“เจมส์ เอลลิงตัน” นักวิ่งผู้โดนเกรียนคีย์บอร์ดหักหลังจนเกือบอดแข่งโอลิมปิก

“เจมส์ เอลลิงตัน” นักวิ่งผู้โดนเกรียนคีย์บอร์ดหักหลังจนเกือบอดแข่งโอลิมปิก

“เจมส์ เอลลิงตัน” นักวิ่งผู้โดนเกรียนคีย์บอร์ดหักหลังจนเกือบอดแข่งโอลิมปิก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไม่แปลกหรอกที่คุณจะไม่รู้จักนักวิ่งอย่าง เจมส์ เอลลิงตัน เพราะเขาเองไม่ได้ว่องไวเหมือนสายฟ้าแบบ ยูเซน โบลท์ และไม่ได้อึดในระยะไกลเหมือน โม ฟาราห์ ทว่ามนุษย์ทุกคนล้วนมีเส้นทางของตัวเอง และเขาคนนี้ก็มีเรื่องที่นักกีฬาน้อยคนนักจะได้เจอ

การเอาตัวเองเข้าไปไว้ในที่แจ้งอย่างโลกอินเตอร์เน็ต นำมาซึ่งเรื่องราวน่าลำบากใจอย่างเลี่ยงไม่ได้ นี่คือเรื่องราวของ เจมส์ เอลลิงตัน ที่ขายตัวเองผ่าน อีเบย์ เพื่อฝันที่รออยู่    

รัฐไม่ช่วยอะไรเลย...

เจมส์ เอลลิงตัน ไม่ใช่เด็กที่เกิดมาเเล้วต้องสู้กับความจนเหมือนกับนักกีฬาหลายๆคน แต่ที่แน่ๆเขาเป็นคนที่มีความมุ่งมั่นเพื่อให้ได้เป็นนักวิ่งตั้งแต่เรียนในระดับมัธยมศึกษา  


Photo : www.insidethegames.biz

เขาเข้าสู่ทีมวิ่งผลัดของ เกรท บริเตน มาตั้งแต่ปี 2006 อย่างไรก็ตามศึกที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขามากที่สุดคือในการแข่งขันชิงแชมป์โลกกรีฑาที่ แดกู ประเทศเกาหลีใต้ ในปี 2011 ซึ่งครั้งนั้น เขาเข้าเส้นชัยในอันดับที่ 5 และมันหมายความว่าเจ้าตัวกำลังจะได้ลงเเข่งขันในโอลิมปิก 2012 ที่สหราชอาณาจักรเป็นเจ้าภาพ

ฝันหวานกำลังจะเริ่มสำหรับความหวังในการเอาเหรียญทองในบ้านเกิด อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าในประเทศอังกฤษนั้นจะมีเส้นทางสายกีฬาที่ทำให้ร่ำรวยมากเกินไปแล้ว นักฟุตบอล, นักรักบี้,นักเทนนิส และ นักสนุกเกอร์ ต่างก็มีรายได้ในระดับที่เลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้สบายๆ จนสามารถใช้คำว่า "เหลือๆ" ก็ไม่เกินความจริงไปมากนัก การได้เงินตอบแทนเยอะจึงเป็นเหมือนเป้าหมายในการปักธงของเหล่าวัยรุ่นว่าแท้จริงๆแล้ว กีฬา อะไรที่พวกเขาควรจะเล่น

ไม่ต้องเเปลกใจเลยที่นักวิ่งจะไม่ติดอันดับอะไรกับเขาในแง่ของการทำเงิน เพราะมีการเปิดเผยตัวเลขสนับสนุนนักกีฬาที่มีน้อยมาก เมื่อเอาไปเทียบกับกีฬายอดนิยมอย่างฟุตบอล

แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เคยเสริมทัพ ซีซั่นเดียวด้วยงบประมาณมากกว่า 200 ล้านปอนด์ เพื่อนักเตะไม่กี่คน แต่สำหรับนักวิ่งนั้นกว่าจะได้เงินแต่ละบาทนั้นแสนยากเย็น เพราะงบจากฝั่งเดียวที่ได้แน่ๆ 100% คืองบประมาณจากรัฐบาลที่มอบให้ราว 140 ล้านปอนด์ต่อ 1 ปี

เอาล่ะคุณอาจไม่เห็นความต่างมากนักด้วยตัวเลขที่ใกล้เคียงนี้ แต่หากเจาะเข้าไปในชุดข้อมูลที่มีคือ แมนฯ ซิตี้ ใช้เงิน 200 ล้านปอนด์ เพื่อนักฟุตบอล 5 คน แต่ทีมกรีฑานั้นใช้เงิน 140 ล้านปอนด์ เพื่อมอบเป็นแรงใจให้กับนักกีฬาในการดูแลของพวกเขามากกว่า 100 คน  

และ 100 คนในที่นี้ เป็นการมัดรวมกันหมดทั้งนักกีฬาระดับโอลิมปิก รวมถึง พาราลิมปิก ด้วย เมื่อแบ่งให้ชัดๆ ตีออกมาเป็นตัวเลขเเบบเฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่คนละ 30,000 ปอนด์ต่อปี (ราว 1.2 ล้านบาท) เท่านั้น นี่คือค่าแรงที่เท่ากับนักฟุตบอลระดับกลางค่อนล่างของพรีเมียร์ลีกที่ได้รับต่อ 1 สัปดาห์

เท่านั้นยังไม่พอการเป็นนักวิ่งหรือกีฬาอื่นๆของเกรท บริเตน ที่ได้ไปแข่งในโอลิมปิก นั้นนอกจากความภูมิใจเเล้ว คุณแทบจะไม่ได้อะไรกลับมามากมายนัก หากดูจากรางวัลของนักกีฬาในชาติอื่นๆที่ไปสร้างชื่อเสียงในกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ


Photo : skysports.com

สิงคโปร์ เคยแจกเงินให้กับ โจเซป สคูลลิ่ง นักว่ายน้ำที่คว้าเหรีญทองโอลิมปิก 2016 ในการแข่งขันท่าผีเสื้อระยะ 100 เมตร เป็นจำนวนถึง 1 ล้านดอลล่าร์สิงคโปร์ โดยจำนวนเงินเกินกว่าครึ่ง 600,000 ดอลล่าร์ เป็นการควักกระเป๋าของรัฐบาลสิงคโปร์เพียวๆเลย ส่วน บริเตน คือ "0" ไม่ได้อะไรเลยสำหรับค่าเหนื่อยหรือโบนัสพิเศษ นี่คือการยืนยันจาก เจสัน เคนนี่ นักปั่นจักรยานที่เคยคว้า 3 เหรียญทอง และ เจด โจนส์ เหรียญทอง เทควันโด ในโอลิมปิก 2 สมัยติดต่อกัน

บริเตน มีนักกีฬาเก่งๆได้รับเหรียญทองเยอะเเล้ว จึงแจกเงินเยอะไม่ได้ หรือจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ตัวเลขที่กล่าวมาทั้งหมดคงพอทำให้เห็นภาพได้บ้างว่า เจมส์ เอลลิงตัน กำลังเจอกับอะไรในอนาคต...เขาคงหวังที่จะรวยยากสำหรับการเลือกเส้นทางนี้ ทว่าเมื่อย้อนกลับไปบางครั้งความฝันของเขาก็ไม่ได้อยู่ที่ว่าได้ค่าตอบแทนมากแค่ไหน แต่มันขึ้นอยู่กับว่าเขาได้ทำเต็มที่พยายามแบบสุดความสามารถบนเส้นทางที่ตัวเองเลือกเเล้วหรือยัง

อย่าเชื่อใจโซเชี่ยลมากนัก

เรื่องความพยายามนั้นไม่ต้องสงสัยเพราะ เจมส์ เอลลิงตัน ทุ่มเทให้กับการวิ่งมาเเล้วเกิน 10 ปี ดังนั้นอุปสรรคเรื่องเงินๆทองๆ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะเงินมีอยู่ทุกที่ อยู่ที่ว่าเราจะออกแรงคว้ามาได้หรือไม่เท่านั้นเอง


Photo : www.telegraph.co.uk

ทางออกนั้นพอมี นักกีฬาวิ่งเก่งๆจากบริเตนอย่าง มัวริซ กรีน, โม ฟาราห์ มีชื่อเสียงและทำเงินได้มากมายจากการมีสปอนเซอร์เป็นไนกี้ เอลลิงตัน พอจะทำแบบนั้นได้บ้างเหมือนกัน ทว่าโจทย์ของเขามันใหญ่กว่าคนอื่นๆที่ผ่านมา เขาอาจจะเคยวิ่งในโอลิมปิกมาเเล้ว แต่เขาไม่เคยได้เหรียญทอง และชาติมหาอำนาจก็มักจะไม่เหลียวแลใครมากนัก หากเขาคนนั้นไม่ใช่ระดับฮีโร่ และประการที่สองคือก่อนหน้านี้ เอลลิงตัน ต้องใช้เวลาพักรักษาตัวจากอาการบาดเจ็บมานานถึง 3 ปี การมีช่วงเวลาที่เจ็บยาวไปบ้างก่อนหน้านี้จนทำให้แรงกิ้งของเขาลดลงต่ำกว่า 30 อันดับแม้จะมาเร่งฟิตกลับมาทำอันดับได้ในช่วง 1 ปีหลังแต่อันดับก็ส่งผลต่อการพิจารณา... ดังนั้นการหา สปอนเซอร์จึงเป็นเรื่องยาก บริษัทห้างร้านมักจะมองว่านักกีฬาแบบเขาไม่คุ้มค่าการลงทุน

เอลลิงตัน จึงใช้วิธีแบบบ้านๆ ด้วยการรับงานพาร์ทไทม์เป็นโค้ชนักวิ่งให้กับเด็กนักเรียนในท้องถิ่น แม้จะได้เงินกลับมาบ้าง แต่ปัญหาคือมันไม่มีความสมดุล เมื่อเขาเเบ่งเวลาไปสอนคนอื่นเขาก็จะไม่มีเวลาฟิตซ้อมร่างกายตัวเอง...


Photo : www.telegraph.co.uk

"ผมพูดมาตั้งแต่แรกแล้วว่าผมอยากจะได้เงินสนับสนุนเพื่อให้ผมได้มีโอกาสฝึกซ้อมแบบเต็มเวลา มันใช้เวลาแค่ 5 เดือนเท่านั้นตอนที่ผมกลับมาแข่งวิ่งได้ คุณเองก็เห็นว่าผมสามารถทำอะไรได้บ้าง ถ้าผมได้เงินก้อนนี้ผมก็จะได้ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมยิ่งกว่าที่เคยแน่นอน" เอลลิงตัน กล่าวถึงช่วงการหาทุน

เขาต้องการเงินราว 32,500 ปอนด์ หรือเทียบเท่ากับที่รัฐบาลจ่ายให้ภายในเวลา 1 ปี เพื่อนำมาเป็นค่ากินอยู่และใช้จ่ายสำหรับฝึกซ้อม นั่นจึงทำให้เขาต้องทำในสิ่งที่ไม่มีนักกีฬาคนไหนทำ นั่นคือการขายตัวเอง ด้วยการเปิดประมูลหาผู้สนับสนุนให้ตัวเองผ่านอีเบย์ เว็บไซต์ประมูลสินค้าออนไลน์ โดยเขาให้สัญญาว่าจะสวมใส่ผลิตภัณฑ์ของผู้ที่ให้ราคาประมูลสูงสุดในการลงแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กำลังจะมาถึง 


Photo : express.co.uk

เรื่องราวการประมูลตัวเองกลายเป็นข่าวดังในอังกฤษทันที เพราะการทำเช่นนี้ไม่ค่อยมีให้เห็นบ่อยๆนัก และเมื่อมั่นเป็นข่าวดังและอยู่ในกระแสจึงเริ่มมีสินค้าหลายเจ้าเริ่มจะใส่ราคาประมูลตัว เอลลิงตัน มาทีละนิดๆ จนกระทั่งมีกลุ่มทุนที่ไม่ประสงค์ออกนามจะทำฮือฮาด้วยการเสนอเงิน 32,500 ปอนด์ ก้อนเดียวเพียวๆเน้นๆตามที่ เอลลิงตัน ต้องการ

เอลลิงตันดีใจมากที่ได้โปรเจ็คต์ของเขาได้รับความสนใจและได้รับการสนับสนุน เพื่อที่เขาจะได้โฟกัสไปกับการซ้อมอย่างเต็มที่ ทว่าเมื่อเขาปิดประมูล กลุ่มทุนลึกลับกลับหายเข้ากลีบเมฆและไม่เคยโผล่หน้ามามอบเงินที่ประมูลตามที่ตกลงกันไว้ให้เขาเล่นแม้แต่ปอนด์เดียว เขาโดนเล่นงานเสียเเล้วจากจากพิษภัยของเกรียนคีย์บอร์ดที่เล่นไม่รู้กาลเทศะ และไม่รู้ว่านี่คือสิ่งที่ เอลลิงตัน จริงจังและฝันมาโดยตลอด

จบแบบไม่แฮปปี้

"ผมฝันถึงมัน ผมคิดว่านี่คือไอเดียที่จะทำให้มันเกิดขึ้นได้ ผมต้องทำให้ได้และทำให้เกิดในปีนี้ด้วย บางครั้งก็มีหลายคนที่อยากจะมีมิตรไมตรีกับผมในตอนที่ผมวิ่งได้ดี  แต่บางคนก็แทบไม่อยากรู้จักผมเลยในวันที่ผมล้มลง....ช่างมันเถอะ มันไม่ได้ทำให้ผมรำคาญอะไรนักหรอก ผมรู้ว่าผมสามารถทำได้และจะแสดงให้ทุกคนเห็นด้วย"


Photo : www.zimbio.com

การโดนหักหน้ากลางโลกอินเตอร์เน็ตถือว่าเป็นเรื่องที่ทำลายความหวังของ เอลลิงตัน แต่อีกมุมหนึ่งก็เป็นโอกาสดี เพราะผู้คนส่วนใหญ่ชอบเรื่องราวดราม่า คนที่พยายามอย่างสุดชีวิต แต่มีมารผจญแบบนี้ พวกเขาอยากจะรู้ว่าพอจะช่วยเหลืออะไรได้บ้าง  หลายฝ่ายเริ่มเห็นใจในสิ่งทีเกิดขึ้นกับเขามากขึ้น ว่าง่ายๆคือการโดนหลอกทำให้เรื่องราวของเขาน่าสงสาร และเป็นดราม่าที่กระทบจิตใจจนที่สุดเเล้วสปอนเซอร์ใหญ่ก็เลือกจะกลับมาลงทุนลงแรงกับเอลลิงตันอีกครั้ง

"เราจะช่วยนักวิ่งที่ยูเค เจมส์ เอลลิงตัน ด้วยเงินสปอนเซอร์จำนวน 30,000 ปอนด์ และจะทำให้เขาได้เต็มที่กับ โอลิมปิกที่ลอนดอน" พาดหัวหน้าเว็บไซ์เครื่อข่ายของครีมโกนหนวด King of Shaves เปิดตัวในช่วงเวลาที่ เอลลิงตัน กำลังเข้าตาจนถึงขีดสุด

นั่นจึงทำให้ เอลลิงตัน ได้ไปแข่งขัน โอลิมปิก ที่ ลอนดอน ตามที่เขาตั้งใจ นอกจากนี้ในอีก 4 ปีต่อมาเขายังได้ไปแข่งในโอลิมปิกส์ ที่กรุง ริโอ เด จาเนโร อีกด้วย

จริงๆแล้วเรื่องนี้ควรจะจบลงแบบเเฮปปี้เอนดิ้ง เอลลิงตัน ควรจะต้องคว้าเหรียญใดสักเหรียญใน 2 ครั้งที่ไปแข้งโอลิมปิก ทว่าสุดท้ายเเล้วก็คว้าน้ำเหลว ร่างกายของเขาไม่หมือนเดิมนัก นับตั้งแต่วันที่เจ็บยาวไปในช่วงวัยรุ่น

โอลิมปิกทั้ง 2 ครั้งของเขาจบลงไม่สวยนักเพราะทำได้เพียงการคว้าอันดับที่ 5 ในครั้งแรกที่ลอนดอน ขณะการแข่งที่ ริโอ เขาก็ไม่ได้เหรียญติดไม้ติดมือมาเช่นกัน  แต่เท่านั้นยังไม่พอมันมีเรื่องค่อนข้างเลวร้ายกว่านั้นอีก เพราะในในปี 2017 ระหว่างที่เขาออกไปเก็บตัวที่ประเทศสเปน ในเมือง เตเนริเฟ่ เอลลิงตัน เเละเพื่อนทีมวิ่งผลัดของทีมเกรท บริเตน อีกหนึ่งคนกลับประสบอุบัติเหตุทางรถจักรยานยนต์ และที่สุดเเล้วทั้งคู่ก็ต้องออกจากวงการ เพราะร่างกายไม่ไหวแล้ว แม้ใจจริง เอลลิงตัน อยากจะสู้ในโอลิมปิกปี 2020 ที่ โตเกียว สักครั้งก็ตาม


Photo : www.teamgb.com

เรื่องนี้จริงๆแล้วมันก็ไม่ได้ความพีคถึงขีดสุดอะไรมากมายซ่อนอยู่หรอก เพียงแต่ว่ามันเเสดงให้เห็นว่าเงินสนับสนุนจากภาครัฐสำคัญแค่ไหน เอลลิงตัน อาจจะได้เหรียญสักเหรียญในโอลิมปิก หากเขาไม่ต้องพะวักพะวงหางานพาร์ทไทม์ทำเป็นปีๆจนเสียเวลาฝึกซ้อม นอกจากนี้สิ่งที่เราเห็นได้ชัดๆอีกอย่างคือไม่ว่าจะยุคสมัยไหนมันจะต้องมีคนประเภทที่ว่าเห็นทุกอย่างเป็นเรื่องเล่นไม่ได้สนใจมารยาทในการอยู่ร่วมกันในสังคมเลย  ครั้งนี้อาจจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่เพราะ King of Shaves จัดการยื่นมือเข้ามาช่วยได้ทันเวลา แต่เราก็ต้องยอมรับว่านับวันเหล่าผู้ใช้อินเตอร์เน็ตนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเรื่องการ "ทะลึ่งไม่เข้าเรื่อง" มันจะไม่หมดไปง่ายๆแน่นอน   

หากวันหนึ่งมีผู้ป่วยต้องการเลือดกรุ๊ปพิเศษ และมีคนมาบอกว่าจะบริจาคอย่างเป็นเรื่องเป็นราว แต่ลงท้ายด้วยการพิมพ์ว่า "ล้อเล่น 555" มันคงเป็นอะไรที่น่าสังเวชไม่น้อย...  เรื่องแบบนี้แก้ยาก คนพวกนี้มักจะไม่ยอมเข้าใจและเห็นใจใครมากนักจนกว่าพวกเขาจะเป็นฝ่ายถูกกระทำเสียเอง  

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook