เหตุผลผู้ดีที่ขัดเสรีภาพ : ไขข้อข้องใจทำไมต้องใส่ชุดขาวลงแข่งวิมเบิลดัน?

เหตุผลผู้ดีที่ขัดเสรีภาพ : ไขข้อข้องใจทำไมต้องใส่ชุดขาวลงแข่งวิมเบิลดัน?

เหตุผลผู้ดีที่ขัดเสรีภาพ : ไขข้อข้องใจทำไมต้องใส่ชุดขาวลงแข่งวิมเบิลดัน?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อปฏิทินถูกเปิดมาจนถึงเดือนกรกฎาคม นอกจากจะเป็นสัญญาณของการเริ่มต้นครึ่งปีหลังแล้ว สำหรับวงการกีฬาเทนนิส นี่คือสิ่งที่ส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่า วิมเบิลดัน แกรนด์สแลมรายการที่ 3 ของปี อีกทั้งเป็นแกรนด์สแลมรายการที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในโลกได้เวียนมาถึงวาระแข่งขันอีกครั้งแล้ว

และด้วยความที่เป็นรายการที่เก่าแก่ที่สุดในโลกนี้เอง ธรรมเนียมปฏิบัติหลายอย่างของวิมเบิลดันจึงไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน ไม่ว่าจะเป็นศึกแกรนด์สแลมเดียวที่แข่งบนคอร์ตหญ้า, การเรียกชื่อเพศ ที่จะไม่เรียกแค่ "Men" กับ "Women" หรือ "ชาย" กับ "หญิง" แต่จะเรียกว่า "Gentlemen" กับ "Ladies" หรือ "สุภาพบุรุษ" กับ "สุภาพสตรี" หรือจะเป็นสตรอว์เบอร์รี่ราดครีม ของหวานแสนอร่อยที่กลายเป็นไอเทมห้ามพลาดสำหรับแฟนๆ

ถึงกระนั้น สิ่งที่สะดุดตาแฟนกีฬาและคนทั่วไปมากที่สุดคงหนีไม่พ้นเครื่องแต่งกาย เพราะแม้กาลเวลาจะผ่านไปนานสักเพียงใด แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงก็คือ ชุดของผู้เข้าแข่งขัน เพราะสีเดียวที่วิมเบิลดันอนุญาตให้ผู้เข้าแข่งขันใส่คือ "สีขาว" เท่านั้น

กฎบังคับ แต่เกิดขึ้นเพราะ?

นับตั้งแต่การแข่งขันเทนนิส วิมเบิลดัน จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1877 ชุดแข่งสีขาวก็กลายเป็นสัญลักษณ์ที่อยู่คู่กับรายการนี้มาอย่างแยกไม่ออกจนถึงปัจจุบัน


Photo : www.sportskeeda.com

ถึงตรงนี้ แน่นอนว่าแฟนๆ ย่อมเกิดความสงสัยว่า เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ซึ่งหากตอบแบบกำปั้นทุบดินที่สุดก็คงจะกล่าวได้ว่า "เพราะมันถูกเขียนไว้ในกฎระเบียบของการแข่งขัน" น่ะสิ

ถึงตรงนี้คุณๆ อาจมองค้อน แต่สิ่งที่เรากำลังจะกล่าวถึงต่อไปนี้น่าจะช่วยให้เข้าใจมากขึ้น เพราะการบังคับเรื่องสีชุดนี้ก็มีเหตุผลของมันอยู่ด้วยเช่นกัน

เรื่องดังกล่าวต้องย้อนกลับไปถึงช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งเทนนิสมีสถานะเป็นกีฬาสังคม ผู้คนโดยเฉพาะแวดวงไฮโซและเชื้อพระวงศ์ของอังกฤษใช้กีฬานี้ในการพบปะพูดคุยในเรื่องต่างๆ ตามสถานที่สาธารณะ และแน่นอน ภาพลักษณ์ คือสิ่งที่พวกเขาระมัดระวังอย่างยิ่ง

ทว่าการเล่นกีฬาแทบทุกชนิดนั้นต้องใช้กำลังอันนำมาซึ่งเหงื่อ และเมื่อสะสมมากเข้าก็จะทิ้งคราบหรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ "ขี้เกลือ" ไว้บนชุดที่สวมใส่ และนั่นคือสิ่งที่ผู้คนไม่ปรารถนา ด้วยเหตุนี้ ผู้คนในสมัยนั้นจึงต้องเลือกสีชุดที่จะช่วยซ่อนคราบเหงื่อได้ดีที่สุดในการใส่เล่นกีฬาเข้าสังคม นั่นคือ สีขาว โดย วาเลรี วอร์เรน ได้อธิบายเพิ่มเติมไว้ในหนังสือ Tennis Fashions: Over 125 Years of Costume Change ว่า


Photo : www.sportskeeda.com

"หนึ่งในปัญหาที่ต้องได้รับการจัดการตั้งแต่ยุคแรกๆ ของการเล่นกีฬาเข้าสังคมนั้นคือ เหงื่อ เพราะทักษะของผู้เล่นยิ่งมาก การเคลื่อนไหวในสนามก็ยิ่งมากจนทำให้เหงื่อออกมากขึ้น เรื่องดังกล่าวนำมาซึ่งปัญหา เพราะเหงื่อได้ทิ้งคราบไว้บนเสื้อผ้า ยิ่งเป็นผ้าสีก็ยิ่งเห็นคราบชัดจนไม่น่าดู ทำให้ในสมัยนั้น คนที่เล่นกีฬาต้องใส่ชุดสีขาวเพื่อซ่อนมันไว้นั่นเอง"

นอกจากนี้ วอร์เรนยังได้เปิดเผยด้วยว่า อันที่จริงกฎเรื่องการใส่ชุดสีขาวนั้นถูกเริ่มบังคับใช้กับผู้หญิงก่อน และเหตุผลก็มาจากค่านิยมด้วยเช่นกันที่ว่า "ผู้หญิงไม่ควรมีคราบเหงื่อให้เห็นบนเสื้อผ้า" นั่นเอง

เวลาเปลี่ยน กฎยิ่งเข้ม

จากค่านิยมตั้งแต่สมัยอดีตกาล ที่สุดแล้ว ฝ่ายจัดการแข่งขันก็ได้ระบุเรื่องสีชุดเป็นส่วนหนึ่งของกติกาตั้งแต่ปี 1963 


Photo : @Wimbledon

แม้รายการอื่นๆ อย่าง ยูเอส โอเพ่น ซึ่งเคยออกกฎในลักษณะเดียวกันจะยกเลิกเรื่องการบังคับใส่ชุดขาวไปตั้งแต่ปี 1972 แต่สำหรับวิมเบิลดัน กลายเป็นว่ายิ่งเวลาผ่านไป กฎระเบียบในเรื่องดังกล่าวก็ยิ่งเข้มงวดและรัดกุมขึ้นเรื่อยๆ

โดยกฎระเบียบเรื่องสีชุดแข่งในศึกวิมเบิลดันที่อัพเดทล่าสุดปี 2014 ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า นักกีฬาจะต้องใส่ชุดสีขาวทุกชิ้นตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า แม้แต่ชุดวอร์มหรือใส่ซ้อมก็ไม่เว้น โดยจะต้องใส่ตลอดเวลาที่เข้าสู่พื้นที่สนาม ไม่ว่าจะเป็นในช่วงการซ้อมหรือแข่งขันก็ตาม

ไม่เพียงเท่านั้น กฎยังระบุถึงสีขาวด้วยว่า จะต้องเป็นสีขาวเท่านั้น ไม่สามารถใช้สีครีมได้ โดยอนุญาตให้มีขลิบสีอื่นเพียงบริเวณรอบคอหรือรอบแขนเสื้อเท่านั้น และจะต้องมีขนาดเพียง 1 เซนติเมตร

Photo : www.sportskeeda.com

แน่นอนว่าการที่กฎระเบียบมีความเข้มงวดถึงขนาดนี้ ก็มาจากการที่นักกีฬารวมถึงแบรนด์ผลิตชุดกีฬาพยายาม "เล่นกับกฎ" มาโดยตลอดในอดีต อย่างเหตุการณ์เมื่อปี 2013 ที่ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ใส่รองเท้าที่มีพื้นสีส้มลงแข่ง ก่อนจะถูกสั่งห้ามใส่ทันทีหลังจากสวมแข่งได้เพียงแมตช์เดียว และแน่นอนว่า นักกีฬาเองก็ไม่ใคร่จะชอบใจนัก หลายคนออกมาบ่นอย่างเปิดเผย อย่างเช่น มาร์ตินา นาฟราติโลวา ตำนานวงการเทนนิสหญิงที่บ่นว่าเรื่องดังกล่าว "มันเกินไป" หลังจากที่เธอโดนกรรมการตักเตือนว่าลายคาดกระโปรงสีน้ำเงินที่เธอใส่แข่งขันนั้นผิดกฎ ขณะที่บางคนตัดสินใจบอยคอตต์ อย่างเช่นกรณีของ อังเดร อากัสซี่ ที่ไม่ยอมแข่งรายการวิมเบิลดันระหว่างปี 1988-90 เพราะกฎของรายการทำให้เขาไม่สามารถใส่ชุดสีสดๆ ตามภาพลักษณ์ที่ตนสร้างในสมัยนั้นได้

แม้นักเทนนิสจะบ่น และแบรนด์กีฬาพยายามเสาะหาช่องว่างของกฎนี้มาเพิ่มสีสันให้กับชุดแข่ง แต่ฟากฝั่งของผู้ผลิตเองกลับยืนยันว่า คอลเลคชั่นวิมเบิลดันซึ่งมีแต่ชุดสีขาว คือสินค้าที่ขายดีเอามากๆ เมื่อฤดูร้อนมาถึง


Photo : www.japantimes.co.jp

"ด้วยความที่เป็นสีกลางๆ สีขาวจึงกลายเป็นสีประจำตู้เสื้อผ้ามาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูร้อน เมื่อนักกีฬาสวมใส่ชุดคอลเลคชั่นวิมเบิลดันลงสนาม มันก็ได้สร้างความสนใจและทำให้สินค้าของเราขายดีเสมอ" นี่คือคำยืนยันจากปากของ ลอเรน มัลลอน ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดเทนนิสของ ฟิล่า ที่ให้การสนับสนุน แอชลีย์ บาร์ตี นักเทนนิสหญิงมือ 1 ของโลกคน เจ้าของแชมป์หญิงเดี่ยว เฟรนช์ โอเพ่น 2019

แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเสรีภาพอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แต่คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า จากจุดเริ่มต้นเรื่องของภาพลักษณ์ ทำให้กฎเรื่องการใส่ชุดสีขาวคือเอกลักษณ์ของเทนนิส วิมเบิลดัน ที่แฟนๆ ต่างจดจำได้อย่างขึ้นใจยิ่งกว่ารายการไหนๆ มาจนถึงทุกวันนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook