ไขปริศนาฟุตบอล "เคลีก" ทำไมลีกสูงสุดของเกาหลีใต้ไม่ได้รับความนิยมในประเทศตัวเอง?

ไขปริศนาฟุตบอล "เคลีก" ทำไมลีกสูงสุดของเกาหลีใต้ไม่ได้รับความนิยมในประเทศตัวเอง?

ไขปริศนาฟุตบอล "เคลีก" ทำไมลีกสูงสุดของเกาหลีใต้ไม่ได้รับความนิยมในประเทศตัวเอง?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปี 2002 วงการลูกหนังโลกต้องสั่นสะเทือนกับความสำเร็จของทีมชาติเกาหลีใต้ ที่หักปากกาเซียนผ่านเข้าถึงรอบรองชนะเลิศ จบอันดับที่ 4 ของการแข่งขันฟุตบอลโลกบนแผ่นดินของตัวเอง

ความสำเร็จในครั้งนั้นปลุกกระแสความคลั่งไคล้ในกีฬาฟุตบอลไปทั่วประเทศ คนหนุ่ม คนสาว คนแก่ ยันเด็กตัวน้อย คลั่งไคล่ในกีฬาชนิดนี้ นักฟุตบอลทีมชาติเกาหลีใต้คือฮีโร่ของชาติในช่วงพริบตาเดียว

เคลีก ลีกฟุตบอลสูงสุดประจำประเทศได้รับผลพลอยได้จากจุดนี้ ในปี 2002 ค่าเฉลี่ยผู้ชมของเคลีก พุ่งขึ้นสูงเกือบ 15,000 คน มากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ของเคลีก

นับจากปี 2002 จนถึงปัจจุบัน ฟุตบอลทีมชาติเกาหลีใต้ยังคงประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ชาวเกาหลีใต้ให้ความสนใจติดตามทัพเสือขาวแห่งเอเชีย ในทุกรายการที่ทีมเข้าร่วมแข่งขัน

แต่ไม่ใช่กับฟุตบอลลีกในประเทศของพวกเขา ฟุตบอลโลก 2002 ที่เหมือนจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เคลีก ก้าวขึ้นมาเป็นลีกกีฬาขวัญใจของชาวเกาหลีใต้ แต่ความจริงแล้วกลับเป็นเพียงแค่ดอกไม้ไฟ สวยงามตอนที่มันระเบิดออก และหายวับไปในพริบตา

เพียงแค่ฤดูกาลต่อมา ค่าเฉลี่ยผู้ชมเคลีกลดลงเหลือเพียงแค่ 9,241 คน ลดลงกว่า 5,000 คน จากฤดูกาลก่อนหน้า

นับแต่นั้นจำนวนค่าเฉลี่ยผู้ชมของลีก 9,000-12,000 คน แม้จะไม่ใช่ตัวเลขที่เลวร้าย แต่ไม่มีท่าทีว่าจำนวนผู้ชมของลีกจะเพิ่มได้มากกว่านี้

จนกระทั่งในปี 2011 เกิดเหตุการณ์ที่เปลี่ยนฟุตบอลเคลีกไปตลอดกาล

yoonki-wontributesincheonunit
ช่วงเวลาสุดหมองหม่นของเคลีก
วันที่ 6 พฤษภาคมปี 2011 ผู้รักษาประตูของสโมสรอินชอน ยูไนเต็ด นามว่า “ยุน กิ-วอน” ถูกพบว่าเสียชีวิตในรถยนต์ส่วนตัวของเขา และตำรวจชนสูตรศพของมือกาวหนุ่มวัย 24 ปีรายนี้ ก่อนสรุปว่ากิวอนเสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายจากการกินยาฆ่าแมลง

ไม่มีใครในวงการฟุตบอลเกาหลีรู้เลยว่า กิวอนฆ่าตัวตายด้วยสาเหตุใด จนกระทั่งไม่กี่วันต่อมา...

กิวอนถูกพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการล้มบอลในศึกฟุตบอลเคลีก และสื่อสันนิษฐานว่าเขาชิงฆ่าตัวตายเสียก่อนเพื่อหนีความผิด

จากนั้นในวันที่ 27 และ 30 พฤษภาคม เคลีกประกาศจับกุม 5 ผู้เล่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการล้มบอล ก่อนจะขยายผลต่อหลังจากนั้นทำให้ได้จับกุมผู้เล่นเพิ่มเป็น 11 คน ในเดือนมิถุนายน

จำนวนนักฟุตบอลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการล้มบอลยังไม่จบอยู่เพียงเท่านี้ เพราะท้ายที่สุด มีผู้เล่นมากกว่า 40 รายคนถูกจับในข้อหาล้มบอล จากการสรุปว่ามีการแข่งขัน 21 เกมในเคลีก ที่มีการว่าจ้างล้มบอลเกิดขึ้น

ผู้เล่น 41 คนถูกสมาคมฟุตบอลเกาหลีใต้แบนไม่ให้เล่นฟุตบอลในดินแดนบ้านเกิดตลอดชีวิต 20 คนในนี้ถูกฟีฟ่าแบนไม่ให้เล่นฟุตบอลตลอดชีวิต นอกจากนี้หลายคนยังถูกสั่งจำคุก ซึ่งมีโทษนานสูงสุดถึง 7 ปี

image
แม้สิ่งที่เคลีกทำ เป็นการทำเพื่อผลประโยชน์ของลีก ที่ต้องการล้างบางขบวนการล้มบอลให้หมดสิ้นไปจากวงการฟุตบอลเกาหลีใต้ แต่การออกมาเปิดโปงขบวนการล้มบอล กลับทำให้ลีกหมดความน่าเชื่อถือสำหรับคนในชาติในทันที

จากฤดูกาล 2011 ที่เคลีกมีค่าเฉลี่ยผู้ชมอยู่ที่ 10,709 คน ลดเหลือ 7,157 คนในฤดูกาล 2012

แฟนบอลชาวเกาหลีใต้รับไม่ได้ที่ลีกลูกหนังของประเทศ เป็นการแข่งขันที่เต็มไปด้วยความสกปรกและฉ้อโกง ภาพของสปิริตยอดนักสู้ของนักฟุตบอลเกาหลี ถูกลบไปหมดสิ้นในสายตาของแฟนบอลเกาหลีใต้

ที่สำคัญที่สุดข่าวการล้มบอลครั้งนี้สร้างความอับอายและเสียชื่อเสียงให้แก่ประเทศเกาหลีใต้ จากที่นักฟุตบอลเกาหลีใต้เคยเป็นฮีโร่ของคนทั้งชาติในปี 2002 พวกเขากลับกลายเป็นวายร้ายของประเทศในปี 2011

“นี่คือช่วงเวลาที่มืดหม่นที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลเกาหลีใต้” คิม ทง-ฮยอง นักข่าวกีฬา ซึ่งเคยเป็นอดีตนักฟุตบอลทีมชาติ ให้คำจำกัดความกับเหตุการณ์เมื่อปี 2011

8675267
ซน ฮึง-มิน ไอดอลคนใหม่
หลังจากปัญหาล้มบอลในปี 2011 ภาพลักษณ์ของเคลีกแย่ลงอย่างมาก บริษัทเอกชนลดความสนใจที่จะเข้ามาเป็นสปอนเซอร์ให้กับสโมสรฟุตบอลในเกาหลีใต้

ปี 2014 มีการเปิดเผยว่าสโมสรฟุตบอลในเกาหลีใต้ ได้เงินสนับสนุนในเรื่องชุดแข่งขันจากสปอนเซอร์ เพียงปีละ 5 แสนดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ทีมชาติเกาหลีใต้ ทีมฟุตบอลที่เป็นที่นิยมของคนเกาหลี ได้รับเงินสนับสนุนปีละ 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเทียบกับลีกเพื่อนบ้านอย่างไชนีส ซุปเปอร์ลีก ได้รับเงินสนับสนุนมากถึง 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

หรือทีมอย่างซองนัม เอฟซี เคยไม่มีสปอนเซอร์มาให้การสนับสนุน คาดอกอยู่บนเสื้อแข่ง

เมื่อสปอนเซอร์และเม็ดเงินหดหาย ขณะที่ภาพลักษณ์ของนักฟุตบอลในเกาหลีใต้ ไม่ได้รับการเชิดชูจากคนในประเทศเหมือนในอดีต ทำให้ผู้เล่นจำนวนไม่น้อย อยากออกไปค้าแข้งในต่างแดน เพื่อหนีจากภาวะถอยหลังของฟุตบอลลีกในประเทศ

ประจวบเหมาะการแจ้งเกิดของชายที่ชื่อว่า “ซน ฮึง-มิน” กับฮัมบูร์กในปี 2011 ได้เปลี่ยนแนวคิดของนักฟุตบอลเกาหลีใต้จวบจนถึงปัจจุบัน

000_hkg4815034
ซนเริ่มต้นอาชีพการค้าแข้งของตัวเองกับทีมเยาวชนของเอฟซี โซล ก่อนจะย้ายไปเล่นกับฮัมบูร์ก ตั้งแต่อายุแค่ 17 ปี และฉายแสงกับทีมจนได้ย้ายออกไปเล่นกับไบเออร์ เลเวอร์คูเซ่น จากนั้นก็ได้ไปสร้างชื่อในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ กับท็อตแน่ม ฮ็อตสเปอร์

ซนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้นักเตะเกาหลีใต้ ว่าไม่ต้องรอให้ประสบความสำเร็จในเวทีระดับชาติ เหมือนผู้เล่นรุ่นฟุตบอลโลก 2002 ค่อยย้ายไปเล่นต่างแดน แต่หากเชื่อว่าตัวเองคือผู้เล่นที่แกร่งพอ ให้ออกไปเสี่ยงโชคที่ต่างแดนได้เลย

หลังจากนั้นผู้เล่นเกาหลีใต้จำนวนมากย้ายออกไปเสี่ยงโชคในต่างแดน เพื่อหวังแจ้งเกิดแบบ ซน ฮึง-มิน

ในรายการเอเชียนคัพ 2011 มีผู้เล่นถึง 11 คน ที่ติดทีมชาติโดยค้าแข้งอยู่ในประเทศ แต่ภายหลังการแจ้งเกิดของซน แข้งทีมชาติที่ค้าแข้งในประเทศลดลงต่อเนื่อง

รายการฟุตบอลโลก 2014 เหลือแข้งเพียง 7 รายที่เล่นอยู่ในเกาหลีใต้ จากนั้นในเอเชียนคัพ 2015 ได้ลดเหลือเพียง 5 คนเท่านั้น

000_dv872587
เมื่อนักเตะระดับแถวหน้าของประเทศ พากันย้ายออกไปค้าแข้งต่างแดน ทำให้ความน่าสนใจของฟุตบอลเคลีก ลดลงไปด้วย เพราะชาวเกาหลีใต้ให้ความชื่นชมในตัวนักเตะที่มีชื่อเสียงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

แฟนบอลชาวเกาหลีใต้จึงเลือกติดตามนักเตะทีมชาติที่ค้าแข้งอยู่ในยุโรป มากกว่าจะสนใจนักเตะไร้ชื่อเสียงที่หวดลูกหนังในประเทศของตัวเอง

จากเคสของซน ทำให้เคลีกพยายามผลักดันให้แต่ละสโมสร หาเด็กในท้องถิ่นของตัวเองมาฝึกเป็นผู้เล่นเยาวชนของสโมสร และผลักดันผู้เล่นจากอคาเดมีขึ้นสู่ชุดใหญ่ให้มากขึ้น เพื่อดึงดูดให้แฟนบอลมีความผูกพันกับผู้เล่นในเคลีก ทำให้ในปัจจุบันผู้เล่นในเคลีกติดทีมชาติเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นกว่าเมื่อ 4-5 ปีก่อน

แต่สำหรับแฟนบอลแล้ว การสร้างแข้งดาวรุ่งหน้าใหม่ยังไม่ตอบโจทย์ให้พวกเขาให้กลับไปสนใจเคลีก เพราะยังมีปัญหาสะสมของลีกที่เป็นบาดแผลสะสมจนถึงปัจจุบัน

โครงสร้างลีกที่ผิดพลาด
โครงสร้างของฟุตบอลเคลีกเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ลีกต้องประสบปัญหาคนดูลดน้อยถอยลง โดยเฉพาะการทำลีกด้วยโมเดลแบบ “แฟรนไชส์” เหมือนลีกกีฬาในประเทศสหรัฐอเมริกา นั่นคือมีการจำกัดทีมในลีกที่ตายตัว ไม่มีการเลื่อนชั้น-ตกชั้น ทีมที่จะเข้ามาแข่งได้ต้องซื้อแฟรนไชส์จากลีก ถึงจะได้สิทธิ์เข้าร่วมแข่งในลีก

000_dv1793782
ด้วยการเริ่มต้นลีกแบบเฟรนไชส์ทำให้สโมสรที่เก่าแก่และชื่อดังส่วนใหญ่ของลีก เป็นทีมของบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ ที่เป็นสมาชิกของกลุ่ม “แชโบล” ไม่ว่าจะเป็น เอฟซี โซล ของแอลจี (ปัจจุบันเจ้าของคือ จีเอส กรุ๊ป บริษัทที่แตกตัวออกมาจากแอลจี), ซูวอน ซัมซุง บลูวิงส์ ของซัมซุง, โปฮัง สตีลเลอร์ ของ POSCO และ ชุนบุค ฮุนได มอเตอร์ กับ อุลซาน ฮุนได ที่มาจากบริษัทในเครือของฮุนได

รวมถึงซองนัม เอฟซี ที่เคยคว้าแชมป์ลีก 7 สมัย ในช่วงที่ถือครองโดย บริษัทอิลวา บริษัทค้าโสมเกาหลีอันดับหนึ่งของประเทศ

ทีมเหล่านี้เป็นทีมเก่าแก่ที่มีกลุ่มเงินทุนหนุนหลัง ทำให้ทีมฟุตบอลของกลุ่มแชโบลผูกขาดแชมป์และความสำเร็จในเคลีกมาโดยตลอด โดย 6 ทีมที่กล่าวมาข้างต้นครองแชมป์รวมกัน 30 สมัย จากฟุตบอลเคลีก 36 ครั้ง

ตรงกันข้ามกับทีมท้องถิ่นอย่าง อินชอน ยูไนเต็ด, กังวอน เอฟซี หรือ กยองนัม เอฟซี ที่เป็นทีมไร้ความสำเร็จ แม้แต่ ซองนัม เอฟซี ที่หลังจากบริษัทอิลวา ขายสิทธิ์การทำทีมให้สภาเมืองซองนัม เมื่อปี 2013 ทีมก็ไม่ประสบความสำเร็จใดๆอีก แถมตกชั้นลงไปเล่นในเคลีก 2 ในเวลาต่อมา

jeonbukpostkashiwa
ความเหลื่อมล้ำระหว่างทีมบริษัทกับทีมท้องถิ่น ทำให้ฟุตบอลลีกขาดความสมดุล ความสนุก และความตื่นเต้น ทีมท้องถิ่นกลับกลายเป็นทีมท้ายตาราง ไม่มีศักยภาพลุ้นแชมป์ หลายสโมสรต้องประสบปัญหาทางการเงิน ค้างค่าจ้างนักเตะ

ขณะที่ทีมของบริษัทต่างๆ แม้จะเป็นทีมเก่ง ทีมหัวตาราง แต่ขาดความผูกพันกับพื้นที่ท้องถิ่น บวกกับแฟนบอลเกาหลีมองว่า ทีมเหล่านี้เป็นเครื่องมือแสดงความยิ่งใหญ่ของบริษัทเจ้าของทีม มากกว่าจะเป็นทีมฟุตบอลของคนในท้องถิ่น ทำให้ไม่มีแฟนบอลมาสนับสนุนทีมแบบที่ควรจะเป็น

และการใช้ระบบแฟรนไชส์ ทำให้เคลีกไม่มีระบบเลื่อนชั้น-ตกชั้น ทำให้ลีกขาดความน่าสนใจ ทีมลุ้นแชมป์วนอยู่แค่หน้าเดิม ส่วนทีมท้ายตารางก็เป็นทีมหน้าเดิมๆเช่นกัน และไม่มีการเตะหนีตกชั้น เพื่อสร้างความตื่นเต้น

6485735
แม้เคลีกจะนำระบบเลื่อนชั้น-ตกชั้นมาใช้ครั้งแรก ในฤดูกาล 2012 และ 2013 รวมถึงใช้การแบ่งครึ่งบน-ล่างของตารางเตะในช่วงท้ายฤดูกาล เหมือนกับสกอตติช พรีเมียร์ลีก ลีกสูงสุดของสกอตแลนด์ เพื่อหวังสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้ชม และดึงดูดแฟนบอลที่หันหลังให้ลีกจากข่าวล้มบอล

แต่ยอดผู้ชมกลับไม่กระเตื้องขึ้น การเอาระบบของลีกสกอตติชมาใช้ ได้รับเสียงต่อต้านจากแฟนบอล ที่รู้สึกว่าทำให้ฟุตบอลลีกน่าเบื่อยิ่งกว่าเดิม เพราะสุดท้ายทีมหัวตารางกับทีมท้ายตารางก็ไม่ได้ต่างจากเมื่อก่อน ความเหลื่อมล้ำในลีกเกาหลีใต้ยังไม่หายไปไหน

และในฤดูกาลล่าสุดปี 2018 ค่าเฉลี่ยผู้ชมของลีกลดเหลือเพียง 5,437 คน เท่านั้น

ปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไข
บุคลากรในวงการฟุตบอลเกาหลีใต้ ต่างตื่นตัวกับปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน พวกเขาลองหาทางออกเพื่อแก้ปัญหาความซบเซาของฟุตบอลลีกในประเทศอยู่หลายทาง แต่ก็ยังไม่เป็นผล

000_hkg9716918
หนึ่งในปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขคือเรื่องปัญหาการล้มบอลในลีกเกาหลีใต้

ทีมอย่างชุนบุค ฮุนได มอเตอร์ ที่คว้าแชมป์ลีก 4 สมัยจาก 5 ปีหลังสุด แม้จะเป็นทีมชั้นนำของประเทศแต่ก็มีข่าวฉาวในเรื่องของการล้มบอลอย่างไม่หยุดหย่อน

ชุนบุคถูกเคลีกจับได้ว่าทีมพัวพันกับการล็อคผลการแข่งขัน ในฤดูกาล 2013 ด้วยการว่าจ้างกรรมการ 2 คน ให้ตัดสินเอื้อผลประโยชน์ให้ทีม เพื่อหวังให้ทีมได้แชมป์ลีกในบั้นปลาย (แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ สุดท้ายเอฟซี โซล ได้แชมป์ในปี 2013)

ทีมดังอย่างชุนบุค พัวพันกับข่าวล้มบอล ยิ่งทำให้เคลีกเสื่อมเสียมากขึ้นไปอีก ในปัจจุบันแฟนบอลหลายคนมองว่า ที่ชุนบุคประสบความสำเร็จทั้งในและนอกประเทศ เป็นเพราะทีมใช้อำนาจมืดหนุนหลัง

นับตั้งแต่ปี 2011 ภาพลักษณ์ของเคลีกในฐานะลีกที่เต็มไปด้วเรื่องของการล้มบอลยังไม่ได้ถูกชำระสะสาง เคลีกยังเป็นลีกกีฬาที่สกปรกและเต็มไปด้วยเรื่องคดโกงในสายตาของคนเกาหลี

แฟนฟุตบอลและนักข่าวจำนวนไม่น้อย มองว่าปัญหาของฟุตบอลเคลีก มีต้นต่อมาจากการมีอำนาจในวงการฟุตบอลของกลุ่ม “แชโบล”

000_ih280
กลุ่มแชโบล คือการรวมตัวกันของกลุ่มเครือบริษัทยักษ์ใหญ่ในเกาหลีใต้ นำโดย สามบริษัทยักษ์ใหญ่ในเกาหลีใต้ แอลจี, ซัมซุง และ ฮุนได ซึ่งทั้งสามบริษัทล้วนมีทีมฟุตบอลภายใต้การครอบครองของตัวเอง

กลุ่มแชโบล มีอำนาจมากในประเทศเกาหลีใต้มาหลายสิบปี สามารถชักจูงระบบเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศเกาหลีใต้ มีข่าวปัญหาการคอร์รัปชันออกมาอยู่ตลอด ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชาวเกาหลีจะมองว่า แชโบลมีอำนาจเหนือวงการฟุตบอล

ย้อนไปในช่วงตั้งต้นของเคลีก แม้การตั้งลีกจะถูกสร้างขึ้นเพื่อจุดประสงค์ในการพัฒนาวงการฟุตบอลเกาหลีใต้ แต่ในทางหนึ่งฟุตบอลคือเครื่องมือแสดงอำนาจของบริษัทในกลุ่มแชโบล

แฟนบอลชาวเกาหลีมองว่าด้วยอำนาจของกลุ่มแชโบล ทำให้ทีมฟุตบอลของพวกเขามีอำนาจเงินหนุนหลัง ที่สามารถควบคุมผลการแข่งขันได้ ซึ่งกรณีของทีมชุนบุค ฮุนได ยิ่งทำให้แฟนบอลมองว่าทีมบอลของกลุ่มแชโบลทั้งหลาย มีอำนาจมืดหนุนหลังที่มองไม่เห็น

แม้ทีมอย่าง เอฟซี โซล (ของจีเอส กรุ๊ป บริษัทพันธมิตรที่แยกตัวออกมาจากแอลจี) และ ซูวอน ซัมซุง (ของซัมซุง) จะไม่เคยมีข่าวฉาวเรื่องการล้มบอลแบบชุนบุค ฮุนได (ของฮุนได) แต่ผู้บริหารของเอสเค กรุ๊ป และซัมซุง ก็มีข่าวถูกจับในข้อหาคอร์รัปชันอยู่ตลอด ภาพลักษณ์ของทีมฟุตบอล ภายใต้การดูและของบริษัทในกลุ่มแชโบล จึงถูกตีค่าว่าเป็นทีมที่มีอำนาจมืดดำควบคุมอยู่หลังฉากเสมอ

ddugtoywsaa66s3
ขณะเดียวกันเม็ดเงินของกลุ่มแชโบลที่หนุนหลังทีมฟุตบอลของตัวเอง สร้างความเหลื่อมล้ำในเคลีก ซึ่งตรงข้ามกับความต้องการของแฟนบอลชาวเกาหลีใต้

สิ่งที่แฟนบอลชาวเกาหลีใต้ต้องการ คือทีมฟุตบอลจากทั่วประเทศเป็นทีมของเมืองโดยแท้จริง ไม่ใช่ทีมของบริษัทเอกชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในลีก และสร้างความภูมิใจในทีมท้องถิ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดหายไปยาวนานกับวงการฟุตบอลเกาหลีใต้

ปัญหาของเคลีก ทับถมยาวนานเกือบ 10 ปีโดยไม่ได้รับการแก้ไข พวกเขาทำได้เพียงแค่มองดู เจลีก และไชนีส ซุปเปอร์ ลีก ลีกของประเทศเพื่อนบ้านที่เติบโตขึ้นต่อเนื่อง และทิ้งห่างเคลีกออกไปเรื่อยๆ

ฟุตบอลทีมชาติเกาหลีใต้ยังคงเป็นที่นิยม และแฟนบอลในประเทศก็คาดหวังผลงานของทีมเสือขาวแห่งเอเชียในทุกครั้ง แต่สำหรับวงการฟุตบอลสโมสรแล้ว อาจต้องเงียบเหงากันต่อไป ตราบใดที่ปัญหาภายในลีกยังไม่ได้รับการแก้ไข

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook