แฟร์เท็กซ์ : จากบริษัทผลิตเสื้อยืดสู่อาณาจักรมวยไทยหัวก้าวหน้ามูลค่าพันล้าน

แฟร์เท็กซ์ : จากบริษัทผลิตเสื้อยืดสู่อาณาจักรมวยไทยหัวก้าวหน้ามูลค่าพันล้าน

แฟร์เท็กซ์ : จากบริษัทผลิตเสื้อยืดสู่อาณาจักรมวยไทยหัวก้าวหน้ามูลค่าพันล้าน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เป็นเวลากว่า 48 ปีที่ชื่อ “แฟร์เท็กซ์” กลายเป็นแบรนด์สินค้าคุ้นหูคนไทย...

แม้จะผ่านร้อน ผ่านหนาวมากกว่า 4 ทศวรรษ และเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ มาหลายต่อหลายครั้ง แต่แบรนด์แฟร์เท็กซ์ ก็ยังคงเติบโต และปรับตัวเข้ากับยุคสมัยได้อย่างไม่ตกเทรนด์

โดยเฉพาะมวยไทย ที่แทบเป็นภาพจำของ แฟร์เท็กซ์ ในฐานะผู้ผลิตอุปกรณ์มวยไทย ที่ถือครองส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุด 

ด้วยแนวคิดการทำธุรกิจที่แตกต่าง และกล้าออกจากกรอบความคิดเดิมๆ ไปสู่ตลาดใหม่ๆ ทำให้ อาณาจักรมวยไทยของ “แฟร์เท็กซ์” แผ่ขยายไปไกลกว่าแค่การทำสินค้า หรือค่ายมวยไทย ส่งชกในประเทศ 

ดังนั้นหากเปรียบธุรกิจเป็นดั่งมวย “แฟร์เท็กซ์” ก็คงเป็นนักชกประเภทจัดจ้าน แพรวพราว และมีรูปแบบการชกที่หลากหลาย จับทางได้ยาก แถมยังต่อยแม่นยำเข้าเป้าเสมอ จนกวาดเข็มขัดระดับแชมป์โลกมาครองได้อย่างสวยสดงดงาม

Round 1 : FAIRPLAY AND TEXTILE 

“หลายคนอาจรู้จัก แฟร์เท็กซ์ จากมวยไทย แต่ความจริงธุรกิจหลักของเราคือ การทำเสื้อผ้าส่งออก และผลิตเสื้อยืดแบรนด์ไทยเป็นเจ้าแรก ที่ได้ไปขายในห้างดังยุคนั้นอย่าง ไทยไดมารู คนในสมัยนั้น น่าจะเคยเห็นโฆษณาเสื้อยืดแฟร์เท็กซ์อยู่” 

“ส่วน มวยไทย เป็นเพียงแค่งานอดิเรกของคุณบรรจง (บุษราคัมวงษ์) ผู้ก่อตั้ง ซึ่งท่านมีความชื่นชอบมวยไทย และอยากนำเอาศิลปะการต่อสู้มวยไทย ไปแนะนำให้ชาวต่างชาติรู้จัก”

“จากงานอดิเรกของบริษัท ก็เริ่มค่อยๆขยายใหญ่ขึ้น มีการเปิดค่ายมวยไทย แถวสวนพูล รวมถึงเรายังเป็นบริษัทไทยเจ้าแรกที่ไปเปิดค่ายมวยในสหรัฐอเมริกา ที่รัฐแอริโซนา แต่ตอนนั้น แฟร์เท็กซ์ ก็ยังไม่ได้ทำมวยจริงจังนะ”

ชาโณ เหนือเมฆิน ซีอีโอแฟร์เท็กซ์ ย้อนความหลังถึง จุดเริ่มต้นของแบรนด์ เมื่อปี พ.ศ.2513 ที่ไม่ได้เริ่มจับธุรกิจมวยไทยตั้งแต่แรก แต่มวยไทยเป็นความชอบที่อยู่ภายในจิตใจของ บรรจง บุษราคัมวงษ์ ประธานบริษัทฯ 

ถึงขนาดที่ชื่อของ แฟร์เท็กซ์  ยังมีส่วนผสมของนิยามมวยไทยอยู่ในนั้น ด้วยการนำเอาคำว่า Fair Play ที่แปลว่าการเล่นอย่างขาวสะอาด มาผสมกับคำว่า Textile ที่แปลว่า สิ่งทอ รวมกันเป็น Fairtex โดยที่ขอบโลโกสองข้าง เป็นสีแดง-น้ำเงิน อันหมายถึง มุมแดง และน้ำเงิน ในเวทีมวย

หลังจากทำธุรกิจเสื้อผ้า ควบคู่งานอดิเรกในการทำค่ายมวย และโปรโมเตอร์ มาได้ประมาณ 30 ปี “แฟร์เท็กซ์” ได้ตัดสินใจหันหลังให้กับธุรกิจหลัก และมุ่งหน้าสู่การทำธุรกิจเกี่ยวกับมวยไทย อย่างเต็มตัว

“แต่เดิมธุรกิจเสื้อผ้าที่ส่งออกไปยังต่างประเทศได้ ต้องมีโควตาส่งออก แต่ภายหลังการเปิดการค้าเสรี ก็ทำให้โควตาดังกล่าวถูกยกเลิกไป และมีคู่แข่งจากชาติอื่นๆ เข้ามาแข่งขันในตลาดเสื้อผ้า เช่น เวียดนาม จีน บังกลาเทศ ซึ่งชาติเหล่านี้สามารถผลิตได้ในต้นทุนที่ต่ำกว่า และเป็นฐานการผลิตสำคัญในปัจจุบัน”

“ประกอบกับเรารู้สึกว่า เทรนด์ของธุรกิจประเภทนี้ เริ่มเปลี่ยนไป เราจึงเลิกทำธุรกิจหลัก แล้วเปลี่ยนมาทำงานอดิเรกให้กลายเป็นธุรกิจหลัก นั่นเป็นจุดกำเนิดของการขยายธุรกิจมวยไทย ด้วยการเปิดค่ายมวยใน ซาน ฟรานซิสโก และที่ประเทศญี่ปุ่น อีกประมาณ 10 สาขา”

“รวมถึงขยับไปทำธุรกิจอื่นๆ ควบคู่ไปด้วยเช่น อสังหาริมทรัพย์, ภัตตาคาร, สถานบันเทิง ส่วนค่ายมวยเรา อาจหัวก้าวหน้ากว่าคนอื่น เพราะเป็นค่ายแรกๆที่นำเอาศิลปะการต่อสู้อื่นๆ เช่น บราซิเลียนยิวยิตสู, MMA เข้ามาฝึกสอนในไทย” 

“แม้ตอนนั้นแทบยังไม่มีใครเห็นสัญญาณเลยว่า มวยไทย จะได้รับความนิยมในวงกว้างอย่างที่ทุกวันนี้ แต่เราก็ทำมวยไทย ด้วยแพสชั่นที่ต้องการเห็น มวยไทย ได้รับความนิยมมากกว่าที่เป็นอยู่ในตอนนั้น” ชาโณ เหนือเมฆิน กล่าว

Round 2 : คิดนอกกรอบ 

แฟร์เท็กซ์ เป็นตัวอย่างของแบรนด์หนึ่งที่ไม่เคยจำกัดตัวเองอยู่แค่ในกรอบเดิมๆ เมื่อประมาณ 20 ปีก่อน พวกเขาเปิดโรงงานทำอุปกรณ์สำหรับมวยไทยเป็นของตัวเอง 

เนื่องจากมองว่าในอุตสาหกรรมมวยไทย ยังไม่มีสินค้าในท้องตลาดแบรนด์ใด ที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการของแฟร์เท็กซ์  แม้จะมีความเสี่ยงขาดทุนมากพอสมควร เพราะนี่ไม่ใช่ธุรกิจที่พวกเขาชำนาญนัก 

“ในตอนแรกที่เปิดค่ายมวย เราก็สั่งซื้ออุปกรณ์จากแบรนด์อื่นมาใช้ เหมือนกับค่ายทั่วไป เพียงแต่เรารู้สึกไม่ค่อยพอใจกับคุณภาพสินค้า และการบริการสักเท่าไหร่ ซึ่งตอนนั้นมีทางเลือกอยู่เพียงไม่ยี่ห้อในท้องตลาด เราจึงคิดหาวิธีผลิตอุปกรณ์ เพื่อใช้เองในค่ายก่อน”

“ตอนนั้นเราไม่ค่อยสนใจ เรื่องความเสี่ยงมากเท่าไหร่ แค่พยายามทำสินค้าออกให้ดีที่สุด เรามองว่าเวลาผลิตอะไรสักชิ้น เราต้องรักและชอบมันก่อน ถ้าสิ่งที่เราผลิต เรายังไม่คิดจะใช้งานเลย เราคงไม่มีความสุขที่เอาไปขายลูกค้าใช่ไหม?”

อย่างไรก็ดี ในรายละเอียดและพื้นฐานของธุรกิจเดิมที่ผลิตเสื้อผ้ากับธุรกิจใหม่ในการทำอุปกรณ์มวยไทยนั้น มีความแตกต่างกันมากพอสมควร 

เพราะเสื้อผ้าเป็นการทำงานร่วมกับวัสดุประเภทผ้า ส่วนอุปกรณ์มวยไทยเป็นธุรกิจที่ทำงานร่วมกับ วัสดุประเภทหนัง องค์ความรู้ในตอนทำแบรนด์เสื้อผ้า จึงไม่สามารถนำมาใช้การผลิตอุปกรณ์ชกมวยได้สักเท่าไหร่ และแฟร์เท็กซ์ ก็เริ่มต้นธุรกิจใหม่ด้วยความยากลำบากไม่น้อย 

“ช่วงแรกที่ตั้งโรงงานก็มีอุปสรรคมากพอสมควร เพราะหนังกับผ้า ใช้ทักษะคนละแบบ แต่เราอาศัยความชำนาญ ในการบริหารธุรกิจเดิม มาปรับใช้กับโรงงานผลิตอุปกรณ์ ที่คนงานส่วนมากมาจากอุตสาหกรรมรองเท้า แต่ไม่มีใครเคยทำนวมชกมวยมาก่อน”

“ในช่วงนั้นเราจึงเจอปัญหาเหมือนกับหลายๆแบรนด์ที่ยังไม่ติดตลาด บางวันไม่มีงานเข้ามาเลย ต้องไปงานขอเขาก็มี แต่เราอดทน จนผ่านปัญหาเหล่านั้นมาได้ และบริษัทก็มีตัวเลขกำไรบวกทุกปี” ซีอีโอแฟร์เท็กซ์ เผย

แนวคิดในด้านการบริหาร และการทำธุรกิจที่ฉีกแนวออกจากกรอบความคิดเดิมๆ ที่มองว่า อุปกรณ์มวยไทย กฺ็คือ อุปกรณ์สำหรับชกมวย ไม่สามารถเท่หรือดูสากลได้ คือ กุญแจสำคัญที่ทำให้ แบรนด์แฟร์เท็กซ์ เติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็ว 

ประกอบกับในช่วงเวลานั้น กระแสมวยไทย เริ่มได้รับความสนใจจากคนทั่วไป จากธุรกิจสื่อบันเทิง ที่มีการนำเสนอภาพลักษณ์มวยไทย ตลอดอุตสาหกรรมออกกำลังกายที่เริ่มปรับตัว และเปิดรับเอามวยไทยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง ทำให้ความต้องการอุปกรณ์เกี่ยวกับมวยไทยคุณภาพดี สูงขึ้นตามไปด้วย

“กระแสมวยไทยในต่างประเทศ ก็ได้รับความนิยมมาเรื่อยๆ ส่วนในประเทศ นอกจากสนามมวยที่คนส่วนใหญ่เข้าไปเพื่อเล่นพนัน ก็ยังไม่มีสภาพแวดล้อมอื่นๆ ที่เอื้อหนุนให้คนหันมาสนใจในวงกว้าง อย่างเช่น สถานที่เรียน ที่ยังไม่มีค่ายมวยทันสมัยเหมือนยุคนี้ หรือการสนับสนุนจากองค์กรขนาดใหญ่ระดับประเทศ”

“จุดเปลี่ยนน่าจะมาจากภาพยนตร์เรื่อง องค์บาก ที่มีการนำเอาศิลปะแม่ไม้มวยไทยมาใช้ ซึ่งหนังเรื่องนี้ถูกนำไปฉายทั่วโลก มีการจัดมวยไทยที่เป็นสปอร์ต เอนเตอร์เทนเมนต์อย่าง ไทยไฟต์ ทำให้ผู้คนเข้าถึงกีฬามวยไทยมากขึ้น และค่ายมวย ฟิตเนสต่างๆ เริ่มปรับตัวนำเอามวยไทยมาใช้ เพื่อการออกกำลังกายมากขึ้น”

“พอคนหันมาออกำลังกายมากขึ้น ความต้องการอุปกรณ์ก็เพิ่มขึ้นตามเช่นกัน พอตลาดมันเอื้อ ธุรกิจของเราก็เติบโตขึ้น คอนโด, เวิร์กกิงสเปซ, โรงแรม, ฟิตเนสต่างๆ เริ่มซื้ออุปกรณ์มวยไปติดตั้งให้คนได้มาออกกำล้งกาย”

“ดังนั้นจากโรงงานที่มีคนงาน 7 คน เราก็ต้องขยายกำลังการผลิตเป็นโรงงานขนาด 400 คน เพื่อส่งออกสินค้า ปัจจุบันเราส่งออกสินค้าไปได้ 43 ประเทศทั่วโลก และมีร้านอยู่ในห้างสรรพสินค้า 7 สาขา ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นได้ เพราะเรามีแนวคิดในการบุกตลาดที่แตกต่างกับแบรนด์ไทยเจ้าอื่นๆ”

Round 3 :  คุณภาพและการบริการคือหัวใจ 

นอกเหนือจากการตลาด ที่ทำงานอย่างหนัก ทั้งทีมขายในประเทศ รวมถึงทีมเซลส์ต่างประเทศ ที่พร้อมเดินทางบินไปเจรจาทั่วโลก 

อีกสิ่งหนึ่งที่ แฟร์เท็กซ์ ให้ความสำคัญอย่างมากที่สุดคือ คุณภาพของสินค้า ที่เน้นย้ำเสมอว่า ไม่มีการผลิตเกรดอื่น นอกไปจากเกรดที่ดีสุดเท่านั้น โดยเน้นงานคราฟท์ฝีมือแรงงานไทย มากกว่าพึ่งพาเครื่องจักร 

“พนักงานคือทรัพย์สมบัติที่มีค่ามากสุดของโรงงาน เพราะความยากของการผลิตอุปกรณ์มวย คือ งานพวกนี้ ต้องใช้ฝีมือคนเป็นหลัก ไม่สามารถใช้เครื่องจักร ได้แบบที่หลายคิดว่า ส่งปั๊มนวม 20 คู่ ออกมาเป็นนวม 20 คู่” 

“ดังนั้นพอเป็นฝีมือแรงงาน กว่าจะสอนให้พนักงานคนหนึ่งทำได้ดี ต้องใช้เวลา 1-2 ปี ผมยกตัวอย่าง การจีบนวม มันมีเครื่องจักรตัวหนึ่งที่ทำงานแบบนี้ได้ ไม่มีจำหน่ายในไทย ราคาที่ไปดูมา 1 ล้านบาท มีปุ่มกดทั้งหมด 15 ปุ่ม” 

“แต่เชื่อไหมว่าไม่มีปุ่มไหนที่สามารถทำได้เหมือนมนุษย์ ทำได้แค่งานหยาบ ดังนั้นนวมแต่ละอัน ต่อให้เป็นสี ไซส์ แบบเดียวกัน แต่ในรายละเอียดมันไม่มีทางเหมือนกัน ซึ่งมูลค่าเกิดจากตรงนี้ อีกอย่างคือ เราค่อนข้างใส่ใจกับการควบคุมคุณภาพสินค้ามาก”  


ชาโณ ขยายความต่อว่า ในโรงงานของเขาจะมีแผนกที่ควบคุมสินค้า (QC) ถึง 3 ฝ่าย เพื่อตรวจเช็คการผลิตในทุกกระบวนการ  ตั้งแต่รับวัสดุ ไปจนถึงเช็คสินค้าก่อนใส่แพ็ค ด้วยการใช้จริง เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีความสูญเสียเกิดขึ้นกับสินค้า เมื่อถึงมือลูกค้า

“เรามีเปอร์เซนต์สูญเสียของสินค้า แทบจะ 0 เปอร์เซนต์ สมมุติ ลูกค้าสั่งซื้อ 100 กล่อง มากกว่า 1,000 ชิ้น ไม่มีชิ้นไหนเสียหายเลย เพราะถ้าสินค้าเราไม่ได้คุณภาพ  ลูกค้าก็จะส่งของกลับและขอเงินคืน ซึ่งนั้นเป็นต้นทุนของเรา และทำให้ลูกค้ารู้สึกไม่ดีด้วย กลับกันหากเราส่งสินค้า 100 กล่อง ไม่มีเสียหายเลย ลูกค้าก็ย่อมแฮปปี้กับสินค้าเรา”


“นอกจากนี้ยังมีหน่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ (R&D) ที่มีหน้าที่คิดสินค้าใหม่เพียงอย่าง ทำให้เราเป็นแบรนด์ที่มีสินค้าใหม่ออกทุกๆ 3 เดือน ส่วนมากสินค้าเราจะเป็น Original Idea ที่เราคิดขึ้นมาเอง และไม่เคยมีขายมาก่อนในตลาด ตอนนี้เรามีผลิตภัณฑ์ลากยาวไปถึงปลายปีแล้ว แต่กำลังค่อยๆทยอยออก”

“แม้แต่เรื่องเสียง และสัมผัสเราก็ให้ความสำคัญ ผมยกตัวอย่างสินค้าขายดีของเรา เป้าเตะแบบโค้งที่เก็บขอบ เราทำมาเพื่อให้รู้สึกว่ามันมีน้ำหนักเบา เวลาผู้หญิงเตะแล้วไม่รู้สึกเจ็บ สัมผัสได้ถึงความนุ่ม เพราะผู้หญิงเขาไม่ได้ฝึกไปเป็นนักมวย” 


“หรืออย่างเป้าต่อยที่เราเปลี่ยนหนัง เพื่อให้เกิดเสียงที่ดังขึ้น สำหรับคนที่หัดชกมวย ถ้าเขาได้ยินเสียงที่มันดังเวลาต่อย เขาก็รู้สึกดี อยากต่อยอีกเรื่อยๆ อย่างนี้เป็นต้น” 

“ทำให้สินค้าหลายตัวของเราได้รับรางวัลนวัตกรรม ไปจนถึงขั้นจดสิทธิบัตร ซึ่งนี่เป็นจุดแข็งแบรนด์เรา และยากที่ใครจะก็อปปี้ได้” ผู้บริหารแฟร์เท็กซ์ กล่าว 

Round 4 : เน้นย้ำตัวตน

มากกว่า 500 ล้านบาทต่อปี เป็นตัวเลขผลประกอบการที่ แฟร์เท็กซ์ ได้รับกลับมา ซึ่งปัจจัยที่ช่วยให้แบรนด์ แฟร์เท็กซ์ แข็งแรง มาจากการบริหารตราสินค้าที่พวกเขาให้น้ำหนักอย่างมาก

“เราเป็นบริษัทที่เน้นย้ำการบริการแบรนดิ้ง กิจกรรมทุกอย่างของเรา มุ่งหน้าไปทางเดียวคือ การบริหารตราสินค้า ตั้งแต่ตัวผลิตภัณฑ์, การบริการ, ภาพลักษณ์, ซองจดหมาย, นามบัตร, บู้ทจัดจำหน่าย, รถส่งสินค้า ทุกอย่างถูกดีไซน์มาหมด”

“ทำให้ผู้คนเคลียร์กับแบรนด์แฟร์เท็กซ์ว่า เราคือใคร? แม้ปัจจุบันเราจะขายสินค้าอย่างอื่นด้วย ที่ไม่ใช่แค่มวยไทย เช่น อุปกรณ์สำหรับ MMA แต่ถ้าให้ใครสักคนหนึ่งตอบว่า นึกถึง แฟร์เท็กซ์ นึกถึงอะไร ผมเชื่อว่าเขามีคำตอบเดียวคือ มวยไทย”

“นั่นคือภาพลักษณ์ที่เกิดขึ้นกับตราสินค้าเรา ที่เราสื่อสารซ้ำแล้วซ้ำเล่า ควบคู่กับการทำสินค้าที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง การทำตลาด การบริการลูกค้าที่ดี ก็ทำให้เราได้รับยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ และมีโอกาสได้เข้าไปทำงานร่วมกับองค์กรขนาดใหญ่ระดับโลก”


แบรนด์ แฟร์เท็กซ์ ได้รับโอกาสและความวางไว้ให้เป็น ผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ ศึก ONE Championship ที่มีคนติดตามทั่วเอเชีย และการแข่งขัน คิก บ็อกซิง ระดับโลก ที่ทางยุโรปให้ความนิยมมากอย่าง GLORY แม้แต่รายการชื่อดังอย่าง UFC ทาง แฟร์เท็กซ์ ก็เคยมีโอกาสเข้าไปผลิตอุปกรณ์มาแล้ว 

ผลที่ตามมาจากการเข้าไปสนับสนุนอุปกรณ์ในรายการเหล่านี้ ทำให้ แบรนด์ แฟร์เท็กซ์ กลายเป็นที่รู้จักและได้เห็นผ่านตาผู้ชมทั่วโลก ส่งผลต่อยอดทางธุรกิจที่รายได้หลักของบริษัท มาจากการกลุ่มลูกค้าต่างประเทศเกือบ 80 เปอร์เซนต์ ซึ่งรับรู้แบรนด์ผ่านการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ 


“เราเป็นแบรนด์อุปกรณ์มวยไทย ที่เกิดขึ้นหลังคู่แข่งถึง 30 ปี ถือว่านานมากเลยนะ แต่ด้วยวิธีการตลาดแบบใหม่ แนวคิดใหม่ เราจึงสามารถกินส่วนแบ่งจากคู่แข่งมาได้เรื่อยๆ จนถึงตอนนี้ภาพมันชัดเจนว่า แฟร์เทกซ์ ไม่ได้แข่งกับแบรนด์ในประเทศแล้ว แต่เรากำลังอยู่ในระหว่างการแข่งขันอย่างเข้มข้นกับแบรนด์ต่างประเทศระดับโลกมากกว่า” 

“จากสมัยก่อนที่ผมไปภูเก็ต ไม่มีที่ไหนติดอุปกรณ์ของแฟร์เทกซ์ แต่ทุกวันนี้ผมเชื่อว่าแทบทุกค่ายในภูเก็ต ใช้กระสอบของเรา รวมถึงค่ายมวยชั้นนำก็ใช้ของเราเกือบหมด”

“ไม่ว่าจะแบรนด์อะไรก็ตามในโลก คุณสามารถขายได้หมด ตราบใดที่มีคุณมีตัวตนที่ชัดเจน  ในวันนี้ ต่อให้ผมผลิตรองเท้าวิ่งที่ดีสุดในโลก ผมเชื่อว่ายังไงยอดขายก็แพ้ ไนกี้ อยู่ดี เพราะนั่นไม่ใช่ภาพลักษณ์ของแฟร์เท็กซ์ หากเปลี่ยนมาเป็นมวยไทยล่ะ? ที่เราอยู่กับตรงนี้มา 40 กว่าปี” 

Round 5 : แบรนด์มวยไทยในชีวิตประจำวัน

ไม่ต้องสงสัยเลยวาความสำเร็จของ แบรนด์แฟร์เท็กซ์ เกิดขึ้นจากความกล้าที่จะพาตัวเอง ออกไปสู่ตลาดใหม่ๆ และไม่ปิดกั้นตัวเองจากโอกาสทั้งหลายที่เข้ามา 


อย่างการนำสินค้ามวยไทยเข้าไปวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำของประเทศไทย ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางในหลายๆช่องทางจำหน่าย ที่แสดงให้เห็นความพยายามที่ แฟร์เท็กซ์ ต้องการสื่อสารลูกค้ากลุ่มใหม่ๆเสมอ 

“เหตุผลที่เราเซ็ตช่องทางใหม่ๆอยู่ตลอด เพราะเราต้องการให้สินค้าเราเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันผู้คน ซึ่งการที่จะเอาสินค้าอย่างนวมชกมวยเข้าไปอยู่ในห้างสรรพสินค้าเป็นเรื่องที่ยากมาก ต่อให้เจ้าของพื้นที่จะชอบมวยไทย แต่พื้นที่ตรงนั้น มีสินค้าบริการอีกมากที่พร้อมต่อคิวยาวเหยียด เราเข้าไปพรีเซนต์หลายครั้งมาก จนสุดท้ายจึงเลือกเซ็ตร้านให้ดูเป็นต้นแบบ จึงมีร้านของเรา อยู่ในเมกะบางนา ติดกับ Apple Store และตรงข้ามกับ Converse ส่วนห้างเอ็มควอเทียร์ เราอยู่โซนเดียวกับ Onitsuka Tiger, Reebox, Puma ที่เซ็นทรัลเวิลด์ เราอยู่ใกล้ๆกับ Fitness First, Adidas Shop เพราะเราต้องการให้คนที่เดินผ่านไปมา รู้สึกว่ามวยไทยเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวคุณ”


ในทศวรรษที่ 5 ของแบรนด์แฟร์เท็กซ์ ยังมุ่งมั่นที่ จะนำพาสินค้าของพวกเขา เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าคนๆนั้นจะดูมวยไทยหรือไม่ก็ตาม โดยใช้ มวยไทย เป็นคีย์หลักในการสื่อสาร 

“เป้าหมายของพวกเราต่อจากนี้ คือการพัฒนาแฟร์เท็กซ์ จากแบรนด์ศิลปะการต่อสู้ สู่การเป็นไลฟ์สไตล์แบรนด์ เพราะเราไม่ได้จำกัดความตัวเองว่าเป็น แบรนด์มวยไทยอย่างเดียว เราค่อนข้างเปิดรับ แต่เราไม่ลืมว่าเรามีรากมาจากมวยไทย และเราจะใช้ความแข็งแกร่งตรงนั้น ไปต่อสู้ในตลาดที่ใหญ่กว่า”

“ที่ผ่านมาผมเจอผู้คนมากมายที่ซื้อสินค้าเรา โดยที่เขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับมวยไทยเลย แต่เขาซื้อเพราะมองว่าเราเป็น แบรนด์ที่เจ๋ง เป็นไลฟ์สไตล์แบรนด์” 

“ และในอนาคตมันจะยิ่งใกล้ตัวคุณมากกว่านี้อีก เราอาจเปิดช้อปขายสินค้าที่ไม่มีอุปกรณ์มวยสักชิ้นเลยก็ได้ เพราะเราไม่เคยปิดกั้นโอกาส แต่มองหาความเป็นไปได้ในการทำธุรกิจเสมอ” ชาโณ เหนือเมฆิน ทิ้งท้าย 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook