ฌอน แม็คเวย์ : โค้ชหนุ่มอายุน้อยสุดประวัติศาสตร์ NFL ที่พาทีมเข้าชิง "ซูเปอร์โบวล์"
เซอร์ แมตต์ บัสบี้ ตำนานผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แห่งยุค 1940-1960 เคยกล่าวประโยคที่สะท้อนความเก่งกาจของขุนพลปีศาจแดงชุด ‘Busby Babes’ ที่สโมสรปั้นขึ้นมาฉายแสงทั้งในอังกฤษและยุโรปว่า “ถ้าคุณเก่งพอ คุณก็แก่พอ"
จะว่าไป คำพูดดังกล่าวนั้นสามารถใช้ได้กับแทบจะทุกวงการ เพราะอัจฉริยะหลายราย ต่างรู้ถึงความสามารถในตัวเองและแสดงมันออกมาได้ตั้งแต่วัยเยาว์ โมซาร์ต ประพันธ์เพลงครั้งแรกตั้งแต่อายุเพียง 5 ขวบ, เซอร์เกย์ คาร์ยากิ้น หนึ่งในนักกีฬาหมากรุกระดับแนวหน้าของโลก ได้ตำแหน่ง แกรนด์มาสเตอร์ ซึ่งถือว่าสูงสุดของวงการตั้งแต่อายุเพียง 12 ขวบ เช่นเดียวกับ คีลียัน เอ็มบัปเป้ ก็สามารถสร้างชื่อด้วยการนำทีมชาติฝรั่งเศสคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก เกียรติยศสูงสุดแห่งวงการลูกหนังด้วยวัยเพียง 19 ปี
ขณะที่วงการอเมริกันฟุตบอล NFL โดยเฉพาะในภาคงานโค้ชที่ขึ้นชื่อกันถึงเรื่องการใช้บุคลากรผู้มีประสบการณ์ข้นคลั่ก หลายคนอาจคิดไม่ถึงว่า กลับมีเฮดโค้ชคนหนึ่ง ซึ่งสามารถพาทีมเข้าสู่รอบเพลย์ออฟได้ตั้งแต่ปีแรกที่คุมทีม และไปไกลยิ่งกว่าเดิมด้วยการนำทีมเข้าไปเล่นในเกมชิงแชมป์ซูเปอร์โบวล์ในปีที่สองของการทำงาน
ที่สำคัญที่สุดคือ อายุของเขาในปัจจุบันยังอยู่ในช่วงวัย 30 ต้นๆ ซึ่งเด็กกว่าผู้เล่นในทีมตัวเองบางคนเสียด้วยซ้ำ… แต่ ฌอน แม็คเวย์ เฮดโค้ชของลอสแอนเจลิส แรมส์ สามารถพิสูจน์ตัวเองและประโยค “ถ้าคุณเก่งพอ คุณก็แก่พอ” ให้เป็นจริงอีกครั้งได้อย่างไร? นี่แหละคือสิ่งที่ Main Stand จะพาไปหาคำตอบ
สายเลือดคนชนคน
ในหลากหลายวงการ เส้นทางอาชีพของสมาชิกในครอบครัวมักจะสืบทอดกันมาเหมือนถูกถ่ายทอดผ่านสายเลือด ซึ่งตระกูลของ ฌอน แม็คเวย์ ก็เข้าข่ายนั้นด้วยเช่นกัน เมื่อ ทิม คุณพ่อของเขาเคยเล่นในทีมรับ ตำแหน่งกองหลังให้กับมหาวิทยาลัยอินเดียน่า ขณะที่ จอห์น คุณปู่ คือรองประธานทีม ซานฟรานซิสโก โฟร์ตี้ไนเนอร์ส ยุคทองที่คว้าแชมป์ซูเปอร์โบวล์ได้ถึง 5 ครั้งในยุค 1980-1990
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ตัวฌอนเองได้รับการถ่ายทอดสายเลือดนี้มาอย่างเต็มเปี่ยม กับการเติบโตขึ้นมาในฐานะควอเตอร์แบ็คให้กับโรงเรียน มาริสต์ ในรัฐจอร์เจีย ทว่าสิ่งที่ทำให้แม็คเวย์ต่างจากนักกีฬาวัยรุ่นโดยทั่วไปก็คือ ความใฝ่รู้ในศาสตร์ของกีฬาคนชนคนที่มากล้นเสียจนเพื่อนๆ มองว่าเขาเป็น 'เนิร์ด' …
เพราะในยามว่างหลังจากการซ้อมและแข่งขัน แทนที่จะไปเที่ยวเล่นตามประสาวัยรุ่นนักกีฬาเนื้อหอม สิ่งที่แม็คเวย์ทำจนกลายเป็นภาพชินตาของผู้คนที่โรงเรียนในสมัยนั้น คือการไปขลุกตัวกับเหล่าอาจารย์และโค้ช นั่งดูฟิล์มการแข่งขัน เพื่อศึกษาวิชาเพิ่มเติมและวิธีการเอาชนะคู่แข่งนั่นต่างหาก
พอล เอเธอร์ริดจ์ ผู้ช่วยโค้ชทีมบุกสมัยไฮสคูลกล่าวถึงลูกศิษย์คนนี้ว่า "เรามีเด็กพรสวรรค์จำนวนมาก มีควอเตอร์แบ็กที่เก่งๆ ก็ไม่น้อย แต่ไม่มีใครสักคนเลยที่เหมือนฌอน คนที่ผมมองว่านี่แหละ ควอเตอร์แบ็กที่เก่งที่สุด เท่าที่โรงเรียนนี้เคยมี"
"ตรงนี้ผมไม่ได้พูดถึงเรื่องของทักษะนะ ผมพูดถึงความเข้าใจเกมบุก, การอ่านเกมรับ และสิ่งที่สำคัญที่สุด การนำทีมและการสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน"
ทว่าจากช่วงไฮสคูลที่เป็นดาวเด่นกับการเป็นควอเตอร์แบ็กตัวจริง ทำสถิติให้กับสถาบันแห่งนี้มากมาย รวมถึงการนำทีมคว้าแชมป์ประจำรัฐและรางวัลผู้เล่นเกมบุกยอดเยี่ยมในปีสุดท้าย ซึ่งชนะแม้กระทั่ง แคลวิน จอห์นสัน ปีกนอกระดับตำนานของ ดีทรอยต์ ไลออนส์ ในเวลาต่อมา... ชีวิตของแม็คเวย์กลับเจอกับจุดเปลี่ยนอย่างจังเมื่อเข้าเรียนระดับคอลเลจกับมหาวิทยาลัยไมอามี่ ในรัฐโอไฮโอ เพราะเจ้าตัวไม่สามารถแจ้งเกิดในฐานะปีกนอกตัวสอดได้ตลอด 4 ปีของการเล่น ไม่ต้องสงสัยเลยว่า โอกาสใน NFL ในฐานะผู้เล่นแทบมองไม่เห็น
แต่ในขณะที่เจ้าตัวกำลังคิดไม่ตกว่า “จบไปจะทำอะไรกิน?”… จู่ๆ โอกาสใน NFL ก็มาถึงอย่างไม่คาดคิดทันทีที่เรียนจบด้วยวัย 22 ปี เมื่อปี 2008 เมื่อ จอน กรูเด้น หนึ่งในยอดโค้ชของวงการที่ขณะนั้นคุมทีมแทมป้าเบย์ บัคคาเนียร์ส และเป็นเพื่อนกับครอบครัวแม็คเวย์มานาน ชักชวนฌอนให้เข้ามาเป็นหนึ่งในทีมงานของเขา
"จะมีเด็กสักกี่คนเชียวที่ได้รับโอกาสใน NFL ทันทีที่จบคอลเลจ แถมยังเป็นงานในสายโค้ชด้วย... ไม่เยอะหรอก" ทิม คุณพ่อของ ฌอน เล่าถึงเรื่องราวในตอนนั้น "จู่ๆ ก็... ตูม! ลูกผมได้งานเป็นผู้ช่วยของ จอน กรูเด้น ซึ่งเขาเต็มที่กับงานนี้เอามากๆเลยล่ะ"
ถ้าคุณเก่งพอ คุณก็แก่พอ
แม้จะได้งานใน NFL อย่างไม่คาดฝันทันทีที่เรียนจบ แต่งานแรกในฐานะผู้ช่วยโค้ชปีกนอกกับทีมบัคคาเนียร์สก็จบลงในเวลาอันรวดเร็ว เมื่อ จอน กรูเด้น ผู้มีพระคุณที่ชักนำเข้าสู่วงการถูกไล่ออกจากตำแหน่ง ซึ่งแน่นอน ทีมงานทุกคนที่เจ้าตัวดึงมาก็ต้องเก็บของออกจากสโมสรไปด้วย
เรื่องดังกล่าวทำให้แม็คเวย์ต้องใช้เวลาในปี 2009 ในการเป็นโค้ชปีกนอกและโค้ชประเมินคุณภาพให้กับ ฟลอริด้า ทัสเกอร์ส ใน UFL ซึ่งเป็นลีกรอง ก่อนโอกาสที่สองใน NFL จะมาถึงในปี 2010 เมื่อ ไมค์ แชนนาฮาน เฮดโค้ชของวอชิงตัน เร้ดสกินส์ (ในตอนนั้น) กำลังต้องการผู้ช่วยโค้ชปีกในคนใหม่... แม็คเวย์ ได้งานดังกล่าวทันทีหลังจากการสัมภาษณ์งานกับเฮดโค้ชจบ
ทันทีที่ได้งาน สัญชาตญาณเนิร์ดของเจ้าตัวก็กลับมาอีกครั้ง จนแม้แต่แชนนาฮานเองยังยอมรับว่า อดีตลูกน้องคนนี้ทำงานหนักเอามากๆ เพื่อเข้าใจเกมคนชนคนนี้ให้ได้มากที่สุด
"จะพูดว่าฌอนถามโค้ชทุกคนในทุกเรื่องเลยก็คงไม่ผิดอะไร ในวัยที่หลายคนไม่กล้าตั้งคำถาม แต่เขากล้า เพราะเขาต้องการรู้ว่า สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในกีฬานี้เกิดขึ้นได้อย่างไร"
ด้วยการเรียนรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด บวกกับความเข้าใจเกมที่เพิ่มพูนขึ้นอย่างรวดเร็ว ปีถัดมาแม็คเวย์จึงได้รับโอกาสครั้งสำคัญ เมื่อเขาได้รับการเลื่อนขั้นให้เป็นโค้ชปีกในแทนคนเดิมที่ออกจากตำแหน่งไป ซึ่งในตอนนั้นเจ้าตัวยังมีอายุไม่ถึง 25 ปีเลยด้วยซ้ำ
คริส คูลี่ย์ ปีกในของทีม ณ ตอนนั้นเล่าถึงการร่วมงานกับแม็คเวย์ว่า "ในเดือนแรกๆที่เขารับงานนี้ ผมเองคิดว่าเขาเป็นเพียงพวกคงแก่เรียนที่เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อด้วยซ้ำ แต่เวลาผ่านไป ผมก็ได้รู้ซึ้งว่า หมอนี่มันยอดคนพันธุ์หายากชัดๆ"
แม้แต่จอมทัพของเร้ดสกินส์ในตอนนั้นอย่าง เคิร์ก คัสซึ่นส์ (ปัจจุบันย้ายไปอยู่กับ มินนิโซต้า ไวกิ้งส์) ก็ยังรู้สึกเช่นเดียวกัน "ตอนนั้นเขาอายุแค่ซัก 25-26 เองมั้ง แต่ท่าทาง อะไรต่างๆของเขาเนี่ย เหมือนกับคนอายุ 55 ที่เป็นเฮดโค้ชมาแล้วตั้งหลายปี"
"มีอยู่ครั้งหนึ่งตอนที่เราซ้อม จู่ๆ ฌอนก็สั่งให้ทุกคนหยุดการซ้อมทันทีที่เห็นว่า ปีกในของทีมที่เขาคุมอยู่ไม่ได้ทำตามแผนที่วางไว้ แล้วก็ไล่สอนเรียงคนเลย เฮดโค้ชนี่ถึงกับงงว่า 'เดี๋ยว สั่งหยุดซ้อมได้ไง? กูเป็นเฮดโค้ชนะเว้ย'"
"แต่นั่นแหละเขา บุคลิกและสิ่งที่อยู่ในหัวสามารถทำให้ทุกคนต้องฟังและคล้อยตามได้ เพราะฌอนนั้นถือเป็นคนที่มีแพสชั่นกับเกมสูงมาก, ฉลาดมาก และเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้เร็วอย่างเหลือเชื่อเลยล่ะ"
ปัจจัยที่กล่าวมา ทำให้แม็คเวย์เติบโตบนเส้นทางสายนี้อย่างไม่หยุดยั้ง เพราะในปี 2014 เจ้าตัวก็ได้เลื่อนขั้นอีกรอบให้เป็นโค้ชทีมบุกภายใต้เฮดโค้ชคนใหม่ เจย์ กรูเด้น ลูกชายของ จอห์น กรูเด้น ผู้มีพระคุณคนแรกใน NFL ซึ่งเจ้าตัวก็ไม่ทำให้ผิดหวัง กับการยกระดับเกมบุกของทีมขึ้นมาจากเดิมได้มาก และช่วยพาทีมเข้าถึงรอบเพลย์ออฟได้ในฤดูกาล 2015 อีกด้วย
ที่สุดแล้ว ผลงานดังกล่าวก็ไปเข้าตาของ ลอสแอนเจลิส แรมส์ ที่กำลังต้องการความเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วน เมื่อผลงานของทีมแสนจะย่ำแย่ ไม่เข้ารอบเพลย์ออฟมา 12 ปีติดต่อกัน, จบฤดูกาลด้วยสถิติแพ้มากกว่าชนะ 10 ฤดูกาลติด ผิดจากความคาดหวังของ สแตน โครเอนเก้ เจ้าของที่ตัดสินใจย้ายทีมจากเมือง เซนต์หลุยส์ กลับสู่มหานคร ลอสแอนเจลิส เพื่อหวังนำยุคทองกลับมาสู่ทีมอีกครั้ง
ด้วยความที่ทีมอยู่ในเมืองใหญ่ แถมเพิ่งดราฟท์ จาเร็ด กอฟฟ์ ในฐานะเบอร์ 1 เพื่อให้เขาเป็นควอเตอร์แบ็กเสาหลักของทีมในอนาคต แม็คเวย์จึงกลายเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดเพื่อสร้างทีมขึ้นมาใหม่ และเปลี่ยน ‘แกะเขาเหล็ก’ เป็น ‘แกะทองคำ’ ให้ได้
แพสชั่นคู่ทีมเวิร์ก
12 มกราคม 2017 ฌอน แม็คเวย์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเฮดโค้ชของ แอลเอ แรมส์ ด้วยวัยเพียง 30 ปี 11 เดือน ก่อนหน้าวันเกิด 24 มกราคม เพียง 12 วันเท่านั้น… นี่คือนายใหญ่ข้างสนามอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ NFL ยุคใหม่เลยทีเดียว
แน่นอน ด้วยวัยที่ต้องบอกว่ายังน้อยกว่าผู้เล่นบางคนเสียอีก ข้อครหาในเรื่องความอ่อนประสบการณ์จึงถาโถมเข้าใส่อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง แต่แม็คเวย์ก็รีบอุดช่องว่างนั้นทันทีด้วยทีมงานมากประสบการณ์ นำโดย เหวด ฟิลลิปส์ โค้ชเกมรับวัยแซยิดที่ช่วยนำ เดนเวอร์ บรองโก้ส์ คว้าแชมป์ซูเปอร์โบวล์ครั้งที่ 50 ซึ่งเฮดโค้ชรุ่นลูกโทรศัพท์ทาบทามให้มาช่วยงานเป็นคนแรก
ทว่าสิ่งสำคัญที่สุดซึ่งแม็คเวย์เข้าไปเปลี่ยนนั่นคือ ทัศนคติ… เพราะแม้ผู้เล่นทุกคนจะชื่นชอบเฮดโค้ชคนเดิมอย่าง เจฟฟ์ ฟิสเชอร์ แต่ความล้มเหลวซ้ำซากในระยะหลังพิสูจน์แล้วว่า ทีมนี้ต้องการพลังงานใหม่ที่จะช่วยผลักดันทีมให้พุ่งทะยานอีกครั้ง
และนั่นนำมาซึ่งคำถามแรกที่แม็คเวย์ถามลูกทีมทุกคนในวันเข้ามารับงานว่า อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในทีมด้านใดมากที่สุดเพื่อพลิกฟื้นแฟรนไชส์ทีมนี้? ทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกัน… ‘รับผิดชอบให้มากขึ้น, ตั้งเป้าให้สูงขึ้น และเติมไฟอย่าให้มอด’
ทั้ง 3 คำตอบ ได้กลายเป็นที่มาของสารพัดมาตรการเพื่อรวมใจทุกคนให้เป็นหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการติดข้อความปลุกใจทั่วสนามซ้อม รวมถึงตั้งกฎที่สมาชิกทุกคนในทีมต้องทำตาม คือ ‘ตรงต่อเวลา, เคารพซึ่งกันและกัน, ใช้ชีวิตอย่างมีมาตรฐาน’
เห็นได้ชัดว่า แม็คเวย์สร้างทีมด้วยภาพที่เขามีอยู่ในหัวแล้ว นั่นคือผู้เล่นต้อง 'แกร่งทั้งกายและใจ, ฉลาด และรักการแข่งขัน' แต่การจะให้ลูกทีมเป็นอย่างที่คิด ก็ต้องทำตัวให้เป็นตัวอย่างเสียก่อน ด้วยการรับฟังทุกคนในทีม, ให้กำลังใจกับทุกคน, ปฏิบัติตามตามมาตรฐานที่ตัวเองได้สร้างไว้ และผลักดันตัวเองไปให้สุดตามแนวทางที่ตั้งใจยิ่งกว่าใครๆในทีม โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนคุมทีมอยู่ข้างสนาม ที่เขาตั้งสมาธิกับเกมอย่างหนัก จับตาทุกเพลย์ในทีมอย่างไม่ปล่อย จนต้องมีการจ้างโค้ชพิเศษคนหนึ่งที่มีหน้าที่หลักคือ ดึง ฌอน แม็คเวย์ ให้กลับเข้าเขตเทคนิคทุกครั้งเวลากรรมการวิ่งผ่าน เพื่อไม่ให้โดนโทษขัดขวางการทำงานของผู้ตัดสิน
สิ่งต่างๆ ที่แม็คเวย์สร้างขึ้นมานี้ ทำให้ อาร่อน โดนัลด์ ดีเฟนซีฟแท็คเกิ้ลตัวเก่งของทีมยอมรับในเจ้านายคนนี้อย่างสนิทใจ "สิ่งที่เราต้องการในช่วงเวลาที่โค้ชเข้ามา คือการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมภายในทีม ซึ่งเขาทำให้บรรยากาศที่นี่มันเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงเลย"
เมื่อบรรยากาศดี ผลงานในสนามก็ดีตามไปด้วย เพราะจากฤดูกาลสุดท้ายในยุคของ เจฟฟ์ ฟิสเชอร์ ซึ่งทีมมีสถิติ ชนะเพียง 4 แพ้ 12 นัด ทีมแรมส์ก็พลิกโฉมจากหน้ามือเป็นหลังมือในฤดูกาล 2017 กับสถิติชนะ 11 แพ้ 5 คว้าแชมป์กลุ่ม NFC ตะวันตกได้ตั้งแต่ปีแรกที่คุมทีม สมาชิกในทีมต่างคว้ารางวัลสำคัญๆถ้วนหน้า ท็อดด์ เกอร์ลี่ย์ ตัววิ่งคนเก่งคว้ารางวัลผู้เล่นเกมบุกยอดเยี่ยมแห่งปี, แอร่อน โดนัลด์ คว้าตำแหน่งผู้เล่นเกมรับยอดเยี่ยมแห่งปี และแน่นอนที่สุด… ฌอน แม็คเวย์ กับตำแหน่งเฮดโค้ชแห่งปี
ผู้เปิดประตูบานใหม่ และก้าวต่อไป
การแจ้งเกิดอย่างเต็มตัวของ ฌอน แม็คเวย์ ได้ช่วยสร้างคุณูปการที่สำคัญกับ NFL ประการหนึ่ง นั่นคือการเปิดประตูสำคัญบานหนึ่งให้กับคนในยุคมิลเลนเนียล หรือ เจเนเรชั่น Y รวมถึงคนที่อยู่ในช่วงปลายของเจเนเรชั่น X ให้แต่ละทีมกล้าที่จะเลือกให้คนวัย 30 กว่าๆ ถึง 40 ต้นๆ ขึ้นมารับหน้าที่สำคัญอย่างการเป็นเฮดโค้ชมากขึ้น
ซึ่งตัวอย่างก็ไม่ต้องยกอื่นไกล เพราะทีมงานและคนใกล้ชิดของแม็คเวย์นี่แหละ ต่างก็ได้รับโอกาสนี้กันแล้ว เริ่มจาก แม็ตต์ ลาเฟลอร์ โค้ชทีมบุกของแรมส์ในปีแรกที่แม็คเวย์อยู่กับทีม ถูก กรีนเบย์ แพ็คเกอร์ส ทีมระดับตำนานของลีกวางตัวให้เป็นเฮดโค้ชของทีมในฤดูกาลหน้าด้วยวัย 39 ปี เช่นเดียวกับ แอริโซน่า คาร์ดินัลส์ ที่แต่งตั้ง คลิฟฟ์ คิงส์บิวรี่ เพื่อนของแม็คเวย์ให้เป็นเฮดโค้ชด้วยวัย 39 ปีเท่ากัน
หลายคนมองว่า สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นใน NFL ซึ่งกำลังก้าวย่างสู่ยุคใหม่ ถือเป็นมรดกที่แม็คเวย์กรุยทางให้กับโค้ชดาวรุ่ง แต่เจ้าตัวกลับเผยว่า "อันที่จริงก็ถือเป็นเกียรติมากนะครับที่หลายคนยกให้ผมเป็นผู้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง แต่ผมคิดว่า เรื่องดังกล่าวสะท้อนถึงความสำเร็จที่ทีมของเราทำได้มากกว่า เพราะเมื่อมีทีมทำได้ด้วยบุคลากรรุ่นใหม่ ทีมอื่นๆก็กล้าที่จะเสี่ยงตามด้วยเช่นกัน"
แม้ผลงานของแม็คเวย์ในฤดูกาลที่สองจะผ่านไปอย่างยอดเยี่ยมอีกครั้ง ด้วยสถิติชนะ 13 แพ้ 3 คว้าแชมป์กลุ่ม NFC ตะวันตกได้อีกครั้ง แถมยังสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ด้วยการเป็นเฮดโค้ชอายุน้อยสุดที่สามารถพาทีมมาถึงเกมซูเปอร์โบวล์ แต่ในเกมชิงแชมป์ครั้งที่ 53 กลับกลายเป็นบทเรียนที่สำคัญอีกครั้ง เมื่อเกมรุก แอลเอ แรมส์ ซึ่งเขาเป็นผู้เรียกเพลย์เองทั้งหมด กลับไม่สามารถสร้างปัญหาให้กับทาง นิวอิงแลนด์ เพเทรียตส์ ซึ่งนำโดยยอดโค้ชสุดเก๋าอย่าง บิล เบลลิเช็ค ได้เลย ก่อนที่ทีมนักรบกู้ชาติ จะคว้าชัยเหนือทีมแกะเขาเหล็กได้สำเร็จ คว้าแชมป์ซูเปอร์โบวล์สมัยที่ 6 ได้สำเร็จ พร้อมย้ำรอยเหตุการณ์เมื่อ 17 ปีก่อน ที่เพเทรียตส์เริ่มต้นสร้างตำนานความยิ่งใหญ่ด้วยการชนะแรมส์ในซูเปอร์โบวล์ครั้งที่ 36
มีทีมใน NFL มากมายที่สามารถก้าวไปถึงเกมซูเปอร์โบวล์ได้ ทว่าความอ่อนประสบการณ์ที่นอกจากจะเป็นหนึ่งในปัจจัยซึ่งทำให้ต้องพบกับความพ่ายแพ้แล้ว ยังเป็นเหมือนจุดเปลี่ยนสำคัญซึ่งทำให้ทีมนั้นๆ ไม่สามารถยืนระยะในการเป็นยอดทีมไว้ได้… ความพ่ายแพ้ในเกมซูเปอร์โบวล์ครั้งที่ 53 จึงถือเป็นบททดสอบสำคัญด่านต่อไปว่า ฌอน แม็คเวย์ จะสามารถนำ แอลเอ แรมส์ ก้าวข้ามความผิดหวัง และกลับสู่เส้นทางความยิ่งใหญ่อีกครั้งได้หรือไม่?
อัลบั้มภาพ 10 ภาพ