ไม่สนุกหรือโลกเปลี่ยนไป? : ไขปัจจัยสื่อยักษ์ใหญ่ถอยหนีลิขสิทธ์ถ่ายทอดสดมวย

ไม่สนุกหรือโลกเปลี่ยนไป? : ไขปัจจัยสื่อยักษ์ใหญ่ถอยหนีลิขสิทธ์ถ่ายทอดสดมวย

ไม่สนุกหรือโลกเปลี่ยนไป? : ไขปัจจัยสื่อยักษ์ใหญ่ถอยหนีลิขสิทธ์ถ่ายทอดสดมวย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การถ่ายทอดสด ทำให้วงการกีฬาเติบโตมากขึ้น เพราะการกระทำเช่นนี้สามารถช่วยให้การแข่งขันเข้าถึงสายตาของผู้ชมได้มากกว่าเดิม แถมยังเป็นช่องทางสร้างรายได้เพิ่มทั้งระบบด้วยเช่นกัน

แน่นอน หลายคนอาจไม่มีโอกาสได้ไปชมการแข่งขันสดๆ ถึงขอบสนาม การถ่ายทอดสดจึงช่วยให้พวกเขามีโอกาสได้ตามเชียร์นักกีฬาหรือทีมโปรดได้อย่างไม่พลาดแม้เพียงเสี้ยววินาที ไม่เพียงเท่านั้น ฝ่ายจัดการแข่งขันยังสามารถรับทรัพย์ได้เพิ่มจากการขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด ส่วนสถานีโทรทัศน์ที่ซื้อ ก็สามารถขายโฆษณาที่นอกจากจะนำมาช่วยโปะค่าลิขสิทธิ์แล้ว ยังเหลือพอที่จะเป็นกำไรอีกด้วย

 

ถึงกระนั้น กลับมีสิ่งที่น่าสนใจเกิดขึ้นกับวงการมวยสากล เมื่อสื่อยักษ์ใหญ่ที่เคยเป็นเนื้อนาบุญกันมาตลอด ประกาศถอนตัวจากการถ่ายทอดสดกีฬากำปั้น และนั่นนำมาสู่คำถามที่ว่า มันเกิดอะไรขึ้น และอนาคตของการถ่ายทอดสดมวลสากลจะเป็นไปในทิศทางใดกันแน่?

คู่บุญของวงการ

หากพูดถึงการถ่ายทอดสดมวยสากล เชื่อได้ว่า HBO น่าจะเป็นชื่อแรกๆ ที่แฟนมวยทั่วโลกนึกถึง เมื่อเครือข่ายโทรทัศน์เจ้านี้คือสิ่งหนึ่งที่อยู่คู่วงการกำปั้นมานาน

 1

HBO เข้าสู่วงการหมัดมวยครั้งแรกเมื่อปี 1973 และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการถ่ายทอดสดไฟต์ดังระดับตำนานมากมาย ไล่ตั้งแต่ 'Thrilla in Manila' การปะทะกันครั้งที่ 3 ระหว่าง มูฮัมหมัด อาลี กับ โจ เฟรเซียร์ เมื่อปี 1975, เลนน็อกซ์ ลูอิส ปะทะ ไมค์ ไทสัน เมื่อปี 2002 ตลอดจนหลายไฟต์ของ แมนนี่ ปาเกียว ตำนานนักชกชาวฟิลิปปินส์ในการไปชกที่สหรัฐอเมริกา

อีกเครือข่ายที่แฟนหมัดมวยคุ้นเคยคงหนีไม่พ้น Showtime ซึ่งแม้จะกระโดดเข้าสู่วงการนี้ในปี 1986 แต่ก็สร้างความฮือฮาด้วยไฟต์แห่งความทรงจำไม่น้อยเช่นกัน ทั้งไฟต์ที่ ไมค์ ไทสัน ตบะแตก กัดหู อีแวนเดอร์ โฮลีฟิลด์ ในแมตช์ล้างตาเมื่อปี 1997 รวมถึงการฉก ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ จาก HBO มาสร้างเรตติ้งและยอดซื้อ Pay-Per-View (PPV) ระดับมโหฬาร

แม้ทั้งสองเครือข่ายจะเป็นคู่ปรับทางการค้ารายสำคัญ ถึงกระนั้น ทั้ง HBO และ Showtime ก็เคยมีความร่วมมือครั้งประวัติศาสตร์เช่นกัน ในศึกซูเปอร์ไฟต์ครั้งประวัติศาสตร์ ที่ ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ โคจรมาพบกับ แมนนี่ ปาเกียว เมื่อปี 2015 ซึ่งถือเป็นการชกที่สร้างยอดซื้อ PPV สูงสุดในประวัติการณ์ที่ 4.6 ล้านวิว

เมื่อความเปลี่ยนแปลงมาถึง

หนึ่งในสัจธรรมของโลกมนุษย์คือความเปลี่ยนแปลง ซึ่งแน่นอน แม้แต่วงการมวยสากลหนีมันไม่พ้นเช่นกัน แถมยังมาแบบไม่ทันตั้งตัวเสียด้วย

 2

เพราะจู่ๆ HBO ก็ออกแถลงการณ์เมื่อเดือนกันยายน 2018 ว่า พวกเขาจะถอดรายการถ่ายทอดสด และทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับมวยสากลออกจากผังของสถานีตั้งแต่สิ้นปีดังกล่าวเป็นต้นไป โดยหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทางเครือข่ายได้ให้ไว้คือ รายการในลักษณะนี้ไม่ได้มีความพิเศษเป็นเอกลักษณ์สำหรับพวกเขาอีกต่อไปแล้ว

ไม่เพียงเท่านั้น โปรโมเตอร์ผู้ทรงอิทธิพลแห่งวงการจากค่าย Top Rank อย่าง บ็อบ อารัม หนึ่งในผู้ปลุกปั้น แมนนี่ ปาเกียว ให้กลายเป็นนักชกชื่อก้องโลก ยังมองข้ามช็อตไปอีกว่า บางทีอีกยักษ์ใหญ่แห่งการถ่ายทอดสดมวยสากล อาจตัดสินใจถอนสมอในเร็วๆ นี้ด้วย ซึ่ง เอ็ดดี้ เฮิร์น โปรโมเตอร์ดาวรุ่งพุ่งแรงจากค่าย Matchroom Sport ก็ดูจะเห็นพ้องต้องกัน

ไม่เพียงเท่านั้น ทั้งคู่ยังเชื่อว่า ยุคสมัยแห่ง PPV หรือการต้องจ่ายเงินเพื่อให้ดูคอนเทนต์พิเศษ ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของการถ่ายทอดสดมวยสากลสมัครเล่นมานาน ใกล้จะถึงกาลอวสานไปพร้อมกับการถอนสมอของ HBO ซึ่งทำไปแล้ว และ Showtime ที่อาจจะเกิดขึ้นภายในปี 2019 อีกด้วย

ไม่สนุก หรือโลกเปลี่ยนไป?

แฟนกีฬาหลายคนมักพูดว่า สาเหตุที่มวยสากลเริ่มเสื่อมความนิยมในยุคนี้ก็เป็นเพราะเหตุผลทางธุรกิจ เมื่อต่างฝ่ายต่างก็เรียกร้องเงื่อนไขต่างๆ เพื่อให้ตนได้รับผลประโยชน์มากที่สุด จนทำให้ไฟต์ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นการพบกันของนักชกที่ดีที่สุด แต่เป็นการพบกันของนักชกที่จะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ของนักชกในสังกัดได้มากที่สุด เพื่อต่อยอดไปสู่ “ซูเปอร์ไฟต์” ของจริงที่จะทำเงินมหาศาลในเวลาที่เหมาะสมของผู้ที่เกี่ยวข้อง

 3

จะว่าไปเรื่องดังกล่าวก็ดูมีส่วนจริงอยู่ไม่น้อย เพราะอย่างกรณีของซูเปอร์ไฟต์ที่ทั้งโลกรอคอยอย่าง ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ กับ แมนนี่ ปาเกียว แฟนมวยก็ต้องรอจนถึงปี 2015 กว่าจะได้เห็นยอดนักชกทั้งสองสู้กัน ต่างจากในยุค 1980-1990 ที่โปรโมเตอร์และนักชกต่างไม่ปฏิเสธที่จะเจอกับคู่ต่อสู้ชั้นแนวหน้าของรุ่น มวยยุคก่อนจึงดูสนุกกว่ามวยยุคนี้ตามความเข้าใจของหลายฝ่าย

แต่ในทรรศนะของ บ็อบ อารัม โปรโมเตอร์มากประสบการณ์ กลับมองว่า เรื่องที่มวยยุคใหม่ดูแล้วไม่สนุกนั้น มันมีอีกสาเหตุสำคัญซ่อนอยู่ ...

"จะพูดยังไงดีล่ะ? ผมอยากจะบอกว่า HBO ไม่ได้อยู่ในวงการมวย Showtime ก็ไม่ได้อยู่ในวงการมวย เพราะทั้งคู่เป็นเครือข่ายโทรทัศน์เพื่อความบันเทิง และพวกเขาเริ่มรู้สึกถึงสิ่งนั้นแล้ว เพราะลึกๆ คุณก็เริ่มไม่อยากที่เสียเงินให้กับความบันเทิงที่เกิดขึ้นและจบลงในวันเดียวมากนักหรอก ถ้าคุณไม่ต้องการมันจริงๆ ก็เหมือนกับคอนเสิร์ตแหละ สมัยก่อนพวกเขายอมซื้อลิขสิทธิ์มัน แต่เดี๋ยวนี้ไม่แล้ว ที่สำคัญที่สุดคือ คู่แข่งของเครือข่ายเหล่านี้ได้เปลี่ยนไป ไม่ใช่ ESPN ไม่ใช่สถานีกีฬา แต่เป็น Netflix ต่างหาก"

"สมัยหนึ่ง เครือข่ายโทรทัศน์เหล่านี้กอบกู้วงการมวยไว้ พวกเขาเข้ามา จ่ายเงินมากกว่า และครองวงการอย่างที่เราคุ้นเคยมากว่า 20 ปี แต่เวลาแบบนั้นมันหมดลงแล้ว เพราะว่าพวกเขาคือเครือข่ายโทรทัศน์เพื่อความบันเทิงไง เมื่อพวกเขาสร้างซีรี่ส์ฮิตติดตลาดได้เมื่อไหร่ ก็สามารถทำเงินต่อยอดจากมันได้เรื่อยๆ ต่างจากมวยสากล ที่พอไฟต์จบแล้วก็จบเลย ไม่สามารถต่อยอดอะไรได้อีก"

 4

สาเหตุดังกล่าวส่งผลให้ทาง HBO ลดงบประมาณสนับสนุนที่มีให้กับแผนกกีฬาของพวกเขาลง โดยจากที่พวกเขาเคยตั้งงบประมาณต่อปีไว้สูงถึง 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในยุคที่ เซ็ธ อบราฮัม เป็นผู้ดูแลฝ่ายกีฬาของ HBO ตั้งแต่ยุคเริ่มแรกจนถึงย่างเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ งบประมาณในส่วนนี้ก็ค่อยๆ หดลงเรื่อย จนถึงยุคท้ายๆ ที่ ปีเตอร์ เนลสัน เป็นผู้บริหารในส่วนนี้ งบประมาณของพวกเขาก็เหลือเพียงราว 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น

ซึ่งแน่นอนว่า มันน้อยเกินกว่าที่จะช่วยให้รักษามวยแม่เหล็ก และสนับสนุนการจัดไฟต์ดีๆ ที่แฟนๆ สนุกไปกับมันได้ จนแม้แต่ บ็อบ อารัม เองก็ยังรู้สึกไม่สบอารมณ์กับความไม่เป็นมืออาชีพเช่นนี้

เมื่อคลื่นลูกใหม่ถาโถม

มุมมองของสองฝ่ายที่เปลี่ยนไป ทั้งเครือข่ายโทรทัศน์ที่เริ่มรู้สึกว่า การถ่ายทอดสดมวยไม่ได้สร้างผลประโยชน์ให้กับพวกเขามากเหมือนแต่ก่อน ขณะเดียวกัน ผู้ชมก็เริ่มไม่อยากที่จะเสียเงินซื้อ PPV แพงๆ ซึ่งเมื่อไฟต์จบแล้วก็จบกัน ดูจะมีส่วนไม่น้อยที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว

ถึงกระนั้น หลายคนอาจสงสัยว่า เหตุใด HBO ถึงได้กล่าวในแถลงการณ์ว่า การถ่ายทอดสดมวยสากลไม่ได้มีความพิเศษเป็นเอกลักษณ์สำหรับพวกเขาอีกต่อไปแล้วแล้วล่ะ?

 5

เรื่องดังกล่าว HBO ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า "มวยสากลเคยเป็นส่วนหนึ่งในมรดกของเราหลายทศวรรษ แต่ในระหว่างนั้น วงการกีฬาเองก็ได้เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน เดี๋ยวนี้มีเครือข่ายโทรทัศน์ และบริการสตรีมมิ่งมากมายที่เป็นคู่แข่ง จนมีการถ่ายทอดสดมากกว่าแต่ก่อน ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้แม้บางรายการจะน่าสนใจมาก แต่มันก็ไม่ได้โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เหมือนแต่ก่อน"

เมื่อดูรายชื่อของคู่แข่งที่เคยมีอยู่แล้วและเกิดขึ้นใหม่ ก็ทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่าเหตุใด HBO ถึงตัดสินใจเช่นนั้น เพราะนอกจากเครือข่ายโทรทัศน์สายกีฬาอย่าง ESPN และ FOX ที่อยู่กับอุตสาหกรรมนี้มานาน ยังมีคู่แข่งหน้าใหม่อย่างบริการสตรีมมิ่ง ที่มี DAZN (อ่านว่า ดะ-โซน) เป็นหัวหอกอีกด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น รูปแบบการทำธุรกิจยังมีการเปลี่ยนแปลงไป เพราะจากเดิมที่ต้องจ่ายเงินแพงๆ ระดับเกือบ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อให้ได้ดูการชกเพียงรายการเดียว หรือหนักกว่านั้นคือ จ่ายเพื่อให้ดูคู่เอกได้เพียงคู่เดียวตามลักษณะของ PPV นั้น ก็เปลี่ยนไปเป็นรูปแบบบริการสมาชิก แบบเดียวกับ Netflix ที่เพียงเสียค่าบริการรายเดือน ก็สามารถชมกีฬาแบบสดๆ ได้ทุกที่ ทุกเวลา แถมยังรับชมย้อนหลังได้อีกด้วย

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ เอ็ดดี้ เฮิร์น เชื่อว่า โมเดลธุรกิจแบบนี้จะส่งผลดีต่อผู้ชม ตลอดจนวงการมากกว่า เพราะเพียงไม่กี่เดือน DAZN ก็สามารถกวาดโปรโมเตอร์ดังๆ เข้ามาอยู่ในสังกัดได้มากมาย ซึ่งแม้แต่คู่แข่งอย่าง ESPN ก็นำรูปแบบธุรกิจนี้มาใช้ด้วยเหมือนกัน

"หลังจากเปิดตัวได้ไม่นาน DAZN ก็กำลังจะถ่ายทอดสดการชกของค่ายผม 32 ไฟต์ เสริมด้วย โกลเด้นบอย ของ ออสการ์ เดอ ลา โฮย่า อีก 10 ไฟต์ แล้วยังได้อีก 11 ไฟต์ของ คาเนโล่ อัลวาเรซ หนึ่งในยอดนักชกของยุคนี้มาอีก" เฮิร์นเปิดใจถึงการเปิดเกมรุกของ DAZN เมื่อเดือนตุลาคม 2018

"มันน่าทึ่งไหมล่ะ ไม่นานนี้คุณยังต้องจ่ายถึง 85 ดอลลาร์เพื่อให้ได้ดูคาเนโล่ชกล้างตากับ เกนนาดี้ โกลอฟกิ้น อยู่เลย แต่จากนี้ สิ่งที่คุณต้องทำก็แค่เสียเงินรายเดือน ซึ่งถูกกว่าค่า PPV มาก แล้วก็ดูได้ทั้งหมดเลย"

 6

สิ่งที่เกิดขึ้นจึงสามารถสรุปได้ว่า แม้คนดูจะรู้สึกว่า มวยสากลยุคใหม่ดูไม่สนุกเหมือนแต่ก่อน แต่เรื่องดังกล่าวก็มีสาเหตุจากแนวคิดทางธุรกิจ ตลอดจนพฤติกรรมผู้บริโภคและยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ทำให้เครือข่ายโทรทัศน์ที่เคยเป็นสัญลักษณ์ของวงการ ตัดสินใจที่จะวางมือจากหนึ่งในธุรกิจที่สร้างชื่อ เพื่อเลือกที่จะโฟกัสกับสิ่งที่ตนเชี่ยวชาญมากกว่า

ถึงกระนั้น จุดสิ้นสุดของสิ่งหนึ่งสามารถเป็นจุดเริ่มต้นและเติบโตของอีกสิ่งหนึ่งได้ เพราะทันทีที่ HBO ประกาศถอนตัวจากสมรภูมิถ่ายทอดสดมวยสากล โปรโมเตอร์ต่างๆ ก็ได้เครือข่ายอื่นๆ เข้ามารับหน้าเสื่อดูแลไฟต์ของนักชกในสังกัดต่อทันทีแบบไม่มีขาดตอน แถมโมเดลธุรกิจแบบสมัครเป็นสมาชิกที่สายกีฬาเองก็เริ่มเอามาใช้แล้ว ยังเป็นมิตรกับคนดูมากกว่า แม้ทางสถานีอาจต้องยอมกินคำเล็กลงบ้าง แต่ก็สามารถกินได้อย่างต่อเนื่องมากกว่า

 7

ที่สุดแล้ว แม้ตัวละครใหญ่อาจก้าวออกจากสมรภูมิไป แต่ก็ยังมีตัวละครใหม่ๆ ที่พร้อมเดินเข้ามาเพื่อเดินหน้าถ่ายทอดสด วงการมวยสากลจึงไม่มีทางตายง่ายๆ คำถามก็คือ ตัวละครเดิมพร้อมรับมือกับคู่แข่งตลอดจนนวัตกรรมใหม่ และผู้ชมอย่างเราๆ พร้อมก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงไปสู่อีกยุคสมัยแล้วหรือยัง?

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ ไม่สนุกหรือโลกเปลี่ยนไป? : ไขปัจจัยสื่อยักษ์ใหญ่ถอยหนีลิขสิทธ์ถ่ายทอดสดมวย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook