ศิลปะที่กำลังสูญหาย : ท่า “ไม้จีน” หายไปไหน?

ศิลปะที่กำลังสูญหาย : ท่า “ไม้จีน” หายไปไหน?

ศิลปะที่กำลังสูญหาย : ท่า “ไม้จีน” หายไปไหน?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากพูดถึงกีฬาเทเบิลเทนนิส สิ่งแรกที่คุณๆ นึกถึงคงหนีไม่พ้น "ประเทศจีน" จากการที่ดินแดนแห่งนี้ได้สร้างนักกีฬาชนิดนี้ และส่งออกในฐานะ "นักกีฬาโอนสัญชาติ" สู่ประเทศต่างๆ ทั่วทุกมุมโลก

แต่ท่ามกลางการครองวงการของนักกีฬาจากแดนมังกร กลับมีนวัตกรรมอย่างหนึ่งที่พวกเขาสร้างขึ้นในกีฬาชนิดนี้ที่ดูจะค่อยๆ เลือนหายไปจากสายตาของผู้ชม จนทำให้เกิดความสงสัยว่า หรือสิ่งนั้นกำลังจะเข้าใกล้การสูญพันธุ์ไปทุกทีแล้ว

สิ่งนั้นก็คือ การจับไม้ รวมไปถึงท่าตบแบบจีน นั่นเอง

จากกีฬานำเข้าสู่กีฬาประจำชาติ

แม้จีนจะถือเป็นเต้ยในกีฬานี้ แต่อันที่จริง กีฬาเทเบิลเทนนิส หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อว่า "ปิงปอง" นั้น ไม่ได้เป็นกีฬาของแดนมังกรแต่ดั้งเดิม ทว่าถือกำเนิดขึ้นที่ประเทศอังกฤษราวปี 1860-1870 และถูกนำเข้าสู่ประเทศนี้ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ผ่านประเทศญี่ปุ่น ซึ่งก็นำเข้ามาผ่านนักศึกษาที่ไปเรียน ณ อังกฤษในช่วงเวลานั้นอยู่ดี


Photo : pingopongblog.com

ทว่าจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้กีฬาเทเบิลเทนนิสฮิตทะลุเพดานในประเทศจีนก็เกิดขึ้น เมื่อ เหมา เจ๋อตุง กับ โจว เอินไหล 2 ผู้นำคนสำคัญทางการเมือง เล่นและชื่นชอบกีฬานี้มาตั้งแต่สมัยที่ยังต้องลี้ภัยทางการเมือง และเมื่อประเทศจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ในปี 1949 หลังจากนั้นไม่นาน "ประธานเหมา" ก็ได้ประกาศให้กีฬาเทเบิลเทนนิสนั้นเป็นกีฬาประจำชาติ

นอกจากนั้นยังมีอีกคนผู้เป็นเบื้องหลังสำคัญ นั่นคือ อิวอร์ มอนตากู นักสร้างภาพยนตร์ชาวอังกฤษ ผู้มีความสนใจในกีฬาเทเบิลเทนนิสอย่างแรงกล้า จนเป็นผู้ร่างกฎกติกาของกีฬานี้ขึ้นเป็นคนแรก รวมถึงเป็นผู้ก่อตั้งสหพันธ์กีฬาเทเบิลเทนนิสนานาชาติ หรือ ITTF ขึ้นเมื่อปี 1926 ... มอนตากูนั้นมีความศรัทธาในลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างแรงกล้า มีความคิดว่ากีฬาเทเบิลเทนนิสเป็นกีฬาที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับชนชั้นกรรมาชีพ เพราะสามารถเล่นได้แม้แต่ในห้องเล็กๆ ที่ไม่มีหน้าต่าง รวมถึงเล็งเห็นว่า กีฬานี้จะช่วยเปิดประตูให้กับจีนคอมมิวนิสต์สู่โลกกว้าง เขาจึงตัดสินใจให้ ITTF รับรองสถานะของสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 1951 ซึ่ง ณ เวลานั้น ยังเป็นช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองในแดนมังกรเกิดความไม่แน่นอนจากสงครามการเมือง หลายชาติ รวมถึงอังกฤษเองด้วยนั้นยังรับรองสถานะของสาธารณรัฐจีน ของ เจียง ไคเช็ก ผู้นำพรรคก๊กมินตั๋ง

ปัจจัยสนับสนุนจากทั้งภายในและภายนอกประเทศทำให้กระแสความนิยมในกีฬาเทเบิลเทนนิสของชาวจีนเพิ่มสูงขึ้น จนในที่สุดก็ทะลุยอดในปี 1959 เมื่อง หลง กั๋วถวน สามารถคว้าแชมป์ในประเภทชายเดี่ยวของศึกเทเบิลเทนนิสชิงแชมป์โลกได้สำเร็จ เป็นนักกีฬาจากจีนคนแรกที่สามารถคว้าแชมป์ได้ในการแข่งขันระดับนานาชาติ และเป็นหนึ่งในผู้เติมเชื้อให้ "ปิงปองฟีเวอร์" ฮิตติดลมบนกลายเป็นกีฬาแห่งชาติของจีนมาจนถึงทุกวันนี้

จับมือ vs ปากกา

ในขณะที่ทัพนักกีฬาเทเบิลเทนนิสของจีนกรีฑาทัพสร้างความเกรียงไกร พวกเขาก็ได้สร้างศิลปะแห่งกีฬาลูกเซลลูลอยด์ไว้อย่างหนึ่งด้วยพร้อมๆ กัน นั่นคือ การจับไม้แบบจีน หรือหากจะพูดแบบสากลนิยมนั้นต้องเรียกว่า การจับไม้แบบปากกา หรือ Penhold


Photo : en.wikipedia.org

สาเหตุนั้นก็เนื่องมาจาก แม้หลักทั่วไปจะคล้ายกัน แต่การจับไม้ปิงปองในลักษณะเหมือนการเขียนด้วยปากกาหรือพู่กันนั้นก็มีหลายรูปแบบ ทั้งแบบจีน ที่คล้ายคลึงกับการจับปากกามากที่สุด, แบบญี่ปุ่น/เกาหลี ที่นิ้วอื่นๆ นอกจากนิ้วโป้งและชี้จะเหยียดตรง รวมถึงแบบ Reverse ที่หลักการจะเหมือนกับการจับไม้แบบจีนแต่มีความแตกต่างตรงการตีเล็กน้อย

และยิ่งเมื่อสืบสาวถึงประวัติก็ยิ่งทำให้เราปวดเศียรเวียนเกล้าเข้าไปใหญ่ เพราะต่างสำนักก็ต่างที่มา บ้างก็ว่าเกิดขึ้นครั้งแรกจากชาวจีน บ้างก็บอกว่าต้นตำรับคือชาวญี่ปุ่น ประเทศที่รับกีฬานี้มาเล่นก่อนคู่ปรับบ้านใกล้เรือนเคียง บ้างบอกว่าต้นแบบจริงๆ เกิดขึ้นที่ประเทศอินเดีย แต่ไม่ว่าจุดกำเนิดของมันจะมาจากตรงไหน ส่วนใหญ่จะเห็นตรงกันอยู่เรื่องหนึ่งคือ จีน คือชาติที่สามารถดึงประสิทธิภาพของการจับไม้แบบปากกาได้ดีที่สุด ซึ่งรางวัลความสำเร็จจากเวทีต่างๆ คงทำให้เราเห็นภาพชัดเจนอยู่แล้ว

จุดเด่นของการจับไม้ปิงปองแบบจีนนั้น คือการที่นักกีฬาจะสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องตัวกว่าแบบอื่นๆ ซึ่งเหมาะกับผู้เล่นชาวเอเชียที่มีรูปร่างเล็ก และเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่วกว่าผู้เล่นจากทวีปอื่นๆ อยู่แล้ว ไม่เพียงเท่านั้น ยังเป็นท่าจับที่สามารถดึงประสิทธิภาพของการเล่นด้านหน้ามือ หรือ Forehand ได้อย่างเต็มที่ รวมถึงสามารถเลือกเล่นลูกผลักหรือบล็อกได้ทั้งสองหน้าในเวลาอันรวดเร็ว

แต่ขณะเดียวกัน การจับแบบไม้จีนก็มีจุดอ่อนอยู่ เริ่มแรกเลยคือการฝึกจับไม้ เพราะท่าการจับแบบจับมือ หรือ Handshake นั้น เป็นท่าที่สามารถจับได้ง่ายกว่า เพราะเหมือนกับเป็นสามัญสำนึกในการจับไม้อยู่แล้ว ซึ่งต่างจากการจับแบบปากกาที่จะต้องซักซ้อมมากกว่าเดิม ขณะเดียวกัน ท่าการจับแบบปากกายังทำให้ระยะเหยียดเวลาตีด้วยหลังมือ หรือ Backhand สั้นลงกว่าเดิม รวมถึงต้องใช้พลังมากกว่าเดิม จากการที่ท่านี้ต้องการความคล่องแคล่วในการเคลื่อนไหวเป็นสำคัญด้วย

ศิลปะที่กำลังสูญหาย?

แต่ท่ามกลางจุดอ่อนของการจับไม้แบบจีนที่กล่าวมาข้างต้น ก็มีจุดหนึ่งที่ถือว่าเป็นจุดอ่อนอย่างที่สุด นั่นก็คือ การจับไม้ด้วยท่านี้ จะทำให้การตีลูกท็อปสปินด้วยหลังมือเป็นอะไรที่ทำได้ยากยิ่ง เนื่องจากการตีลูกดังกล่าวด้วยท่านี้ต้องเอี้ยวมือแบบผิดธรรมชาติ และเมื่อลองฝืนตีดู ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บเข้าไปใหญ่


Photo : www.michigansthumb.com

ไม่เพียงเท่านั้น ด้วยเทรนด์ของกีฬาเทเบิลเทนนิสที่เปลี่ยนไป การจับไม้แบบจีนซึ่งกลายเป็นการลดประสิทธิภาพของการเล่นจนมีไม่รอบด้าน ได้ทำให้นักกีฬาสนใจที่จะฝึกจับไม้ด้วยท่านี้ลดลง อย่างที่ ฉวง ชิ-หยวน นักปิงปองทีมชาติไต้หวันผู้เป็นคนที่จับไม้ด้วยท่าจับมือในการแข่งขันให้ทรรศนะว่า

"ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้ที่ยืนของท่าจับไม้แบบปากกาเริ่มอยู่ยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะทุกวันนี้ทุกคนในสนามก็เอาแต่จะเล่นเกมบุกใส่ก่อนนี่แหละครับ"

คำถามก็คือ ที่ว่าความนิยมในท่าจับไม้ปิงปองแบบจีนลดลงนั้น ลดลงขนาดไหน? คำตอบก็คือ จากยุคอดีตที่มีมือตบระดับตำนานในท่าดังกล่าวอย่าง หม่า หลิน เจ้าของ 3 เหรียญทองโอลิมปิกจากจีน และ ริว ซึงมิน เหรียญทองประเภทชายเดี่ยวโอลิมปิก 2004 (ซึ่งท่าจับไม้ของเขาดูจะไปทางสายญี่ปุ่นมากกว่า) จำนวนนักเทเบิลเทนนิสที่ระดับท็อปที่ถนัดการเล่นด้วยท่าดังกล่าวก็ค่อยๆ ลดลงอย่างน่าใจหา โดยในเดือนสิงหาคม 2016 เดือนเดียวกับที่มีการแข่งโอลิมปิกที่ ริโอ เดอ จาเนโร มีนักเทเบิลเทนนิสชายเพียง 2 คนจาก 20 อันดับแรกที่ใช้ท่าจับแบบจีน คือ ซู สิน จากจีน และ หว่อง ชุน ถิง จากฮ่องกง ส่วนประเภทหญิงนั้น ท็อป 20 ล้วนใช้ท่าจับแบบจับมือทั้งหมด ไม่มีท่าจับแบบปากกา หรือแบบจีนเลยแม้แต่คนเดียว

ซึ่งทาง ซู สิน เองก็ยอมรับว่า แม้แต่นักกีฬาจีนเอง หลายคนที่เป็นนักกีฬารุ่นใหม่ก็เลือกที่จะละทิ้งสไตล์การจับไม้แบบจีน หันไปจับไม้แบบจับมือแบบคนทวีปอื่นๆ ที่สามารถเล่นจังหวะต่างๆ ได้ครบเครื่องกว่า จนอดเป็นกังวลกับอนาคตของท่านี้ไม่ได้เช่นกัน

"หลิว เกาเหลียง เฮดโค้ชทีมชาติจีนเคยบ่นกับผมว่า 'แกต้องตั้งใจพัฒนาให้มากกว่านี้ ไม่เช่นนั้น มันจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เอกลักษณ์ของนักเทเบิลเทนนิสจีนต้องสูญพันธุ์'" นี่คือสิ่งที่ ซู สิน เปิดใจเมื่อปี 2012 และมันยังสะท้อนถึงความเป็นจริงในเวลานี้ได้อย่างไม่มีเปลี่ยน

ต่อสู้ด้วยผลงาน

ความกังวลของ ซู สิน ผู้ที่ได้เหรียญทองในประเภททีม แต่ไม่ถูกเลือกลงแข่งในประเภทเดี่ยวนั้น สะท้อนออกมาผ่านผลงานของนักกีฬาเทเบิลเทนนิสในโอลิมปิกที่ริโอ เมื่อเจ้าของเหรียญรางวัลในประเภทเดี่ยวทั้งชายและหญิง ล้วนมีวิธีการจับไม้แบบจับมือทั้งสิ้น ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่ถูกบรรจุเป็นกีฬาโอลิมปิกในปี 1988 ที่ไม่มีนักตบลูกเซลลูลอยด์สายจับไม้แบบจีนได้เหรียญรางวัลเลยแม้แต่คนเดียว


Photo : alchetron.com

อย่างไรก็ตาม บนเส้นทางของการแข่งขัน ก็มีนักกีฬาที่ใช้วิธีการจับไม้แบบจีนที่สร้างผลงานได้อย่างน่าดูชม อย่าง หนี่ เซียเหลียน นักตบสาวจีนที่โอนสัญชาติเป็นลักเซมเบิร์ก ซึ่งแม้ในโอลิมปิกที่ริโอจะจอดป้ายเพียงรอบสาม แต่ เฝิง เทียนเหว่ย มือสองของรายการผู้เอาชนะนักกีฬาที่มีอันดับมือวางต่ำกว่าถึง 36 ขั้นไปได้ในวันนั้นก็ยอมรับว่าต้องเจอกับงานลำบาก

"สไตล์การเล่นของเธอเป็นเอกลักษณ์มากนะ การจับไม้แบบดังกล่าวคือสิ่งที่ตัวฉันไม่คุ้นเคย และมันทำให้ฉันที่ยังปรับจังหวะไม่ได้ต้องเสียไปก่อนถึง 2 เกม"

และหลังจากนั้นเป็นต้นมา นักกีฬาเทเบิลเทนนิสสายที่ใช้การจับไม้แบบจีนก็ยังสามารถสร้างผลงานที่ดีในการแข่งขันได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งพวกเขาและเธอยอมรับว่า สไตล์การเล่นที่นักกีฬาส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคย ถือเป็นสิ่งที่ทำให้นักกีฬาสายจับไม้จีนสามารถกุมความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเสิร์ฟและรับลูก

แต่ที่สุดแล้ว ทุกอย่างก็ต้องมาตัดสินที่ผลการแข่งขันอยู่ดี ซึ่งเรื่องดังกล่าวต้องยอมรับว่า นักกีฬาที่มีท่าจับไม้แบบจับมือยังสามารถสร้างผลงานในสนามได้ดีกว่า ซึ่ง หวัง ชุน ติง มืออันดับ 17 ของโลกในปัจจุบันก็ยอมรับว่า ความสำเร็จในการแข่งขันจะทำให้ท่าจับไม้จีนนั้นคงอยู่คู่วงการเทเบิลเทนนิสต่อไป

"ผมก็หวังว่าท่าจับไม้แบบจีนจะไม่ล้มหายตายจากไปนะ ซึ่งนั่นคือแรงผลักดันให้ผมต้องประสบความสำเร็จในการแข่งขัน เพราะสิ่งนี้จะช่วยให้ผู้เล่นเลือกที่จะมาใช้การจับไม้แบบปากกามากขึ้นครับ"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook