Gun Runners : เมื่อรองเท้าวิ่งมีค่ามากกว่าปืนในเคนยา

Gun Runners : เมื่อรองเท้าวิ่งมีค่ามากกว่าปืนในเคนยา

Gun Runners : เมื่อรองเท้าวิ่งมีค่ามากกว่าปืนในเคนยา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ระหว่าง “ปืน” กับ “รองเท้าวิ่ง” คุณจะเลือกอะไรเป็นในเครื่องมือในการดำรงชีวิต ?

นี่คือคำถามที่ชาวเคนยาจำนวนไม่น้อยกำลังถามตัวเอง 

มีชาวเคนยาจำนวนนับแสนครอบครองปืนเป็นเครื่องมือในการทำมาหากิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปืนเถื่อน ไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาล 

พวกเขาทำผิดกฎหมาย เพราะต้องครอบครองปืนในการแย่งชิงสินทรัพย์เพื่อหารายได้ บางครั้งใช้เพื่อป้องกันตัว และบางคราวใช้เพื่อคร่าชีวิตศัตรู

แต่ทุกคนบนโลกใบนี้มีโอกาสให้กลับตัวเสมอ ชาวเคนยาได้รับโอกาสนี้เช่นกัน พวกเขามีโอกาสได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ไร้มลทินอีกครั้ง หากนำปืนไปแลกกับรองเท้าวิ่ง

Main Stand จะพาไปพบกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศเคนยา สถานที่ซึ่งรองเท้าวิ่งมีค่ามากกว่าปืนหนึ่งกระบอก

สถานที่ซึ่งรองเท้าวิ่งไม่ได้เป็นแค่อุปกรณ์สำหรับออกกำลังกาย แต่รองเท้าวิ่งมีความหมาย ซึ่งอาจเปลี่ยนชีวิตคนในประเทศนี้ไปตลอดกาล

 เมื่อ “ปืน” กลายเป็น “พระเจ้า”

เคนยาคือประเทศใหญ่ทางตะวันออกของทวีปแอฟริกา ประเทศที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 48 ของโลก ซึ่งมีประชากรมากถึง 49 ล้านคน 

มีคำกล่าวว่าเคนยา คือ “ประเทศที่สะท้อนภาพมายาคติต่อทวีปแอฟริกา” แผ่นดินที่รกร้าง แห้งแร้งและว่างเปล่า ท่ามกลางอากาศที่แสนร้อนจัด ผู้คนยังชีพด้วยการเลี้ยงสัตว์มากกว่าการเพาะปลูกซึ่งเป็นไปอย่างยากลำบาก


Photo : The Guardian

แม้ในปัจจุบันการเพาะปลูกในประเทศเคนยาจะได้รับการพัฒนาขึ้นกว่าในอดีต จนกลายเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งออกสร้างรายได้ให้กับประเทศ แต่หากย้อนไปสัก 10-20 ปีก่อนหน้านี้ ทุกอย่างไม่ได้เป็นเช่นนั้น

ย้อนไปในปี 2005 มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนเปิดเผยว่าประชากร 17.7 เปอร์เซนต์ของประเทศเคนยา หรือคิดเป็นจำนวนประมาณ 6 ล้านคน มีรายได้เฉลี่ยไม่ถึง 1,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น

พวกเขาเหล่านี้ไม่มีที่ดินให้เพาะปลูก ไม่มีบ้านให้อยู่อาศัย ต้องอาศัยอยู่ในป่า จากการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมในประเทศ ผู้คนที่ไม่ได้อยู่ในเขตเมืองหลวงต้องพึ่งพาตัวเองในการเอาชีวิตรอด

คำถามสำคัญคือพวกเขาใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างไร ท่ามกลางชีวิตที่แสนยากไร้ ในเมื่อชาวเคนยาบางส่วนแทบไม่มีเครื่องมีอใด ที่จะพอช่วยเขาทำมาหากินได้เลย

ปืน คือคำตอบของชาวเคนยา !

ชายหนุ่มชาวเคนยาจำนวนมาก ล้วนมีฐานะยากจน พวกเขาทำอาชีพด้วยการเป็นคนเลี้ยงวัว เพื่อนำวัวที่เลี้ยงไปขายหาเงินยังชีพ แต่จำนวนวัวในเคนยา กลับมีจำนวนจำกัด ทำให้บางครั้งเราคนเลี้ยงวัวต้องหาอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้ให้กับตัวเอง คือการเป็นโจรปล้นวัว


Photo : allafrica.com

ปืนคือสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ชีวิตอันแร้นแค้นของชาวเคนยาดำเนินต่อไปได้ เพราะสามารถใช้เป็นอาวุธปกป้องวัวของพวกเขา  ปกป้องตัวเอง และที่สำคัญเอาไปปล้นชิงวัวของคนอื่นมาได้

สำหรับประเทศอื่น ปืนอาจจะเป็นสิ่งที่เอาไว้ใช้ป้องกันตัว แต่สำหรับชาวเคนยาจำนวนไม่น้อย ปืนคือเพื่อนคู่ใจ คือวิถีชีวิต คือพระเจ้าของพวกเขา

“ถ้าเรามีปืน เราก็มีอำนาจ เราไม่จำเป็นต้องกลัวใครอีกแล้ว ไม่ต้องสนแล้วว่าพระเจ้ามีจริงไหม เพราะคุณคือคนที่มีอำนาจ คุณสามารถทำอะไรก็ได้”

“ผืนแผ่นดินที่เรามีแทบเพาะปลูกอะไรไม่ได้ ถ้าไม่มีวัวคุณก็จะอดตาย” โรเบิร์ต มาทันดา อดีตหัวหน้ากลุ่มคนเลี้ยงวัวแห่งหนึ่งในเคนยา ที่ผันตัวมาเป็นนักวิ่งมาราธอน เผยถึงสภาพชีวิตที่ไร้ทางเลือกของชาวเคนยา

ด้วยเหตุนี้ ประเทศเคนยาจึงประสบปัญหาการแพร่ระบาดของปืนเถื่อนจำนวนมาก ชาวเคนยาล้วนหาปืนเถื่อนมาไว้ในครอบครองเพื่อใช้ในการทำมาหากิน แม้การมีปืนเถื่อนไว้ในครอบครองถือเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายในประเทศเคนยา

การแก้ปัญหาปืนเถื่อนระบาดในเคนยานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ในปี 2007 มหาวิทยาลัยซิดนีย์เปิดเผยข้อมูลว่ามีประชาชนในประเทศนี้ครอบครองปืนอยู่ 530,000 กระบอก มีเพียง 5,000 กระบอกเท่านั้นที่มีใบอนุญาติให้ครอบครอง ที่เหลือกว่า 525,000 กระบอกเป็นปืนเถื่อน

“รองเท้าวิ่ง” กับโอกาสเปลี่ยนชีวิต

การปราบปรามปัญหาปืนเถื่อนด้วยนโยบายมาตรการความรุนแรงไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ เพราะในประเทศเคนยาประชาชนมีปืนในครอบครองมากกว่ารัฐบาลเสียอีก 


Photo : afrizap.com

ดังนั้นรัฐบาลต้องหาทางอื่น ทางที่จะแก้ไขปัญหาปืนเถื่อน ให้ประชาชนโยนทิ้งอาวุธอันตรายที่คร่าชีวิตนับพันของคนเคนยาในแต่ละปี แล้วหันกลับมาประกอบอาชีพสุจริต

ย้อนไปเมื่อปี 2003 รัฐบาลเคนยาจัดทำโครงการที่อาจเรียกได้ว่าแปลกที่สุดครั้งหนึ่งของโลก คือการให้ประชาชนที่มีปืนเถื่อนอยู่ในครอบครอง นำปืนมาแลกกับรองเท้าวิ่งจากทางรัฐบาล จะได้รับการอภัยโทษในข้อหาที่มีปืนเถื่อนในครอบครอง และจะถูกล้างประวัติความผิดทั้งหมดให้ขาวสะอาด ได้รับการรับรองจากรัฐบาลเคนยาว่าเป็นคนดีของสังคม

โครงการเปลี่ยนโจรถือปืนเถื่อนให้กลับมาเป็นคนดีของสังคมอีกครั้ง เริ่มต้นมาจาก เทคลา โลรูเป (Tegla Loroupe) นักวิ่งมาราธอนหญิงเจ้าของสถิติโลกชาวเคนยา ซึ่งร่วมมือกับรัฐบาลเคนยา จัดโครงการวิ่งเพื่อสันติภาพ เพราะต้องการหยุดปัญหาความรุนแรงที่เรื้อรังมานานในดินแดนบ้านเกิดของเธอ

โลรูเป จัดงานวิ่งมาราธอนที่เชิญชวนให้ชาวเคนยาได้มาร่วมวิ่ง เพื่อหวังเป็นจุดเริ่มต้นให้พวกเขาเปลี่ยนชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ใช้ชีวิตเป็น “นักรบ” ในประเทศเคนยา (หรือโจรสำหรับคนประเทศอื่น) ได้กลับตัวใช้ชีวิตห่างไกลจากการถือปืนเพื่อปล้นและฆ่า


Photo : montrealcommunitycontact.com

“เราสร้างโครงการนี้ขึ้นมา เพราะมีความตั้งใจที่จะสร้างสันติภาพในสังคม หยุดการต่อสู้เพื่อแย่งชิงในเคนยา ฉันหวังว่าโครงการนี้จะได้รับกรสนับสนุนจากทางรัฐบาล” โลรูเปกล่าว

เป็นโอกาสที่ดีสำหรับรัฐบาลเคนยา ในการแก้ไขปัญหาปืนเถื่อน ด้วยการออกนโยบายให้ประชาชนนำปืนมาแลกกับรองเท้าวิ่ง เพื่อให้ชาวเคนยาได้มีรองเท้าไว้ใช้ลงแข่งขันงานวิ่งมาราธอนซึ่งจัดโดยโลรูเป 

อันมีเงินรางวัลรวมถึงวัวเป็นของล่อใจให้เหล่านักรบ เลิกถือปืนเพื่อล่าวัว หันมาวิ่งมาราธอนเพื่อล่าวัวแทน

มองผ่านๆอาจเป็นการแก้ปัญหาที่ดูแปลกประหลาด แต่แท้จริงแล้วการวิ่งคือสิ่งที่อยู่ในสายเลือดของชาวเคนยา เป็นสิ่งที่พวกเขาทำได้ดีมาโดยตลอด

ประเทศเคนยาคือถิ่นกำเนิดของยอดนักวิ่งระดับโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการวิ่งระยะสั้นหรือระยะยาว ในการแข่งขันวิ่งชิงแชมป์โลกครั้งล่าสุดเมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา เคนยาได้เหรียญทอง 55 เหรียญมากเป็นอันดับที่ 2 ของการแข่งขัน เป็นรองแค่สหรัฐอเมริกาเท่านั้น

ประกอบกับที่เคนยามีองค์ประกอบที่ดีอยู่แล้วในการสร้างนักวิ่ง ทั้งสภาพภูมิประเทศอันโหดร้ายที่ช่วยเสริมสร้างความอดทนและแข็งแกร่งให้กับนักวิ่ง มีค่ายฝึกซ้อมการวิ่งที่นักวิ่งชื่อดังทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นคนผิวขาวหรือผิวสีเข้ามาเก็บตัว เพื่อฝึกซ้อมอยู่เสมอ

ทว่าการจะเริ่มต้นให้เหล่านักรบทิ้งปืน ทิ้งวิถีชีวิตที่พวกเขาดำรงอยู่มาอย่างยาวนานไม่ใช่เรื่องง่าย รัฐบาลจึงต้องสร้างแรงจูงใจให้กับชาวเคนยา เช่น การมีค่ายเก็บตัวสำหรับเหล่านักวิ่ง มีที่พัก มีอาหารสำหรับดำรงชีวิต เพื่อที่เหล่านักรบจะได้เห็นว่าชีวิตพวกเขามีทางเลือก ไม่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในป่า เพื่อคอยปล้นชิงเอาชีวิตเสี่ยงกับความตายอีกต่อไป


Photo : Canadian Running Magazine

มีนักรบจำนวนไม่น้อย เลือกทิ้งปืนหันมาสวนรองเท้าวิ่งเพื่อโอกาสในการหาชีวิตใหม่ ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการ อาจไม่ได้มาเพราะต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้นเป็นส่วนสำคัญเพียงอย่างเดียว 

แต่รวมไปถึงพวกเขาเบื่อที่ต้องเอาชีวิตของตัวเองไปวางเดิมพันในทุกวันกับการปล้นและฆ่าเพื่อดำรงชีวิตให้อยู่ต่อในแต่ละวัน

“ผมรู้สึกแย่กับตัวเองทุกครั้งเมื่อผมต้องปล้นหรือฆ่า การใช้ชีวิตอย่างหลบซ่อนไม่ใช่เรื่องสนุกเลย และการที่ต้องหลบกระสุนตลอดเวลาก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีเช่นกัน” มาร์ค ล็อกตาเร อดีตนักรบผู้เข้าโครงการนำปืนแลกรองเท้าวิ่งตั้งแต่ปี 2003 กล่าว

วิ่งเปลี่ยนชีวิต

จูเลียส อาริลเล (Julius Arile) คืออีกหนึ่งคนที่เข้าร่วมโครงการนี้ เพราะเบื่อชีวิตในฐานะนักรบ การที่เขาต้องเห็นพี่ชาย ญาติ และเพื่อนสนิท ถูกฆ่าตายเพียงเพื่อปกป้องและปล้นชิงวัว ทำให้เขาตัดสินใจนำปืนของเขาไปแลกเป็นรองเท้าวิ่งเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่

“ผมจำได้ดีในวันที่เพื่อสนิทผมถูกฆ่าตาย เขาถูกยิงตายข้างๆผม ผมรู้ทันทีผมมีชีวิตแบบนี้ต่อไปไม่ได้แล้ว ครั้งต่อไปที่มีคนตาย อาจจะเป็นตัวผมก็ได้”

“ผมมีความสุขเวลาที่ได้วิ่ง ร่างกายผมรู้สึกดีไปด้วย ผมไม่ต้องการกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม ผมไม่อยากสู้กับใครอีกแล้ว ผมต้องการแค่วิ่งเท่านั้น”


Photo : Georgia Straight

อาริลเลได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ในฐานะนักวิ่ง เขามีความฝันที่อยากจะประสบความสำเร็จในฐานะนักวิ่งมาราธอนแถวหน้าของโลก รองเท้าวิ่งที่เขาแลกมาจากปืนเถื่อนให้โอกาสเขาในการเริ่มต้นเส้นทางใหม่และความฝันใหม่อีกครั้ง

สิ่งที่โครงการนี้มอบให้เหล่านักรบชาวเคนยา ไม่ได้เป็นเพียงแค่โอกาสในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่ทำให้พวกเขาได้เป็นนักรบที่สร้างความภูมิใจ ในฐานะนักรบของชาวเคนยาที่แท้จริง เช่น อาริลเลที่ได้โอกาสกลายเป็นตัวแทนเข้าแข่งขันรายการมาราธอนต่างๆทั่วโลก เพื่อสร้างความภูมิใจให้กับประเทศของเขา

อาริลเล่ไม่ได้เป็นเพียงแค่ตัวแทนนักวิ่งจากเคนยา แต่เขาคือคนที่บอกให้โลกได้รู้ว่ามนุษย์ทุกคนสามารถกลับตัวกลับใจจากชีวิตที่เลวร้าย และเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้อีกครั้ง

“เมื่อก่อนผมเคยเป็นนักรบ แต่ตอนนี้ผมคือนักกีฬา ผมคือนักวิ่งมาราธอน” อาริลเลพูดคำนี้เสมอไม่ว่าเขาจะไปวิ่งที่ไหน เขาไม่เคยอายที่จะบอกเล่าเรื่องราวในอดีตของตัวเอง เพราะตอนนี้เขาคือคนใหม่ มีชีวิตที่ภาคภูมิใจในฐานะนักวิ่ง

อาริลเลประสบความสำเร็จกับชีวิตใหม่ในฐานะนักวิ่งมาราธอน เขาคว้าตำแหน่งอันดับ 4 ในการแข่งขันนิวยอร์ค มาราธอน การแข่งขันวิ่งมาราธอนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เมื่อปี 2013 หอบเงินรางวัลกลับบ้าน ซื้อวัวและทีดิน สร้างชีวิตใหม่ให้กับครอบครัว

นักวิ่งที่เพิ่มขึ้น แต่ปืนยังคงอยู่

สิ่งที่เกิดขึ้นกับจูเลียส อาริลเล อาจบอกได้ว่าโครงการของรัฐบาลที่สามารถสร้างชีวิตใหม่ให้กับชาวเคนยาในฐานะนักวิ่งประสบความสำเร็จ เหล่านักรบมีชีวิตใหม่ในฐานะนักวิ่งมาราธอนกลับมามีชีวิตที่ดีได้อีกครั้ง

แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันเป็นอย่างนั้นจริงหรือ ? 

“มีคนเพียงแค่ 1 ใน 10 เท่านั้นที่จะหาเงินจากการเป็นนักวิ่งมาราธอน และมีเพียง 1 ใน 50 เท่านั้นที่จะหาเงินได้อย่างจริงจังจากอาชีพนี้ และเปลี่ยนแปลงชีวิตได้จริงๆจากการเป็นนักวิ่ง”


Photo : Aspen Times

เจโรน ดีน (Jereon Dean) นักกายภาพบำบัดชาวอังกฤษที่ทำงานกับนักวิ่งมาราธอนชาวเคนยามาอย่างยาวนานเผยถึงความจริงที่โหดร้ายกับเส้นทางอาชีพในฐานะนักวิ่งมาราธอน

“เพราะการจะประสบความสำเร็จ คุณต้องมีผู้จัดการพาไปแข่งรายการต่างๆทั่วโลก ต้องสามารถคว้าเงินรางวัล เพื่อสร้างส่วนแบ่งรายได้ให้กับพวกเขา”

“ถนนสายนี้ มีคนฝันสลายเยอะครับ เยอะมากๆเลยครับ”

นักวิ่งจำนวนหนึ่งอาจประสบความสำเร็จ ได้มีโอกาสไปโกยเงินในการแข่งขันวิ่งที่ต่างประเทศ แต่คนนักวิ่งอีกจำนวนมากที่วิ่งได้ไม่เร็วมากพอ พวกเขาจะต้องรั้งท้ายและถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง

แม้รัฐบาลเคนยาจะมีเจตนาดีในการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนละทิ้งปืนเถื่อน แต่สุดท้ายแล้วการทุ่มเทและความต่อเนื่องของนโยบายในระยะยาวคือสิ่งสำคัญ

เพราะนอกจากการอภัยโทษและมีค่ายให้ประชาชนที่กลับตัวเป็นนักวิ่งได้มีที่อยู่อาศัยและมีอาหารรับประทานในแต่ละวัน รัฐบาลเคนยาไม่มีนโยบายอื่นมารองรับและต่อยอดให้เหล่านักวิ่งมีชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาว

เหล่านักวิ่งต้องพยายามสร้างผลงานด้วยตัวเอง เพื่อให้เข้าตาเหล่าผู้จัดการที่จะมาคอยดูตัวพวกเขา หากใครสร้างผลงานได้ดีแบบอาริลเล โอกาสที่จะสร้างชีวิตใหม่ถือว่าอยู่ไม่ไกล

Photo : runningmagazine.ca

แต่บางคนที่ไม่สามารถวิ่งแซงออกมาอยู่ในกลุ่มผู้นำ โอกาสนั้นไม่เคยมาถึง และบางทีพวกเขาอาจต้องถอดรองเท้าวิ่งกลับไปถือปืนอีกครั้ง

จากการสำรวจในปี 2017 จำนวนปืนในประเทศเคนยาที่ถือครองโดยประชาชนเพิ่มขึ้นเป็น 750,000 กระบอก และเป็นจำนวนถึง 741,864 กระบอกที่เป็นปืนเถื่อน

อัล จาซีรา สำนักข่าวชื่อดังของโลก เขียนบทความสะท้อนปัญหาปืนเถื่อนที่ยังไม่เคยหายไปของประเทศเคนยาว่ามาจากความล้มเหลวของรัฐบาลที่ยังขาดประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาระยะยาว 

ชาวเคนยาไม่ได้ต้องการถือปืนหรือเสี่ยงชีวิตในทุกวัน แต่พวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นที่จะดำรงชีวิต ในสังคงที่ยังคงแร้นแค้น การพัฒนาในประเทศยังไม่ทั่วถึง 

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าโครงการนำปืนแลกรองเท้าวิ่งของรัฐบาลจะไร้ซึ่งประโยชน์ ในทุกปีมีชาวเคนยานับพันคนเข้าร่วมโครงการนี้ พวกเขาทิ้งปืนเพื่อหวังจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ หวังว่าจะได้มีชีวิตที่สดใสและสุจริตในฐานะนักวิ่งมาราธอน

“ชาวเคนยาหลายคนยังคงเลือกที่จะเสี่ยง วิ่งบนถนนแห่งความฝันที่ล่มสลายเส้นนี้ เพราะพวกเขายังเชื่ออยู่เสมอ ว่าพวกเขาสามารถที่จะมีชีวิตใหม่ได้ในฐานะนักวิ่งมาราธอน” เจโรน ดีน กล่าว

ท้ายที่สุดชาวเคนยาหลายคนอาจล้มเหลวไม่สามารถมีชีวิตใหม่ ไม่ได้เป็นนักวิ่งที่สมารถสร้างรายได้มีชีวิตใหม่ตามที่หวัง แต่รองเท้าวิ่งที่พวกเขาได้รับ จากการเอาปืนเถื่อนไปเเลก คือโอกาสที่ทำให้พวกเขาได้เริ่มต้นชีวิตใหม่

บางคนเมื่อละทิ้งวิธีชีวิตเก่าในฐานะนักรบแล้ว พวกเขาไม่คิดจะกลับปืนอีกครั้ง และเลือกเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยอาชีพที่แตกต่างกันไป 

แม้อาจจะยากลำบาก คุณภาพชีวิตไม่ได้ดีขึ้นเท่าไหร่นัก แต่พวกเขาไม่จำเป็นต้องใช้ชีวิตหลบซ่อนอยู่ในป่า ไม่ต้องเสี่ยงเอาชีวิตไปเดิมพันกับความตายในทุกวัน

นั่นคือสิ่งที่ “รองเท้าวิ่ง” สามารถมอบให้กับชาวเคนยา และมันมีความหมายมากกว่าที่ใครหลายคนจะจินตนาการถึง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook