"แอลฟาโกะ" : เมื่อชัยชนะของ AI กลายเป็นภัยร้ายของมนุษยชาติ

"แอลฟาโกะ" : เมื่อชัยชนะของ AI กลายเป็นภัยร้ายของมนุษยชาติ

"แอลฟาโกะ" : เมื่อชัยชนะของ AI กลายเป็นภัยร้ายของมนุษยชาติ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ความหมายของการเป็นมนุษย์คืออะไร?

คำถามเชิงปรัชญาดังกล่าว นำมาสู่คำตอบที่ทุกคนต้องการค้นหา คนจำนวนไม่น้อยเลือกใช้เวลาไปกับการเล่น “โกะ” เกมหมากกระดานโบราณ ที่เรียบง่ายและเนิบช้า บททดสอบของนักปราชญ์ที่ช่วยค้นหาคุณค่าแห่งชีวิต

ไม่เพียงแต่มนุษย์ที่สงสัยในตัวเอง ปัญญาประดิษฐ์ เครื่องจักรทันสมัยไร้ชีวิต ยังแสวงหาถึงหนทางในการพัฒนาการ และ โกะ ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญ ดึงความสามารถของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ให้ก้าวไปถึงขีดสุด

 

เมื่อโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่อายุไม่ถึง 2 ปี สามารถเอาชนะมนุษย์ที่มีลมหายใจ ในการแข่งขันที่สืบถอดมาหลายพันปี คำถามเกิดขึ้นมากมายทั่วโลก ถึงความสามารถที่มากเกินไปของปัญญาประดิษฐ์ และความอ่อนแอของเผ่าพันธุ์มนุษย์

Main Stand ขอพาคุณย้อนเวลาไปดูเรื่องราวการปะทะระหว่าง “เครื่องจักร” กับ “มนุษย์” บนกระดานหมากล้อม แอลฟาโกะคืออะไร ? ความสามารถของมันมีมากแค่ไหน ? แล้วมนุษย์ตอบโต้ในการแข่งขันอย่างไรบ้าง?

เกมกระดาน กับ ปัญญาประดิษฐ์

โกะ หรือ หมากล้อม คือเกมหมากกระดานอายุเก่าแก่ที่สุดในโลก เป็นเกมกลยุทธ์โบราณ ถือกำเนิดในประเทศจีน เมื่อเมื่อประมาณ 3,000-4,000 ปีก่อน

 1

กติกาของโกะ มีความเรียบง่าย แต่เปี่ยมด้วยหลักการ ผู้เล่นสองคนแข่งขันกัน โดยใช้หมากชนิดเดียว ต่างกันที่สี ขาว-ดำ การเดินรูปแบบเดียว คือวางหมากของตัวเองลงบนกระดาน เพื่อต่อหมากของตัวเองล้อมพื้นที่บนกระดาน

ผู้เล่นจะได้แต้มจากการล้อมพื้นที่ดังกล่าว และเล่นงานคู่ต่อสู้ ด้วยการนำหมากของคู่แข่งที่ถูกล้อมออกจากกระดาน ก่อนตัดสินผู้ชนะ โดยการวัดฝ่ายที่ล้อมพื้นที่บนกระดานได้มากที่สุด

แม้จะเป็นกติกาที่เข้าใจง่าย แต่รูปแบบการเล่นของโกะกลับซับซ้อนยิ่งกว่าเกมใดบนโลก จากรูปแบบการเดินไม่ต่ำกว่า 400 แบบ และนำมาซึ่งความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นบนกระดานอีก 10800 (สิบยกกำลังแปดร้อย) แบบ มากกว่าอะตอมในจักรวาลที่มี 10720 (สิบยกกำลังเจ็ดร้อยยี่สิบ) ชนิด

“ถ้าคุณเล่นโกะอย่างจริงจัง คุณมีโอกาสจะได้สัมผัสประสบการณ์ว่า มันไม่เหมือนสิ่งใดในโลก โกะจะนำพาคุณไปยังจุดที่ไกลที่สุดเท่าที่คุณจะไปได้ ด้วยความสามารถของคุณเอง นั่นคือเหตุผลที่ผู้คนเล่นโกะมาเป็นพันๆ ปี” แฟรงก์ แลนต์ซ (Frank Lantz) ผู้อำนวยการเกมเซ็นเตอร์มหาวิทยาลัยนิวยอร์ค กล่าว

“พวกเขาไม่ได้อยากแค่เข้าใจโกะ พวกเขาอยากเข้าใจว่า ความเข้าใจ คืออะไร และนั่นอาจแสดงถึงความหมายที่แท้จริงของการเป็นมนุษย์”

โกะไม่เพียงช่วยขยายพลังสมองของมนุษย์เพียงอย่างเดียว เกมกระดานชนิดนี้ถูกเล็งเห็นว่ามีความสำคัญในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (Artificial Intelligence) ให้มีความสามารถมากขึ้น

บริษัท ดีปไมนด์ (DeepMind) ธุรกิจปัญญาประดิษฐ์สัญชาติอังกฤษ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเครือของ แอลฟาเบ็ต (Alphabet) บริษัทแม่ของ กูเกิ้ล (Google) หนึ่งในเจ้าพ่อแห่งโลกออนไลน์ จึงริเริ่มสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อเล่นเกมหมากล้อม นามว่า แอลฟาโกะ (AlphaGo) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาความคิดของปัญญาประดิษฐ์ ผ่านเกมโบราณชนิดนี้

 2

“โกะถือเป็นเป้าหมายสูงสุดของการสร้างปัญญาประดิษฐ์ มนุษย์เล่นเกมนี้มานานหลายปี และผู้คนยังคิดว่า เกมนี้ยากเกินไป” เดวิด ซิลเวอร์ (David Silver) หัวหน้าทีมวิจัยของดีปไมนด์ อธิบายถึงเหตุผลในการสร้างแอลฟาโกะ

“ทุกอย่างที่เราทดลองกับเอไอ ล้มเหลวไปหมดเมื่อเราให้มันเล่นโกะ เรื่องนั้นทำให้เรารู้ว่าโกะคือบททดสอบที่แท้จริงในการสร้างเอไอ ถ้าเราเอาชนะเกมโกะได้อย่างหมดจด นั่นแปลว่าเราได้สร้างบางอย่างที่พิเศษขึ้นมาแล้ว”

หลังใช้เวลาพัฒนาเกือบสองปี เดือนตุลาคม ปี 2015 ดีปไมนด์ตัดสินใจทดสอบกระบวนการคิดของแอลฟาโกะ ด้วยการเชิญ ฟาน ฮุย (Fan Hui) ผู้เล่นโกะอาชีพชาวจีน เจ้าของรางวัลแชมป์ยุโรป 3 สมัย เข้ามาประลองฝีมือกับปัญญาประดิษฐ์ที่พวกเขาได้สร้างขึ้น

“แน่นอนครับ ผมคิดว่าสามารถชนะแอลฟาโกะได้แน่ เพราะมันเป็นแค่โปรแกรมคอมพิวเตอร์” ฟาน ฮุย พูดถึงความรู้สึกก่อนได้ปะทะกับแอลฟาโกะ

ความมั่นใจของ ฟาน ฮุย หายลงไปในพริบตา หลังพ่ายแพ้แก่แอลฟาโกะ 2.5 แต้ม ในการแข่งขันยกแรก ก่อน ฟาน ฮุย จะขอยอมแพ้ในอีก 4 ยกถัดมา … ทุกยก

ทำให้ผลลัพธ์ของเกมดังกล่าว แอลฟาโกะ เอาชนะ ฟาน ฮุย ด้วยสกอร์ 5-0 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ที่นักเล่นโกะมืออาชีพ แพ้ให้กับโปรแกรมคอมพิวเตอร์

เผชิญหน้าหมายเลขหนึ่ง

ข่าวแอลฟาโกะ ปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถเอาชนะมนุษย์ แพร่กระจายไปทั่วอินเตอร์เน็ตอย่างรวดเร็ว หลายคนเห็นตรงกันถึงการไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ และกล่าวหาว่าผู้เล่นที่แอลฟาโกะเผชิญหน้า มีระดับต่ำเกินไปกว่าที่จะวัดอะไรได้

 3

“วงการโกะไม่เชื่อว่าแอลฟาโกะเก่งแค่ไหน และต้องถูกพัฒนาอีกแค่ไหน ถึงจะเอาชนะมืออาชีพระดับสูงได้” เดมิส ฮาสซาบิส (Demis Hassabis) ซีอีโอดีปไมนด์ กล่าว

“เมื่อเวลาผ่านไป โปรแกรมของเราพัฒนามากขึ้น เราอยากทดสอบชุดคำสั่งของเอไอตัวนี้ให้มากที่สุด และดูว่าโปรแกรมที่พัฒนาตัวเองได้นี้ สามารถก้าวไปได้ไกลแค่ไหน”

“เราจึงต้องมองหาความท้าทายที่ใหญ่ขึ้น”

ความท้าทายที่ว่า คือการตัดสินใจเชิญ อี เซดล (Lee Sedol) ผู้เล่นโกะอาชีพที่เก่งที่สุดในโลก เจ้าของแชมป์ระดับนานาชาติ 18 สมัย เข้าสู่การแข่งขันแบบห้ายก ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ในเดือนมีนาคม ปี 2016

 4

“ผมมั่นใจครับ ผมเชื่อว่าสัญชาตญาณของมนุษย์ ก้าวหน้าเกินกว่าที่ปัญญาประดิษฐ์จะตามได้ทัน ผมจะพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อปกป้องสติปัญญาของมนุษย์ครับ” อี เซดล กล่าวในงานแถลงข่าว ก่อนลงประลองฝีมือกับแอลฟาโกะ

การแข่งขันยกแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2016 มันแตกต่างจากเกมระหว่างแอลฟาโกะ และ ฟาน ฮุย ที่แข่งขันในออฟฟิศของดีปไมนด์ที่กรุงลอนดอน นี่คือการแข่งขันที่ถูกถ่ายทอดสดไปทั่วโลก และ อี เซดล ไม่ได้ลงแข่งขันเกมนี้ เพื่อชื่อเสียงของตัวเอง หรือ ประเทศชาติ ...

เขากำลังต่อสู้เพื่อปกป้องศักศรีของการเป็นมนุษย์

ทำลายจิตวิญญาณมนุษย์

ความพิเศษของโกะคือ ผู้เข้าแข่งขันไม่ได้ปะทะกันแค่บนกระดาน เพราะจิตวิทยาเข้ามามีส่วนสำคัญในการเล่นเกมดังกล่าวมาก สีหน้าและการกระทำที่แสดงออกระหว่างเล่น อาจเปิดเผยถึงความคิดที่ซ่อนอยู่ และเปิดช่องให้คู่แข่งโจมตีได้โดยง่าย

 5

เรื่องดังกล่าวคือจุดเด่นของ อี เซดล เขาอ่านรูปแบบการเล่นของคู่แข่งจากการมองหน้า อากัปกิริยาของคู่ต่อกร ช่วยให้เขาวางแผนในการวางหมากตัวต่อไปจนคว้าชัยชนะมาแล้วนักต่อนัก

อย่างไรก็ตาม ความสามารถดังกล่าวไม่สามารถสร้างความได้เปรียบใดๆ ในศึกนี้ เมื่อ อี เซดล ลงแข่งขันกับ แอลฟาโกะ หน้าจอคอมพิวเตอร์ ที่ไร้ความรู้สึก แต่เปี่ยมด้วยความนึกคิด

“การมองหน้าคู่แข่งที่อยู่ตรงข้ามคุณ เป็นสัญชาติญาณของผู้เล่น เมื่อ อี เซดล อยากรู้ว่าคู่แข่งของเขารู้สึกอย่างไร มันเป็นนิสัย แต่สีหน้าของผู้วางหมากในเกมนี้บอกอะไรไม่ได้ เพราะเขาไม่ใช่แอลฟาโกะ” นักพากย์ในเกมดังกล่าว บรรยายถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ไม่เพียงปกปิดความรู้สึกนึกคิดเหนือมนุษย์ทั่วไป แอลฟาโกะยังสามารถปั่นหัวคู่ต่อสู้ได้อย่างแยบยล จากความสามารถในการคำนวณความเป็นไปได้ที่จะชนะ ในการวางหมากแต่ละจุด ซึ่งส่งผลไปถึงการคำนวณตัวแปรทั้งหมดบนกระดาน เพื่อหาโอกาสการชนะเมื่อจบเกม

เมื่อมองเห็นความเป็นไปได้ล่วงหน้า แอลฟาโกะจึงมองเห็นรูปแบบการเล่นที่แตกต่างออกไป หลายครั้งที่แอลฟาโกะเดินพลาดอย่างจงใจ เพื่อพลิกรูปแบบการเล่นบนกระดานในทิศทางใหม่ ที่มนุษย์คนไหนไม่เคยคาดคิดมาก่อน

“ผมเคยคิดว่าพื้นฐานของแอลฟาโกะ คือคำนวณความเป็นไปได้ คิดว่ามันเป็นแค่เครื่องจักร แต่เมื่อเห็นการเดินตานี้ ผมเปลี่ยนความคิดเลยครับ เพราะมันเดินได้สร้างสรรค์มาก เป็นการเดินที่สร้างสรรค์และหมดจดจริงๆ” อี เซดล กล่าว หลังเห็นรูปแบบการเดินที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิต

 6

รูปแบบการเล่นของแอลฟาโกะ สร้างความสงสัยให้เกิดขึ้นในใจของ อี เซดล มันไม่ใช่ความสงสัยในการเดินแต่ละครั้งของแอลฟาโกะ แต่เป็นความสงสัยในการเดินของตัวเอง โปรแกรมที่ลงแข่งขันนัดที่สองในชีวิต กำลังทำลายความมั่นใจของแชมป์ 18 สมัย ลงอย่างราบคาบ

บางครั้ง อี เซดล ใช้เวลาคิดถึง 12 นาทีก่อนวางหมาก บางครั้ง อี เซดล วางหมากอย่างรีบร้อนจนเป็นการเดินที่ผิดพลาด ไม่ว่าอย่างไร ไม่มีครั้งไหนที่เขาทำได้แบบแอลฟาโกะ การเดินหมากที่แย่เพียงครั้งเดียวในสายตามมนุษย์ สามารถเปลี่ยนรูปแบบการเล่นทั้งกระดาน และนำมาสู่ชัยชนะอย่างหมดจดของปัญญาประดิษฐ์

อี เซดล ยอมแพ้ในการแข่งขันสองยกแรก ก่อนเปลี่ยนรูปแบบการเล่นทั้งหมดในยกที่สาม ผลคือ อี เซดล แพ้ราบคาบยิ่งกว่าเกมก่อนหน้า แอลฟาโกะขึ้นนำ 3-0 ในการแข่งขัน

ตำแหน่งผู้ชนะตกเป็นของปัญญาประดิษฐ์ และ ฝ่ายปราชัยในการแข่งขันนี้ คือ มนุษยชาติ

การเดินหมากของพระเจ้า

แม้จะพ่ายแพ้แน่นอนแล้ว แต่การแข่งขันยังเหลืออีกสองยกให้ต่อสู้ ความมั่นใจของ อี เซดล อาจถูกทำร้ายจากการเล่นอันไร้หัวใจของแอลฟาโกะ แต่อย่างน้อย เขาได้ความผ่อนคลายกลับคืนมา และ ลงแข่งขันในยกถัดไปแบบไม่มีอะไรจะเสีย

 7

“ผมอยากให้ อี เซดล เล่นในแบบของเขา เพราะตอนนี้ เขาลองเล่นมาหลายแบบแล้ว เพื่อเอาชนะแอลฟาโกะ เพื่อทำความเข้าใจแอลฟาโกะ แต่เขายังไม่เคยลองเล่นในแบบของตัวเองเลย” ฟาน ฮุย กรรมการตัดสินเกม ให้ความเห็นต่อการเล่นที่ไม่เป็นตัวเองของ อี เซดล

“แอลฟาโกะเป็นเหมือนกับกระจก เมื่อคุณเล่นกับแอลฟาโกะ คุณจะรู้สึกแปลก เหมือนเปลือยเปล่าตลอดเวลา ครั้งแรกที่คุณเห็นเรื่องนี้ คุณจะไม่อยากมองมัน เพราะคุณรับตัวคุณเองที่เห็นไม่ได้ แต่ยิ่งมองเท่าไร คุณจะยิ่งยอมรับ ใช่ นี่แหละตัวฉัน”

บทเรียนที่ได้รับจากสามยกก่อนหน้า เปลี่ยนให้ อี เซดล สนใจรูปแบบการเล่นของตัวเองเพียงอย่างเดียว ในการแข่งขันยกที่สี่ อี เซดล เลือกกลยุทธ์แบบตั้งรับ แม้ถูกวิจารณ์จากนักพากย์ว่า เป็นรูปแบบการเดินที่แย่ และ เปิดโอกาสให้แอลฟาโกะ โจมตีเพื่อล้อมพื้นที่อย่างง่ายดาย

การแข่งขันดำเนินไปถึงตาที่ 78 นักพากย์พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่มีที่ให้ อี เซดล วางหมากอีกแล้ว เขามีโอกาสชนะในตอนนี้เพียงแค่ 0.007 เปอร์เซ็นต์ มีความเป็นไปได้บนกระดานเพียง 7 จากแสนรูปแบบ ที่จะทำให้ชัยชนะตกเป็นของ อี เซดล

ขณะที่คนรอบข้างสิ้นหวัง นี่คือช่วงเวลาที่ อี เซดล รอคอย โอกาสเพื่อร่ายเวทย์มนตร์ของเขา และแสดงถึงสติปัญญาของมนุษย์ให้โลกได้ประจักษ์

อี เซดล วางหมากสีขาวแทรกลงไปกลางสนาม เพื่อปิดโอกาสหนีของหมากดำที่รายล้อมแทบทุกมุม ฝ่ายรับพลิกกลับเป็นฝ่ายรุก มันคือการเดินที่เรียกว่า “Divine move” หรือ “Kami no Itte” แปลว่า “การเดินหมากของพระเจ้า”

 8

เมื่อถูกโจมตีอย่างไม่ทันตั้งตัว การเดินหมากเดินหมากของแอลฟาโกะในตาที่ 79 สร้างความประหลาดใจให้กับคนทั่วโลก แต่มันไม่ใช่การเดินหมากที่พลิกสถานการณ์ใด แบบที่แอลฟาโกะเคยทำ ...

นี่คือการเดินหมาก ที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาดของระบบคอมพิวเตอร์

“อาจเป็นไปได้ว่า แอลฟาโกะหาทางออกไม่ได้ ผมคิดว่ามันมองล่วงหน้าได้ไกลจนเห็นว่าเล่นต่อไม่ได้ ตอนนี้มันเลยจนมุม ไม่รู้สิ บางทีระบบอาจเจอบั๊กก็ได้” นักพากย์คาดเดาสาเหตุความผิดพลาดของแอลฟาโกะ

การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ต้องอาศัยความใจในสถานการณ์อย่างท่องแท้ ไม่ใช่พรสวรรค์ที่ปัญญาประดิษฐ์ได้มาเช่นมนุษย์ แอลฟาโกะเดินอย่างย่ำแย่ต่อเนื่อง ตั้งแต่ตาที่ 87 ถึง 101 ก่อนขอยอมแพ้ในตาที่ 180 เมื่อคำนวณเห็นว่ามีโอกาสชนะไม่ถึง 20%

นี่คือครั้งแรกที่มนุษย์คว้าชัยชนะในการเล่นโกะ เหนือปัญญาประดิษฐ์ จากการยกมือยอมแพ้จากคู่แข่งที่ไร้หัวใจอย่าง แอลฟาโกะ

“ผมได้ยินเสียงคนโห่ร้อง ตอนที่รู้ว่าแอลฟาโกะแพ้เกมนี้แล้ว ผมรู้เลยว่าทำไม ผู้คนรู้สึกหมดหวังและหวาดกลัว ดูเหมือนว่ามนุษย์เราช่างเปราะบางและอ่อนแอเหลือเกิน” อี เซดล เปิดใจหลังคว้าชัยชนะ

“ชัยชนะครั้งนี้หมายถึง มนุษย์ยังคงยืนหยัดต่อไปได้ เมื่อเวลาผ่านไป การเอาชนะเอไออาจยากมากขึ้น แต่ชัยชนะเพียงหนึ่งครั้ง ก็ให้ความรู้สึกว่าเพียงพอแล้ว”

คำตอบของการเล่นโกะ

แม้การแข่งขันในยกสุดท้าย แอลฟาโกะจะเป็นฝ่ายเอาชนะ อี เซดล ไปได้ แต่การพิสูจน์ถึงความสามารถของมนุษย์ และ ข้อจำกัดของปัญญาประดิษฐ์ จากการแข่งขันดังกล่าว สร้างแรงกระเพื่อมต่อทั้งสองวงการจนถึงทุกวันนี้

 9

“ใช่ครับ โกะเป็นแค่เกม แต่เราสามารถเรียนรู้บทเรียนสำคัญ จากการที่คอมพิวเตอร์ประสบความสำเร็จในการเล่นโกะได้ นอกจากเครื่องจักรจะมีความสามารถในการค้นข้อมูลขนาดใหญ่แล้ว มันยังวิเคราะห์ได้อย่างฉลาดด้วย อย่างการเล่นโกะ” ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ท่านหนึ่ง แสดงความเห็นในสารคดี AlphaGo

“เครื่องจักรเดินหมาก ในแบบที่ผู้เชี่ยวชาญยังแปลกใจ แต่ในท้ายที่สุด เราจะเชื่อในความเก่งกาจของเครื่องจักรครับ เราจะได้เห็นเรื่องนี้บ่อยขึ้น เพราะเครื่องจักรประเมินได้แม่นยำกว่าที่มนุษย์ทำได้”

ยิ่งปัญญาประดิษฐ์ฉลาดมากเท่าไร เสียงตอบรับในแง่ลบยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ความหวาดกลัวต่อหุ่นยนต์ตาแดงในภาพยนตร์เรื่องคนเหล็ก (The Terminator) ยังคงเป็นฝันร้ายหลอกหลอนมนุษย์ทั่วโลก แต่บรรดาผู้ใกล้ชิดยืนยันเสียงแข็งว่า ความเป็นจริงห่างไกลจากสิ่งที่เห็นบนจอหนังมากนัก

“ปัญญาประดิษฐ์มีความใกล้เคียงกับเครื่องซักผ้าอัจฉริยะ มากกว่าหุ่นยนต์ในเรื่องคนเหล็กนะ ถ้าคุณมองไปยังเอไอในตอนนี้ เราเพิ่งจะเริ่มต้นกัน เอไอยังมีข้อจำกัดอยู่มาก แต่ฉันก็ตื่นเต้นและหลงใหลในศักยภาพของมัน” เฟยเฟย ลี (FeiFei Li) ผู้บริหารแล็บสแตนฟอร์ดปัญญาประดิษฐ์กล่าว

จากวันที่ แอลฟาโกะ เจอกับ อี เซดล ดีปไมนด์พัฒนาโปรแกรมโกะตัวนี้ออกมาอีก 3 เวอร์ชัน คือ แอลฟาโกะ มาสเตอร์ (AlphaGo Master), แอลฟาโกะ ซีโร (AlphaGo Zero) และ แอลฟาซีโร (AlphaZero) เพื่อพัฒนาความสามารถของปัญญาประดิษฐ์ต่อไป

หากแต่สิ่งมีชีวิต ไม่สามารถอัพเกรดหรือเปลี่ยนเวอร์ชันได้อย่างเครื่องจักร ความพ่ายแพ้ต่อแอลฟาโกะ คือบทเรียนสำคัญที่ทำให้เราได้หันกลับมามองตัวเอง เพื่อเรียนรู้คุณค่าความเป็นมนุษย์ และ ความเข้าใจในการใช้ชีวิตอีกครั้ง

“ผมเติบโตขึ้นผ่านประสบการณ์นี้ ผมรู้สึกขอบคุณ เพราะ ผมรู้สึกเหมือนผมได้เหตุผลในการเล่นโกะแล้วครับ” อี เซดล เปิดใจหลังการแข่งขันกับแอลฟาโกะสิ้นสุด

“สุดท้าย ผมรู้ว่าผมตัดสินใจถูกแล้ว ที่เล่นโกะมาจนถึงทุกวันนี้”

คำตอบของชีวิต ไม่ใช่ทุกครั้งที่มาหลังชัยชนะ มนุษยชาติยังคงอยู่ได้จากความพ่ายแพ้ วิวัฒนาการพัฒนาสายพันธุ์ให้เอาชีวิตรอด ปัญญาประดิษฐ์จะเป็นภัยหรือไม่ ? คงไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้ แต่มนุษย์จะยอมแพ้ไหม? หากฝันร้ายที่หวาดกลัวเกินขึ้นจริง

เราเชื่อว่าทุกคนรู้คำตอบนั้นดีอยู่แล้ว...

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ "แอลฟาโกะ" : เมื่อชัยชนะของ AI กลายเป็นภัยร้ายของมนุษยชาติ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook