ทำไมการเพลย์ออฟเลื่อนชั้นของลีกรองอังกฤษถึงทำเงินได้มากกว่าแชมป์ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก?
สำหรับแฟนฟุตบอลทั่วโลก คงไม่มีรายการแข่งขันระดับสโมสรรายการใด จะยิ่งใหญ่ และ ได้ความนิยม ไปกว่า “ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก” (UEFA Champions League) ทัวร์นาเมนต์ชิงความเป็นหนึ่งแห่งวงการลูกหนังภาคพื้นยุโรป อันเดิมพันด้วยเกียรติยศล้ำค่า และ เงินรางวัลจำนวนมหาศาล
อย่างไรก็ตาม มูลค่าที่เดิมพันบนการแข่งขันรายการดังกล่าว เทียบไม่ได้กับฟุตบอลนัดเดียว ณ สนามเวมบลีย์ ที่มีชื่อว่า “รอบชิงชนะเลิศ เพลย์ออฟ อีเอฟแอล แชมเปียนชิพ” (EFL Championship Playoff Final) ซึ่งสามารถตัดสินอนาคต ของสองสโมสรจากลีกรองบนเกาะอังกฤษ ให้ไปคนละทิศทางได้อย่างสิ้นเชิง ด้วยจำนวนเงินมากถึง 190 ล้านปอนด์ (7,700 ล้านบาท)
สิ่งใด คือ สาเหตุให้รายการชิงที่ 3 ลีกอันดับสองของอังกฤษ มีมูลค่ามากกว่าการแข่งขันชิงแชมป์ระดับทวีป ? เงินรางวัลทั้งสองรายการมีมูลค่าต่างกันแค่ไหน ? และ ผลกระทบของจำนวนเงินดังกล่าวคืออะไร ? ติดตามได้ที่นี่
ค่าตอบแทนของแชมเปียนส์
เหตุผลที่ทำให้รายการ ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก เป็นการแข่งขันฟุตบอลระดับสโมสรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ไม่ได้มาจากความแข็งแกร่งของสโมสรที่ลงแข่งขันเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของค่าตอบแทนที่มหาศาลเข้ามาเกี่ยวข้อง ในฤดูกาล 2018/19 ยูฟ่าได้เปิดเผยว่า จะมีเงินมากถึง 2,032 ล้านยูโร (71,000 ล้านบาท) ถูกนำมาแบ่งปัน เพื่อเป็นค่าตอบแทนให้กับทุกสโมสรที่เข้าแข่งขันในรายการนี้
การจัดสรรรายได้ของรายการ ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก เริ่มขึ้นตั้งแต่รอบคัดเลือก โดยมีเงินการันตีให้ทุกทีมที่ได้แข่งขันในรอบดังกล่าว แบ่งตามรอบสูงสุดที่เข้าแข่งขัน ดังนี้ รอบคัดเลือกเบื้องต้น 230,000 ยูโร (8.1 ล้านบาท), รอบคัดเลือกรอบแรก 280,000 ยูโร (9.8 ล้านบาท), รอบคัดเลือกรอบสอง 380,000 ยูโร (13.4 ล้านบาท) และ รอบคัดเลือกรอบสาม 480,000 ยูโร (17 ล้านบาท)
photo : Scoopnest
ส่วนทีมที่ได้เข้าสู่รอบเพลย์ออฟ ทั้งหมด 12 ทีม จะได้เงินรางวัลเบื้องต้น 30 ล้านยูโร (1,000 ล้านบาท) ไปแบ่งกันเป็นทีมละ 2.5 ล้านยูโร (88 ล้านบาท) หากตกรอบจะได้รับเงินปลอบใจอีก 5 ล้านยูโร (177 ล้านบาท) และ มีโอกาสไปหารายได้เพิ่มจากการแข่งขัน ยูฟ่า ยูโรปา ลีก (UEFA Europa League) ซึ่งมีเงินรองรับในรายการอีก 510 ล้านยูโร (18,000 ล้านบาท)
อย่างไรก็ตาม จำนวนเงินดังกล่าว เทียบไม่ได้กับเงินรางวัลที่รออยู่ หากผ่านเข้ารอบ 32 ทีมสุดท้าย เงินจำนวน 1,950 ล้านยูโร (69,000 ล้านบาท) จะถูกแบ่งให้กับสโมสรที่เข้าแข่งขันทั้งหมด โดยค่าตอบแทนจะถูกแบ่งเป็น 4 ส่วน ดังนี้
ส่วนแรก – เงินรางวัลตั้งต้น (Starting Fees) มูลค่า 488 ล้านยูโร (17,000 ล้านบาท) จะถูกแจกจ่ายไปยัง 32 ทีมอย่างเท่าเทียม โดยไม่มีการอ้างอิงถึง อันดับคะแนนสะสมของยูฟ่า, ผลงานที่ทำได้ในรายการ หรือ ความนิยมของทีม แต่อย่างใด ทุกทีมจะได้รับเงินตรงนี้ในจำนวน 15.25 ล้านยูโร (540 ล้านบาท) เท่ากันทั้งหมด
ส่วนที่สอง – เงินรางวัลจากผลการแข่งขัน (Performance-related Fixed Amounts) มูลค่า 585 ล้านยูโร (21,000 ล้านบาท)ในส่วนนี้ เงินรางวัลที่แต่ละสโมสรได้ จะแตกต่างออกไปตามผลงานในศึก ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก ฤดูกาลนั้น
โดยรอบแบ่งกลุ่ม จำนวนเงินจะแบ่งตามผลงานในแต่ละนัด หากชนะจะได้รับเงินนัดละ 2.7 ล้านยูโร (95 ล้านบาท) และ เสมอรับเงิน 900,000 ยูโร (31 ล้านบาท) ส่วนทีมที่แพ้ในการแข่งขันรอบแบ่งกลุ่ม แต่ละนัด จะไม่ได้รับเงินในส่วนดังกล่าวแม้แต่ยูโรเดียว
ส่วนทีมที่ผ่านเข้าสู่รอบน็อคเอาต์ จะได้รับเงินรางวัลตามรอบสูงสุดที่สโมสรดังกล่าว สามารถเข้าไปถึงในการแข่งขัน กล่าวคือ สโมสรที่ตกรอบ 16 ทีม รับเงินรางวัล 9.5 ล้านยูโร (336 ล้านบาท), รอบก่อนรองชนะเลิศรับเงินรางวัลอีก 10.5 ล้านยูโร (370 ล้านบาท), รอบรองชนะเลิศรับเงินรางวัล 12 ล้านยูโร (420 ล้านบาท) และ รอบชิงชนะเลิศรับเงินรางวัล 15 ล้านยูโร (530 ล้านบาท
photo : Sportskeeda
สำหรับผู้ชนะเลิศในการแข่งขัน จะได้รับเงินรางวัลพิเศษ 4 ล้านยูโร (140 ล้านบาท) พร้อมกับสิทธิ์ไปแข่งขันรายการ ยูฟ่า ซุปเปอร์คัพ (UEFA Super Cup) ซึ่งการันตีเงินอีก 3.5 ล้านยูโร (123 ล้านบาท) และเพิ่มอีก 1 ล้านยูโร (35 ล้านบาท) หากสามารถคว้าแชมป์ในรายการดังกล่าวได
ดังนั้น เมื่อยกตัวอย่างให้ สโมสร A สามารถชนะรายการยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก โดยไม่แพ้รอบแบ่งกลุ่ม และ ก้าวไปชนะศึกยูฟ่า ซุปเปอร์คัพ ได้ในเวลาต่อมา สโมสร A จะหารายได้จากส่วนเงินรางวัลได้ถึง 39.7 ล้านยูโร (1,400 ล้านบาท)
ส่วนที่สาม – เงินรางวัลจากอันดับค่าสัมประสิทธิ์ (Coefficient Rankings) กล่าวคือเงินรางวัลที่อ้างอิงจาก ผลงานของสโมสรนั้นจากช่วงเวลาสิบปีหลัง ในการแข่งขันฟุตบอลของยูฟ่า
เงินจำนวนนี้มีทั้งหมด 585 ล้านยูโร เท่ากับเงินรางวัลส่วนผลการแข่งขัน โดยแบ่งเงินตามลำดับบนตารางค่าสัมประสิทธิ์ของยูฟ่า ทีมที่อันดับต่ำที่สุด หรือ อันดับ 32 จะรับเงินรางวัลส่วนนี้ 1.108 ล้านยูโร (39 ล้านบาท) ส่วนทีมอันดับสูงสุด รับเงินรางวัล 35.46 ล้านยูโร (1,250 ล้านบาท) ไปครองแบบสบายๆ
หากวัดอันดับจากตารางค่าสัมประสิทธิ์ของยูฟ่าในปัจจุบัน ทีมที่จะได้รับเงินรางวัลสูงสุดในส่วนนี้ไปครอง คือ เรอัล มาดริด (Real Madrid) แม้จะตกรอบ 16 ทีมสุดท้ายของการแข่งขัน ส่วนทีมที่ได้เงินรางวัลน้อยที่สุด คือ เออีเค เอเธนส์ (AEK Athens) ที่รั้งอันดับ 102 ของตารางค่าสัมประสิทธิ์ยูฟ่า
ส่วนที่สี่ – เงินรางวัลส่วนแบ่งการตลาด (Market Pool) มีจำนวนทั้งสิ้น 292 ล้านยูโร (10,000 ล้านบาท) โดยจำนวนเงินที่แบ่งให้แต่ละสโมสรในส่วนนี้ ไม่มีความตายตัว โดยอ้างอิงจากความนิยมทางการตลาด และ มูลค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด โดยอ้างอิงจากลีกของประเทศที่เข้าร่วมแข่งขันเป็นหลัก
photo : Sportskeeda
เงินรางวัลส่วนนี้เอง ก่อให้เกิดความอื้อฉาวในเรื่องการปันผลเงินรางวัล เมื่อฤดูกาล 2014/15 ยูเวนตุส (Juventus) ที่เป็นรองแชมป์ รับเงินรางวัลรวม 89.1 ล้านยูโร (3,200 ล้านบาท) ขณะที่ผู้ชนะอย่าง บาร์เซโลน่า (Barcelona) รับเงินรางวัลแค่ 61 ล้านยูโร (2,150 ล้านบาท) เนื่องจากเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในส่วนนี้
แต่ไม่ว่าการคำนวณเงินรางวัลของ ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก จะมีรายละเอียดมากมายสักเพียงใด สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ เงินรางวัลที่ได้รับจากการแข่งขันนั้นมากมายมหาศาลจริง เรอัล มาดริด คว้าเงินรางวัล 88.6 ล้านยูโร (3,100 ล้านบาท) จากการคว้าแชมป์ในฤดูกาล 2017/18
ส่วน แอตเลติโก มาดริด ที่ตกรอบแรก ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก ในฤดูกาล 2017/18 ยังคว้าเงินรางวัลได้ถึง 31.7 ล้านยูโร (1,120 ล้านบาท) ซึ่งในเวลาต่อมาพวกเขาก้าวไปคว้าแชมป์ ยูฟ่า ยูโรปา ลีก มาครองได้สำเร็จ แต่ได้รับเงินรางวัลเพียง 16 ล้านยูโร (565 ล้านบาท) เท่านั้น
รายได้ของสโมสรชั้นรอง
แม้การพลาดไปเล่นศึก ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก จะการันตีจำนวนเงินที่หายไปกว่า 15 ล้านยูโร เป็นอย่างน้อย หากเปรียบเทียบตามกรณีของ แอตเลติโก มาดริด ในฤดูกาล 2017/18
แต่จำนวนเงินดังกล่าวดังกล่าวถือว่าเทียบไม่ได้เลย หากคุณพ่ายแพ้ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ เพลย์ออฟ อีเอฟแอล แชมเปียนชิพ และ หมดสิทธิ์ตีตั๋วขึ้นสู่พรีเมียร์ลีก ในฤดูกาลถัดมา
สำหรับการแข่งขัน อีเอฟแอล แชมเปียนชิพ (EFL Championship) ถึงจะเป็นรายการระดับรอง แต่นี่คือลีกฟุตบอลที่ทำรายได้มากเป็นอันดับ 6 ของโลก
photo : Mirror
จากการเปิดเผยของสถาบันบัญชีชื่อดังอย่าง Deloitte เปิดเผยว่า ในฤดูกาล 2016/17 ทีมทั้ง 24 ทีม จากศึก อีเอฟแอล แชมเปียนชิพ ทำรายได้รวมกันได้ถึง 720 ล้านปอนด์ หรือ 835 ล้านยูโร (29,000 ล้านบาท) เป็นรองแค่ 5 ลีกหลักของยุโรป อย่าง พรีเมียร์ลีก, บุนเดสลีกา, ลาลีกา, กัลโช เซเรีย อา และ ลีกเอิง เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม รายได้ทั้งหมดที่สโมสรใน อีเอฟแอล แชมเปียนชิพ ทำได้ ถือเป็น 16 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้ 4,500 ล้านปอนด์ (182,000 ล้านบาท) จาก 20 ทีมในศึกพรีเมียร์ลีก
โดยรายได้เบื้องต้นที่สโมสรบนลีกสูงสุดของอังกฤษได้รับ คือส่วนแบ่งจากค่าลิขสิทธิ์ทางทีวี ซึ่ง พรีเมียร์ลีก ได้รับเงินส่วนนี้ ปีละ 2,600 ล้านปอนด์ (105,000 ล้านบาท) ขณะที่ อีเอฟแอล แชมเปียนชิพ ได้เพียงแค่ 90 ล้านปอนด์ (3,600 ล้านบาท) ต่อปี คิดเป็น 3 เปอร์เซ็นต์ หากเทียบกับรายได้จากลีกสูงสุด
ไม่เพียงแค่นั้น จำนวนเงิน 90 ล้านปอนด์ ที่ อีเอฟแอล แชมเปียนชิพ ได้เป็นค่าลิขสิทธิ์ทีวี ยังถูกแบ่งให้กับ ทีมจากลีกวัน และ ลีกทู เท่ากับว่า มีสโมสรฟุตบอล 72 ทีม รอแย่งเงินส่วนนี้อยู่ ทำให้ระยะห่างระหว่างทั้งสองลีก ยิ่งมากขึ้นไปอีก
เงินรางวัลที่พรีเมียร์ลีกให้แก่สโมสรทั้ง 20 ทีม อาจไม่สลับซับซ้อน แบบ ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก โดยแบ่งเป็น 5 ส่วนใหญ่ๆ ประกอบด้วย ส่วนแบ่งจากลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดในอังกฤษ (Equal Share), ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดในต่างประเทศ (Overseas TV) และส่วนแบ่งค่าการตลาด (Central Commercial) ซึ่งทั้ง 3 ส่วน แต่ละสโมสรจะได้เท่ากัน ขณะที่ เงินค่าถ่ายทอดสดเกมในอังกฤษ (Facility Fees) กับเงินรางวัลตามอันดับ (Merit Payment) จะมากน้อยลดหลั่นตามอันดับบนตาราง และแต่ละทีมได้เล่นในเกมถ่ายทอดสดในอังกฤษมากน้อยเท่าใด ซึ่งบางที ทีมที่เข้าป้ายตำแหน่งแชมป์ กลับได้เงินรางวัลรวมน้อยกว่าทีมดังขึ้นหม้อที่ได้ออกหน้าจอบ่อยๆ เสียอีก
ถึงกระนั้น มันมีอิทธิพลกับทีมที่เข้าแข่งขันมาก กล่าวคือ ทีมน้องใหม่จะได้รับเงินการันตีเริ่มต้น จากการคาดการณ์ที่ 95 ล้านปอนด์ (3,800 ล้านบาท) หมายความว่า สโมสรที่ลงเล่นศึกพรีเมียร์ลีก จะได้รับเงินมากกว่า แชมป์รายการยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก โดยไม่จำเป็นต้องลงเล่นแม้แต่นัดเดียว
photo : www.itv.com
นอกจากนี้ พรีเมียร์ลีกยังจัดสรรเงินที่เรียกว่า เงินรางวัลชูชีพ (Parachute Payment) ให้แก่สโมสรที่ตกชั้นจากศึกพรีเมียร์ลีก ซึ่งการันตีเงินจำนวน 75 ล้านปอนด์ (3,000 ล้านบาท) แบ่งจ่ายเป็นสองงวด งวดแรก 41 ล้านปอนด์ (1,600 ล้านบาท) และ งวดที่สองอีก 34 ล้านปอนด์ (1,400 ล้านบาท) และมีโอกาสได้เพิ่มอีกในฤดูกาลที่ 3 ตามจำนวนเหมาะสม
ด้วยเหตุนี้ มูลค่าของนัดชิงชนะเลิศ เพลย์ออฟ อีเอฟแอล แชมเปียนชิพ จึงมีส่วนต่างระหว่างชัยชนะ กับ ความพ่ายแพ้ จึงสูงถึง 170 ล้านปอนด์ เป็นอย่างน้อย ขณะที่ส่วนต่างระหว่าง ระหว่างผู้แพ้ และ ผู้ชนะ ในนัดชิงชนะเลิศ ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก มีส่วนต่างไม่ถึง 4 ล้านปอนด์ (160 ล้านบาท) ด้วยซ้ำ
“ในแง่ของฟุตบอล รอบชิงชนะเลิศ แชมเปียนส์ ลีก คือเกมที่ยิ่งใหญ่กว่า แต่ในแง่ของเงินรางวัลที่พวกเขาจะได้ ผมถือว่าเป็นเด็กน้อยไปเลย หากเทียบกับจำนวนที่เดิมพันอยู่ในกรุงลอนดอน” แดน โจนส์ หัวหน้าฝ่ายกีฬาของ Deloitte กล่าว
ผลกระทบจากร่มชูชีพ
เหตุผลหลักที่ พรีเมียร์ลีก นำกฎเงินรางวัลชูชีพ เข้ามาใช้ เนื่องจากรายจ่ายของทีมบนลีกสูงสุด มีจำนวนมหาศาล และ เมื่อสโมสรดังกล่าว ตกลงไปเล่นในศึกอีเอฟแอล แชมเปียนชิพ พวกเขาจะได้รับค่าตอบแทนจากทั้ง ค่าโฆษณา, ค่าลิขสิทธิ์ทางทีวี และรายได้ต่อนัด ลดลงมาก โดยที่ภาระค่าใช้จ่ายยังคงเท่าเดิม หรือ มากขึ้น
photo : Sky Sports
ตัวอย่างในกรณีดังกล่าวที่เห็นได้ชัดมากที่สุดคือ สโมสร นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด (Newcastle United) ซึ่งตกชั้นจากพรีเมียร์ลีก สู่ อีเอฟแอล แชมเปียนชิพ เมื่อฤดูกาล 2016/17 แต่แทนที่ค่าเหนื่อยนักเตะในทีมจะลดลง กลับเพิ่มขึ้นอีกถึง 8 เปอร์เซ็นต์
ทำให้รายจ่ายของสโมสร มีจำนวนมากกว่ารายได้ 131 เปอร์เซ็นต์ พวกเขาขาดทุนหลังจบฤดูกาล 55 ล้านปอนด์ (2,200 ล้านบาท) มากที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสร แม้รับรายได้จากระบบเงินรางวัลชูชีพมาช่วยเหลือ ในฤดูกาลดังกล่าว
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ตอบแทนการขาดทุนมหาศาลของ นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด คือการเลื่อนชั้นในปีเดียว หลายสโมสรในศึก อีเอฟแอล แชมเปียนชิพ จึงเลือกลงทุนมหาศาลในลีกล่าง แม้ขาดทุนยับเยิน เพื่อช่วยให้ตัวเองขึ้นไปสู่ในลีกสูงสุดในฤดูกาลถัดมา
“เจ้าของและผู้จัดการทีมส่วนใหญ่ ตัดสินใจที่จะใช้เงินเกินตัว เพื่อให้เลื่อนชั้น นิวคาสเซิล คือสโมสรที่ประสบความสำเร็จในฐานะสโมสรจากพรีเมียร์ลีก ที่สามารถรับประกันการกลับสู่ลีกสูงสุดได้ทันที” ตัวแทนของ Deloitte กล่าวในรายงาน
สโมสรส่วนใหญ่ที่ดำเนินการแบบนี้ มักเป็นสโมสรที่ตกชั้นจากพรีเมียร์ลีก และได้เงินจากกฎเงินรางวัลชูชีพ มาช่วยเหลือ โดยแนวทางดังกล่าว ถูกเรียกในชื่อว่า “นิวคาสเซิล เอฟเฟคต์” (Newcastle Effect)
photo : hitc.com
แต่ไม่ใช่ทุกทีมที่จะประสบความสำเร็จ เหมือนที่ นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ทำได้ ยกตัวอย่าง สโมสรแอสตัน วิลลา ที่ได้เงินสนับสนุนจากกฎเงินรางวัลชูชีพ เป็นเงิน 34 ล้านปอนด์ ในฤดูกาลดังกล่าว พวกเขาจึงทุ่มไม่อั้น ด้วยการใช้ค่าเหนื่อยนักเตะในทีม 61.4 ล้านปอนด์ต่อปี (2,500 ล้านบาท) มากกว่า ฮัดเดอร์ฟิลด์ ทาวน์ (Huddersfield Town) ซึ่งเล่นอยู่บนพรีเมียร์ลีกถึง 40 ล้านปอนด์ (1,600 ล้านบาท)
หลังพ่ายแพ้ให้แก่สโมสรฟูแล่ม (Fulham) ในนัดชิงชนะเลิศ เพลย์ออฟ อีเอฟแอล แชมเปียนชิพ ฤดูกาล 2017/2018 แอสตัน วิลลา สูญเสียรายได้ขั้นต่ำที่คาดหวังมูลค่า 170 ล้านปอนด์ และ เผชิญสภาวะขาดทุนมหาศาล
เมื่อจบฤดูกาลดังกล่าว แอสตัน วิลลา จึงขาดทุนรวม 19.2 ล้านปอนด์ (777 ล้านบาท) และ ต้องหาเงิน 40 ล้านปอนด์มาใช้หนี้ หากไม่อยากถูกปรับตามกฏข้อบังคับการเงิน (Financial Fair Play Regulations) ของยูฟ่า ในฤดูกาลต่อมา
สุดท้าย แอสตัน วิลลา ต้องเอาตัวรอด ด้วยการหาเจ้าของสโมสรรายใหม่เข้ามาทำทีม โดยมีการตกลงขายหุ้น 55 เปอร์เซนต์ ด้วยราคาเพียง 39 ล้านยูโร (1,400 ล้านบาท)
อนาคตของนรกบนดิน
ปัจจุบัน อีเอฟแอล ยังไม่พยายามแก้ปัญหาลดความเหลื่อมล้ำในศึก อีเอฟแอล แชมเปียนชิพ แม้ปรับสัญญาค่าลิขสิทธิ์ทางทีวีใหม่ จากเดิมปีละ 90 ล้านปอนด์ เพิ่มเป็นปีละ 120 ล้านปอนด์ (4,800 ล้านบาท) แต่จำนวนดังกล่าวถือว่าเล็กน้อยมาก และ แทบไม่ทำให้รายรับของสโมสรในลีกรองเพิ่มขึ้นจากเดิม
จากการเปิดเผยของ Deloitte ที่กล่าวว่า สโมสรใน อีเอฟแอล แชมเปียนชิพ สามารถทำรายได้สูงถึง 720 ล้านปอนด์ (29,000 ล้านบาท) ในฤดูกาล 2016/17 แท้จริงแล้วมีจำนวนเงิน 219 ล้านปอนด์ (8,800 ล้านบาท) หรือ 30 เปอร์เซ็นต์ จากทั้งหมดที่มาจากกฎเงินรางวัลชูชีพ ซึ่งกระจายไปใน 8 สโมสร จากทั้งหมด 24 ทีม
ยิ่งไปกว่านั้น 3 ทีมที่ตกลงมาเล่นในศึก อีเอฟแอล แชมเปียนชิพ ฤดูกาล 2016/17 ทั้ง นิวคาสเซิล, นอริช ซิตี้ (Norwich City) และ แอสตัน วิลลา (Aston Villa) มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 78 ล้านปอนด์ (3,200 ล้านบาท) ซึ่งมากกว่ารายได้เฉลี่ยของ 21 ทีมที่เหลือ ซึ่งอยู่ที่ 23 ล้านปอนด์ (930 ล้านบาท) หรือ เป็นจำนวนห่างกันกว่า 3 เท่า
ดังนั้น กฎเงินรางวัลชูชีพ จึงเป็นจำนวนเล็กน้อย หากเทียบกับภาระค่าใช้จ่าย ของสโมสรที่ตกชั้นจากพรีเมียร์ลีก แต่สำหรับทีมที่อยู่ใน อีเอฟแอล แชมเปียนชิพ มานาน รายได้ 75 ล้านปอนด์ ในสองปีถือเป็นจำนวนมหาศาล และส่งผลอย่างมากกับการแข่งขันระดับรอง
เนื่องจาก การเลื่อนชั้นสู่พรีเมียร์ลีกเพียงฤดูกาลเดียว สามารถสร้างรายได้ให้สโมสรอย่างมหาศาล และเมื่อร่วงกลับมาสู่ อีเอฟแอล แชมเปียนชิพ พวกเขามีสถานะการเงินที่ดีกว่าทีมอื่นมาก เกิดเป็นความเหลื่อมล้ำในการแข่งขันทันที
“สโมสรเราแข็งแกร่งไม่ต่างจากทีมในพรีเมียร์ลีก ทั้งขนาดทีม และ โครงสร้างสโมสร แต่ความจริงคือ มีอีกหลายทีมที่เข้ามาแข่งขันกับเรา และมีหลายทีมที่ทุ่มเงินมหาศาล เพื่อปรับปรุงทีมของเขา” แฟรงค์ แลมพาร์ด (Frank Lampard) ผู้จัดการทีมดาร์บี เคาน์ตี (Derby County) พูดถึงความยากลำบากของการแข่งขันใน อีเอฟแอล แชมเปียนชิพ
“มีหลายสโมสรตกลงมาจากพรีเมียร์ลีก และพวกเขามีสถานะทางการเงินที่แตกต่างจากเรามาก”
กฎเงินรางวัลชูชีพ จึงไม่ใช่ดาบสองคม ที่ทำร้ายทีมจากพรีเมียร์ลีกเท่านั้น แต่ยังบีบบังคับให้ทีมอื่นใน อีเอฟแอล แชมเปียนชิพ ใช้เงินเกินตัว เพราะ รายรับที่น้อยเกินไปในลีกล่าง ไม่อาจสู้ รายได้มหาศาลจากลีกบน สโมสรที่เหลือจึงต้องใช้จ่ายเกินตัวหากคิดหนีนรกบนดินของทีมฟุตบอลบนเกาะอังกฤษ
ฤดูกาล 2016/17 จึงมีถึง 13 ทีม ในศึก อีเอฟแอล แชมเปียนชิพ ที่ยอมจ่ายค่ายเหนื่อยนักเตะ เกินรายรับทั้งหมดของสโมสร เพียงเพื่อหวังจะได้เลื่อนชั้นสู่ พรีเมียร์ลีก ในฤดูกาลถัดมา ซึ่งผลลัพธ์คือ 19 จาก 24 สโมสร ต้องขาดทุนหลังจบฤดูกาล
มาถึงตรงนี้ เราอาจกล่าวได้ว่า ชัยชนะในรอบชิงชนะเลิศ เพลย์ออฟ อีเอฟแอล แชมเปียนชิพ คือยาพิษอันหอมหวาน หลายสโมสรถูกหลอกล่อให้ติดกับดัก เพื่อแย่งชิง ผลตอบแทนที่มูลค่ามหาศาลกว่า ผู้ชนะ ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก
สำหรับผู้ชนะ การเลื่อนชั้นสู่พรีเมียร์ลีก คือรางวัลมหาศาล ที่มีค่ามากกว่าการเป็นราชาวงการลูกหนังยุโรป และ สามารถเปลี่ยนโชคชะตาของสโมสร ในแบบที่ เรอัล มาดริด หรือ บาร์เซโลนา ไม่เคยพบเจอ
แต่อีกด้าน การลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนมหาศาล อยู่บนความเสี่ยงอันร้ายกาจ หากพลาดพลั้ง ตกหลุมพราง นอกจากพลาดการเลื่อนชั้น พร้อมกับเงินมหาศาล สโมสรอาจถึงวันร่วงหล่น และไม่ได้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ดั่งที่หวังไว้อีกเลย