นาเดชิโกะ 2011 : แชมป์ฟุตบอลโลกที่ช่วยเยียวยาหัวใจจากสึนามิ

นาเดชิโกะ 2011 : แชมป์ฟุตบอลโลกที่ช่วยเยียวยาหัวใจจากสึนามิ

นาเดชิโกะ 2011 : แชมป์ฟุตบอลโลกที่ช่วยเยียวยาหัวใจจากสึนามิ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เวลาจะช่วยเยียวยาจิตใจ แชมป์ฟุตบอลโลกก็เช่นกัน

คำว่า นาเดชิโกะ มีความหมายถึงดอกหญ้าชนิดหนึ่งที่มีลักษณะต้นอ่อน แต่ทนแดดทนฝน แม้จะถูกเหยียบย่ำสักกี่ครั้งก็ลุกขึ้นมาได้ มันจึงถูกนำไปเปรียบเปรยกับผู้หญิงญี่ปุ่นที่มีความเพียบพร้อม ทั้งกริยามารยาทที่งดงาม อดทน และฉลากหลักแหลมอยู่เสมอ

ด้วยความหมายของมัน ทำให้ชื่อดังกล่าวยังถูกนำไปตั้งเป็นชื่อเรียกของทีมฟุตบอลหญิงทีมชาติญี่ปุ่น โดยมีนัยว่าทีมนี้ไม่ว่าจะล้มสักกี่ครั้ง ก็สามารถลุกขึ้นใหม่มาได้เสมอ

และครั้งหนึ่งดอกไม้ดอกนี้ ก็เคยเป็นแสงสว่างในใจให้แก่ผู้คนที่กำลังสิ้นหวัง และนี่คือเรื่องราวของพวกเธอ

นาเดชิโกะที่อ่อนแรง

ในชีวิตของนักฟุตบอลการได้เล่นฟุตบอลโลก ถือเป็นสิ่งที่ใครหลายคนฝันถึง แต่สำหรับทีมฟุตบอลหญิงญี่ปุ่นในปี 2011 ก่อนการแข่งขันฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลกที่เยอรมันจะเริ่มขึ้น มันคงเป็นความรู้สึกผสมปนเปกันไป

ย้อนกลับไปเมื่อ 4 เดือนก่อน พวกเธอต้องอยู่ในสภาพสิ้นหวัง หลังเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์ซัดถล่ม จนทำให้มีพี่น้องร่วมประเทศเสียชีวิตนับหมื่นราย  


Photo : www.theatlantic.com

คลื่นยักษ์ยังทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จังหวัดฟุคุชิมาเสียหายอย่างหนัก จนทำให้แกนปรมาณูหลอมละลาย ผู้คนนับแสนต้องอพยพออกจากพื้นที่ และเกิดภาวะขาดแคลนไฟฟ้าไปทั่วทั้งประเทศ

แม้ว่าในทีมฟุตบอลหญิงญี่ปุ่นจะไม่มีใครเกี่ยวข้องกับภัยพิบัติโดยตรง แต่วงการฟุตบอลหญิงก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก การแข่งขันต้องเลื่อนออกไปก่อนเพื่อสงวนพลังงานไว้ใช้ ในขณะที่ TEPCP Mareeze สโมสรที่มีฐานที่มั่นอยู่ในเมืองฟุคุชิมา ต้องหยุดกิจกรรมทุกอย่างใน L.League ลีกสูงสุดของฟุตบอลหญิงตลอดทั้งฤดูกาล


Photo : www.theatlantic.com

การยุติกิจกรรมชั่วคราวบีบให้ผู้เล่นในทีมต้องไปฝึกซ้อมกับทีมอื่นเพื่อรักษาสภาพความฟิต บางคนอาจจะไปซ้อมกับทีมท้องถิ่น ในขณะที่บางคนต้องบินไปไกลถึงสหรัฐอเมริกา

ภาพของความสูญเสียและข่าวรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิต ทำให้ความหดหู่ปกคลุมไปทั่วแดนอาทิตย์อุทัย การกลับมาเล่นฟุตบอลอีกครั้งยังเป็นเรื่องยาก ในขณะที่ทีมชายได้ถอนตัวจากการแข่งขันโคปา อเมริกาไปแล้ว

“ก่อนหน้านี้ ฉันรู้สึกว่ามันอาจจะไม่ใช่เวลาที่ดีนักที่จะเล่นฟุตบอล และฉันควรมีอย่างอื่นให้ทำ” อาสึสะ อิวาชิมัตสึ กองหลังของ TEPCP Mareeze กล่าว

“แต่หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อกิจกรรมของทีมต้องหยุด ฉันต้องฝึกซ้อมคนเดียว มันทำให้ฉันรู้ว่าฉันรักฟุตบอลมากแค่ไหน”  


Photo : carlesvinyas.wordpress.com

เนื่องจากนักเตะในทีม “นาเดชิโกะ” ชุดนั้นส่วนใหญ่เล่นอยู่ในญี่ปุ่น เมื่อกิจกรรมเกี่ยวกับฟุตบอลต้องพักเบรกชั่วคราว ทำให้มันส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการเตรียมทีมสำหรับฟุตบอลโลก ที่จะมีขึ้นในอีกเกือบ 4 เดือนข้างหน้า

พวกเธอลงเล่นนัดอุ่นครึ่งด้วยสถิติที่ย่ำแย่ ไม่สามารถเอาชนะใครได้เลย รวมไปถึงการพ่ายต่อสหรัฐอเมริกา 2 นัดรวด โนริโอะ ซาซากิ โค้ชใหญ่ยอมรับว่าพวกเขาเตรียมทีมได้ไม่ดีพอในการพบกับอดีตแชมป์โลก

พวกเธอจะไปได้แค่ไหน กับสภาพทีมที่ย่ำแย่เช่นนี้?

ฟุตบอลโลกที่ไม่พร้อมที่สุด

ญี่ปุ่นถือเป็นหนึ่งใน 12 ชาติแรกที่เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลกครั้งที่ 1 ที่ประเทศจีนเมื่อปี 1991 โดยในครั้งนั้นพวกเธอเก็บแต้มไม่ได้เลย และเสียไปถึง 12 ประตู มากที่สุดในทัวร์นาเมนต์ หนึ่งในนั้นคือการพ่ายต่อสวีเดนถึง 0-8

อย่างไรก็ดี นาเดชิโกะ ก็มีส่วนร่วมกับฟุตบอลโลกทุกครั้ง ผลงานที่ดีที่สุดของพวกเธอคือการผ่านเข้าสู่รอบ 8 ทีมสุดท้ายในปี 1995 และนี่ก็เป็นครั้งที่ 6 ของในเวทีรอบสุดท้าย


Photo : goldenyokocho.jp

แม้จะต้องเจอกับสถานการณ์ที่ยากลำบากแค่ไหน แต่นาเดชิโกะ ก็ไม่มีอะไรจะเสีย พวกเธอทำได้แค่ลงเล่นอย่างเต็มที่เท่านั้น และมันกลับส่งผลดีอย่างเกินคาด คว้าชัย 2 นัดในรอบแรก และแพ้ไปเพียงแค่เกมเดียว เพียงพอที่จะทำให้พวกเธอผ่านเข้าสู่รอบน็อคเอาท์

นาเดชิโกะ ยังคงทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมในรอบน็อคเอาท์ หลังเอาชนะได้ทั้ง เยอรมัน แชมป์เก่าและเจ้าภาพในช่วงต่อเวลาพิเศษ รวมไปถึงพลิกแซงชนะ สวีเดน รองแชมป์โลก 2003 ทะลุเข้าถึงนัดชิงชนะเลิศได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

หนึ่งในเคล็ดลับสำคัญที่ทำให้นาเดชิโกะ สามารถล้มสองทีมแกร่งจากยุโรป คือการที่ โนริโอะ ซาซากิ โค้ชใหญ่ของทีมได้นำวิดีโอและภาพของความเสียหายจากภัยพิบัติเมื่อวันที่ 11 มีนาคม มาให้นักเตะดูก่อนเกม เพื่อทำให้รู้ว่าพวกเธอกำลังลงเล่นเพื่ออะไร

“ในปี 2011 ญี่ปุ่นได้รับผลกระทบอย่างน่ากลัวจากแผ่นดินไหวและสึนามิ และผู้คน (ในญี่ปุ่น) ก็ให้ความสนใจในฟุตบอลโลกอย่างจริงจัง” ซาซากิ กล่าว

“ผู้เล่นจึงตอบรับสิ่งนั้น ทุ่มเททุกอย่างที่พวกเธอมีในทุกเกมและเป็นแรงบันดาลให้ชาวญี่ปุ่นทุกคน ผมทำอะไรหลายอย่างเพื่อให้แรงกระตุ้นของทีมอยู่ในระดับสูง จึงได้ทำวิดีโอภาพความเสียหายจากแผ่นดินไหว และผู้เล่นก็ได้ดูมัน”

อย่างไรก็ดี งานของพวกเธอยังไม่จบเมื่อคู่ต่อกรของพวกเธอในนัดชิงดำคือสหรัฐอเมริกา ทีมที่พวกเธอไม่เคยเอาชนะได้เลยแม้แต่ครั้งเดียว

สู้จนวินาทีสุดท้าย

สำหรับวงการฟุตบอลหญิง สหรัฐอเมริกาคือเบอร์หนึ่งของโลก พวกเธอกวาดแชมป์มาครองได้อย่างมากมาย ทั้งแชมป์โลก 3 สมัย เหรียญทองโอลิมปิก 3 สมัย และแชมป์อเมริกาเหนืออีก 8 สมัย


Photo : www.ussoccer.com

หากเทียบในเรื่องทรัพยากรบุคคล ญี่ปุ่นเป็นรองอเมริกาอย่างสุดกู่ พวกเขามีนักฟุตบอลหญิงที่ลงทะเบียนกับสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่นเพียงแค่ 25,000 คนในขณะนั้น ส่วนอเมริกาเฉพาะรัฐแคลิฟอร์เนียเพียงรัฐเดียวก็มีนักฟุตบอลหญิงถึง 200,000 คนไปแล้ว

ยิ่งไปกว่านั้น สถิติการพบกันก่อนหน้านี้ ญี่ปุ่น ยังไม่เคยเอาชนะอเมริกาได้เลยแม้แต่นัดเดียว เสมอได้เพียงแค่ 3 นัด และแพ้ไป 22 นัด เสียไปถึง 87 ประตูและยิงได้เพียง 14 ประตูเท่านั้น

ก่อนเกมจึงได้มีการส่งกำลังใจจากชาวญี่ปุ่น ที่ฮือฮาที่สุดคือการที่อาจารย์ โยอิจิ ทาคาฮาชิ ผู้วาดการ์ตูนกัปตันสึบาสะ ได้วาดภาพนาเดชิโกะ ลงในธงญี่ปุ่นและนำไปมอบให้ถึงแคมป์ทีมชาติ


Photo : www.tofugu.com

“ในฐานะผู้เล่น เราไม่สามารถทำอะไรได้มากเพื่อประเทศญี่ปุ่น แต่อย่างน้อยเราจะพยายามอย่างเต็มที่ และเล่นให้ดีที่สุดเท่าที่เราทำได้” โฮมาเระ ซาวะ กัปตันทีมกล่าวก่อนเกม  

อเมริกาเป็นฝ่ายเล่นได้เหนือกว่าตั้งแต่ต้นเกม และปูพรมเดินเกมรุกเข้าใส่อย่างหนัก และมาได้ประตูออกนำจนได้ในนาทีที่ 69 จากการวางบอลยาวของ เมแกน ราปิโน ให้ แอบบี วอมบัค เบียดเอาชนะกองหลังญี่ปุ่น เข้าไปยิงผ่านมือ อายูมิ คาอิโฮริ ได้สำเร็จ

แต่ญี่ปุ่นก็ไม่ย่อท้อ แม้จะมีส่วนสูงเฉลี่ยเพียงแค่ 162 เซนติเมตร แต่ทีมเวิร์คและความขยันของพวกเธอก็กลายเป็นอาวุธเล่นงานคู่แข่ง  และนำมาสู่ประตูตีเสมอในนาทีที่ 83 การเข้ากดดันอย่างหนักทำให้อเมริกาลนลานจนสกัดออกมาไม่ดี บอลไปเข้าทาง อายะ มิยามะ ซัดเข้าไปตุงตาข่าย เกมกลับมาเสมอกัน 1-1 จบ 90 นาทีทำให้ต้องต่อเวลาพิเศษออกไป


Photo : www.zimbio.com

ราวกับหนังม้วนเดิมเมื่อในช่วงต่อเวลาพิเศษยังเป็นอเมริกา ที่เป็นฝ่ายโหมบุกอย่างหนัก ก่อนที่จะมาได้ประตูขึ้นนำอีกครั้งในนาทีที่ 104 จากจังหวะครอสเข้ามาในกรอบเขตโทษ และเป็นวอมบัค คนเดิมที่โหม่งเข้าไปตุงตาข่าย

ญี่ปุ่นเหลือเวลาไม่มากนักที่จะตามตีเสมอ แต่ก่อนหมดเวลาเพียง 3 นาที พวกเธอก็มามีความหวังจากลูกเตะมุม อายะ มิยามะ เปิดเข้ามาที่เสาแรกตรงจุดนัดพบให้ ซาวะ ดีดเข้าไปอย่างเหนือชั้น ญี่ปุ่นตามตีเสมอได้สำเร็จ เกมต้องตัดสินด้วยการดวลจุดโทษ


Photo : www.spokesman.com

ช่วงแห่งการชี้เป็นชี้ตาย ญี่ปุ่นกลับนิ่งกว่าเมื่อยิงเข้าไปถึง 3 คนจาก 4 คนแรก ในขณะที่อเมริกาพลาดหมดใน 3 ครั้งแรก และยิงเข้าเพียงคนเดียว และนั่นก็หมายความว่าแชมป์โลกทีมใหม่ได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว

ผู้ประสบภัยคือกำลังใจของพวกเรา

“เด็กของผมเล่นด้วยใจล้วนๆ เรารู้สึกว่าพลังมาจากทุกคนที่กำลังดูทีวีอยู่ที่ญี่ปุ่น” ซาซากิ ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์หลังจบเกม


Photo : www.zimbio.com

หลังสิ้นเสียงนกหวีดที่แฟรงต์เฟิร์ต ท่ามกลางความดีใจของผู้เล่น สต้าฟโค้ชและแฟนบอลญี่ปุ่น อิวาชิมัตสึ นำธงที่เธอเขียนข้อความส่งถึงผู้คนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นโดยมีใจความว่า ‘ไม่เคยลืมพวกคุณเลย ฉันจะไปเยี่ยมพวกคุณ และนำเหรียญของฉันไปแขวนอยู่ที่นั่น’ เดินไปรอบสนาม

เธอคือชาวอิวาเตะ หนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ก่อนเกมเธอยังได้ประกาศว่าจะนำเหรียญแชมป์ไปมอบให้กับผู้คนที่นั่น เพื่อเป็นกำลังใจในการต่อสู้ในช่วงเวลาที่โหดร้าย

“หลังจากสัญญาก่อนทัวร์นาเมนต์ว่าเราจะกลับไปพร้อมข่าวดี ฉันรู้สึกมีความสุขว่าตอนนี้เราเอาข่าวที่ดีที่สุดเท่าที่ทำได้กลับบ้าน” เธอกล่าวกับ NHK

ในขณะที่ คารินะ มารุยามะ ผู้ยิงประตูชัยในเกมพบกับเยอรมันได้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวที่แฟรงต์เฟิร์ตว่าผู้ประสบภัยจากเหตุภัยบัติคือแรงบันดาลใจที่ทำให้นาเดชิโกะมาได้ถึงจุดนี้


Photo : maya02.blog3.fc2.com

“เราได้รับแรงบันดาลใจจากผู้คนในพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติ ที่กำลังต่อสู้เพื่อให้กลับมาเหมือนเดิม และฉันรู้สึกว่าชัยชนะครั้งนี้ มาจากความพยายามของคนญี่ปุ่นทั่วทั้งประเทศ”

เช่นเดียวกับ โฮป โซโล ผู้รักษาประตูของสหรัฐอเมริกา คู่แข่งในนัดชิงชนะเลิศก็รู้สึกเหมือนกันว่ามีอะไรบางอย่างช่วยให้ทีมชาติญี่ปุ่นสู้ไม่ถอยจนนำมาซึ่งความสำเร็จ

“ฉันเชื่อว่ามีบางอย่างที่ยิ่งใหญ่คอยผลักดันทีม” ผู้รักษาประตูจอมหนึบกล่าวหลังเกม

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่เพียงผู้ประสบภัยเท่านั้นที่เป็นกำลังใจให้แก่นาเดชิโกะ ในทางกลับกัน แชมป์โลกของพวกเธอก็เป็นแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ประสบภัยเช่นกัน

นาเดชิโกะเอฟเฟค

19 กรกฎาคม 2 วันหลังนัดชิงชนะเลิศ นาเดชิโกะ เดินทางกลับประเทศญี่ปุ่นพร้อมกับถ้วยแชมป์โลก พวกเธอได้รับการต้อนรับเยี่ยงวีรสตรี ท่ามกลางแฟนบอลนับพันที่แห่กันมาแสดงความยินดีในสนามบินนาริตะ


Photo : www.nippon.com

“ฉันไม่ได้รู้สึกว่าเราคว้าแชมป์โลก จนกระทั่งเรามาถึงสนามบินนาริตะ ฉันไม่เคยเห็นผู้คนมาเจอเราขนาดนี้ มันน่าทึ่งมาก” ซาวะ กล่าวถึงบรรยากาศในวันนั้น

“ผมได้ยินข่าวลือว่าจะมีคนจำนวนมากมาที่นี่ แต่นี้เหมือนกับของทีมชายเลย มันคือประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของนาเดชิโกะ” ซาซากิกล่าวเสริม

การคว้าแชมป์โลกของนาเดชิโกะ ยังทำให้ผู้หญิงในประเทศญี่ปุ่น มีความรู้สึกร่วมไปกับความสำเร็จในครั้งนี้ เพราะเดิมทีมแล้วผู้หญิงในสังคมญี่ปุ่นมักไม่ได้รับสิทธิเสรีภาพเทียบเท่าผู้ชาย

“ผู้หญิงภาคภูมิใจมากเพราะทุกอย่างเต็มไปด้วยอุปสรรคขัดขวาง” แอนดรูว์ แม็คเคอร์ดี นักข่าวกีฬาของ Japan Times กล่าวกับ CNN

“ลองดูไปที่เยอรมันและสวีเดน ทีมที่พวกเธอชนะคือหนึ่งในทีมที่ดีที่สุดของโลก มันจึงแรงบันดาลใจให้กับประเทศ”


Photo : fifa.com

ยิ่งไปกว่านั้น ความสำเร็จของนาเดชิโกะ ยังทำให้ฟุตบอลหญิงในแดนอาทิตย์อุทัยได้รับความนิยมมากขึ้น ในช่วงเวลานั้นสินค้าและของที่ระลึกของพวกเธอถูกขายจนหมดเกลี้ยง คาดกันว่ามีเงินสะพัดสูงถึง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้เศรษฐกิจที่กำลังหยุดชะงักกระเตื้องขึ้นมาได้บ้าง

ในขณะที่เกมลีกก็ได้รับความสนใจมากขึ้น ในสัปดาห์ที่พวกเธอคว้าแชมป์โลก นาเดชิโกะลีก มียอดผู้ชมเกินกว่า 20,000 คนในหลายเกม ทั้งที่ก่อนหน้านั้นยอดผู้ชมในลีกอยู่ในระดับหลักร้อยเท่านั้น

แชมป์โลกยังทำให้ฟุตบอลหญิงได้รับการเหลียวแล มีเม็ดเงินเข้าไปสนับสนุนมากขึ้น เนื่องจากก่อนหน้านี้ ผู้เล่นส่วนใหญ่อยู่ในสถานะพาร์ทไทม์ พวกเขาต้องเรียนหรือทำงานไปด้วยขณะเล่นฟุตบอล

“ทุกคนต้องไปทำงาน และฝึกซ้อมหลังจากเวลางาน สภาพแวดล้อมในการเล่นฟุตบอลไม่ค่อยดีนัก เอาจริงๆ ถึงขั้นเลวร้ายเลยล่ะ” ซาซากิอธิบาย

“ชัยชนะทำให้ฟุตบอลหญิงอยู่ในแผนที่ของญี่ปุ่น มันยังคงมีช่องว่างระหว่างกันมาก แต่มันกำลังดีขึ้น”


Photo : ja.wikipedia.org

แต่เหนือสิ่งอื่นใดในห้วงเวลานั้นคงไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการที่แชมป์โลกของพวกเธอได้กลายเป็นกำลังให้กับผู้ประสบภัยที่กำลังต่อสู้กับช่วงเวลาที่ยากลำบาก มันทำให้คนที่กำลังท้อถอยกลับมาลุกยืนได้อีกครั้ง  

“ผลงานที่สุดยอดของผู้เล่นญี่ปุ่นช่วยเพิ่มพลังใจให้ฉันจริงๆ” แฟนบอลหญิงจากจังหวัดอิวาเตะกล่าวกับ Goal

“(จากชัยชนะ) ตอนนี้ฉันรู้สึกมองในแง่ดีต่ออนาคตที่รออยู่” หญิงสูงวัยที่ต้องอพยพจากฟุคุชิมามาอยู่ศูนย์พักพิงชั่วคราวกล่าวเสริม

ในขณะที่ อาคิโนะ โยชิฮาระ นักแปลจากเกียวโต ที่ปกติติดตามการแข่งขันของผู้ชายกล่าวว่า

“ผมรู้สึกว่าผู้เล่นมั่นใจว่าจะชนะ ผมไม่แน่ใจว่าสึนามิมีผลต่อพวกเธอมากแค่ไหน แต่พวกเธอไม่เคยยอมแพ้ ทัศนคตินั้นช่วยให้เราผ่านพ้นหายนะหลังจากนั้นได้”

เช่นเดียวกับมิโฮะ คาจิโอกะ แฟนบอลจากโตเกียวที่กล่าวว่า “ผมไม่คิดว่านี่จะทำให้ผู้คนลืมหายนะได้ แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน เราก็ไม่ได้มีข่าวดีๆแบบนี้มาเลยใน 4 เดือนที่ผ่านมา”

“ราวกับว่าเราไม่มีความหวังอะไรเลยในตอนนั้น ดังนั้นในแง่ของผลงานมันจึงยอดเยี่ยมมาก เหลือเชื่อมากๆ”

ผ่านไปมาแล้วกว่า 8 ปีนับตั้งแต่ภัยพิบัติและแชมป์โลกในครั้งนั้น ทีมฟุตบอลหญิงญี่ปุ่นยังคงเดินหน้าไล่ล่าความสำเร็จมาประดับตู้โชว์ได้อย่างต่อเนื่อง พวกเธอไปไกลถึงตำแหน่งเหรียญเงินในโอลิมปิกที่ลอนดอน 2012 รวมไปถึงคว้าตำแหน่งรองแชมป์โลกในปี 2015 ในขณะที่ทีมเยาวชนก็สามารถคว้าแชมป์โลกได้อีก 2 ครั้ง นั่นคือแชมป์โลก U17 ในปี 2014 และแชมป์โลก U20 ในปี 2018


Photo : www.football-zone.net

แต่สุดท้ายคงไม่มีความสำเร็จไหนที่จะจดจำไปกว่าการคว้าแชมป์โลกของพวกเธอในปี 2011 เพราะมันไม่ได้เป็นเพียงความสำเร็จในเชิงฟุตบอลเท่านั้น แต่มันคือน้ำหล่อเลี้ยงในใจในช่วงเวลาที่โหดร้าย ที่ไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ไม่อาจจะมีสิ่งใดทดแทนได้

“มันเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่มอบแรงบันดาลใจให้กับการฟื้นฟูของพวกเรา” ยูคิฮิโกะ อาเบะ หัวหน้าสมาคมฟุตบอลของเมืองมินามิซันริคุ หนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดกล่าวกับ NHK

“ผมอยากจะพูดว่า ‘ขอบคุณ’ พวกเธอจริงๆ”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook