ห้วยไร่ คัพ : ศึกบอลเท้าเปล่าเงินแสนกลางทุ่งนาที่มีเป้าหมายคือสร้างความสุขไม่ใช่ชัยชนะ

ห้วยไร่ คัพ : ศึกบอลเท้าเปล่าเงินแสนกลางทุ่งนาที่มีเป้าหมายคือสร้างความสุขไม่ใช่ชัยชนะ

ห้วยไร่ คัพ : ศึกบอลเท้าเปล่าเงินแสนกลางทุ่งนาที่มีเป้าหมายคือสร้างความสุขไม่ใช่ชัยชนะ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ฟุตบอลเป็นกีฬาที่แบ่ง ผู้เล่นออกเป็นสองฝั่ง และตัดสินผลการแข่งขันด้วยจำนวนประตู ฝ่ายใดที่ทำประตูได้มากกว่าคู่แข่งในเวลาที่กำหนด จะเป็นผู้ชนะในเกมนั้น

 เป็นเรื่องปกติ หาก “ชัยชนะ” จะเป็นสิ่งสำคัญในการแข่งขันฟุตบอล เพราะคงไม่มีใครอยากลงไปในสนามเพื่อปราชัยต่อฝ่ายตรงข้าม หรือรู้สึกยินดีกับความพ่ายแพ้ที่ได้รับ

แต่บนพื้นที่ทุ่งนาที่แห้งแล้งในช่วงฤดูร้อน จนไม่สามารถทำนาข้าวได้ ที่ หมู่บ้านห้วยไร่ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร มีผู้ชายคนหนึ่ง ที่มีความคิดอยากจัดฟุตบอล ด้วยความเชื่อที่แตกต่างออกไป เพราะเขาไม่ได้ต้องการทีมที่เก่งสุดเข้าร่วมการแข่งขัน แต่ต้องการทีมที่สร้างความสุข และมิตรภาพแก่ผู้คนได้มากที่สุด

“ห้วยไร่ คัพ” ครั้งที่ 1 คือฟุตบอลรายการที่เรากำลังพูดถึง และผู้ชายเจ้าของแนวคิดนี้ คือ ศิลปินนักร้อง-นักแต่งเพลงลูกทุ่งชื่อดัง นามว่า “ก้อง ห้วยไร่” หรือ อัครเดช ยอดจำปา ที่ทุกคนรู้จักเขาเป็นอย่างดี

หลายคนรู้จักเขาผ่าน บทเพลงฮิตมากมาย ที่ถูกขับร้องด้วยเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ของเขา อาทิ ไสว่าสิบ่ถิ่ม, คู่คอง, สายแนนหัวใจ, โอละน้อ, บ่เป็นหยัง ฯลฯ แต่อีกมุมหนึ่งหลังเวทีแสดงดนตรี เขาเป็นชายหนุ่มคนหนึ่งที่มีอุดมการณ์แรงกล้า ในการตอบแทนบ้านเกิด โดยใช้กีฬาเป็นสื่อกลางที่เขาถ่ายทอดออกมา

จากจุดเริ่มต้น ในการทำโครงการเดิน-วิ่ง-ปั่น “ก้าวตามฮอย ซอยบ้านเกิด” ระยะทาง 513 กิโลเมตร ทั่ว 18 อำเภอในจังหวัดสกลนคร เมื่อเดือน กุมภาพันธ์ ปี  2561 ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการวิ่งของ ตูน บอดี้สแลม ในโครงการก้าวคนละก้าว จนได้ยอดบริจาคมากกว่า 21 ล้านบาท ไปซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์แก่โรงพยาบาลในจังหวัดบ้านเกิด

หนึ่งปีต่อมา ในเดือนเดียวกัน เขาจัด ศึกฟุตบอลเท้าเปล่า 5 คน กลางทุ่งนา ชิงเงินรางวัล 1 แสนบาท “ห้วยไร่ คัพ” ครั้งที่ 1

a2
ในมุมมองของเรา เราคิดว่า นี่คงไม่ใช่แค่รายการฟุตบอลท้องถิ่นธรรมดาๆ ที่อาศัยบุคคลที่มีชื่อเสียงมาจัด เพื่อเรียกคนดู แต่มันย่อมมีความหมายที่มากกว่านั้น หากดูจากความตั้งใจเขาเคยทำโครงการก่อนหน้านี้?

เราตัดสินใจเดินทางจากกรุงเทพมหานคร มายังสนามห้วยไร่ อีหลีนา ต.ธาตุ อ.วานรนิวาส ซึ่งห่างไกลจากตัวจังหวัดสกลนคร เกือบ 100 กิโลเมตร สองข้างทางเต็มไปด้วยผืนนาที่แห้งแล้ง เราอยู่ที่นี่ กินที่นี่ นอนที่นี่ ตั้งแต่ช่วงสายของวันที่ 21 จนถึงนาทีสุดท้ายในพิธีมอบถ้วย ตอน 6 โมงเย็นของวันที่ 22  

จนเราสามารถบอกผู้อ่านได้ว่า สิ่งที่เราคิดไว้ว่า ฟุตบอลรายการนี้ไม่ใช่แค่ทัวร์นาเมนต์ลูกหนังท้องถิ่นธรรมดาๆรายการหนึ่ง เป็นสิ่งที่เราคิดถูก

01
 ฮอยเท้าของธวัชชัย
ฟริคิกประตูชัย ในช่วงโกลเดนโกลของ ธวัชชัย ดำรงค์อ่องตระกูล ที่ยิงใส่ทีมชาติ เกาหลีใต้ ในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ยังคงเป็นโมเมนต์หนึ่งที่ติดตา ตรึงใจแฟนบอลชาวไทยทีเกิดทัน และรับรู้เรื่องราวเหตุการณ์สำคัญครั้งนั้น

รวมถึงเด็กๆกลุ่มหนึ่ง ณ บ้านห้วยไร่ จ.สกลนคร ที่จับกลุ่มนั่งชมการถ่ายทอดสดเกมดังกล่าวด้วย จนชักชวนกันออกไปเตะฟุตบอลเท้าเปล่ากลางทุ่งนา เพื่อหวังฝึกปรือฝีเท้าไปสู่ระดับทีมชาติอย่างที่ตนเองเห็นในจอทีวี

“ตอนนั้นผมอายุ 11 ขวบ ผมมีความฝันอยากเป็น นักฟุตบอลทีมชาติไทย เพราะได้เห็นพี่ธวัชชัย ยิงลูกโกลเดนโกลเข้าประตูไป ทำให้เกิดแรงบันดาลใจอยากเตะฟุตบอล แต่ว่าสมัยก่อนสนามฟุตบอลในหมู่บ้าน มีแค่ในโรงเรียนเท่านั้น พวกผมก็กลัวครูตีมาก เลยไม่กล้าใช้สนามโรงเรียน”

“ก็เริ่มมองหากันว่าถ้าเราอยากเตะฟุตบอลพอจะมีที่ไหนบ้าง ที่เราสามารถไปเตะได้ สุดท้ายก็มาเตะบอลในทุ่งนาตามประสาเด็กๆ ไปตัดไม้ไผ่มาทำเสาโกล ไม่มีตะปูก็ใช้ เถาวัลย์ที่หาได้มาพันรัด แล้วขุดหลุมปักเสาโกลลงไป ส่วนลูกฟุตบอลที่ใช้ ก็เป็นลูกบอลเก่าๆ สภาพน่าจะผ่านการใช้งานมากกว่า 3-4 ปี หนังลอกหมดแล้ว เป็นลูกบอลสีดำๆ เราคิดถึงบรรยากาศแบบนี้ เพราะปัจจุบันมันไม่มีแล้ว”

_19
อัครเดช ยอดจำปา หรือ “ก้อง ห้วยไร่” ย้อนความหลัง ถึงแนวคิดแรกเริ่ม ในการจัดเตะฟุตบอลแบบเท้าเปล่า ที่เกิดขึ้นเพราะมีความต้องการอยากย้อนความทรงจำในวันเก่าๆ ที่เคยเตะฟุตบอลตามท้องนา

น่าเสียดายที่ เส้นทางความฝันในการเป็น นักฟุตบอลทีมชาติไทย ของ ก้อง ห้วยไร่ ไม่สามารถไปถึงจุดนั้นได้ ด้วยฝีเท้าของตัวเองที่ไม่ได้เก่งกาจมากนัก แต่เขาก็ยังเป็นคนหนึ่งที่ติดตามดูฟุตบอลไทยมาโดยตลอด ต่อมาเขาออกจากบ้านเกิดมาสู้ชีวิตในเมืองหลวง บนเส้นทางใหม่ในการเป็น นักร้อง เริ่มจากร้องเพลงตามร้านอาหารแลกเงินไม่กี่บาท

แต่ด้วยน้ำอดน้ำทนที่เขามี และได้รับการช่วยเหลือจาก ศุภวุฒิ เถื่อนกลาง นักฟุตซอลทีมชาติไทย ที่รู้จักกันผ่านๆ จากการเตะฟุตบอลสนามหญ้าเทียม ในช่วงเวลาที่เขายากลำบากสุดๆ ไม่เหลือเงินแม้แต่บาทเดียว ให้หยิบยืมเงิน 1,000 บาท เพื่อเป็นค่าเดินทาง สำหรับกลับบ้านเกิด มาเริ่มทำเพลงเอง ก็ทำให้เขาสามารถก้าวข้ามอุปสรรคตรงนั้นได้

“ผมชอบเล่นฟุตบอล ชอบแข่งขันกีฬากับคนอื่น มีพี่ซิโก้ (เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง) เป็นไอดอลในดวงใจ แต่ผมก็รู้ตัวเองว่า ความสามารถด้านกีฬาของเรา คงสู้คนอื่นไม่ได้ ก็เปลี่ยนมาเป็นผู้ชม ที่ติดตามเชียร์ดีกว่า จากนั้นผมก็มาสู้ในเส้นทางที่ตัวเองเลือก ด้วยการเป็นนักร้อง”

“อาจเป็นเพราะผมเป็นคนที่อดทนต่อทุกสิ่งทุกอย่าง อดทนต่อทุกๆอุปสรรค และเรื่องราวที่ผ่านเข้ามาทำร้ายเรา ตั้งแต่เด็กจนโต ผมเจอความยากลำบากมาหลายๆรูปแบบ ฐานะทางบ้านผมยากจนมาก ไม่มีแม้กระทั่งบ้านของตัวเอง พ่อกับแม่ ต้องไปนอนตามเถียงนา (ที่พักข้างคันนา) แต่ผมเป็นคนที่มีความเชื่อมั่นว่า สักวันหนึ่งจะประสบความสำเร็จได้ หากเราสามารถอดทนต่อความเหนื่อย ความท้อได้”

_02_1
ก้อง ห้วยไร่ ไม่ล้มเลิกความตั้งใจในเส้นทางสายดนตรี จนในที่สุดเขาก็สามารถผลักดันตัวเองจาก นักร้องโนเนม กลายเป็น ศิลปินที่คนไทยรู้จักทั้งประเทศ ผ่านบทเพลงฮิตที่มีมาอย่างต่อเนื่อง

ก้อง ห้วยไร่ มีงานติดต่อเข้ามาตลอดทั้งปี ทรัพย์สิน เงินทอง ชื่อเสียง มากมาย หลั่งไหล่เข้ามาหาชายหนุ่มบ้านนอกคนนี้ แทนที่เขาจะเป็นผู้กอบโกยทุกอย่าง เห็นแก่ตัวเองก่อนส่วนรวม ในช่วงที่เวลาขาขึ้น เขากลับเลือกที่จะแบ่งปัน โดยเริ่มจากโครงการ “เดิน-วิ่ง-ปั่น ก้าวตามฮอย ซอยบ้านเกิด” ที่เขาต้องการจัดขึ้นด้วย วัยเพียง 30 ปี

“ผมไม่ได้รู้จักก้องเป็นส่วนตัว ได้รับมอบหมายจากทางจังหวัดให้มาดูแล และวางแผนเส้นทางให้เขาทั้งหมด สิ่งที่ผมได้สัมผัสจากเขาตลอดเวลาที่ได้ร่วมงานกัน ก็คือ เขาเป็นคนที่แคร์คนอื่นมากกกว่าตัวเอง เขาเป็นคนที่ติดดินมากๆ” ป๊อก ภัคพงษ์ ธารชัย ประธานชมรมจักรยาน จังหวัดสกลนคร และผู้ดูแลโครงการก้าวตามฮอย กล่าวเริ่ม

“พูดตามตรงเขาเพิ่งอายุแค่ 30 ต้นๆ เท่านั้น อยู่ในช่วงเวลาที่เขาสามารถเขากอบโกยเงินทองได้เยอะแยะ  ไม่ใช่ช่วงวัยที่ต้องมานึกถึงสังคมนะ แต่เขาก็ยอมทิ้งงานรายได้ตั้งกี่แสนบาทละ ยอมหยุดงานคอนเสิร์ต มาทำกิจกรรมพวกนี้ที่ต้องใช้เวลาหลายวัน ตั้งแต่เตรียมงาน จนถึงเวลาวันงานจริง เพื่อช่วยเหลือบ้านเกิด”

a1
“เขาเป็นคนที่เวลาลงมือทำอะไรสักอย่าง เขาจะทำทันที ไม่ได้คิดว่าตัวเองต้องเจอความยากลำบากอะไรบ้างระหว่างทาง เขาจะมองไปที่เป้าหมายอย่างเดียว อย่างตอนที่เขาจัดโครงการก้าวตามฮอย ที่ใช้เวลา 5 วัน หลังผ่านวันแรกไปได้ สภาพร่างกายเขาไม่ไหวแล้ว เขาพักผ่อนน้อย ร่างกายไม่ได้แข็งแรงแบบพี่ตูน ไม่เคยวิ่งมาก่อน ผลตรวจเลือด ผลตรวจฉี่แย่มาก แต่ใจเขาไม่เคยยอมแพ้ จะไปให้ถึงเป้าหมายให้ได้อย่างเดียว ทั้งที่ร่างกายตัวเองจะพังอยู่แล้ว”

กิจกรรมการเดิน-วิ่ง-ปั่นในครั้งนั้น ก้อง ห้วยไร่ ผ่านไปได้แบบหวุดหวิด แม้ในระหว่างทาง จะเกิดภาวะที่เสี่ยงกับร่างกาย ที่อาจต้องฟอกไต แต่เขาก็ไม่ล้มเลิกและทำกิจกรรมนี้ต่อไปจนสำเร็จ หลังจากนั้นหนึ่งปีต่อมา ระหว่างกำลังรับประทานอาหาร ความคิดหนึ่งก็ผุดขึ้นมาในหัว

เช่นเคย เขาเชื่อว่าสิ่งที่เขาคิด จะประสบความสำเร็จออกมาได้ โดยไม่ได้มองว่ามันจะต้องใช้เงินมากแค่ไหน และพบเจอกับความยากลำบากอะไรบ้าง?

_04
“ผมใช้เวลาคิดแค่ 17 นาที ระหว่างนั่งกินข้าว ก็ตัดสินใจโพสต์ออกไปว่า ผมจะจัดฟุตบอลแบบไม่ใส่รองเท้าขึ้นที่นี่” ก้อง ห้วยไร่ กล่าวเริ่ม

“มันเกิดจากความรู้สึกที่เห็น ไทย ตกรอบเอเชียน คัพ 2019 ก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมฟุตบอลถึงมีอิทธิพลกับความรู้สึกเรามากขนาดนี้? เรามีความสุข ดีใจ ที่ได้ชม ได้เชียร์ แต่ในเวลาเดียวกัน ก็เสียใจและรู้สึกแย่ เมื่อผลการแข่งขันออกมาแพ้”

“ถ้าฟุตบอลสามารถทำให้คนมีความสุข เป็นไปได้ไหมว่าเราจะจัดฟุตบอลที่สร้างแต่ความสุขอย่างเดียว นั่นจึงเป็นที่มาที่ผมโพสต์ว่า จะทำการจัดแข่งฟุตบอลแบบไม่ใส่รองเท้า เพื่อให้ทุกคนได้สนุกสนาน หัวเราะไปด้วยกัน”

“ถ้ามองเรื่องความเสมอภาค ไม่จำเป็นที่คุณต้องมีรองเท้าคู่ละ 100  คู่ละ 1,000 บาท หรือคู่ละหนึ่งล้านบาท ถ้าเราอยู่ในสนามเดียวกัน เท้าเปล่าเหมือนกัน เราทุกคนเท่าเทียมกัน ก็เลยมีไอเดียว่าจะจัดฟุตบอลแบบนี้”

_01_1
 ฟุตบอลที่มีแต่ความสุข
ร้านค้าของคนในท้องถิ่นเกือบ 20 ร้าน ตลอดสองไหล่ทางเข้า  เดินไปได้สักหนึ่ง สายตาเหลือบขึ้นไปมองเห็น จอหนังกลางแปลง และหูสองข้างได้ยินเสียงชัดเจนจากรถแห่ (วงดนตรีเล่นอยู่บนรถ) กำลังบรรเลงเพลงอย่างสนุกสนาน

นั่นคือสิ่งแรกที่เราสัมผัสได้ทันทีที่เดินทางมาถึง สนามห้วยไร่ อีหลีนา สนามฟุตบอลที่ถูกดัดแปลงมาจากนาข้าวที่แห้งแล้งในช่วงฤดูร้อน สภาพสนามเป็นสนามดิน ที่คลุกไปด้วยฝุ่นในทุกๆ การเตะ และวิ่งของผู้เล่น 10 คนในสนาม

“เพิ่งเริ่มแข่งไปตอน 9 โมงเช้าครับ กินอะไรกันมายังครับ ขอบคุณมากๆนะครับที่มางาน” ก้อง ห้วยไร่ ที่กำลังรับหน้าที่โฆษกและพากย์ฟุตบอลด้วยตัวเอง ทักทายเราด้วยความเป็นกันเอง หลังเดินทางมาถึงเวลาประมาณ 10.00 น.

สนามแห่งนี้ มีความพิเศษหลากหลายอย่าง นอกเหนือจะเป็นการจำลองบรรยากาศตอนเด็ก ของ ก้อง ห้วยไร่ ที่เคยเตะบอลเท้าเปล่าในพื้นที่ลักษณะนี้แล้ว

_09
เขายังได้มีส่วนร่วมกับ ทุกๆขั้นตอนในการเตรียมงาน ตั้งแต่หาไม้มาทำเสาโกล ปรับปรุงพื้นที่สนามที่ไม่ใช่สนามฟุตบอลจริงๆ ให้มีความเรียบพอที่จะสามารถจัดการแข่งขันได้  รวมถึงการดูแลความเรียบร้อย และดำเนินการจัดการแข่งขัน ให้ผ่านไปได้ด้วยดี แบบที่ไม่ได้พึ่งพา ออแกไนเซอร์ คนใดมาช่วยจัดงาน

“ผมเป็นคนที่คิดแล้วลงมือทำเลย อาจไม่ได้วางแผนอะไรมากมายนัก แต่เชื่อมันจะสำเร็จได้ ช่วงเวลาที่เตรียมงานประมาณ 1 สัปดาห์ ก็ได้ลงมือทำเองทุกขั้นตอน แต่ผมคนเดียวคงไม่สามารถทำได้ทุกอย่าง ก็ได้พี่ๆ น้องๆ ที่เขาเชื่อในไอเดียเรา มาช่วยกันทำ ไม่ว่าจะเป็นพี่ๆน้องๆจากโครงการ ก้าวตามฮอย ซอยบ้านเกิด, น้องพี่ในวงการดนตรี และกีฬา ก็เข้ามาช่วยจัดให้งานออกมาเรียบร้อย”

“จริงๆก็มีคนเคยแนะนำว่า ถ้าคิดจะจัดงานใหญ่ รางวัลขนาดนี้ น่าจะจ้างคนที่เป็นมืออาชีพ มาออกแบบงาน ไปจัดในสนามบอลดีๆ ให้ทุกอย่างออกมาสมบูรณ์แบบ แต่สิ่งที่ผมต้องการมันไม่ใช่ความสมบูรณ์แบบ ผมอยากได้อะไรที่มันสื่อถึงเรื่องราวเก่าๆ อย่างเช่น ทุกสนามจะมีลูกฟุตบอลแค่ลูกเดียว ถ้าเตะออกหลังก็ต้องวิ่งไปเก็บเอง ลูกฟุตบอลเด้งชนขอบคันนา ก็ไม่นับว่าออก สามารถเล่นต่อได้ ซึ่งมันก็เป็นแบบเดียว เหมือนตอนที่่เราเคยเตะมาตอนเด็กๆ”

_11
“ถ้าผมจ้างออแกไนซ์มาจัด ทุกอย่างจะออกมาลงตัว ชัดเจน เวลาแข่งขัน กำหนดการทุกอย่างต้องเป๊ะๆ แต่เส่นห์มันจะหายไป เพราะเจตนารมณ์ของผม ผมอยากจัดแมตช์ฟุตบอลที่มีแต่ความสุข แน่นอนว่าในเกมฟุตบอลมันมีจังหวะหนักๆ ปะทะกันอยู่ ตามธรรมชาติของกีฬา แต่จบเกมผมอยากเห็นทุกคนจับไม้จับมือกัน ขอโทษขอโพย พูดคุยกัน และเป็นเพื่อนกันในที่สุด”

ก้อง ห้วยไร่ ใส่ใจในเรื่องนี้มาก วัดได้จากการคัดเลือกทีมเข้าร่วมการแข่งขันจาก 1,000 กว่าทีมทั่วประเทศที่สมัคร เข้าร่วมศึกฟุตบอล ห้วยไร่ คัพ ครั้งที่ 1 เขาคัดเลือกเหลือเพียง 32 ทีมสุดท้ายที่มาจากหลายๆจังหวัด ทั้ง สกลนคร, บุรีรัมย์, ศรีสะเกษ, สมุทรปราการ, ราชบุรี, ปัตตานี เป็นต้น

เขาบอกกับเราว่า เขาจะไม่เลือกทีมที่ดูมีความพร้อม ดูเป็นทีมเดินสายแข่งล่ารางวัล เพราะจะทำให้บรรยากาศของความสนุกสนาน และมิตรภาพหายไป

_12
แต่เขาจะเลือกทีมที่มีความตั้งใจอยากมาสร้างมิตรภาพ อยากมาเตะฟุตบอล ยกตัวอย่าง แล้นไม้ ยูไนเต็ด ทีมที่รวบรวมสาวประเภทสองมาเตะบอลกัน, ไทบ้าน ยูไนเต็ด ที่นำเอาศิลปินนักแสดงจาก ไทบ้าน เดอะ ซีรีส์ รวมถึง ทีมชมรมอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต ปัตตานี ที่เดินทางไกล 3 วัน ระยะทาง 1,715 กิโลเมตร มาร่วมการแข่งขัน

“ตอนแรกผมคิดว่าจะจัดแค่เฉพาะในหมู่บ้าน เพื่อให้คนในพื้นที่ ได้มีส่วนรวม ถ้ามีมาสมัครสัก 30 ทีมก็บุญแล้ว แต่พอลงเฟซบุคไป ก็มีพี่ๆ สื่อมวลชนนำเสนอข่าว จนทำให้มีคนสนใจเข้ามาสมัครกันเยอะมาก แต่ผมก็เลือกจากคนที่เขาอยากเตะบอล อยากมาสร้างมิตรภาพ ไม่ใช่คนที่เก่งซะเหลือเกิน แบบทีมบอลเดินสาย ที่ดูเป็นมืออาชีพแบบนั้น ผมไม่เอา เพราะเรามองว่าเขามาแข่งขันเพื่อหาชัยชนะมากกว่ามิตรภาพ”

_07
มีทีมหนึ่งเดินทางมาจากปัตตานี ในช่วงที่เพิ่งผ่านเหตุการณ์ข่าวคราวความไม่สงบที่นั่น แต่เขาตั้งใจมาเล่นรายการนี้เพื่อบอกทุกคนว่า “พวกเราไม่ได้น่ากลัว พวกเราไม่ใช่คนที่อันตราย เขาอยากมีเพื่อน อยากสร้างมิตรภาพกับทุกคน ผมรู้สึกโชคดีมากที่ได้ทีมอาสา มอ.ปัตตานี มาเป็น 1 ใน 32 ทีม”

สัน  - อนุศร หมัดศรี รองประธานชมรมอาสาสมัคร มอ.ปัตตานี รุ่นปี 2560 บอกกับเราว่าเขารู้สึกดีใจที่ทุกครั้งเวลาลงสนาม ผู้คนจำนวนมากที่อยู่โดยรอบ จะวิ่งมาดู และให้ความสนใจทีมพวกเขา รวมถึงยังประทับใจกับการต้อนรับที่อบอุ่นจากผู้คนที่จังหวัดสกลนคร ไม่ได้รู้สึกเสียใจเลยที่ตกรอบแรก เพราะคุ้มค่ามากกับมิตรภาพที่ได้จากทีมคู่แข่ง

_08_1
ด้าน ด้งเด้ง - ณัฐวุฒิ แสนยะบุตร พระเอกภาพยนตร์เรื่องไทบ้านเดอะซีรีส์ เผยว่า เขามีความสุขมากที่ได้ เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลห้วยไร่ คัพ แม้ว่าทีมไทบ้านฯ จะแพ้สาม 3 นัดติด แต่พวกเขาก็ตั้งใจจะมามอบความสุขแก่กองเชียร์ พร้อมยืนยันกับเราว่า รายการนี้เล่นจริง เจ็บจริง เพราะเขาเองเล่นจนแขนเคล็ด

สิ่งหนึ่งที่เราเห็นตลอดทั้งงาน ตั้งแต่เช้าจรดเย็นทั้งสองวัน คือภาพของ ก้อง ห้วยไร่ ที่ไม่สวมรองเท้า เดิน วิ่ง ไปตามพื้นที่ต่างๆของสนาม นั่งรับประทานอาหารแบบง่ายๆ พร้อมถ่ายรูปด้วยสีหน้าที่ยิ้มแย้มกับทุกคนตลอดเวลา แม้ต้องคอยแก้ปัญหาสารพัด ที่สำคัญเขาไม่เคยพูดออกไมค์แม้แต่ครั้งเดียวเลยว่า ทุกๆอย่างที่เขาจัดมาต้องเสียเงินไปจำนวนกี่แสนบาท

_21
“หลายคนอาจคิดว่า ผมรับผิดชอบหลายอย่าง ทำงานไม่หยุด แต่ผมไม่ได้คิดว่าตัวเองกำลังทำงานอยู่นะ  ผมกำลังไปซึบซับทุกอย่าง ผมไปเสพในจุดที่เป็นกองเชียร์ว่า เขาสนุกแค่ไหน ผมไปเตะฟุตบอลในสนาม เพื่อจะได้รับรู้ว่า มันเหนื่อยขนาดไหน ผมไปลองเป็นกรรมการเป่าจริงๆ อยากรู้ว่ากดดันมากแค่ไหนตอนนักเตะมาโวย ผมต้องการเสพทุกบรรยากาศของงานนี้”

“เวลาผมลงมือทำอะไร ผมไม่คิดหรอกว่ามันคุ้มไหม? เพราะชีวิตผมคุ้มค่าตั้งแต่นำเงินไปสร้างบ้านให้พ่อแม่ สร้างฐานะให้ครอบครัวได้แล้ว แต่ผมไม่เคยลืมว่า ผมมีสิ่งเหล่านี้ได้เพราะใคร? ก็มาจากแฟนเพลงแหละครับที่สนับสนุน ยอมรับในผลงานของผม เงินที่ผมนำมาใช้จัดการแข่งขัน มันไม่ใช่เงินผม แต่เป็นเงินที่ผมได้มาจาก คนที่เขารักผม ที่ได้ว่าจ้างให้ผมไปร้องเพลงตามที่ต่างๆ ผมก็เอาเงินจากตรงนี้มาใช้จัดการแข่งขัน”

_15
“ผมได้พี่ๆหลายคนมาช่วยเหลือ อย่างเช่น ทีมงานน้ำดื่มอลิซ ในนามเพจ มหัศจรรย์สกลนคร ที่ลงทุนเป็นเงินหลักล้าน ซื้อกล้อง 7-8 ตัว เพื่อดำเนินการถ่ายทอดสด แบบไม่คิดค่าใช้จ่ายตลอดทั้งงาน ตั้งแต่งานวิ่งครั้งที่แล้ว จนถึงวันนี้ก็ยังช่วยเหลือผมอยู่ เนสท์เล่ ที่สนับสนุนเงินรางวัล และอีกๆหลายคนที่สนับสนุนความคิดผม มาช่วยให้งานครั้งนี้มันเกิดขึ้น”

“สปอนเซอร์ทุกเจ้าผมไม่ได้มองว่าเขาให้เงินผม แต่เขาให้ความรู้สึกดีๆแก่ผมมากกว่า เมื่อเขาให้ความรู้สึกดีๆแก่ผม ผมก็อยากส่งมอบความรู้สึกดีๆ เหล่านี้ให้กับคนอื่นต่อไป”

“แน่นอนว่าทุกอย่างมีค่าใช้จ่าย อย่าง ดนตรี ภาพยนตร์ คนอื่นๆ อาจคิดว่าไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ เฉพาะค่าอาหารที่เราทำโรงครัวเลี้ยงนักกีฬา ผู้ชมทุกคน ก็เป็นเงินจำนวนไม่น้อยแล้ว แต่เราไม่ได้มองว่ามันคือ จำนวนเงินที่เราเสียไป เรามองว่า มันคือความรู้สึกดีๆ ที่เราอยากทำให้ทุกคนมากกว่า”

_17
ส่งต่อแรงบันดาลใจ
การแข่งขันในวันแรก แบ่งออกเป็น 8 สาย 32 ทีม แข่งแบบพบกันหมด ตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึงเกือบ 6 โมงเย็น คู่สุดท้าย เพื่อหาแชมป์กลุ่มและรองแชมป์กลุ่ม ผ่านเข้าไปเล่นรอบน็อกเอาท์ในวันรุ่งขึ้น

โดยระหว่างช่วงแข่งขัน ก็มีเสียงดนตรีจาก “ทีมงานเด่นซาวด์” คอยให้ความบันเทิงแก่ผู้ชม ออกมาเต้นรำกันอย่างไม่หวั่นเกรงต่อสภาพอากาศที่ร้อนระอุในช่วงสาย และเที่ยงวัน

จนถึงตอนเย็นหลังเลิกงานที่มี การแสดงดนตรีต่อเนื่อง ตามมาด้วย หนังกลางแปลง ในตอนดึกที่ฉายภาพยนตร์ถึง 4 เรื่อง จบตอนเกือบ 6 โมงเช้า เพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่ รวมถึงคนที่มากางเตนท์นอนในพื้นที่รอบๆ งาน รับชมกันอย่างจุใจ

วันที่สองของการแข่งขัน ทุกอย่างยังคงดำเนินไปได้เหมือนเดิม เช่นกันกับสภาพอากาศที่ร้อนมาก (อุณหภูมิไม่น่าต่ำกว่า 34 องศาเซลเซียส) อาจมีแค่เรื่องสนามแข่งขัน ที่ปรับเปลี่ยนเล็กน้อย จาก 4 สนาม มาเป็น แข่ง 2 สนามพร้อมๆกัน ตามจำนวนทีมที่ลดลงเกือบครึ่ง แต่ชาวบ้านที่เข้ามาชมเกมกว่า 2 พันชีวิตรอบๆ งาน ยังหนาแน่นเหมือนกับวันแรก

“ผมมีความสุขเพราะหลายๆอย่างเป็นไปอย่างที่เราคิดไว้ บางครอบครัวที่เลี้ยงไก่ เขาก็ต้มไข่ไก่มาขายหน้าสนาม หรือพวกร้านค้าที่มาขาย ผมก็ไม่ได้เก็บค่าที่อะไร ก็ให้เขามีรายได้ไป” ก้อง ห้วยไร่ เผย

ความตั้งใจจริงที่อยากตอบแทนบ้านเกิดของ ก้อง ห้วยไร่ ได้รับการสนับสนุนที่ดีจากประชาชนในพื้นที่ ที่เดินทางมาเชียร์ฟุตบอลกันติดขอบสนาม

_14
รวมถึงเพื่อนๆศิลปินดารา จากหลากหลายวงการ มาร่วมสร้างสีสันในรายการนี้ ไม่ว่าจะเป็น เบิ้ล ปทุมราช, อุเทน พรหมมินทร์, ศุ บุญเลี้ยง, บอย พนมไพร, พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต และ ศุภวุฒิ เถื่อนกลาง นักฟุตซอลทีมชาติไทย ที่เดินทางมายังสนาม เพื่อส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขัน พร้อมกับสนับสนุนการแข่งขัน ห้วยไร่ คัพ ครั้งนี้ ด้วยการมอบรองเท้าฟุตซอลส่วนตัว ให้กับดาวซัลโวสูงสุด

“การจัดฟุตบอลรูปแบบนี้ของพี่ก้อง (ห้วยไร่) เป็นไอเดียที่ดีมาก และน่าจะมีที่เดียวในโลก เพราะส่วนตัวผมเองก็เริ่มฝึกหัดเตะฟุตบอล มาจากการเล่นบอลเท้าเปล่า แบบนี้แหละครับ” ศุภวุฒิ กล่าวเริ่ม

“พอวันหนึ่งพี่ก้อง จัดรายการนี้ขึ้นมา ผมก็เลยชักชวนเพื่อนสมัยเรียน เพื่อนที่เตะบอลเท้าเปล่าด้วยกันตอนเย็นๆ (ทีมลูกชิ้นดาวซัลโวเอเชีย) ความรู้สึกก็เหมือนได้ย้อนความทรงจำวัยเด็ก ที่เราเติบโตมา เตะฟุตบอลมากับเพื่อนๆพวกนี้”

“ดีใจกับพี่ก้องด้วยครับ เพราะเราเคยเห็นเขา ในช่วงที่เขายากลำบาก ที่เขาเริ่มต้นจาก 0 จริงๆ จนมาถึงวันนี้ที่เขาประสบความสำเร็จในเส้นทางของเขา แต่เขาก็ไม่เคยลืมบ้านเกิด ไม่เคยลืมว่าตัวเองมาจากไหน"

"อย่างเช่นฟุตบอลห้วยไร่ คัพ ก็แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่เขาอยากตอบแทบสังคม ผมเองก็อยากช่วยสนับสนุนในการนำเอาของใช้ส่วนตัว มามอบเสื้อให้ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเตะที่ได้ไป”

น่าเสียดายที่ทีมเพื่อนๆ ศุภวุฒิ จากจังหวัดราชบุรี พ่ายต่อ “มินา บ้านกระเป๋า” ทีมท้องถิ่นจากอำเภออากาศอำนวย จ.สกลนคร ไปในนัดชิงชนะเลิศ ชวดถ้วยรางวัลพระราชทานของทีมแชมป์ และเงินสด 30,000 บาท จากหม่อมหลวงสราลี กิติยากร แต่นั่นไม่ใช่เรื่องที่น่าผิดหวัง หากเทียบกับมิตรภาพที่พวกเขาได้รับ จากทุกเกมการแข่งขัน

และทั้งหมดก็เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้น ตลอด 2 วันเต็ม ของศึกฟุตบอลเท้าเปล่ากลางทุ่งนา ที่มีคุณค่ามากกว่าแค่เงินรางวัลหลักแสน

_20_1
แต่เหนือสิ่งอื่นใด คือ ความสุขที่ทุกคนในงานได้รับ ทั้งจากฟุตบอล, ดนตรี, ภาพยนตร์ หรือการได้ใกล้ชิดพบปะศิลปินดาราที่ตนเองชื่นชอบ ในพื้นที่หมู่บ้านที่ไม่มีกิจกรรมรื่นเริง มาเป็นเวลานาน

ในความเห็นของ ก้อง ห้วยไร่ ที่จัดงานดังกล่าวขึ้นมา เขาก็หวังว่าฟุตบอลห้วยไร่ คัพ ครั้งที่ 1 จะสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คน ได้หันมากลับมาช่วย พัฒนาบ้านเกิดเมืองนอน ตามกำลังที่ตนเองมี เพราะเขาเชื่อว่า กีฬาไม่ได้มีแค่เรื่อง แพ้ ชนะ และความเสียใจ แต่ยังสามารถสร้างความสุข และมิตรภาพที่ดีขึ้นมาได้จริงๆ

“ฟุตบอลห้วยไร่ คัพ จะอยู่ในความทรงจำผม ผมไม่รู้ว่าตัวเองจะมีแรง มีกำลัง ทำในสิ่งนี้ได้อีกนานแค่ไหน ผมไม่อยากให้มันหายไป ผมอยากส่งต่อแรงบันดาลใจดีดี เหมือนกับที่หลายๆครั้งในชีวิตผม ที่ได้รับแรงบันดาลใจเหล่านี้ มาจากผู้คนที่ทำความดีเพื่อสังคม”

_16
“ผมไม่ได้ต้องการเอา ห้วยไร่ คัพ ไปจัดที่ ชัยภูมิ บุรีรัมย์ ขอนแก่น เชียงใหม่ ภาคใต้ แต่ผมอยากให้ทุกหมู่บ้าน รวมตัวจัดกิจกรรมด้วยกัน ไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ อาจจัดแค่คุ้มเหนือ กับคุ้มใต้มาเจอกัน มาเตะกันด้วยเท้าเปล่าสักวันหนึ่ง บอลแข่งจบ ก็มาพบปะสังสรรค์ พูดคุยกัน เพื่อสร้างความสัมพันธ์กันในหมู่บ้าน ผมอยากให้เกิดภาพแบบนั้นในสังคมไทย”

“เพราะผมเชื่อเสมอว่า ถ้าเราไม่คิดถึงแต่เรื่องชนะมากเกินไป เราก็สามารถหาความสุข และมิตรภาพจากฟุตบอลได้” ก้อง ห้วยไร่ กล่าวทิ้งท้าย 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook