ธฤติ โนนศรีชัย : จากผู้นำบนผืนหญ้าสู่เอเยนต์ผู้นำนักบอลไปเจลีก
Thailand Web Stat

ธฤติ โนนศรีชัย : จากผู้นำบนผืนหญ้าสู่เอเยนต์ผู้นำนักบอลไปเจลีก

ธฤติ โนนศรีชัย : จากผู้นำบนผืนหญ้าสู่เอเยนต์ผู้นำนักบอลไปเจลีก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ธฤติ โนนศรีชัย หรือที่แฟนบอลหลายคนเรียกเขาว่า “กัปตันดอย” เป็นชื่อที่คุ้นหูดีของคอบอลไทยลีก ในฐานะปราการหลังแถวหน้าของวงการฟุตบอลไทย มาตลอดชีวิตการค้าแข้งของเขา

อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายอาชีพการค้าแข้ง ธฤติ ไม่ก้าวสู่เส้นทางโค้ชฟุตบอล อย่างที่นักฟุตบอลส่วนใหญ่ทำกันหลังเลิกเล่น แต่เขาหันไปทำอาชีพใหม่ที่แตกต่างออกไป นั่นคือการเป็น “เอเยนต์นักฟุตบอล”

 

Main Stand จะพาไปพูดคุยกับนักฟุตบอลอาชีพไทยคนแรก ที่ผันตัวเองมาเป็นเอเยนต์อาชีพ คอยดูแลผลประโยชน์ให้กับรุ่นน้อง

เหตุใดเขาถึงมาลองอาชีพสุดท้าทายนี้? การเป็นนักฟุตบอลช่วยในการทำงานในฐานะเอเยนต์ได้อย่างไร? และความสามารถช่วยพัฒนาฟุตบอลไทยได้ในรูปแบบใด กับอาชีพนายหน้าค้าผู้เล่นแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

จุดเริ่มต้นกับเส้นทางใหม่

“ประมาณ 5-6 ปีก่อน ได้เห็นว่าหลายครั้งในวงการฟุตบอลไทย นักฟุตบอลหลายคน เพื่อนพี่น้องในวงการ โดนเอาเปรียบจากสโมสร ก็เริ่มรู้สึกว่า วงการฟุตบอลไทยควรมีเอเยนต์มาดูแลเรื่องผลประโยชน์ในวงการฟุตบอลไทย” ธฤติย้อนความหลังต่อมุมมองของอาชีพเอเยนต์ในอดีต

“ย้อนไปสมัยที่พี่เริ่มเล่นฟุตบอลใหม่ๆ ตอนนั้นไม่มีนักเตะไทยที่มีเอเยนต์ อาชีพนี้แทบไม่มีบทบาทในวงการ จะมีแค่พวกนักฟุตบอลต่างชาติที่มีเอเยนต์พาเข้ามาเล่นในไทยบ้าง”

 

แม้อดีตแข้งดีกรีแชมป์ไทยลีก จะเห็นความสำคัญของอาชีพเอเยนต์มาโดยตลอด แต่เขาไม่ได้ปักธงว่าจะเดินทางเข้ามาในสายทางนี้ตั้งแต่แรก จนกระทั่งได้เพื่อนสนิท มาเปลี่ยนความคิดให้เขามาเริ่มเส้นทางการเป็นเอเยนต์แบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

“พี่มีเพื่อนสนิทเป็นชาวเยอรมัน เขาทำอาชีพเป็นเอเยนต์อยู่แล้ว เป็นคนทำบริษัท FPS Management & Consulting ที่ทำอยู่ตอนนี้ มาชวนให้มาทำอาชีพเอเยนต์”

“บอกตามตรงว่าตอนแรกไม่ได้สนใจนะ เขามาชวนหลายรอบเราก็ไม่ได้สน จนวันหนึ่งเพื่อนคนนี้เขาก็มาถามว่า ‘ถามหน่อยเลิกเล่นแล้วจะไปทำอะไรต่อ’ พี่ตอบไปว่า ‘คงไปเรียนโค้ชแบบที่นักฟุตบอลคนอื่นทำกัน’”

 

“เพื่อนเขาก็พูดมาว่า ‘แต่ละปีมีนักฟุตบอลไปเรียนโค้ชกันเยอะ เรียนจบออกมาต้องแข่งขันกันทำงาน และรายได้ไม่ได้สูงมาก แต่ถ้ามาเป็นเอเยนต์ไม่มีคู่แข่ง รายได้ก็มีโอกาสได้เยอะกว่า’”

“คำพูดนี้ของเพื่อนมันทำให้พี่ฉุกคิด เลยมองว่าน่าจะลองมาเป็นเอเยนต์ดูสักตั้ง ถ้าล้มเหลวไปไม่รอด ค่อยกลับไปเรียนโค้ชยังทัน ถ้าไปได้สวยก็ดีเลย เพราะตัวเองกำลังจะเลิกเล่นด้วย ต้องมองหาอาชีพที่มั่นคง เลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้”

“อีกมุมหนึ่ง พี่มองว่าด้วยความที่เคยเป็นนักฟุตบอลมาก่อน เลยคิดว่าถ้าสามารถช่วยเพื่อนพี่น้องที่รู้จัก ไม่ให้โดนเอาเปรียบในอาชีพค้าแข้ง ก็เป็นเรื่องที่ดีสำหรับตัวเองและคนรอบข้าง”

จากนั้น ธฤติเริ่มต้นการเป็นเอเยนต์ในช่วงฤดูกาล 2017 ก่อนจะเริ่มต้นทำงานในทางนี้อย่างเต็มตัวหลังจากแขวนสตั๊ดในปีเดียวกัน จนกลายเป็นที่ฮือฮาในโลกฟุตบอล ว่าแข้งชื่อดังรายนี้จะไปได้ไกลแค่ไหน กับอาชีพที่ถือว่าใหม่กับคนที่เคยเป็นนักฟุตบอล

“ประสบการณ์” เป็นข้อได้เปรียบ

หนึ่งในความแตกต่างของ ธฤติ โนนศรีชัย กับเอเยนต์คนอื่น นั่นคือเขาเคยเป็นนักฟุตบอลระดับแนวหน้าของเมืองไทยที่ผ่านการค้าแข้งกับทีมชั้นนำมาโดยตลอด

จุดนี้กลายเป็นข้อได้เปรียบ ที่ทำให้ธฤติ สามารถนำสิ่งที่เขาได้รับตลอดอาชีพการค้าแข้ง 14 ปี มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในฐานะเอเยนต์

 

“ข้อแรกคือเรื่องของคอนเนคชั่น พี่เคยเป็นนักฟุตบอล รู้จักกับสโมสร รู้จักกับนักฟุตบอล อย่างคนแรกที่พี่ไปเป็นเอเยนต์ให้ คือ สารัช อยู่เย็น ถ้าจำไม่ผิดนะ (ฮา) เพราะว่ารู้จักกับสารัชเป็นการส่วนตัว และเห็นว่าสารัชยังไม่มีเอเยนต์ เราเลยเสนอตัวไปเป็นเอเยนต์”

“ถ้าเป็นคนอื่นอยู่ดีๆไปติดต่อ นักบอลอาจไม่รับมาเป็นเอเยนต์ แต่พี่กับสารัชรู้จักกันมานาน พอติดต่อไปบอกว่า อยากเข้ามาดูแลเขา อธิบายให้เขาเห็นว่า ในฐานะเอเยนต์พี่สามารถช่วยเหลือเขาได้อย่างไรบ้าง ทางสารัชก็ยินดี ที่ให้พี่มาดูแลเรื่องผลประโยชน์ให้”

“มันเป็นเรื่องของความไว้ใจด้วย เราเป็นนักฟุตบอล เรารู้จักผู้เล่นในวงการ เขาก็มีความไว้ใจในตัวเรา ที่จะให้มาจัดการหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับนักเตะแต่ละคนที่พี่ดูแล”

แม้เรื่องคอนเนคชั่นจะเป็นจุดแข็งสำคัญของธฤติ กับการเป็นเอเยนต์ในเมืองไทย ที่ได้เปรียบกว่าเอเยนต์คนอื่น ที่ไม่ได้รู้จักกับคนในวงการมากเท่าตัวเขา

แต่ในความคิดของอดีตปราการหลังมาดเท่รายนี้ มองว่า ยังมีเรื่องอื่น ที่เขามองว่าเป็นประโยชน์ไม่แพ้เรื่องคอนเนคชั่น ที่อาชีพนักฟุตบอลมอบให้เขา และนำมาปรับใช้ได้อย่างดี เมื่อผันตัวมาเป็นเอเยนต์

“สมัยพี่เป็นนักบอล หลายครั้งที่ต้องเจรจาสัญญากับทางสโมสรด้วยตัวเอง มันทำให้ได้ประสบการณ์ในตรงนี้ และส่วนตัวคิดว่าทุกครั้งที่ต่อรองสัญญาของตัวเอง ก็ได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ รักษาผลประโยชน์ของตัวเองไว้ได้”

“พอมาเป็นเอเยนต์ เลยได้ใช้จุดแข็งตรงนี้ มาช่วยต่อรองเวลาเจรจาสัญญาให้กับนักเตะในสังกัด ไม่ให้เป็นฝ่ายเสียเปรียบเรื่องข้อตกลงและผลประโยชน์ในสัญญา”

“อีกด้านเพราะเราเคยเป็นนักบอล จึงเข้าใจความรู้สึกของนักฟุตบอล ว่านักบอลต้องการอะไรตอนเจรจาสัญญา เข้าใจว่าจุดไหนที่สโมสรพยายามเจรจาสัญญาเอาเปรียบผู้เล่น เป็นอีกมุมหนึ่งที่พี่มองว่าเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ ในฐานะนักบอลที่ผันตัวเองมาเป็นเอเยนต์”

 

นอกจากความแตกต่างในฐานะเอเยนต์ ที่ผันตัวมาจากการเป็นนักฟุตบอล ธฤติ โนนศรีชัย ยังเป็นผู้เล่นที่ได้รับความเคารพอย่างสูงในหมู่เพื่อนนักฟุตบอลด้วยกัน

เพราะเส้นทางการค้าแข้งบ่อยครั้ง ที่เขาได้รับเลือกให้สวมปลอกแขนกัปตันทีม จากความเป็นผู้นำในสนาม การปฏิบัติตัวอย่างมืออาชีพ และดูแลเพื่อนร่วมทีมได้ดี ซึ่งจุดนี้เป็นอีกมุมหนึ่งที่ทำให้ “กัปตันดอย” ได้รับความไว้ใจให้เป็นเอเยนต์ของนักเตะไทยชื่อดังหลายคน

“สมัยเป็นนักเตะ เราพยายามทำตัวเป็นมืออาชีพให้มากที่สุด ทั้งในและนอกสนาม เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับรุ่นน้อง”

“เมื่อมาทำงานในจุดนี้ เราก็ได้รับความน่าเชื่อถือ บวกกับตัวพี่และบริษัท FPS มีหลักการในการทำงานว่าเราทำงานอย่างเป็นมืออาชีพ ซื่อสัตย์และตรงไปตรงมากับทั้งนักเตะและสโมสร เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับผลประโยชน์มากที่สุด”

ทุกฝ่ายต้องได้ “สิ่งที่ดีที่สุด”

การทำงานของ ธฤติ โนนศรีชัย ในฐานะเอเยนต์ ไม่ได้ต่างจากเอเยนต์คนอื่นมากเท่าใดนัก นั่นคือทำหน้าที่คอยหาทีมให้กับผู้เล่นในสังกัด เจรจาสัญญาให้กับผู้เล่น รวมไปถึงจัดการเรื่องภาษีของนักเตะ และรายละเอียดปลีกย่อยอื่น เพื่อให้ผู้เล่นสามารถมุ่งมั่นกับเรื่องบนพื้นหญ้าให้ได้มากที่สุด

แต่สิ่งหนึ่งที่ท้าทายสุดในการทำงานของธฤติ คือการต้องปกป้องผลประโยชน์ของนักเตะ ไม่ให้โดนเอาเปรียบจากสโมสร ซึ่งถือเป็นหน้าที่สำคัญที่สุดของเอเยนต์

 

Advertisement

“บางครั้งการเจรจาสัญญากับสโมสรถือเป็นเรื่องยาก เพราะหลายสโมสรยังไม่มีความเป็นมืออาชีพ มีความคิดที่จะเอาเปรียบนักเตะอยู่ แต่เราต้องพยายามต่อรองให้ได้ เพื่อให้นักเตะของพี่ได้สิ่งที่ดีที่สุดจากสัญญา ตรงนี้ถือเป็นเรื่องยากที่สุดของการเป็นเอเยนต์”

“อย่างเรื่องการยกเลิกสัญญานักเตะ เป็นปัญหาเรื้อรังของวงการฟุตบอลไทย เอเยนต์ต้องพยายามเจรจาเพื่อให้นักเตะไม่โดนเอาเปรียบ ให้ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม”

“ส่วนตัวในฐานะเอเยนต์มองว่า ถ้าเราไม่ยอมให้สโมสร มันหาทางออกที่ดีให้กับทั้งสองฝ่ายได้ ถ้าไปยอมก็โดนเอาเปรียบ แต่วิธีที่ดีที่สุดคือต้องป้องกันไว้ก่อนตั้งแต่ตอนเซ็นสัญญา พี่พยายามดูสัญญาเรื่องนี้ตั้งแต่ก่อนเซ็น จะได้ไม่ต้องมาเสียเปรียบในภายหลัง”

อย่างไรก็ตาม เอเยนต์ไม่ได้มีหน้าที่แค่รักษาผลประโยชน์ให้นักเตะ แต่รวมถึงทางฝั่งสโมสรฟุตบอล เพราะอีกหนึ่งงานสำคัญของเอเยนต์ คือการหานักเตะให้กับสโมสร

เพราะในมุมมองของธฤติ สโมสรต้องได้ผู้เล่นที่มีคุณภาพเช่นเดียวกัน ให้สมกับที่ไว้ใจเซ็นสัญญานักเตะในสังกัดของเขา

 

“บริษัทของเรามีทั้งคอนเนคชั่นและแมวมองเป็นของตัวเองในต่างประเทศ เพื่อให้เราได้นักเตะที่เป็นของจริง อย่างในพื้นที่เอเชีย พี่ก็เป็นแมวมองที่ต้องไปเดินทางไปดูนักเตะด้วยตัวเอง”

“ที่ทำแบบนี้เพราะเราต้องการแน่ใจว่าผู้เล่นที่เราจะพาไปเซ็นสัญญาเป็นผู้เล่นที่เก่งจริง เราต้องเช็คด้วยตาตัวเอง อย่างเอเยนต์บางที่ เขาแค่หาคลิปมาแล้วทำส่งๆแบบขอไปทีให้กับสโมสร เราไม่ทำแบบนั้น ต้องทำให้สโมสรรู้สึกว่าบริษัทของพี่ไว้ใจได้ที่จะร่วมงานด้วย”

มีด้านสว่างและด้านมืด

สิ่งที่ทำให้ธฤติทุ่มเทการทำงานในฐานะเอเยนต์ให้ดีที่สุด เพราะเขามองว่าอาชีพนี้กำลังจะมีบทบาทในวงการฟุตบอลไทย เหมือนกับในวงการฟุตบอลต่างประเทศ

หากทำให้ทั้งนักเตะและสโมสรเห็นความสำคัญของอาชีพนี้ จะทำให้ธุรกิจเอเยนต์นักฟุตบอลสามารถเติบโตขึ้นได้กว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

 

“ฟุตบอลเมืองนอก ถ้านักเตะจะเซ็นสัญญาไม่มีเอเยนต์ไม่ได้นะ ต้องมีเอเยนต์คอยเซ็นรับรองตลอด แต่ฟุตบอลไทยไม่ขนาดนั้น เพราะนักเตะหลายคนยังไม่มีเอเยนต์”

“ในมุมมองของพี่คิดว่าหลังจากนี้ นักฟุตบอลจะมีเอเยนต์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะการมีเอเยนต์มันทำให้หลายฝ่ายได้ประโยชน์ อย่างนักเตะก็ไม่ต้องมากังวลเรื่องนอกสนาม สามารถโฟกัสแค่เรื่องเล่นฟุตบอล จุดนี้ช่วยให้ผู้เล่นสามารถทำผลงานได้ดีขึ้น”

“ฝั่งสโมสรพอมีระบบเอเยนต์ก็ต้องปรับตัว ซึ่งพี่ว่าดีมากนะ เพราะหลายสโมสรปรับตัวได้ดี มีความเป็นมืออาชีพกว่าสมัยก่อน ยุคนี้สโมสรเข้าใจการทำงานของเอเยนต์มากขึ้น การเจรจากันไม่ค่อยมีปัญหา ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์ เหลือสโมสรไม่มากที่ยังพยายามเอาเปรียบนักเตะ”

 

แต่ภาพลักษณ์ของ เอเยนต์ ไม่ได้มีในด้านบวกเท่านั้น เพราะบางครั้ง อาชีพนายหน้านักฟุตบอล อาจถูกตั้งภาพในแง่ลบ ว่าเป็นผู้ที่เข้ามากอบโกยผลประโยชน์จากสายตาของแฟนบอลบางคน

เรื่องนี้ ธฤติ โนนศรีชัย ที่เลือกทำงานในสายอาชีพนี้ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะโดนเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ยามนักเตะในสังกัดของเขาย้ายสโมสรแบบค้านสายตาแฟนบอล ว่ามีส่วนได้ส่วนเสียเบื้องหลัง หรือเป็นต้นเหตุของการย้ายทีมกับนักเตะ ไม่ต่างอะไรกับเอเยนต์นักฟุตบอลต่างประเทศที่โดนโจมตีในประเด็นนี้จนเป็นเรื่องปกติ

“เรื่องเสียงต่อว่า เสียงวิจารณ์จากแฟนบอล คนเป็นเอเยนต์ต้องโดนอยู่แล้ว พี่มาทำงานตรงนี้ต้องยอมรับสภาพ หลีกเลี่ยงไม่ได้”

 

“ตอนนิว (ฐิติพันธ์ พ่วงจันทร์) ย้ายจากเชียงราย ยูไนเต็ด ไปอยู่กับบีจี ปทุม ยูไนเต็ด พี่ก็โดนโจมตีเยอะว่าเป็นต้นเหตุทำให้นิวต้องย้ายทีม”

“พูดตามตรงว่าเอเยนต์ไม่มีอำนาจจะไปบีบบังคับสโมสร ให้ขายผู้เล่นตามที่ตัวเองต้องการ ถ้าสโมสรยืนยันจะไม่ขาย เอเยนต์ก็ทำอะไรไม่ได้ แต่หลายครั้งที่การย้ายทีมเกิดขึ้น เพราะทุกฝ่ายมองว่าได้ประโยชน์ร่วมกัน มันเป็นไปตามกลไกของฟุตบอล”

ความฝันบนเส้นทางใหม่

แม้จะแขวนสตั๊ดหันมาใส่สูทผูกไท ทำอาชีพซึ่งไม่เป็นที่นิยมของนักฟุตบอลในเมืองไทย แต่ ธฤติ โนนศรีชัย ยังคงมีความใฝ่ฝันอยากเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาคุณภาพวงการฟุตบอลไทย ด้วยการพานักเตะแนวหน้าของเมืองไทย ออกไปเก็บประสบการณ์และพัฒนาฝีเท้าในต่างแดน

 

“บริษัทของพี่มีส่วนในการพาเจ (ชนาธิป สรงกระสินธ์) ไปเล่นที่คอนซาโดเล่ ซัปโปโร พอเจไปเล่นที่เจลีกสำเร็จ เลยมาคิดว่าอยากพานักเตะในการดูแลของเราไปเล่นที่เจลีกบ้าง”

ความฝันของธฤติไม่ได้เป็นเรื่องเกินจริง เพราะเขาสามารถทำได้สำเร็จต่อเนื่อง ในฤดูกาล 2019 ด้วยการส่ง ฐิติพันธ์ พ่วงจันทร์ แข้งดีกรีทีมชาติไทย ย้ายไปเล่นกับสโมสรโออิตะ ทรินิตะ ทีมน้องใหม่ของเจลีก ด้วยสัญญายืมตัว 1 ปี

 

“พี่เสนอนิวให้กับทางสโมสรญี่ปุ่น ซึ่งทางโออิตะสนใจในตัวนิวอยู่แล้ว เพราะเขาตามดูฟอร์มนิวมาสักระยะใหญ่ๆ ดีลจึงเกิดขึ้น จริงๆแล้วในฤดูกาลนี้ ไม่ได้มีแค่นิวที่พี่พยายามผลักดันให้ไปเล่นที่ญี่ปุ่น ยังมีอีก 2-3 คน แต่ทางต้นสังกัดไม่ปล่อยตัว ก็เลยไม่ได้ไป”

“พอส่งนักเตะไปเจลีกได้แล้ว ตอนนี้พี่มองไปถึงเป้าหมายต่อไป คือการพานักฟุตบอลไทยไปเล่นที่ยุโรป ไม่จำเป็นต้องพาไปเล่นลีกใหญ่ ไปเริ่มต้นที่ลีกเล็กๆก่อน”

 

ในทางกลับกัน การพานักเตะต่างชาติฝีเท้าดีที่มีชื่อเสียงระดับโลก ถือเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้คุณภาพของฟุตบอลไทยพัฒนายิ่งขึ้นไป ซึ่งบริษัท FPS Management ได้พาแข้งชื่อดังอย่าง ฮาจิเมะ โฮโซไก นักเตะดีกรีบุนเดสลีกาและทีมชาติญี่ปุ่น รวมถึง ออสวัลโด้ ฟิลโญ่ แข้งทีมชาติบราซิลคนแรกในประวัติศาสตร์ไทยลีกที่เคยติดทีมชาติบราซิล มาวาดลวดลายบนแผ่นดินสยาม

“บริษัทของพี่ พยายามนำเสนอนักเตะที่มีคุณภาพและมีชื่อเสียงมาโดยตลอด แต่ต้องยอมรับว่าหลายสโมสรยังเจอปัญหาในเรื่องงบประมาณ เลยไม่ได้เห็นนักเตะดีกรีระดับโลกมากนักในไทยลีก”

“ทุกวันนี้ลีกไทยได้รับความสนใจจากผู้เล่นต่างชาติ ไม่แพ้ลีกของญี่ปุ่นกับเกาหลี นักเตะหลายคนมองว่าไทยลีกก็เป็นลีกชั้นนำในเอเชีย พี่พยายามจะดึงนักเตะเหล่านี้มาเล่นที่ไทยลีก เพื่อเข้ามายกระดับของลีกขึ้นไปอีก ในอนาคตคงจะได้เห็นมากขึ้น”

นอกจากการพัฒนาผู้เล่นไทยและผู้เล่นต่างชาติ โควต้าอาเซียนเป็นอีกส่วนสำคัญ ที่กำลังจะมีบทบาทในวงการฟุตบอลไทย ซึ่งธฤติมองว่าหากโควต้าอาเซียนตอบโจทย์กับฟุตบอลลีกบ้านเรา เขาพร้อมจะพาแข้งเพื่อนบ้านเข้ามายกระดับให้ไทยลีกแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

“ตอนนี้มี สเตฟาน พัลลา (นักเตะชาวฟิลิปปินส์ ของบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด) ที่พี่พามาเล่นในเมืองไทย ปัจจุบันนักเตะในอาเซียนอยากมาเล่นที่ไทยเยอะมาก อย่างพม่ากับฟิลิปปินส์ ต้องการมาเล่นที่ไทยลีกกันหลายคน ตอนนี้ก็รอดูสถานการณ์ของโควต้าอาเซียนกับไทยลีกอยู่”

 

แม้จะอยู่ในจุดที่ไม่ได้อยู่ในภาคส่วนโดยตรงที่ทำหน้าที่ในการพัฒนาฟุตบอลไทย แต่สำหรับชายที่ชื่อ ธฤติ โนนศรีชัย หัวใจของเขายังคงผูกพันกับฟุตบอลไทย และต้องการเห็นวงการฟุตบอลเดินหน้าต่อไป ทำให้ความฝันของเขาในอนาคตยังคงเป็นการมีส่วนร่วมช่วยพัฒนาฟุตบอลไทย ในฐานะเอเยนต์คนหนึ่ง

“ความฝันของพี่ในตอนนี้กับการเป็นเอเยนต์ คืออยากพานักเตะไปเล่นที่เจลีกให้ได้มากที่สุด เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพของวงการ ยิ่งไปได้เยอะ ยิ่งช่วยทำให้วงการฟุตบอลบ้านเราแข็งแกร่งขึ้น”

“ที่สำคัญคือไม่ใช่แค่นักเตะทีมชาติที่อยากพาไปเล่นต่างแดน พี่อยากพานักเตะดาวรุ่งไปเล่นที่ญี่ปุ่น ไปตั้งแต่อายุ 17-19 ปีเลย อยากให้ไปมากกว่าผู้เล่นที่มีอายุเสียอีก”

 

“เพราะมันช่วยเสริมสร้างผู้เล่นตั้งแต่เป็นดาวรุ่ง ในมุมมองของพี่คือมีประโยชน์มากต่อการพัฒนาฟุตบอลไทย ในฐานะเอเยนต์ซึ่งเป็นอาชีพที่ทำอยู่ตอนนี้ พี่อยากทำให้มันเกิดขึ้นจริง” ธฤติกล่าวทิ้งท้ายกับ Main Stand

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ ของ ธฤติ โนนศรีชัย : จากผู้นำบนผืนหญ้าสู่เอเยนต์ผู้นำนักบอลไปเจลีก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
kookkak

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบน
เว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่
นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้