สนองตัณหาหรือความรัก? : ตระกูล "คิม" กับ “แพชชั่น” ต่อกีฬาที่คุณอาจไม่เคยรู้

สนองตัณหาหรือความรัก? : ตระกูล "คิม" กับ “แพชชั่น” ต่อกีฬาที่คุณอาจไม่เคยรู้

สนองตัณหาหรือความรัก? : ตระกูล "คิม" กับ “แพชชั่น” ต่อกีฬาที่คุณอาจไม่เคยรู้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม้ตำนานเรื่องความสุดยอดในด้านกีฬาของอดีตผู้นำเกาหลีเหนือจะทำให้พวกเขาเป็นตัวตลกในสายตาชาวโลก แต่ในเบื้องลึกพวกเขาจริงจังไม่แพ้ชาติอื่น 

หากเอ่ยถึงเกาหลีเหนือ ผู้คนอาจจะติดภาพประเทศรัฐสังคมนิยมที่มีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในครอบครอง แต่ในวงการกีฬา พวกเขาก็เคยทำให้โลกตื่นตะลึงจากความสามารถของ คิม จอง อิล อดีตผู้นำสูงสุดผู้ล่วงลับ 

ตามบันทึกของทางการเกาหลีเหนือระบุว่า จอง อิล ผู้นำคนที่สองของประเทศ มีความสามารถด้านกีฬาที่เอกอุ ที่สนามโบวลิงเปียงยาง เลน เขาสามารถทำคะแนนได้ถึง 300 แต้ม ซึ่งเป็นแต้มสูงสุดที่ทำได้ ไม่เพียงเท่านั้นในการเล่นกอล์ฟครั้งแรกของเขา เขาสามารถทำโฮล อิน วัน (ตีครั้งเดียวลงหลุม) ได้ถึง 5 ครั้ง (บางแหล่งข้อมูลระบุว่าสามารถทำได้ 11 ครั้ง)  และทำแต้มได้ถึง 38 อันเดอร์พาร์ 

แน่นอนว่ามันดูเป็นเรื่องเกินจริง เป็นเหมือนเรื่องแต่งเสียมากกว่า แต่ไม่ใช่ว่าเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬาของเกาหลีเหนือจะเป็นเรื่องโกหกไปเสียทั้งหมด 

เพราะพวกเขาก็จริงจังไม่แพ้ประเทศอื่น 

ฟุตบอลโลกสร้างชื่อ 

หลังจากสถาปณาประเทศขึ้นมาในปี 1945 เกาหลีเหนือก็ดูเป็นดินแดนลึกลับในสายตาชาวโลก พวกเขาตัดขาดความสัมพันธ์กับหลายๆประเทศโดยเฉพาะตะวันตก และพึ่งพาการสนับสนุนจากจีนและสหภาพโซเวียต สองพี่ใหญ่แห่งสังคมนิยมในตอนนั้นเป็นหลัก 

แต่แล้วในปี 1966 ทั่วโลกก็ได้รู้จักกับเกาหลีเหนือมากขึ้น หลังทีมฟุตบอลของพวกเขาได้ผ่านเข้ามาเล่นในฟุตบอลโลก 1966 ที่อังกฤษ ถือเป็นทีมเอเชียทีมที่ 3  ต่อจาก ดัตช์ อีสต์ อินดีส์ และ เกาหลีใต้ ที่ได้ผ่านเข้ามาเล่นในรอบสุดท้าย 


photo : The Betoota Advocate

จากสารคดี  The Game of Their Lives ที่ว่าด้วยเรื่องราวของทีมเกาหลีเหนือชุดฟุตบอลโลก 1966 ระบุว่า ก่อนที่ทัพโสมแดงจะลงเตะนัดแรก คิม อิลซุง ผู้นำคนแรกและผู้ก่อตั้งประเทศเกาหลีเหนือ ได้เข้ามาเยี่ยมนักเตะ พร้อมทั้งให้โอวาทแก่นักเตะพวกเขา 

“ชาติจากยุโรปและอเมริกาใต้ครองความยิ่งใหญ่ในด้านฟุตบอล ในฐานะตัวแทนภูมิภาคเอเชียและแอฟริกา ในฐานะคนผิวสี ผมอยากให้คุณชนะ 1-2 เกม” อิลซุงกล่าว

และสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นก็คือปาฏิหาริย์ เมื่อทีมรองบ่อนอย่างเกาหลีเหนือ สามารถยันเสมอกับชิลี 0-0 และเอาชนะแชมป์โลก 2 สมัย อิตาลี ไปได้ 1-0 ผ่านเข้าไปเล่นในรอบ 8 ทีมสุดท้าย พร้อมทั้งกลายเป็นตัวแทนจากเอเชียทีมแรกในประวัติศาสตร์ที่เข้ามาได้ถึงรอบนี้ 

แม้ว่าในรอบก่อนรองชนะเลิศ พวกเขาจะพ่ายต่อ โปรตุเกส ที่มี ยูเซบิโอ กองหน้าระดับพระกาฬในยุคนั้นเป็นตัวชูโรง ทั้งที่ออกนำไปก่อนถึง 3-0 แต่ฟอร์มอันยอดเยี่ยมก็ทำให้พวกเขากลายเป็นฮีโรของคนทั้งประเทศ 

และนั่นก็เหมือนจุดประกายเล็กๆที่ทำให้ตระกูลคิมให้ความสำคัญกับกีฬา 

กีฬาเป็นยาวิเศษ 

อิลซุง ปกครองประเทศจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตในปี 1994 หลังการเสียชีวิตของเขา คิม จอง อิล ได้เข้ามาสืบทอดอำนาจ ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจในประเทศกำลังย่ำแย่สุดขีด การล่มสลายของสหภาพโซเวียตทำให้คู่การค้าหลักของพวกเขาหายไป บวกกับภัยธรรมชาติที่เล่นงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากความอดอยากไปถึง 3 ล้านราย 


photo : New York Post

อย่างไรก็ดี ภายใต้การนำของ จองอิล เขาไม่ได้สนใจเรื่องปากท้องของประชาชนมากนัก แต่กลับทุ่มงบประมาณอย่างมหาศาลไปกับการป้องกันประเทศ โดยเฉพาะเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ เช่นเดียวกับเรื่องกีฬาที่เขาเริ่มรับรู้ถึงประโยชน์ของมัน 

“พวกเขารับรู้ว่าการแข่งขันที่พวกเขาจะได้เปรียบในสิ่งที่มีอยู่คือกีฬา เกาหลีเหนือต้องการแสดงให้ผู้ชมในประเทศเห็นว่าพวกเขาแข็งแกร่งและมีความสามารถที่จะประสบความสำเร็จ กีฬาเป็นทางหนึ่งที่จะทำอย่างนั้น พวกเขาจึงจริงจังกับมัน” คริสโตเฟอร์ กรีน นักวิชาการจากมหาวิยาลัยไลเดน ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่เชี่ยวชาญในด้านกีฬาและเคยสัมภาษณ์ผู้แปรพักษ์มาแล้วนับร้อยคนกล่าวกับ Bleacher Report  

อันที่จริงตระกูลคิม มีความสนใจในด้านกีฬาอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คิม จอง อึน ผู้นำคนที่ 3 ที่ชื่นชอบบาสเก็ตบอลและฟุตบอลมาก ปี 2009 The Washington Post รายงานว่าสมัยเรียนที่สวิตเซอร์แลนด์ จองอึน มักใช้เวลาในห้องเรียนไปกับการวาดรูปไมเคิล จอร์แดน 

หลังการก้าวขึ้นสู่อำนาจของจองอึน ในปี 2012 เขายังเพิ่มงบประมาณทางด้านกีฬาอย่างมหาศาลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านฟุตบอล  รายงานระบุว่างบประมาณด้านกีฬาในปี 2014 สูงกว่าปีก่อนถึง 17 เปอร์เซ็นต์ 

จากคำกล่าวของ อันโตนิโอ ริซซี สมาชิกวุฒิสภาอิตาลีที่มีความใกล้ชิดกับตระกูลคิมบอกว่าผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือคนปัจจุบัน เป็นแฟนของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เขาชื่นชอบปีศาจแดงมากและ แทบไม่เคยพลาดการแข่งขันพรีเมียร์ลีกแม้แต่นัดเดียว  


photo : Reddit

“ทันทีที่คิมจองอึน ขึ้นสู่อำนาจในปี 2012 และหลักสูตรพละศึกษาก็โฟกัสกับฟุตบอลมากขึ้น” กรีนอธิบาย

“ห้องเรียนในโรงเรียนมัธยมปลายได้รับการจัดระเบียบใหม่ให้กลายเป็นทีมฟุตบอลเพื่อฝึกซ้อม ผู้แปรพักต์เคยบอกผมว่า ‘ไม่สำคัญว่าพวกเขาจะชอบฟุตบอลหรือไม่ แต่คิมจองอึนชอบฟุตบอล”  

อันที่จริงเกาหลีเหนือเป็นสังคมปิตาธิปไตย หรือผู้ชายเป็นใหญ่ แต่สำหรับฟุตบอลพวกเขากลับยกย่องและให้ความสำคัญกับทีมหญิงเป็นพิเศษ เนื่องจากพวกเธอ 
สามารถสร้างชื่อในระดับโลกได้มากกว่าทีมชายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา 

ทัพโสมแดงสาว เป็นเจ้าของตำแหน่งแชมป์เอเชียนคัพ 3 สมัย คว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์อีก 3 สมัย และสามารถไปไกลถึงตำแหน่งแชมป์โลกในชุดอายุไม่เกิน 17 ปี และ 20 ปี และเคยผ่านเข้าไปเล่นในรอบสุดท้ายฟุตบอลโลกถึง 4 ครั้ง 

“ผมเคยไปสอนอยู่ห้าปี เด็กผู้หญิงดูจะเล่นฟุตบอลเก่งกว่าเด็กผู้ชาย พวกเธอคว้ามาได้ 2 เหรียญ พวกเธอเอาชนะในนัดชิงชนะเลิศ” ชอง ยงจิน โค้ชทีมฟุตบอลโรงเรียนแห่งหนึ่งในเกาหลีเหนือกล่าว


photo : 
Daily Mail

“ตอนนี้ทีมหญิงกำลังได้รับความนิยม เรากำลังพยายามมากขึ้นกับทีมชาย” 

แน่นอนว่าหลักสูตรพลศึกษาไม่ใช่สิ่งเดียวที่ที่ตระกูลคิมให้ความสำคัญ 

รากฐานของทีมชาติ 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทีมชาติเกาหลีเหนือเริ่มมีบทบาทมากในวงการฟุตบอลเยาวชน นอกจากตำแหน่งแชมป์โลกของทีมหญิงชุดเล็กแล้ว ทีม U17 และ U20 ของพวกเขายังผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายได้ถึง 5 ครั้งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

หนึ่งในกุญแจสำคัญของความสำเร็จในครั้งนี้คือโรงเรียนสอนฟุตบอลนานาชาติเปียงยาง ที่ได้รับงบประมาณอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจากท่านผู้นำ มันตั้งอยู่ห่างจากสนามเมย์เดย์สเตเดียม รังเหย้าของทีมชาติชุดใหญ่ไม่ไกล ภายในบรรจุสนามหญ้าขนาดมาตรฐาน 20 สนามไว้รองรับนักเรียนของที่นี่ 

“ก้าวแรกก็คือโรงเรียนทั่วไป นั่นคือโรงเรียนระดับภูมิภาคอย่างที่คุณเห็น”  คิม ชอย อึง รองผู้อำนวยการโรงเรียนสอนฟุตบอลนานาชาติเปียงยางกล่าว   

“แต่ละจังหวัดจะมี 50 โรงเรียน และ 50 โรงเรียนเหล่านั้นก็จะมีทีมฟุตบอลเป็นของตัวเอง เราจะไปในจังหวัดนั้นๆ หาผู้เล่น และพวกเขาก็มาอยู่ที่นี่”  


photo : 
Bleacher Report

โรงเรียนแห่งนี้มีนักเรียนราว 500 คน ตั้งแต่อายุ 7-16 ปี พวกเขาต้องเรียนหลักสูตรสามัญไม่ว่าจะเป็นคณิตศาสตร์หรือภูมิศาสตร์พร้อมกับเรียนศาสตร์ด้านฟุตบอลทั้งด้านทฤษฎีและปฎิบัติ ภายในห้องสมุดจึงเต็มไปด้วยหนังสือเกี่ยวกับฟุตบอล 

“ปี 2013 มันเป็นตอนที่เราเริ่มต้นพัฒนากีฬาของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านฟุตบอล เพื่อให้ระดับให้ประเทศเราสูงเหมือนกับประเทศอื่น เราจึงได้ก่อตั้งอคาเดมีนี้ 

“เนื่องด้วยอคาเดมีนี้ นักเตะที่มีอนาคตมากมายได้รับการศึกษาและเติบโตจากที่นี่”

“แปดสิบเปอร์เซ็นต์ของผู้เล่นในชุด U-16 และ U-17 มาจากอคาเดมีนี้ เป้าหมายของเราคือกาตาร์ 2022 ผู้เล่นเหล่านี้กำลังจะไปที่นั่น” 

อย่างไรก็ดี พวกเขาไม่ได้มีแค่นี้ 

อคาเดมีในต่างแดน

ต้องยอมรับว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีนักเตะจากเกาหลีเหนือไปเล่นในต่างประเทศมากมาย ซึ่งไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะมันคือกลยุทธ์สำคัญในการสร้างทีมฟุตบอลให้แข็งแกร่ง พวกเขารู้ดีว่านักเตะที่ไปเล่นในต่างแดนจะนำประสบการณ์ที่ดีมาช่วยพัฒนาวงการฟุตบอลของพวกเขา 

หนึ่งในคนที่ประสบความสำเร็จที่สุดของพวกเขาคือ ฮาน ควาง ซอน ฤดูกาล 2017 เขาทำสถิติเป็นนักเตะคนแรกที่ทำประตูได้ในเซเรียอา ในสีเสื้อของกายารี และตั้งแต่ฤดูกาล 2018 เขาถูกปล่อยตัวให้ เปรูจาในเซเรียบี ยืมตัวไปใช้งาน และยิงให้ทีมไปแล้ว 11 ประตูตลอด 2 ซีซั่นที่ผ่านมา 

Photo : CalcioMercato.com

ฮาน เป็นเด็กฝึกจาก ISM อคาเดมี ที่ตั้งอยู่ใกล้เมืองเปรูจา ประเทศอิตาลี นักเตะดาวรุ่งฝีเท้าดีของเกาหลีเหนือมากมายถูกส่งมาที่นี่ ข้อตกลงระหว่าง ISM กับสมาคมฟุตบอลเกาหลีได้รับการสนับสนุนโดย อันโตนิโอ รัซซี ที่สนิทสนมกับตระกูลคิม 

“คิมจองอึนเป็นคนยิ้มง่าย เขาชอบฟุตบอล เขาเคยส่งนักเตะเยาวชนมากมายไปที่ คอร์เชียโน (ISM) ที่เปรูจา ที่ดำเนินการโดย อเลสซานโดร โดมินิค (ที่มีหุ้น 40 เปอร์เซ็นกับ ISM)” รัซซีอธิบาย

อย่างไรก็ดี การส่งนักเตะไปเล่นในต่างประเทศของพวกเขา ก็ยังเต็มไปด้วยข้อกังขาว่าเพื่อพัฒนาฟุตบอลหรือมีผลประโยชน์แอบแฝง เพราะนับตั้งแต่จองอึน เรืองอำนาจ แรงงานจำนวนมากถูกส่งออกไปในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจีนรัสเซียและตะวันออกกลางอย่างมีนัยยะสำคัญ 
 
แรงงานดังกล่าวถูกมองว่าเป็นแหล่งทำเงินให้กับรัฐบาลเกาหลีเหนือ  เพราะคนที่ไปทำงานต่างประเทศ ต้องส่งรายได้ส่วนหนึ่ง ที่บางแหล่งระบุว่าอาจสูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์กลับประเทศ ทำให้ครั้งหนึ่ง ฟิออเรนตินา ได้เคยยกเลิกการเซ็นสัญญากับ โซ ชอง ฮยุค มาแล้ว

แต่ถึงอย่างนั้นสมาชิกวุฒิสภาอิตาลี ก็ยังมองในแง่ดี โดยเขามองว่าว่าเกาหลีเหนือพยายามใช้กีฬาเป็นเครื่องมือในการผูกมิตรกับชาติอื่นๆมากกว่า 


photo : CalcioMercato.com

“ความตั้งใจของทางการเกาหลีเหนือในการส่งนักเตะไปต่างประเทศคือสัญญาณที่น่าคิดของความเป็นมิตร ในทางกลับกันพวกเขาคือนักฟุตบอลที่ดีจริงๆ” รัซซีให้ความเห็น

“มันเป็นการเข้าหาที่ดี คุณสามารถสร้างสายสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆเหล่านั้น กีฬาที่ทำให้เกิดการเชื่อมกัน ด้วยกีฬามันทำให้เกิดเส้นทางที่เป็นไปได้ที่จะทำไปสู่ความสัมพันธ์” 

ความรักหรือผลประโยชน์ 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการอัดงบประมาณด้านกีฬาตั้งแต่รุ่นพ่อ จองอิล จนมาถึง รุ่นลูก จองอึน มีส่วนสำคัญที่ทำให้วงการกีฬาเกาหลีเหนือพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พวกเขาเริ่มมีหน้ามีตาในเวทีโลกมากขึ้น

นอกจากแชมป์ฟุตบอลโลกในระดับเยาวชนแล้ว ในเอเชียนเกมส์เมื่อปี 2014 พวกเขายังคว้ามาได้ถึง 11 เหรียญทอง รั้งอยู่ในอันดับ 6 ของตารางเหรียญรวม ในขณะเดียวกันกีฬาในประเทศก็ครึกครื้นมากขึ้น 
  
“ดูเหมือนว่ากิจกรรมการแข่งขันกีฬาจะมีเพิ่มมากขึ้น ทีมกีฬาเกาหลีเหนือเดินทางไปแข่งนอกประเทศมากกว่าเดิมที่เคยเป็นมา และประสบความสำเร็จมากกว่าเมื่อก่อน”  ไซมอน คอคเคอร์เรลล์ หัวหน้าโคเรียทัวร์ ที่มีฐานที่มั่นในกรุงปักกิ่ง ผู้จัดการนำนักกีฬาเข้าไปแข่งขันในเกาหลีเหนือทั้งเปียงยางมาราธอน ฟริสบี และ คริกเก็ตกล่าวกับ Reuters

นอกจากนี้ สนามกีฬาในเกาหลีเหนือก็ได้รับการบูรณะหรือสร้างใหม่มากขึ้น จากรายงานของ เคอร์ติส เมลวิน แห่งสถาบันสหรัฐฯ-เกาหลี มหาวิทยาลัยจอห์น ฮ็อปกินส์ ในวอชิงตัน ที่ใช้ภาพถ่ายทางดาวเทียมวิเคราะห์การพัฒนาทางเศรษฐกิจของเกาหลีเหนือ


photo : ABS-CBN News

“ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นว่ามีสนามมากมายที่ได้รับการบูรณะซ่อมแซม และมีการสร้างสนามสเก็ตและสวนไว้เล่นกีฬาแม้จะเป็นพื้นที่ที่ห่างไกล” เมลวินกล่าว 

อย่างไรก็ดี ก็ยังมีเสียงติติงจากนักวิเคราะห์ในต่างประเทศว่าตระกูลคิม พยายามใช้กีฬาเป็นเครื่องมือในการล้างภาพลักษณ์การกดขี่ และในขณะที่ประชาชนกำลังอดตาย เขากลับสร้างลานกีฬามากมาย ทั้งสนามม้าแข่ง สโมสรสกีและลานโบวลิง ซึ่งล้วนเป็นของฟุ่มเฟือยทั้งสิ้น 

"คิมอาศัยกีฬาในการฟอกล้างภาพลักษณ์ สร้างภาพว่าเขาเอาใสใส่ในความมีอยู่มีกินของประชาชน และสร้างภาพความเป็นผู้นำ รวมทั้งทำให้ดูคล้ายว่า เกาหลีเหนือกำลังเจริญรุ่งเรือง" ชางยองซอก นักวิเคราะห์ของสถาบันการรวมชาติและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซลกล่าว 

นอกจากนี้ ตระกูลคิมยังมีชื่อเสียงในการลงโทษนักกีฬาที่ไม่ประสบความสำเร็จ โดยมีข่าวลือว่าพวกเขาจะถูกส่งไปที่ค่ายแรงงานหากทำผลงานได้ไม่ดีในการแข่งขันระดับโลก โดยไม่มีข้อยกเว้น แม้แต่ทีมชุดประวัติศาสตร์ 1966 

และล่าสุดคือทีมเมื่อปี 2010 จากการรายงานของ Radio Free Asia ยืนยันว่านักเตะจากทีมชุดนั้นต้องไปยืนสำนึกผิดบนเวทีในตำหนักวัฒนธรรมในกรุงเปียงยางต่อหน้าผู้คนกว่า 400 คนที่มีทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล นักเรียนและนักข่าวเป็นเวลาถึง 6 ชั่วโมง 


photo : WordPress.com

ในขณะเดียวกันยังพบหลักฐานสำคัญจากการประชุมในงานสัมนากีฬาแห่งชาติเกาหลีเหนือเมื่อปี 2015 ที่สะท้อนให้เห็นมุมมองต่อกีฬาของจองอึน เมื่อท่านผู้นำระบุในจดหมายที่ส่งให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุมว่ากีฬาจึงเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญในการรวมประเทศให้เป็นปึกแผ่น เพราะสามารถสร้างจิตสำนึกความเป็นชาติร่วมกัน 

กีฬามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการรวมประเทศให้แข็งแกร่ง ช่วยเพิ่มความรุ่งโรจน์แก่เกียรติและศักดิ์ศรีของประเทศ เป็นแรงบันดาลให้กับผู้คนด้วยความภาคภูมิใจในประเทศ และสร้างสังคมขึ้นมาด้วยความกล้าหาญที่จะปฏิวัติวงการ” จองอึนระบุในจดหมาย 

“คนที่เป็นนักกีฬาจึงควรเอาใจใส่โปรแกรมการฝึกซ้อมราวกับเป็นคำสั่งทางทหารจากพรรค และการฝึกซ้อมเหมือนเล่นอยู่ในสนามรบ เพื่อปลูกฝังอุดมการณ์ของพรรคเข้าไปและป้องกันประเทศของพวกเขา” 

สุดท้ายแล้วไม่ว่าผลลัพท์จะเป็นอย่างไร คำว่า “กีฬา” ของตระกูลคิม อาจจะเป็นเพียงแค่เครื่องมือทางการเมืองเหมือนที่ประเทศเผด็จการทั่วไปใช้ควบคุมประชาชน เมื่อประโยชน์ที่พวกเขาได้กลับมามันคุ้มค่าที่จะลงทุน 

ราวกับว่าความรักที่พวกเขาแสดงออกมามันเป็นแค่เพียงภาพลวงตา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook