ถอดรหัสการบริหารแบบแบร์ลุสโคนี : วันที่เป็นทั้งนายกฯอิตาลีและเจ้าของเอซี มิลาน
เมื่อไรก็ตามที่แฟนๆได้เห็นข่าว นักการเมืองควบหน้าที่เจ้าของทีมฟุตบอลไปด้วย เมื่อนั้นมักจะมีคำวิจารณ์ว่าไม่ควรเอาสองสิ่งนี้มารวมกัน เพราะการบริหาร 2 อย่างภายใต้คนๆเดียว อาจจะทำให้เกิดการทุจริตจนเสียจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของกีฬาไป
แต่เพื่อให้เห็นภาพกันชัดเจนมากขึ้น เราจะลองพาคุณลัดเลาะสืบเสาะเข้าไปยังสโมสรระดับโลกสโมสรหนึ่งซึ่งเคยมีประธานสโมสรที่มีฐานะร่ำรวยและยังพ่วงด้วยตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศ และนี่คือกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับ เอซี มิลาน ในช่วงยุคปี '80 จนถึงปี 2017
หลังจบยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีของ อิตาลี คนใดเลยที่สามารถดำรงตำแหน่งได้ยาวนานถึง 3 สมัย นอกเสียจาก 1 เดียวคนนี้ นั่นก็คือ ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี่ คนเดียวกับที่เป็นประธานสโมสรผู้นำความยิ่งใหญ่มาสู่พลพรรครอสโซเนรี่ และนี่คือเรื่องราวของการเป็นมังกร 2 หัวในร่างเดียวของเขาคนนี้
อำนาจ > เงินทอง
สำนักข่าว อินดีเพนเดนท์ ของอังกฤษ เคยลงคอลัมน์เกี่ยวกับ ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี่ ว่าเป็นนักการเมืองที่รักอำนาจมากกว่าเงิน เล่นการเมืองเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจตัวเอง ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีส่วนถูกอยู่บ้างเพราะ "ป๋าแบร์" มีนิสัยแบบนี้ติดตัวตั้งแต่วันที่เขาไร้ยศไร้ตำแหน่งเเล้ว
แบร์ลุสโคนี่ เกิดในปี 1936 ที่ มิลาน เขาเป็นลูกชายของนายธนาคาร แต่เติบโตในเส้นทางที่แตกต่าง เพราะเขาเป็นพวกที่มีพรสวรรค์ในด้านการเป็นเอ็นเตอร์เทนเนอร์อย่างที่สุด ช่วงวัยหนุ่มเขาเป็นนักดนตรีคลาสสิก ตำแหน่ง ดับเบิลเบส และเป็นนักร้องบนเรือสำราญ แม้งานแรกของเขาจะสร้างความสุข แต่กลับไม่สร้างเม็ดเงินที่พอจะใช้ จึงพลิกอีกด้านของชีวิตมาจับธุรกิจก่อสร้างภายใต้ชื่อ Milano Due และโครงการหลักคือการสร้างอพาร์ทเม้นต์และที่อยู่อาศัยกว่า 4,000 แห่ง จนกลายเป็นศูนย์กลางทางฝั่งตะวันออกของเมือง มิลาน เขาเริ่มกลายเป็นผู้มีชื่อเสียงในประเทศ และขยับไปอีกขั้นด้วยการกลับมาทำในสิ่งที่ถนัดนั่นคือการงานเอ็นเตอร์เทนและงานสื่อ
บริษัทแรกเกี่ยวกับสื่อที่เขาเปิดคือ Tele Milano ซึ่งเป็นเคเบิลทีวีขนาดเล็กในท้องถิ่น แต่ด้วยความที่เป็นคนที่มีหัวด้านการนำเสนออยู่แล้ว แบร์ลุสโคนี่ ทำให้บริษัทประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากก่อนจะสร้างเคเบิลที่ล้ำกว่า, แพงกว่า และ ตรงใจคนดูมากกว่าอย่าง Canale 5 ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์เอกชนแห่งแรกของ อิตาลี เลยทีเดียว
เขาเข้าใจสิ่งที่คนดูปรารถนาจะเห็นดังนั้น เคเบิล ของ แบร์ลุสโคนี่ จึงฉีกจากรายการของสถานีรัฐบาลมากโข เขานำเสนอความบันเทิงเต็มรูปแบบและที่แน่นอนที่สุดคือพวกรายการปลุกใจเสือป่าโดยนำเหล่าผู้หญิงเซ็กซี่มาเป็นจุดเด่นในการขาย นอกจากนี้ยังมีการซื้อลิขสิทธิ์โชว์จากอเมริกาอย่าง Dallas, Dynasty และ Baywatch ซึ่งประสบความสำเร็จแบบถล่มทลาย เงินทองเข้ามามากมายในช่วงระยะเวลาอันสั้น แต่กระนั้นการเป็น 1 ในเมืองมิลาน ในฐานะแค่เจ้าของสถานีโทรทัศน์ อาจจะยังไม่ตอบโจทย์กับคนท้องถิ่นเท่าไรนัก และเส้นทางการเรืองอำนาจบารมีของแบร์ลุสโคนี่ เปิดกว้างมากเมื่อ เอซี มิลาน หนึ่งในทีมประจำเมืองที่มีฐานแฟนท้องถิ่นกำลังตกต่ำสุดๆในยุค '80
แบร์ลุสโคนี่ รู้ดีว่าเขาจะเพิ่มสถานะจากเดิมที่เป็นนักธุรกิจที่ร่ำรวย กลายเป็นบุรุษผู้ขี่ม้าขาวของคนทั้งเมืองได้ หากเขาทำให้ มิลาน กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง... โลกของกีฬามักจะมีพระเอกอยู่เสมอไม่มีเหตุผลใดๆที่เขาจะรั้งรอ ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี่ พร้อมจะเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลระดับตำนานของประเทศเเล้ว
เล่นบทพระเอก
เล่าถึง เอซี มิลาน ในยุค '80 กันสักนิด ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่แฟนๆและคนในท้องถิ่นต้องเดินคอตกกับความตกต่ำทั้งผลงานในสนามและงานบริหารที่เเสนเละเทะ นับวันมนต์ขลังบิ๊กทีมยุค '50 ยิ่งจางลงจนแทบกลายเป็นยักษ์หลับที่ปลุกอย่างไรก็ไม่ตื่น มิลาน โดนปรับตกชั้นไปสู่ เซเรียบี ในปี 1980 เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องในข้อหาพัวพันกับคดีการล้มบอลของ เฟลิเซ่ โคลอมโบ ประธานสโมสรคนเก่า นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไม แบร์ลุสโคนี่ จึงต้องมาที่ฝั่งสี "เเดง-ดำ" แม้ว่าจะเคยมีการซุบซิบกันว่าแท้จริงแล้วเขาเป็นแฟนบอลของ อินเตอร์ มิลาน มาตั้งแต่เด็ก แต่นาทีนี่สิ่งที่ถูกใจก็สู้สิ่งที่ถูกต้องไม่ได้
ปี 1986 ถึงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงของ เอซี มิลาน แบร์ลุสโคนี่ เดินทางเข้าพบกับประธานสโมสรในขณะนั้นอย่าง จูเซ็ปเป้ ฟารีน่า เพื่อจะขอซื้อทีม แน่นอนว่าฝั่งขั้วเก่าพร้อมปล่อยโดยง่าย แต่มีข้อแม้ว่า แบร์ลุสโคนี่ จะต้องเข้ามาล้างหนี้ที่สโมสรมีอยู่ ซึ่งแท้จริงเเล้วเกิดจากทุจริตของตัว ฟารีน่า เอง การเจรจายังไม่ทันจบดี ฟารีน่า ต้องหนีคดีไปก่อนจึงทำให้ เเบร์ลุสโคนี่ เข้าเทคโอเวอร์สโมสรต่อแบบไร้คู่แข่งด้วยการจ่ายเงิน 40 ล้านลีร์
เช้าวันที่ 8 กรกฎาคม แฟนบอล “ปีศาจแดงดำ” กว่า 10,000 คน ยืนรออยู่แถวปราสาทสฟอร์เซสโก้ เพื่อดูพิธีการบางอย่างที่กำลังจะเริ่มขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ โดยงานนี้ถึงกับต้องใช้เฮลิคอปเตอร์หลายลำ เพื่อเปิดตัวอย่างตระการตา แบร์ลุสโคนี่ ลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ และประกาศตัวเองต่อหน้าแฟนบอลว่า "ผมจะเข้ามาเป็นผู้กอบกู้ และยุคสมัยใหม่ของมิลาน จะเริ่มขึ้นหลังจากนี้"
“มันเป็นความรู้สึกที่ว่า ชายคนนี้จะมากอบกู้พวกเรา เขาจะพาเรากลับไปสู่ระดับที่เคยอยู่ พาเราไปแข่งกับทีมอื่นๆได้อีกครั้ง ไม่ใช่แค่ในอิตาลีด้วย แต่เป็นทั้งยุโรปเลย” ฟรังโก้ บาเรซี่ ปราการหลังตำนานของทีมในฐานะคนสนิทของ แบร์ลุสโคนี่ กล่าว
บทพระเอกของ แบร์ลุสโคนี่ ที่ มิลาน ดำเนินไปอย่างขรุขระในช่วงแรก แต่หลังจากค่อยๆตั้งหลักและประกอบร่างด้วยระบบการบริหารใหม่ มิลาน ก็ติดเครื่องแบบไม่มีใครหยุดอยู่ การลงทุนกับนักเตะดำเนินไปหลายต่อหลายดีล รุด กุลลิตต์, แฟร้งค์ ไรจ์การ์ด, มาร์โก ฟาน บาสเท่น, อังเดร เชฟเชนโก้ ฯลฯ คือ ดีลตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความทะเยอทะยานของเจ้าของคนใหม่
8 สคูเด็ตโต้ และ 5 แชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก คือ สิ่งทีเกิดขึ้นในยุคของ แบร์ลุสโคนี่ คนนี้ เรียกได้ว่าแม้ในวันที่เข้ามาวันแรกเขาจะใช้นิสัยนักการเมืองด้วยการประกาศให้คำมั่นสัญญาแบบขายฝัน แต่ มิลาน โชคดีที่ฝีมือของเขาเก่งพอๆกับฝีปาก จึงทำให้ในช่วงยุค '90 รอสโซ่เนรี่ คือสโมสรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ขณะที่ตัวของเขาก็ร่ำรวยขึ้นไปเป็นเงาตามตัว โดยนิตยสาร ฟอร์บส์ ได้จัดอันดับให้ แบร์ลุสโคนี่ เป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศ อิตาลี ด้วยธุรกิจทั้งหมดที่เขามีในมือ
และอย่างที่ได้กล่าวไปในข้างต้นสำหรับคนอย่าง แบร์ลุสโคนี่ ที่ถืออำนาจ มีค่ามากกว่า เงินทอง จึงไม่หยุดแค่ร่ำรวยจากธุรกิจเท่านั้น เขาต่อยอดอำนาจของตัวเองต่อไปอีกด้วยการเล่นการเมือง ด้วยการก่อตั้งพรรค "ฟอร์ซ่า อิตาเลีย" เพื่อชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของประเทศ อิตาลี ในปี 1994
การก่อตั้งพรรคของเขาเกิดขึ้นเพียง 2 เดือนก่อนการเลือกตั้งจะเริ่มขึ้น แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เป็นอุปสรรคกับการเลือกตั้งสักเท่าไร เขาสนิทสนมกับอดีตนายกรัฐมนตรีอย่าง เบตตีโน คราซี อีกทั้งเขายังเป็นหัวเรือใหญ่และเป็นหัวใจทางการเงินของอิตาลีอีกด้วย เพราะในช่วงก่อนเลือกตั้งนั้น ค่า GDP ของ อิตาลีเพิ่มขึ้น 18% และก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 5 ของโลก แบบนี้มีหรือที่เขาจะพลาดการเลือกตั้ง?
แบร์ลุสโคนี่ ชูนโยบายลุกขึ้นต่อต้านและปลิดชีพพรรคคอมมิวนิสต์ที่ทำให้ประเทศล้าหลัง นี่คืออีกครั้งที่เขารับบทพระเอกของเรื่อง และยังติดเขี้ยวเล็บด้วยสื่อที่มีในมือเข้าไปอีกดังนั้น เขาจึงชนะเลือกตั้งในปี 1994 อย่างท่วมท้นจากการใช้สื่อโทรทัศน์ในการโหมโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างหนัก ซึ่งนับว่าเป็นรูปแบบแปลกใหม่ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองของอิตาลี
การจะเป็นพระเอกได้แบบเต็มตัวนั้นแค่มีสื่อในมืออย่างเดียวยังไม่พอ เขาต้องการฐานเสียงจากประชาชนด้วย และเขารู้ดีว่านโยบายที่จะทำให้ได้รับเสียงสนับสนุนเพิ่ม คือ การคืนกำไรให้กับสังคม เขารวยแล้วก็จริงแต่การทำให้ประชาชนในประเทศมีเงินในกระเป๋ามากขึ้นคือวิธีที่สุดแสนคลาสสิก ดังนั้นเขาจึงประกาศชัดเต็มคำว่า เขาจะสร้างงานเพิ่มขึ้นอีก 1 ล้านตำแหน่งในช่วงเวลาที่พรรคของเขาเป็นรัฐบาล...แค่นี้ก็เรียบร้อย
ใจดีให้ถูกคน
มีคำกล่าวว่า "นิสัย" นักการเมืองเหมือนกันหมดทั้งโลก นั่นคือพวกเขาต่างเป็นผู้ต้องการชัยชนะในการเเข่งขัน และนั่นทำให้มีความเจ้าคิดเจ้าเเค้น ใครชนะจะต้องเล่นงานคนแพ้ จะเบาบ้าง หนักบ้าง ก็แล้วแต่กรณี มีส่วนน้อยมากๆที่เมื่อชนะเเล้วจะปล่อยคู่แข่งตัวฉกาจให้กลับไปเลียแผลใจแบบเงียบๆ ทุกครั้งที่พวกเขาลงดาบนั้นเหตุผลใหญ่ๆนั่นมีเพียง 2 ข้อ หนึ่งคือตัดเสี้ยนหนามที่จะเป็นอุปสรรคในภายภาคหน้า และสองคือเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง
งานด้านการเมืองของ แบร์ลุสโคนี่ เองก็มีเรื่องที่ทำให้สามารถนำมาอ้างอิงกับคำว่านิสัยนักการเมืองได้ เพราะหลังจากที่เขาได้เป็นหัวหน้ารัฐบาลอิตาลีได้ไม่นาน เขาก็ต้องลาออกจากตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาล เนื่องจากพรรคแนวร่วมตอนเหนือ เลกา นอร์ ที่เคยเป็นพันธมิตรและพรรคร่วมรัฐบาลของ ฟอร์ซ่า อิตาเลีย ได้ถอนตัวออกไปรวมกับฝ่ายค้าน ขณะที่หนึ่งในบริษัทที่สร้างรายได้ให้กับเขาอย่าง กลุ่มธุรกิจฟินอินเวสต์ ก็โดนทางการของอิตาลี เข้าตรวจสอบว่าทำกฎหมายในคดีอาชญากรรมที่เมืองเนเปิล
ทว่าหลังจากขึ้นศาลที่มิลาน ทุกอย่างก็พลิกผันเมื่อ ศาลตัดสินใจไม่ดำเนินคดีกับเขา ซึ่งคำตัดสินนี้ ทำให้เขาล้างมลทินและกลายเป็นบุคคลที่ขาวสะอาดขึ้นมาในทันทีอีกครั้ง
แบร์ลุสโคนี่ ไม่เสียเวลาอีกเเล้ว หลังจากเขารอดคดีมาได้ เขาจัดการขจัดเสี้ยนหนามให้สิ้นซากด้วยการฟ้องกลับต่อคณะมนตรียุติธรรม ว่ากลุ่มผู้พิพากษาในนครมิลานได้รวมหัวกันดำเนินการขัดต่ออำนาจรัฐ ซึ่งอาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้อริของเขาเข็ดหลาบไม่กล้าแหยมเขาในช่วงเวลาที่ แบร์ลุสโคนี่ เรืองอำนาจ
แบร์ลุสโคนีดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอิตาลีครั้งแรกระหว่างปี 1994-1996 ก่อนที่ในปี 2001 จะได้รับเลือกกลับสู่ตำแหน่งอีกครั้ง หลังการหาเสียงด้วยการแจกหนังสือบันทึกความสำเร็จของตัวเองถึงบ้านของชาวอิตาลีจำนวน 15 ล้านครัวเรือน วิธีเดิมๆของเขาคือใจดีกับฐานเสียงและตัดพวกคู่แข่งให้สิ้นซาก นั่นคือสิ่งที่ทำให้เขาอยู่ในตำแหน่งยาวนานถึงปี 2006 ก่อนที่จะได้รับเลือกเป็นครั้งที่ 3 ในปี 2008 นับเป็นนายกรัฐมนตรีอิตาลีหลังยุคสงครามที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์
ขณะที่ มิลาน แม้จะบริหารงานและนำความสำเร็จให้กับทีมมากมาย แต่เขามีข้อเสียอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือเขาไม่ชอบคนที่ไม่ฟังคำสั่งของตัวเอง บ่อยครั้งหากไม่ได้ดั่งใจ แบร์ลุสโคนี่ มักจะเข้าไปล้วงลูกเหล่าผู้จัดการทีมคนที่เขาเป็นคนจ่ายเงินจ้างให้มาคุมทีมเอง เหตุผลหลักๆคือกุนซือเหล่านี้ไม่ยอมคล้อยตามเขาในการเดินเกมตลาดซื้อขาย เพราะบ่อยครั้งที่ตัวของ แบร์ลุสโคนี่ จะจัดการเรื่องซื้อขายนักเตะเอง และเมื่อมันคือทีมของเขา ใครรับระบบนี้ไม่ได้ก็ต้องออกไป นั่นคือสาเหตุที่ตลอดระยะเวลาการเป็นเจ้าของของ เอซี มิลาน แบร์ลุสโคนี่ ใช้โค้ชไปถึง 21 คน
อย่างไรก็ตาม แบร์ลุสโคนี่ ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้บริหารที่ชอบเอาใจนักฟุตบอลและแฟนๆ โดยสิ่งที่เขาอยากจะได้กลับมาจากฐานเสียงเหล่านี้คือความจงรักภักดีต่อทีม จึงทำให้เขาพยายามสร้างทุกอย่างในสโมสรให้ดูดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสื่อหลายรายที่หันมาประชาสัมพันธ์ ช่วยทีมมากขึ้น ซึ่งก็ได้รับการตอบกลับเป็นอย่างดี เพราะหลังจาก แบร์ลุสโคนี่ เข้ามาทำทีมตั๋วปีของมิลานก็ขายได้มากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าโดยเฉพาะในช่วงปีแรกๆนั้น มียอดจองถึง 60,000 ใบต่อปีเลยทีเดียว
ขณะที่กับนักเตะนั้น แบร์ลุสโคนี่ เลือกที่จะเอาใจเหล่าไอค่อนของสโมสร หรือนักเตะที่เป็นลูกหม้อของทีม เพราะนักเตะเหล่านี้มีความหมายต่อความรู้สึกของแฟนๆเป็นอย่างมาก หากนักเตะอย่าง บาเรซี่, อเลสซานโดร คอสตาคูต้า, เปาโล มัลดินี่ หรือคนอื่นๆในยุคหลังจากนั้นให้ความเคารพต่อตัวของเขาเเล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่แฟนบอลจะคล้อยตามไอดอลของพวกเขา
นอกจากนี้ยังนำแนวคิดความจงรักภักดีต่อสินค้ามาใช้กับ สาวกรอสโซเนรี่ ทั้งในเรื่องของ ตั๋วปี และ ของที่ระลึกต่างๆ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขาต้องการปูทางให้กับตัวเองในถนนการเมืองด้วย..
ตายเพราะปาก
"เขาเป็นคนที่ฉลาดแถมยังใจใหญ่ เขามักจะแก้วิกฤติให้เป็นโอกาสได้ในหลายๆสถานการณ์จนทำให้มันดูเหมือนไม่ใช่ความผิดของเขา" ศาสตราจารย์ โจวานี่ ซานโตรี่ ผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองเบอร์ต้นๆของ อิตาลี กล่าวกับ BBC
"เขาบอกเสมอว่าไม่ชอบที่ตัวเองถูกเกลียดชัง แต่ผมคิดว่าเขาถูกจดจำในฐานะผู้ยิ่งใหญ่ เขาเป็นคนตรงๆที่ปากไวมาก ผมไม่รู้จริงๆว่าใครจะเอาชนะเขาได้เมื่อเข้าไปอยู่ในเกมของเขา"
การเป็นนายกรัฐมนตรีในประเทศที่เจริญแล้วถึง 3 สมัยซ้อนสะท้อนข้อเท็จจริงนี้ได้เป็นอย่างดี แม้จะไม่มีใครเอาชนะเขาได้ในเกมของเขา แต่ แบร์ลุสโคนี่ กลับเป็นคนที่แพ้ภัยตัวเองด้วยเรื่องเรื่องส่วนตัว และเรื่องปลาหมอตายเพราะปาก
แบร์ลุสโคนี่ เคยล้อเลียน บารัค โอบาม่าว่ามีผิวสีแทนจากการอาบแดด, ล้อ เเองเกลาร์ แมร์เคิล นายกฯของเยอรมันว่าหญิงก้นใหญ่ที่มีเพศสัมพันธ์ด้วยไม่ได้ และเรียก มาร์ติน ชูลซ์ นักการเมืองชาวเยอรมันโดยเอาไปเปรียบเทียบกับพวกนาซี คือสิ่งทีทำให้เขาดูติดลบจากคนอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องผู้หญิงอยู่บ่อยครั้ง และหนักสุดกับ รูบี้ โมร็อคคาน ที่อายุยังไม่บรรลุนิติภาวะ จนทำให้สื่อในประเทศหยิบมาเล่นข่าวได้ไม่เว้นแต่ละวัน ซึ่งงานมันหนักขึ้นเป็นพิเศษ เพราะเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่ประเทศ อิตาลี ประสบปัญหาวิกฤติทางการเงินครั้งใหญ่ในช่วงปี 2011
ปี 2011 หนี้สาธารณะของอิตาลีสูงกว่าร้อยละ 113 ของจีดีพี (GDP) สภาพคล่องของระบบเสียหายรุนแรง จนต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากสหภาพยุโรป (EU) และไอเอ็มเอฟ (IMF) ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ร้ายแรงมาก หากประเทศใดประเทศหนึ่งต้องเข้าตาจน จนต้องขอความช่วยเหลือเช่นนี้
มันเลี่ยงไม่ได้ที่เขาจะถูกวิจารณ์ว่ามัวหลงกับลาภยศมากเกิน ความผิดแรกเกิดขึ้นมันก็เหมือนกับน้ำลดตอผุด มีข่าวว่าเขาจ่ายเงินค่าปิดปากกับหญิงสาวที่เคยมีความสัมพันธ์ลับๆเป็นเงินถึง 10 ล้านยูโร ทำให้ประชาชนไม่พอใจเพราะคุณภาพชีวิตของคนในประเทศตกต่ำลง หนำซ้ำในปี 2013 แบร์ลุสโคนี่ ยังถูกศาลตัดสินให้มีความผิดฐานฉ้อโกงภาษีอีกด้วย เรียกได้ว่าเมื่อถึงช่วงขาลงทุกอย่างก็ลงพร้อมๆกันอย่างน่าใจหาย จนเขาต้องออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอิตาลีในที่สุด
เมื่อการเมืองล้ม ทุกอย่างก็เป็นเหมือนลูกโซ่ วิกฤติการเงินในอิตาลี ส่งผลต่อ มิลาน โดยตรง เพราะนับตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมาพวกเขาเสียทั้ง ซลาตัน อิบราฮิโมวิช, อเล็กซานเดร ปาโต้, ติอาโก้ ซิลวา เพื่อนำเงินเข้ามาพยุงฐานะของสโมสร ซึ่งผลประกอบการขาดทุนไม่ต่างกัน และเมื่อไม่มีนักเตะเก่งๆก็ยากที่จะประสบความสำเร็จในการเเข่งขัน ถึงตอนนี้ เอซี มิลาน ไม่ได้เล่นในยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก มานานจนนิ้วแทบจะไม่พอนับไปเสียเเล้ว
แค่เคลียร์ตัวเองจากหนี้ต่างๆก็ว่ายากแล้ว ดังนั้นลืมไปได้เลยเรื่องที่เขาจะเอาเงินมาอัดฉีดสโมสรเพื่อกลับสู่ความยิ่งใหญ่ อีกทั้งหนี้ของทีมที่ทบไปทบมาจากผลงานที่ล้มเหลวและการลงทุนที่สูญเปล่าก็พุ่งสูงถึง 220 ล้านยูโร ที่สุดเเล้ว แบร์ลุสโคนี่ ก็ยกธงขาวขายทีมให้กับกลุ่มทุนจากจีนด้วยราคา 740 ล้านยูโร (รวมค่าชำระหนี้) ในปี 2017
การจับปลาหลายมือและความลำพองจนเกิดเหตุทำให้ แบร์ลุสโคนี่ ต้องออกจากทั้งตำแหน่งประธานสโมสรของเอซี มิลาน และ นายกรัฐมนตรีของประเทศในเวลาไล่เลี่ยกัน อย่างไรก็ตามเหรียญนั้นมี 2 ด้าน เขาอาจจะสร้างความล่มจมหากมองกันที่ปัจจุบัน แต่ช่วงเวลาที่เขาดำรงตำแหน่งผู้บริหารของสโมสร และประเทศก็มีประวัติศาสตร์เกิดขึ้นมากมาย
ขึ้นชื่อว่านักการเมืองเเล้วหาได้ยากนักที่จะมีใครดีเต็ม 100% แบร์ลุสโคนี่ ก็เช่นกัน และตอนนี้เขาก็กำลังได้รับบทเรียนชีวิตในวัย 81 ปี ด้วยการบำเพ็ญประโยชน์ในบ้านพักผู้ป่วยอัลไซเมอร์ แทนการรับโทษจำคุกจากความผิดทั้งหมดที่เขาได้ทำลงไปในวันที่มีอำนาจ
ขณะที่ เอซี มิลาน ก็ต้องก้มหน้าลืมความยิ่งใหญ่ในอดีตและกลับมาสร้างอนาคตใหม่ในชีวิตที่ไร้ แบร์ลุสโคนี่ อีกครั้ง