เรื่องใกล้ปลายจมูก : ใบเหลือง-แดง โลกลูกหนังเกิดขึ้นได้อย่างไร?

เรื่องใกล้ปลายจมูก : ใบเหลือง-แดง โลกลูกหนังเกิดขึ้นได้อย่างไร?

เรื่องใกล้ปลายจมูก : ใบเหลือง-แดง โลกลูกหนังเกิดขึ้นได้อย่างไร?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อพูดถึงกีฬาฟุตบอล เชื่อว่าแฟนๆ น่าจะจดจำสิ่งหนึ่งที่อยู่คู่กับวงการนี้มาโดยตลอดได้จนขึ้นใจ นั่นคือ ใบเหลือง-ใบแดง

เพราะทั้งสองใบที่กล่าวมา คือสัญลักษณ์ของการลงโทษผู้เล่นในสนามเวลาทำผิดกติกา โดยใบเหลืองหมายถึงการตักเตือนคาดโทษอย่างเป็นทางการ หากยังทำผิดซ้ำๆ ก็เลี่ยงไม่ได้ที่ผู้ตัดสินจะต้องควักใบแดงไล่ออกจากสนามไป

แต่ ใบเหลือง-แดง ปรากฎขึ้นบนโลกลูกหนังได้อย่างไรกัน?

จากอาจารย์สู่กรรมการ
ไม่ว่าจะที่ประเทศไทย, อังกฤษ หรือที่ไหนๆ ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเป็นอาจารย์นั้นมีหน้าที่มากมาย … ในการเรียนวิชาต่างๆ พวกเขามีหน้าที่ต้องสอนลูกศิษย์ ขณะที่การเรียนการสอนวิชากีฬา ไม่เพียงแต่จะต้องสอนเท่านั้น แต่ยังต้องทำหน้าที่เป็นกรรมการตัดสินในการแข่งขันของเหล่าเด็กๆ อีกด้วย เพราะคงไม่มีใครอาวุโสและมีอำนาจเพียงพอที่จะทำให้เด็กๆ เชื่อฟังได้เท่ากับอาจารย์อีกแล้วล่ะ

นั่นคือสิ่งซึ่งชายชาวอังกฤษที่ชื่อ เคน แอสตัน เป็น … เขาเริ่มต้นอาชีพการเป็นอาจารย์ตั้งแต่ปี 1935 และแม้จะมีอายุเพียง 20 ปีในขณะนั้น แต่เมื่อครูรุ่นใหญ่ขอให้เขาทำหน้าที่ตัดสินเกมฟุตบอลของเหล่าเด็กๆ ก็ไม่มีเหตุใดที่จะให้เขาต้องปฏิเสธ เพราะมันเป็นหนึ่งในหน้าที่ที่ต้องทำอยู่แล้วนี่นา

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนเขาจะทำหน้าที่ในเส้นทางสายใหม่ได้ดีไม่น้อย เพราะในปีถัดมา แอสตันก็สามารถสอบใบอนุญาตการเป็นผู้ตัดสินผ่าน และแม้จะต้องไปรับใช้ชาติในฐานะทหารช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แต่เขาก็รอดกลับมา และเติบโตบนเส้นทางสายนี้ตามลำดับ

ไม่เพียงเท่านั้น แอสตันยังเป็นถือเป็นนักคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ให้กับวงการ เพราะในปี 1946 เขาเป็นกรรมการคนแรกที่ลงตัดสินเกมในชุดสีดำล้วน จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของชื่อ “สิงห์เชิ้ตดำ” ที่อยู่คู่กับวงการผู้ตัดสิน ก่อนที่ในปี 1947 เจ้าตัวจะนำธงสีเหลือง-แดง มาให้ผู้กำกับเส้นใช้แทนที่ธงสีของทีมเจ้าบ้านตามธรรมเนียมเดิม หลังผู้ตัดสินประสบปัญหาไม่เห็นธงจากหมอกที่ลงจัด และแน่นอน ธงสีเหลือง-แดง ก็ได้เป็นสัญลักษณ์คู่ตัวผู้กำกับเส้น ซึ่งถูกเปลี่ยนชื่อมาเป็น ผู้ช่วยผู้ตัดสิน ในเวลาต่อมา

01-kenaston-coach-1962
สงครามแห่งซานติอาโก้
แต่ถึงเจ้าตัวจะคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ให้กับวงการผู้ตัดสินมากขนาดไหน ที่สุดแล้ว การวัดคุณค่าในตัวของสิงห์เชิ้ตดำก็ยังขึ้นอยู่กับการตัดสินเกมอยู่ดี ซึ่งแอสตันไม่เคยมีปัญหาเรื่องนี้ เมื่อเขาตัดสินได้อย่างชัดเจน, ถูกต้อง, เที่ยงธรรม และไร้ข้อกังขาในแทบทุกเกมที่เขาทำหน้าที่ ด้วยเหตุดังกล่าว เจ้าตัวจึงได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในผู้ตัดสินที่ดีที่สุดของโลกในต้นยุค 1960

ด้วยคำยกย่องดังกล่าว ไม่ต้องสงสัยเลยว่า แอสตันจะได้รับเกียรติที่สูงสุดในชีวิต เมื่อสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) เลือกเขาให้ไปลงตัดสินเกมฟุตบอลโลก 1962 รอบสุดท้ายที่ประเทศชิลี ยิ่งเกมแรกที่เจ้าตัวทำหน้าที่ คือในเกมนัดเปิดสนาม ซึ่งทีมเจ้าภาพเอาชนะ สวิตเซอร์แลนด์ 3-1 ผ่านไปอย่างเรียบร้อย ทางฟีฟ่าจึงให้ความไว้วางใจ มอบหน้าที่ให้ลงตัดสินต่อในเกมรอบแบ่งกลุ่มที่ ชิลี เจ้าภาพลงสนามพบ อิตาลี

ทว่าก่อนหน้าถึงวันแข่งขันไม่กี่วันก็ได้เกิดเรื่องราวดราม่าระหว่างสองชาติ เมื่อ อันโตนิโอ กิเรลลี่ และ คอร์ราโด้ ปิซซิเนลลี่ นักข่าวจากแดนมักกะโรนีที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาเกาะติดทีมอัซซูรี่ ลงบทความในหนังสือพิมพ์ สับแหลกความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพของชิลีที่ดูจะไม่มีอะไรดีเอาเสียเลย ไม่เพียงเท่านั้น เนื้อหาบางส่วนยังมีการเหยียดหยามสตรีชิเลียนอีกด้วย

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ชาวชิลีทั้งประเทศเป็นเดือดเป็นแค้นแค่ไหนกับเรื่องนี้ เพราะนอกจากสื่อท้องถิ่นจะได้ทีเอาคืนด้วยการลงบทความด่าอีกฝ่ายว่าเป็นพวกฟาสซิสต์แล้ว ยังตามมาด้วยการประท้วงจนนักข่าวตัวต้นเหตุต้องหนีออกจากดินแดนเจ้าภาพฟุตบอลโลกอย่างเร่งด่วน

12-referee-kenaston-teaching-
และความเดือดดาลจากนอกสนามก็ลามมาถึงในสนามจนได้ เมื่อผู้เล่นของทั้งชิลีและอิตาลีต่างผลัดกันเล่นรุนแรงใส่อีกฝ่ายอย่างไม่ยอมใคร เคน แอสตัน ต้องไล่ผู้เล่นทีมอัซซูรี่ออกจากสนามถึง 2 คน เช่นเดียวกับต้องห้ามทัพนักเตะของทั้งสองฝั่งที่พร้อมตะบันหน้ากันตลอดทั้ง 90 นาที ทว่าแค่ทีมงานกรรมการก็ไม่อาจต้านทานไหว จนเจ้าหน้าที่ตำรวจติดอาวุธต้องลงมาปฏิบัติหน้าที่ในสนามถึง 3 รอบเพื่อให้เกมสามารถแข่งขันต่อได้จนจบ

แม้ชิลีเป็นฝ่ายชนะไปในเกมนี้่ด้วยสกอร์ 2-0 แต่แอสตันกลับยอมรับว่า เกมที่ได้รับการขนานนามว่า “สงครามแห่งซานติอาโก้” คือเกมที่ยากที่สุดในชีวิตการเป็นผู้ตัดสินเลยทีเดียว

"ดูเหมือนวันนั้นผมจะไม่ได้เป็นผู้ตัดสินเกมฟุตบอล แต่เป็นนายทหารที่ต้องธำรงวินัยภายในกองทัพเสียมากกว่า" เจ้าตัวเปรียบเปรยเกมดังกล่าวกับประสบการณ์ชีวิตในอดีตได้อย่างเห็นภาพจริงๆ

image
เหตุที่บ้านเกิด
หลังจากเกมดังกล่าว แอสตันก็ไม่ได้ลงทำหน้าที่ในเกมฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายอีกจากอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นระหว่างสงครามบนผืนหญ้า ก่อนที่จะตัดสินใจยุติบทบาทการเป็นผู้ตัดสินในปี 1963 โดยเกมเอฟเอคัพ นัดชิงชนะเลิศคือเกมสุดท้ายที่เขาลงทำหน้าที่

แต่คนดีมีฝีมือ ไม่ว่าที่ไหนก็ต้องการตัว เพราะคล้อยหลังจากการแขวนนกหวีดได้ 3 ปี ฟีฟ่าก็ได้แต่งตั้งเขาให้เป็นหัวหน้าคณะกรรมการผู้ตัดสินในปี 1966 และฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่อังกฤษ บ้านเกิดของแอสตันก็คืองานแรกๆ กับการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าว

ถึงกระนั้น ดูเหมือนดวงแห่งความวุ่นวายได้ติดตามตัวของแอสตันจากเมื่อปี 1962 มาด้วย และเหตุการณ์ที่ว่าก็ได้ปะทุขึ้นอีกครั้งในเกมรอบ 8 ทีมสุดท้ายซึ่งเจ้าภาพลงสนามพบ อาร์เจนติน่า เมื่อทัพนักเตะฟ้าขาวเปิดยุทธการเตะติดดาบ เล่นแรงทุกจังหวะที่มีโอกาส จนผู้ตัดสินต้องไล่ อันโตนิโอ รัตติน กัปตันทีมชาติอาร์เจนติน่าออกจากสนาม ทว่าเจ้าตัวกลับไม่ยอมเดินออกแต่โดยดี แอสตันที่อยู่ในสนามเวมบลีย์วันนั้นด้วยจึงต้องรีบวิ่งเข้าไปในสนามพร้อมทีมงาน เพื่อใช้วาทศิลป์ต่างๆ นานาอ้อนวอนให้อีกฝ่ายสงบสติอารมณ์และออกจากสนามไป รวมถึงควบคุมสถานการณ์ไม่ให้เกมต้องถูกยุติไปเสียก่อน

the_battle_of_santiago_1962
อย่างไรก็ตาม ความวุ่นวายกลับไม่จบลงในเวลา 90 นาที ซึ่งทีมสิงโตคำรามคว้าชัยไปด้วยสกอร์ 1-0 เพราะในวันต่อมา หนังสือพิมพ์ของอังกฤษที่ลงผลการแข่งขันได้ระบุว่า รูดอล์ฟ เกรียตเลียน ผู้ตัดสินชาวเยอรมัน ได้คาดโทษให้กับ แจ็ค และ บ็อบบี้ ชาร์ลตัน สองพี่น้องกำลังสำคัญของเจ้าภาพในเกมนั้นด้วย ...

แรงบันดาลใจจากท้องถนน
อัลฟ์ แรมซี่ย์ กุนซือทีมชาติอังกฤษ รวมถึงนักเตะทั้งคู่เต้นผางทันทีเมื่อเห็นเรื่องดังกล่าว รีบรุดเข้าพบฝ่ายจัดการแข่งขันทันทีเพื่อขอคำชี้แจงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็ทำให้เรื่องดังกล่าวยิ่งสับสนเข้าไปใหญ่ เมื่อมีการยืนยันจากทางฟีฟ่าว่า เกรียตเลียนไม่ได้ทำการคาดโทษทั้งคู่ในเกมดังกล่าวอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด

251962d9a17878c0358fc44cb36f9
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทีมงานผู้ตัดสินในเกมดังกล่าวจะได้รับคำตำหนิเป็นอย่างมาก ซึ่งทางแอสตันเองก็ปฏิเสธความรับผิดชอบไปไม่ได้ ความคิดจึงเริ่มวนเวียนอยู่ในหัวทันทีว่า จะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เหตุการณ์วุ่นวายลักษณะนี้ ที่ไม่มีการระบุอย่างแน่ชัดว่าใครบ้างที่ถูกคาดโทษ ใครบ้านที่โดนไล่ออกเกิดขึ้นอีก

และไอเดียในการปัญหาดังกล่าวก็ผุดขึ้นในระหว่างที่กำลังขับรถจาก สนามเวมบลีย์ ไปที่ แลนคาสเตอร์ เกต หลังผ่านพ้นวันหนักๆ นั่นเอง ซึ่งแอสตันเผยถึงเรื่องนี้ว่า

picture_main_trans_nvbqzqnjv4
"ตอนนั้นผมขับรถมาถึง เคนซิงตัน ไฮ สตรีท แล้วสัญญาณจราจร ไฟเหลือง-ไฟแดง ก็มาสว่างขึ้นตรงหน้าพอดี เห็นแล้วผมก็คิด 'เออ ไฟเหลืองมันให้เตรียมหยุด ไฟแดงนี่ต้องหยุดนี่หว่า แล้วถ้าเราเอามาใช้กับกีฬาฟุตบอลล่ะ? สีเหลือง - เฮ้ย! มึงต้องระวังตัวแล้วนะ สีแดง - หยุดเดี๋ยวนี้ แล้วออกจากสนามไปเลย'"

ทันทีที่กลับถึงบ้าน เขาจึงนำไอเดียนี้บอกเล่าให้ ฮิลด้า ผู้เป็นภรรยาฟังเป็นคนแรก ก่อนที่เธอจะหายตัวไปที่ห้องข้างๆ อยู่สักพัก และกลับมาพร้อมกับกระดาษ 2 ใบ ใบหนึ่งสีเหลือง อีกใบสีแดง ทั้งคู่ถูกตัดให้มีขนาดเล็กพอที่จะใส่ในกระเป๋าเสื้อหรือกางเกงได้พอดี

goalkeeper-060610-1425717990
แอสตันได้นำต้นแบบใบเหลือง-ใบแดง ไปเสนอกับคณะกรรมการของฟีฟ่า ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ทว่าเนื่องจากไม่สามารถเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบต่างๆ ระหว่างการแข่งขันได้ ทัวร์นาเมนต์แรกที่มีการใช้ใบเหลือง-แดงเพื่อคาดโทษ จึงเกิดขึ้นในฟุตบอลโลก 1970 ที่ประเทศเม็กซิโก ซึ่งเขาก็ยังคงเป็นหัวหน้าคณะกรรมการผู้ตัดสินตามเดิม

และ ใบเหลือง-แดง ก็ได้กลายเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่อยู่คู่วงการฟุตบอลนับแต่นั้นเป็นต้นมา ...

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook