ได้แต่คิดแล้วก็สงสัย : ที่มาสุดลึกซึ้งทำให้แชมป์ "ตูร์ เดอ ฟรองซ์" ต้องใส่เสื้อเหลือง

ได้แต่คิดแล้วก็สงสัย : ที่มาสุดลึกซึ้งทำให้แชมป์ "ตูร์ เดอ ฟรองซ์" ต้องใส่เสื้อเหลือง

ได้แต่คิดแล้วก็สงสัย : ที่มาสุดลึกซึ้งทำให้แชมป์ "ตูร์ เดอ ฟรองซ์" ต้องใส่เสื้อเหลือง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อพูดถึง ตูร์ เดอ ฟรองซ์ (Tour de France) การแข่งขันจักรยานทางไกลรายการที่เก่าแก่และยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก สิ่งแรกที่แฟนกีฬาทุกคนน่าจะนึกออกอย่างพร้อมเพรียงกันคงหนีไม่พ้น "เสื้อสีเหลือง"

แต่คุณๆ สงสัยบ้างหรือไม่ว่า เสื้อเหลืองนี้มีความหมายอย่างไร และเรื่องราวกว่าที่จะมาเป็นสัญลักษณ์ของศึกสุดยอดจักรยานทางไกลนี้เป็นอย่างไร? นี่คือเรื่องราวกว่า 1 ศตวรรษก่อนจะมาเป็น "เสื้อเหลือง ตูร์ เดอ ฟรองซ์"

จากปลอกแขนสู่เสื้อ

"เสื้อสีเหลือง" หรือ "ไมโยโจน" (Maillot jaune) ในศึก ตูร์ เดอ ฟรองซ์ ถือเป็นเสื้อที่ทรงเกียรติที่สุดในการแข่งขันรายการนี้ เพราะคนที่จะใส่เสื้อสีนี้ได้นั้นคือ "คนที่ทำเวลารวมได้เร็วที่สุด" หรือพูดให้กระชับก็คือ "ผู้นำการแข่งขัน" ซึ่งจะใส่เสื้อนี้ในทุกสเตจ และคนที่ได้สวมเสื้อนี้ที่ถนน ฌ็องเซลิเซ่ ถนนแห่งความหรูหราไฮโซ ณ กรุงปารีส หลังจบการแข่งสเตจสุดท้าย ก็จะได้เป็น "ผู้ชนะการแข่งขัน" ในที่สุด


Photo : welovecycling.com

ความหมายของมันอาจจะดูง่ายแสนง่าย แต่เรื่องราวกว่าที่เสื้อเหลืองจะได้เป็นสีแห่งผู้ชนะในศึกตูร์นั้นลึกซึ้ง และมีที่มาอันยาวนานกว่าศตวรรษเลยทีเดียว

"จักรยานทางไกล ตูร์ เดอ ฟรองซ์ เริ่มแข่งขันครั้งแรกในปี 1903 ซึ่งตอนนั้น เปโลตอง (Peloton) หรือกลุ่มใหญ่ของนักปั่นเวลาแข่งมันเล็กกว่าสมัยนี้มากเลยครับ" แบร์รี่ บอยซ์ (Barry Boyce) นักประวัติศาสตร์การแข่งขันจักรยานที่ค้นคว้าถึงศึกตูร์เริ่มเล่า "และด้วยความที่กลุ่มมันเล็กนี้เอง การจำแนกแยกว่าใครเป็นผู้นำการแข่งขันก็ทำกันง่ายๆ ด้วยการใช้ปลอกแขนสีเขียว"

ทว่าเวลาผ่านไปได้ไม่นาน การแข่งขันจักรยานทางไกลรายการนี้ก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีผู้ร่วมทำการแข่งขันเกิน 100 คน และการจำแนกว่าใครเป็นใครก็กลายเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง นักกีฬาและสื่อมวลชนจึงเริ่มส่งเสียงบ่นฝ่ายจัดการแข่งขันว่า ปลอกแขนที่ใช้แยกว่าใครคือผู้นำของการแข่งขัน กลายเป็นสัญลักษณ์ที่พวกเขาเห็นไม่ชัดไปเสียแล้ว ซึ่งเมื่อถึงตรงนี้ บอยซ์ก็ได้เล่าต่อว่า

"พูดถึงเรื่องนี้ ฟิลิป ติส (Philippe Thys) นักปั่นชาวเบลเยียม เคยอ้างว่าเขานี่แหละ คือคนแรกที่สวมเสื้อสีเหลือง ในตอนที่เขาขึ้นนำการแข่งขันปี 1913 แต่ถึงกระนั้น มันก็มีหลักฐานที่โต้แย้งชัดเจนว่า สัญลักษณ์ดังกล่าวยังไม่ถูกยอมรับอย่างเป็นทางการ ณ เวลานั้น"

เพราะเรื่องราวที่เสื้อเหลืองกลายเป็นสัญลักษณ์ของศึกตูร์อย่างเป็นทางการ เกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีถัดมา ...

"เรื่องที่นักแข่งกับนักข่าวเห็นสัญลักษณ์ของนักแข่งที่เป็นผู้นำไม่ชัด ในที่สุดก็รู้ถึงหูฝ่ายจัด และ อองรี เดสเกรนด์ (Henri Desgrange) ผู้อำนวยการแข่งขันในยุคแรกก็เสนอไอเดียว่า ถ้าใส่ปลอกแขนแล้วเห็นไม่ชัด ก็ใส่เป็นเสื้อเลยสิ ส่วนเรื่องสีที่ใช้นั้นมีเหตุผลที่ง่ายมาก เพราะในยุคแรกของการแข่งขัน สปอนเซอร์หลักของศึกตูร์คือ ลอโต้ (L’Auto) หนังสือพิมพ์กีฬา ซึ่งหน้ากระดาษเป็นสีเหลืองนั่นเอง"


Photo : alinou-is-grumpy.skyrock.com

แม้จะเป็นไอเดียที่ดี แต่ถึงกระนั้นมันก็ต้องใช้เวลาโน้มน้าวคนอื่นๆ ให้คล้อยตามอยู่ไม่น้อย จนกระทั่งปี 1919 ซึ่งศึกตูร์กลับมาจัดเป็นครั้งแรกหลังว่างเว้นไป 4 ปีจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป กระทั่งมาลงตัวเอาก่อนที่การแข่งขันสเตจ 11 จะเริ่มขึ้น เดสเกรนด์จึงมีคำสั่งให้ผู้ที่มีเวลารวมที่ดีที่สุดหลังจบสเตจก่อนหน้า สวมเสื้อสีเหลืองแทนเสื้อแข่งของตนลงทำการแข่งขัน ซึ่งคนที่ได้รับเกียรติให้สวมเสื้อเหลืองในฐานะสัญลักษณ์ของศึกตูร์อย่างเป็นทางการคนแรก วันที่ 19 กรกฎาคม 1919 ก็คือ ยูจีนี่ คริสตอฟ (Eugène Christophe) นักปั่นเจ้าถิ่นที่กำลังนำการแข่งขันอยู่ในขณะนั้น ถึงกระนั้นเขาก็ไม่สามารถรักษาเสื้อได้ตลอดการแข่งขัน เมื่อปัญหาที่เกิดกับรถคู่ใจครั้งแล้วครั้งเล่าทำให้เขาป้ายเพียงอันดับ 3 หลังจบสเตจสุดท้ายเท่านั้น


Photo : www.letapebyletourdefrance.com

แน่นอนว่าการเปลี่ยนจากปลอกแขนสีเขียว มาเป็นเสื้อสีเหลือง จะทำให้ทุกฝ่ายสังเกตเห็นคนที่เป็นผู้นำได้ชัดเจนขึ้น รวมถึงช่วยให้การแข่งขันสนุกขึ้น เมื่อนักปั่นคนอื่นๆ สามารถเห็นได้ชัดเจนว่าใครคือคนที่พวกเขาจะต้องเอาชนะให้ได้ แต่กระแสตอบรับในยุคแรกๆ ก็ไม่ค่อยจะดีนัก ผู้ชมเห็นว่ามันดูตลก ส่วนนักแข่งเองก็ไม่คุ้นเคย เรื่องดังกล่าวนำมาซึ่งการตั้งฉายาเสื้อเหลืองว่า "นกขมิ้น" (Canary) หรือ "คริ-คริ" (Cri-cri) 

แม้จะมีเสียงวิจารณ์ แต่ฝ่ายจัดการแข่งขันก็ยังยืนยันที่จะใช้เสื้อเหลืองเป็นสัญลักษณ์ของผู้นำต่อไป เสื้อเหลืองจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของศึก ตูร์ เดอ ฟรองซ์ มาจนถึงปัจจุบัน แม้หนังสือพิมพ์ ลอโต้ จะถูกรีแบรนด์ใหม่กลายเป็น เลกิ๊ป (L'Équipe) หนังสือพิมพ์กีฬาอันดับ 1 ของฝรั่งเศส และไม่ได้พิมพ์บนกระดาษสีเหลืองอีกต่อไปแล้วก็ตาม โดยความเปลี่ยนแปลงที่สังเกตได้ชัดก็เห็นจะเป็นการเติมอักษรย่อ HD ไว้ที่เสื้อ เพื่อรำลึกถึงเดสเกรนด์ ผู้ให้กำเนิดเสื้อเหลืองที่เสียชีวิตเมื่อปี 1940

จากสีเหลืองเพิ่มอีกหลากสี

กาลเวลาผ่านไป เสื้อเหลืองก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ที่ผู้ชมจดจำได้ขึ้นใจเมื่อพูดถึงศึก ตูร์ เดอ ฟรองซ์ การแข่งขันเริ่มเติบโตขึ้น มีสปอนเซอร์เข้ามาหลากหลาย แม้แต่เสื้อเหลืองที่ เลอ ค็อก สปอร์ติฟ (Le Coq Sportif) แบรนด์กีฬาชั้นนำของฝรั่งเศสเข้ามาเป็นผู้ผลิตให้เป็นครั้งแรกในปี 1951


Photo : www.artphotolimited.com

และนั่นก็เป็นช่วงใกล้เคียงกับที่มีเสื้อสีอื่นๆ เข้ามาสร้างสีสันในการแข่งขัน เริ่มจาก "เสื้อสีเขียว" หรือ "ไมโยแวร์" (Maillot vert) ที่ให้นักกีฬาซึ่งเก็บแต้มจากการเข้าเช็กพอยท์ต่างๆ รวมถึงเส้นชัยได้มากที่สุดเป็นผู้สวม แต่นิยามของเสื้อเขียวกลายมาเป็นอย่างเช่นทุกวันนี้ได้อย่างไร?

"เรื่องดังกล่าวต้องย้อนกลับไปถึงปี 1952 ปีนั้น ฟาอุสโต้ ก็อปปี้ (Fausto Coppi) แข็งแกร่งมาก ทิ้งห่างคู่แข่งคนอื่นๆ เสียจนหลายคนเลือกที่จะถอนตัวจากการแข่งขัน ฝ่ายจัดการแข่งขันจึงตัดสินใจเพิ่มการแข่งขันใหม่ในวาระครบรอบ 50 ปีของการแข่งขัน ที่จะทำให้นักแข่งอยู่จนจบสเตจสุดท้ายนั่นคือ เสื้อเขียว สีที่มาจาก ลาเบลล์จาร์ดิแยร์ (La Belle Jardinière) บริษัทผู้ผลิตเครื่องตัดหญ้า" แบร์รี่ บอยซ์ นักประวัติศาสตร์การแข่งขันจักรยานเล่าต่อ

ฟริทซ์ แชร์ (Fritz Schär) นักปั่นจากสวิตเซอร์แลนด์ คือคนแรกที่ได้สวมเสื้อเขียวในศึกตูร์ปี 1953 โดยในยุคแรกการคิดคะแนนจะเป็นระบบกลับ คือคนที่เข้าเส้นชัยเป็นคนแรกจะเสียคะแนนน้อย ผู้ชนะคือผู้ที่เสียคะแนนรวมน้อยที่สุด กระทั่งปี 1959 ก็ได้ปรับระบบใหม่ โดยให้ผู้ที่เข้าเส้นชัยคนแรกได้คะแนนมาก ผู้ชนะคือผู้ที่ได้คะแนนรวมมากที่สุดเช่นปัจจุบัน โดยในสเตจทางราบที่มีการแข่งขันกันมาก จะคิดคะแนนมากกว่าสเตจขึ้นเขาที่มีนักกีฬาชิงอันดับกันน้อย

ในเวลาต่อมา ศึก ตูร์ เดอ ฟรองซ์ ก็ได้เพิ่มเสื้อตัวที่สามมาให้ชิงชัย นั่นคือ "เสื้อลายจุด" หรือ "ไมโยเอพอยรูคส์" (Maillot à pois rouges) เสื้อที่จะมอบให้กับผู้ที่เก็บคะแนนสะสมจากสเตจขึ้นเขาได้มากที่สุด ทว่าความเป็นมากว่าที่จะเป็นเสื้อลายจุดนั้น ยาวนานไม่แพ้เสื้อเหลืองเลยทีเดียว

แบร์รี่ บอยซ์ เปิดเผยถึงเรื่องดังกล่าวว่า "ในปี 1905 หนังสือพิมพ์ ลอโต้ ได้จัดให้มีรางวัลยอดนักไต่เขาเป็นครั้งแรกครับ โดยที่ เรเน่ ปอตติเยร์ (René Pottier) ได้รางวัลจากการขึ้นไปยังบน บัลลง ดัลซาส (Ballon d’Alsace) ยอดเขาแรกของการแข่งขันเป็นคนแรก ต่อมาในปี 1933 ก็มีการเก็บสถิติรวม ซึ่ง บิเซนเต้ ทรูบา (Vicente Trueba) เป็นผู้ชนะคนแรก แต่ในสมัยนั้นจะเป็นระบบการให้โบนัสเวลา ไม่ใช่การเก็บคะแนนเหมือนในปัจจุบัน"


Photo : www.francetvinfo.fr

"แต่สำหรับเสื้อลายจุดนั้น กว่าจะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกก็ต้องรอถึงปี 1975 นู่นเลย ลูเซียง ฟาน อิมเป เป็นคนแรกที่ได้สวมเสื้อนี้ ส่วนคำถามที่ว่าทำไมต้องลายจุด? เรื่องนี้ก็เกี่ยวข้องกับผู้สนับสนุนเช่นกันครับ เพราะสปอนเซอร์รายแรกของเสื้อตัวนี้คือ ช็อกโกแลต ปูเลน (Chocolat Poulain) ผู้ผลิตช็อกโกแล็ตที่เก่าแก่มากๆ ในฝรั่งเศส ซึ่งกระดาษห่อผลิตภัณฑ์ของเขาเป็นลายจุดสีแดง"

ปิดท้ายด้วย "เสื้อสีขาว" หรือ "ไมโยบลองก์" (Maillot blanc) ซึ่ง คริสโตเฟอร์ ธอมป์สัน (Christopher Thompson) ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย บอล สเตท และผู้เขียนหนังสือ The Tour de France: A Cultural History เผยว่าความหมายในตอนแรกกับปัจจุบันนั้น แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

"เสื้อสีขาวนั้นเปิดตัวเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1968 ครับ แต่ความหมายในตอนนั้นเป็นการมอบให้กับนักปั่นที่สามารถทำอันดับได้ดีที่สุดเมื่อพิจารณาจากทุกประเภทรวมกัน กระทั่งปี 1975 กฎของเสื้อขาวก็เปลี่ยนไป เป็นการมอบให้กับนักปั่นดาวรุ่งที่ทำผลงานได้ดีที่สุด โดยเป็น ฟรานเชสโก้ โมเซร์ (Francesco Moser) ที่ได้เสื้อไปครองเป็นคนแรกจากผลงานชนะ 2 สเตจในปีนั้น หลังจากนั้นก็มีการปรับกฎยิบย่อยอีกหลายครั้ง จนกระทั่งปี 1987 ก็เป็นอย่างเช่นในปัจจุบันคือ ผู้ที่สวมเสื้อนี้ คือนักปั่นอายุไม่เกิน 26 ปีที่ทำเวลารวมได้ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม ไม่มีการเปิดเผยถึงสาเหตุว่าเหตุใดถึงต้องเป็นเสื้อสีขาวแต่อย่างใด"

เกียรติสูงสุดในชีวิต

สำหรับวงการกีฬาอื่นๆ เกียรติยศสูงสุดอาจหมายถึงความสำเร็จขั้นสุดยอด อย่างแชมป์โลกหรือเหรียญทองโอลิมปิก แต่สำหรับวงการจักรยาน ตำแหน่งทุกอย่างที่กล่าวมาอาจเทียบไม่ได้เลยกับการได้ใส่เสื้อเหลืองแค่วันเดียวเท่านั้น


Photo : www.eurosport.co.uk

และหนึ่งในคนที่บรรยายความรู้สึกนี้ได้ดีที่สุดคงหนีไม่พ้น เกอร์เรนท์ โธมัส (Geraint Thomas) แชมป์ ตูร์ เดอ ฟรองซ์ ปี 2018 ที่ยืนยันว่า เสื้อเหลืองคือความฝันของนักกีฬาจักรยานจากทั่วทุกมุมโลก

"สำหรับพวกเรา สิ่งหนึ่งที่อยู่ในหัวเสมอคือชัยชนะ และการได้ผ่านเข้าเส้นชัยโดยสวมเสื้อเหลืองนี้ไว้ และไม่เพียงเท่านั้น ผู้คนมากมายที่เจอผมต่างพากันร้องไห้ด้วยความดีใจที่เห็นผมชนะ ทั้งๆ ที่ไม่เคยพบหน้ากันมาก่อนเลยตลอดชีวิต"

อีกคนที่ยอมรับเรื่องนี้อย่างหน้าชื่นตาบานก็คือ มาร์ค คาเวนดิช (Mark Cavendish) สุดยอดนักปั่นสายเจ้าความเร็วชาวสหราชอาณาจักร ผู้เคยเป็นแชมป์โลกทั้งจักรยานประเภทลู่และถนน อีกทั้งยังเคยได้เสื้อเขียวในศึกตูร์เมื่อปี 2013 ซึ่งเผยว่า ทุกความสำเร็จที่กล่าวมาเทียบไม่ได้เลยกับเสื้อเหลืองที่เขาได้มาเพียงวันเดียวในสเตจแรกของ ตูร์ เดอ ฟรองซ์ ปี 2016

"ถ้าจะบอกว่าผมพอใจกับความสำเร็จอะไรมากที่สุดน่ะเหรอ? คงต้องเป็นเสื้อเหลืองใน ตูร์ เดอ ฟรองซ์ เพราะแม้ผมจะชนะสเตจรายการนี้หลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยได้สวมเสื้อนี้เลยจนหลายคนถามว่าเมื่อไหร่จะได้ สำหรับนักปั่นสายสปรินท์อย่างผมที่โอกาสคว้าแชมป์รายการน้อยแสนน้อย การได้สวมเสื้อเหลืองนี้มันเหมือนกับเป็นลางที่ดีตลอดการแข่งขันที่เหลือ และแน่นอนว่า ผมจะเอามันใส่กรอบขึ้นแขวนคู่กับเสื้อแชมป์โลกและเสื้อเขียวของตูร์"

ไม่เพียงเท่านั้น ฟิลิป จิลแบร์ (Philippe Gilbert) อีกนักปั่นสายสปรินท์ที่เคยได้สวมเสื้อเหลืองยังยอมรับด้วยว่า การได้สวมเสื้อเหลืองทำให้สายตาของผู้คนที่มองเขาเปลี่ยนไปอย่างมาก

"เมื่อคุณได้สวมเสื้อเหลืองในตูร์ คุณจะรู้สึกทันทีว่าคุณไม่ใช่คนธรรมดาอีกต่อไป ผู้คนจะชี้มาที่คุณแล้วบอกว่า 'เฮ้ย นั่นเจ้าของเสื้อเหลืองว่ะ' แบบที่ไม่สนเลยว่าคนนั้นจะเป็นใครหรือสัญชาติไหนด้วย เพราะคุณเป็นสัญลักษณ์ของ ตูร์ เดอ ฟรองซ์ ไปแล้ว และนั่นแหละคือสิ่งที่แฟนๆ เขาอยากเห็น"

แต่ถึงแม้เสื้อเหลืองจะเป็นเกียรติยศสูงสุดที่นักปั่นทั้งเปโลตองหวังจะคว้ามันมาครอบครอง แต่ก็มีธรรรมเนียมปฏิบัติอย่างหนึ่งซึ่งเป็นที่ยอมรับแพร่หลาย นั่นคือเมื่อมีนักปั่นผู้นำที่ใส่เสื้อเหลืองต้องออกจากการแข่งขันระหว่างสเตจ คนที่ตามมาเป็นอันดับ 2 ซึ่งโดยปกติก็จะถูกเลื่อนให้มีสิทธิ์ใส่โดยอัตโนมัติจะไม่ใส่เสื้อดังกล่าวทันทีในสเตจต่อไป เหมือนเป็นนัยที่ต้องการให้เกียรติแก่เจ้าของคนก่อนนั่นเอง

100 ปีเสื้อเหลืองตูร์

แม้กาลเวลาผ่านไปจะทำให้มีเสื้อสำหรับผู้นำการแข่งขันประเภทต่างๆ ออกมามากมาย เช่นเดียวกับการแข่งขันจักรยานรายการอื่นๆ ที่นำไอเดียนี้มาประยุกต์ใช้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเสื้อที่ผู้คนจำได้มากที่สุดเมื่อพูดถึงการแข่งจักรยาน คือเสื้อสีเหลืองจากศึก ตูร์ เดอ ฟรองซ์


Photo : europe1.fr

และเนื่องในโอกาสที่การใช้เสื้อเหลืองเป็นสัญลักษณ์ของผู้นำและผู้ชนะการแข่งขันรายการนี้อย่างเป็นทางการ เวียนมาบรรจบครบ 100 ปีในปี 2019 แน่นอนว่าทางฝ่ายจัดการแข่งขัน รวมถึง เลอ ค็อก สปอร์ติฟ ผู้ผลิตเสื้อรางวัลต่างๆ ให้กับรายการนี้ในปัจจุบัน ย่อมต้องคิดถึงสิ่งพิเศษที่แตกต่างกว่าครั้งไหนๆ

มาร์ก-อองรี โบไซร์ (Marc-Henri Beausire) ซีอีโอของ เลอ ค็อก สปอร์ติฟ เผยว่า "ตลอดความร่วมมือที่มีต่อกันระหว่าง ตูร์ เดอ ฟรองซ์ และทางเรา ได้เกิดเรื่องราวต่างๆ ขึ้นมากมาย ด้วยเหตุนี้ เราจึงอยากรำลึก 100 ปีของเสื้อเหลืองด้วยเสื้อลายพิเศษ"

สิ่งนั้นก็คือ เสื้อเหลืองสำหรับผู้นำเวลารวม ที่จะสกรีนลายบนเนื้อผ้าแตกต่างกันไปในแต่ละสเตจ โดยจะเริ่มใส่ตั้งแต่สเตจ 2 ของการแข่งขันไปจนถึงสเตจที่ 21 ปิดฉาก รวมแล้วก็จะมีถึง 20 ตัว โดยลายบนเนื้อผ้าก็มีความหลากหลาย ทั้งสถานที่สำคัญในการแข่งขัน รวมถึงบุคคลในประวัติศาสตร์ของศึก ตูร์ เดอ ฟรองซ์ ทั้งเจ้าของแชมป์ 5 สมัย มากที่สุดในการแข่งขันอย่างเช่น เอ็ดดี้ เมิร์กซ์ (Eddy Merckx) กับ มิเกล อินดูเรน (Miguel Indurain) นอกจากนี้ ยังมีการนำหน้าของ ยูจีนี่ คริสตอฟ บุรุษผู้ได้สวมเสื้อเหลืองอย่างเป็นทางการคนแรกของโลกมาสกรีนบนเสื้อด้วย โดยเสื้อตัวดังกล่าวจะมอบให้กับผู้ที่นำเวลารวมในสเตจ 13 วันที่ 19 กรกฎาคม วันเดียวกับที่คริสตอฟได้สวมเสื้อนี้เป็นครั้งแรกเมื่อ 100 ปีก่อนพอดี


Photo : www.sportbuzzbusiness.fr

จากจุดเริ่มต้นที่ต้องการแบ่งแยกคนที่เป็นผู้นำการแข่งขันให้โดดเด่นกว่าคนอื่นๆ ในเปโลตอง รวมถึงการขอบคุณสปอนเซอร์ผู้ให้การสนับสนุน เสื้อเหลืองของศึก ตูร์ เดอ ฟรองซ์ ได้ผ่านสายตาของแฟนกีฬาทั่วโลกมาเป็นเวลาร่วมศตวรรษ จนเป็นสัญลักษณ์ที่แม้แต่คนที่ไม่ดูกีฬาก็ยังจำได้ ซึ่งแม้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงผู้สนับสนุนหลายต่อหลายครั้ง แต่สีสันและความหมายของมันก็ยังคงเป็นไปตามเดิม

จะว่าไปก็เหมือนกับชีวิตของมนุษย์เดินดินอย่างเรา เพราะแม้คุณจะประสบความสำเร็จขนาดไหน การได้รับเกียรติจากที่ทำงานหรือสังคมไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง คือสิ่งที่ทำให้ตัวคุณเองรู้สึกมีค่า และผู้คนรอบข้างให้การยอมรับอย่างเต็มใจ

เช่นเดียวกับวงการจักรยาน เพราะผู้ที่สวมเสื้อเหลือง ตูร์ เดอ ฟรองซ์ คือบุคคลที่ได้พิสูจน์ตัวเองด้วยผลงานแล้วว่า เก่งที่สุดในการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และนี่คือเหตุผลสำคัญที่สุดที่นักปั่นมากมายจากทั่วทุกมุมโลก อยากสวมเสื้อเหลือง ของขวัญตอบแทนความพยายามและความสำเร็จสักครั้งในชีวิต

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook