พจนานุกรมกีฬา “แบดมินตัน” ที่คุณควรรู้

พจนานุกรมกีฬา “แบดมินตัน” ที่คุณควรรู้

พจนานุกรมกีฬา “แบดมินตัน” ที่คุณควรรู้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แบดมินตัน ถือเป็นอีกชนิดกีฬาที่คนไทยให้ความนิยมทั้งในการเล่น ที่ขอแค่มีไม้กับลูกขนไก่ก็สามารถเล่นได้ รวมถึงการดู เพราะการเล่นนั้นรวดเร็วเร้าใจ อีกทั้งยังมีนักกีฬาชาวไทยที่มีฝีมือระดับโลก สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติมาอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน

แต่บางคำที่ได้ยินทั้งในการเล่นและในการถ่ายทอดสดก็อาจทำให้คุณสงสัย ขณะเดียวกัน บางคำศัพท์ที่คุ้นเคยกันดีอาจจะงงอยู่บ้างว่ามีที่มาจากอะไร? นี่คือพจนานุกรมกีฬาแบดมินตันที่จะช่วยให้คุณเข้าใจ เล่น และดูกีฬานี้ได้สนุกยิ่งขึ้น

Shuttlecock


Photo : www.abc.net.au

เริ่มมาด้วยคำแรก คงเป็นคำที่ทุกคนคุ้นเคยกันดี เพราะ “Shuttlecock” นั้นก็คือ “ลูกขนไก่” ที่ใช้ในการเล่นแบดมินตันนั่นเอง แต่คุณๆ สงสัยกันบ้างหรือไม่ว่า เหตุใดถึงเรียกกันเช่นนี้?

คำตอบนั้นมาจากทั้งลักษณะลูกและการเล่นแบดมินตัน เพราะ “Shuttle” นั้นหมายถึงการเคลื่อนที่ไปมาๆ ของลูกที่ถูกตีโต้มาจากผู้เล่นฝ่ายหนึ่งถึงอีกฝ่าย ส่วน “Cock” สื่อถึงขนที่นำมาใช้ทำลูกที่มีลักษณะใกล้เคียงกับขนของไก่ (แม้ความจริงจะใช้ขนเป็ดหรือขนห่านในการทำก็ตาม)

ซึ่งในภาษาอังกฤษนั้น เราสามารถใช้คำว่า “Bird” หรือ “Birdie” ในการเรียกลูกขนไก่ได้เช่นกัน

Flex


Photo : สมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ

ศัพท์นี้มีความหมายเกี่ยวพันกับไม้แบดมินตันโดยเฉพาะ โดยหมายความว่า “ระดับความแข็ง หรือการโค้งงอของก้านไม้” ซึ่งจะมี 4 รูปแบบหลักๆ เรียงจากไม้อ่อนดัดได้ง่ายไปยังไม้แข็งดัดยากคือ Flex, Medium, Stiff, Extra Stiff 

โดยไม้อ่อนจะเหมาะกับผู้เล่นสายรับ ไม้ปานกลางสามารถเล่นได้ทั้งสายรุกและรับ ส่วนไม้แข็งจะเหมาะกับผู้เล่นสายรุก ยิ่งถ้าเป็นสายตบแล้วล่ะก็ Extra Stiff คือไม้ที่เหมาะกับคุณเป็นอย่างยิ่ง

Alley


Photo : สมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ

ในพจนานุกรม “Alley” นั้นแปลว่า “ตรอก”, “ซอย” หรือ “ทางเดินแคบๆ” แต่สำหรับกีฬาแบดมินตัน คำนี้หมายถึง “พื้นที่ว่างบริเวณด้านข้างและด้านหลังของคอร์ท” โดย “Side Alley” นั้นจะเป็นพื้นที่ที่ขยายให้สำหรับการเล่นประเภทคู่ ซึ่งหากลูกตกในพื้นที่นี้เวลาเล่นประเภทเดี่ยวจะถือว่าเป็นลูกออก ส่วน “Back Alley” คือพื้นที่ระหว่างเส้นหลังสุดและเส้นส่งลูกยาวของการเล่นประเภทคู่

Divorce Area


Photo : สมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ

“Divorce Area” หากจะแปลเป็นไทยให้เข้าใจง่ายก็คือ “จุดเกรงใจ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณกลางสนาม เพราะเป็นพื้นที่ซึ่งผู้เล่นประเภทคู่มักจะประสบปัญหาอยู่บ่อยครั้ง บางครั้งไม่เข้าใจว่าตรงนี้ใครควรจะเข้าไปรับลูก แต่ที่หนักกว่าคือ บางครั้งผู้เล่นทั้งคู่ก็เข้าพรวดในจังหวะเดียวกัน จนเป็นเหตุให้ตีโดนไม้ของอีกฝ่ายแทนที่จะเป็นลูกแบดเสียอย่างนั้น ซึ่งสาเหตุที่เรียกกันเช่นนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องที่ว่า พอเกิดจังหวะแบบนี้ทีไร ความสัมพันธ์ของคู่ตีมักจะร้าวฉานขึ้นทันใดทุกทีสิน่า

Side by Side


Photo : สมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ

หลายคนคงคุ้นเคยกับคำนี้จากซีรี่ส์ไทยที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬาแบดมินตันที่โด่งดังจนมีการซื้อลิขสิทธิ์ไปรีเมคในต่างประเทศ และแน่นอน ชื่อเรื่อง “Side by Side” นั้นเกี่ยวข้องกับกีฬานี้ โดยเฉพาะการเล่นประเภทคู่แบบเต็มๆ เพราะมันคือลักษณะหนึ่งของการยืนตำแหน่ง ที่ผู้เล่นทั้ง 2 คนจะยืนอยู่เคียงข้าง แยกฝั่งซ้ายขวา ส่วนอีกประเภทของการยืนตำแหน่งในประเภทคู่นั้นก็คือ “Front and Back” ที่ตำแหน่งการยืนจะเป็นการยืนคอร์ทหน้า-หลัง ซึ่งโดยมากจะยืนแถวๆ เส้นกลาง

Deception


Photo : www.bettingpro.com

หากเปิดพจนานุกรม คำว่า “Deception” จะหมายถึง “การหลอกลวง” ซึ่งศัพท์ทางแบดมินตันก็มีความหมายในทางเดียวกัน นั่นคือการล่อหลอกคู่ต่อสู้ว่าจะเล่นแบบหนึ่งด้วยสายตาและท่าทาง แต่เปลี่ยนกลับมาเล่นอีกแบบหนึ่งเพียงเสี้ยววินาทีถัดมา

ปีเตอร์ เกด ตำนานนักแบดมินตันชาวเดนมาร์ก คือคนที่ทั้งวงการยกย่องให้เป็นราชาของการเล่นสไตล์นี้ด้วยลูกล่อหลอกที่สุดแสนจะหลากหลาย ขณะที่ยอดนักตบลูกขนไก่ในปัจจุบันที่มีลีลาการล่อหลอกอันยอดเยี่ยมคงหนีไม่พ้น หลิน ตัน หนึ่งในเทพของวงการแบดมินตันชายนั่นเอง

Balk


Photo : สมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ

อันที่จริง คำนี้ดูจะเป็นหนึ่งในสับเซตของคำว่า Deception แต่ที่ต้องแยกออกมาก็เพราะ นี่คือการล่อหลอกที่จะเกิดขึ้นในสถานการณ์หนึ่งโดยเฉพาะ นั่นคือ จังหวะการเสิร์ฟ โดยสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในช่วงก่อนและระหว่างการเสิร์ฟแต่ละลูก นอกจากนี้ยังสามารถใช้คำว่า “Feint” ได้โดยที่ให้ความหมายไม่ต่างกัน

อย่างไรก็ตาม นี่คือลูกล่อหลอกที่ผู้ใช้จะต้องระวังสักเล็กน้อย เพราะหากผู้ตัดสินสังเกตเห็นจะถือว่าเป็นการฟาวล์ทันที จากกฎที่ระบุว่า ผู้เสิร์ฟสามารถตวัดไม้ออกไปทางด้านหน้าได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น

Service


Photo : สมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ

โดยทั่วไปทุกคนจะคุ้นเคยกับ “Service” ในความหมาย “การบริการ” แต่สำหรับวงการกีฬาอย่างแบดมินตันนั้น คำนี้ก็หมายถึง “การเสิร์ฟลูก” เหมือนกับคำว่า “Serve” นั่นเอง ซึ่งในการแข่งขันระดับนานาชาติ เราจะได้ยินทั้งคำว่า Serve และ Service ทั้งคู่สลับกันไป

Cross court


Photo : Badminton Photo

“Cross Court” คือรูปแบบการตีลักษณะที่ฝ่ายตีจะตีแทยงจากฟากคอร์ทหนึ่งไปยังอีกฟากหนึ่ง ซึ่งจะเป็นการบีบให้ฝ่ายรับต้องออกแรงวิ่งไปโต้บอลจนอาจทำให้ตีเสียเองในจังหวะต่อมา เมย์ - รัชนก อินทนนท์ นักตบลูกขนไก่สาวมือ 1 ของไทยและอดีตมือ 1 ของโลก คือหนึ่งคนที่ถนัดการเล่นแบบนี้เป็นอย่างมาก

Drive


Photo : สมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ

ในบริบทปกติ “Drive” คือการขับรถ หรือถ้าเป็นในกีฬากอล์ฟก็จะหมายถึง “การตีลูก” แต่สำหรับกีฬาแบดมินตัน คำนี้ถูกบัญญัติเป็นศัพท์ไทยว่า “ลูกดาด” หมายถึงการตีลูกแบดที่มาในความสูงระดับหัวไหล่ถึงศีรษะ เพื่อให้ลูกพุ่งเฉือนข้ามตาข่ายอย่างรวดเร็วและขนานกับพื้นสนาม ทำให้ฝ่ายรับรับลูกได้ลำบากยิ่งขึ้น ซึ่งบางคนใช้ลูกดาดนี้เป็นอาวุธในการทำแต้มเลยทีเดียว

Drop


Photo : สมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ

สำหรับ “Drop” นั้นก็คือ “ลูกหยอด” ซึ่งลูกจะลอยผ่านตาข่ายมาตกบริเวณด้านหน้าของคอร์ท สามารถตีได้ทั้งหน้ามือและหลังมือรวมถึงทั้งลูกโด่งและลูกที่ตีต่ำกว่าตาข่าย นี่คืออาวุธที่สามารถเปลี่ยนจังหวะเกมได้ในเวลาเพียงเสี้ยววินาทีและอาจทำให้ได้แต้มทันทีหากอีกฝ่ายวิ่งขึ้นมารับไม่ทัน

Lob


Photo : สมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ

“Lob” คือ “ลูกงัด” ที่ใช้สำหรับการรับลูกที่อยู่ในระดับต่ำกว่ามือขึ้นเป็นลูกโด่ง สามารถใช้ได้ทั้งการงัดให้ลูกตกแถวเส้นหลัง หรือใกล้ตาข่าย ลูกนี้ถือเป็นอีกลูกที่สามารถใช้เปลี่ยนจังหวะเกมและพลิกสถานการณ์ให้ตัวเองได้เปรียบในการทำคะแนน

Let


Photo : www.dailymail.co.uk

นี่คือคำที่เรามักจะได้ยินกันทั้งในเวลาเล่นกันเอง หรือบางครั้งก็ได้ยินจากการถ่ายทอดสด โดยมีความหมายคือ “ให้เล่นใหม่อีกครั้ง” โดยจะไม่นับคะแนนจากจังหวะก่อนหน้า ซึ่งมักจะเกิดขึ้นจากการที่ลูกแบดมินตันจากคอร์ทหนึ่งลอยมาลงที่อีกคอร์ทซึ่งกำลังแข่งกันอยู่, ตีลูกไปกระทบเพดาน หรือบางครั้งก็เกิดขึ้นได้หากเสิร์ฟในจังหวะที่ผู้เล่นอีกฝ่ายยังไม่พร้อม

Kill


Photo : สมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ

นี่คือลูกที่แฟนๆ กีฬาตบลูกขนไก่เฝ้ารอ เพราะมันคือการตีลูกด้วยความรวดเร็วและรุนแรงเพื่อทำคะแนน ซึ่งความรวดเร็วและรุนแรงประหนึ่งหมายฆ่าคู่ต่อสู้ให้ตายนี้เอง คือสาเหตุที่ทำให้ลูกดังกล่าวถูกเรียกว่า “ลูกฆ่า” โดยส่วนใหญ่แล้ว ลูกฆ่ามักจะเป็นลูกตบ หรือ “Smash” แต่ลูกดาดก็สามารถใช้เป็นลูกฆ่าได้เช่นกัน

Wood Shot


Photo : www.theadvocate.com.au

หาก Kill หรือลูกฆ่าคือสิ่งที่แฟนๆ อยากเห็น “Wood Shot” นี้คงเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากเจอแน่นอน เพราะมันคือการที่ลูกขนไก่ไม่โดนเอ็นที่ขึ้นหน้าไม้ แต่ไปโดนขอบหรือก้านไม้แทน หรือหากนิยามเป็นศัพท์ไทยๆ ก็ประมาณ “ลูกแป้ก” ซึ่งในอดีต จังหวะดังกล่าวจะถูกผู้ตัดสินขานเป็นลูกฟาวล์อีกด้วย

ส่วนสาเหตุที่เรียกว่า Wood Shot นั้นก็เนื่องมาจาก ในสมัยก่อนไม้แบดมินตันยังทำมาจากไม้ และแม้เทคโนโลยีมีการพัฒนามาใช้วัสดุอื่นอย่าง อลูมิเนียม หรือ คาร์บอน ศัพท์ดังกล่าวก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงมาจนถึงทุกวันนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook