เล่าผ่านแฟนพันธุ์แท้ NBA : จากการ์ตูนสู่โลกจริง "เมื่อเพลย์ธรรมดา เปลี่ยนมาเป็นท่าไม้ตายในยุค 80s"

เล่าผ่านแฟนพันธุ์แท้ NBA : จากการ์ตูนสู่โลกจริง "เมื่อเพลย์ธรรมดา เปลี่ยนมาเป็นท่าไม้ตายในยุค 80s"

เล่าผ่านแฟนพันธุ์แท้ NBA : จากการ์ตูนสู่โลกจริง "เมื่อเพลย์ธรรมดา เปลี่ยนมาเป็นท่าไม้ตายในยุค 80s"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เชื่อเหลือเกินว่าเมื่อตอนเด็กๆ หลายๆคนดูการ์ตูนญี่ปุ่นยอดนิยม อาทิ “ไอ้มดแดง” “ดรากอนบอล” “ซึบาสะ” “วันพีซ” หรืออื่นๆ อีกมากมายตามรสนิยม มักจะเห็นทั้งตัวละครเอกและตัวร้าย งัดท่าไม้ตายออกมาใช้ในยามคับขัน เพื่อให้เกิดความได้เปรียบกับคู่ต่อสู้และเพื่อทําให้ตนเองนั้นได้รับชัยชนะ

เมื่อเราพูดถึงไอ้มดแดง เราจะนึกถึงไรเดอร์คิกส์ ซึ่งเป็นลูกเตะที่ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด ก็จะทําให้มดแดงนั้นได้เปรียบและล้มตัวร้ายได้ และถ้านึกถึงซุน โกคู เราจะนึกถึงพลังคลื่นเต่า หรือลูกบอลเกงกิที่สามารถรวมพลังแล้วทําให้โกคูนั้นได้รับชัยชนะในช่วงคับขันทุกคร้ังไป

 

เปรียบเชิงกีฬาแล้วการ์ตูนกับกีฬานั้นแทบไม่ต่างกัน ในทางกีฬา ในลีกบาสเกตบอลที่ดีที่สุดในโลก ที่มีผู้เล่นระดับโลกมารวมกัน

นักบาส NBA หลายคนก็ มี “ท่าไม้ตาย” ที่เอาไว้คอยพลิกสถานการณ์ และใช้เพื่อชิงความได้เปรียบในเกมส์รวมถึงทําคะแนนให้กับทีมเหมือนพวกเขาเหล่านี้

ผู้ให้คำจำกัดความ “ท่าไม้ตาย”

จะว่าไปจริงๆแล้วผู้เล่น NBA ในช่วงแรกนั้นไม่ได้คิดว่าจะต้องมีท่าไม้ตายกัน.. แต่มันเป็นจากการใช้แล้วได้คะแนน และฉีกแนวรับคู่ต่อสู้ได้ ย้อนไปในยุค 70’ “ลูว์ อัลซินดอร์” หรือ คารีม อับดุล จาบาร์ เซนเตอร์ของ มิลวอกี้ บัคส์ และ แอลเอ เลเกอร์ส ที่รูปร่างสูงถึง 7 ฟุต 2 นิ้ว (218 เซนติเมตร) เริ่มแสดงให้เห็นถึงคำจำกัดความว่า “ท่าไม้ตาย” ได้อย่างชัดเจน

 1

แม้คารีมจะมีความคล่องตัวที่ไม่ธรรมดา แต่ด้วยความสูงขนาดนั้น การยิงระยะกลางจึงกลายเป็นปัญหาสำคัญในการเล่น… ดังนั้นเขาจึงต้องเอาจุดเเข็งของตัวเองมากลบจุดอ่อนเสียให้หมด

ใน NBA ยุคเก่าก่อน วิทยาศาสตร์การกีฬายังไม่มีบทบาทมากเท่าทุกวันนี้ สิ่งที่คารีมนั้นใช้ในการทําคะแนน และเรียกได้ว่าเป็นจุดขายและไม้ตายของเขาเลยก็คือ “สกายฮุค”

แน่นอนว่า คารีมไม่ใช่คนแรกที่ใช้ท่านี้ เพราะสกายฮุคลูกแรกนั้นเกิดขึ้นในปี 1937 โดย พลานาส ทาวแซสนาส ผู้เล่นทีมชาติลิธัวเนีย ที่ยิงบอลมือเดียวโดยวาดแขนเป็นเส้นโค้ง และใช้แขนอีกข้างนั้นบังบอลและปิดทางคู่ต่อสู้ แม้ว่ามันจะด้วยความบังเอิญก็ตาม แต่มันก็ไม่ได้มีใครใส่ใจกับการยิงแบบนั้นสักเท่าไหร่

แต่ คารีม อับดุล จาบาร์ นั้นได้นํามันมาประยุกต์และพัฒนา จนกลายเป็นแบบฉบับเฉพาะตัว และเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งสื่อนั้นให้ชื่อว่า “สกายฮุค” ด้วยความสูง 7 ฟุต 2 นิ้ว บวกกับการกระโดดจากช่วงยาวของแขนของคารีม มันทําให้สกายฮุคของเขานั้นไร้เทียมทาน ไม่มีใครสามารถกันได้อยู่ สิ่งที่ทําได้สําหรับคู่ต่อสู้คือ “ภาวนาว่าอย่าให้ลง”

บิลล์ รัสเซลล์ ตํานานของเซลติกส์นั้นได้บอกเอาไว้ว่า “มันไม่มีใครสามารถที่จะหยุดลูกนั้นได้ มันหยุดได้ยากมาก คารีมนั้นใช้ลูกนี้จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของเขาเลย”

และการทําคะแนนของคารีมนั้นมีสกายฮุคนั้นเกือบครึ่งนึงเลยทีเดียว มันส่งผลให้เขากลายเป็นผู้เล่นที่ทําคะแนนรวมสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ NBA เลย (38,387 คะแนน)

เพื่อนร่วมทีมคู่หูของเขาอย่าง แมจิค จอห์นสัน นั้นก็ได้ประยุกต์เอาลูกไม้ตายของลูกพี่มาใช้และเรียกมันว่า “เบบี้ฮุค” โดยตัวของ เเมจิค นั้นให้เครดิต คารีม เสมอสำหรับท่าไม้ตายที่เขานำมาประยุกต์ใช้เป็นของตัวเอง

 2

“ผมไม่สามารถทําได้แบบคารีม ผมเลยให้เกียรติเขาด้วยการเรียกลูกนี้ว่า เบบี้ ฮุค” แมจิคกล่าวติดตลก

จอร์เเดน มนุษย์ผู้มีท่าไม้ตายตามช่วงอายุ

จากการฮุคที่เป็นการพยายามทําคะแนน และหลบการบล็อคของคู่ต่อสู้กลับมาเป็นท่าที่เป็นเอกลักษณ์และทําให้นักบาสรุ่นน้องอีกหลายๆ คนนั้นได้ค้นหาท่าที่จะสามารถทําคะแนนจากคู่ต่อสู้ได้ในยุค 80’ ชิคาโก้ บูลส์ได้ดราฟท์เอา ไมเคิล จอร์แดนเข้าสู่ทีม

 3

ในช่วงแรกจอร์แดนนั้นไม่ใช่คนที่ยิงระยะกลางได้ดี สิ่งที่เขาใช้ในการทําคะแนนคือการไดร์ฟเข้าวงในแล้ววางบอลหลบคู่ต่อสู้ “ไมค์เป็นคนที่ลอยกลางอากาศได้นาน และมีมือที่ใหญ่ มันสามารถทําให้เขานั้นสร้างสรรค์เพลย์สวยๆ กลางอากาศได้” ดั๊ก คอลลินส์ โค้ชคู่ใจของจอร์แดนในยุคแรกกล่าวถึงจอร์แดน

ไมเคิล จอร์แดน อาศัยการไดร์ฟเข้ามาหลบคู่ต่อสู้ที่คอยป้องกันแล้ววางบอล ฟังดูเหมือนง่าย แต่เจ้าตัวทําไปทํามาจนเป็นความเคยชิน และเป็นเพลย์สวยๆ จนถูกเรียกมันว่า “ดับเบิ้ลคลัทช์” (Double Clutch) หรือ การหลบการป้องกันโดยอาศัยการค้างตัวกลางอากาศที่นาน แล้วไปวางบอลอีกด้านของห่วง

อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะฟังดูง่าย มันไม่ง่ายอย่างที่เห็น ดับเบิ้ลคลัทช์ของจอร์แดนนั้น หลายคนบอกว่ามันยากมาก แต่ไมค์ทําให้เหมือนง่าย เพราะส่วนนึงคือเขาลอยตัวกลางอากาศได้นาน และมีมือที่ใหญ่มาก แน่นอนว่าไมเคิลไม่ได้มีท่าไม้ตายเพียงแค่นั้น

หลังจากการรีไทร์ในปี 1993 ไมเคิล จอร์แดนที่กลับมาเล่นบาสเกตบอลอย่างเต็มรูปแบบปี 1995 แน่นอนว่าด้วยอายุที่มากขึ้น พลังการกระโดดที่อาจไม่ได้สุดยอดเหมือนเมื่อก่อน สื่อจึงไปถามไมเคิลแบบตรงๆก่อนเปิดฤดูกาลกับ ชาร์ลอตต์ ฮอร์เน็ตส์ ที่สนามยูไนเต็ดเซนเตอร์ว่า คิดว่าจะสามารถสู้กับดาวรุ่งยุคใหม่ที่สดกว่าได้หรือ?

ไมเคิลได้แต่ตอบออกไปว่า “แต่ก่อนผมอาจจะสู้กลางอากาศ แต่ตอนนี้ผมหันมาสู้บนภาคพื้นแล้ว คุณคอยดูเอาแล้วกัน” ไมเคิลบอกในฤดูกาลนั้น

และนั่นคืออีกไม้ตายของไมเคิล จอร์แดน “เฟดอเวย์” (Fadeaway)

 4

แน่นอนว่าเราอาจจะได้เห็นเฟดอเวย์ในหลายๆ ครั้งในยุคก่อนหน้านี้ที่จอร์เเดนยังใช้ “ดับเบิ้ลคลัทช์” หากิน แต่มันไม่ได้จริงจังขนาดในช่วง 3 แชมป์หลัง

ไมเคิลให้เหตุผลง่ายๆที่ในยุคที่เขากลับมาเล่นและใช้ลูกนี้หากินเสมอๆว่า เพราะเขาไม่ได้ลอยกลางอากาศได้นานเหมือนเมื่อก่อนแล้ว เขาจึงหาวิธีการทําแต้มที่มันง่ายๆแต่ได้ประสิทธิภาพ

การเฟดอเวย์ของไมเคิล จอร์แดนนั้นแม้ว่าจะไม่ได้เป็นคนแรกของบาสเกตบอลที่ทำท่านี้ แต่ขึ้นชื่อว่าทรงประสิทธิภาพมากที่สุดก็ว่าได้

ไมเคิลจะเฟดอเวย์ที่คู่ต่อสู้ไม่รู้ว่าจะออกซ้ายหรือขวา แล้วหมุนรอบ แล้วค่อยกระโดดถอยหลัง รอจังหวะให้คู่ต่อสู้ตัวจะตกแล้วค่อยปล่อยบอล “มันไม่เหมือนเฟดอเวย์ทั่วไป ไมค์แทบจะนอนราบกลางอากาศเลย เขาจะรอให้คนป้องกันตกลงมาก่อน แล้วเขาจะดีดหนีไปอีก แล้วค่อยปล่อยบอล ปีศาจชัดๆ” รอน ฮาร์เปอร์ เจ้าของฉายาจอร์แดน 2 ที่มีลีลาคล้ายกับจอร์แดนกล่าวถึงเพื่อนร่วมทีม

นอกจากนั้น ฮิวบี้ บราวน์ อดีตยอดโค้ชใน NBA ก็ได้บอกว่า “เขาเปลี่ยนการเล่นของตัวเองไป ลูกเฟดอเวย์นั้นแทบจะนอนยิง มันหยุดยากมาก”

ซึ่งเรื่องการโพสต์แล้วเฟดอเวย์นั้น โคบี้ ไบรอันท์ ตํานานของเลเกอร์ก็บอกว่าเขาก็ได้ลอกเลียนแบบมาจากจอร์แดนนั่นเอง “ผมได้แบบมาจาก ไมค์ ผมเคยโดนเขาทําใส่ในเกมออลสตาร์ (1998) เขาหันหลังให้ผมแล้วพลิกยิง ผมพยายามป้องกันแต่มันฟาล์ว และลูกนั้นมันลงด้วย” โคบี้กล่าว และเฟดอเวย์นั้นทําให้มันเป็นลูกที่หลายต่อหลายคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าป้องกันยากเหลือเชื่อ

ท่าไม้ตายที่ถูกเรียกว่า “ความฝัน”

เฟดอเวย์ของไมเคิลนั้นถือว่าเป็นสุดยอดท่าไม้ตายในตํานาน แต่มันก็สามารถต่อยอดให้กับนักบาสรุ่นต่อมาที่ประยุกต์ นํามาเสริมเติมแต่ง ให้มันมีลูกเล่นมากขึ้น นั่นคือท่าไม้ตาย “เฟดอเวย์เข่าลอย” หรือ “One-legged Fadeaway” ของฟอร์เวิร์ดจาก ดัลลัส มาเวอร์ริคส์ ที่สูงถึง 7 ฟุต

 5

ถ้าบอกว่าคารีมคือ 7 ฟุตที่มีสกายฮุคแล้วไร้ผู้ที่สามารถบล็อคได้ แต่ “เดิร์ก โนวิตสกี้” ก็ไม่แพ้กัน เพราะเป็นนักยัดห่วงสูง 7 ฟุตที่กระโดด ถีบตัวไปข้างหลัง และใช้เข่าป้องกันคู่ต่อสู้เข้ามาใกล้ๆอีก

เดิร์กได้กล่าวถึงที่มาที่ไปว่า “ผมเห็นดรีม (ฮาคีม โอลาจูวาน) เขาทําท่าดรีมเชค ผมก็เคยคิดจะทํานะ แต่มันล้มเหลว ผมไม่เร็วเท่า สเต็ปไม่พริ้วเท่า ผมคิดว่าผมคงไม่เหมาะ ผมจึงหาเอกลักษณ์ของตัวเองนํามาใส่เพิ่ม” เดิร์กกล่าวถึงที่มาของเฟดอเวย์เข่าลอยในตํานาน

“ใครจะเรียกมันว่า อะไรผมก็ไม่รู้นะ แต่ผมเรียกมันว่า “เดิร์กช็อต” ท่านี้ผมต้องอาศัยแรงยิงที่มันมากขึ้นด้วย” เดิร์กกล่าวถึงท่าไม้ตายที่เจ้าตัวคิดค้นและประยุกต์ขึ้นมา

นอกจากนั้นเดิร์กยังกล่าวอีกว่า รูปแบบการเฟดของเขานั้น มันเป็นลักษณะการเฟดถอยหลังแบบเอนไปเยอะมาก และก้าวถอยหลังยาว เรียกว่าก้าวถอยหลังยาวกว่าเฟดอเวย์ของจอร์แดนรุ่นพี่เขาอีก เพราะความสูงใหญ่ของเขา และอีกส่วนหนึ่ง เดิร์กบอกว่าจําเป็นต้องคิดหาอะไรใหม่ๆเพิ่ม เพราะการยิงไกลอย่างเดียวนั้นมันทําให้คนรู้ทางของเขา

“ผมไม่ใช่คนที่เร็วในสนาม ไม่ใช่คนที่เลี้ยงลูกดี ผมต้องทําให้มันแปลกมากกว่าเดิม และไม่ให้มีใครป้องกันได้ ผมสูง 7 ฟุตและเชื่อว่าคงมีไม่กี่คนที่สามารถยิงแบบผมได้ และมันเป็นข้อได้เปรียบทําให้พวกตัวประกบไม่สามารถเข้าถึงได้” เดิร์กกล่าว

เดิร์กยังบอกด้วยว่า จริงๆ แล้วเฟดของเขาทําเพียงแค่ท่าปกติเหมือนเฟดธรรมดาทั่วๆไป แต่เพราะรูปร่างที่สูงกับรีแอคชั่นของเข่า มันจึงทําให้เหมือนเป็นการเอาเข่ามากันด้วย และเลยเป็นที่มาของ “เฟดอเวย์เข่าลอย” และแน่นอนว่ามันทําให้คู่ต่อสู้ที่ประกบเขานั้นลําบากมากๆ

“เดิร์ก จะเอนหลังมุม 20 องศามันจะสร้างความแตกต่างได้อย่างชัดเจน” สตีฟ แนช เพื่อนร่วมทีมของเดิร์กในสีเสื้อดัลลัสกล่าวถึงคู่หู ส่วนคู่แข่งที่เคยปิดเดิร์กนั้น ต่างปวดหัวกับท่านี้  

“ผมปิดเขา เมื่อเขายิงลง ยิงได้เรื่อยๆ เขาก็เอนตัวไปเรื่อยๆ คุณไม่สามารถปิดเขาได้ง่ายๆหรอก” ลาร์มาคัส อัลดริดจ์ ฟอร์เวิร์ดของ ซานอันโตนิโอ สเปอร์ส ที่เจอกับเดิร์กตั้งแต่เข้าลีกกล่าว

นอกจากนั้น ลามาร์ โอดอม อดีตฟอร์เวิร์ดของเลเกอร์ส ก็ได้บอกว่า “เขาทํามันได้ดีมาก เขาจะพิงคุณก่อน แล้วก็พลิกกลับไปยิงเฟดอเวย์ ใครจะกันได้ล่ะ?” ซึ่งคู่ประกบของเดิร์กนั้นต่างปวดหัวกับท่านี้ทุกคน

แต่ไม่ใช่แค่เท่านั้น จากท่าไม้ตายของเดิร์กนั้น นอกจากจะเป็นซิกเนเจอร์หรือท่าไม้ตายของเดิร์กแล้ว สโมสร ดัลลัส มาเวอร์ริคส์ ก็ได้ไอเดียทำการตลาดอีก

เพราะ มาร์ค คิวบัน เจ้าของสโมสร นําท่าของเขาไปทําเป็นโลโก้ และทําเป็นเสื้อออกมาแจกแฟนๆ ด้วย แต่จากที่ปัจจุบันเดิร์กนั้นอายุหลัก 40 ปีทําให้เขาไม่ค่อยใช้ท่านี้เท่าไหร่

“แต่ก่อนผมยิงได้สบาย ขาข้างเดียว แต่ตอนนี้ขาซ้ายมันไม่ดีเหมือนเมื่อก่อนแล้ว” เดิร์กกล่าวถึง ซึ่งช่วงหลังๆนี้ไม่ค่อยได้ใช้ท่านี้แล้ว

แม้แต่ เลบรอน เจมส์ ยังต้องซูฮกกับท่าเด็ดของเดิร์ก “คุณไม่สามารถจับเขาได้เลย คุณไม่สามารถป้องกันเขาได้เมื่อเขายิงท่านั้น ได้แต่บอกว่าอย่าให้ลงเท่านั้น”

แต่มันไม่ใช่แค่คนตัวใหญ่อย่างเดิร์กที่ได้คิดค้นท่าไม้ตายขึ้นมา ย้อนไปก่อนหน้านี้ที่เดิร์กเคยบอกว่าพยายามเลียนแบบดรีมเชคของ ฮาคีม โอลาจูวอน ซึ่งท่า “ดรีมเชค” นั้นถือเป็นท่าที่ผู้เล่นบิ๊กแมนหลายคนรวมถึงเดิร์กนั้นพยายามเลียนแบบด้วย ซึ่งเจ้าของท่าไม้ตายนี้ไ่ม่ใช่ใครที่ไหน

เขาคือยอดเซนเตอร์ที่มีสเต็ปไวมาก ใช่เเล้ว ฮาคีม “เดอะ ดรีม” โอลาจูวอน ตำนานเซนเตอร์ของ ฮุสตัน ร็อคเก็ตส์ ซึ่งฮาคีมก็ได้บอกว่าช่วงที่เขาใช้ดรีมเชคนั้นทุกๆ คนและสื่อต่างๆ นั้นต่างเรียกเขาว่า “ดรีม” ซึ่งแม้แต่เจ้าตัวก็ยังงงถึงที่มาของฉายานี้ “ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน เขาเรียกกันไปเองว่าดรีม จะว่าไปมันก็เท่ดีนะ”

“ดรีมเชค” ของฮาคีมนั้นโด่งดังมากในยุค 90’ ซึ่งจะเป็นการหลอก 2 สเต็ป ก้าวเข้าไปข้างในด้วยความเร็ว หลอกหนึ่งจังหวะ และพลิกกลับมาหลอกอีกจังหวะ ซึ่งมันต้องใช้ความไวของเท้าและฟุตเวิร์กเป็นอย่างมาก “มันคงเป็นเพราะผมเคยเล่นฟุตบอลสมัยผมอาศัยอยู่ที่ไนจีเรียมาก่อน เลยทําให้ผมมีฟุตเวิร์คที่เร็วนะ” ฮาคีมกล่าว

 

“เขาหลอกผมเหมือนไอ้โง่คนนึงเลย เขามีสเต็ปเท้าที่ไวมาก เขาไม่ได้มีแค่ 2 สเต็ป เขามี 20 สเต็ปเลยมั้ง" ชาคีล โอนีลล์ กล่าวถึงฮาคีมที่ใช้ดรีมเชคหลอกเขาจนหัวปั่นในรอบชิงชนะเลิศปี 1995 ที่ ออร์แลนโด้ แมจิค ต้นสังกัดในตอนนั้น เจอกับทีมร็อคเก็ตส์ของฮาคีมในรอบไฟนอล

นอกจากนั้น เดวิด โรบินสัน ยอดเซนเตอร์ของสเปอร์สที่โดนดรีมเชคหลอกหัวปั่นจนกลายเป็นภาพติดตาผ่านสื่อต่างๆ ก็ได้บอกถึงท่าไม้ตายที่เป็นเอกลักษณ์ของฮาคีมว่า “เขาเร็วมาก เข้ามาใต้แป้น แล้วหลอกผมสองจังหวะ แล้วหมุนเข้าไปทําคะแนน มันเหมือนเขาขึ้นและลงได้อย่างรวดเร็วมากจนมองไม่ทัน”

นักบาสในตํานานหลายคนตั้งแต่ยุค 80’ 90’ และช่วงปลาย 90’ ต่างมีรูปแบบและท่วงท่าที่คิดค้นขึ้นมา เพื่อให้ใช้ในการทําแต้มได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นสกายฮุคของคารีม ดับเบิ้ลคลัทช์ของจอร์แดนในช่วงแรก และมาคิดรูปแบบภาคพื้นเฟดอเวย์จัมเปอร์ จนทําให้โนวิตสกี้นั้นนํามาประยุกต์ในรูปแบบของวันเลกเฟดอเวย์ และดรีมเชค ท่าในตํานานของเซนเตอร์เบอร์ 1 ในยุค 90’ เหล่านี้ถือว่าเป็นการกรุยทาง และเปิดไอเดียใหม่ๆ ให้กับรุ่นน้องในยุค 2000 มากยิ่งขึ้น

เรื่องราวของท่าไม้ตายในบาสเก็ตบอล NBA ก้าวกระโดดขึ้นและร้อนแรงขึ้นในยุคมิลเลนเนียม เกิดอะไรขึ้นบ้างหลังจากการกรุยทางของเหล่ารุ่นพี่… โอกาสหน้าเรามาว่าถึงเรื่องนี้กันต่อครับ

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ ของ เล่าผ่านแฟนพันธุ์แท้ NBA : จากการ์ตูนสู่โลกจริง "เมื่อเพลย์ธรรมดา เปลี่ยนมาเป็นท่าไม้ตายในยุค 80s"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook