ใครว่าโอกาสหาซื้อไม่ได้ : ทำไมนักเตะบราซิล (บางคน) จึงย้ายทีมเป็น 10 ครั้ง?

ใครว่าโอกาสหาซื้อไม่ได้ : ทำไมนักเตะบราซิล (บางคน) จึงย้ายทีมเป็น 10 ครั้ง?

ใครว่าโอกาสหาซื้อไม่ได้ : ทำไมนักเตะบราซิล (บางคน) จึงย้ายทีมเป็น 10 ครั้ง?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ชาช่า โคเอลโญ่, ติอาโก้ คุนญ่า, เฮแบร์ตี้ แฟร์นันเดส แข้งแซมบ้าเหล่านี้คือนักเตะที่ทำผลงานได้ดีในการเล่นไทยลีก แม้พวกเขาจะเป็นพวกไม่อยู่ติดที่ย้ายทีมแทบทุกตลาดซื้อขายก็ตาม และบางคนย้ายทีมตลอดชีวิตมากเกินกว่า 10 ครั้งอีกด้วยซ้ำไป ...

มีฉายาที่ว่า "แซมบ้าพเนจร" ซึ่งมีที่มาจากนักเตะบราซิล คือไม่ว่าจะดูฟุตบอลลีกไหนก็ตามในโลกมักจะเห็นนักเตะจากชาตินี้ค้าแข้งอยู่ในลีกเสมอ และนี่คือเรื่องราวเบื้องหลังที่ไม่ใช่แค่ "ความจน" เท่านั้นที่ทำให้นักเตะ บราซิล ต้องย้ายทีมหลายครั้ง และถูกส่งออกไปยังต่างแดนทั่วโลก ...

เอเย่นต์ที่บราซิล

ในวงการฟุตบอลนั้น เอเย่นต์ มีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ให้กับนักฟุตบอล ดูแลเรื่องการเจรจาสัญญาและการโยกย้ายต้นสังกัดและเอกสารทุกอย่าง เพื่อให้นักฟุตบอลทำหน้าที่ของตัวเองให้เต็มที่นั่นคือการเตะฟุตบอลอย่างเดียวเท่านั้น ทว่าที่บราซิลคำจำกัดความของเอเย่นต์นั้นเริ่มกลายพันธุ์ในยุคปี 2000 เป็นต้นมา ...


Photo : flamengo.com.br

บริษัทเอเย่นต์ที่มีอิทธิพลที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ที่ชื่อว่า Media Sports Investments (MSI) ได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2004 และผู้ก่อตั้งมีชื่อว่า เกีย จูรับเชี่ยน นักธุรกิจเชื้อสายอิหร่าน-อังกฤษ โดยในตอนแรกนั้น ทาง MSI ไม่ได้เล็งธุรกิจในอเมริกาใต้เป็นหลักเท่าไรนัก พวกเขามองไปที่การซื้อสโมสร อาเซน่อล แต่ก็แพงเกินไปจนดูแล้วได้ไม่คุ้มเสีย หลังจากนั้น จึงได้แนะนำจาก ปินี่ ซาฮาวี่ ซูเปอร์เอเย่นต์รุ่นแรกที่มีคอนเน็คชั่นแข็งโป๊กในโลกฟุตบอล มีดีลดังๆ มากมายทั้งการนำ โรมัน อบราโมวิช มาซื้อ เชลซี เป็นต้น โดย ซาฮาวี่ นี่แหละที่เป็นคนบอกให้ จูรับเชี่ยน ที่มีเงินถุงเงินถัง ไปลงทุนในดินแดนที่มีวัตถุดิบชั้นดีอย่าง บราซิล

แม้ไม่มีสถิติที่ยืนยันแบบชัดๆ ว่าลีกสูงสุดของบราซิล หรือ บราซิล ซีรีย์เอ ในช่วงปี 2000 นั้นมีมูลค่าโดยรวมมากน้อยแค่ไหน นักเตะส่วนใหญ่ที่ย้ายออกจากลีก ซีรีย์ เอ บราซิล ส่วนใหญ่มีค่าตัวไม่มากมาย แม้แต่ โรนัลดินโญ่ ยังมีค่าตัวเพียงแค่ 5 ล้านยูโรเท่านั้นในวันที่เขาย้ายจาก เกรมิโอ มาอยู่กับ เปแอสเช ในปี 2001 ขณะที่ตัวอื่นๆในยุคหลังจากนั้นอาทิ อันแดร์สัน (ปอร์โต้ 4 ล้านยูโร), ริคาร์โด้ กาก้า (8 ล้านยูโร) จะมีแพงที่สุดก็แค่เพียง โรบินโญ่ เท่านั้น (24 ล้านยูโร)


Photo : @RMadridHome_

จากค่าตัวเหล่านี้เราพอประเมินได้เลยว่านักเตะทั้งหมดที่กล่าวมามีความสามารถมากแบบล้นเหลือ แต่ค่าตัวของพวกเขากลับถูกเสียยิ่งกว่าถูกหากเทียบกับนักเตะในลีกต่างๆ ของยุโรป ดังนั้นจึงพอวิเคราะห์ได้ว่าสโมสรจาก อเมริกาใต้ และ บราซิล นั้น ไม่ได้มีรายได้จากลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดและเงินสนับสนุนมากนัก พวกเขาจึงต้องใช้การปล่อยนักเตะเก่งๆ ออกจากทีมเพื่อเป็นรายได้หลัก

จูรับเชี่ยน ได้รู้ความจริงในจุดนี้ เขาพา MSI เข้ามาคุยกับ โครินเธียนส์ สโมสรในลีกบราซิลที่เป็นทีมใหญ่แต่กำลังประสบปัญหาขาดทุน  ณ เวลานั้น (ปี 2004) จูรับเชี่ยน มอบสัญญาว่าจะให้เงินสนับสนุนกับ โครินเธียนส์ เป็นจำนวนถึง 35 ล้านเหรียญสหรัฐ (เท่ากับขายนักเตะอย่าง กาก้า ได้ถึง 4-5 คน) โดยแบ่งเป็น 20 ล้านยูโรสำหรับเคลียร์หนี้ก้อนแรกให้กับทีม


Photo : metrojornal.com.br

โครินเธียนส์ เหมือนคนกำลังจะจมน้ำ อะไรอยู่ใกล้มือตอนนั้นก็ต้องคว้าไว้ก่อน พวกเขารับข้อเสนอให้ MSI เข้ามาดูแลเรื่องการบริหารทีมด้วยสัญญาระยะเวลา 10 ปี … ทุกอย่างเหมือนจะดูดี ทว่า MSI สอดไส้ข้อแลกเปลี่ยนไปว่าหากสโมสรได้กำไรไม่ว่าเท่าไรก็ตาม 51% ของกำไรทั้งหมดจะถูกหักเป็นของทาง MSI แต่เพียงผู้เดียว

อย่างไรก็ตามแม้จะดูเป็นข้อเสนอที่ขูดเลือดขูดเนื้อคนที่กำลังลำบาก แต่ปีแรกที่ MSI เข้ามาทำ โครินเธียนส์ พวกเขาทำให้ทีมมีกำไรเพิ่มขึ้นจากเดิม 500% เรียกได้ว่าแบบนี้ก็วินๆ กันไปทั้งสองฝ่าย เพียงแต่เห็นได้ชัดว่าเพาเวอร์ของระบบเอเย่นต์ในบราซิลนั้นทรงพลังมาก ลักษณะของ MSI ไม่ต่างอะไรกับการเป็นเจ้าของสโมสรเลย ...

เอเย่นต์กลายพันธุ์ส่งผลอย่างไร?

การมีบทบาทยิ่งกว่าเจ้าของสโมสของ MSI ทำให้หลายบริษัทเอเย่นต์น้อยใหญ่เล็งเห็นถึงการเข้ามาหาผลประโยชน์กันมากขึ้น อย่างที่เรารู้กันนักเตะบราซิลเป็นนักเตะฝีเท้าดีมีคุณภาพ ทว่าเรื่องของการจัดการของตัวนักเตะและสโมสรนั้นยังไม่เชี่ยวชาญ หลายๆ ดีลทีม บราซิล มักจะเสียเปรียบให้กับทีมในยุโรป พวกเขาได้เงินน้อยนิดกับนักเตะที่ศักยภาพเต็มกราฟเล่นได้ทั่วโลก


Photo : alchetron.com

ดังนั้นหน้าที่ของเหล่าเอเย่นต์กลายพันธุ์ในลีกบราซิลจึงแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด การที่พวกเขามีสิทธิ์ขาดยิ่งกว่าสโมสรทำให้กลุ่มเอเย่นต์เหล่านี้เลือกที่จะเซ็นสัญญากับนักเตะเองเลย สโมสรแทบไม่มีส่วนตัดสินใจ

จริงอยู่ที่การกระทำแบบนี้มันผิดกฎหมาย แต่พวกนี้ฉลาดและเลี่ยงบาลีได้ยอดเยี่ยม หรือจะให้ใช้คำว่าฉลาดแกมโกงก็ได้ พวกเขาจะนำเงินทุนของตัวเอง อัดฉีดใส่สโมสรก่อนเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย และจากนั้นจึงให้สโมสรเอาเงินส่วนนั้นมาซื้อนักเตะอีกที ซึ่งเจ้าของเงินที่แท้จริงก็เป็นเจ้าของนักฟุตบอลไปโดยปริยาย ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือ คาร์ลอส เตเวซ ที่ย้ายจาก โบค่า จูเนียร์ มาอยู่กับ โครินเธียนส์ ด้วยค่าตัว 24 ล้านเหรียญสหรัฐซึ่งเป็นสถิตินักเตะค่าตัวแพงของ อเมริกาใต้ ในเวลานั้น แม้ เตเวซ จะมาลงสนามให้กับ โครินเธียนส์ ทว่าเบื้องหลังที่แท้จริงเขาก็เป็นเหมือนกับนักเตะของ MSI ดีๆ นี่เอง นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไม จูรับเชี่ยน จึงเป็นคนจัดการดีลของ เตเวซ ทุกขั้นตอนไม่ว่าจะเป็นตอนที่ย้ายช็อคโลกไปให้ เวสต์แฮม ยืมตัว, ย้ายไป แมนฯ ยูไนเต็ด แบบยืมตัว และสุดท้ายได้กำไรเต็มๆ จากการขายให้ แมนฯ ซิตี้ อีกเกือบ 40 ล้านปอนด์

อย่างไรก็ตาม เอเย่นต์กลายพันธุ์ถือเป็นบ่อนทำลายระบบของฟุตบอลลีกของบราซิลไม่น้อย เพราะกลุ่มทุนเหล่านี้มองผลประโยชน์เป็นหลัก แม้บางปีจะมีผลงานดี แต่นั่นก็เป็นแค่ความสำเร็จแบบฉาบฉวย โครินเธียนส์ ได้แชมป์ในปีแรกที่ จูรับเชี่ยน และ MSI เข้ามาทำทีม แต่หลังจากนักเตะในทีมชุดนั้นได้รับความสนใจจากหลายๆ ทีม พวกเขาก็ปล่อยนักเตะตัวหลักออกจากทีมจนเกือบหมด และหลังจากนั้น โครินเธียนส์ ก็ตกชั้นในอีก 2 ปีต่อมา


Photo : br-esportes-yahoopartner.tumblr.com

เรื่องของ MSI หรือ เอเย่นต์กลายพันธ์ยุคแรกถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้หลายทีมในบราซิลมีกรณีศึกษามากขึ้น ก่อนจะเซ็นสัญญาและดีลกับเอเย่นต์เจ้าไหนต้องตรวจตราให้ละเอียดถี่ถ้วน เพราะตอนนั้น โครินเธียนส์ ได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก และทำให้หลายฝ่ายมองเห็นความไม่ยุติธรรมในสัญญาฉบับนั้น  หลังจากนั้น MSI และจูรับเชี่ยน จึงถูกฟ้องด้วยข้อกล่าวหา "ดำเนินการด้วยการใช้บัญชีต่างประเทศจำนวนมาก และเป็นแหล่งที่มาของทรัพยากรที่ผิดกฎหมาย" ซึ่งทรัพยากรที่ผิดกฎหมายในที่นี้ก็คือ "นักฟุตบอล" นั่นเอง ที่สุดแล้วแม้จะมีการยกฟ้องในบั้นปลาย แต่ โครินเธียนส์ ก็ยกเลิกสัญญากับ MSI หลังจากนั้นไม่นานนัก

แล้วทำไมบราซิลต้องพเนจร?

เหตุผลข้อนี้เชื่อว่าหลายคนคงมีคำตอบในใจไว้บ้างแล้ว โดยเฉพาะเรื่องของความจนและการแข่งขันสูงในบราซิล เพราะมีนักเตะอาชีพมากมายจึงทำให้แข้งบราซิลที่เป็นเกรด C เกรด D ต้องตัดสินใจย้ายมาต่างแดน ด้วยเหตุผลหลักๆ เลยคือเรื่องเงินนั่นเอง เรื่องนี้แม้แต่ เคลตัน ซิลวา ที่ค้าแข้งในไทยลีกมาอย่างยาวนานก็ยอมรับว่ามันเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ย้ายจาก บราซิล มาเล่นในไทยลีกเมื่อหลายปีก่อน อย่างไรก็ตามความจนไม่ได้เป็นเหตุผลเดียวที่ทำให้แข้ง แซมบ้า ต้องย้ายทีมบ่อย และย้ายทีมไปหลายๆ ประเทศ มันยังมีเหตุผลหลักอย่างที่เราได้กล่าวกันไปในข้างต้น นั่นคือเรื่องของธุรกิจภายใต้การทำงานของบริษัทเอเย่นต์นั่นเอง

กรณีของ เตเวซ เป็นตัวอย่างที่ดีในการย้ายทีมเพื่อหาโอกาสลงสนามและสร้างมูลค่า แม้เขาจะเป็นนักเตะชาวอาร์เจนติน่า แต่จริงๆ แล้วมีนักเตะบราซิลที่ไม่ดังอีกหลายคนที่ต้องเจอกับสถานการณ์แบบนี้ อาทิ มาร์เซโล่ มาททอส, คาร์ลอส อัลแบร์โต้, ราฟาเอล มูร่า, จอนนี่ เอร์เรร่า, เรนาโต้ ริเบโร่ และอื่นๆอีกมากมายที่เป็นสมบัติบริษัทเอเย่นต์ในรุ่นๆ เดียวกับ เตเวซ หรือ มาสเชราโน่  

การมีเอเย่นต์เป็นเจ้าของนั้นหมายความว่านักเตะเหล่านี้จะต้องได้ลงสนามไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเพื่อพิสูจน์ฝีเท้าและอัพค่าตัว อาทิกรณีอย่าง เตเวซ และ มาสเชราโน่ นั้นเห็นชัดเจนมาก จูรับเชีย พาทั้ง 2 คนลงเวทีใหญ่อย่างพรีเมียร์ลีกกับทีมเล็กๆ อย่าง เวสต์แฮม แบบยืมตัวเพื่อทำให้ทั้งคู่ได้โอกาสแสดงความสามารถลีกที่คนดูกันทั้งโลกต่างกับลีกบราซิลอย่างสิ้นเชิง นอกจากนี้ให้ทีมยักษใหญ่เห็นว่าเล่นเป็น เล่นได้ จากนั้นกำไรจากการซื้อขายจึงเกิดขึ้น (จริงๆ แล้วตอนยืมก็ได้เงิน เตเวซ ไปแมนฯ ยูไนเต็ด ด้วยค่ายืมตัวปีละ 10 ล้านปอนด์)

ไม่ใช่เฉพาะแค่การยืมเท่านั้นที่จะสร้างมูลค่าในภายหลังได้ เพราะหลายสโมสรในยุโรปมีความเชี่ยวชาญด้านการจัดการบริหารและการคุ้มครองผลประโยชน์ของตัวเอง ทำให้พวกเขาไม่เลือกที่จะทำให้ทีมของตัวเองเป็นที่ฝากเลี้ยงเท่านั้น มันจึงเกิดการขายถูกๆ เพื่อแสวงหากำไรในอนาคตเช่นกัน

กรณีที่ชัดเจนที่สุดอย่าง อันแดร์สัน ที่เป็นนักเตะของบริษัทเอเย่นต์ชื่อว่า GestiFute ของ จอร์จ เมนเดส (เอเย่นต์ของ คริสเตียโน่ โรนัลโด้) ซึ่งเซ็นสัญญากับเขาไว้ตั้งแต่ตอนที่ยังเล่นให้ เกรมิโอ ก่อนที่ เมนเดส จะส่ง อันแดร์สัน ให้กับ ปอร์โต้ ด้วยราคา 7 ล้านยูโร โดยให้ ปอร์โต้ เป็นเจ้าของ อันแดร์สัน 65% ส่วนที่เหลือเป็นของ GestiFute ซึ่ง อันแดร์สัน ก็เล่นให้ ปอร์โต้ ได้เพียงปีเดียวเท่านั้นก็ย้ายไปอยู่กับ แมนฯ ยูไนเต็ด ด้วยค่าตัว 20 ล้านยูโร ปอร์โต้ และ GestiFute แบ่งเค้กกันอย่างสำราญใจ วินๆ กันทั้งคู่


Photo : Zimbio

อย่างไรก็ตามการซื้อขายแบบถูกๆ เพื่อหวังกำไรในอนาคตนั้นก็ไมได้การันตีว่าจะประสบความสำเร็จเสมอไป บางครั้งนักเตะบราซิลที่ย้ายไปเล่นในยุโรปด้วยค่าตัวถูกๆ โดยเอเย่นต์ครองตัวคนละครึ่งกับสโมสร ก็ทำให้ผู้ถือครองสิทธิ์ในตัวของพวกเขาผิดหวัง อาทิ ธิอาโก้ เนเวส นักเตะจากบริษัทเอเย่นต์ D.I.S Esporte e Organização de Eventos LTDA ย้ายไปเล่นให้ ฮัมบูร์ก ด้วยค่าตัว 10 ล้านยูโร เพื่อไปแทนที่ของ ราฟาเอล ฟาน เดอ ฟาร์ท ที่ย้ายไป เรอัล มาดริด ในปี 2008 ทว่า เนเวส ก็ทดแทนไม่ได้ จากที่สโมสรและเอเย่นต์เคยเก็งกันไว้ว่าอนาคตค่าตัวของเขาอาจจะเป็น 20-30 ล้านยูโร ก็ล้มพับไป จากนั้น เนเวส จึงย้ายทีมอีกทั้งหมดถึง 8 ครั้ง (ยืมตัว 4) โดยไม่มีโอกาสได้กลับมาเล่นในยุโรปอีกเลย  

เพื่อให้เห็นภาพที่สุดว่านักบอลบราซิลแทบจะทั้งประเทศต้องประสบกับเหตุการณ์แบบนี้ เราคงต้องพูดถึงผู้เล่นที่เบอร์เล็กกว่าชื่อเสียงน้อยกว่าคนที่กล่าวมาสักหน่อย พวกเขาเหล่านี้ก็ไม่ต่างกัน นั่นคือการโดนส่งไปยืมตัวตัวเช่นกัน แต่จะเป็นลีกที่ไม่ใหญ่มากนัก ยกตัวอย่างที่เห็นชัดๆ เลยคือ ชาช่า โคเอลโญ่ อดีตนักเตะของ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด และ เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด ที่ชีวิตค้าแข้งตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ย้ายทีมมาแล้วกว่า 17 ครั้ง แต่มีถึง 9 ครั้งที่เป็นการย้ายแบบยืมตัว และแต่ละครั้งที่ยืมตัวนั้นไปยังลีกต่างๆ แทบจะทั่วยุโรปทั้ง ฮอลแลนด์, เบลเยี่ยม, สเปน, ยูเครน, ตุรกี, ยูเออี รวมถึงประเทศไทย และหากมองย้อนไปครั้งแรกที่เขาย้ายออกจาก บราซิล ก็จะพบว่ามันคือปี 2004 ซึ่งตรงกับปีที่ MSI นำเทรนด์ระบบเอเย่นต์ควบคุมทีมเข้ามาครองลีกบราซิลอีกด้วย

ปัจจุบันยังมีอยู่ไหม?

แม้ฟีฟ่าจะพยายามกีดขวางด้วยการวางกฎต่างๆ นานาในการครองตัวนักเตะ และลดอำนาจบริษัทเอเย่นต์ อาทิ เอเย่นต์ มีสิทธิ์ได้รับส่วนแบ่งไม่เกิน 8-10% ต่อการย้ายทีมของนักเตะ 1 ครั้ง เพื่อเป็นกรอบไม่ให้มีการทำนาบนหลังคนมากจนเกินไป อย่างไรก็ตามการเลี่ยงบาลี และจดทะเบียนแบบซิกแซ็กก็ยังมีอยู่ เพราะการเป็น Third-party ownership ถือว่าเป็นธุรกิจที่ทำกำไรได้ง่ายๆ


Photo : globoesporte.globo.com

ปัจจุบันผ่านมาแล้วกว่า 20 ปีจากยุคเอเย่นต์กลายพันธุ์ยุคแรก แต่ลีกฟุตบอลบราซิลก็ยังมีทีมฟุตบอลที่มีเอเย่นต์เป็น Third-party ownership จำนวนไม่น้อย ทว่าหลังจากกรณีพิพาทของ MSI และ โครินเธียนส์ จึงทำให้ทีมใหญ่ระดับ บราซิล ซีรีย์ เอ นั้นมีทางเลือกมากขึ้นและทีมเหล่านี้ไม่ได้มีระบบเอเย่นต์เป็นเจ้าของทีมอีกแล้ว

สโมสรส่วนใหญ่ที่ยังมี Third-party ownership จะเป็นทีมระดับ ซีรีย์ บี และ ซีรีย์ ซี เป็นส่วนใหญ่ อาทิทีม ตอมเบเซ่ ทีมจากซีรีย์ ซี ที่เป็นเจ้าของ จูเนียร์ เนเกรา อดีตนักเตะที่เล่นในไทยลีกกับ เมืองทอง  และ พัทยา ยูไนเต็ด ซึ่งตัวของ เนเกรา นั้นเป็นนักเตะของ ตอมเบเซ่ ตั้งแต่ปี 2008-2015 ทว่าเขากลับไม่เคยได้ลงเล่นให้ต้นสังกัดที่แท้จริงเลยแม้แต่นัดเดียว เพราะทีมเอเย่นต์จะส่งเขาไปยืมตัวตามสโมสรต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศโดยเก็บค่ายืมตัวไปเรื่อยๆ จนกระทั่ง เนเกรา หมดสัญญาและย้ายมาอยู่กับ เมืองทองฯ ในปี 2016 นั่นเอง


Photo : globoesporte.globo.com | Muangthong United

ไม่ว่าจะเล่นในลีกไหนของบราซิล แต่นักเตะบราซิเลี่ยนก็ยังคงขายได้ในต่างแดนเสมอ พวกเขาสามารถเล่นได้แทบทุกลีกบนโลกโดยเฉพาะลีกเล็กๆ อย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามการส่งออกนักเตะไปยังต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิดเพราะบริษัทเอเย่นต์ต้องมีเพาเวอร์และคอนเน็คชั่นมากพออีกด้วย

ที่สุดแล้วคงต้องกลับไปมองยังสร้างตั้งต้นตั้งแต่แรกนั่นคือพรสวรรค์ของนักเตะบราซิลเองนั่นแหละ ที่เปิดช่องให้มีคนเห็นในฝีเท้าและมองว่ามูลค่าของพวกเขาเหล่านั้นสามารถเพิ่มขึ้นได้หากนำมาผ่านกระบวนการเจรจาของมืออาชีพ แม้จะต้องเสียส่วนแบ่งไปบ้าง แต่การแลกกับเงินก้อนโตในต่างแดนซึ่งดีกว่าการเล่นไปวันๆ ในลีกบราซิลที่ค่าจ้างน้อยนิด อย่างไรเสียแข้งบราซิเลี่ยนก็เต็มใจ และพร้อมจะเป็นจอมพเนจรอย่างเต็มใจ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook