ส่อง 5 เหตุผลที่ต้องติดตามศึกบุนเดสลีกา ฤดูกาล 2019/20
เป็นเวลานานทีเดียวที่ไม่มีฟุตบอลลีกให้ลุ้นกันในช่วงสุดสัปดาห์ แต่การรอคอยนั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว เมื่อการแข่งขันฟุตบอลบุนเดสลีกาฤดูกาลใหม่กำลังจะกลับมาฟาดแข้งกันอีกครั้งในวันที่ 17 สิงหาคมนี้ และน่าจะเป็นอีกหนึ่งฤดูกาลที่น่าตื่นเต้นและประทับใจอย่างแน่นอน นี่คือ 5 เหตุผลว่าทำไมคุณถึงต้องติดตามศึกชิงแชมป์ลีกสูงสุดแห่งเยอรมันฤดูกาลใหม่นี้
1. กลับมาตั้งต้นชิงแชมป์กันอีกครั้ง
บทสรุปของฤดูกาลที่ผ่านมาก็คือ บาเยิร์น มิวนิค ซิวแชมป์ลีกได้สำเร็จในเกมนัดสุดท้ายของฤดูกาลโดยเบียดโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์เข้าเส้นชัยด้วยแต้มห่างเพียง 2 คะแนนเท่านั้น ซึ่งนั่นไม่ได้เล่าเหตุการณ์ทั้งหมดของ 34 แมตช์เดย์ในบุนเดสลีกาสักเท่าไหร่นัก
ในเกมคลาสสิกเคอร์ที่สนามซิกนัล อิดูน่าพาร์ค ทั้งมาร์โค รอยส์ และ ปาโก้ อัลกาเซร์ต่างก็ยิงประตูได้ทั้งคู่ ช่วยกันพาดอร์ทมุนด์ทำแต้มทิ้งห่างทัพเสือใต้ถึง 9 คะแนนในช่วงครึ่งฤดูกาลแรก แต่หลังจากนั้น ลูกทีมของนิโก้ โควัช ก็พลิกฟอร์มกลับมาโกยแต้มไล่กวดทีมเสือเหลืองของลูเซียง ฟาฟร์จนคว้าแชมป์ได้สำเร็จ
ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา มีเพียงบาเยิร์นและดอร์ทมุนด์เท่านั้นที่คว้าแชมป์ลีกสูงสุดของเยอรมนีได้สำเร็จ ทั้งสองเพิ่งจะมีโอกาสได้แก้มือกันอีกครั้งในศึกซูเปอร์คัพก่อนบุนเดสลีกาจะเปิดฤดูกาลใหม่ ซึ่งดอร์ทมุนด์สามารถแก้แค้นด้วยการพิชิตเสือใต้ไปได้ 2-0 ประตูจากฟอร์มอันร้อนแรงของจาดอน ซานโช แต่เดี๋ยวก่อน ใช่ว่าทีมที่จะแย่งชิงแชมป์ในปีนี้จะมีเพียงสองทีมนี้เท่านั้น..
แอร์เบ ไลป์ซิก คืออีกทีมที่กำลังน่ากลัว แม้จะเล่นอยู่ในบุนเดสลีกาเพียงแค่ 3 ฤดูกาลเท่านั้น แต่พวกเขาเรียนรู้อย่างรวดเร็ว สามารถจบอันดับที่สามได้ในฤดูกาลล่าสุด แถมยังสามารถเข้าชิงศึกเดเอฟเบ โพคาลได้เป็นหนแรกของสโมสรอีกด้วย ขอแนะนำให้จับตาดูฟอร์มลูกทีมของยูเลียน นาเกลส์มันน์ โค้ชที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์บุนเดสลีกาเอาไว้เลย ซึ่งในซีซั่นใหม่นี้ไลป์ซิกก็ตั้งเป้าผนึกกำลังหวังจะได้จารึกชื่อสโมสรลงบนถาดแชมป์บุนเดสลีกาในซีซั่นใหม่ให้ได้
2. โค้ชใหม่ แทคติกใหม่
ในฤดูกาลที่กำลังจะเริ่มขึ้นนี้ มีถึง 7 สโมสรที่คุมทัพโดยโค้ชหน้าใหม่ ถือว่ามากที่สุดนับตั้งแต่ฤดูกาล 2009/10 เลยทีเดียว
อันเต้ โควิช (แฮร์ธ่า เบอร์ลิน) อัลเฟร็ด ชรอยเดอร์ (ฮอฟเฟนไฮม์) มาร์โค โรเซ่อ (โบรุสเซีย เมินเชนกลัดบัค) ดาวิด วากเนอร์ (ชาลเค่อ) โอลิเวอร์ กลาสเนอร์ (โวล์ฟสบวร์ก) ทั้งหมดที่ว่ามานี้ไม่มีใครเคยได้รับสัญญาคุมทีมชุดใหญ่แบบถาวรในเยอรมนีมาก่อนเลย
ส่วน ชเตฟเฟน เบาม์การ์ท (พาเดอร์บอร์น) อัวส์ ฟิชเชอร์ (ยูเนียน เบอร์ลิน) และ อาชิม ไบเออร์ลอร์ซเซอร์ (โคโลญจน์) ก็เพิ่งจะได้รับบทเฮ้ดโค้ชคุมทีมในเวทีระดับบุนเดสลีกาเป็นครั้งแรก
ช่วงปรีซีซั่นที่ผ่านมา ถือเป็นโอกาสดีที่โค้ชเหล่านี้จะได้ทดลองทีมและปรับแผนปรับสไตล์การเล่นเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับศึกใหญ่ที่กำลังจะเริ่มขึ้น เห็นได้ว่าเกือบทุกคนต่างก็มีแผนและระบบการเล่นที่แตกต่างกัน ซึ่งจะทำให้แทคติกในศึกบุนเดสลีกามีความหลากหลายขึ้นและมีอะไรใหม่ๆ ให้รับชมกันอย่างแน่นอน
นอกจากนี้อายุเฉลี่ยของโค้ชใหม่ทั้ง 7 รายนั้นอยู่ที่ 43.5 ปีจากค่าเฉลี่ยของทั้งลีกที่ 48 ปี แถม 11 จากจำนวนโค้ชทั้งหมด 18 คนมีอายุยังไม่ถึง 50 ปีเลยด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตามมีโค้ชคนนึงที่ต้องพูดถึงเป็นพิเศษ นั่นก็คือ คริสเตียน ชไตรช์ ที่คุมทีมไฟรบวร์กมายาวนานถึง 7 ปีครึ่ง ถือเป็นโค้ชที่คุมทีมยาวนานที่สุดเป็นอันดับ 3 ในท็อป 5 ลีกของยุโรป
3. เสริมทัพกันดุเดือด
ถึงแม้ช่วงซัมเมอร์ของยุโรปที่ผ่านมาจะไม่มีฟุตบอลลีกให้เราดู แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทีมงานของแต่ละสโมสรจะมัวไปนอนอาบแดดริมหาดกันยาวๆหรอกนะ เพราะบรรดาสปอร์ตติ้ง ไดเร็คเตอร์ต่างก็พยายามจัดทัพคว้าตัวนักเตะมาเสริมแกร่งให้กับสโมสรของตัวเองเป็นการใหญ่ ทำให้เราเห็นการย้ายทีมอันสะเทือนวงการมาหลายครั้งในช่วงหน้าร้อนที่ผ่านมา
หมดยุคที่ดอร์ทมุนด์ต้องเสียนักเตะตัวเก่งให้กับทีมยักษ์ใหญ่เสียที หลังจบฤดูกาลที่ผ่านมา มิชาเอล ซอร์ค ต้องวุ่นกับการโทรศัพท์หานักเตะตัวท็อปๆ จนสามารถคว้าตัวดาวดังอย่างมัตส์ ฮุมเมิลส์ (บาเยิร์น) ตอร์กาน อาซาร์ (กลัดบัค) นิโค ชูลซ์ (ฮอฟเฟนไฮม์) และยูเลียน บรันด์ท (เลเวอร์คูเซน) เข้ามาเสริมทัพเสือเหลืองได้สำเร็จ
ส่วนเลเวอร์คูเซนก็เตรียมความพร้อมสำหรับสู้ศึกฟุตบอลยุโรปและสำหรับลุ้นแชมป์ลีกได้อย่างแข็งแกร่ง เมื่อปีเตอร์ บอซ สามารถคว้าตัวแข้งดาวรุ่งฝีเท้าเยี่ยมอย่าง เคเรม เดเมียร์บาย กับ นาดีม อามิรี จากฮอฟเฟนไฮม์ มุสซา ดิยาบี จาก เปแอสเช และ ดาลีย์ ซิงค์กราเวน จากอายักซ์ ซึ่งแต่ละคนมีอายุเฉลี่ยเพียง 22 ปีเท่านั้น!
ด้านแชมป์เก่าก็ไม่น้อยหน้า แม้จะเสียฮุมเมิลส์คืนให้ดอร์ทมุนด์ แถมต้องเสียตัวเก๋าอย่างราฟินญ่า รวมทั้งดูโอ้ร็อบเบน - ริเบรี ที่ควงแขนกันแขวนสตั๊ดไป แต่พวกเขาก็ได้ตัว ฟีเท่อ อาร์พ จากฮัมบวร์ก ลูคัส แอร์กน็องเดซ จากแอตเลติโก มาดริด เบนฌาแม็ง ปาวาร์ จากชตุทท์การ์ท และเพิ่งยืมตัวอิวาน เปริซิช จากอินเตอร์ มิลาน มา
นอกจากนี้บรรดาทีมอื่นๆ ก็ยังแสดงให้เห็นถึงศักยภาพทางการเงินที่ดีขึ้น เมื่อสามารถคว้าตัวนักเตะจากต่างแดนเข้ามาเล่นในลีกเยอรมนีกันมากมาย ทั้งจากฝรั่งเศส เบลเยี่ยม เดนมาร์ก ออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น
แม้จะเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ไอน์ทรัค แฟรงค์เฟิร์ตต้องเสียดาวยิงประจำทีมอย่างลูก้า โยวิชให้เรอัล มาดริด แต่พวกเขาก็สามารถจับนักเตะที่ยืมตัวมาเซ็นสัญญาถาวรได้ถึง 4 คน ซึ่งแต่ละคนต่างก็เป็นนักเตะตัวหลักทั้งนั้น ได้แก่ มาร์ติน ฮินเทอร์เอกเกอร์ เซบาสเตียน โรเด้อ เควิน ทรัปป์ และ ฟิลิป คอสติช
4. แข้งอังกฤษ และ สหรัฐฯ แห่กันเข้ามาแล้ว
ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่นักเตะต่างชาติจะบินข้ามทะเลมาค้าแข้งในเยอรมนี แต่สำหรับชาวอังกฤษ นี่ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องจับตา เพราะตลอดระยะเวลา 56 ปีที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์บุนเดสลีกามีนักเตะชาวอังกฤษเพียง 28 คนเท่านั้น แต่ในฤดูกาลที่กำลังจะถึงนี้กลับมีผู้เล่นชาวอังกฤษมาค้าแข้งถึง 9 คนในลีกสูงสุดเยอรมนี และยังมีอีก 2 คนในศึกบุนเดสลีกา 2
หลังจากที่ซานโชเข้ามาดังเป็นพลุแตกกับดอร์ทมุนด์ ในตอนนี้สโมสรอื่นๆ รวม 7 สโมสรต่างก็คว้าตัวนักเตะดาวรุ่งจากแดนผู้ดีเข้ามาร่วมทีม ไม่ว่าจะเป็นไลป์ซิกที่ได้ตัว อเดโมลา ลุคแมน กับ อีธัน อัมปาดู ดุสเซลดอร์ฟที่ยืมตัวลูอิส เบเคอร์ เข้ามา เอาก์สบวร์กก็เซ็นคว้าตัว รีซ ออกซ์ฟอร์ดมาแบบถาวร และจอนโจ เคนนี่ ก็โยกมาซบชาลเค่อ
ส่วนฝั่งอเมริกาเองก็เคยมีนักเตะไม่กี่คนที่กลายเป็นตำนานในบุนเดสลีกามาแล้ว เช่น สตีฟ เชอรันโดโร จากฮันโนเวอร์ เกรก เบอร์ฮัลเทอร์ ที่เคยค้าแข้งกับเอเนอร์กี้ ค็อตต์บุส ตามด้วย 1860 มิวนิค และช่วงไม่นานที่ผ่านมาก็เพิ่งจะมีนักเตะเลือดอเมริกันที่โด่งดังกับดอร์ทมุนด์อีกคนหนึ่งอย่างคริสเตียน พูลิซิช ทั้งหมดนี่แหละที่ช่วยปูทางให้เราได้เห็นบรรดาแข้งมะกันอย่างเช่น เวสตัน แมคเคนนี่ ไทเลอร์ อดัม แซค สเตฟเฟน และ จอช ซาร์เจนต์ พากันบินข้ามทวีปมาเล่นในบุนเดสลีกากันรวมแล้วถึง 11 คน
5. ยูเนียน เบอร์ลิน มาแล้ว!
แต่ละฤดูกาลของบุนเดสลีกานั้นมักมีแบบฉบับเฉพาะของตัวเอง และสำหรับในฤดูกาลที่ 57 นี้คงเป็นเรื่องพิเศษสำหรับชาวเบอร์ลิน เมืองหลวงของเยอรมนี หลังสโมสรยูเนียน เบอร์ลิน สามารถคว้าชัยเหนือชตุทท์การ์ทในศึกเพลย์ออฟ จนเลื่อนชั้นขึ้นมาเล่นในลีกสูงสุดได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ นับเป็นสโมสรที่ 56 ที่ฝ่าฟันจนได้มาเล่นในบุนเดสลีกา
แม้สนามเหย้าของพวกเขา (ชตาดิโอน อันแดร์อัลเทน เฟือร์สเทอไร) จะเป็นสนามที่มีขนาดเล็กที่สุดเป็นอันดับสองในลีก แต่ยูเนียนคือสโมสรที่ยิ่งใหญ่ จะมีแฟนบอลสักกี่สโมสรที่ยอมกรีดเลือดให้กับทีมตนเอง หรือมาลงแรงสร้างสนามให้ฟรีๆ ไม่คิดตังค์
แม้เบอร์ลินมีสโมสรที่เคยเล่นในบุนเดสลีกามาแล้วถึง 5 สโมสร แต่ยูเนียน เบอร์ลิน คือทีมแรกจากเยอรมนีตะวันออกที่ได้ขึ้นมาเล่น จึงเป็นความพิเศษสุดๆ ที่เราจะได้ชมเกมดาร์บี้แมตช์กรุงเบอร์ลินระหว่างทีมจากเบอร์ลินตะวันตกพบทีมจากเบอร์ลินตะวันออกหลังจากกำแพงเบอร์ลินล่มสลายไปเมื่อเกือบ 30 ปีก่อน รับรองว่าต้องสนุกไม่แพ้ดาร์บี้เหมืองถ่านหินระหว่างดอร์ทมุนด์กับชาลเค่อแน่ๆ