ต้นกำเนิด Initial D : "เคอิชิ สึชิยะ" ตำนานดริฟต์คิงแห่งเทือกเขาอากินะตัวจริง

ต้นกำเนิด Initial D : "เคอิชิ สึชิยะ" ตำนานดริฟต์คิงแห่งเทือกเขาอากินะตัวจริง

ต้นกำเนิด Initial D : "เคอิชิ สึชิยะ" ตำนานดริฟต์คิงแห่งเทือกเขาอากินะตัวจริง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“พลังจะมีประโยชน์อะไร หากไม่สามารถควบคุมมันได้” นี่คือสิ่งที่ราชาแห่งการดริฟต์ว่าไว้เมื่อนานมาแล้ว …

การจะถูกเรียกว่า "ราชา" ได้นั้นมีส่วนประกอบหลายอย่าง คุณจำเป็นต้องมีทั้งพระเดชและพระคุณในเวลาเดียวกันเพื่อจะทำให้ใครๆ ยอมรับคุณได้

ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รับการยกย่องเช่นนี้ หลายคนเก่งกาจไม่มีใครสู้ได้ แต่สุดท้ายก็กลายเป็นแค่คนเก่งเท่านั้น ไม่มีอะไรที่น่าจดจำ แต่ "เคอิชิ สึชิยะ" นั้นแตกต่างออกไป เขาไม่ใช่ผู้คิดค้นการดริฟต์ และไม่ใช่นักดริฟต์คนแรกของโลกนี้ แต่การรักที่จะแตกต่างและเอาจริงเอาจังกับเรื่องที่คนไม่สนใจ ทำให้ทั่วโลกต่างเรียกเขาว่า "ดริฟต์คิง"  

ติดตามเรื่องราวของผู้ชายจริงจังที่ทำให้คนทั้งโลกรู้จักการดริฟต์อย่างแพร่หลาย และการเปลี่ยนการ ดริฟต์ ที่เคยเป็นแค่เทคนิคที่สวยงามแต่กลับไม่สามารถทำให้ชนะในสนามแข่งได้ให้กลายเป็นเสน่ห์ที่ใครก็หลงใหลและยอมรับได้ที่นี่

จุดกำเนิดคนนอกคอก

"ความเร็วไม่ใช่ทุกอย่าง เพราะคุณจำเป็นต้องดูเท่ด้วยเวลาแข่ง "โทเกะ"" ... นี่คือความรู้สึกของ เคอิชิ สึชิยะ ในวัย 63 ปี บอกเล่าถึงประสบการณ์การเป็นนักแข่งรถของเขาเมื่อครั้งอดีต ... นี่คือความเชื่อที่ค่อนข้างแปลก เพราะชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า "รถแข่ง" แต่การไม่เน้นไปที่ความเร็วอย่างที่เขาว่ามา มันทำให้ดูขัดๆ ไปจากอาชีพพอสมควร


Photo : www.drifted.com

สึชิยะ เริ่มต้นการเป็นนักขับอาชีพครั้งแรกในช่วงยุค ‘70 ก่อนผ่านประสบการณ์ในรายการต่างมากมายทั้งรายการชิงแชมป์ของญี่ปุ่น ก่อนโกอินเตอร์ไปแข่งในรายการระดับโลกอย่าง Le Mans 24 ชั่วโมง และ NASCAR … เพียงแต่ว่าสิ่งที่ต้องยอมรับคึอ สึชิยะ อาจจะเป็นนักแข่งที่เก่งแต่ก็เป็นการเก่งแค่เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะนอกจากแชมป์ประจำคลาสของการแข่งขัน ไม่มีการแข่งรายการใดเลยที่เขาสามารถคว้าแชมป์โอเวอร์ออล หรือ เบอร์ 1 เหนือทุกคนได้ ใกล้เคียงที่สุดคือปี 1999 ตอนที่สังกัดทีม โตโยต้า ในการแข่งขัน เลอ มองส์ 24 ชั่วโมง ด้วยการคว้าอันดับ 2 ไปครองเท่านั้น

"มันต้องมีสิ่งที่ชอบยิ่งกว่าการแข่งธรรมดาสิ" เขาคิดเช่นนั้นและย้อนกลับไปในช่วงปลายยุค '70 ซึ่งเป็นเวลาที่เขาเริ่มอาชีพขับรถแข่งรุ่นต่างๆในเวทีสมัครเล่น โลเคชั่นที่เขาใช้เป็นสนามแข่งมักจะเป็นที่ที่ต้องลึกลับห่างไกลสายตาสักหน่อย เพราะเป็นการแข่งขันที่ถือว่าผิดกฎหมาย เปรียบเทียบง่ายๆ คือ สึชิยะ คือเด็กแว้นซ์ที่ขับรถยนต์แข่งไปพร้อมๆ กับการระแวดระวังการโดนตำรวจจับนั่นเอง

การแข่งรถบนภูเขาถูกเรียกว่า "โทเกะ" ในช่วงยุคนั้น เป็นการแข่งขันกันแบบใช้ความเร็วแข่งกันจากยอดเขาลงสู่ตีนเขาตามปกติ จนกระทั่งปี 1977 มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างเกิดขึ้นว่ามีชายคนหนึ่งใช้ "เทคนิค" ที่แปลกใหม่และดูเหลือ ณ ตอนนั้นวงการแข่งรถนอกกฎหมายต่างพยายามตามหาบุรุษลึกลับนี้จนทั่วเพื่อจะได้รู้ว่าข่าวลือที่ได้มามันจริงหรือไม่


Photo : blog.toyota.co.uk

ข่าวลือดังกล่าวเล่าว่าในขณะที่รถหลายคันกำลังแข่งขันกันอย่างคู่คี่สูสี มีรถที่อยู่รั้งท้ายซึ่งพอถึงทางโค้งรถคันดังกล่าวกลับทำในสิ่งที่แปลกออกไปจากคันอื่น นั่นคือการเหวี่ยงรถผ่านทางโค้ง จากนั้นปรู้ดเดียวเขาก็แซงทุกคนด้วยเทคนิคนั้น ทำให้เหล่าผู้ชมที่เข้าชมในการแข่งครั้งนั้นตะลึงและรู้สึกประหลาดใจไปตามๆ กัน  

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่โลกมนุษย์ได้เรียนรู้เทคนิคนี้ แต่มันคือการนำมาใช้จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของเทคนิคที่โด่งดังที่สุดเทคนิคหนึ่ง ซึ่ง เคอิชิ เรียกมันว่า "การดริฟต์"

ที่มาของการ ดริฟต์

"ผมไม่ได้ดริฟต์เพราะว่ามันเร็วกว่าในการเข้าโค้ง แต่มันเป็นวิธีที่น่าตื่นเต้นที่สุด" เคอิชิ กล่าวถึงเหตุผลที่เขาเริ่มทำเช่นนั้น โดยมี คุนิมิตสึ ทากาฮาชิ อดีตนักแข่งรถคนดังของญี่ปุ่นผู้ที่ใช้การดริฟต์ในสนามแข่งเป็นคนแรกจนได้ฉายา "บิดาแห่งดริฟต์" เป็นไอดอล


Photo : www.turnology.com

แต่เดิมนั้นเทคนิคการดริฟต์นี้ถูกเรียกในภาษาอังกฤษว่า  Powersliding มันเป็นการเข้าโค้งไปพร้อมๆ กับการเบรกมือและเลี้ยงพวงมาลัยจนทำให้ลักษณะการเข้าโค้งของรถจะเป็นไปในรูปแบบแนวขวาง และก็อย่างที่ เคอิชิ บอก การดริฟต์นั้นไม่ได้ทำให้คุณชนะการแข่งขันเสมอไป เพราะต้องขึ้นอยู่กับรูปแบบของการแข่งขันด้วย อาทิ การแข่งแบบแรลลี่ นั้นถือว่าเป็นการแข่งที่เหมาะสมกับการดริฟต์ที่สุดเพราะมันจะช่วยย่นเวลาได้มาก (เนื่องจากสภาพเส้นทางในการแข่งแรลลี่ ซึ่งโดยทั่วไปเป็นถนนลูกรังตามป่าเขานั้น “ลื่น” กว่าถนนปกติ) ทว่าหากเป็นการแข่งแบบ เซอร์กิต การดริฟต์จะทำให้เข้าเส้นชัยช้าลงอย่างแน่นอน

สึชิยะ นั้นฝึกฝนทักษะนี้ในขณะที่ที่ช่วยกิจการที่บ้าน บ้านเขาประกอบธุรกิจขายเครื่องครัวแบบโลหะ และเขารับหน้าที่เป็นคนขับรถส่งของ หลังจากนั้นเขาและรถของที่บ้านก็กลายเป็นของคู่กันตลอดมา และทางโค้งมากมายที่ปกคลุมไปด้วยหิมะบนภูเขา ทำให้เขามีโอกาสได้ฝึกทักษะนี้จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของตัวเขาเอง

กลุ่มชื่นชอบความเร็วเริ่มได้เห็นลีลาของ สึชิยะ ด้วยตาของตัวเอง ทักษะการดริฟต์ทำให้คนตกตะลึง "นุ่มนวล, ทรงพลัง และสวยงาม" คือคำจำกัดความของทักษะนี้ และที่สุดแล้วการเป็นราชาและเจ้าแห่งเทือกเขา ก็ทำให้ สึชิยะ ถูกขนานนามว่า "ดริฟต์คิง" คนแรกในประวัติศาสตร์


Photo : www.picturesboss.com

"ผมไม่รู้สึกหรอกว่าตัวเองเป็น ดริฟต์คิง เพราะผมดริฟต์รถของผมด้วยเป้าหมายเพื่อเอาไว้แซงคู่แข่งเท่านั้น มันไม่ใช่วิธีที่เร็วที่สุดหรอกแต่มันเป็นการแซงที่สนุกที่สุด ตอนนั้นการดริฟต์ในญี่ปุ่น ยังไม่เป็นที่นิยมมากนักด้วยแหละ"

ในขณะที่ฝีมือดริฟต์บนถนนเก่งกาจจนถูกเรียกว่า "ราชา" สึชิยะ ก็ได้เริ่มเข้าสู่วงการนักแข่งอาชีพแล้วเช่นกัน อย่างไรก็ตามการเป็นผู้เสพติดสไตล์การดริฟต์ทำให้เขายังแอบไปแข่งแบบผิดกฎหมายอยู่เป็นประจำ ซึ่งในฐานะนักเเข่งรถมืออาชีพนั้นการออกไปแข่งแบบผิดกฎหมายถือเป็นสิ่งที่ไร้จรรยาบรรณ นั่นจึงทำให้เขามี 2 ชื่อที่ถูกขนานนาม นอกจาก ดริฟต์คิง แล้วหลายคนยังเรียกเขาว่าพวกกบฏของวงการ เรื่องนี้ซีเรียสจนกระทั่งโดนยึดใบอนุญาตการแข่งรถมาเเล้ว ... อย่างไรก็ตามการตกหลุมรักการแข่งแบบไร้แบบแผน ไม่สามารถคาดเดาอะไรได้ คือเสน่ห์ที่เขาไม่สามารถตัดใจจากมันได้เลยจนถึงทุกวันนี้

ไม่ใช่แค่เก่ง แต่ทรงอิทธิพล

หลังจากเริ่มมีชื่อเสียงในเรื่องการดริฟต์ เคอิชิ สึชิยะ กลายเป็นคนดังขึ้นมาในระดับโลกจากการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง "Plupsy" โดยภาพยนตร์แนวสารคดีเรื่องนี้จะเป็นการโชว์ให้เห็นมุมในขณะที่เขากำลังขับรถและใช้การดริฟต์ลงภูเขา ซึ่งคอรถแข่งต่างยกให้วีดีโอชุดนี้เป็นคลิปที่คลาสสิกที่ชุดชิ้นหนึ่งเลยก็ว่าได้


Photo : silodrome.com

เมื่อลีลาการดริฟต์ของเขาทำให้ผู้คนที่รักความเร็วติดตามเขามากขึ้น จนกระทั่ง ชูอิจิ ชิเงโนะ นักเขียนการ์ตูนได้หยิบยกเรื่องของเขามาเป็นสารตั้งต้นเพื่อสร้างมังงะ เรื่อง Initial D ซึ่งภายหลังการเป็นการ์ตูนเกี่ยวกับการแข่งรถที่โด่งดังในวงกว้างมากที่สุด โดยในการเขียนเรื่องนี้ของ ชูอิจิ ชิเงโนะ ต้องปรึกษา เคอิชิ หลายเรื่อง เรียกได้ว่าในตอนนั้น เคอิชิ เป็นเหมือนหนึ่งในทีมงานนักเขียน และเบื้องหลังความสำเร็จของการ์ตูนเรื่องนี้เลย

ในเนื้อเรื่องจะเน้นแข่งกันบริเวณทางขึ้นและทางลงเขาเป็นหลัก โดยเน้นลักษณะการเข้าโค้งหรือที่เรียกว่า ดริฟต์ เนื้อเรื่องของ อินิเชียล ดี เริ่มต้นที่ นักเรียนมัธยมปลายคนหนึ่งชื่อ ทาคุมิ ฟูจิวาระ ตามปกติต้องช่วยงานที่บ้านซึ่งเป็นร้านเต้าหู้ เขาต้องขับรถ Toyota AE86 ของพ่อ ไปส่งเต้าหู้ตอนตี 4 ซึ่งต้องขับรถข้ามภูเขาอากินะ ที่เปลี่ยนจากของจริงที่ชื่อเทือกเขาฮารุนะ ทุกๆ เช้าในทุกวันๆ ขณะที่ขับรถส่งของ ทาคุมิ พยายามที่จะขับให้เร็วที่สุดเพื่อจะได้รีบกลับบ้านมานอน โดยที่ไม่ได้รู้เลยว่ามันทำให้เขามีเทคนิคการขับรถแบบ ดริฟต์ ที่ยอดเยี่ยม นี่คือพล็อตเรื่องที่ดึงออกมาจากสิ่งที่ เคอิชิ เคยผ่านมาอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเรื่องดังอย่าง The Fast and the Furious : Tokyo Drift ที่ออกฉายในปี 2006 ยังได้ให้เกียรติ ดริฟต์คิง อย่าง เคอิชิ สึชิยะ มาร่วมแสดงอีกด้วยโดยเจ้าตัวจะได้ออกมาในช่วงที่พระเอกของเรื่องกำลังฝึกการใช้เทคนิค "ดริฟต์" โดยตัวของเขานั้นแสดงเป็นคนตกปลาที่กำลังหงุดหงิดจากการที่พระเอกนั้นดริฟต์ไม่เป็นจนชนกับอุปสรรคต่างๆ เสียงดังอึกทึก และทำให้ปลาไม่ยอมมากินเหยื่อ


Photo : www.carthrottle.com

แม้จะไม่ใช่คนเริ่มต้นการดริฟต์เป็นครั้งแรก ทว่าเมื่อคนรักความเร็วทั่วโลกคิดถึงการดริฟต์ ชื่อของ เคอิชิ สึชิยะ ก็จะปรากฎออกมาเป็นคนแรกเสมอ เขาทำให้การดริฟต์แพร่หลายไปทั่วโลก แต่แค่นั้นยังไม่ใช่สิ่งที่เขาพอใจ จะมีความหมายอะไรหากการดริฟต์เป็นได้แค่ความสวยงามแต่ไม่สามารถสร้างความภูมิใจในฐานะการชูถ้วยแชมป์ของการแข่งขันได้ เพราะในการแข่งแบบปกติการนำการดริฟต์มาใช้มีแต่จะทำให้รถช้าลงและยากจะเอาชนะใครได้ ดังนั้น เคอิชิ จึงคิดจะทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นทางการที่วัดกันเฉพาะการดริฟต์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น สิ่งที่แตกต่างคือคนทั่วไปอาจจะคิดและมีข้ออ้างจนไม่ลงมือทำ แต่ เคอิชิ นั้นต่างออกไป ...

เขาเริ่มลงมือทำสิ่งที่รักเพื่อให้เป็นที่ยอมรับ "ดริฟต์" จะไม่ได้มีความหมายสำหรับคนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น แต่มันต้องได้รับการยอมรับจากคนทั่วโลก

ผู้เริ่มต้นการแข่งขันดริฟต์อาชีพ

เหตุผลของการเป็นดริฟต์คิงนั้นไม่ได้เกิดจากความเก่งกาจอย่างเดียวเท่านั้น เคอิชิ พยายามผลักดันและสร้างแบรนด์ของการดริฟต์ขึ้นมาหลังจากที่เขาวางมือจากการเป็นนักแข่งอาชีพอีกด้วย


Photo : www.drifted.com

ในปี 2000 ได้มีการจัดตั้งรายการ D1 กรังด์ปรีซ์ ซึ่งเป็นการแข่ง ดริฟต์ ระดับอาชีพขึ้นมาเป็นครั้งแรก ซึ่งด้วยความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าว เคอิชิ สึชิยะ ได้ออกแบบการแข่งขันขึ้นมาอย่างมืออาชีพ นักแข่งทุกคนจะต้องผ่านเวทีการแข่งระดับสมัครเล่นเสียก่อนเพื่อจะได้รับใบอนุญาตการเข้าแข่งขัน จึงจะสามารถลงแข่งขันในระดับอาชีพได้ นอกจากนี้การแข่งขันยังมีการกำหนดกติกาให้ชัดเจน เพราะการดริฟต์นั้นไม่ได้วัดกันที่ความเร็ว แต่เป็นการโชว์ลีลาความสวยงาม หากไม่มีกฎที่ชัดเจนกรรมการอาจจะให้คะแนนตัดสินจากวิจารณญาณส่วนบุคคลและกลายเป็นปัญหาให้ถกเถียงกันได้

D1 กรังด์ปรีซ์ จึงได้ออกกติกาที่มีไว้เพื่อการแข่งดริฟต์โดยเฉพาะ ประกอบด้วย ความแม่นยำ ไลน์การเข้าโค้งของรถแต่ละคันที่วิ่งแต่ละรอบ ความต่อเนื่อง ความลื่นไหล ไม่มีสะบัด ไม่กระตุก ไม่มีค้างคาเลน ยิ่งเร็ว ยิ่งแรง ยิ่งดี ยิ่งทำให้ดริฟต์ทรงประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีการติด GPS ที่จะส่งสัญญาณไปดูว่า นักแข่งวิ่งได้ตรงไลน์ที่วางไว้หรือไม่  เรียกได้ว่าทุกขั้นตอนนั้นเกิดขึ้นขึ้นจากความรู้และความเข้าใจของ เคอิชิ สึชิยะ และทีมงานที่ศึกษาอย่างละเอียดและวางแผนมาเป็นอย่างดี


Photo : www.drifted.com

ปัจจุบันการแข่งขัน D1 กรังด์ปรีซ์ จัดแข่งต่อเนื่องมาแล้วนับถึงตอนนี้ก็เป็นเวลา 19 ปี แม้เจ้าตัวเลือกก้าวออกจากรายการที่เขาปลุกปั้นเองกับมือเมื่อปี 2011 หลังรูปแบบการแข่งขันในระยะหลังเริ่มที่จะเอื้อให้กับพวก "บ้าพลัง คลั่งแรงม้า" ที่มีรถแรงๆ มากกว่าฝีมือ แต่ยิ่งนับวันก็กลายเป็นรายการที่มีเงินเดิมพันสูงขึ้นและมีคนให้ความสนใจมากขึ้นด้วย ไม่ใช่แค่คนเฉพาะกลุ่มที่หลงใหลในการดริฟต์เหมือนในอดีตอีกต่อไปแล้ว

จะเห็นได้ว่าทุกช่วงเวลาของ เคเอชิ ล้วนมีการดริฟต์เป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตทั้งนั้น เขาอาจจะเริ่มจากการขับส่งของ, แข่งผิดกฎหมาย และกลายเป็นซูเปอร์สตาร์ แต่เหนือสิ่งอื่นใดนั้นการทำให้ทุกคนยอมรับสิ่งที่ตัวเองรักคือการทุ่มเทที่เหมาะสมกับการเป็น ดริฟต์คิง ของเขาอย่างแท้จริง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook