"อินเดียนาโปลิส - บุรีรัมย์" : สองเมืองต่างซีกโลก.. ที่เปลี่ยนชีวิตคนเมืองด้วยกีฬา

"อินเดียนาโปลิส - บุรีรัมย์" : สองเมืองต่างซีกโลก.. ที่เปลี่ยนชีวิตคนเมืองด้วยกีฬา

"อินเดียนาโปลิส - บุรีรัมย์" : สองเมืองต่างซีกโลก.. ที่เปลี่ยนชีวิตคนเมืองด้วยกีฬา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"กีฬาสร้างคน คนสร้างชาติ" คือหนึ่งในประโยคที่เราเชื่อว่า คนรักกีฬาน่าจะเคยได้ยินกันอยู่บ่อยๆ เพราะกีฬาถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการหล่อหลอมประชาชนทั้งในด้านกายและจิตใจให้เป็นประชากรที่พร้อมสร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ อย่างที่รัฐบาลได้กำหนดแนวค่านิยมเอาไว้

แต่หากถามว่า 'กีฬาสร้างเมือง' ล่ะ... ประโยคนี้จะเป็นความจริงบ้างได้หรือไม่? คำตอบนั้นคือ 'เป็นจริงได้' อย่างแน่นอน เพราะกีฬาสามารถทำให้เมืองจากที่เคยเงียบเหงากลับมามีสีสัน เป็นจุดหมายปลายทางของแฟนกีฬาและนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกได้อย่างแท้จริง

 

นี่คือเรื่องราวของ อินเดียนาโปลิส กับ บุรีรัมย์ สองเมืองที่ตั้งอยู่คนละซีกโลก แต่ทั้งคู่กลับมีจุดเชื่อมโยงเล็กๆ ที่เหมือนกันอย่างเหลือเชื่อ … 'กีฬา' สามารถเปลี่ยนเมืองและชีวิตผู้คนของทั้งสองเมืองนี้ได้อย่างไร?

สองเมืองในวันวาน

อินเดียนาโปลิส เมืองในภูมิภาคมิดเวสต์ (กลางค่อนไปทางตะวันตก) ของประเทศสหรัฐอเมริกา ถือเป็นอีกเมืองที่มีประวัติศาสตร์อย่างยาวนาน โดยก่อร่างสร้างเป็นเมืองขึ้นเมื่อปี 1821 อีกทั้งยังเป็นเมืองที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสงครามกลางเมืองระหว่างปี 1861-1865 ในฐานะฐานที่มั่นของฝ่ายเหนือที่ได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอล์น

 1

หลังจากสงครามยุติ อินเดียนาโปลิสก็เป็นอีกเมืองที่ได้รับผลประโยชน์จากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 หรือ การปฏิวัติทางเทคโนโลยี ที่เกิดขึ้นระหว่างช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 ทำให้มีการเปิดบริษัทต่างๆ ในเมืองนี้เป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับจำนวนประชากรที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น

ทว่าเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 1913 รวมถึงความขัดแย้งทางสีผิว ซึ่งอินเดียนาโปลิสถือเป็นอีกเมืองสำคัญอันเป็นฐานที่มั่นของ Ku Klax Klan กลุ่มคนขาวเหยียดคนผิวดำ ก็กลายเป็นสาเหตุที่ทำให้เมืองค่อยๆ เสื่อมโทรมลง เมื่อไม่ค่อยมีใครกล้าที่จะย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในเมืองแห่งนี้มากนัก

"ความเสื่อมโทรมของอินเดียนาโปลิสในยุคก่อนน่ะเหรอ? ถ้าพูดให้เห็นภาพก็คือ ถ้าคุณเดินไปที่ Monument Circle อนุสาวรีย์ใจกลางเมืองในอดีต สิ่งที่คุณจะเจอก็คือ นกพิราบ เพราะไม่ค่อยมีผู้คนอาศัยอยู่ในเมืองนี้เลย ถึงขนาดที่บางครั้งยังมีการจัดสาธิตยิงนกพิราบด้วยปืนลูกซองในการประชุมหอการค้าเลย" มาร์ก เทรซี่ ผู้สื่อข่าวกีฬาของ The New York Times เผยถึงสภาพเมืองอินเดียนาโปลิสในอดีต

"สมัยก่อนเนี่ย ผู้คนรู้จักเมืองนี้ในชื่อ 'India-no-place' ไม่ก็ 'Naptown' เพราะมันช่างเงียบเหงา ไม่มีที่ไหนให้เที่ยว ไม่มีอะไรให้ทำ สิ่งที่ทำได้ในอินเดียนาโปลิสคงหนีไม่พ้น 'การนอน' ... แค่นั้นเอง"

ส่วน บุรีรัมย์ จังหวัดทางตอนใต้ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย แม้จะเคยเป็นดินแดนที่ตั้งอยู่ท่ามกลางความเจริญของอาณาจักรขอมในอดีต ทว่ากาลเวลาผ่านไป บ้านเมืองก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปตามกาลเวลา จน พันตรีหลวงศักดิ์รณการ ผู้แทนราษฎรบุรีรัมย์คนแรก เคยกล่าวถึงสภาพจังหวัดตนไว้เมื่อปี 1934 (พ.ศ. 2477) ว่า

"จังหวัดบุรีรัมย์เป็นจังหวัดหนึ่งซึ่งเร้นลับอยู่ชายด้าวปลายแดน เมื่อเอ่ยถึงชื่อก็หาผู้ที่รู้จักสภาพและความเป็นอยู่ของจังหวัดนี้ได้น้อยเต็มที ทั้งนี้เพราะจังหวัดนี้เป็นจังหวัดที่มีความเจริญน้อย ไม่เคยมีชื่อเสียงปรากฏในพงศาวดาร จึงไม่อยู่ห้วงนึกของนักท่องเที่ยว หรือนักศึกษาทั้งหลายดุจจังหวัดอื่นๆ"

 2

วิถีชีวิตของชาวจังหวัดบุรีรัมย์ส่วนใหญ่นั้นคือการเป็นชาวนา ซึ่งก็ต้องพึ่งฟ้าพึ่งฝนเป็นสำคัญ และเรื่องนี้เองที่ทำให้ชาวบุรีรัมย์ส่วนมากประสบกับปัญหาความยากจน เมื่อฟ้าฝนนั้นแห้งแล้ง ขณะที่ราคาผลผลิตทางการเกษตรก็ตกต่ำ บุรีรัมย์จึงเคยถูกจัดอันดับให้เป็น 'จังหวัดที่จนที่สุดของประเทศไทย' ในอดีต ซึ่งประโยคจากปากของ เนวิน ชิดชอบ ชายผู้ทรงอิทธิพลอันดับ 1 แห่งจังหวัดบุรีรัมย์ในปัจจุบัน คงสามารถอธิบายถึงความเป็นจังหวัดแห่งนี้ได้ดีที่สุด

"พระเจ้าไม่ให้ภูเขา พระเจ้าไม่ให้ทะเลแก่เมืองบุรีรัมย์ พระเจ้าให้แต่พื้นที่แห้งแล้งแก่เรา"

วิสัยทัศน์เปลี่ยนเมือง

จะว่าไปแล้ว สิ่งที่ธรรมชาติประทานให้กับอินเดียนาโปลิสและบุรีรัมย์นั้นดูจะคล้ายคลึงกันไม่น้อย เมื่อทั้งสองเมืองต่างก็เป็นเมืองที่ไม่ติดชายฝั่งทะเลทั้งคู่ จึงทำให้ไม่มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ สิ่งที่ดูจะต่างกันอย่างเห็นได้ชัดเจนคือ สภาพอากาศ ซึ่งอินเดียนาโปลิสหนาวเหน็บ ส่วนบุรีรัมย์นั้นร้อนและแห้งแล้ง

 3

ถึงกระนั้น อินเดียนาโปลิสเองก็มีเพชรเม็ดงามเม็ดหนึ่งที่ซุกซ่อนอยู่ในเมืองเป็นเวลานาน นั่นก็คือ อินเดียนาโปลิส มอเตอร์ สปีดเวย์ สนามแข่งรถอันเก่าแก่ สร้างขึ้นเมื่อปี 1909 และเป็นสนามกีฬาที่มีความจุผู้ชมสูงสุดในโลกถึง 257,325 คน ซึ่งถูกใช้เป็นสังเวียนจัดการแข่งขัน อินเดียนาโปลิส 500 หรือ 'อินดี้ 500' ศึกแข่งขันรถอินดี้คาร์รายการใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา และถือเป็นหนึ่งใน 'ทริปเปิล คราวน์' หรือสุดยอดการแข่งขันรถยนต์ 3 รายการใหญ่ (อีก 2 รายการคือ รถสูตรหนึ่ง โมนาโก กรังด์ปรีซ์ และ เลอ มังส์ 24 ชั่วโมง)

อินดี้ 500 คือสิ่งอันเป็นที่เชิดหน้าชูตาของเมืองมาแต่ไหนแต่ไร เพราะยามใดที่การแข่งขันมาถึง เมืองนั้นจะเต็มไปด้วยความคึกคักเสมอ ซึ่งกลุ่มผู้นำพลเรือนของเมือง นำโดย ริชาร์ด ลูการ์ นายกเทศมนตรีของอินเดียนาโปลิสในต้นยุค 1970s และ จิม มอร์ริส รองผู้ว่าการเมืองในตอนนั้นก็เห็นในสิ่งเดียวกันว่า กีฬาสามารถเป็นสิ่งที่ช่วยให้เมืองคึกคักได้จริง พวกเขาจึงเริ่มต้นการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์เพื่อให้กีฬาเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญทางเศรษฐกิจ

 4

สิ่งที่พวกเขาทำเป็นอย่างแรกคือ การใช้งบประมาณภาครัฐ รวมถึงการแคมเปญดึงดูดนักลงทุนภาคเอกชน เพื่อสร้างสนามกีฬา, โรงแรม ตลอดจนสาธารณูปโภคต่างๆ ทั้งในย่านดาวน์ทาวน์ หรือตัวเมืองอินเดียนาโปลิส และย่านชานเมือง รวมถึงก่อตั้ง อินเดียน่า สปอร์ตส์ คอร์ป (ISC) ซึ่งเป็นคณะกรรมาธิการกีฬาแห่งแรกของประเทศและของโลกขึ้น เพื่อทำหน้าที่เป็นมือประสาน ดึงดูดการแข่งขันกีฬาและหน่วยงานทางกีฬาต่างๆ เข้ามายังเมืองแห่งนี้

แต่ความทะเยอทะยานสูงสุดของพวกเขา เกิดขึ้นในปี 1982 เมื่อเมืองอินเดียนาโปลิสอนุมัติให้มีการสร้างสนามอเมริกันฟุตบอล ทั้งๆ ที่ ณ ขณะนั้นไม่มีทีมประจำเมืองเลยด้วยซ้ำ เพราะกลุ่มผู้บริหารของเมืองเชื่อว่า "หากสร้างมันขึ้นมา เดี๋ยวก็มีคนมาขอใช้เอง"

อันที่จริง โปรเจ็คท์ฟุตบอล สเตเดี้ยมนั้นมีเพื่อรองรับเหตุการณ์ในอนาคตหากลีกอเมริกันฟุตบอล NFL ตัดสินใจเพิ่มทีม แต่ด้วยปัญหาของทีม บัลติมอร์ โคลท์ส ซึ่งความต้องการขอให้เมืองบัลติมอร์ช่วยอุดหนุนงบสร้างสนามแข่งขันใหม่ไม่ได้รับการตอบสนอง ฝ่ายบริหารเมืองอินเดียนาโปลิสจึงอาศัยจังหวะนี้ขายโปรเจ็คท์ดังกล่าว จนที่สุดแล้ว โรเบิร์ต เออร์เซย์ เจ้าของทีมในขณะนั้น ก็ตัดสินใจย้ายทีมมาที่เมืองนี้ในปี 1984 พร้อมกับเปลี่ยนชื่อทีมเป็น อินเดียนาโปลิส โคลท์ส

 5

ไม่เพียงเท่านั้น พวกเขายังพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ใช้ปัญหาของสมาคมกีฬามหาวิทยาลัยของสหรัฐอเมริกา หรือ NCAA องค์กรที่ดูแลการแข่งขันกีฬาปัญญาชนทั้งหมดของประเทศ ที่ไม่พอใจกับสาธารณูปโภคในรัฐแคนซัส สถานที่ตั้งของสำนักงานใหญ่แห่งเดิมเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้กับเมือง จนที่สุดแล้ว NCAA ตกลงที่จะย้ายสำนักงานใหญ่จากรัฐแคนซัสมาที่เมืองอินเดียนาโปลิสในปี 1999 อีกด้วย

เรื่องราวการเปลี่ยนเมืองของอินเดียนาโปลิสนั้น ถือว่าเป็นโชคเล็กๆ ที่เมืองนี้สามารถต่อยอดจากสนามแข่งรถ ของดีที่มีอยู่แต่เดิมได้ ทว่าสำหรับในกรณีของบุรีรัมย์ แทบจะเรียกได้ว่า ต้องเริ่มใหม่จากศูนย์ เพราะของดีแต่เดิมนั้นมีเพียง ปราสาทหินเขาพนมรุ้ง เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ด้วยกระแสของวงการฟุตบอลไทย ที่กำลังค่อยๆ กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง หลังมีการปรับโครงสร้างฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีก (ไทยลีก ในปัจจุบัน) ใหม่ในปี 2009 เพื่อให้สโมสรต่างๆ ยึดโยงกับท้องถิ่นมากขึ้น … แน่นอน ด้วยสายตาของนักบริหารที่เคยผ่านงานการเมืองระดับชาติมาแล้วอย่าง เนวิน ชิดชอบ ย่อมมองเห็นถึงโอกาสนี้ เขาจึงตัดสินใจที่จะเริ่มต้นด้วยการทำทีมฟุตบอล กีฬาที่คนไทยนิยมมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยการทาบทามสโมสรที่เป็นหน่วยงานของรัฐ หรือ 'ทีมองค์กร' ให้ย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่จังหวัดบุรีรัมย์

แรกเริ่มเดิมที เนวินพยายามทาบทาม ทีโอที เอสซี หรือ องค์การโทรศัพท์ฯ เดิม ให้มาเล่นที่บ้านเกิดของเขา ทว่าการเจรจากลับล้มครืนในบั้นปลาย กระทั่งได้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นพันธมิตรใหม่ เกิดเป็นสโมสร บุรีรัมย์ พีอีเอ และเริ่มใช้ชื่อนี้เป็นครั้งแรกในไทยลีกฤดูกาล 2010 ขณะเดียวกัน ก็ได้ให้ กรุณา ชิดชอบ ศรีภรรยา เป็นแกนนำสำคัญในการปลุกปั้น บุรีรัมย์ เอฟซี จากลีกภูมิภาค ดิวิชั่น 2 (ไทยลีก 3-4 ในปัจจุบัน) จนขึ้นมาอยู่ในลีกสูงสุดได้ และเกิดการรวมทีมกลายเป็น บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ในปี 2012 ซึ่งทีม 'ปราสาทสายฟ้า' ก็ได้กลายเป็นทีมที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในวงการฟุตบอลไทยสมัยใหม่จนถึงทุกวันนี้

 6

แม้ทีมฟุตบอลจะมีชื่อเสียงติดลมบน กลายเป็นทีมระดับแนวหน้าของไทยและเอเชียแล้ว แต่ เนวิน ชิดชอบ ก็ไม่คิดที่จะหยุดเพียงเท่านี้ แต่กลับเดินหน้าต่อเพื่อให้บุรีรัมย์เป็นเดสติเนชั่นของนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลกให้ได้

"ผมกลับมาคิดว่าสถานที่ที่คนเราจะไปมี 2 อย่าง คือ 1 มีอะไรที่เอ็นเตอร์เทนไหม เช่น ภูเขา ทะเล เช่น พัทยา ชะอำ ภูเก็ต ถ้าไม่ใช่ก็ต้องข้อ 2 คือ อีเวนต์ที่น่าสนใจ แต่ที่ผ่านมาคนบุรีรัมย์ไม่โชคดีเหมือนคนหัวหิน ภูเก็ต ดังนั้นเราก็ต้องสร้างเมืองให้มีอีเวนต์ แต่ต้องไม่ใช่แค่ปีละวัน ไม่ใช่แค่ออกพรรษา ไม่ใช่แค่ผีตาโขน ปีละวัน หรือเที่ยวเชียงคานก็ปีละหนเดียว ถ้าเราสามารถสร้างอีเวนต์ให้มากที่สุด คนที่คิดไม่ออกว่าจะไปที่ไหนต้องนึกถึงเมืองบุรีรัมย์"

 7

ด้วยเหตุดังกล่าว สารพัดโปรเจ็คท์ระดับโลกจึงได้ตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต สนามแข่งรถแห่งเดียวของประเทศไทยที่สามารถใช้จัดแข่งขันกีฬาความเร็วได้ทุกรายการ อันนำมาซึ่งอีเวนต์การแข่งขันรายการต่างๆ มากมายทั้งในระดับประเทศ ระดับเอเชีย จนถึงระดับโลก

เมืองเติบคนโต

การสร้างและปรับปรุงสาธารณูปโภคที่จำเป็นสำหรับการแข่งขันกีฬา รวมถึงการล็อบบี้นำการแข่งขันกีฬารายการต่างๆ มาลงในเมืองนี้อย่างต่อเนื่อง ทำให้อินเดียนาโปลิสไม่ได้มีแต่สนามแข่งรถเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีทั้งทีมบาสเกตบอล NBA, ทีมอเมริกันฟุตบอล NFL รวมถึงยังเคยเป็นเจ้าภาพอีเวนต์กีฬาระดับบิ๊กอย่าง แพน อเมริกัน เกมส์ หรือมหกรรมกีฬาแห่งทวีปอเมริกาในปี 1987, บาสเกตบอลระดับมหาวิทยาลัยชิงแชมป์สหรัฐอเมริกา, รถสูตรหนึ่ง, โมโตจีพี และ ซูเปอร์โบวล์ เกมชิงแชมป์อเมริกันฟุตบอล NFL ในครั้งที่ 46 เมื่อปี 2012

 8

และแน่นอน กีฬาคือสิ่งที่ช่วยให้เมืองนี้มีชีวิตชีวามากขึ้นอย่างแท้จริง เพราะเมื่อมีอีเวนต์มากขึ้น ก็ย่อมต้องมีการสร้างสิ่งต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการรองรับแฟนกีฬาและนักท่องเที่ยวมากขึ้นตามไปด้วย ทำให้ปัจจุบัน อินเดียนาโปลิสมีร้านอาหารมากกว่า 200 แห่ง, โรมแรมเกือบ 300 แห่ง ร้านค้าปลีกมากกว่า 300 แห่ง, พิพิธภัณฑ์และแกลอรี่ศิลปะเกือบ 30 แห่ง และโรงละครมากกว่า 10 แห่ง ซึ่งตัวเลขทางเศรษฐกิจที่อินเดียนาโปลิสได้รับจากวงการกีฬาในด้านต่างๆ รวมกันนั้น สูงถึงกว่า 3,381 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 106,000 ล้านบาท ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการจ้างงานสูงถึงเกือบ 10,000 ตำแหน่งเลยทีเดียว

ส่วนที่บุรีรัมย์ นอกจากสโมสรฟุตบอล บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, ช้าง อารีนา สนามฟุตบอลที่ใช้เวลาสร้างเร็วที่สุดในโลก ตลอดจน ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต แล้ว ดินแดนอีสานใต้แห่งนี้ยังมีอีเวนท์กีฬาต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก ฟุตบอลสโมสรถ้วยใหญ่ของเอเชียซึ่งทีมปราสาทสายฟ้าได้สิทธิ์เข้าไปแข่งขันแทบทุกปี, โมโตจีพี, ซูเปอร์จีที รถยนต์ทางเรียบรายการใหญ่ที่สุดของประเทศญึ่ปุ่น ฯลฯ ซึ่งประชาชนชาวจังหวัดบุรีรัมย์เองก็ได้มีส่วนร่วมกับอีเวนท์ต่างๆ ในฐานะ 'เจ้าบ้านที่ดี' ร่วมเป็นอาสาสมัครในงานด้านต่างๆ อีกด้วย

 9

ความสำเร็จของบุรีรัมย์ได้สะท้อนออกมาชัดเจนด้วยตัวเลขทางสถิติ เพราะในศึกโมโตจีพี มีผู้เข้าชมตลอดทั้ง 3 วันที่มีการจัดการแข่งขันสูงถึง 222,535 คน สูงที่สุดจากตลอดทั้ง 19 สนามในฤดูกาล และเมื่อดูในภาพรวมก็พบว่า 10 ปีที่บุรีรัมย์ใช้ยุทธศาสตร์พัฒนาเมืองด้วยกีฬานั้น ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เพราะจากปี 2009 ที่มีผู้เยี่ยมเยือนทั้งนักท่องเที่ยวและนักทัศนาจรในจังหวัดแห่งนี้ทั้งไทยและต่างชาติเพียง 879,452 คน ก็เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเป็น 2,014,791 คนในปี 2018 เช่นเดียวกับรายได้จากการท่องเที่ยว ที่เพิ่มจาก 808.48 ล้านบาทในปี 2009 เป็น 4,246.95 ล้านบาทในปี 2018 ซึ่งถือเป็น 5 เท่าจากปีก่อนที่จะมีทีมฟุตบอลระดับไทยลีกในจังหวัดแห่งนี้เลยทีเดียว

การเปลี่ยนแปลงของทั้งอินเดียนาโปลิสและบุรีรัมย์ คือหลักฐานพิสูจน์ว่า 'กีฬาสร้างเมือง' ได้อย่างไม่ต้องสงสัย … และทั้งสองเมืองก็ได้กลายเป็นต้นแบบให้อีกหลายเมืองทั่วโลกดำเนินรอยตาม เพื่อเปลี่ยนผ่านจากเมืองธรรมดา สู่จุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ซึ่งแน่นอนที่สุด เรื่องดังกล่าวทำให้ชีวิตของประชาชนในเมืองดีขึ้นด้วยเช่นกัน

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ "อินเดียนาโปลิส - บุรีรัมย์" : สองเมืองต่างซีกโลก.. ที่เปลี่ยนชีวิตคนเมืองด้วยกีฬา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook