"ติโม โคเนียซก้า" : เจ้าของประตูแรกในบุนเดสลีกาผู้ขอจบชีวิตด้วย "การุณยฆาต"

"ติโม โคเนียซก้า" : เจ้าของประตูแรกในบุนเดสลีกาผู้ขอจบชีวิตด้วย "การุณยฆาต"

"ติโม โคเนียซก้า" : เจ้าของประตูแรกในบุนเดสลีกาผู้ขอจบชีวิตด้วย "การุณยฆาต"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กลายเป็นข่าวทำให้โลกสังคมออนไลน์สนใจเป็นอย่างมากทันที เมื่อมีชายไทยคนหนึ่งโพสต์ในเฟซบุ๊กว่า ตัวเขาตัดสินใจทำ “การุณยฆาต” หรือให้แพทย์จบชีวิตตนอย่างสงบไปแล้วเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2019 ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

อันที่จริง การุณยฆาต หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า Euthanasia กับ Mercy Killing นั้นมี 2 วิธี คือ Passive Euthanasia คือการปล่อยให้ผู้ป่วยตายอย่างสงบ ไม่ยื้อให้มีชีวิตอยู่ต่อไปในกรณีที่เข้าสู่ภาวะโคม่า ซึ่งวิธีนี้แพทย์ไทยสามารถทำได้โดยมีกฎหมายตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติรับรอง

 

ทว่าอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งก็คือ Active Euthanasia หรือ การช่วยให้ผู้ป่วยตายอย่างสงบ ซึ่งแพทย์จะให้ยาเพื่อจบชีวิตของผู้ป่วยตามคำขอร้องในกรณีที่เป็นโรคซึ่งไม่มีทางรักษาหายนั้น ถือเป็นสิ่งที่ยังไม่ถูกต้องตามกฎหมายของไทย โดยขณะนี้มีเพียงประเทศเนเธอร์แลนด์, เบลเยียม, โคลอมเบีย, ลักเซมเบิร์ก, แคนาดา, เยอรมนี และ สวิตเซอร์แลนด์ รวมถึงในบางรัฐของสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่สามารถทำได้อย่างถูกกฎหมาย

ข้อมูลของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ระบุว่า ในแต่ละปี มีผู้ที่เข้าทำการุณยฆาตอยู่ที่ราว 1,000 คน ซึ่งชายไทยที่เพิ่งปิดฉากชีวิตตัวเองไปเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2019 ก็ถือเป็นหนึ่งในนั้น ขณะที่วงการกีฬาเอง ก็มีชายคนหนึ่งที่ตัดสินใจทำการุณยฆาตเช่นกัน

และชายผู้นี้ ถือเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ของศึกบุนเดสลีกา ลีกสูงสุดของเยอรมนีที่แฟนบอลหลายคนอาจไม่เคยทราบมาก่อน

จากเหมืองสู่สนาม

ฟรีดไฮม์ โคเนียซก้า ลืมตาดูโลกในปี 1938 ช่วงที่ประเทศเยอรมนีกำลังเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งถือเป็นโชคของเขาด้วยเช่นกันที่สามารถเอาชีวิตรอดจากสงครามมาได้ในวัยเด็ก และเนื่องจากบ้านเกิดของเขาอยู่ที่เมืองลูเนน ทางตอนเหนือของเมืองดอร์ทมุนด์ จึงไม่แปลกที่เขาจะมีช่วงชีวิตในสมัยวัยรุ่นกับการเป็นคนงานในโรงงานเหมืองถ่านหิน อุตสาหกรรมประจำแคว้นรูห์

 1

อย่างไรก็ตาม ฟุตบอล คืออีกสิ่งที่โคเนียซก้าหลงรักและทำได้ดี เจ้าตัวเริ่มต้นเส้นทางค้าแข่งกับ ลูเนน ทีมในบ้านเกิด จนกระทั่ง มักซ์ เมอร์เคิ่ล ผู้จัดการทีม โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ไปเห็นฟอร์มและคว้ามาร่วมทีมในปี 1958 และเขาก็ได้กลายเป็นกำลังสำคัญของทีมเสือเหลืองนับแต่นั้น ในฐานะดาวยิงคนสำคัญของทีม

โคเนียซก้ามีส่วนอย่างยิ่งในการช่วยให้ดอร์ทมุนด์คว้าแชมป์ฟุตบอลเยอรมันตะวันตกในปี 1963 ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นการแข่งขันในระบบทัวร์นาเมนต์ที่เอาทีมแชมป์กับรองแชมป์ของแต่ละภูมิภาคมาพบกัน โดยนัดชิงชนะเลิศทีมเสือเหลืองสามารถเอาชนะ โคโลญจน์ ไปได้

แต่หลังจากที่ฟุตบอลชิงแชมป์เยอรมันตะวันตกปี 1963 สิ้นสุดลง วงการฟุตบอลแดนอินทรีเหล็กก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เมื่อมีการรวมการแข่งขันลีกในระดับภูมิภาคเข้าด้วยกันเป็นลีกแห่งชาติ

ซึ่งพวกเขาเรียกมันในชื่อ… บุนเดสลีกา

ประตูแรกแห่งบุนเดสลีกา

24 สิงหาคม 1963 ฟุตบอลลีกสูงสุดของเยอรมนีรูปแบบใหม่เปิดฉากการแข่งขันฤดูกาลแรกอย่างเป็นทางการ โดย โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ มีโปรแกรมต้องออกไปเยือน แวร์เดอร์ เบรเมน ในเกมเปิดสนาม

และแค่เพียงนาทีแรกของการแข่งขัน เสียงเชียร์ใน เวเซอร์ สตาดิโอน ก็ถึงกับเงียบกริบ เมื่อทีมเยือนในชุดสีเหลือง-ดำ สามารถทำประตูขึ้นนำไปได้ก่อน… ฟรีดไฮม์ โคเนียซก้า คือผู้ยิงประตูดังกล่าว

 2

แม้จบเกมจะเป็นเบรเมนเจ้าบ้านที่เฉือนชนะไป 3-2 แต่ประตูนั้นได้ทำให้โคเนียซก้าถูกจารึกชื่อในประวัติศาสตร์ของบุนเดสลีกากับฐานะ “เจ้าของประตูแรก” อย่างที่ไม่มีใครลบล้างไปได้ แม้จะน่าเสียดายอยู่บ้างตรงที่ไม่มีใครสามารถบันทึกภาพประตูดังกล่าวได้เลย ไม่ว่าจะเป็นภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหว

เขาอยู่กับทีมเสือเหลืองจนถึงปี 1965 และสามารถคว้าแชมป์เดเอฟเบ โพคาล ได้ในฤดูกาลสุดท้ายที่อยู่กับทีม ก่อนจะย้ายไปอยู่กับ 1860 มิวนิค ถึงปี 1967 โดยช่วยให้ทีมคว้าแชมป์บุนเดสลีกาได้ตั้งแต่ฤดูกาลแรกที่ย้ายมา

 3

ซึ่งช่วงที่อยู่ทีมสิงโตมิวนิคนี้เอง เขาถูก เฮลมุต บราคช์ ตั้งชื่อให้ว่า "ติโม" สาเหตุเนื่องมาจากหน้าตาและทรงผมของเขาดันไปคล้ายกับ เซมยอน ติโมเชนโก้ นายทหารระดับสูงของกองทัพสหภาพโซเวียต ซึ่งเจ้าตัวถูกใจชื่อดังกล่าวเสียจนทำการเปลี่ยนชื่อจริงจาก "ฟรีดไฮม์" เป็น "ติโม" ในเวลาต่อมา

แม้สถิติการทำประตูของโคเนียซก้าจะเป็นที่ประจักษ์ กับการติดชาร์ทดาวซัลโวของบุนเดสลีกาได้อย่างต่อเนื่อง ทว่า เซ็ปป์ แฮร์แบร์เกอร์ บุนเดสเทรนเนอร์ในยุค 1960 กลับมองว่า ดาวยิงคนนี้มีฟอร์มการเล่นที่ไม่สม่ำเสมอหากเทียบกับ แกร์ด มุลเลอร์ "แดร์ บอมเบอร์" แห่ง บาเยิร์น มิวนิค ด้วยเหตุดังกล่าวจึงทำให้เขามีสถิติการติดทีมชาติที่น้อยมาก โดยได้รับโอกาสสวมเสื้ออินทรีเหล็กลงสนามให้ทีมชาติเยอรมันตะวันตกเพียง 9 นัดเท่านั้นในช่วงปี 1962-65 และยิงได้ 3 ประตู

บั้นปลายที่ขอเลือกเอง

นอกจากฟอร์มการเล่นที่ถูกมองว่าไม่คงเส้นคงวาแล้ว ติโม โคเนียซก้า ยังมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์อื้อฉาวครั้งสำคัญซึ่งส่งผลกระทบต่ออนาคตการค้าแข้งในบ้านเกิดในที่สุด

 4

เดือนตุลาคม 1966 ต้นสังกัดของเขาในขณะนั้นอย่าง 1860 มิวนิค มีโปรแกรมต้องเจอกับ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ทีมเก่า จังหวะหนึ่งของเกม ซิกกิ เฮลด์ ผู้เล่นทีมเสือเหลืองทำแฮนด์บอล แต่ผู้ตัดสินไม่เป่าฟาวล์ ด้วยความฉุนเฉียว โคเนียซก้าบันดาลโทสะทำร้ายร่างกายผู้ตัดสิน บุนเดสลีกาสั่งแบนเขา 6 เดือนทันที ซึ่งยังเป็นสถิติการลงโทษนักเตะนานสุดตลอดกาลของเยอรมนีมาจนถึงทุกวันนี้

เรื่องดังกล่าวกลายเป็นที่ถกเถียงอย่างหนักในวงการฟุตบอลอินทรีเหล็ก ขณะที่โคเนียซก้าผู้มองว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม ตัดสินใจมองหาโอกาสใหม่ ด้วยการย้ายไปค้าแข้งที่สวิตเซอร์แลนด์กับ วินเตอร์ธูร์ จนถึงวันแขวนสตั๊ดในปี 1971 ก่อนจะเปลี่ยนเส้นทางสู่การเป็นผู้จัดการทีมในทันที ซึ่งผลงานที่ประสบความสำเร็จที่สุดของเขา คือการนำ เอฟซี ซูริค คว้าแชมป์ลีกสวิส 3 ปีติดต่อกันระหว่างปี 1974-76

และแม้จะมีช่วงเวลาที่กลับไปคุมทีมในเยอรมนีอยู่บ้าง แต่ สวิตเซอร์แลนด์ ได้กลายเป็นบ้านหลังที่สองของเขาไปเสียแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่โคเนียซก้าจะทำเรื่องขอเปลี่ยนมาถือสัญชาติสวิส และได้สัญชาติสมปรารถนาเมื่อปี 1988

 5

อย่างไรก็ตาม โคเนียซก้ากลับต้องเจอกับการต่อสู้ครั้งใหญ่ของชีวิตในวัยชรา เมื่อเขาป่วยเป็นโรคมะเร็ง ซึ่งคร่าชีวิตของคนสำคัญในครอบครัวมาหลายราย… มีหลายเรื่องเข้ามาในหัวของเขาให้ต้องคิด จนในที่สุดก็ตัดสินใจในเรื่องหนึ่งอย่างเด็ดขาดได้

“ตลอดชีวิตที่ผ่านมา ผมเห็นผู้คนมากมายจากไปอย่างไม่มีวันกลับทั้งในสมัยสงครามโลกและหลังจากนั้น พี่สาวผมตายจากโรคมะเร็ง น้องชายผมตายจากมะเร็งที่กระดูก ส่วนแม่ของผมตอนนี้ก็อยู่ในบ้านพักคนชรา และจำผมไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ผมว่าจากนี้ไปคงไม่มีอะไรต้องห่วงอีกแล้วล่ะ”

 6

โคเนียซก้าเชื่อมั่นอย่างสุดหัวใจว่า “การุณยฆาต” จะทำให้เขาจากโลกนี้ไปอย่างสงบและไม่ต้องทรมานอย่างที่คนใกล้ตัวของเขาต้องประสบ การเปิดใจผ่านโทรทัศน์เมื่อปี 2010 คือสิ่งที่ยืนยันว่าเขาวางแผนที่จะจบชีวิตตัวเองไว้อย่างดีแล้ว โดยที่ คลอเดีย ภรรยาของเขาก็ยอมรับในสิ่งนี้

และเมื่ออาการโรคมะเร็งที่เป็นอยู่ไม่มีทางที่จะหายขาดได้ ที่สุดแล้ว ติโม โคเนียซก้า ก็ตัดสินใจให้ Exit International องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ให้ความช่วยเหลือผู้ที่ต้องการทำการุณยฆาต ปิดฉากชีวิตในวันที่ 12 มีนาคม 2012 ที่เมืองบรุนเนนของสวิตเซอร์แลนด์ ขณะอายุได้ 73 ปี

ไรน์ฮาร์ด ราวบอล ประธานของบุนเดสลีกาในขณะนั้นยกย่องโคเนียซก้าว่า “แม้จะไม่มีภาพบันทึกไว้ แต่ด้วยประตูแรกในประวัติศาสตร์ของบุนเดสลีกา เขาจะยังเป็นที่จดจำของแฟนฟุตบอลในเยอรมนีตลอดไป”

 7

ขณะที่โคเนียซก้า ได้ลงแถลงการณ์ผ่านทางหนังสือพิมพ์ของสวิตเซอร์แลนด์เป็นการอำลาว่า “ผมขอขอบคุณองค์กร Exit ที่ช่วยให้ผมได้หลุดพ้นจากความทรมานนี้เสียที และผมขอยืนยันว่า ผมมีความสุขมากที่ได้จากไปอย่างที่ไม่ต้องทรมานในวาระสุดท้าย”

“ชีวิตของผมถือว่ายืนยาวมากเกินพอแล้ว แต่สำหรับบางคนมันก็สั้นเหลือเกิน ดังนั้น ขอให้ทุกคนใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและดีที่สุดเถิด” นี่คือคำสั่งเสียสุดท้ายที่ ติโม โคเนียซก้า ฝากไว้ให้อนุชนคนรุ่นหลัง

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ "ติโม โคเนียซก้า" : เจ้าของประตูแรกในบุนเดสลีกาผู้ขอจบชีวิตด้วย "การุณยฆาต"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook