูซ ทำศึกครั้งที่สองกับ ยูไรยาห์ เฟเบอร์ ที่ขายได้ 350,000 วิว
ถึงกระนั้น ไม่ว่านักสู้จะมีฝีมือดีขนาดไหน ไฟต์ที่อุดมไปด้วยเรื่องราวดราม่ากลับเป็นสิ่งที่ขายได้เสมอ เพราะอย่างไฟต์ล่าสุดที่จอห์นสันขึ้นชกและเสียแชมป์ในศึก UFC 227 ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่า ยอดซื้อ PPV ที่สูงถึง 300,000 วิวนั้น ส่วนใหญ่มาจากคู่เอกในรุ่น 135 ปอนด์ ที่เป็นศึกล้างตาระหว่าง ทีเจ ดิลลาชอว์ และ โคดี้ การ์แบรนด์ท ซึ่งมีกรณีพิพาททั้งใน และนอกสังเวียนกันมาก่อน
และเรื่องราวดราม่าลักษณะนี้ก็เป็นสิ่งที่ คอเนอร์ แม็คเกรเกอร์ เชี่ยวชาญ เพราะเขามักจะใช้วาทศิลป์สุดเกรียนในการสร้างกระแสให้กับไฟต์ที่ตนขึ้นสู้อยู่เสมอ ส่งผลให้ 5 ไฟต์ใน UFC ที่มียอด PPV สูงสุด มีไฟต์ที่เกรียนไอริชขึ้นสู้ถึง 4 ไฟต์ ซึ่งรวมถึงไฟต์ที่เจ้าตัวสู้กับ คาบิบ นูร์มาโกเมดอฟ แชมป์รุ่นไลท์เวต 155 ปอนด์ (70 กิโลกรัม) ที่ทำยอด PPV สูงสุดตลอดกาล 2.4 ล้านวิวด้วย
ตัวเลข PPV ได้สะท้อนถึงกระแสนิยมของผู้ชม ที่ไม่ค่อยปลื้มกับการต่อสู้ของคนตัวเล็กน้ำหนักน้อย แถมยังไม่ค่อยมีเรื่องราวดราม่าเหมือนนักสู้รุ่นใหญ่กว่า ไฟต์ที่มีคู่เอกเป็นการต่อสู้ในรุ่นฟลายเวตจึงมักจะถูกโยกไปสู้ในศึก Fight Night หรือศึกรองที่สามารถดูได้โดยไม่ต้องซื้อ PPV ขอแค่เป็นสมาชิกของเคเบิลทีวี หรือซื้อ Fight Pass บริการสมาชิกจากทาง UFC เองก็สามารถดูได้ และเรื่องที่ว่าก็ส่งผลถึงอนาคตของรุ่น 125 ปอนด์ที่ส่อเค้าใกล้วันดับขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมุมมองของ ดาน่า ไวท์ ประธานของศึก UFC คงสะท้อนถึงเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี
"รุ่นฟลายเวตเนี่ยมันเป็นรุ่นที่แฟนๆ ไม่ค่อยจะปลื้มแต่ไหนแต่ไรแล้ว ถึงเราจะเคยมีแชมป์ประจำรุ่นผู้ยิ่งใหญ่อย่างจอห์นสันก็เถอะ หลายคนอาจต่อว่าผม แต่ผมก็ต่อสู้มาโดยตลอดเพื่อให้รุ่นนี้ยังคงมีอยู่ต่อไป ถึงกระนั้น แม้ในปัจจุบันจะยังคงมีรุ่น 125 ปอนด์อยู่ อนาคตก็เป็นสิ่งที่ผมคาดเดาไม่ได้เช่นกัน"
รสนิยมของแฟนๆ กีฬาต่อสู้ที่ไม่ค่อยปลื้มกับการต่อสู้ของคนโตตัวเล็ก ซึ่งเน้นขายฝีมือไม่หืออือกับดราม่า กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้รุ่น 125 ปอนด์ของ UFC ค่อยๆ เสื่อมความนิยมลงเรื่อยๆ ซึ่งหากไฟต์วันที่ 20 มกราคมนี้ตามเวลาไทย ทีเจ ดิลลาชอว์ สามารถเอาชนะ เฮนรี่ เซฮูโด้ กระชากแชมป์รุ่นฟลายเวตมาครองได้ตามความคาดหมายของใครต่อใคร อนาคตของรุ่นนี้คงลงเอยด้วยการถูกยุบ และนักสู้ที่เหลืออยู่ก็ต้องทำน้ำหนักเพิ่มเพื่อไปสู้ต่อในรุ่น 135 ปอนด์อย่างที่คนในวงการ MMA มองไว้
แต่หากเกิดเหตุการณ์ล็อกถล่ม นักสู้รุ่นเล็กเกิดพลิกล็อกล้มรุ่นใหญ่ขึ้นมาได้เมื่อไหร่ เราเชื่อว่าแผนการที่หวังตัดหางปล่อยวัดรุ่น 125 ปอนด์ น่าจะสะเทือน จนกลายเป็นเรื่องที่ผู้บริหาร UFC ก็คงอึดอัดใจอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว