ปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนในกาตาร์ กับจุดจบของบอลโลก 48 ทีม ปี 2022
เดือนเมษายน ปี 2018 สหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ หรือฟีฟ่า (FIFA) ได้ออกแนวคิดจริงจัง กับการเพิ่มทีมเข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ เป็น 48 ทีม จาก 32 ทีม ท่ามกลางเสียงคัดค้าน จากหลายฝ่ายทั่วโลก
1 ปีต่อมา ฟีฟ่าตัดสินใจล้มเลิกแผนเพิ่มทีม ในการแข่งขันฟุตบอลโลก โดยการอ้างถึงปัญหาด้านการขนส่ง และการคมนาคม ที่ยังไม่พร้อม ต่อการเพิ่มระดับของการแข่งขัน
หากแต่ข่าวลือที่ออกมาก่อนหน้านี้ ดูไม่เป็นไปในทางเดียวกับที่ฟีฟ่าแถลงออกมา เพราะปัญหาที่ฟุตบอลโลกครั้งหน้า ต้องเผชิญอยู่ตลอดเวลา คือปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ของแรงงาน ในประเทศกาตาร์ จนส่งผลสำคัญ ให้ฟุตบอลโลก ยังคงต้องแข่งขัน ด้วยจำนวนทีมตามเดิมต่อไป
ไปพบกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น ภายในประเทศกาตาร์ กับประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อให้การแข่งขันฟุตบอล ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก เกิดขึ้นได้จริง ซึ่งต้องแลกด้วยชีวิตของคน มากกว่าพันคน
จุดเริ่มต้นของปัญหา
ปัญหาสำคัญที่กาตาร์ เจอปัญหามาตลอด กับการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก คือการละเมิดสิทธิมนุษยชน ของเหล่าแรงงาน ที่เป็นส่วนหนึ่ง ของการสร้างความพร้อม กับฟุตบอลรายการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก
เพราะหากมองถึงความพร้อม ในการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ย้อนไปเมื่อปี 2010 ที่กาตาร์ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก กาตาร์ ได้รับเสียงโหวตชนะ สหรัฐอเมริกา, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย
เห็นได้ชัดว่า ชาติที่กาตาร์ เอาชนะมาได้ ล้วนมีความพร้อม ที่เหนือกว่าชาติจากตะวันออกกลาง ในการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก ทั้งเรื่องของสนาม, ที่พัก, สิ่งอำนวยความสะดวก, การเดินทาง และสภาพอากาศ
photo : The National
แม้จะโดนข้อครหา จากชาติฟุตบอลชั้นนำทั่วโลก ว่ากาตาร์ใช้เงินซื้อ การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก โดย BBC รายงานว่า ฟีฟ่าได้รับเงินมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากรัฐบาลกาตาร์ เพื่อให้ได้สิทธิ์การเป็นเจ้าภาพ ฟุตบอลโลก เหนือสหรัฐอเมริกา ตัวเลือกที่แท้จริงของฟีฟ่า
แต่พวกเขายังมีเวลามากกว่า 10 ปี ในการสร้างสรรค์ ความพร้อมให้กับประเทศ เพื่อจัดฟุตบอลโลก 2022 ให้ออกมา ประสบความสำเร็จ แบบที่แฟนบอลทั่วโลกต้องการ
ปัญหาสำคัญที่กาตาร์ต้องเผชิญ คือพวกเขามีสนามฟุตบอลระดับชาติ เพียงแค่ 2 สนาม ทำให้กาตาร์ต้องสร้างสนามใหม่อีก 6 สนาม ให้เสร็จทันก่อนฟุตบอลโลก จะเริ่มต้น ด้วยข้อบังคับว่าต้องมีความจุอย่างน้อย 40,000 ที่นั่ง เพื่อรองรับแฟนฟุตบอลจากทั่วโลก
ซึ่งนี่คือจุดเริ่มต้น ของการละเมิดสิทธิมนุษยชน ของแรงงานในประเทศกาตาร์ ที่นำไปสู่การตายของแรงงาน ที่ทำงานหนักจนเสียชีวิต ด้วยค่าเฉลี่ย 1 คนต่อ 2 วัน !
แรงงานทาส ที่กาตาร์
กาตาร์มีข้อจำกัดด้านประชากร ซึ่งมีจำนวนแค่ 2,300,000 คนเท่านั้น ทรัพยากรมนุษย์ถือว่ามีอย่างจำกัดมาก ทำให้กาตาร์ต้องเปิดรับแรงงานต่างชาติ จากอินเดีย, ปากีสถาน และ บังคลาเทศ เข้ามาทำงาน เพื่อช่วยสร้างสนาม ให้ทันศึกฟุตบอลโลก 2022
photo : getty image
แต่การสร้างสนามฟุตบอลที่กาตาร์ ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะมีเงินมหาศาล พร้อมสนับสนุน เพราะต้องสร้างสนามขึ้นพร้อมกัน 6 สนาม และต้องได้มาตรฐาน ไม่แพ้กับสนามฟุตบอล ของสโมสรฟุตบอลยักษ์ใหญ่ ในทวีปยุโรป
บวกกับในช่วงของการออกแบบ ทางกาตาร์ยังออกแบบสนาม ให้หรูหรา มีระดับ อลังการ ให้สมกับเป็นสนามฟุตบอลของชาติเศรษฐี จากตะวันออกกลาง เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรม แบบอาหรับ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรม ที่มีความซับซ้อน อีกรูปแบบหนึ่งของโลก
นอกจากจำนวนงานที่เยอะและยาก สภาพอากาศ คือสิ่งที่เลวร้ายที่สุด ซึ่งแรงงานต้องเผชิญ กับอุณหภูมิเฉลี่ย มากกว่า 30 องศาเซลเซียส ตลอดทั้งปี และพุ่งสูง มากกว่า 40 องศา ในช่วงฤดูร้อน
เดอะ การ์เดียน (The Guardian) สื่อจากประเทศอังกฤษ รายงานว่า แรงงานต่างชาติ ถูกบังคับให้ทำงาน ทุกวัน ไม่มีพัก ส่วนใหญ่เป็นการทำงานในช่วงกลางวัน ทำให้แรงงานต้องเผชิญอากาศ ที่สูงกว่า 50 องศา และได้รับค่าตอบแทนประมาณ 12,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น
ขณะเดียวกัน พาสปอร์ตของเหล่าแรงงาน ถูกรัฐบาลกาตาร์ยึดเอาไว้ เพื่อไม่ให้หนีกลับประเทศ ทำให้แรงงานไม่มีทางเลือก นอกจากก้มหน้า ทำงานทาสของตัวเอง ให้สำเร็จลุล่วง
photo : getty image
มีการคาดการณ์ว่า แรงงานที่มาทำงาน สร้างสนามฟุตบอลให้กาตาร์ เสียชีวิตอย่างน้อย 1 คน ในทุก 2 วัน โดยมีการเปิดเผยข้อมูลว่า ในปี 2013 มีแรงงานเสียชีวิตที่จำนวน 168 คน และปี 2014 เพิ่มขึ้นเป็น 188 คน
ทางด้านสถานฑูตอินเดีย ประจำประเทศกาตาร์ ได้เปิดเผยว่าในปี 2013 มีชาวอินเดียอย่างน้อย 82 คนเสียชีวิต จากการทำงานเป็นส่วนหนึ่ง กับการสร้างความยิ่งใหญ่ให้ฟุตบอลโลก 2022
ปี 2014 วอชิงตัน โพสต์ (Washington Post) สื่อจากสหรัฐอเมริกา รายงานโดยอ้างอิงจากสหพันธ์สหภาพแรงงานสากล (International Trade Union Confederation) ว่า มีแรงงานเสียชีวิตอย่างน้อย 1,200 คน ภายในเวลาเพียง 4 ปี เท่านั้น (ทว่าทางการกาตาร์ยืนยันในเวลาต่อมาว่า มีแรงงานต่างชาติเสียชีวิตไม่ถึง 1,000 คน แถมยืนกรานด้วยว่า จำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด ไม่เกี่ยวข้องกับการสร้างสนามแข่งขัน)
photo : Archinect
แม้ทางการกาตาร์จะปฏิเสธถึงความเกี่ยวข้องระหว่างแรงงานที่เสียชีวิตกับฟุตบอลโลก แต่ตัวเลขดังกล่าว รวมถึงรายงานข่าวจากสื่อต่างๆ ทั่วโลก ก็ชวนให้วิตกไม่น้อย เพราะหากเทียบกับฟุตบอลโลก 2010 ที่แอฟริกาใต้ มีแรงงานเพียง 2 คน ที่เสียชีวิตระหว่าง กระบวนการสร้างความพร้อม ให้ประเทศเจ้าภาพฟุตบอลโลก หรือในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 ที่บราซิล ก็มีแรงงานผู้เสียชีวิตที่จำนวน 10 คน
ทั้งนี้ หลายสื่อทั่วโลกเชื่อว่า เมื่อการสร้างสนามเสร็จสิ้นสมบูรณ์ จะมีผู้เสียชีวิตรวมทั้งหมด ไม่ต่ำกว่า 4,000 คน กับการใช้แรงงานที่หนักหน่วง เยี่ยงทาส ในประเทศกาตาร์
กระโถนที่ชื่อ “ฟีฟ่า”
แม้ว่าในความเป็นจริง กาตาร์ จะเป็นหนึ่งในสมาชิกของ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Human Rights Council) ของสหประชาชาติ แต่ก็ไม่ได้ช่วย ให้ปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชน ในประเทศแห่งนี้ ลดลงไปแม้แต่น้อย
เพราะด้วยประเทศปิดแบบกาตาร์ ซึ่งยึดมั่นในหลักกฎหมาย ในประเทศตัวเองเป็นหลัก มากกว่ากฎหมายสากล แบบชาติตะวันตก สุดท้ายแล้วการใช้แรงงานทำงานหนัก เกินหลักสากล ไม่ถือเป็นเรื่องผิดแต่อย่างใดในประเทศกาตาร์
ตลอด 8-9 ปีที่ผ่านมา หลายประเทศ และองค์กรอิสระด้านสิทธิมนุษยชน คอยกดดันกาตาร์ ในประเด็นนี้อยู่เสมอ แต่ก็ไม่ส่งผลอะไร กับกาตาร์ที่ทำหูทวนลมตลอดเวลา และยังเดินหน้าใช้งานแรงงาน สร้างสนามฟุตบอลต่อไป
สุดท้าย แรงกดดัน จึงย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น ที่ทำให้การใช้แรงงานทาสเกิดขึ้น นั่นคือ ฟีฟ่า ผู้ที่เลือกให้กาตาร์ เข้ามาเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 โดยที่ยังขาดความพร้อมทั้งปวง
“เชื่อผมเถอะฟุตบอลโลกครั้งนี้ จะเป็นฟุตบอลโลกของความเงียบเหงา สิ่งที่คุณจะต้องนึกถึงในการแข่งขันครั้งนี้ คือเหล่าแรงงานต่างชาติ ที่เสียชีวิต ไปเพราะการสร้างสนามแห่งนี้”
ฮานส์ คริสเตียน แกเบรียลเซน หัวหน้าสหภาพแรงงาน ของประเทศนอร์เวย์ ออกมาโจมตีฟีฟ่า เมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา
เช่นเดียวกับ ทิม นูนาน ผู้อำนวยการสหพันธ์สหภาพแรงงานสากล ที่ออกมากล่าวโทษ ว่าฟีฟ่าคือต้นเหตุของเรื่องน่าเศร้า ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศกาตาร์
“คุณจำเป็นต้องจำไว้ให้ดี ว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะใคร ที่แรงงานต้องทำงานหนักขนาดนี้ เพราะพวกเขาต้องสร้างความพร้อม ของฟุตบอลโลกให้ทันเวลา ให้บอลโลกที่กาตาร์ เกิดขึ้นจริงให้ได้”
มีแรงกดดันจากทั่วทุกมุมโลก บีบให้ฟีฟ่าเข้ามาหยุดเรื่องที่เกิดขึ้น ด้วยการถอนสิทธิ์กาตาร์ ในฐานะเจ้าภาพฟุตบอลโลก เพื่อให้การใช้แรงงานทาสจบลง แต่ฟีฟ่ากลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม
เมื่อฟีฟ่า กล่าวในปี 2018 ถึงแผนการที่จะเพิ่มทีมเป็น 48 ทีม ในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 เสียงโจมตี ยิ่งพุ่งหนักไปหาฟีฟ่า เป็นเท่าทวีคูณ เพราะการเพิ่มทีมในการแข่งขัน เท่ากับว่าฟุตบอลรายการนี้ ต้องจัดให้ยิ่งใหญ่ขึ้นกว่าเดิม หมายถึงแรงงาน ที่ต้องทำงานหนักมากขึ้น เช่นเดียวกัน
ทางออก ที่ไม่ได้ผล
แม้ว่าฟีฟ่า จะออกจดหมายมากดดันกาตาร์ ว่าพวกเขาไม่สนับสนุนให้กาตาร์ ละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่คำพูดกับการกระทำ ของฟีฟ่ากลับสวนทางกัน เพราะฟีฟ่า ยังคงเดินหน้าเต็มกำลัง ที่จะผลักดันฟุตบอลโลก 48 ทีม ให้เกิดขึ้นจริงให้ได้ ที่กาตาร์
ย้อนไปในเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา มีข่าวลืออย่างหนักว่าฟีฟ่า ได้เตรียมแผนสำรอง ที่เกิดความคาดหมาย ด้วยการเพิ่มจำนวนเจ้าภาพเข้าไปอีก 2-3 ประเทศ เช่น คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และโอมาน รวมไปถึง บาห์เรน กับซาอุดิอาระเบีย
อาจดูเป็นทางออกที่เข้าที กับการขยายพื้นที่การจัดฟุตบอลโลก เพื่อเพิ่มความพร้อมที่มากขึ้น ให้รองรับการแข่งขันที่จะยิ่งใหญ่มากขึ้น แต่ในทันที ที่ไอเดียถูกประกาศในพื้นที่สาธารณะ แอมเนสตี้ (Amnesty) องค์การอิสระ ด้านสิทธิมนุษยชน ได้ออกแถลงการณ์ ตอบโต้แนวคิดนี้ของฟีฟ่าในทันที
“เราคิดว่า เป็นเรื่องที่ชัดเจน ซึ่งทุกคนรับรู้ได้ว่า จะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพิ่มขึ้น หากมีการเพิ่มจำนวนชาติเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 เพราะมีความเป็นไปได้อย่างมาก ที่เหล่าแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก จะถูกดึงเข้ามาทำงานเพิ่ม เพื่อสร้างความพร้อมให้กับฟุตบอลโลกครั้งนี้”
“ฟีฟ่ายังไม่ตระหนักถึงปัญหาสำคัญ ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง การแข่งขันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกฟุตบอล จานนี อินฟานติโน (ประธานฟีฟ่าคนปัจจุบัน) พูดเสมอว่า ต้องการให้ฟุตบอลโลกครั้งนี้ออกมาพร้อมมากที่สุด”
“เพราะฉะนั้น ฟีฟ่าย่อมรู้ดีว่า การขยายการเป็นเจ้าภาพ ให้ประเทศในบริเวณอ่าวเปอร์เซีย คือการเพิกเฉยต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคนี้”
photo : Sportsnet
หากมองตามความเป็นจริง เหล่าชาติที่ฟีฟ่ายกขึ้นมา จะให้เป็นเจ้าภาพร่วมกับกาตาร์ ไม่ได้มีความพร้อม ในการจัดฟุตบอลโลก มากไปกว่ากาตาร์ และมีปัญหาในการละเมิดสิทธิมนุษยชน ของแรงงานในรูปแบบเดียวกัน
ด้วยแรงกดดันจากทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะจากองค์กรอิสระ ด้านสิทธิมนุษยชน ทำให้ฟีฟ่า ต้องยอมยกธงขาวยอมแพ้ ประกาศยกเลิกแผนเพิ่มทีมในฟุตบอลโลก เป็น 48 ทีมในที่สุด
เรื่องเศร้าที่ยังไม่สิ้นสุด
“ยังเหลือเวลาอีกกว่า 3 ปีครึ่ง ก่อนที่การแข่งขันจะเริ่มต้นขึ้น ประเทศกาตาร์ ขอแสดงความมั่นใจว่า ฟุตบอลโลก 2022 ที่จะจัดขึ้นด้วยจำนวน 32 ทีม จะเป็นหนึ่งในฟุตบอลโลก ที่ดีที่สุดตลอดกาล และแสดงให้เห็นถึงความภูมิใจ ของโลกชาวอาหรับ”
แม้ว่าฝ่ายจัดการแข่งขันของกาตาร์ จะออกมาแสดงความมั่นใจ ว่าการแข่งขันฟุตบอลโลก ในอีก 3 ปีข้างหน้า จะไม่มีปัญหา แต่ในความเป็นจริง 6 ที่ต้องสร้างขึ้นใหม่ ยังไม่แล้วเสร็จ แม้แต่สนามเดียว
เท่ากับว่า แรงงานข้ามชาติอีกจำนวนมาก ในกาตาร์ ยังคงต้องทำงานหามรุ่ง หามค่ำต่อไป โดยขาดการใส่ใจจาก องค์กรที่มีอำนาจโดยเฉพาะอย่างยิ่งฟีฟ่า
photo : Soccer - NBC Sports
หากย้อนดูตัวเลขผู้เสียชีวิต จากการสร้างสนามแข่งขัน เพื่อรองรับทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลโลก มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 2 คน ในบอลโลก 2010 เป็น 10 คนในปี 2014 และเพิ่มขึ้นเป็น 21 คนในบอลโลก 2018 ที่รัสเซีย กระทั่งมากกว่า 1,000 คน กับบอลโลก 2022 ที่กำลังจะมาถึง
สำหรับฟุตบอลโลก 2026 ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา, เม็กซิโก และแคนาดา ฟีฟ่ายืนยันที่จะจัดฟุตบอลโลก ด้วยจำนวน 48 ทีมตามที่วางแผนไว้แต่แรก พร้อมกับคำยืนยัน จากฝ่ายจัดการแข่งขัน ว่าจะไม่เกิดเรื่องซ้ำรอยแบบที่กาตาร์แน่นอน
เรื่องในอนาคต ยังไม่ใช่สิ่งที่จะคาดเดาได้ ฟุตบอลโลกที่จะจัดขึ้น ในทวีปอเมริกาเหนือ อาจเกิดหรือไม่เกิด เรื่องราวซ้ำรอยที่กาตาร์
แต่ปัจจุบัน เรื่องราวการละเมิดสิทธิมนุษยชน ของแรงงาน ยังคงเกิดขึ้น จากการแข่งขันฟุตบอลโลก จำนวน 48 ทีมที่ไม่เพิ่มขึ้น อาจเป็นการช่วยลดการสูญเสียชีวิตมนุษย์นับพัน เพราะตัวเลขแค่ 32 ก็มากเพียงพอ จะทำให้หลายชีวิตต้องจบสิ้น อย่างไม่มีวันกลับ เพื่อให้ทัวร์นาเมนต์ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกลูกหนัง เกิดขึ้นจริง ใน 3 ปีข้างหน้า