สืบทอดรุ่นต่อรุ่น : จิตวิญญาณซามูไรที่สะท้อนออกมาจากนักกีฬาญี่ปุ่น
เมื่อกีฬาสำหรับคนญี่ปุ่นไม่ใช่แค่การฝึกฝนทักษะทางร่างกายหรือสุขภาพ แต่ยังหมายรวมไปถึงการพัฒนาจิตใจ
“ซามูไรบลู” ทีมชาติญี่ปุ่น ตกเป็นข่าวโด่งดังไปโลก หลังเกมนัดชิงชนะเลิศ เอเชียนคัพ 2019 แต่ไม่ใช่เพราะความพ่ายแพ้ต่อกาตาร์ แต่มารยาทของพวกเขาที่ทำความสะอาดห้องแต่งตัวจนเอี่ยมอ่อง พร้อมข้อความขอบคุณใน 3 ญี่ปุ่น อังกฤษ และอาหรับ
และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกของญี่ปุ่น เพราะตอนฟุตบอลโลก 2018 หลังพ่ายต่อเบลเยียมอย่างเจ็บปวดในช่วงทดเวลาบาดเจ็บ ทั้งที่นำไปก่อนถึงสองลูกในรอบ 16 ทีม ญี่ปุ่น ก็ยังช่วยกันเก็บกวาดห้องแต่งตัวในลักษณะเดียวกัน จนได้รับเสียงชื่นชมไปทั่วโลก
เสียงปรบมือยังมีไปถึงกองเชียร์ของพวกเขา ที่นอกจากความมีมารยาทในการเชียร์ พวกเขายังช่วยกันรักษาความสะอาดและเก็บขยะหลังเกมการแข่งขันทุกนัด
สิ่งเหล่านี้คือนิสัย “ความเป็นญี่ปุ่น” ที่คนญี่ปุ่นนำมาปรับใช้ในทุกสถานการณ์ได้อย่างแนบเนียน ในเว้นแม้แต่ในการแข่งขันกีฬา พวกเขาทำได้อย่างไร หาคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand
ส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม
ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในชนชาติที่สามารถนำคำสั่งสอนหรือแนวคิดมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ในทุกสถานการณ์ ไม่เว้นแม้แต่วงการกีฬา และสิ่งที่สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนคือความมีน้ำใจนักกีฬาของชาวญี่ปุ่น
ในกีฬาซูโม่ เราจึงไม่เห็นนักซูโม่ ยิ้มหรือแสดงความดีใจอย่างออกนอกหน้าเมื่อชนะ และแสดงความเสียใจอย่างชัดเจนตอนพ่ายแพ้ หรือแม้แต่นักฟุตบอลก็มักจะไม่สัมภาษณ์เยาะเย้ย หรือยั่วยุคู่แข่ง เนื่องมาจากพวกเขามองว่ามันเป็นสิ่งไม่ดี
สิ่งเหล่านี้มาจากพื้นฐานแนวความความคิดที่ชื่อว่า Honne และ Tatemae โดย Honne มีความหมายว่าใจจริง ส่วน Tatemae คือสิ่งที่แสดงออกเบื้องหน้า หากไม่สนิทกันคนญี่ปุ่น ก็จะแสดง Tatemae หรือสิ่งที่ตัวเองไม่ได้คิดอย่างนั้นจริงๆ แต่แสดงออกมาเพื่อให้สถานการณ์ดำเนินต่อไป
ดังนั้นในการแข่งขันกีฬา นักกีฬาญี่ปุ่นส่วนใหญ่ จึงไม่แสดงสีหน้าหรือความรู้สึกที่แท้จริงออกมา พวกเขาจะก้มหน้าก้มตาทำผลงานของตัวเองไป เนื่องจากหากแสดงออกมาแล้วจะกลายเป็นคนไม่มีมารยาททันที
มีนักเบสบอลชาวญี่ปุ่นที่ไม่เปิดเผยชื่อที่เคยไปเล่นใน Major League Baseball ของอเมริกามา 9 ปีเล่าว่า เวลาเขาคนตีถูกทำสไตรท์เอาท์แล้วหักไม้ตัวเอง หรือพิชเชอร์โดนตีลูกแล้วโมโห ขว้างถุงมือในห้องแต่งตัว เขาเห็นตอนแรกแล้วตกใจมาก ซึ่งถ้าเป็นเขาเองเขาทำไม่ได้ เพราะไม่ได้ถูกสอนมาแบบนี้
เช่นเดียวกับ กีฬาศิลปะการป้องกันตัวที่เป็นของญี่ปุ่น อย่างยูโด คาราเต และเคนโด พวกเขาจะแสดงความเคารพคู่แข่ง ทั้งก่อนแข่งและหลังแข่ง และสิ่งนี้ก็เป็นแนวคิดสำคัญที่คนญี่ปุ่นทำอยู่เสมอ แม้กระทั่งในการแข่งขันระดับนานาชาติ
กีฬาญี่ปุ่นมีแนวคิดที่เรียกว่า Shin Gi Tai โดย Shin แปลว่าใจ หมายถึงพลังใจในการแข่งขัน ไม่ยอมพ่ายแพ้ ส่วน Gi คือทักษะที่ใช้ในการแข่งขัน และ Tai ก็คือร่างกายที่แข็งแรง ซึ่งต้องมีทั้งสามอย่างนี้ควบคู่ไปด้วยกัน
และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ Shin หรือใจ ใจในที่นี้ไม่ได้หมายถึงใจที่จะเอาชนะเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึง “หัวใจ” ในฐานะมนุษย์ พวกเขาถูกปลูกฝังให้คิดถึงความรู้สึกคนอื่น และมันก็เป็นพื้นฐานในการรับผิดชอบต่อสังคม
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือกรณีการทำความสะอาดและเก็บขยะของนักเตะและแฟนบอลญี่ปุ่น พวกเขาทำเพราะต้องรับผิดชอบต่อสังคม และไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน
“คนญี่ปุ่นถูกสอนมาว่าที่เขาอยู่มันคือสังคมแบบรวมกลุ่ม ทำให้จะต้องรู้จักเกรงใจคนอื่น ตัวเองจะทำอะไรก็ต้องเกรงใจคนอื่น มันเป็นสิ่งที่พ่อแม่เขาสอนมาตั้งแต่เด็กๆ” กฤตพล วิภาวีกุล นักศึกษาปริญญาเอกด้าน International study มหาวิทยาลัยวาเซดะ ประเทศญี่ปุ่น อธิบายกับ Main Stand
“พวกเขาถูกสอนเสมอว่าเวลาไปสถานที่ต่างต้องรับผิดชอบต่อสถานที่นั้น มันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทั่วๆไป เพราะว่าญี่ปุ่นใช้พื้นที่แชร์เยอะ เวลาไปใช้พื้นที่สาธารณะ มันไม่จำเป็นจะต้องเป็นแค่สนามฟุตบอล ไม่ใช่สนามบาส แม้กระทั่งสวนสาธารณะเวลาไปจัดปาร์ตี้กัน เวลาจัดเสร็จปุ๊บมันก็ต้องเก็บข้าวเก็บของทิ้งขยะ แยกขยะอะไรกัน มันเป็นสิ่งที่ถูกสอนมา และในปัจจุบันมันมีมารยาทตรงนี้อยู่”
แน่นอนว่าแนวคิด Shin Gi Tai คือกุญแจสำคัญที่ทำให้นักกีฬาญี่ปุ่นมีความเป็นมนุษย์ แต่พวกเขาก็ยังมีอีกสิ่งหนึ่งสำคัญไม่แพ้กัน
วิถีซามูไร
บูชิโดถือเป็นแนวคิดหนึ่งที่หยั่งรากลึกอยู่ในสังคมญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน โดย บูชิโด มีความหมายว่าวิถีของนักรบ ซึ่งหมายถึงซามูไร ที่เคยมีบทบาทสำคัญในการปกครองประเทศสมัยเอโดะ
แนวคิดดังกล่าวมีจุดเน้นย้ำในเรื่องความยุติธรรม กล้าหาญ เมตตากรุณา นับถือซึ่งกันและกัน ซื่อตรง มีเกียรติ และจงรักภักดี เรื่องราวเกี่ยวกับซามูไรที่น่าจะคุ้นหูชาวไทยมากที่สุดน่าจะเป็นเรื่องโรนิน 47 ที่ไดเมียวซึ่งเป็นหัวหน้าของพวกเขาถูกบังคับให้คว้านท้อง (ฮาราคีรี) พวกเขาเลือกที่จะเป็นซามูไรไร้สังกัด ก่อนจะตามไปล้างแค้นคนที่ทำให้หัวหน้าต้องตาย และเรื่องนี้ก็สะท้อนให้เห็นความเป็นซามูไรได้อย่างชัดเจน
ปัจจุบัน ซามูไร ถูกล้มล้างและค่อยๆเลือนหายไปตั้งแต่ช่วงสมัยปฏิวัติเมจิ และปัจจุบันไม่มีซามูไรหลงเหลือยู่ญี่ปุ่นแล้ว ทว่าจิตวิญญาณความเป็นซามูไรของพวกเขาก็ยังถูกสืบทอด แม้กระทั่งในเกมกีฬา
วิถีซามูไรในทางกีฬาถูกตีความว่าคือการทำงานหนัก มีน้ำใจนักกีฬา และจิตวิญญาณในการต่อสู้
ที่เห็นได้ชัดคือกีฬาศิลปะการป้องกันตัวแบบญี่ปุ่นทั้ง เคนโด คาราเต ยูโด ต่างนำแนวคิดนี้มาใช้อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงความเคารพซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของน้ำใจนักกีฬา
คนที่เล่นกีฬาเหล่านี้ ก่อนเข้าโรงฝึกก็จะโค้งก่อนฝึกซ้อมก็จะโค้งให้กับอาจารย์ เวลาซ้อมกับคู่ซ้อมก็จะโค้งให้กันและกัน ตอนซ้อมจบก็จะโค้งให้กัน และก่อนออกจากโรงฝึกก็จะโค้งให้กัน
“การโค้งไม่ใช่แค่การทักทาย แต่ยังหมายถึงความรู้สึกยกย่องและขอบคุณอีกฝ่ายหนึ่ง ผู้ปกครองหลายคนจึงส่งเด็กมาเรียนกีฬาเหล่านี้เพื่อขัดเกลาให้มีมารยาท” ส่วนหนึ่งจากบทความ “การเรียนรู้ผ่านกีฬา” ในหนังสือ Tobira: Gateway to Advanced Japanese Learning Through Content and Multimedia
แนวคิดเหล่านี้ไม่ได้มีอยู่ในกีฬาประเภทศิลปะป้องกันตัวเพียงอย่างเดียว มันยังถูกนำไปปรับใช้กับกีฬาทั่วไปอย่าง ฟุตบอล หรือ เบสบอล ทำให้มักเห็นจิตวิญญาณความไม่ยอมแพ้ วินัย และความมีน้ำใจนักกีฬาอยู่เสมอจากนักกีฬาญี่ปุ่น
ในการแข่งขันเบสบอล หากพิชเชอร์ ขว้างลูกเดธบอล (ลูกโดนบริเวณหัวหรือใบหน้า) ไปถูกแบตเตอร์ พิชเชอร์ก็จะถอดหมวก แล้วโค้งขอโทษ ซึ่งเป็นมารยาทที่พบเห็นได้ตั้งแต่การแข่งขันระดับนักเรียนไปจนถึงระดับอาชีพ
หรือในการแข่งขันฟุตบอล แม้พวกเขาจะมีจิตวิญญาณในการต่อสู้เพื่อชัยชนะ แต่เล่นได้อย่างแฟร์เพลย์ ไม่ตุกติก ไม่พุ่งล้ม และไม่โต้เถียงกรรมการ ซึ่งเป็นรากฐานมาจากแนวคิดแบบซามูไรที่ว่าหากรับหน้าที่มาแล้ว ก็พยายามทำมันให้ลุล่วงอย่างซื่อตรงโดยไม่มีข้อแม้
“ง่ายๆเลยก็คือคนญี่ปุ่นไม่ค่อยมากเรื่อง มารยาทของญี่ปุ่นมันไม่ใช่มารยาทที่ให้โวยวาย ไม่แสดงความไม่พอใจ พวกเขาถูกฝึกให้อดทนอดกลั้น” กฤตพลกล่าวต่อ
“ในกรณีนี้มันเป็นเรื่องของหน้าที่ เอาคอนเซ็ปต์ซามูไรมาอธิบายมันก็ได้ เมื่อตัวเองได้รับหน้าที่นี้มา ก็จะทำให้ดีที่สุด”
ยิ่งไปกว่านั้นพวกเขายังมีวินัยในตัวเอง โดยไม่ต้องมีใครบังคับ ที่เห็นได้ชัดคือการตรงต่อเวลา คาสุโอะ คุชิดะ อดีตกองกลางชาวญี่ปุ่นของ ชลบุรี เอฟซี ถูกพูดถึงว่ามักจะมาถึงสนามก่อนเวลาอยู่เสมอ หรือในระดับโลก ภาพของ เคซุเกะ ฮอนดะ สมัยเล่นให้กับเอซี มิลาน ในสนามซ้อมที่ยังไม่มีปรากฏอยู่ในสื่อท่ามกลางเสียงชื่นชมในตัวเขา
สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ชาวญี่ปุ่นยึดถือเรื่อยมา แต่ในบางครั้งพวกเขาก็จำเป็นต้องละเมิดมัน
ไม่เสมอไป
แม้ว่านักกีฬาญี่ปุ่นจะได้รับเสียงชื่นชมจากการเล่นที่ขาวสะอาด แต่ในบางสถานการณ์ที่บีบคั้น พวกเขาก็จำเป็นที่จะละเมิดวิถีซามูไรที่ได้รับการสั่งสอนมาเช่นกัน ตัวอย่างที่ชัดเจน คือการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซีย ในเกมแบ่งกลุ่มรอบสุดท้ายที่พบกันโปแลนด์
สถานการณ์ในวันนั้น ญี่ปุ่นมี 4 คะแนนจากผลงานชนะ 1 เสมอ 1 พวกเขาต้องชนะ หรือต้องการอย่างน้อย 1 คะแนนแล้วลุ้นให้ เซเนกัล ชนะหรือเสมอกับโคลอมเบีย พวกเขาจึงจะเข้ารอบ
เกมในช่วงแรก เป็นเกมโปแลนด์ที่โหมเกมรุกเข้าใส่อย่างหนัก ก่อนที่จะมาได้ประตูขึ้นนำในนาทีที่ 60 ในขณะที่ตอนนั้น เซเนกัล โคลอมเบีย ยังเสมอ 0-0 ซึ่งถ้าจบสกอร์นี้พวกเขาจะกลายเป็นทีมที่ตกรอบ
ญี่ปุ่นพยายามโหมบุกหนักหวังตีเสมอ แต่แล้วในนาทีที่ 74 ผลอีกสนามกลายเป็น โคลอมเบีย เป็นฝ่ายออกนำเซเนกัล 1-0 ทำให้ ซามูไรบลู จะได้เข้ารอบทันทีหากจบสกอร์นี้ ด้วยกฎแฟร์เพลย์ หลังแต้ม ประตูได้เสีย เฮดทูเฮด เท่ากับเซเนกัล
จากนั้นเกมการแข่งขันสุดตื่นเต้นก็แปรเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อญี่ปุ่นเอาแต่เดินเคาะบอลไปมาในพื้นที่ของตัวเอง เพื่อเป็นการดึงเวลา ส่วนโปแลนด์ที่ตกรอบไปแล้ว ก็ไม่ได้อยากได้ประตูเพิ่ม กลายเป็นเกมสุดน่าเบื่อแห่งในทัวร์นาเมนต์ไปจนจบเกม
อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่น จะรักษาสกอร์และผ่านเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายได้สำเร็จ แต่พวกเขาก็ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในอย่างหนักทั้งจากคนในประเทศและชาติ จากการใช้แทคติกที่ดูน่าเกลียดและไม่มีน้ำใจนักกีฬาเช่นนี้
แฟนบางส่วนรับไม่ได้ถึงขั้นวิจารณ์ว่า “มันตลกดีที่ญี่ปุ่นเข้ารอบด้วยการเล่นฟุตบอลที่ไม่ใช่ฟุตบอลเลย” ในขณะที่อีกคนหนึ่งกล่าวว่า “ผมเคยสงสัยว่าฟีฟ่าเคยคิดหรือเปล่าว่ากฎแฟร์เพลย์ ของฟีฟ่าจะถูกนำมาใช้แบบไม่แฟร์”
แฟนบอลหญิง คุมิโกะ ชิดะ พนักงานบัญชีวัย 41 ปี กล่าวว่า “มันช่างน่าอาย ฉันไม่แปลกใจเลยหากญี่ปุ่นจะเสียฐานแฟนบอลไปหลายล้านคนทั่วโลก”
ย้อนแย้งในตัวเอง
รูธ เบเนดิกซ์ นักมานุษยวิทยาชื่อดังเคยกล่าวในหนังสือดอกเบญจมาศกับดาบซามูไรไว้ว่า คนญี่ปุ่นมีความสุดโต่งในสองด้านในตัวคนเดียวกัน คือเป็นคนสุภาพมากและบางครั้งก็หยาบคายมาก หรือเป็นคนสะอาดมาก แต่บางทีก็สกปรกมากในคนเดียวกัน ซึ่งเป็นความซับซ้อนของคนญี่ปุ่น
สิ่งนี้อาจจะอธิบายปรากฎการณ์การถ่วงเวลาฟุตบอลโลกของทีมชาติญี่ปุ่น เมื่อพวกเขาถูกสอนมาให้มีมารยาท แต่พอถึงจุดที่ต้องตุกติก หรือใช้กลยุทธ์ที่ดูไม่ค่อยตรงไปตรงมาในความคิดของพวกเขา มันจึงออกมาในรูปแบบที่ประดักประเดิดเช่นนี้
“จริงๆการถ่วงเวลามันเป็นอะไรที่ชาวบ้านชาวช่องเขาก็ทำกัน ฟุตบอลทีมไหนเขาก็ทำกันทั้งนั้นแหละ แต่ที่ตลกคือญี่ปุ่นเลือกที่จะถ่วงเวลา แต่การถ่วงเวลานั้นไม่มีความเนียนเลย คือเราดูเราก็รู้ว่านี่คือการถ่วงเวลา” กฤติพลอธิบาย
“ซึ่งมันน่าเกลียดแบบสุดๆ ชาวบ้านชาวช่องถ่วงเวลาเค้าก็มีชั้นเชิงบ้าง เตะส่งช้าๆ หรือไม่ก็ส่งบอลวนไปวนมา หรือไม่ผู้รักษาประตูรับแล้วก็เดินไปเดินมา แต่ญี่ปุ่นยืนเฉยๆกลางสนาม”
“สิ่งนี้เป็นเรื่องยืนยันว่าญี่ปุ่นเป็นสังคมที่ต้องเต็มที่ คือมันเต็มที่แต่พอวันนึงมันต้องผ่อน ก็เลยทำไม่ถูกเลย มันโชคดีที่โปแลนด์ไม่เอาด้วยเหมือนกัน ซึ่งมันเป็นอะไรที่ตลกมาก”
“เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นความเป็นคนของประเทศนี้ และมันก็เป็นสิ่งที่บอกอย่างหนึ่งว่าคนญี่ปุ่นเป็นคนที่ค่อนข้างเถรตรงจริงๆ”
แนวคิดต่างๆของคนญี่ปุ่น ที่พยายามถ่ายทอดผ่านกีฬา เป็นเครื่องย้ำเตือนว่า “กีฬา” ของญี่ปุ่นไม่ใช่การแข่งขัน แต่มันคือเครื่องมือขัดเกลาจิตใจ เหมือนที่ครั้งหนึ่งที่ซามูไรเคยใช้ “ดาบ” ขัดเกลาจิตใจมาแล้ว
สิ่งสำคัญของกีฬาญี่ปุ่นจึงไม่ใช่เรื่องแพ้ชนะ หรือสุขภาพเพียงอย่างเดียว แต่คือการเรียนรู้แนวคิดในการเคารพและให้เกียรติผู้อื่น และหัวใจของความเป็นมนุษย์
ทำให้ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปแค่ไหน “วิถีซามูไร” ก็ยังคงฝังรากลึกอยู่ในชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่นได้อย่างแนบเนียน