หนเดียวในโลก : ไขคำตอบฉบับฟิสิกส์กับลูกยิง “บานานาชู๊ต” ของ “คาร์ลอส”

หนเดียวในโลก : ไขคำตอบฉบับฟิสิกส์กับลูกยิง “บานานาชู๊ต” ของ “คาร์ลอส”

หนเดียวในโลก : ไขคำตอบฉบับฟิสิกส์กับลูกยิง “บานานาชู๊ต” ของ “คาร์ลอส”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปี 1997 ในศึก ตูร์นัว เดอ ฟรองซ์ ทัวร์นาเมนต์อุ่นเครื่องก่อนฟุตบอลโลก 1998 ที่ประเทศฝรั่งเศส มีประตูที่กลายเป็นตำนานโลกไม่ลืมอยู่ลูกหนึ่งที่ยังมีการกล่าวถึงกระทั่งทุกวันนี้ นั่นคือลูกยิงจากแบ็คซ้ายดาวรุ่งของทีมชาติบราซิล (ณ ตอนนั้น) ในเกมที่พบกับเจ้าภาพ ...

จากฟรีคิกระยะ 38 หลา กำแพงปิดมุมเสาสองสนิทไม่เหลือที่ให้บอลพุ่งเป็นเส้นตรงได้ คนที่ขวางทางอยู่คือ พาทริก วิเอร่า ที่สูง 193 เซนติเมตร, ซีเนดีน ซีดาน สูง 189 เซนติเมตร และยังมี มาร์กแซล เดอไซญี่ ที่สูงอีก 195 เซนติเมตร ขวางอยู่เป็นด่านสุดท้ายหากบอลผ่านกำแพงชั้นแรกมาได้    

ฟาเบียง บาร์กเตซ นายทวารของฝรั่งเศสมั่นใจมากจากประสบการณ์เฝ้าเสาอันยาวนานของเขา ด้วยระยะขนาดนี้ต่อให้ยิงลูกโค้งความแรงก็จะไม่พอ และต่อให้ยิงด้วยความแรงก็จะเหลือมุมเดียวคือเสาแรกที่เขายืนเฝ้าอยู่ ... บาร์กเตซ ซื้อมุมไปที่เสาแรกของตัวเองทันทีเมื่อเห็นจากระยะและคนยิงที่ถนัดเท้าซ้าย ทว่าเมื่อนกหวีดจากกรรมการดังขึ้น โรแบร์โต้ คาร์ลอส วิ่งเข้ามาซัดตูมเดียวด้วยเท้าซ้าย บอลไปคนละทางกับที่ บาร์กเตซ คาดการณ์ไว้ … ตอนแรกมันเหมือนจะเลี้ยวออก แต่จู่ๆ มันก็เลี้ยวลับเข้าหากรอบประตูและเสียบเสาสอง ในมุมที่เขาคิดว่า คาร์ลอส ไม่น่ายิงให้เข้าได้ แต่มันก็เป็นไปแล้ว ...

ทำไมคาร์ลอสจึงกล้ายิง?

การจะกล้ายิงจากระยะไกล 38 หลาขนาดนั้น คนที่ยิงนอกจากจะมีความมั่นใจแล้วเขาคนนั้นยังต้องมีพลังขาที่แข็งแรงมากกว่าคนปกติหลายเท่า ... ยากมากๆ ที่จะใครสักคนคิดว่าตัวเองมีพร้อมกันทั้ง 2 อย่างในเวลาเดียว แม้แต่ตัว คาร์ลอส เองที่บอกว่าซ้อมฟรีคิกมาเยอะ แต่การยิงลูกนั้นเขาแค่คิดว่าจะลองยิงดูเท่านั้นเอง ไม่ได้คิดว่าจะกลายเป็นตำนานให้คนกล่าวขานถึงทุกวันนี้


Photo : www.planetfootball.com

"ผมยังไม่รู้ว่าผมยิงเข้าไปได้ยังไง ผมฝึกยิงฟรีคิกอย่างหนักจนนับไม่ถ้วนหลังจากซ้อมกับทีมเสร็จ ก็เลยคิดว่ามันเป็นโอกาสที่ดีที่จะลองยิงดู และมันก็ออกมายอดเยี่ยม ผมก็แค่ซัดมันเต็มแรง และมันก็เข้าประตูไป" คาร์ลอส ว่าไว้เช่นนั้น

ความจริงแล้วจะว่ามันฟลุ๊กก็คงไม่ถูกนัก คาร์ลอส ได้วิธีการยิงฟรีคิกในแบบที่วิ่งมาอัดเต็มแรงเช่นนี้จากรุ่นพี่ในทีมชาติคนหนึ่งซึ่งชื่อว่า บรังโก้ ... บรังโก้ นั้นเป็นนักเตะตำแหน่งแบ็คซ้ายเหมือนกับคาร์ลอส ช่วงเวลาปี 1992-95 เป็นช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกันระหว่างทั้ง 2 คน บรังโก้ เป็นรุ่นพี่ 10 ปี จองแบ็คซ้ายตัวจริงมาก่อน ขณะที่ คาร์ลอส เองไม่ได้มองเขาเป็นคู่แข่งแต่ถือว่าเป็นลูกพี่ที่คอยสั่งสอนเขาในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะลูกฟรีคิก

"ผมไม่ได้คิดค้นหรือศึกษาเองหรอก (กับการยิงฟรีคิกที่เน้นความแรงและการวางเท้า) แต่ผมเองก็เล่นกับ บรังโก้ มาพักใหญ่เลย และแน่นอนฟรีคิกที่เขายิงได้บ่อย ผมคิดว่า บรังโก้ คือครูคนแรกของผมเลย"

สิ่งที่ บรังโก้ ถ่ายทอดให้ คาร์ลอส ไม่ใช่แค่บอกว่าให้ยิงเต็มแรง แต่ บรังโก้ สอนไปถึงการวางเท้าหลัก และการเตะให้เข้าจุดและเข้าตำแหน่งที่จะทำให้ลูกฟุตบอลไปทิศทางที่มีโอกาสเป็นประตู นอกจากนี้ลูกพี่คนนี้ยังบอกว่าหากยิงบอลออกไปแล้วให้ปล่อยตัวฟอลโล่วตามแรงเหวี่ยงของร่างกายตามธรรมชาติไปเลย นั่นคือสาเหตุที่ว่าทำไมเวลา คาร์ลอส วิ่งมายิงเต็มเท้าเราจะสังเกตว่าตัวของเขาจะลอยขึ้นจากพื้นตลอด ต่างกับนักเตะจอมยิงฟรีคิกคนอื่นๆ ที่เท้าหลักจะอยู่ในตำแหน่งเดิม

ฟังเหมือนง่าย แต่มันไม่จบแค่นั้น ทฤษฎีจากบรังโก้ถูกต่อยอดด้วยความมุ่งมั่นในภาคปฎิบัติของ คาร์ลอส เขาจำได้ดี บรังโก้บอกว่าหากอยากยิงฟรีคิกดีต้องรักษาคุณภาพเอาไว้ นั่นคือห้ามปล่อยปะละเลยเด็ดขาด ความแข็งแรงของขาได้มาจากการฝึกเช่นเดียวกับความแม่นยำที่จะมีโอกาสส่งบอลเข้าประตูมากขึ้นหากได้ลองฝึกจนร่างกายจดจำไทมิ่ง (จังหวะ) ต่างๆ ได้

"เคล็ดลับการยิงฟรีคิกให้โค้งแบบผมไม่ยากเลย คุณต้องแยกการฝึกยิงฟรีคิกออกจากการฝึกปกติ ต้องทำมันสักครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมง ยิงจนกว่าจะรู้สึกว่าขาของคุณเริ่มหนักจนยกไม่ขึ้น ส่วนเคล็ดลับอย่างที่สองคือการลองไปยิงไปในหลายๆ ทิศทางด้วย ไม่มีวันพักหรอกสำหรับนักฟุตบอล ผมฝึกทุกวันนั่นแหละ" คาร์ลอส เผยความลับที่ดูเหมือนง่ายๆ แต่เปล่าเลย ... คาร์ลอส เองต้องทำในสิ่งที่แตกต่างกับนักเตะรุ่นเดียวกันมาก นั่นคือการทำร่างกายให้ฟิตอยู่ตลอดสวนทางกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับนักเตะรุ่นๆ เดียวกัน แม้แต่เจ้าตัวเองยังยอมรับเลยว่าการซ้อมในยุคของเขาถือว่า "ไม่เท่าไหร่"

ต้องยอมรับว่าฟุตบอลในยุค '90 นั้นหลายทีมให้ความสำคัญในเรื่องพละกำลังและวินัยน้อยกว่าปัจจุบันนี้มาก มันเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมนักฟุตบอลบราซิลรุ่นก่อนๆ จึงพีกเร็วและพังไว โรนัลดินโญ่, โรนัลโด้ และอีกหลายๆ คน ไม่ใช่แค่บราซิลเท่านั้นไอคอนของคอบอลยุค '90 อย่าง แมทธิว เลอ ทิสซิเอร์, อัลบาโร่ เรโคบา ต่างเป็นนักเตะที่แทบจะไม่ให้ความสำคัญในการซ้อมเลยด้วยซ้ำ แต่ก็ไม่มีใครว่าพวกเขาได้เพราะเมื่อลงสนามแล้วพรสวรรค์ของเหล่าเทพพวกนี้กลบข้อเสียในสนามซ้อมออกไปจนหมด

"ผมเชื่อว่าในเกมฟุตบอลสมัยใหม่จะมีประตูแบบนี้เกิดขึ้นอีก มีนักเตะหลายคนที่สามารถยิงบอลได้โค้งแบบนี้ และคุณจะได้เห็นมันอีกครั้ง มีนักเตะหลายคนที่ยิงฟรีคิกได้อย่างยอดเยี่ยมในทุกๆ วันนี้ แต่ในยุคสมัยนี้นักเตะต้องซ้อมหนักกว่าที่ผมเคยทำในอดีต" คาร์ลอส กล่าวทิ้งท้าย

ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมฟรีคิกของ คาร์ลอส จึงกลายเป็นตำนานที่คนจำได้แม่นที่สุดลูกหนึ่งในประวัติศาสตร์ มันคือจุดเริ่มต้นอย่างแท้จริง และการที่จะยิงจากระยะไกลขนาดนั้นให้มีทั้งความแรงและความโค้งแบบโค้งเห็นๆ ก็ยังไม่เคยปรากฎมาก่อน แม้ระยะหลังมีนักเตะหลายคนที่เตะปั่นโค้งไซด์ก้อยเข้าประตูไปหลายคน อาทิ ฟาอิซ ซูบรี นักเตะชาว มาเลเซีย ของทีม ปีนัง ก็ยังสามารถยิงเข้าไปได้แบบเหลือเชื่อและคว้ารางวัลปุสกัสอวอร์ด (ประตูที่สวยที่สุดในโลกเมือปี 2016) แต่มันก็ยังไม่ไกลเท่าและแรงเท่า คาร์ลอส อยู่ดี    

ทำไมโค้งได้ขนาดนั้น ...

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เพราะแม้แต่ คาร์ลอส เองยังไม่สามารถเลียนแบบลูกยิงลูกนี้ของตัวเองได้อีกเลยจนกระทั่งแขวนสตั๊ด แม้เขายิงฟรีคิกเข้าไปก็ไม่น้อย แต่การยิงด้วยวิถีลูกแบบเดิมนั้นมันยากเกินไป


Photo : www.vice.com

"ผมไม่เคยจะพยายามลองยิงแบบนั้นอีกเลย เพราะผมรู้เลยถ้าผมยิงแบบนั้นอีกผมจะไม่มีวันยิงฟรีคิกเข้าประตูไปตลอดชีวิต" เขาเล่าไปพร้อมกับเสียงหัวเราะ  

ประตูในตำนานนี้ทำให้นักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศส 4 คนต้องมาตั้งโต๊ะถกประเด็นสำหรับ "บานาน่า ชู้ต" ของ คาร์ลอส ในนิตยสาร New Journal of Physics ในปี 2010 พวกเขามานั่งวิเคราะห์วิจัยกันเป็นเรื่องเป็นราวและหาสาเหตุว่าทำไมลูกฟุตบอลจึงเปลี่ยนทิศทางได้ขนาดนั้น ซึ่งผลที่ออกมาในทางทฤษฎีบอกว่าลูกยิงลูกนี้สามารถทำซ้ำได้

พวกเขาให้คำอธิบายว่ามันเกิดจาก "แม็กนัส เอฟเฟ็กต์" หรือการปั่นไซด์นี่แหละ แม็กนัส เอฟเฟ็กต์ สามารถทำให้ลูกฟุตบอลไปในทิศทางที่คาดเดาไม่ถูกและเปลี่ยนทิศทางได้ แต่ความจริงมันคือปรากฏการณ์ที่ว่าด้วยวัตถุที่ลอยอยู่ในอากาศแล้วเกิดการหมุนรอบตัวมันเอง จะก่อให้เกิดลมหมุนรอบๆ ตัววัตถุ (ลูกฟุตบอล) ซึ่งสามารถสร้างแรงยกให้วัตถุนั้นลอยขึ้นไปในทิศทางอื่นได้ และพวกเขาเชื่อว่าการยิงของ คาร์ลอส สามารถเลียนแบบได้

"ลูกบอลสามารถเปลี่ยนทิศทางได้แต่ต้องอยู่ในเงื่อนไขว่าการยิงนั้นมีระยะทางยาวพอให้ลูกได้มีเวลาเดินทาง เมื่อมันเปลี่ยนทิศทางแล้วผู้รักษาประตูไม่สามารถคาดเดาได้เลย นี่คือสิ่งที่เราวิเคราะห์ถึงประตูของ โรแบร์โต้ คาร์ลอส เพราะลูกนี้ถูกยิงจากระยะ 35 เมตร (38 หลา) มันคือสิ่งที่ใครคิดไม่ถึงว่าจะมีคนที่พลังในการยิงมากพอ คาร์ลอส ยิงบอลให้โค้งแบบไร้ความปราณีและความแรงของมันมากพอที่จะทำให้ บาร์กเตซ ประหลาดใจจนเกินกว่าจะคิดป้องกัน" พวกเขาเขียนไว้แบบนั้น

อย่างไรก็ตามมีนักฟิสิกส์จาก Ted-Ed แชนแนลหนึ่งใน ยูทูบ วิเคราะห์ลูกยิงนี้ในหัวข้อ Football physics: The "impossible" แย้งเรื่องนี้ว่านี่คือประตูที่เป็นไปไม่ได้ที่จะเลียนแบบ พวกเขาอ้างอิงไปที่กฎการเคลื่อนที่ของนิวตัน โดยว่าถึงกฎข้อที่ 2 นั่นคือ อัตราการเปลี่ยนแปลงโมเมนตัมของวัตถุเป็นสัดส่วนโดยตรงกับแรงกระทำและการเปลี่ยนแปลงโมเมนตัมนี้เกิดขึ้นในทิศทางเดียวกับแรงที่มากระทำต่อวัตถุนั้น หากตีความให้เป็นภาษาฟุตบอลแบบเข้าใจง่ายๆ คงต้องอธิบายว่า คาร์ลอส เป็นคนที่ยิงบอลแรง (มาก) แรงจนทำให้บอลพุ่งไปข้างหน้าด้วยความเร็วเส้นตรงในตอนแรก แต่สิ่งที่ทำให้บอลโค้งได้คือการที่ คาร์ลอส เอาเท้าไปสัมผัสกับ "ส่วนด้านล่างและเยื้องไปทางขวาจากจุดศูนย์กลางของลูกฟุตบอล"

และเมื่อความแรงระดับ 84.5 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเข้าจุดสัมผัสที่ด้านล่างและเยื้องไปทางซ้ายทำให้เกิดการเปลี่ยนทิศทางขึ้น ... บอลลอยสูงขึ้นจากการเตะใต้ลูก และตามด้วยบอลที่เลี้ยวโค้งไปทางซ้ายเพราะการเตะเยื้องมาด้านขวาของลูกฟุตบอล "ยิ่งไปกว่านั้นด้วยระยะไกลระดับ 38 หลาและความแรงระดับ 84.5 กิโลเมตรทำให้บอลมันมีเวลาโค้งอ้อมกำแพงและกลับมาอยู่ในวิถีการเข้าประตูพอดี เหนือสิ่งอื่นใดเลยคือทักษะของ คาร์ลอส ที่สำคัญมากเพราะการยิงแบบนี้มันยากจริงตามที่เขาบอกว่าไม่รู้จะยิงแบบนี้ได้อีกเมื่อไหร่ มันคือความพอดิบพอดีที่เกิดขึ้นอย่างตรงจุดตรงเวลาเป๊ะจนไม่น่าจะมีใครสามารถทำซ้ำได้"

"หากเขายิงต่ำเกินไปบอลจะกระทบพื้นก่อนที่จะเริ่มโค้ง, หากเขาเลือกยิงในมุมที่กว้างเกินไปลูกบอลจะไม่ไปในทิศทางที่เข้าประตูได้, ถ้าเขายิงจากมุมที่แคบเกินไปลูกจะติดกำแพง, ถ้ายิงเบากว่านี้ลูกจะเลี้ยวเข้ามาก่อนจะถึงประตูหรือไม่ก็ไม่โค้งเลย และถ้าเขายิงด้วยความแรงมากกว่าบอลก็จะโค้งและฮุกช้าเกินไป" Ted-Ed อธิบายไว้ในคลิปอย่างนั้น  

แม้แต่เหล่านักวิทยาศาสตร์ที่เชื่อในสิ่งที่อธิบายได้ยังเสียงแตก ... เกิดอะไรขึ้นกันแน่กับลูกยิงนี้?

ผมว่าบอลลูกนั้นมันออกไปแล้วนะ ...

หลายอย่างประกอบกันทำให้เกิดความมหัศจรรย์จะใช้คำนี้คงไม่ผิดนัก ... คนทั่วโลกเรียกมันว่า "บานาน่า ชู้ต" แต่คุณรู้ไหมว่า คาร์ลอส เรียกลูกยิงของตัวเองว่าอะไร? ... "มิราเคิล" (ปาฎิหาริย์) เขาให้คำจำกัดความสั้นๆ แบบนั้นเลย


Photo : www.vice.com

ปาฎิหาริย์ ดูจะเป็นคำที่ลงตัวมากเพราะแม้แต่นักวิทยาศาสตร์และนักฟิสิกส์ยังเสียงแตกหาข้อสรุปกันไปได้คนละทิศคนละทาง มันคือความสวยงามที่น่างุนงงว่าจบลงด้วยการเลี้ยวกลับมาเข้าประตูได้อย่างไร?

"แม้ว่าทางฟิสิกส์จะสามารถอธิบายเส้นทางการเคลื่อนที่ของลูกฟุตบอลได้และบอกว่าเงื่อนไขของการโค้งมาจากพลังและการวางเท้าของ คาร์ลอส แต่ความจริงแล้วลูกยิงแบบนี้มันหายากมากจริงๆ เราเรียกมันว่าปาฎิหาริย์เลยก็ยังได้" หลุยส์ เฟร์นันโด ฟอนตานารี่ นักฟิสิกส์จากบราซิลยอมแพ้และตอบแบบกำปั้นทุบดินเหมือนกับ คาร์ลอส เป๊ะ เขาจบประโยคด้วยคำว่า ปาฎิหาริย์ ราวกับว่าปล่อยให้มันเป็นปริศนาแบบนี้แหละดีแล้ว

ในช่วงเวลาที่แฟนบอล, นักวิทย์, นักฟิสิกส์ ถกเถียงกัน คาร์ลอส ก็ทำให้เรื่องทุกอย่างชัดเจนขึ้นมาอีกนิด และมันดูน่าเชื่อขึ้นมาบ้างว่ามันเหมาะจะเป็นปาฎิหาริย์ เพราะเขาบอกว่า พลังขา, การวางเท้า, สัมผัสที่กระแทกกับลูกฟุตบอล, วิทยาศาสตร์ หรืออะไรก็ตามแต่ถูกควบคุมด้วยสิ่งที่มนุษย์คาดเดาไม่ได้นั่นคือ "ธรรมชาติ"

"ผมยิงลูกนั้นและบอลก็จะออกห่างจากกรอบประตูเกินไปแล้วแท้ๆ แต่ปาฏิหาริย์ลมนี่แหละที่หอบมันกลับมาจนเลี้ยวเข้าประตู … ผมว่ามันเป็นปาฎิหาริย์" คาร์ลอส กล่าวกับนิตยสาร  L’Equipe ของฝรั่งเศส

จากปากคำของ คาร์ลอส ทำให้เราพอจะเข้าใจได้ว่าทำการถกเถียงจึงไม่ได้ข้อสรุปเสียทีว่าลูกนี้เกิดจากอะไรกันแน่มันอาจแค่ดวงดี, สถานการณ์พาไป หรือาจจะแค่ลูกฟลุ๊กลูกหนึ่งก็ได้?นั่นคือการมองแบบแง่ลบ แต่ถ้ามองจากแง่บวกเราจะเห็นได้ว่าการวิเคราะห์ทั้งหลายแหล่จากผู้ชำนาญการหรือแม้แต่คนยิงเองมันได้ข้อสรุปในตัวมันแล้วนั่นคือ "ความมหัศจรรย์สามารถเกิดขึ้นได้หากมีหลายสิ่งหลายอย่างประกอบเข้าด้วยกันอย่างตรงจุดตรงเวลา"

หาก คาร์ลอส ไม่ออกกำลังกายเพื่อเพิ่มพละกำลังขาเขาจะทำได้ไหม? หากเขาไม่ซ้อมยิงฟรีคิกในสไตล์เต็มข้อทุกวันอะไรจะเกิดขึ้น? ท้ายที่สุดแล้วสารตั้งต้นของเรื่องนี่คือความมหัศจรรย์ของ โรแบร์โต้ คาร์ลอส ที่ได้รับการช่วยเหลือจากธรรมชาติ จนกระทั่งมันกลายเป็นความคลาสสิกที่ทุกคนบนโลกนี้ไม่สามารถถกเถียงกันได้ เมื่อทุกคนดูคลิปบานาน่าชู้ตของ โรแบร์โต้ คาร์ลอส จบ เชื่อว่าประโยคแรกที่ผุดขึ้นในสมองคงไม่พ้นคำว่า "โคตรสวยเลยว่ะ" … แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook