กว่าจะเป็นฉลามหมายเลข 10 : บทเรียนและชีวิตที่ไม่แน่นอนของ "เกริกฤทธิ์"

กว่าจะเป็นฉลามหมายเลข 10 : บทเรียนและชีวิตที่ไม่แน่นอนของ "เกริกฤทธิ์"

กว่าจะเป็นฉลามหมายเลข 10 : บทเรียนและชีวิตที่ไม่แน่นอนของ "เกริกฤทธิ์"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เกริกฤทธิ์ ทวีกาญจน์ คือชายอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์วงการฟุตบอลไทย เขาเป็นส่วนสำคัญในทีมชาติไทยยุค 'เจ้าอาเซียน' หรือที่เรียกกันว่า 'ยุคสมัยแห่งการทวงคืน'

คนไทยหันกลับมาเชียร์ทีมฟุตบอลทีมชาติไทยเต็มสนามราชมังคลากีฬาสถานทุกนัด นั่นคือยุคที่คำว่านักฟุตบอลทีมชาติหมายถึงซูเปอร์สตาร์ที่เดินไปไหนมาไหนใครๆก็รู้จัก มันคือความสำเร็จในอาชีพที่มีความหมายมากพอๆกับการแสดงผลงานในสนาม

อย่างไรก็ตาม "ฟุตบอลก็เหมือนการใช้ชีวิต" ในขณะที่ใครหลายคนมองมาที่ปลายทางของก้อง และคิดว่าชีวิตของเขาช่างน่าอิจฉา แต่สำหรับเจ้าตัวเเล้วการกระโดดลงเส้นทางลูกหนังและเริ่มนับตั้งแต่หนึ่ง จนถึงปัจจุบันด้วยพลังของตนเอง ทำให้เขารู้ว่า ฟุตบอลคือบทเรียนสำคัญของชีวิต และนี่เรื่องราวการถูกคุณครูคนสำคัญในชีวิตสั่งสอนจนกลายเป็น เกริกฤทธิ์ ทวีกาญจน์ ในทุกวันนี้

 

อย่าถอยหลังกลับไป 

มีคำกล่าวว่าเด็กไทยโตช้ากว่าจะดูแลตัวเองและกล้าสลัดออกจากอ้อมอกพ่อแม่ก็ต้องรอจนกว่าช่วงวัยๆใกล้อายุ 20 ปี ซึ่งเป็นหนึ่งเหตุผลที่วงการกีฬาผลิตวัตถุดิบด้านบุคลากรไม่ทัน

แต่นั่นไม่ใช่กับ เกริกฤทธิ์ เด็กหนุ่มจากสุราษฎร์ธานี ที่ออกจากบ้านมาตั้งแต่อายุ 12 ปี เพื่อไปอยู่โรงเรียนประจำอย่างโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ที่จังหวัดชลบุรี 

ธรรมชาติของเด็กต่างจังหวัดเมื่อเข้าสู่เมืองใหญ่และห่างไกลพ่อและแม่ คือ ความโดดเดี่ยว.. เกริกฤทธิ์ก็เป็นเหมือนกับทุกๆคน นั่นคือ "คิดถึงบ้าน" เมื่อก้าวออกมาเเล้วก็ต้องไปให้สุด ความคิดครึ่งๆ กลางๆ ทำให้ชีวิตหลายคนไปไม่ถึงไหน และต้องมาเสียใจในวันที่โอกาสไม่หวนกลับมาเป็นครั้งที่สอง เขาบอกตัวเองเสมอว่าจะไม่ยอมถอยหลังกลับให้ใครดูถูกความฝันของเขา

"ผมมาที่นี่เพื่อสู้ ผมไม่เคยคิดว่าตัวเองท้อ และกลับบ้านไปให้คนอื่นเขาดูถูกว่า “เราไม่ประสบความสำเร็จ เสียเวลามาเล่นฟุตบอลทำไม?” นี่คือทัศนคติที่ตั้งมั่นไม่เคยเปลี่ยน 

ความใจสู้นอกสนามบวกกับความใส่ใจที่จะพัฒนาตัวเองเมื่อลงเล่น และเมื่อหมอกของความไม่ชัดเจนเบาบางลง เกริกฤทธิ์ ก็เริ่มเห็นเส้นทางสู่อนาคตที่ชัดเจน ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี 

ก้อง เดินแบบก้าวต่อก้าว เริ่มตั้งแต่การติดทีมชาติไทยรุ่นอายุไม่เกิน 12 ปี และติดทีมชาติชุดเยาวชนมาแทบทุกรุ่น ก่อนจะได้เล่นฟุตบอลอาชีพครั้งแรกกับสโมสรศรีราชา เอฟชี ตั้งแต่อายุ 16-17 ปี  แม้นี่จะเป็นก้าวเล็กๆในสายตาของใคร แต่มันคือก้าวที่ยิ่งใหญ่และสำคัญที่ทำให้ "ก้อง" อยากจะท้าทายตัวเองอีกครั้งด้วยการหวังว่าจะได้เล่นทีมชาติไทยชุดใหญ่สักครั้ง

ณ ตอนนั้นปลายทางจะเป็นเช่นไรไม่มีใครรู้ และการตามฝันของเด็กหนุ่มเเดนใต้ก็ไม่มีวิธีการที่สำเร็จรูป แต่ก้องรู้แน่ว่า 1 อย่างที่ช่วยสานฝันได้คือเมื่อตั้งเป้าหมายเเล้ว "จงอย่าถอยหลังกลับไป" ถ้ายังไปไม่ถึงสิ่งที่ฝันไว้ 

 1

สลัดความกลัว ปลุกความกล้า

"ฟุตบอลก็เหมือนการใช้ชีวิต" เกริกฤทธิ์ พูดคำๆนี้เสมอระหว่างให้สัมภาษณ์ และชีวิตจะมีรสชาติได้ย่อมเกิดจากการวิ่งเข้าปะทะกับทั้งในความสำเร็จ, ความผิดหวัง และการเอาชนะความกลัวให้ได้ ซึ่งความกลัวครั้งใหญ่ของเขาคือในช่วงที่เริ่มเล่นฟุตบอลอาชีพหลังวัยทำบัตรประชาชนได้ไม่กี่ปีเท่านั้น

การก้าวข้ามรุ่นจากเตะกับเด็กนักเรียนด้วยการกลายมาเป็นเจอกับนักเตะอาชีพจริงๆ ทำให้เขาต้องดวลกับรุ่นพี่ที่เป็นบอลกระดูก ความเก๋าเขาสู้ไม่ได้ ความเก่งที่เคยลากเคยยิงใส่รุ่นเดียวกันได้ง่ายๆ กับกลายเป็นความ “ตัน” เมื่อเจอกับระบบอาชีพ ก้องแทบจะไม่มีบทบาทสำคัญกับทีมมากมายนักในช่วงแรกๆ

หลายสิ่งที่เคยคิดไว้ว่าง่ายเหมือนเล่นกลับกลายเป็นว่าของจริงห่างไกลหลายลี้ และ ณ วันนั้นเขาได้รับบทเรียนสำคัญว่า “เก่งตอนเด็กก็ไม่มีประโยชน์อะไร” ถ้าไม่คิดขวนขวายและพัฒนาตัวเอง

"มันแตกต่างกันเยอะนะ ด้วยความที่เราเป็นเด็ก ลูกเก๋าเราไม่มี พูดง่ายๆ เราตัดสินใจแบบเด็กๆ เสียบอลง่าย, มีแต่ความตื่นเต้น ทำให้ระบบของทีมรวนไปหมด ผมกลัวเล่นพลาดเองจนโดนรุ่นพี่ด่าด้วย"

ขวบปีแรกและการเป็นน้องเล็กมันเลี่ยงไม่ได้ที่จะโดนรุ่นพี่ในทีมโวย เสียงด่า คือ ความกดดันที่ทำให้ก้องไม่กล้าแม้แต่จะทำในสิ่งที่ตัวเองคิด ทว่าโลกนี้ไม่มีใครที่เก่งจนไม่มีสิ่งใดต้องกลัว มันมีแค่คนที่พยายามจะขจัดความกลัวนั้นทิ้งเพื่อเพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าแข็งแกร่งพอเท่านั้น

เกริกฤทธิ์ เป็น "No One" ที่ ศรีราชา ถึง 3 ปี แต่เขาไม่ได้ใช้เวลาอยู่บนม้านั่งสำรองไปวันๆ คอยโทษแต่โชคชะตาและโบ้ยความผิดให้คนอื่น เพราะทุกอย่างที่เห็น ทุกสิ่งที่ได้เรียนรู้ค่อยๆซึมซับจนเขาเริ่มปรับตัวได้ เมื่อความใจสู้บวกเข้ากับประสบการณ์ที่สั่งสมมา จากความกลัวก็กลายเป็นความกล้าที่จะดึงศักยภาพของตัวเองมาใช้ให้ถูกที่ถูกเวลา

"ผมคิดอย่างเดียวว่า ต้องสู้ ถ้ามีโอกาสได้ลงเล่น ต้องคว้าเอาไว้ให้ได้ แล้วผมก็ได้ทำในฤดูกาลที่ 4 ปีนั้นศรีราชา คว้าแชมป์ดิวิชั่น 1 จนได้ย้ายไปอยู่ ชลบุรี เอฟซี"

เกริกฤทธิ์ ถูก ชลบุรี ส่งให้การท่าเรือ เอฟซี ยืมตัวไปใช้งาน ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเพราะได้เจอกับกุนซือเก่าสมัยเล่นให้ ศรีราชา อย่าง ดุสิต เฉลิมแสน แท็คติกของโค้ชโอ่ง บวกเขากับศักยภาพที่ซ่อนอยู่ของก้อง ทำให้ตัวของเขาพัฒนาไปอีกระดับ เมื่อนั้นประตูทีมชาติในยุค "โค้ชซิโก้" เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ก็พร้อมเปิดประตูต้อนรับเขาให้พิสูจน์ตัวเองในบททดสอบครั้งต่อไป "ซีเกมส์ 2013" รายการที่เป็นเหมือนการเดิมพันของศักดิ์ศรีฟุตบอลไทย เพราะทัพช้างศึกไม่ได้สัมผัสความสำเร็จในระดับภูมิภาคมานานพอดู

 2

ก้าวข้ามขีดจำกัดด้วยตัวเองด้วยความพยายาม 

ลูกทีมของ “ซิโก้” สามารถคว้าแชมป์ซีเกมส์ 2013 มาครองได้สำเร็จ และนำความมั่นใจกลับมาให้กับเขาอีกครั้ง สิ่งใดที่ทำเอาไว้และโดนด่า ถูกปลดแอกออกในวันที่รับเหรียญทองพร้อมๆกับเพื่อนร่วมทีมในชุดนั้น

“สุดท้ายเราได้เหรียญทองซีเกมส์มาครอง เป็นอะไรที่สร้างความมั่นใจให้กับผมอีกมาก วันที่ผมได้เหรียญทอง ผมร้องไห้กับพี่คนหนึ่ง แล้วตะโกนว่า ผมพิสูจน์ได้แล้ว จากคำพูดที่เขาด่าเราเยอะ”

ในช่วงเวลานั้นมีรายการสำคัญๆวนเวียนเข้ามามากมาย และโค้ชซิโก้ ใช้ผู้เล่นชุดเหรียญทองซีเกมส์ เป็นแกนหลักยาวต่อเนื่องไปจน เอเชียน เกมส์ 2014 ซึ่งกลายเป็นว่าทีมชาติไทยยุคนั้นก้าวไปถึงอันดับ 4 ของทัวร์นาเม้นต์ จากนั้นก็เป็นเวลาของการติดทีมชาติชุดใหญ่เสียที…

ฟุตบอล เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ ในปี 2014 เป็นรายการที่ เกริกฤทธิ์ หมายมั่นปั้นมือเป็นอย่างยิ่ง มีหลายเรื่องที่เกิดขึ้นกับเขาในช่วงเวลานั้นคือเขาเปลี่ยนตัวเองครั้งใหญ่ ในการทำให้มากกว่าที่เคยทำได้ ในอดีตเคยทำได้ดีแค่ไหนต้องดียิ่งกว่านั้น เขารู้ดีว่าจะเป็นเช่นนั้นได้ เขาต้องทำในสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบ และไม่เคยทำ มันคือความจำเป็นที่จะต้องยอมฝืนธรรมชาติของตัวเอง

ปกติแล้วตัวของก้อง ไม่ใช่นักเตะประเภทวิ่งสู้ฟัด และในการทดสอบร่างกายในแคมป์ทีมชาติแต่ละครั้งก็รั้งท้ายตลอด ดังนั้นเขาเปลี่ยนทัศนคติใหม่ทั้งหมดและทำความเข้าใจว่า "มีแต่คนบ้าเท่านั้น ที่จะทำสิ่งเดิมซ้ำๆ แต่กลับหวังผลลัพธ์ที่แตกต่าง" 

"ผมใส่ความเชื่อให้ตัวเองว่า ‘ผมต้องทำให้ได้ ต้องทำให้ได้ลงเล่น’ ในทุกๆการฝึกซ้อม ผมต้องการก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง เพื่อเป้าหมายเดียวคือผมอยากติดทีมชาติ ผมบอกตัวเองเสมอว่าหน้าที่เราทำอยู่ เราไม่ได้แข่งกับคนอื่นแต่เรากำลังแข่งขันกับตัวเอง" 

นี่คือที่มาและจุดกำเนิดของปีกซ้ายหมายเลข 4 ของทีมชาติไทยที่สลับขึ้นลงกับแบ็คซ้ายอย่าง พีระพัฒน์ โน้ตชัยยา ตลอดรายการซูซูกิ คัพ 2014 และเกริกฤทธิ์ คือคนที่ "โค้ชซิโก้" ไว้ใจเสมอในยามที่ทีมต้องลงเล่นในเกมสำคัญและเดิมพันสูง  

 3

ทีมชาติไทยชุดนั้นกลายเป็นเจ้าอาเซียน และฟอร์มของเกริกฤทธิ์ก็โดดเด่นเสียจนชื่อเสียงของเขาไม่ต่างกับดารา โซเชี่ยลมีเดียของเขามีคนติดตามเพิ่มมากขึ้นในระดับหลักแสน เรียกได้ว่าการก้าวข้ามขีดจำกัดและฝืนธรรมชาติของ เกริกฤทธิ์ นำมาสู่ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นทุกทาง เป้าที่ตั้งไว้ปลดล็อกไปทีละขั้น 

นอกจากจะเป็นความสำเร็จของเขาแล้ว ยังเป็นการทำให้คนไทยทั้งประเทศมีความสุขอีกด้วย และมีบางสิ่งกับแอบมองเขาอยู่และกล่าวว่าช้าก่อนอย่าได้ลำพองใจไป…

บททดสอบต่อไปกำลังซุ่มดูอยู่ห่างๆ มันหาจังหวะเข้ามาเล่นงานเขาในช่วงเวลาที่เขาหันไปทางไหนก็มีแต่ความสุข การก้าวขามขีดจำกัดยังไม่ใช่ตอนจบที่แฮปปี้เอนดิ้งของเขา 

4

เปลี่ยนความคิดด้านลบเป็นพลังด้านบวก 

เมื่อกลายเป็นคนของประชาชนแล้วสิ่งที่ตามมาคือความคาดหวังจากแฟนบอลซึ่งมากขึ้นตามเชื่อเสียง… และวันนั้นก็มาถึงวันที่กระแสตีกลับ ศึกฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก 12 ทีมสุดท้ายของเอเชีย ทีมชาติไทยแพ้คู่แข่งเสมอ สู้ได้บ้าง-ไม่ได้บ้าง 

ในความจริงนั้นผลงานทีมชาติไทยอาจจะไม่ได้แย่มากจนถึงขั้นรับไม่ได้ แต่แฟนบอลที่ได้เสพความสำเร็จที่หอมหวานไปจนพวกเขาตั้งความคาดหวังไว้สูงมาก พวกเขาต่างคิดว่าช้างศึกจะต้องสู้ได้ดีกว่านี้ และระดับเอเชียไม่ห่างกับเรามากเท่าไหร่นัก

ดังนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่ทีมชาติไทยได้รับผลการแข่งขันที่ไม่ดี เสียงวิจารณ์ก็เริ่มจะดังขึ้น และคนที่โดนกระเเสโจมตีหนักที่สุดไม่ใช่ใครที่ไหน เกริกฤทธิ์ ทวีกาญจน์ คนดีคนเดิมของแฟนๆ ที่นับตั้งแต่กระแสลบครั้งนั้นจนปัจจุบันเขาไม่เคยติดทีมชาติอีกเลยนับตั้งแต่หมดยุคโค้ชซิโก้

 5

"แม้เราจะอยากเล่นทีมชาติ แต่พอไปถึงจุดนั้น มันไม่ได้มีแค่ตัวเราที่คาดหวังกับตัวเองแต่ยังมีคนทั้งประเทศคาดหวังในตัวเราเช่นกันและวันไหนที่เราทำไม่ได้ เราก็จะโดนโจมตีอย่างหนัก ผมเริ่มค่อยๆหลุดจากตัวจริงทีมชาติ นอกสนามก็โดนวิจารณ์ ถล่มหนัก ซึ่งมีไม่กี่คนหรอกที่เป็นเป้าโจมตีของแฟนบอล ผมก็คือหนึ่งในนั้น (ยิ้ม)"

แม้จะดูโหดร้าย เขาไม่ได้เกลียด ไม่ได้โกรธที่เจอกับอะไรที่ไม่น่าจดจำ "ก้อง" มองโลกอย่างเข้าใจและยอมรับ อย่างแรกเลยเขาก้มหน้าลงและมองตัวเองว่าเหมาะสมกับคำวิจารณ์ของแฟนๆหรือไม่คำตอบที่เขาบอกตัวเองคือ "ใช่ ผมเล่นไม่ดีจริงๆ" นี่คือสิ่งที่เขามองย้อนกลับไปหลังจากพิจารณาอย่างปราศจากอคติ

"ที่เคยคิดว่า เราแน่แล้ว มันก็ไม่มีอะไรแน่นอนหรอกวันหนึ่งเราเคยลงไปเล่นให้ทีมชาติในสนาม แต่อีกวันเราอาจจะต้องมานั่งดูทีมชาติ ผ่านหน้าจอทีวีก็ได้" หลายสิ่งชัดเจนขึ้นมาก ชีวิตนักเตะอาชีพห้ามหยุดนิ่ง แม้จะก้าวข้ามขีดจำกัดมาเเล้วเขาก็จำเป็นต้องก้าวขีดจำกัดอีก ยิ่งโดนด่ายิ่งต้องพัฒนาตัวเองเพื่อพิสูจน์ว่าพวกเขาเหล่านั้นกำลังคิดผิด 

ก้องเริ่มกลับมาใส่ใจในการเล่นให้กับ ชลบุรี เอฟซี และพยายามให้หนักขึ้น  หลายคำวิจารณ์ที่โหดร้ายที่ทำให้เขารู้ว่า “เกริกฤทธิ์ ทวีกาญจน์ ยังทำอะไรได้มากกว่านี้บ้าง?” ผู้เล่นที่สูงแค่ 162 เซ็นติเมตร ควรเพิ่มเขี้ยวเล็บอะไรอีกนอกจากการวิ่งให้มากขึ้นที่เขาได้รู้มาก่อนหน้านี้

"นับตั้งแต่ความผิดหวังครั้งนั้น (หลุดทีมชาติ) มันสอนให้เราอย่าหยุดยิ่ง ต้องพัฒนาตัวเองขึ้นมาเรื่อยๆ ไม่เช่นนั้นคนอื่นก็จะแซงหน้าเราไป ช่วงที่ไม่ติดทีมชาติผมกลับมาติดอาวุธเพิ่มให้กับตัวเอง ผมฝึกการเล่นลูกนิ่งมากเพิ่มหลังการฝึกซ้อมปกติ รวมถึงเรื่องสภาพจิตใจ ก็พยายามทำให้ตัวเองมีความมั่นใจตลอด ให้ตัวเองมีความสุขกับการเล่นฟุตบอล"

เกริกฤทธิ์ นำความคิดด้านลบเป็นพลังด้านบวกได้สำเร็จ เขารับหน้าที่สำคัญในไทยลีกฤดูกาล 2018 ด้วยการก้าวขึ้นมาเป็นกัปตันทีมของน้องๆที่ชลบุรี เอฟซี และถ้าคุณติดตามไทยลีกอย่างใกล้ชิดคุณจะเห็นได้ว่า "กัปตันก้อง" ทำหน้าที่ผู้นำได้อย่างยอดเยี่ยม เราอาจจะไม่ได้เห็นเขาชี้นิ้วสั่งลูกทีม เพราะตัวของเขาแสดงให้เห็นเองจากการเรียนรู้ที่ผ่านมาทั้งช่วงเวลาที่ดีและร้ายว่าเขาเก่งขึ้นไปอีกระดับเเล้ว

9 ประตูกับ 4 แอสซิสต์ ที่ทำได้ในไทยลีก 2018 คือสถิติที่ดีที่สุดในอาชีพค้าแข้งระดับสโมสรของเขา แฟนบอลเริ่มหันมามองเขาในแง่ดีมากขึ้นจากความยอดเยี่ยมนี้ในศึกซูซูกิ คัพ 2018 และ เอเชี่ยน คัพ 2019 เริ่มมีคนพูดว่า "เกริกฤทธิ์ ก็เล่นดีทำไมไม่ติดทีมชาติล่ะ?" มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด 

จากคนที่แฟนไล่ให้หลุดจากทีมเป็นคนแรก สู่คนที่แฟนบอลไทยคิดถึงและอยากให้กลับมามีโอกาสในทีมชาติไทยอีกครั้ง เกริกฤทธิ์ ได้พิสูจน์ว่าฟ้าหลังฝนนั้นเป็นของขวัญที่คู่ควรกับคนที่แข็งแกร่งพอที่จะยืนหยัดและหนักแน่น ในวันที่ฝนตกหนักจนร่างกายเปียกแฉะจงอย่าหยุดเดิน เพราะทางข้างหน้าจะไม่มีอะไรที่แย่ยิ่งกว่านี้ หรือต่อให้มีขึ้นมาจริงๆ ประสบการณ์ที่เคยก้าวผ่านจะสอนให้เรารู้วิธีรับมือกับมันได้ดีขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย

6

กีฬาคือครูชีวิต

การแบกความคาดหวังที่ไม่ได้คาดคิดว่าจะต้องรับมือนำมาสู่การหกล้มจนระหว่างทางจนเสียหลัก กระทั่งเขากลับมาตั้งหลักใหม่ด้วยสองขาของตัวเอง นาทีนี้เขากลับสู่จุดที่เด็กชายเกริกฤทธิ์ ในวัย 12 ปีเคยเป็น นั่นคือจงมีความสุขกับสิ่งที่ทำ และอย่าลืมทำมันควบคู่ไปพร้อมกับความมุ่งมั่น ภายใต้อายุและประสบการณ์ที่มากขึ้นในทุกๆวัน  

"ฟุตบอลเปรียบเหมือนกับคุณครู มันคือครูที่สอนและมอบทุกอย่างให้กับชีวิตผม กีฬาทำให้ผมได้มาใช้ชีวิตและเรียนรู้ร่วมกับคนหมู่มากสอนเรื่องการใช้ชีวิตของผม"

ไม่ใช่แค่ในช่วงอาชีพนักฟุตบอลเท่านั้นที่ก้องได้เรียนรู้จากกีฬา ความเข้าใจชีวิตจริงของเขามากขึ้นด้วย ทั้งเรื่องเส้นทางอาชีพที่ไม่แน่นอน วันนี้ร่ำรวยแต่เมื่อถึงวันที่ร่างกายไม่ไหวสิ่งใดจะรออยู่ต่อไป? และจะทำอย่างไรเพื่อรับมือกับมัน?

อนาคตคือเรื่องที่ยังเดินทางมาไม่ถึง และไม่มีใครรู้ว่ามันจะดีกว่าเก่าหรือแย่กว่าเดิมสักเท่าไร ทว่าตั้งแต่บทเรียนเรียนแรกที่ฟุตบอลมอบให้กับเขาจนถึงบทเรียนปัจจุบันทำให้ เกริกฤทธิ์ ทวีกาญจน์ มีภูมิคุ้มกันที่จะรับมือกับสิ่งที่คาดไม่ถึงได้ดียิ่งกว่าเดิม

เกิดเป็นคนต้องเรียนรู้และค้นคว้าสิ่งใหม่ๆเพิ่มเติมให้ชีวิต และเมื่อยิ่งค้นคว้าเราก็จะยิ่งค้นพบ ฟุตบอลอาจจะเป็นคุณครูที่ดีของเขา แต่ก็ต้องยอมรับว่า เกริกฤทธิ์ ผู้สืบทอดเสื้อหมายเลข 10 จาก พิภพ อ่อนโม้ ในฤดูกาลหน้าที่จะมาถึง คือนักเรียนที่นั่งหน้าห้องและจดจ่อกับทุกบทเรียนอย่างตั้งใจ... อย่างแท้จริง 

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ กว่าจะเป็นฉลามหมายเลข 10 : บทเรียนและชีวิตที่ไม่แน่นอนของ "เกริกฤทธิ์"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook