โตเกียว 2020 ทัวร์นาเมนต์สีเขียวแห่งการรักษ์โลก
นี่คือมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ ที่ให้คำมั่นสัญญาว่าจะเป็นมิตรต่อโลกมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศได้ถูกยกมาเป็นประเด็นสำคัญในเวทีการประชุมระดับโลกหลายครั้ง เมื่อมันส่งผลกระทบอย่างหนักต่อโลกสีน้ำเงินใบนี้
ล่าสุดคือการที่คลื่นความร้อนที่แผ่ไปทั่วทวีปยุโรป ได้ส่งผลทำให้น้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์ที่อยู่ทางตอนเหนือสุดของโลก ละลายอย่างต่อเนื่อง จนมีน้ำถึง 197,000 ล้านตัน ไหลลงมหาสมุทรเฉพาะเดือนกรกฎาคม ซึ่งทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 0.28 มิลลิเมตร
และเพื่อไม่ให้โลกของเราต้องบอบช้ำไปกว่านี้ ในโอลิมปิก 2020 ที่โตเกียวจะได้เป็นเจ้าภาพเป็นครั้งที่ 2 พวกเขาได้สัญญาว่า ทัวร์นาเมนต์จะเป็นการแข่งขันที่รักษ์โลกที่สุด
พวกเขาทำได้อย่างไร ร่วมติดตามไปพร้อมกับ Main Stand
ลดคาร์บอนเป็นศูนย์
ญี่ปุ่นมีปรัชญาในการทำงานที่เรียกว่า “ไคเซ็น” มันคือกลยุทธ์บริหารงานแบบชาวอาทิตย์อุทัย ที่เป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่น ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของโลกในด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กโทรนิกส์ในช่วงทศวรรษที่ 1970
Photo : english.kyodonews.net
หลักสำคัญของปรัชญาไคเซ็น คือการมีส่วนร่วมของทุกคน เพื่อปรับปรุงคุณภาพให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านสินค้าและการบริการ และแน่นอน สิ่งนี้ได้ฝังรากลึกอยู่ในความคิดของคนญี่ปุ่น
ในฐานะที่ญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน ครั้งที่ 2 พวกเขาจึงตั้งเป้าที่จะทำให้การแข่งขันครั้งนี้ ดีกว่าตอนที่ได้เป็นเจ้าภาพครั้งแรกเมื่อปี 1964 และดีกว่าโอลิมปิกครั้งที่ผ่านมา และแนวคิดหลักสำหรับครั้งนี้คือการเป็นทัวร์นาเมนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด
“ด้วยปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การหยุดการปล่อยคาร์บอน ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในระดับโลก” ยูกิ อาราตะ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาอย่างยั่งยืน โตเกียว 2020 กล่าวกับ Japan Times
“ข้อตกลงที่ปารีส มีเป้าหมายให้ลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2020 แต่เนื่องผู้คนยังอาศัยอยู่ในสังคมแบบใหม่ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเลย สิ่งสำคัญคือเราสามารถตรวจสอบก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาได้ และหาทางเพื่อหลีกเลี่ยงหรือลดมัน”
จากสถิติระบุว่าในการแข่งขันโอลิมปิก 2012 ที่ลอนดอน มีการปล่อยคาร์บอน เป็นจำนวนถึง 3.45 ล้านตัน ส่วนโอลิมปิก 2016 ที่ริโอก็ไม่น้อยหน้า เมื่อมีคาร์บอนถูกปล่อยออกมาถึง 3.56 ล้านตัน และโอลิมปิกครั้งนี้คาดกันว่าจะมีคาร์บอนถูกปล่อยออกมา 3.01 ล้านตัน หากไม่มีมาตรการพิเศษสำหรับจัดการ
ทำให้โอลิมปิก 2020 มีเป้าหมายสำคัญคือการลดการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ในระหว่างการแข่งขัน
ซึ่งแผนดังกล่าวยังสอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน 17 ข้อของสหประชาติ ที่มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาต่างๆของโลก รวมไปถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
รายการนี้จึงมีแผนที่จะนำพลังงานทดแทนมาใช้อย่างเต็มตัว โดยจะใช้พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นพลังงานหลักในการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ในการแข่งขันและหมู่บ้านนักกีฬา
พวกเขายังได้สร้างถนนพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ไว้บนถนน และเคลือบด้วยยาง ที่ทำให้ถนนแห่งนี้สามารถใช้ในการสัญจรได้จริง แถมยังผลิตพลังงานไฟฟ้าไว้ใช้ในการแข่งขันได้อีกด้วย
Photo : www.independent.co.uk
“เรามีแผนที่จะเพิ่มมาตรการประหยัดพลังงาน และวิธีลดการใช้คาร์บอนไดออกไซด์ในการเตรียมสนามและในระหว่างเกมการแข่งขัน จะใช้พลังงานทดแทนจากการลดการใช้นั้น” อาราตะเสริม
รัฐบาลกรุงโตเกียว ยังได้ร่วมกับฝ่ายจัดการแข่งขันให้เครดิตในโครงการ Cap-and-trade (การค้าขายโควต้าในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่รัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดโควต้าการปล่อยก๊าซของแต่ละโรงงาน หากโรงงานไหนไม่ถึงก็สามารถนำโควต้าไปขายได้) เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นในระหว่างการแข่งขัน
อย่างไรก็ดี ในการแข่งขันกีฬามักจะมีนักกีฬา สต๊าฟโค้ช และเจ้าหน้าที่นับพัน รวมไปถึงกองเชียร์อีกนับล้านคน ที่เดินทางมาชมการแข่งขัน จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอนในระหว่างทัวร์นาเมนต์
“โอลิมปิกและพาราลิมปิก เป็นการแข่งขันกีฬาขนาดใหญ่ การปล่อยก๊าซคาร์บอนจากนักกีฬานับพัน และกองเชียร์เป็นล้านๆ จึงไม่ได้เป็นเรื่องเล็กๆ แต่ความเป็นญี่ปุ่น เราเห็นโอกาสสำคัญที่จะแสดงให้เห็นว่าเราจะลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างไร” อาราตะ กล่าวต่อ
และนี่คือวิธีที่พวกเขาใช้จัดการ
เหรียญรางวัลจากขยะรีไซเคิล
ปฎิเสธไม่ได้ว่าเหรียญรางวัล คือสัญลักษณ์ของความสำเร็จในกีฬาโอลิมปิก ซึ่งตามธรรมเนียมจะมอบให้กับผู้ชนะเลิศ รองชนะเลิศ และอันดับ 3 ซึ่งในการแข่งขันแต่ละครั้ง เจ้าภาพจำเป็นต้องผลิตเหรียญมากกว่า 5,000 เหรียญ เพื่อมอบให้กับนักกีฬา
Photo : www.capitalfm.co.ke
ในขณะเดียวกันโลกก็กำลังมีปัญหาขยะอิเล็กโทรนิกส์ล้นที่เก็บ จากข้อมูลของกรีนพีชยังระบุว่าภายในปี 2021 โลกจะมีขยะอิเล็กโทรนิกส์สูงถึง 52.2 ล้านตัน ซึ่งสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากมาย จากสารเคมีที่เป็นพิษที่ลอยไปสู่ชั้นบรรยากาศ
ทำให้ในการแข่งขันครั้งนี้ผู้จัดงานเลือกที่จะใช้วิธียิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว ด้วยการนำขยะอิเล็กโทรนิกส์มารีไซเคิล เป็นเหรียญรางวัล ที่ได้ทั้งการลดขยะ และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมไปพร้อมกัน
“ไอเดียการใช้โลหะรีไซเคิลมาทำเป็นเหรียญรางวัล เคยถูกใช้มาก่อนในอดีต แต่โครงการนี้จะทำให้โตเกียว 2020 เป็นโอลิมปิก และพาราลิมปิก ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการรวบรวมวัสดุอิเล็กโทรนิกส์ เพื่อนำมาทำเป็นเหรียญรางวัล และผลิตเหรียญจากทองสกัด” เว็บไซต์ โตเกียว 2020 ระบุ
เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม พวกเขาได้ตั้งกล่องรับบริจาค อุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์ ที่รับทั้งโทรศัพท์แบบฝาพับ สมาร์ทโฟน กล้องดิจิตอล แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค ไว้ตามจุดต่างๆทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2017
Photo : www.theverge.com
“โครงการนี้จะทำให้ชาวญี่ปุ่น มีส่วนร่วมในการสร้างเหรียญรางวัลจริงๆ” โคจิ มุโรฟุชิ ผู้อำนวยการกีฬา โอลิมปิก 2020 กล่าวในงานแถลงข่าวเมื่อปี 2017
“ทรัพยากรบนโลกของเรากำลังมีอย่างจำกัด การรีไซเคิล เป็นสิ่งที่ทำให้พวกเราคิดถึงสิ่งแวดล้อม”
“การที่ประชาชนมีส่วนร่วมในโครงการนี้ จะทำให้พวกเขาตระหนักถึงปัญหาการหมุนเวียนทรัพยากร ที่ส่งผลกระทบต่อพวกเขา ที่ทำอะไรกับมัน” อาราตะอธิบายเสริม
หลังจากปิดรับไปเมื่อเดือนมีนาคม 2019 พวกเขาสามารถรวบรวมโทรศัพท์มือถือได้ถึง 6.2 ล้านเครื่อง และอุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์ 79,000 ตัน ซึ่งสามารถสกัดทองออกมาได้ถึง 32 กิโลกรัม, เงิน 4,100 กิโลกรัม และทองแดงอีก 2,700 กิโลกรัม
ไม่เพียงแต่เหรียญรางวัลเท่านั้น ที่ทำมาจากวัสดุรีไซเคิล เมื่อชุดแข่งอย่างเป็นทางการของนักกีฬาทีมชาติญี่ปุ่นในการแข่งขันครั้งนี้ ก็จะทำมาจากเสื้อเก่าที่เปิดรับบริจาคจากทั่วประเทศเช่นกัน
Asics บริษัทผลิตอุปกรณ์กีฬาชื่อดังที่รับหน้าที่ผลิตชุดแข่งให้กับทีมชาติญี่ปุ่นในโอลิมปิก 2020 เผยว่าพวกเขาตั้งเป้าจะรวบรวมเสื้อผ้าให้ได้อย่างน้อย 30,000 ตัว มารีไซเคิลเป็นชุดของนักกีฬาในพิธีเปิดและในการแข่งขัน
Photo : fashionunited.uk
“ด้วยโครงการนี้ ผู้คนจากทั่วประเทศจะรู้สึกว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของทีม” ซาโอริ โยชิดะ อดีตนักกีฬามวยปล้ำเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก 3 สมัยกล่าวในงานแถลงข่าว
“มันรู้สึกดีที่ทำให้เกิดความรู้สึกที่ต่างออกไปในการมีส่วนร่วมกับเกม”
และแน่นอน ในการแข่งขันครั้งนี้ ยังเป็นเวทีที่จะทำให้พวกเขาได้แสดงเทคโนโลยีที่รักษ์โลกได้อีกด้วย
เทคโนโลยีลดมลภาวะ
ญี่ปุ่นถือเป็นหนึ่งในผู้นำทางเทคโนโลยีของโลก หลังจากเคยปล่อยนวัตกรรมที่ทำให้โลกตะลึงมาแล้ว ในโอลิมปิก 1964 ด้วยการเปิดตัวรถไฟหัวกระสุนชินคันเซ็น ทำให้ครั้งนี้พวกเขาตั้งเป้าที่จะใช้ศักยภาพที่มีมาช่วยรักษ์โลกบ้าง
Photo : www.asahi.com
แน่นอนว่าในการแข่งขันกีฬาครั้งใหญ่ ย่อมมีผู้คนมากมายเดินทางมาชมการแข่งขัน ซึ่งสิ่งที่หลายฝ่ายกำลังเป็นห่วงคือระบบรถไฟฟ้า ใต้ดินอาจจะรองรับผู้คนได้ไม่หมด พวกเขาจึงได้เตรียมแท็กซี่ไว้รับส่งผู้คนสำหรับการแข่งขันครั้งนี้
หนึ่งในนั้นคือเจแปน แท็กซี จากโตโยต้า (JPN TAXI) ซึ่งเป็นแท็กซี่ขนาดใหญ่ ที่ออกแบบมารองรับผู้โดยสารทุกคน โดยมีลักษณะหลังคาทรงสูง ประตูบานเลื่อนแบบสไลด์ พร้อมทางลาดสำหรับผู้ใช้รถเข็น
และที่สำคัญเจแปนแท็กซี ยังเป็นรถประหยัดพลังงาน ด้วยเครื่องยนต์แบบไฮบริดที่รองรับทั้งก๊าซ LPG และไฟฟ้า โดยก๊าซ 1 ลิตร สามารถวิ่งได้ไกล 19.4 กิโลเมตร ซึ่งไกลกว่าแท็กซีปกติถึงสองเท่า
“เราอยากจะสร้างอะไรบางอย่างที่จะทำให้คนจำนวนมากพอใจให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้” ฮิโรชิ คายุคาวะ หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมผู้ดูแลการพัฒนา เจแปน แท็กซีกล่าวกับ Reuters
รถแท็กซี่แบบใหม่จะเข้ามาแทนที่เป็นจำนวนหนึ่งในสามของแท็กซี่เดิม ที่คาดว่าจะมีสูงถึง 30,000 คันก่อนการแข่งขัน โดยมีค่าโดยสารเริ่มต้นกิโลเมตรแรก 410 เยน (ราว 119 บาท) เท่ากับแท็กซี่ทั่วไป
“เราคิดว่าโอลิมปิก จะเป็นโอกาสที่ดีในการเพิ่มเสน่ห์ของรถ เราจึงอยากนำมันไปใช้จริงให้เร็วที่สุด” คายุคาวะกล่าวเสริม
และล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2019 ที่ผ่านมา โตโยต้า ยังได้เปิดตัวรถชัตเทิลบัสที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยระบบไฟฟ้าเต็มรูปแบบ ที่ชื่อว่า APM (Accessible People Mover) ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ สำหรับขนส่งผู้คนระหว่างสนาม ในช่วงการแข่งขันโอลิมปิก
Photo : www.thedrive.com
รถดังกล่าวใช้ระบบแบตเตอรีลิเธียมไอออน ที่การชาร์ทหนึ่งครั้ง จะสามารถวิ่งได้ไกลถึง 100 กิโลเมตร โดยมีความเร็วสูงสุด 19 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ไม่เพียงแต่การขนส่งมวลชนเท่านั้น ผู้จัดการยังนำเทคโนโลยีมาใช้ลดปริมาณอาหารในหมู่บ้านนักกีฬา ที่จะเป็นการช่วยลดขยะที่จะเกิดขึ้นในการแข่งขันครั้งนี้
“ยกตัวอย่างเช่น หากเรารู้ว่าปริมาณอาหารเย็นที่ต้องการในหมู่บ้านนักกีฬาจากระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของเรา ทำให้เราสามารถลดจำนวนของบรรจุภัณฑ์ โดยร่วมมือกับสปอนเซอร์ ผู้ได้รับอนุญาต ผู้จัดส่ง และร้านค้าในสนามแข่งขัน” อาราตะอธิบาย
โอลิมปิกที่ยั่งยืน
หลายครั้ง ที่เรามักจะได้ข่าวสนามกีฬาถูกทิ้งร้าง หลังการแข่งขันโอลิมปิก ไม่ว่าจะเป็นที่กรีซในปี 2004 หรือล่าสุดที่บราซิลเมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา แต่การแข่งขันครั้งนี้ ญี่ปุ่นตั้งเป้าไม่ให้เกิดกรณีอย่างที่ผ่านมา
Photo : www.news.com.au
อันที่จริงญี่ปุ่น ก็พิสูจน์ให้เห็นตั้งแต่ครั้งที่แล้ว เมื่อสนามกีฬาที่ใช้ในการแข่งขันเมื่อปี 1964 บางสนาม ยังคงถูกใช้มาจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น โยโยงิ สเตเดียม, นิปปอน บูโดคัง หรือสนามกีฬาในร่มโตเกียว
“สนามโยโยงิ สเตเดียม คือตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมสำหรับคำสัญญาของเราในการสร้างมรดกตั้งแต่ปี 1964” มาซาโอะ มิสุโนะ ซีอีโอเสนอเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิก 2020 กล่าว
“หลังจากเกือบครึ่งศตวรรษ มันยังคงเป็นสนามที่ยอดเยี่ยมที่รวมวัฒนธรรมการออกแบบแบบญี่ปุ่นเข้ากับนวัตกรรมที่เป็นไปได้ในอนาคต”
อย่างไรก็ดี พวกเขายังถูกคาดหวังว่าโอลิมปิกครั้งนี้ จะเป็นโอลิมปิกที่มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยกับกรณีที่กรีซหรือบราซิล ทำให้ญี่ปุ่น ลดภาระด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจจากการสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ ด้วยการสร้างสนามกีฬาแห่งใหม่ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
ทำให้โอลิมปิก 2020 ที่จะมีทั้งหมด 43 สนาม เป็นสนามที่สร้างขึ้นมาใหม่เพียง 8 สนาม และอีก 10 สนามเป็นสนามชั่วคราว โดยส่วนใหญ่ จะมีที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองหลวง ซึ่งมีระบบขนส่งมวลชนที่ครอบคลุม
พวกเขายืนยันว่าสนามเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ที่ใช้ในการแข่งขัน จะลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 80,000 ตันเมื่อเทียบกับสนามเดิมอีกด้วย รวมไปถึงวางแผนที่จะเช่าอุปกรณ์กีฬาแทนการซื้อใหม่ เพื่อลดจำนวนขยะ
หลังการแข่งขัน ญี่ปุ่นก็ได้เตรียมรับมือกับเรื่องนี้ไว้แล้ว พวกเขาตั้งเป้าที่จะให้โอลิมปิก สเตเดียม แห่งใหม่ และสนามกีฬาถาวรที่สร้างขึ้น กลายเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกของชุมชน ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนเมือง และกลายเป็นมรดกสำหรับลูกหลานในอนาคต เหมือนกับสมัยโอลิมปิก 1964
Photo : odishanewsinsight.com
ญี่ปุ่น วางแผนที่จะใช้โอลิมปิก 2020 เป็นการทดสอบแผนระยะยาวของญี่ปุ่น ในเป้าหมายทำให้สังคมรู้จักกับ “พลังงานไฮโดรเจน” ที่แม้ว่าจะยังมีราคาแพง แต่ก็เป็นพลังงานสะอาด ที่จะเป็นพลังงานแห่งอนาคต
“ไฮโดรเจนไม่ได้ถูกนำมาใช้เพียงแค่พลังงานและการขนส่งเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้ในอุตสาหกรรมอีกมากมาย รวมไปถึงการให้ความร้อน” อาราตะกล่าว
“มันจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับเรา ที่จะแสดงให้เห็นว่าเราจะขนส่งนักกีฬาและเจ้าหน้าที่โดยใช้รถพลังงานไฮโดรเจนได้อย่างไร”
เหลือเวลาอีกไม่ถึง 365 วัน การแข่งขันโอลิมปิกครั้งที่ 2 บนแดนอาทิตย์อุทัย ก็จะเปิดฉากอย่างเป็นทางการ นอกจากการแข่งขันในสนาม เชื่อว่าหลายคนต่างรอคอยที่จะเฝ้าชมวิธีการจัดการแบบญี่ปุ่น
หากพวกเขาทำได้สำเร็จ มันจะเป็นการแข่งขันที่เป็นต้นแบบสำหรับการแข่งขันกีฬาอื่นๆ ที่จะไม่ทำให้โลกบอบช้ำไปมากกว่านี้