โธมัส และ กัส : ชายตาบอดกับเพื่อนซี้ 4 ขา ตำนาน "นิวยอร์ค ฮาล์ฟ มาราธอน"

โธมัส และ กัส : ชายตาบอดกับเพื่อนซี้ 4 ขา ตำนาน "นิวยอร์ค ฮาล์ฟ มาราธอน"

โธมัส และ กัส : ชายตาบอดกับเพื่อนซี้ 4 ขา ตำนาน "นิวยอร์ค ฮาล์ฟ มาราธอน"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ว่ากันว่าสิ่งที่แย่กว่าการไม่มีคือการ "เคยมี" แต่สิ่งของใดๆ ก็ตามสามารถหาซื้อและเปลี่ยนได้... ยกเว้นร่างกาย ที่ถึงเปลี่ยนได้ก็ไม่เหมือนของเดิม

2 ประโยคข้างต้นคือเรื่องทีเกิดขึ้นในชีวิตของ โธมัส พาเน็ก ชายชาวโปแลนด์ผู้เคยมีร่างกายที่แข็งแกร่ง และในอดีตเขาคือเด็กหนุ่มนักกีฬาระดับมหาวิทยาลัย ทว่าวันหนึ่ง ตาทั้งสองข้างของเขาเกิดบอดสนิทไม่เห็นแม้แต่แสงที่เล็ดลอดออกมา จึงทำให้เขาต้องสู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อกลับมาทำสิ่งเดิมๆให้ได้อีกครั้ง

 

"สุดยอดมากกัส! เด็กดี เด็กดี แกทำดีมาก" เสียงของเขาส่งไปหาเพื่อนซี้ที่เข้ามาเติมเต็มชีวิต และเจ้ากัสนี่เองที่ทำให้เขาก้าวข้ามสิ่งที่เขาไม่เคยคิดว่าจะทำได้

นี่คือเรื่องราวของ "เดอะ พาร์ทเนอร์" ระหว่างชายตาบอดที่ต้องการจะเปลี่ยนโลก กับสุนัขไม่กี่ตัวบนโลกที่มีคุณสมบัตินำทางในการวิ่ง ณ ตอนนี้เรื่องราวของฮีโร่ 1 คนกับ 3 ตัว ที่มี 6 ตาและ 14 ขา กับ ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการวิ่งได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว

แนวหน้าคนตาบอด

โธมัส พาเน็ก ไม่ได้ตาบอดตั้งแต่เกิด ทว่ามันก็แทบไม่ต่างกันเพราะสายตาของเขาเริ่มมีปัญหาตั้งแต่ 5 ขวบ และในสมัยที่เขาเรียนมหาวิทยาลัย มันเริ่มส่งผลขึ้นเรื่อยๆ จนเขาต้องเข้าพบแพทย์อีกครั้งเพื่อทำให้รู้แน่ว่ามันกำจะเกิดอะไรขึ้นกับดวงตาของเขา

 1

"สายตาของคุณจะค่อยสูญเสียวิสัยทัศน์ และในที่สุดมันจะบอดสนิทตอนคุณอายุ 40 ปี" โธมัส เล่าถึงความหลัง แต่ความจริงสายตาของเขาบอดสนิทก่อนเวลาที่คุณหมอกำหนดเอาไว้เสียอีก

ตอนนั้นเขาเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัย เดอพอล และได้ฝึกงานที่ Chicago Board of Trade ที่เป็นสำนักงานหุ้น แม้จะมีฝีมือแค่ไหนแต่สายตาก็ไม่เอื้ออำนวย เขาพบว่าตัวเองมองไม่เห็นตัวเลขบนกระดานซื้อขาย เขาจึงได้รู้ว่านี่ไม่ใช่เส้นทางที่เหมาะสมกับเขาแล้ว โธมัส จึงลาออกทันทีและทำในสิ่งที่ตัวเขาสามารถทำได้ และมันยังสามารถช่วยคนอื่นได้ด้วยนั่นคือการเข้าร่วม Project Able หรือการผลิตซอฟต์แวร์สำหรับผู้พิการทางสายตากับบริษัท IBM

ด้วยงานที่ทำทำให้ โธมัส เป็นคนตาบอดคนแรกๆ ที่เอาเทคโนโลยีมาใช้ในชีวิตประจำวัน และด้วยการที่เคยเป็นนักวิ่งมาก่อนทำให้เขาได้ลองใช้ GPS เพื่อค้นหาเส้นทางตั้งแต่ 20 กว่าปีก่อน จนกระทั่งเมื่อสายตาบอดสนิทแล้วเขาจึงทำได้แค่วิ่งบนลู่เท่านั้น ครั้นจะคิดถึงการวิ่งระยะไกลเขาก็จำเป็นที่จะต้องหาอาสาสมัครที่คอยวิ่งบอกทางให้กับเขา ซึ่งการหาอาสาสมัครนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

ในขณะนั้น IBM กำลังคิดค้นเทคโนโลยีที่จะช่วยฝึกให้ลูกสุนัขเติบโตกลายเป็นสุนัขนำทางที่ยอดเยี่ยมและสมบูรณ์สำหรับผู้สูญเสียการมองเห็นทางสายตามากที่สุด ทว่าการจะฝึกสุนัขให้เป็นผู้นำทางที่ดีนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

จากข้อมูลของ Guiding Eyes for the Blind องค์กรการกุศลที่รับฝึกสอนสุนัขให้เป็นผู้นำทางระบุว่า มีสุนัขถูกฝึกเพื่อเป็นผู้นำทางถึงปีละ 500 ตัว ทว่ามีเพียง 150 ตัวเท่านั้นที่สามารถผ่านการทดสอบและพิสูจน์แล้วว่าเหมาะกับการเป็นผู้นำทาง ซึ่ง โธมัส เองเข้าใจเรื่องนี้ดีกว่าใคร เขาต้องการเพิ่มขีดจำกัดให้ได้มากกว่านี้เพื่อคนตาบอดที่รอโอกาสอยู่ทั่วโลก

"การฝึกสุนัขนำทางสำหรับการวิ่งคือความท้าทายที่เราเผชิญ เราจำเป็นต้องเพิ่มขีดความสามารถของเราขึ้นไปอีก" โธมัส ว่าไว้เมื่อหลายปีก่อน ก่อนที่เขาจะเจอกับ กัส ลูกสุนัขพันธ์ลาบาดอร์ที่ต่างฝ่ายต่างเป็นเหมือนพรหมลิขิตของกันและกัน

 2

โธมัส นั้นเข้าใจหัวอกหัวใจของคนตาบอดเป็นอย่างดี เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะลุกขึ้นมาสู้กับโลกแห่งความจริงเหมือนกับเขาได้ หลายคนเลือกที่จะเก็บตัวและอยู่ในโลกของตัวเองจนไม่มีกิจกรรมร่วมกับสังคม ซึ่งนั่นทำให้สภาพจิตใจมีแต่ย่ำแย่ลง โธมัส ต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่าจงอย่าให้ความผิดปกติในร่างกายเหนี่ยวรั้งพวกเขาไว้กับเก้าอี้จนไม่กล้าออกมาเจอกับโลกแห่งความจริง และสิ่งที่จะเป็นข้อพิสูจน์ได้ดีที่สุดคือตัวเขาเองต้องลงแข่งขันการวิ่งระยะไกลให้โลกได้รู้ว่าคนตาบอดสามารถทำอะไรได้

ตัวของโธมัส นั้นเคยผ่านการวิ่งมาราธอนมาแล้วมากกว่า 10 รายการ ทว่าในรายการเหล่านั้น เขามีผู้นำทางเป็นมนุษย์ที่สมัครมาเป็นอาสาสมัครนำทาง ซึ่งเขารู้สึกไม่ค่อยสบายใจนักเพราะต้องทิ้งเจ้ากัสไว้อยู่ที่บ้าน เขาคิดว่ามันคงจะดีหากทั้งคู่ได้เกื้อหนุนกันและกันจนสามารถสร้างประวัติศาสตร์ได้ "ไม่มีเหตุผลเลยที่จะออกจากบ้านตัวคนเดียว โดยทิ้งสุนัขไว้ที่บ้าน ทั้งๆ ที่พวกมันก็รักในการวิ่งไม่ต่างกันกับเรา" เขาว่าไว้เช่นนั้น

เขาเริ่มคิดก็ต้องมาสะดุดที่ขั้นตอนแรก บนโลกนี้มีสุนัขนำทางมากมาย ทว่าไม่มีสุนัขตัวไหนที่ฝึกมาเพื่อวิธีที่พิเศษและแปลกใหม่ พวกมันสามารถเดินนำทางแบบช้าๆ ได้ แต่สำหรับการวิ่งระยะไกล ไม่เคยมีใครฝึกได้ ดังนั้นเขาจะทำมันเองเพื่อเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ โดยที่เจ้า "กัส" จะต้องเป็นคีย์แมนในการสร้างประวัติศาสตร์ครั้งนี้

"ผมอยากจะเน้นย้ำให้ทุกคนเข้าใจเลยว่าการวิ่งนั้นไม่มีข้อจำกัดใดๆ รั้งคุณได้แม้แต่เรื่องของสมรรถภาพทางร่างกาย คุณสามารถฟิตร่างกายให้เป็นนักวิ่งมาราธอนได้ด้วยการช่วยเหลือของเจ้า 4 ขาข้างกายของคุณนั่นแหละ"

เรามาสร้างประวัติศาสตร์กันเถอะ

เช้าวันหนึ่งของเดือนเมษายนปี 2014 โธมัส กำลังนั่งกินอาหารเช้าที่ร้านประจำ เขาก็ได้พบกับเพื่อนของเขาเข้ามาบอกข่าวคราวความเคลื่อนไหวตามประสาสภากาแฟทั่วไป เพียงแต่วันนี้มันมีเรื่องที่เกี่ยวกับเขาโดยตรง

 3

"เออนี่ เห็นนายเคยพูดถึงเรื่องการเอาหมามาวิ่งด้วย ทำไมนายกับ กัส ไม่ลองดูหน่อยล่ะ?" เพื่อนนักวิ่งที่เคยเป็นนักวิ่งนำทางของโธมัสในอดีตกล่าว

มันเป็นคำเชิญชวนในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะหลังจากนั้นไม่นาน โธมัส ก็ได้ก้าวขึ้นมาเป็นประธานของ  Guiding Eyes for the Blind ดังนั้นหากเขาพิสูจน์ได้ว่า สุนัขสามารถนำทางให้คนตาบอดอย่างเขาลงแข่งขันวิ่งได้อย่างปลอดภัยแล้วล่ะก็ โลกนี้จะเปลี่ยนไป คนตาบอดทั่วโลกจะกล้าคิดกล้าทำในสิ่งที่พวกเขาไม่เคยคิดว่าตัวเองจะทำได้

"นี่แหละของจริง ถ้าคนตาบอดคนอื่นๆ กำลังสงสัยกับเรื่องนี้ เดี๋ยวผมจะพิสูจน์ตัวเองให้ดูเองว่ามันปลอดภัยแค่ไหน" กัส ตัดสินใจรับความท้าทายที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงระดับประวัติศาสตร์

ด้วยแรงขับดันในตัวของเขา รวมถึงคนรอบข้างอย่าง ริชาร์ด ฮันเตอร์ อดีตนาวิกโยธินสหรัฐฯ ซึ่งพิการทางสายตา และมีความฝันอยากกลับไปลงแข่งวิ่ง ซึ่งเสนอแนะแนวคิดดังกล่าว ที่สุดแล้ว โธมัสก็ตัดสินใจก่อตั้งโครงการ Running Guides เพื่อฝึกสุนัขให้สามารถนำทางในการวิ่งระยะไกลได้

หลังจากใช้เวลาฝึกมาอย่างยาวนาน ในที่สุดผลลัพธ์จากความพยายามก็ออกผล เมื่อมีสุนัขถึงมากกว่า 20 ตัวที่ผ่านหลักสูตรการเป็นสุนัขนำวิ่ง ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่า กัส จะเป็นหนึ่งในดาวเด่น

โธมัส กับกัสออกวิ่งเหยาะๆ ทุกเช้าใน เซนทรัล พาร์ค วันละ 6 ไมล์ หรือ 9.6 กิโลเมตร จนเกิดความเชี่ยวชาญ โดยวางตำแหน่งให้กัสเป็นผู้รักษา Pace (ระยะเวลาที่ใช้ต่อการวิ่ง 1 กิโลเมตร) ซึ่งกว่าจะหาจุดลงตัวให้ 1 คนกับ 1 ตัวเข้าขารู้ใจกันได้ไม่ใช่เรื่องง่าย กัส ต้องถูกฝึกให้วิ่งช้าลงกว่าสัญชาติญาณของสุนัขทั่วไป และถูกฝึกฝนให้หลีกเลี่ยงอุปสรรคที่ขวางอยู่ต่างๆ รวมถึงการชลอความเร็วในพื้นที่ที่คับแคบ

"กัสจะเป็นคนกำหนด Pace ในการวิ่ง ส่วนผมจะต้องทำตัวเป็นผู้ตามที่ดี" โธมัส หัวเราะเมื่ออธิบายถึงความสัมพันธ์ของเขาและเจ้าสี่ขาคู่ใจ

 4

การฝึกของ โธมัส ทำให้ กัส รู้และเข้าใจว่าไม่ได้มีมันเพียงคนเดียวที่กำลังวิ่งอยู่ และนี่ก็ไม่ใช่การวิ่งเล่นเหมือนปกติ มันจะต้องเป็นเหมือนดวงตาของโธมัส และที่สุดแล้วมันจะออกวิ่งเฉพาะสถานการณ์ที่มันมั่นใจว่าข้างหน้าไม่มีอันตรายเท่านั้น ขณะที่ โธมัส จะใช้คำพูดง่ายๆ ในการสั่งการไปยังกัส และเขาก็ไม่ลืมที่จะชื่นชมมันในช่วงที่มันพาเขาหลบหลุมหรือสิ่งกีดขวางใดๆ "ทำได้ดีมากกัส เด็กดี" นี่คือประโยคที่เขาพูดประจำเมื่อต้องออกวิ่งร่วมกัน

แม้เจ้ากัส และผองเพื่อนจะผ่านหลักสูตรสุนัขนำวิ่งจากองค์กรของโธมัสแล้ว แต่ก็ยังมีอุปสรรคสำคัญอีกประการขวางอยู่ ยังไม่มีการแข่งขันรายการใดที่อนุญาตให้มีสุนัขวิ่งนำทางนักกีฬามาก่อน กระทั่งปี 2017 นิวยอร์ก โรด รันเนอร์ส องค์กรที่ควบคุมดูแลการแข่งขันวิ่งภายในมหานครนิวยอร์ก อนุญาตให้ผู้เข้าแข่งขันสามารถใช้สุนัขในการนำทางวิ่งได้ โธมัส และ กัส จึงได้ลงแข่งวิ่งด้วยกันเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2017 ในรายการ โปแลนด์ สปริง มาราธอน คิกออฟ ซึ่งเป็นการแข่งขันวิ่งระยะทาง 5 ไมล์ที่จัดขึ้นภายใน เซ็นทรัล พาร์ค

เมื่อก้าวแรกในสนามเล็กผ่านพ้นไปด้วยดี โธมัส ก็คิดที่จะเดินหน้าวิ่งให้ไกลขึ้น … โธมัส ตัดสินใจที่จะใช้รายการ นิวยอร์ก ฮาล์ฟ มาราธอน ระยะทาง 13.1 ไมล์ หรือ 21 กิโลเมตร เป็นเป้าหมายใหม่ แต่ด้วยระยะทางที่มากขึ้น มันก็ต้องมาพร้อมกับการเตรียมตัวที่มากขึ้นกว่าเดิมสำหรับตัวสุนัขด้วยเช่นกัน ซึ่งกว่าที่จะพร้อมลงแข่งจริง ก็ปาเข้าไปถึงเดือนมีนาคม 2019 เลยทีเดียว

นิวยอร์ค ฮาล์ฟ มาราธอน

แม้จะเคยวิ่งมาราธอนมาด้วยกันแล้ว แต่ครั้งนี้โธมัส ต้องยอมลดศักยภาพ "คู่หู" อย่างเจ้ากัสลง เพราะถึงแม้มันจะรักการวิ่งแค่ไหน แต่สุนัขไม่สามารถวิ่งในอุณภูมิที่สูงในระยะยาวๆ ได้เนื่องจากร่างกายมันไม่สามารถระบายความร้อนได้ดีเท่ากับร่างกายของมนุษย์ ดังนั้นสัตวแพทย์จึงวางขีดจำกัดให้สุนัขวิ่งระยะไกลได้มากที่สุดเพียงแค่ 6 ไมล์เท่านั้น เท่านั้น นั่นจึงต้องทำให้สุนัขอีก 2 ตัวในศูนย์ฝึกของเขาอย่างเจ้า เวสลี่ย์ และ วาฟเฟิล ต้องออกโรงเป็นทีมเดียวกันด้วย

 5

ฝ่ายผู้จัดนิวยอร์ค ฮาล์ฟ มาราธอน เตรียมการมาเป็นอย่างดี และพร้อมที่จะช่วยเหลือ โธมัส กับแก๊งนักวิ่ง 4 ขาของเขา เพื่อทำให้นิวยอร์ค ฮาล์ฟ มาราธอน เป็นรายการวิ่งครั้งแรกในโลกที่มีผู้เข้าแข่งขันที่ไม่ใช่มนุษย์

"เราจะทำให้โธมัสและทีมของเขาวิ่งให้ได้อย่างปลอดภัย เพื่อความมั่นใจเราจะมีผู้ติดตามคอยปั่นจักรยานตามไปด้วยเผื่อกรณีที่เกิดปัญหา (แต่ไม่ได้ช่วยเหลือในการวิ่ง) มิสเตอร์ พาเน็ก จะเริ่มต้นที่ท้ายแถวในการออกตัว และเขาจะใส่เสื้อ BiB เพื่อแสดงให้ทุกคนรู้ว่าเขาคือผู้เข้าแข่งขันที่มีส่วนร่วมอย่างเป็นทางการ"

ผลัดแรกเป็นของ เวสลี่ย์ ที่พา โธมัส เริ่มออกตัวจากจุดสตาร์ท ก่อนที่ วาฟเฟิล จะเข้ามารับช่วงต่อหลังผ่านไปเกือบครึ่งทาง และแน่นอนว่า กัส ผู้เคียงบ่าเคียงไหล่เจ้านายมาตลอดการซ้อมหลายร้อยกิโลเมตรตลอดอาชีพนักนำทาง จะเข้ามารับไม้ผลัดสุดท้ายเพื่อพา โธมัส วิ่งเข้าเส้นชัยและเป็นประวัติศาสตร์ของวงการวิ่งด้วยกัน

 6

"ตอนที่ผมสูญเสียการมองเห็นผมกลัวที่จะต้องวิ่ง แม้ว่าจะมีคนมากมายที่เป็นอาสาสมัครในการวิ่งนำทาง แต่เมื่อคุณผูกติดกับคนอื่นนั่นไม่ใช่การแข่งขันของคุณอีกต่อไป คุณจะไม่มีอิสระในการแข่งขันเลย"  โธมัส กล่าวหลังวิ่งเข้าเส้นชัย โดยใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมงกับอีก 21 นาทีเท่านั้น นอกจากนี้เขายังกลายเป็นนักวิ่งตาบอดคนแรกที่สามารถเข้าเส้นชัยได้ด้วยการมีสุนัขเป็นผู้นำทางอีกด้วย

"เจ้ากัสนี่แหละที่สนับสนุนผมเป็นอย่างดีมาตลอด มันไม่ใช่สุนัขแต่มันคือคู่หูของผมเลยล่ะ" โธมัส กล่าวทิ้งท้าย เพราะหลังจากเข้าเส้นชัยรายการนี้ กัส เพื่อนคู่หูคู่ยากก็ถึงคราวต้องเกษียณตัวเองจากการเป็นสุนัขนำวิ่งจากอายุที่มากขึ้น และส่งไม้ให้สุนัขที่หนุ่มกว่าลงวิ่งในภายภภาคหน้า

โลกยุคใหม่ที่ว่ากันด้วยเรื่องสิทธิและควาเสมอภาคทางสังคม ผู้พิการจะต้องไม่ถูกเลือกปฎิบัติและต้องมีบทบาทในสังคมมากกว่าที่เป็นอยู่ "ไม่ต้องสงสารแต่ขอให้ส่งเสริม" คือแนวทางที่จะทำให้พวกเขารู้สึกว่าตนเองไม่ต่างกับคนอื่นเลย  โธมัส และ กัส แอนด์ เดอะ แก๊ง คือก้าวแรกที่พิสูจน์ให้เห็นถึงสิ่งนี้

 7

ในอนาคตโลกใบนี้จะเปลี่ยนไปและเหนือสิ่งอื่นใดเรื่องราวของพวกเขา 1 คนกับอีก 3 ตัว จะกลายเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ของผู้พิการทางสายตาทั้งโลกได้รู้ว่าทัศนคติที่ดี จะทำให้พวกเขาก้าวข้ามอุปสรรคทีเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ โธมัส และ กัส : ชายตาบอดกับเพื่อนซี้ 4 ขา ตำนาน "นิวยอร์ค ฮาล์ฟ มาราธอน"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook