31-0 สู่การเกิดใหม่: ชัยชนะนัดแรกของทีมชาติที่แพ้ยับที่สุดในประวัติศาสตร์
เมื่อความพ่ายแพ้ที่ย่อยยับที่สุดในประวัติศาสตร์ กลายเป็นแรงผลักดันสู่ชัยชนะนัดแรกของพวกเขา
ราว 10 กว่าปีก่อน ได้มีข่าวโด่งดังไปทั่วโลก เมื่อทีมชาติออสเตรเลียเป็นฝ่ายไล่ถล่ม อเมริกัน ซามัว ไม่อย่างมโหฬารถึง 31-0 กลายเป็นชัยชนะที่มากที่สุดประวัติศาสตร์วงการฟุตบอลทีมชาติ
ในทางกลับกัน อเมริกัน ซามัว คือทีมที่เจ็บช้ำด้วยการถูกตราหน้าว่าเป็นทีมที่แพ้มากที่สุด ผู้รักษาประตูในเกมวันนั้นถูกเกมนี้หลอกหลอนไปนานหลายปี ลูกของเขาถูกล้อจากเพื่อนร่วมทีม
แต่ในอีก 10 ปีต่อมา พวกเขาเปลี่ยนแปลงจากสมันน้อยกลายเป็นทีมที่ไม่ได้เอาชนะได้ง่ายๆ พวกเขาทำได้อย่างไร Main Stand ขอพาไปหาคำตอบพร้อมกัน
แพ้ตั้งแต่ยังไม่เริ่ม
ย้อนกลับไปในปี 2001 อเมริกัน ซามัว ชาติหมู่เกาะทีมในมหาสมุทรแปซิฟิค ที่มีประชากรแค่ 65,000 คน ต้องลงเล่นฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก 2002 ในโซนโอเชียเนีย ที่แบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มละ 5 ทีม โดยพวกเขาอยู่ในสายเดียวกับ ซามัว, ตองกา, ฟิจิ และ ออสเตรเลีย
อเมริกัน ซามัว คือทีมอันดับ 203 หรืออันดับต่ำที่สุดในโลกในตอนนั้น พวกเขาเพิ่งจะเป็นสมาชิกฟีฟ่าเมื่อปี 1998 เคยลงเล่นเกมอย่างเป็นทางการมาแล้ว 8 นัด และเป็นการแพ้รวดทั้งหมด โดยหนึ่งในนั้นคือการถูก ตาฮิติ ถล่มไปถึง 12-0 และ 18-0
และราวกับโชคชะตาเล่นตลก เมื่อก่อนรอบคัดเลือก ฟีฟ่าแจ้งว่านักเตะที่จะลงเล่นได้ ต้องมีหนังสือเดินทางของสหรัฐอเมริกาเท่านั้น (อเมริกัน ซามัว เป็นหนึ่งในดินแดนของอเมริกา) ทำให้นักเตะ 19 คนจาก 20 คนต้องถอนตัวออกจากทีมชุดนี้ เหลือเพียงนิคกี ซาลาปู ผู้รักษาประตูคนเดียวเท่านั้น
พวกเขาต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยตอนแรกตั้งใจที่จะเรียกนักเตะชุดอายุไม่เกิน 20 ปีมาเล่นแทน แต่แผนนั้นต้องเป็นหมัน เมื่อนักเตะในทีมชุดดังกล่าวที่ส่วนใหญ่เรียนอยู่ในชั้นมัธยมปลายติดสอบ
ทูนัว ลุย โค้ชของทีมจึงต้องใช้บริการนักเตะที่อายุน้อยกว่านั้น มีนักเตะ 3 คนที่อายุเพียง 15 ปีถูกเรียกติดทีมเข้ามา ในขณะที่บางคนยังไม่เคยเล่นฟุตบอลครบ 90 นาที ทำให้ 16 ผู้เล่นในชุดดังกล่าวมีอายุเฉลี่ยแค่เพียง 19 ปี
นี่คือทีมที่จะไปแข่งฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก?
ย่อยยับที่สุดในวงการฟุตบอลทีมชาติ
นักเตะชุดขัดตาทัพของอเมริกัน ซามัว ทำผลงานได้อย่างน่าผิดหวัง พวกเขาประเดิมสนามด้วยการพ่ายฟิจิ 13-0 ตามมาด้วยการถูกซามัว ทะลวงตาข่ายถึง 8-0 และเกมนัดต่อไปของพวกเขาคือการพบกับออสเตรเลีย ทีมแกร่งของทวีป
ออสเตรเลีย ตอนนั้นยังลงเตะฟุตบอลโลกในโซนโอเชียเนีย แม้จะขาดดาวดังอย่าง มาร์ค วิดูกา และ แฮร์รี คีเวลล์ แต่ผู้เล่นคนอื่นก็ล้วนค้าแข้งอยู่ในลีกระดับท็อปของยุโรป โดยก่อนพบอเมริกัน ซามัว พวกเขาเพิ่งจะทำลายสถิติโลกด้วยการเอาชนะตองกา 22-0
เกมที่สนาม คอฟฟ์ ฮาเบอร์ อินเตอร์เนเชั่นแนลสเตเดียม เริ่มต้นด้วยการปูพรมบุกของเจ้าบ้าน แต่ก็ยังทำไม่ได้ประตูไม่ได้ จนกระทั่งนาทีที่ 10 จากจังหวะเตะมุม คอนสแตนตินอส บูซิดิส ก็มาทำประตูแรกของเกมให้ออสเตรเลียขึ้นนำ
จากนั้นก็เหมือนน้ำไหล ออสเตรเลีย ระดมยิงประตูอเมริกัน ซามัว อย่างต่อเนื่องในหลากหลายรูปแบบ ทั้งครอสจากด้านข้างเข้ามาให้ชาร์จ เปิดโหม่ง ยิงไกล หรือหลุดเข้าไปยิง จบครึ่งแรกออสเตรเลียนำห่าง 16-0
ครึ่งหลัง ขุนพลซ็อคเกอร์รูส์ ก็ยังไม่เพลาเกมบุก ดาหน้ายิงคู่แข่งชนิดไม่ให้พักหายใจ และในนาทีที่ 65 พวกเขาก็มาทำลายสถิติโลกของตัวเองได้สำเร็จ หลังยิงประตูที่ 23 ของเกม ก่อนที่จบลงด้วยการเอาชนะไปถึง 31-0 (แม้สกอร์บอร์ดโชว์ 32-0 แต่คณะกรรมการควบคุมการแข่งขันรายงานต่อฟีฟ่าว่าสกอร์ที่แท้จริงคือ 31-0) หรือเฉลี่ยเกือบ 3 นาทีต่อหนึ่งลูก
“เราอยู่ที่นี่เพื่อเรียนรู้ เรามีปัญหามากมาย แต่เราไม่ยอมแพ้ แต่เราคงต้องขอร้องให้พระเจ้าทำสกอร์ให้น้อยกว่านี้” ลุย โค้ชของทีมกล่าวหลังเกม
นอกจากชัยชนะอย่างมโหฬารแล้ว อาชี ทอมป์สัน ยังได้จารึกสถิติโลกขึ้นมาใหม่ ด้วยการนักเตะที่ยิงประตูให้กับทีมชาติในนัดเดียวมากที่สุดในโลก โดยเขาซัดไปถึง 13 ประตูในเกมนี้
“ความฝันที่จะทำลายสถิติโลกเป็นจริงแล้ว” ทอมป์สันกล่าวในตอนนั้น
“แต่เราก็ต้องดูทีมทีมที่เราเล่นด้วยและตั้งคำถาม เราไม่จำเป็นต้องเล่นเกมนี้ มันเสียเวลาจริงๆ”
ท่ามกลางความชื่นมื่นของผู้เล่นออสเตรเลีย กลับกันมันคือฝันร้ายของอเมริกัน ซามัว พวกเขาถูกจารึกชื่อในฐานะทีมที่แพ้ย่อยยับที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลทีมชาติ ที่ยังไม่มีใครทำลายลงได้จนกระทั่งวันนี้
บุรุษผู้เสีย 31 ประตู
อเมริกัน ซามัว ปิดท้ายรอบแบ่งกลุ่มด้วยการแพ้ตองกา 5-0 รวมแล้วพวกเขาเสียไปถึง 57 ประตูจาก 4 นัดและยิงใครไม่ได้เลย และคนที่เจ็บปวดที่สุดคงจะเป็นใครไม่ได้นอกจาก นิคกี ซาลาปู ผู้รักษาประตูในทีมชุดนั้น
ซาลาปู คือนักเตะคนเดียวที่พาสสปอร์ตไม่มีปัญหา ซึ่งทำให้เขาต้องพบกับฝันร้าย แม้ว่าจะพยายามเซฟมากแค่ไหน แต่ก็ไม่สามารถต้านทานเกมบุกของออสเตรเลีย ที่ทำให้เขากลายเป็นผู้รักษาประตูทีมชาติที่เสียประตูมากที่สุดในเกมนัดเดียวอีกด้วย
“หลังเกมวันนั้นเราเดินไปในห้องแต่งตัว ผมก้มหัวแล้วผมก็ร้องไห้ ผมรู้สึกอายมากและรู้สึกว่าไม่อยากเล่นฟุตบอลอีกต่อไปแล้ว” ซาลาปู ย้อนความหลัง
ยิ่งไปกว่านั้น หลังกลับไป ซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา ความพ่ายแพ้ในนัดนี้ยังคงตามหลอกหลอนเขาอยู่หลายปี การพูดคุยกับคนทั่วไปมักจะนำไปสู่บทสนทนาว่า ‘คุณคือคนที่เสียไป 31 ประตูใช่มั้ย?’ในขณะที่ลูกชายถูกล้อที่โรงเรียน สกอร์ 31-0 ทำลายชีวิตเขาไปมากทีเดียว
ซาลาปู ยังลงเล่นให้กับ อเมริกัน ซามัว ในฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก 2006 และยังคงพ่ายแพ้อย่างยับเยินและเอาชนะคู่แข่งไม่ได้แม้แต่ทีมเดียว
เขาหายไปจากทีมชาตินับตั้งแต่ปี 2004 พร้อมกับความเจ็บปวดที่อยู่ในใจ
ผู้เข้ามาเปลี่ยนแปลง
เวลาล่วงเลยมาเกือบ 10 ปี อเมริกัน ซามัว ยังเป็นสมันน้อยให้เพื่อนร่วมทวีปไล่ยำ ในเกมฟุตบอลโลก 2006 และ 2010 พวกเขาเสียไปถึง 72 ประตูจาก 8 นัด โดยหนึ่งในนั้นคือการพ่าย วานูอาตู ถึง 15-0
แต่แล้วทุกอย่างก็เปลี่ยนไปเมื่อชายที่ชื่อว่า โทมัส รอนเยน เข้ามา
กุนซืออเมริกันเชื้อสายดัตช์ได้รับภารกิจให้เข้ามาคุม ก่อนฟุตบอลโลก 2014 รอบคัดเลือก แค่เพียง 3 สัปดาห์ เขาเป็นคนพูดตรงและมีเสน่ห์ และมีประสบการณ์มากมายทั้งสโมสรในเมเจอร์ซ็อคเกอร์ลีก รวมทั้งเคยคุมทีมชาติสหรัฐฯชุดเยาวชนมาก่อน
แต่อเมริกัน ซามัว ในตอนนั้นคือทีมอันดับสุดท้ายของโลก และยังไม่เคยเก็บชัยชนะในเกมอย่างเป็นทางการแม้แต่นัดเดียว แถมยังเสียไปถึง 129 ประตูในเกมเล่นฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกตลอด 3 ครั้งที่ผ่านมา
“ตอนที่มาถึงที่นี่ ผมไม่เคยเห็นฟุตบอลทีมชาติที่มีมาตรฐานต่ำขนาดนี้” โทมัส รอนเกน กล่าว
“ผมรับมรดกของทีมมา นักเตะ 5 คนมีน้ำหนักเกินกว่าเกณฑ์ 30-40 ปอนด์ (13-18 กิโลกรัม ไม่มีทางที่พวกเขาจะเล่นได้แม้แค่ 10 นาที หากอยากลงเล่นในระดับนี้”
เขามีเวลาไม่มากในการเตรียมทีม จึงพยายามทำให้อเมริกัน ซามัว มีทรงให้เร็วที่สุด เขาฝึกซ้อมด้วยการให้ลูกทีมเน้นการจ่ายบอล และสอนแทคติกในเชิงลึกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
และแทนที่จะหมดหวังกับมาตรฐานตัวผู้เล่น รอนเจน ยังแก้ปัญหาด้วยการดึงนักเตะเชื้อสายอเมริกัน ซามัว ที่เคยมีประสบการณ์การเล่นฟุตบอลในระดับที่มากกว่าที่มีอยู่ รวมไปถึง นิคกี ซาลาปู ผู้รักษาประตูที่เสียไป 31-0 เมื่อ 10 ปีก่อน
“ผมเรียกเขามา และขอร้องให้เขากลับมา เพื่อกำจัดปีศาจร้ายในตัวเขา” รอนเจนกล่าว
“มันเป็นการเดิมพันที่สูงมาก ผมไม่มีไอเดียอะไรเลยตอนที่เรียกเขามาว่าเขาจะนำทีมไปอย่างไร หรือแรงกระตุ้นที่เขามีเป็นอย่างไร แต่นิคกี้คือผู้เล่นคนเดียวจากชุดแพ้ 31-0 ทุกคนรู้จักเขา”
“เขาเป็นแรงบันดาลใจที่แท้จริง เหมือนกับว่าเราติดหนี้นิคกีที่ทำงานอย่างหนัก และทำอะไรที่พิเศษมาก เขาปล่อยเกมนั้นไปจากชีวิตมาหลายปี ถ้าเขาสามารถไล่ปีศาจในตัวออกไปได้ เราก็จะสร้างทีมได้”
แม้ว่าซาลาปู จะเจ็บปวดจากเกมในนัดนั้น ถึงขนาดเคยบอกว่าไม่อยากเล่นฟุตบอลอีกต่อไป แต่ในส่วนลึกของจิตใจเขาเองก็อยากจะไถ่บาปที่เขาไม่ได้ก่อ เพื่อให้ชีวิตพ้นจากพันธนาการจากสกอร์ 31-0 เสียที และตอบรับกลับมาเล่นทีมชาติอีกครั้ง
“เขาขอร้องผม หากผมอยากจะล้างอายในเกมนั้น ในเกมกับออสเตรเลีย” ซาลาปูกล่าว
“เขาบอกว่านี่เป็นช่วงเวลาที่ดี เขาเป็นโค้ชอาชีพ และเราก็มีนักเตะที่ดี มีนักเตะบางคนมาจากอเมริกา ตอนแรกผมไม่คิดว่าจะเป็นไปได้ แต่เขาบอกผมทุกอย่าง และบอกผมว่าเขาอยากเอาความอับอาย 31-0 ทิ้งไปและกลายเป็นผู้ชนะ ผมบอกว่า ‘โอเค นี่จะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะกลับไป และหนีจากความอับอายนี้เสียที’ ผมดีใจที่เขาเรียกตัวผม”
ในขณะที่รอนเยนกล่าวกว่า “พวกเขาเหล่านี้เคยลงแข่งฟุตบอลแล้วก็จริง แต่ไม่มีใครมากกว่านิคกี”
“สำหรับเขา มันคือการแสดงให้โลกเห็นว่าประเทศนี้ ไม่ใช่เฉพาะตัวเขาแต่หมายถึงทีม สามารถทำอะไรบางอย่าง นั่นคือเราสามารถชนะ เราไม่ใช่ผู้แพ้อีกแล้ว”
อเมริกัน ซามัว พร้อมสำหรับการเล่นฟุตบอลโลกแล้ว
นี่คือประวัติศาสตร์
ฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก 2014 โซนโอเชียเนีย เริ่มต้นฟาดแข้งกันตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2011 อเมริกัน ซามัว ต้องลงเตะตั้งแต่รอบแบ่งกลุ่มรอบแรกร่วมกับ 3 ทีมอันดับท้ายของโลกอย่าง ซามัว ตองกา และหมู่เกาะคุก
รายการนี้เตะกันที่อาเปีย เมืองหลวงของซามัว โดยนัดแรกอเมริกัน ซามัว ประเดิมสนามพบกับ ตองกา ที่พวกเขายังไม่เคยเอาชนะได้เลยแม้แต่ครั้งเดียว
อเมริกัน ซามัว ชุดนี้นำโดย รามิน ออตต์ กองหน้าที่อาศัยอยู่ในอเมริกา โดยมี จอห์นี ซาเอลัว กองหลังเจ้าของผมทรงหางม้าคุมแนวรับ ส่วนผู้รักษาประตูรับหน้าที่โดย ซาลาปู
เกมนี้ตองกาเป็นฝ่ายเปิดเกมบุกเข้าใส่ก่อน และเกือบจะได้ประตูขึ้นนำเมื่อ มาลาไค ซาเวียติ ได้ซัดจ่อๆในกรอบเขตโทษ แต่ซาลาปู ก็เซฟเอาไว้ได้อย่างเหลือเชื่อ ช่วยให้ทีมไม่เสียประตูตั้งแต่ต้นเกม
การเน้นการจ่ายบอลของ รอนเยน เริ่มได้ผลเมื่อจากนั้นกลายเป็นอเมริกัน ซามัว ที่ได้ครองเกมและมีโอกาสลุ้นเมื่อมาได้ฟรีคิกหน้ากรอบเขตโทษ แต่ฟรีคิกสองจังหวะของ ออตต์ชนสามเหลี่ยมออกไปอย่างน่าเสียดาย
แต่ก่อนหมดครึ่งแรกเพียงไม่กี่นาที อเมริกัน ซามัว ก็ได้เฮจนได้ จากจังหวะที่ ออตต์ ซัดไกลกว่า 35 หลา บอลดูเหมือนไม่มีอะไร แต่ความลังเลของผู้รักษาประตูคู่แข่งที่ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะรับหรือปัด ทำให้บอลปลิ้นเข้าประตู ช่วยให้พวกเขาเป็นฝ่ายออกนำ 1-0 ท่ามกลางความยินดีอย่างสุดเหวี่ยงของผู้เล่น
แม้ว่าอเมริกัน ซามัว จะเป็นฝ่ายนำในครึ่งแรก แต่ครึ่งหลังเกมยังเต็มไปด้วยความตึงเครียด ทั้งสองทีมต่างมีโอกาสหลายต่อหลายครั้งแต่ก็ยิงทิ้งยิงขว้างไปจนหมด
เวลาล่วงเลยมาจนนาทีที่ 78 เป็นอเมริกัน ซามัว ที่มาได้ลูกที่ 2 จัสติน มาเนา เก็บบอลจากการสกัดของผู้เล่นตองกา ก่อนจะเบิ้ลให้ ชาลอม ลัวนี เข้าไปชิพข้ามตัวผู้รักษาประตูตุงตาข่าย
อย่างไรก็ดี แม้จะนำห่างแต่สภาพร่างกายของอเมริกัน ซามัว กำลังจะถึงขีดสุด อุณหภูมิในช่วงบ่ายทำให้ผู้เล่นเริ่มมีอาการล้า หลายคนเป็นตะคริว ทำให้ตองกาฉกฉวยโอกาสนี้ยิงประตูตีตื้นได้สำเร็จในนาทีที่ 88
ท้ายเกม ตองกา พยายามโหมบุกหนัก และเกือบจะได้ประตูตีเสมอ จากจังหวะที่ ซาลาปู ออกไปตะปบบอลแล้วไปเข้าทางผู้เล่นตองกา ยิงสวนมา แต่โชคดีที่ ซาเอลัว ยืนอยู่ตรงนั้นพอดี และเคลียร์ออกไปได้
ก่อนที่เสียงนกหวีดสุดท้ายจะดังขึ้น อเมริกัน ซามัว เอาชนะไปได้ 2-1 เป็นชัยชนะนัดแรกในประวัติศาสตร์ ในเกมอย่างเป็นทางการของพวกเขา 10 ปี หลังความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับ ในที่สุดอเมริกัน ซามัว ก็เอาชนะคู่แข่งได้แล้ว
พวกเขาฉลองกันด้วยการเต้น ‘ฮากา’ ที่กลางสนาม (ของอเมริกัน ซามัว เรียกว่า siva tau) นำโดย ไลตามา อมิซัม กัปตันทีม ท่ามกลางความดีใจอย่างสุดเหวี่ยง โดย ซาลาปู ยืนมองจากอีกฝั่งหนึ่งด้วยความโล่งใจ
“มันเหมือนกับปาฏิหาริย์ แต่มันไม่ใช่ปาฏิหาริย์ มันเป็นความรู้สึกมากมายในตอนนี้ เป็นความรู้สึกที่ท่วมท้น” ซาลาปูกล่าว
“ในที่สุด ผมก็ทิ้งอดีตไว้ข้างหลังได้เสียที ผมสามารถมีชีวิตอีกครั้ง ผมรู้สึกเหมือนกับว่าผมถูกปล่อยออกจากการเป็นนักโทษ”
ในขณะที่ รอนเจนกล่าวว่า “สิ่งแรกหลังเกมเขามองมาที่ผม เขากำลังร้องไห้และพูดว่า ‘ผมสามารถบอกลูกผมได้ว่าผมคือผู้ชนะ’ พูดตรงๆมันยิ่งใหญ่กว่าชัยชนะในเกมเสียอีก”
หลังเกมวันนั้น
นี่ไม่ใช่คะแนนเดียวของพวกเขาเพราะหลังจากนั้นอเมริกัน ซามัว สามารถเก็บแต้มจากหมู่เกาะคุกหลังเสมอกัน 1-1 แม้นัดสุดท้ายจะพ่ายให้กับ ซามัว อย่างเฉียดฉิว 0-1 พลาดโอกาสผ่านเข้ารอบต่อไปอย่างน่าเสียดาย แต่ถึงกระนั้นพวกเขาก็มีความสุข โดยเฉพาะ ซาลาปู
“มันเหมือนกับทุกอย่าง ผ่านไปแล้ว ผมคิดว่าตอนนี้ผมกลายเป็นอิสระ ผมรู้สึกดีจริงๆ”
แม้ว่า รอนเยน จะกลับไปสหรัฐฯในอีกไม่กี่เดือนหลังจากนั้น แต่เขาได้ทิ้งมรดกอันมีค่าเอา มันคือจิตวิญญาณของอเมริกัน ซามัว พวกเขาไม่ได้เป็นทีมให้คู่แข่งเคี้ยวเล่นอีกแล้ว เพราะตั้งแต่วันนั้น อเมริกัน ซามัว ก็เอาชนะคู่แข่งได้อีก 2 นัดในเกมฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือก
“มันบริสุทธิ์ มันบริสุทธิ์กว่านี้ไม่ได้แล้ว พวกเขาเล่นฟุตบอลด้วยความรักอย่างแท้จริง พวกเขาเริ่มต้นจากศูนย์ พวกเขาไม่มีอะไรเลย มันน่าทึ่งมาก” รอนเจนกล่าวถึงอดีตลูกทีมของเขา
“มันเป็นสิ่งยอดเยี่ยมสำหรับผู้เล่น ยอดเยี่ยมสำหรับฟุตบอล เพราะว่ามันสำเร็จด้วยเหล่าผู้เล่นสมัครเล่นที่รักและหลงใหลในฟุตบอล มันบริสุทธิ์เท่าที่จะเป็นได้ มันจะอยู่กับผมไปชั่วชีวิต”