หัวใจไม่ได้เสริมใยเหล็ก : เหตุใด "หัวใจวาย" กับนักกีฬาถึงใกล้ตัวกว่าที่คุณคิด

หัวใจไม่ได้เสริมใยเหล็ก : เหตุใด "หัวใจวาย" กับนักกีฬาถึงใกล้ตัวกว่าที่คุณคิด

หัวใจไม่ได้เสริมใยเหล็ก : เหตุใด "หัวใจวาย" กับนักกีฬาถึงใกล้ตัวกว่าที่คุณคิด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หัวใจ คืออวัยวะสำคัญมากที่สุดเป็นลำดับต้นๆของร่างกาย หน้าที่ของมันคือการสูบเลือดและส่งไปยังอวัยวะต่างๆให้มีแรงทำงานอย่างแข็งขัน...

อย่างไรก็ตามทุกอย่างมีเวลาของมัน นานวันเข้าหัวใจที่ทำงานมาอย่างหนักหน่วงก็อาจจะบกพร่องได้หากไม่ดูแลให้ดี ดังนั้นเราจึงได้ยินคำกล่าวที่ว่า "การออกกำลังกายทำให้หัวใจแข็งแรง" มาตั้งแต่ไหนแต่ไร ซึ่งหากว่ากันตามตรงแล้วมันคือทฤษฎีที่ได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์มาแล้ว แต่แปลกหรือไม่ทำไมทุกวันนี้ยังมีข่าวว่าเหล่าผู้ช่ำชองในการออกกำลังกาย หรือแม้แต่กระทั่งนักกีฬาอาชีพที่ผ่านการฟิตซ้อมมากกว่าคนปกติทั่วไป พวกเขากลับเสียชีวิตและประสบปัญหากับโรคหัวใจในรูปแบบต่างๆได้ และล่าสุดคือ อิเคร์ กาซิยาส นายทวารแชมป์โลกชาวสเปนที่เกิดอาการวูบจากหัวใจวายเฉียบพลันขณะที่ลงซ้อมอยู่กับต้นสังกัดเหมือนปกติที่เคยทำทุกวัน

เคราะห์ดีที่ กาซิยาส ไม่เป็นอะไรมากมายนัก แต่มันก็เกิดแรงกระเพื่อมให้ทั่วโลกตื่นตัวครั้งใหญ่ เพราะปัจจุบันมีหลายคนหันมาออกกำลังกายเป็นจำนวนมาก แล้วเราจะทำอย่างไรดีให้สุดท้ายความปรารถนาดีที่อยากให้ร่างกายแข็งแรงไมแปรเป็นผลร้ายทำลายชีวิต และที่สำคัญคือการหาสาเหตุว่าทำไมนักกีฬาอาชีพจึงสามารถเป็นโรคหัวใจวายได้ง่ายดายนัก  ติดตามกับ Main Stand ได้ที่นี่

นักกีฬาอาชีพออกกำลังกายหนักแค่ไหน?

แม้จะมีคนสงสัยว่าเพราะ กาซิยาส เป็นผู้รักษาประตูหรือเปล่าจึงทำให้กล้ามเนื้อหัวใจของเขาไม่แข็งแกร่งเหมือนกับนักเตะตำแหน่งอื่นๆ แต่ความจริงคือแม้เขาจะมีตำแหน่งเป็นผู้รักษาประตู เขาก็ใช้พลังทางร่างกายในการลงฝึกซ้อมเยอะไม่ต่างจากนักเตะตำแหน่งเอาต์ฟิลด์เท่าไรนัก เพราะการทดสอบความฟิตในระดับอาชีพนั้นไม่มีการแบ่งตำแหน่ง ทุกๆคนต้องทำให้ได้ตามขีดจำกัดที่ทีมสตาฟฟ์วางไว้ให้


Photo : news.abs-cbn.com

นักฟุตบอลส่วนใหญ่จะใช้เวลาซ้อมและออกกำลังกายประมาณ 4-5 ชั่วโมงต่อวัน ในส่วนนี้จะรวมทั้งหมดทั้งการฝึกเล่นกับลูกฟุตบอล เข้าโรงยิม และ "คาร์ดิโอ" หรือการออกกำลังกายที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นเพื่อทำให้สามารถรับมือกับการออกกำลังกายที่เข้มข้นได้ และสำหรับการซิยาสที่ผ่านการฝึกเช่นนี้มาตั้งแต่อายุ 16 ปี จนปัจจุบันอายุของเขานั้น 38 ปีแล้ว นั่นหมายความว่าเขาผ่านการฝึกซ้อมและออกกำลังกายมามากกว่า 10,000 ชั่วโมงเลยทีเดียว


Photo : www.dailymail.co.uk | @casillas

การออกกำลังกายในระดับนี้ได้ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเขาแข็งแรงขนาดไหนจนไม่น่าจะถึงขั้นวูบและหมดสติไปได้ง่ายๆ ทว่าหัวใจเป็นอวัยวะที่ละเอียดอ่อนและทำงานหนักตลอด 24 ชั่วโมง แม้แต่ยามที่เรานอนหลับพักผ่อน จึงยากจะคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นตอนไหน จริงอยู่ที่โรคหัวใจส่วนใหญ่มักจะมีอาการแรกเริ่มให้ได้สังเกตทั้งการเจ็บหน้าอก,ตัวเย็น,เหงื่อออก และ หอบ แต่มันก็ไม่เสมอไป เพราะมันมีโรคที่ชื่อว่า Sudden Cardiac Death in the Young หรือโรคหัวใจล้มเหลวก่อนวัยอันควร ที่ไม่มีสัญญาณเตือนใดๆ หากมันมาเยือนแล้วต้องถึงมือหมอให้เร็วที่สุดเพื่อเพิ่มโอกาสในการรอดกลับมาใช้ชีวิตอีกครั้งอย่างที่กาซิยาสเป็น

รู้จัก Sudden Cardiac Death in the Young

เปิดหัวด้วยชื่อทางการแพทย์แบบนี้อาจจะทำให้เหมือนมันเป็นเรื่องไกลตัว แต่ความหมายแบบบ้านๆของมันคือ "การประสบภาวะเกี่ยวกับหัวใจก่อนวัยอันควร"  .... ซึ่งวัยอันควรที่ว่านั้นคือ 35 ปี


Photo : Ihc2015.info

หลายคนอาจจะคิดว่าสารพิษต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันทำให้โรคประหลาดหาคำอธิบายยากนี้เกิดขึ้น แต่ไม่ใช่เลย จริงๆแล้วโรค Sudden Cardiac Death เกิดขึ้นมาตั้งแต่ 500 ปีก่อนคริสต์กาล หรือตั้งแต่ยุคกรีกโน่นนเลยทีเดียว และผู้เสียชีวิตจากโรคนี้เป็นคนแรกไม่ใช่แค่อายุ 35 ปี แต่เขายังเป็นคนที่มีร่างกายแข็งแกร่งกว่าชาวเมืองทั่วไปหลายเท่า ชื่อของเขาคือ Phidippides

Phidippides คือชาวกรีกที่ทำหน้าที่ผู้ส่งข่าวสารประจำเมือง หรือให้เข้าใจง่ายหน่อยก็ไม่ต่างอะไรกับ บุรุษไปรษณีย์ ทว่าสิ่งที่เขาต้องทำ เปรียบเทียบง่ายๆกับปัจจุบันคงเป็นนักวิ่งระยะไกล เพราะเขาต้องวิ่งส่งข่าวเป็นระยะทางรวมถึงราว 150 ไมล์ ในระยะเวลา 2 วัน จากเมือง มาราธอน ถึง เอเธนส์ ใน "สงครามแห่งมาราธอน"  

ในเหตุการณ์ตำนาน มาราธอน นั้น Pheidippides มีหน้าที่ต้องเดินสารระหว่างทั้งสองเมือง ซึ่งมีระยะห่างกันราว 26 ไมล์ ไปๆ กลับๆ ซึ่งรวมถึงการประกาศสุดท้ายข่าวว่า เอเธนส์ เอาชนะ เปอร์เซีย ได้แล้วอีกด้วย อย่างไรก็ตามด้วยระยะเวลาที่ยาวนานและแทบไม่ได้พักเมื่อเขาเดินทางมาถึงเมือง เอเธนส์ และส่งข้อความชัยชนะเเล้วเขาจึงทำให้เขาเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจวายเฉียบพลัน และเหตุการณ์ดังกล่าวถูกอ้างอิงในประวัติศาสตร์ว่าเป็นจุดกำเนิดของ มาราธอน ที่เป็นที่นิยมจนถึงทุกวันนี้

ก่อนจะเสียชีวิตนั้น Phidippides นั้นเกิดอาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ซึ่งโรคนี้เกิดจาการการที่หัวใจไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆได้ในทันที มันเหมือนกับการถอดปลั๊กไปดื้อๆจนร่างกายช็อตไปเลยอะไรประมาณนั้น ปกติแล้วโรคดังกล่าวจะเกิดกับคนที่มีโรคอื่นๆแทรกซ้อนอย่าง ความดัน และ เบาหวาน รวมถึงกลุ่มคนที่อายุมากกว่า 35 ปีเป็นส่วนใหญ่ แต่เหตุใดกลุ่มนักกีฬาอาชีพที่ฟิตกับแบบเต็มถังยังต้องมาเสี่ยงหรือเสียชีวิตกับโรคนี้ได้กันล่ะ?

ในส่วนนี้เราจะมาว่ากันถึงคนที่แข็งแรงหรือนักกีฬาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยเฉพาะนักกีฬาอาชีพอย่างฟุตบอลนั้น ก่อนฤดูกาลจะเริ่มแข่งขันพวกเขาต้องตรวจร่างกายกันอย่างละเอียดโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ คนไหน Fat หรือไขมันเยอะก็จำเป็นต้องไปเอาออก กล้ามเนื้อส่วนไหนแข็งแรงก็สามารถไปเสริมได้แล้วแต่การวินิจฉัย แต่สำหรับโรคหัวใจนั้นไม่มีอะไหล่ให้เปลี่ยนหรือทางแก้มากมายนัก และถ้าพวกเขาถูกตรวจเจอปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ ท้ายที่สุดมักลงท้ายด้วยการเลิกเล่นเพื่อลดความเสี่ยงในการเสียชีวิต


Photo : iafmacun.org

หากยังจำกันได้ รูเบน เดอ ลา เรด อดีตนักเตะของ เรอัล มาดริด ที่ถูกตรวจพบว่าป่วยโรคหัวใจในปี 2008 หลังจากล้มหมดสติคาสนามในศึก โกปา เดอ เรย์ ในปีเดียวกัน ก็ต้องประกาศเลิกเล่นทันทีหลังจากนั้น นอกจากนี้ยังมี ฟาบริซ มูอัมบ้า กองกลางดาวรุ่งของ โบลตัน ที่เกิดอาการวูบล้มและมีอาการชักเกร็งในระหว่างเกมที่พบกับ สเปอร์ส ในปี 2012 จนต้องหามส่งโรงพยาบาลทันที และหลังจากนั้นเขาก็ประกาศเลิกเล่นเหมือนกัน  เพราะมีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วสำหรับนักฟุตบอลอาชีพที่เสียชีวิตจากโรคหัวใจอย่าง มาร์ค วิเวียน โฟเอ้ ในปี 2003, ดาเนี่ยล ฆาร์เก้ ในปี 2009 หรือแม้แต่ ยูโก้ อีไฮอ็อก ซึ่งแม้จะเลิกเล่นไปเป็นสตาฟฟ์โค้ช แต่ก็ยังคงฟิตซ้อมร่างกายอยู่เสมอ ทว่าเขากลับเสียชีวิตเมื่อปี 2017 ขณะอายุเพียง 44 ปี

เหตุผลที่คนแข็งแรงเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ

คนออกกำลังกายทุกวันต้องมีสภาวะการทำงานของหัวใจที่แข็งแรงอยู่แล้ว ดังนั้นการตรวจพบส่วนใหญ่ของกลุ่มคนอายุน้อยหรือนักกีฬาที่ประสบพบกับโรคเหล่านี้มักจะเกิดจากความปกติแต่กำเนิดแทบทั้งสิ้น โดยมี 2 อย่างใหญ่ในส่วนของความผิดปกติคือ หัวใจหนาผิดปกติแต่กำเนิด  และ เส้นเลือดหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด


Photo : www.thestar.com

สำหรับ หัวใจหนาผิดปกติแต่กำเนิด กรณีถือว่าเข้าเค้าที่สุดกับกรณีศึกษากับนักฟุตบอลและนักกีฬาหลายๆคนที่ล้มวูบหรือเสียชีวิตในระหว่างออกกำลังกาย เพราะโรคนี้คนเป็นไม่รู้ตัว พวกเขาสามารถใช้ชีวิตได้โดยไม่มีอาการหรือสัญญาณเตือนอย่างเช่น การเจ็บหน้าอก,การเหนื่อยหอบ หรือ ใจสั่น เหงื่อออกท่วมตัว เหมือนกับกลุ่มเสี่ยงที่ได้กล่าวไปข้างต้น (สูงอายุ,เบาหวาน,ความดัน)  หากจะอธิบายให้ชัดเจนสักหน่อยคือการเหนี่ยวนำไฟฟ้าของกล้ามเนื้อที่ผิดปกติจนทำไปสู่การทำงานที่ผิดปกติของหัวใจ และสถานการณ์ที่เกิดอาการนี้ส่วนมากคือการใช้กำลัง ซึ่ง "ช่วงระหว่างการออกกำลังกาย" นั้นถูกนับเป็น 1 ในการใช้กำลังด้วยแน่นอน

ส่วนเส้นเลือดหัวใจผิดปกติแต่กำเนิดนั้น จะทำให้ทางเดินของเส้นเลือดอาจไปพาดอยู่ระหว่างหลอดเลือดใหญ่ เวลาออกกำลังจะโดนกดทับจากแรงดันในหลอดเลือดใหญ่ที่ล้อมรอบอยู่จนการเดินของเลือดช้ากว่าปกติและอาจจะไปเลี้ยงส่วนต่างๆไม่พอจนเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้  ดังนั้นกรณีก็เข้าเค้ากับเหล่านักกีฬาอีกเพราะเมื่อออกกำลังกายที่เป็นกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมากยิ่งทำให้เลือดที่ไปเลี้ยงส่วนต่างๆไม่พออยู่แล้วยิ่งขาดเลือดหนักเข้าไปอีก

นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆที่เกิดจากปัจจัยภายนอกอย่าง โดนกระแทกหน้าอกอย่างรุนแรงหรือบ่อยๆ,กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส และ ฮีทสโตรค หรือ ลมแดด เป็นต้น

อย่าวิตกกังวลมากนัก

จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าแม้ร่างกายจะแข็งแรงและออกกำลังกายอย่างเป็นประจำแต่ก็ใช่ว่าจะห่างไกลโรคร้าย 100%  นั่นอาจจะทำให้คุณคิดว่าแบบนี้ก็อยู่เฉยๆดีกว่าเพราะสุดท้ายก็ตายเหมือนกัน ... ซึ่งว่ากันตามตรงแล้วไม่ควรจะคิดอย่างนั้น เพราะคนจะตายต่อให้นั่งเฉยๆอยู่กับบ้านก็ตายได้ แต่การออกกำลังกายจะช่วยลดความเสี่ยงต่างๆนาๆได้แน่นอน 100%


Photo : runningwritings.com

เราไม่ควรวิตกกังวลกับเรื่องนี้มากจนเกินไปนัก เพราะสาเหตุที่เราได้เห็นข่าวนักกีฬาดังหลายๆคนประสบปัญหากับโรคนี้นั่นก็เพราะพวกเขาเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง เมื่อมีอาการที่น่าเป็นห่วงย่อมถูกนำเสนอข่าวมากกว่าคนปกติอยู่แล้ว และหากจะเทียบกันจริงๆอย่างไรเสียคนที่ไม่ออกกำลังกายและทำร้ายร่างกายตัวเองอย่างการสูบบุหรี่และไม่เลือกอาหารการกิน ย่อมมีโอกาสจะเป็นโรคหัวใจและโรคอื่นๆได้ง่ายกว่าพวกนักกีฬาหรือคนทื่ออกกำลังกายอยู่แล้ว

ถ้าเอาตัวเลขจากต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาจะพบว่าโรค Sudden Cardiac Death in the Young นั้นโอกาสเกิดราวๆ 1 ต่อ แสนคน นับจากคนอายุน้อยที่ลงทะเบียนเป็นนักกีฬาเท่านั้น... ใช่แล้วมันคือโอกาสเกิดขึ้นแบบ 1 ในแสนเลยด้วยซ้ำไป  นอกจากนี้ยังการบันทึกของฝ่ายจัดการแข่งขันมาราธอนอย่าง Mississauga Marathon และ Toronto Marathon ที่ยืนยันว่าจากผู้เข้าร่วมแข่งขันกว่า 10.9 ล้านคน มีผู้ที่ประสบพบเจอกับ หรือ เสียชีวิตจากโรคหัวใจระหว่างการแข่งขันเพียง 59 คนเท่านั้น เมื่อนำมาตีเป็นค่าเฉลี่ยจะเห็นได้ว่ามีเพียง 0.54 คนต่อนักวิ่ง 100,000 คนเท่านั้นเอง


Photo : Juventus

การดูแลสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญมาก หากคิดจะออกกำลังกายเพื่อสุขภาพแล้วจึงควรควรตรวจสุขภาพประจำปี โดยรวมถึงการตรวจสุขภาพหัวใจด้วย ปรึกษาแพทย์ถึงการออกกำลังกายว่าควรจำทำแบบไหน ออกกำลังกายหนักได้มากเท่าไหร่เพื่อลดความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด เชื่อว่าหากระแวดระวังและทำทุกอย่างภายใต้กรอบที่กำหนดไว้แล้ว โอกาสที่จะเป็นผู้โชคร้ายแบบ 1 ในแสนนั้นจะไม่เกิดขึ้นกับคุณแน่นอน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook