ไม่ต้องคว้าแชมป์ก็กำไร : เปิดโมเดลทางธุรกิจของอาหยักซ์ที่รวยได้แม้ไร้ถ้วย

ไม่ต้องคว้าแชมป์ก็กำไร : เปิดโมเดลทางธุรกิจของอาหยักซ์ที่รวยได้แม้ไร้ถ้วย

ไม่ต้องคว้าแชมป์ก็กำไร : เปิดโมเดลทางธุรกิจของอาหยักซ์ที่รวยได้แม้ไร้ถ้วย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในวงการกีฬา ไม่ว่าจะเป็นกีฬาชนิดใด ความสำเร็จในรูปของการเป็นแชมป์ถือเป็นสิ่งที่ทุกคน ทุกสโมสรต่างถวิลหา จนหลายคนงัดเอาจำนวนถ้วยที่ได้มาข่มกัน

แต่ในโลกของธุรกิจ บางครั้งชัยชนะก็ไม่สามารถตัดสินอะไรได้ทุกอย่าง เพราะยังมีหลายสิ่งที่ซับซ้อนและสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย

อาหยักซ์ อัมสเตอร์ดัม อาจจะเป็นสโมสรที่ร้างราจากความสำเร็จไปนาน เมื่อถ้วยแชมป์ใบล่าสุดของทีมต้องย้อนกลับไปถึงปี 2014 ขณะที่ความสำเร็จในฐานะทีมที่เก่งที่สุดของทวีปยุโรป ห่างหายจากพวกเขาไปกว่า 2 ทศวรรษ

ถึงกระนั้น ทีมดังจากเมืองหลวงของฮอลแลนด์ ก็ยังสามารถยืนหยัดสู้เสือสิงห์กระทิงแรดจากทั้งทวีปได้ แถมผลประกอบการของพวกเขายังเป็นตัวเลขสีเขียว ซึ่งหมายความถึงกำไร

อาหยักซ์ทำได้อย่างไร? ติดตามได้ที่นี่

ยักษ์ใหญ่จำศีล
อาหยักซ์ อัมสเตอร์ดัม ถือเป็นหนึ่งในทีมซึ่งแฟนลูกหนังรุ่นเก๋าๆ หน่อยน่าจะจดจำได้เป็นอย่างดีจากผลงานความสำเร็จในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการคว้าแชมป์ ยูโรเปี้ยน คัพ 3 สมัยในยุคที่มี โยฮัน ครัฟฟ์ นำทัพ หรือแชมป์ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ปี 1995 กับขุนพลวัยหนุ่มภายใต้การบัญชาของ หลุยส์ ฟาน กัล ทว่าในปัจจุบัน ดูเหมือนพวกเขาจะหลับไหลด้านความสำเร็จในสนามไปนานพอตัว


Photo : kudtkoekiewet.nl

เพราะนับจากแชมป์ เอเรดิวิซี่ ลีกสูงสุดฮอลแลนด์เมื่อปี 2014 อาหยักซ์ก็ไม่สามารถคว้าแชมป์ใดๆ มาครองได้อีกเลยจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลาเกือบ 5 ปี และหากจำเพาะเจาะจงเฉพาะฟุตบอลสโมสรยุโรป ณ ตรงนี้ก็ปาเข้าไปกว่า 2 ทศวรรษแล้วที่พวกเขาไม่ได้แชมป์

ทว่าหากมาดูในเรื่องการเงิน ดูเหมือนพวกเขาจะประสบความสำเร็จไม่น้อย โดยข้อมูลจาก Morningstar บริษัทการเงินระดับโลกพบว่า อาหยักซ์ มีรายได้เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 100 ล้านยูโรในทุกปี เช่นเดียวกับบัญชีที่ขึ้นตัวเลขสีเขียวซึ่งสื่อถึงการมีกำไรมาโดยตลอดเฉลี่ยปีละ 20 ล้านยูโร อาจจะมีบ้างบางปีที่ขาดทุน แต่ก็เป็นตัวเลขที่น้อยเอามากๆ

พูดง่ายๆ ก็คือ การขาดหายไปซึ่งถ้วยรางวัล ไม่ได้ทำให้การเงินของสโมสรฝืดเคืองเลยแม้แต่น้อย

นักเตะคือสินทรัพย์
นอกจากผลงานความสำเร็จในอดีตแล้ว อีกสิ่งที่แฟนบอลมักจะนึกถึง อาหยักซ์ ก็คือการเป็นโรงงานสร้างนักเตะระดับโลก


Photo : asociatiaogararu.org

อคาเดมี่ของสโมสรที่ชื่อ De Toekomst หรือแปลเป็นไทยว่า อนาคต คือแหล่งสร้างนักเตะชั้นยอดมากมาย ด้วยค่านิยมที่ถูกปลูกฝังใส่เมล็ดพันธุ์รุ่นใหม่ตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเป็นทีม ระบบ Total Football ทุกคนสามารถเล่นทดแทนตำแหน่งกันได้ หรือแม้แต่แผนการเล่น 4-3-3 ที่เปรียบเสมือนพิมพ์เขียวของสโมสร ทำให้นักเตะดาวรุ่งอาหยักซ์ แทบจะไม่ต้องเสียเวลาปรับตัวให้เข้ากับการเล่นทีมชุดใหญ่เลยแม้แต่น้อย เพราะความแตกต่างระหว่างทีมเยาวชนกับทีมชุดใหญ่โดยหลักการ มีเพียงอายุและประสบการณ์ของสมาชิกในทีมเท่านั้น จึงไม่แปลกที่เราจะได้ยินชื่อนักเตะที่ได้รับการปลุกปั้นจากทีมนี้ก้าวขึ้นมาประดับวงการกันทุกปี

ไม่เพียงเท่านั้น อคาเดมี่ของอาหยักซ์ ยังเป็นอีกแหล่งที่นำมาซึ่งรายได้ของสโมสร จากการที่พวกเขาปล่อยขายนักเตะดาวดังให้กับสโมสรยักษ์ใหญ่มากมายทั้งในอดีต ปัจจุบัน และที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ … เดนนิส เบิร์กแคมป์ ย้ายไปอยู่กับ อินเตอร์ มิลาน ด้วยค่าตัว 10 ล้านยูโรในปี 1993, เวสลี่ย์ สไนเดอร์ เข้ารัง เรอัล มาดริด พร้อมค่าตัว 27 ล้านยูโรในปี 2007 รวมถึง เฟรงกี้ เด ยอง ที่เตรียมเก็บกระเป๋าสู่ บาร์เซโลน่า กับค่าตัว 75 ล้านยูโรหลังจากฤดูกาล 2018/19 จบลง


Photo : www.goal.com

และหากนักรวมกับนักเตะที่อาหยักซ์ซื้อมาปั้นในราคาถูก ก่อนขายออกไปด้วยราคามหาศาล ทั้งในกรณีของ ซลาตัน อิบราฮิโมวิช, หลุยส์ ซัวเรส หรือแม้แต่ ดาวินซอน ซานเชซ … Transfermarkt เว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลการซื้อขายนักเตะจากทั่วโลกได้เปิดเผยตัวเลขที่น่าสนใจยิ่ง นั่นคือนับตั้งแต่ฤดูกาล 2000/01 เป็นต้นมา พวกเขาขายนักเตะได้เงินรวมกันถึงกว่า 500 ล้านยูโร

เอาง่ายๆ ก็คือ ตลอด 2 ฤดูกาลหลังสุด รวมถึงฤดูกาลหน้า อาหยักซ์โกยเงินจากการขายนักเตะอย่างเดียวถึงราว 80 ล้านยูโรต่อปี เรียกได้ว่าแทบจะเป็นรายได้หลักของสโมสรเลยทีเดียว


Photo : www.goal.com

ตัวเลขทางการเงินที่ปรากฎ จึงเป็นการสะท้อนถึงอีกรูปแบบการทำธุรกิจอันสุดยอดของทีมดังแห่งเมืองหลวงของฮอลแลนด์ เพราะแม้จะร้างราความสำเร็จ แต่การเงินของสโมสรก็ยังมั่นคงเช่นเดิม แถมยังมีผลผลิตหน้าใหม่ออกสู่โลกกว้างอย่างต่อเนื่อง จนแม้แต่ เอ็ดวิน ฟาน เดอ ซาร์ ผู้รักษาประตูชุดแชมป์ยุโรปปี 1995 ที่ปัจจุบันรับตำแหน่งผู้อำนวยการทั่วไปของสโมสรยังต้องเอ่ยปากด้วยความภูมิใจว่า

"สโมสรของเราไม่มีตำนานหรอก เพราะเราล้วนสร้างขึ้นมาเองกับมือทั้งนั้นแหละ"

เหตุผลที่ทนอยู่
การสร้างนักเตะดาวรุ่งขึ้นมาโลดแล่นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับผลกำไรของสโมสร ถือเป็นเรื่องที่ไม่ว่าจะเป็นสโมสรใดต่างก็ถวิลหาด้วยกันทั้งสิ้น เพราะการปลุกปั้นนักเตะขึ้นมาเองนั้น มีต้นทุนที่น้อยกว่าการทุ่มเงินซื้อสตาร์ดังอยู่แล้ว และทันทีที่บอกขาย ก็แทบจะพูดได้เลยว่า พวกเขาจะฟันกำไรเกือบ 100%


Photo : AFC Ajax

ถึงกระนั้น การที่อาหยักซ์จำเป็นต้องสร้างนักเตะดาวรุ่งอย่างหนักหน่วง มันก็มีเหตุผลอื่นๆ อยู่ ซึ่งเรื่องสำคัญที่สุดก็คือ การเงิน นั่นเอง เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกฟุตบอลในยุคปัจจุบันขับเคลื่อนด้วยเงินตราเป็นสำคัญ และหนึ่งในสิ่งที่ช่วยสร้างรายรับให้กับสโมสรได้มากที่สุดคงหนีไม่พ้น ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด

ทว่า เอเรดิวิซี่ ลีกสูงสุดของฮอลแลนด์ ไม่ได้เป็นลีกที่มีมูลค่าทางการตลาดมากเหมือนกับลีกดังอื่นๆ ทั่วยุโรป เมื่อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฉบับปัจจุบันที่เซ็นกันไว้ 12 ปี ซึ่งเริ่มต้นเมื่อฤดูกาล 2013/14 ที่ผ่านมา มีมูลค่าของสัญญาเพียง 1 พันล้านยูโรเท่านั้น ซึ่งเท่ากับเงินที่ 20 สโมสรจากพรีเมียร์ลีกได้ในระยะเวลาเพียงปีเดียวเท่านั้น

"ถ้าเปรียบเทียบกันให้เห็นภาพก็คือ ทีมบ๊วยในพรีเมียร์ลีกจะได้เงินอย่างน้อยๆ ก็ราว 85 ล้านยูโรในปีเดียว นั่นเท่ากับเงินรวมที่ทุกทีมในลีกสูงสุดฮอลแลนด์จะได้รับในแต่ละปีเลยนะ" เอ็ดวิน ฟาน เดอ ซาร์ กล่าว "ด้วยเงินที่น้อยกว่าเป็น 10 เท่า เราจึงต้องทำในสิ่งที่แตกต่าง"


Photo : wedstrijd.tips

ด้วยสาเหตุดังกล่าว จอห์น ไฮติงก้า อดีตกองหลังลูกหม้อของทีมในยุค 2000s ที่ปัจจุบันรับงานคุมทีมชุด U19 ของสโมสรจึงยอมรับว่า การที่สโมสรมีอคาเดมี่เพื่อสร้างนักเตะเยาวชน สำคัญมากๆ กับการอยู่รอดท่ามกลางดงเสือสิงห์กระทิงแรดแห่งวงการลูกหนัง

"การสู้กับทีมอย่าง เปแอสเช หรือ แมนฯ ซิตี้ ที่มีเงินทองมหาศาลถือเป็นเรื่องที่ลำบากเอามากๆ เราจะรอดได้ก็ต้องอาศัยระบบอคาเดมี่ของเราเอง เพราะนี่แหละคือสินทรัพย์ที่เรามี"

แม้อาหยักซ์จะเป็นทีมที่มีสถานะทางการเงินมั่นคงที่สุดในฮอลแลนด์ แต่ความแตกต่างระหว่างพวกเขาและทีมยักษ์ใหญ่แห่งยุโรป ก็กลายเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้พวกเขาต้องปล่อยนักเตะสู่โลกกว้างในวัยที่น้อยลงเรื่อยๆ ซึ่ง ฟาน เดอ ซาร์ ขยายความถึงเรื่องดังกล่าวว่า

"ด้วยสถานการณ์ทางการเงินที่เป็นอยู่ การสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นจึงเป็นไปได้ยากเอามากๆ สำหรับทีมจากฮอลแลนด์ อย่างเรื่องการย้ายทีม สมัยก่อนผมกับแฝด เดอ บัวร์ (แฟรงค์ และ โรนัลด์) ย้ายทีมตอนอายุ 28 ปี แต่เดี๋ยวนี้แค่อายุ 22 ปีก็เริ่มได้เห็นนักเตะดัตช์ย้ายไปลีกของประเทศอื่นๆ แล้ว"


Photo : AFC Ajax

"สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือ ลีกดัตช์เล็กเกินไปสำหรับนักเตะที่ต้องการเติบโต เพราะที่สุดแล้ว พวกเขาก็ต้องการเติบใหญ่ด้วยกันทั้งสิ้น และนั่นทำให้พวกเราต้องเร่งสร้างนักเตะดาวรุ่งให้ปีกกล้าขาแข็งพอสำหรับการขึ้นทีมชุดใหญ่เร็วกว่าแต่ก่อน ซึ่งทั้งหมดทั้งปวง ก็เพื่อที่เราจะได้มีทีมที่แข็งแกร่งพอจะไปสู้กับคู่แข่งทั่วยุโรปด้วยเช่นกัน"

เสียงวิจารณ์และความเปลี่ยนแปลง
การสร้างนักเตะดาวรุ่งขึ้นสู่ชุดใหญ่ได้อย่างต่อเนื่อง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่อาหยักซ์จะยอมกัดฟันปล่อยตัวผู้เล่นฝีเท้าดีออกไปบ้าง เพราะในเมื่อนี่เป็นธุรกิจที่สามารถสร้างกำไรได้ แล้วทำไมถึงไม่คิดที่จะคว้าเงินที่มีคนพร้อมมากองให้ตรงหน้าบ้างล่ะ?


Photo : AFC Ajax

ถึงกระนั้น แฟนบอลส่วนใหญ่ก็ยังถวิลหารสชาติแห่งความสำเร็จอันหอมหวนอยู่ดี พวกเขารู้สึกว่า สโมสรเริ่มที่จะให้ความสำคัญกับผลกำไรมากกว่าถ้วยแชมป์ ซึ่งไม่ใช่สำหรับทีมที่ประสบความสำเร็จสูงสุดของฮอลแลนด์ เรื่องดังกล่าวทำให้อาหยักซ์เองก็ต้องเปลี่ยนแปลง ด้วยการเริ่มใช้เงินเพื่อซื้อนักเตะที่มีประสบการณ์เกมระดับสูงเข้ามาเสริมทัพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูกาล 2018/19 ที่พวกเขาคว้าตัวทั้ง ดูซาน ทาดิช และ ดาลี่ย์ บลินด์ ซึ่งคนหลังก็คืออดีตนักเตะลูกหม้อที่ดึงตัวกลับมาจาก แมนฯ ยูไนเต็ด ทำให้พวกเขาเริ่มกลับเข้าสู่เส้นทางความสำเร็จอีกครั้ง ทั้งการนำเป็นจ่าฝูงเอเรดิวิซี่ และสร้างผลงานสุดยอดในถ้วยแชมเปี้ยนส์ ลีก

ด้วยเหตุดังกล่าว มาร์ก โอเวอร์มาร์ส อดีตนักเตะของทีมยุค 1990s ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการฝ่ายกีฬาของสโมสรจึงกล่าวด้วยความมั่นใจสุดขีดว่า "ณ ตอนนี้ เราเดินทางมาถึงจุดที่สามารถพูดได้ว่า เราไม่ใช่สโมสรที่เอาแต่ขายนักเตะอีกต่อไปแล้ว"


Photo : metro.co.uk

นี่คือสัญญาณที่บ่งบอกว่า อาหยักซ์พร้อมที่ก้าวขึ้นเป็นสโมสรที่พร้อมสร้างเซอร์ไพรซ์ให้โลกลูกหนังได้เห็น ถึงกระนั้น เอ็ดวิน ฟาน เดอ ซาร์ ก็ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า มีอีกเหตุผลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังนโยบายต่างๆ ซึ่งทำมาโดยตลอด

"เราต้องการให้ชื่อของอาหยักซ์กลับมาเป็นที่พูดถึงของทุกคนอีกครั้ง จริงอยู่ เราไม่มีนักเตะดาวดังอย่าง คริสเตียโน่ โรนัลโด้ หรือ เอแด็น อาซาร์ แต่เรามีปรัชญาและประวัติศาสตร์ ซึ่งนี่คือสิ่งที่แฟนบอลมากมายชื่นชอบ"

"คุณอาจจะมีทีมโปรด แต่หากรู้ว่าหนึ่งในนักเตะของทีมเติบโตมาจากอาหยักซ์ล่ะ? คุณจะไม่รับทีมของเราเข้ามาอยู่ในอ้อมใจสักหน่อยหรือ?"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook