รุ่งโรจน์ ไทยนิยม : “อย่ามองแค่เหรียญทอง แต่อยากให้เห็นความพยายามของพวกเรา”

รุ่งโรจน์ ไทยนิยม : “อย่ามองแค่เหรียญทอง แต่อยากให้เห็นความพยายามของพวกเรา”

รุ่งโรจน์ ไทยนิยม : “อย่ามองแค่เหรียญทอง แต่อยากให้เห็นความพยายามของพวกเรา”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ลองหลับตาคิดถึงชื่อ นักกีฬาคนพิการชาวไทย ที่ประสบความสำเร็จในเวทีระดับโลก...แน่นอนว่า “รุ่งโรจน์ ไทยนิยม” เป็นชื่อหนึ่งที่หลายคนนึกถึง

  เขาเคยไปถึงจุดสูงสุดของการเป็นนักกีฬา เมื่อคว้าเหรียญทอง “พาราลิมปิกเกมส์” เมื่อปี 2012 รวมถึงความสำเร็จอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน อาทิ เหรียญทองแดงในพาราลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ผ่านมา, 4 เหรียญทองเอเชียนพาราเกมส์ และล่าสุดเขาได้เพิ่งแชมป์เอเชียสมัยที่ 4 ติดต่อกัน 

ประกอบกับการได้ออกมาถ่ายทอดเรื่องราวของตัวเองผ่านสื่ออยู่บ่อยครั้ง ทำให้ชื่อของ รุ่งโรจน์ เป็นที่จดจำ ในฐานะนักกีฬาคนพิการ ที่ประสบความสำเร็จ และสร้างเกียรติประวัติให้ประเทศไทย

เราอาจจดจำเขาได้จากเหรียญทองและความสำเร็จที่เขาทำได้ ในทางตรงข้าม เราอาจไม่รู้จักเขาเลยด้วยซ้ำ หากวันนี้เขาเป็นนักกีฬาคนพิการคนหนึ่งที่ไม่มีความสำเร็จติดมือ 

และนี่คือการสนทนาที่ รุ่งโรจน์ ไทยนิยม อยากถ่ายทอดเรื่องราว ข้อความบางอย่างออกไป เพื่อทุกคน ได้ให้รับรู้และเข้าใจในชีวิตของนักกีฬาคนพิการ ว่ามีด้านน่าสนใจไม่ใช่แค่วันที่ประสบความสำเร็จ...

เกมเปลี่ยนชีวิต

ย้อนกลับไปเมื่อสักประมาณ  20 กว่าปีก่อนในงานกีฬาสีของโรงเรียนเพชราวุธวิทยา เด็กชายรุ่งโรจน์ ไทยนิยม ตัวแทนนักเทเบิลเทนนิส ทีมสีแสด ลงทำการแข่งขันนัดชิงชนะเลิศ พบกับ คู่ต่อสู้ที่มีร่างกายปกติทุกอย่างดี 

มันคงเป็นเกมธรรมดาเกมหนึ่งที่ไม่มีอะไรน่าจดจำ หากผู้ชนะวันนั้นไม่ใช่ เด็กชายรุ่งโรจน์ นักปิงปองที่มีความพิการมาตั้งแต่กำเนิด เขามีมือที่งุ้มงอ, ขาและแขนสองข้างลีบเรียว 

“ผมเป็นเด็กที่คลอดก่อนกำหนด 6 เดือน ทำให้มีความพิการแขน ขา ที่ลีบเหมือนคนเป็นโปลิโอ ผมต้องเข้ารับผ่าตัดที่ข้อเท้า เพื่อให้พอเดินได้”   

“ผมใช้ชีวิตวัยเด็ก อยู่ในโรงพยาบาล เพื่อทำกายภาพ เมื่อออกจากโรงพยาบาล ผมก็ต้องใส่อุปกรณ์ช่วยเดินที่ขา เพราะขาของผมไม่มีแรง เช่นเดียวกับแขน ที่ผมไม่สามารถใช้แรงจากมือได้ อย่างการเปิดขวดน้ำ หรือหยิบจับอะไร ผมไม่สามารถทำได้”

“โชคดี ผมมีครอบครัวที่เข้าใจ และไม่เคยซ้ำเติม ทุกคนไม่ได้มองว่าความพิการของผมเป็นปัญหา รวมถึงไม่เคยเอาผมไปเปรียบเทียบกับพี่ชายที่เป็นคนปกติ” 

“จนเมื่อเข้าสู่วัยเรียน พ่อกับแม่ ก็ส่งผมมาอยู่โรงเรียนคนปกติ นี่คือสังคมใหม่ที่ผมต้องเจอ แค่พ้นประตูเข้ามาโรงเรียน ผมก็โดนล้อเป็นประจำว่า ‘ไอ้เป๋’ ‘ไอ้ง่อย’ ผมคิดในใจว่า สักวันหนึ่ง พวกคุณจะไม่เรียกผมแบบนี้”

เมื่อชีวิตต้องเปลี่ยนจากการรักษาตัวอย่างเงียบๆ ในโรงพยาบาล มาอยู่ในโรงเรียนคนปกติ ที่มีผู้คนมากหน้าหลายตา รุ่งโรจน์ พยายามปรับตัวและทำทุกอย่างเหมือนกับเด็กนักเรียนทั่วไป นั่นเป็นเหตุผลที่เขาปฏิเสธจะนั่งรถวีลแชร์ เพราะเขาต้องการเดินให้ได้อย่างคนปกติ...

เขาเริ่มมองหากีฬาที่เขาสามารถเล่นได้ เพื่อพัฒนาศักยภาพร่างกายตัวเอง โดยไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อเป็นนักกีฬาแต่อย่างใด จนรุ่งโรจน์ ได้มาเจอโต๊ะเทเบิลเทนนิส ที่อยู่ด้านหลังโรงเรียน เขาจึงลองเล่นกีฬานี้ดู

“ตอน ป.4 ผมเริ่มหัดเล่นปิงปอง เพราะปิงปองเป็นกีฬาที่ต้องใช้แขน ขา และสมอง ที่สำคัญไม่ขัดกับความพิการเรามากจนเกินไป โอเค ในช่วงแรกมันอาจจะลำบากหน่อยในจับลูก ฝึกตี เพราะมือและแขนเราไม่มีแรง แต่เราก็สนุก เพราะมีก๊วนเพื่อนหลายคนเล่นปิงปอง ทุกวันก็จะมานั่งกินข้าว ทำการบ้าน ตีปิงปองกัน เหมือนเป็นการออกกำลังกายไปในตัว”

“พอได้ออกกำลังกายทุกวัน ร่างกายเราก็มีการพัฒนา ผมไม่ต้องใส่อุปกรณ์ช่วยเดิน กล้ามเนื้อขาช่วงบนก็ใหญ่ขึ้น จากเดิมลีบมีแต่กระดูก และผมก็ยังชอบว่ายน้ำด้วย ทำให้ผมมีแรงมากขึ้น พอตอนขึ้น ป.6 เพื่อนก็ชวนให้ลองลงแข่งกีฬาสี เล่นกับคนปกติ ปรากฏว่าผมได้แชมป์กีฬาสี” 

ชัยชนะในครั้งนั้น สร้างความมั่นใจและทำให้ รุ่งโรจน์ ไทยนิยม รู้สึกว่าตัวเองมีความสามารถไม่ต่างกับคนปกติในด้านกีฬา เขาตัดสินไปคัดตัวเข้าเรียนมัธยมฯ ปีที่ 1 ในโครงการนักกีฬาช้างเผือกของโรงเรียนหอวัง ก่อนได้เป็นนักกีฬาปิงปองตัวแทนโรงเรียน ร่วมกับเด็กปกติ

ในทุกเช้าๆ ตั้งแต่เวลา 06.00-07.30 น. เขาจะต้องตื่นมาซ้อมกับทีมโรงเรียน จากนั้นหลังเวลาเลิกเรียนเขาจะต้องรีบไปฝึกซ้อมกับ สโมสรตำรวจ ที่คุณพ่อเขา (ชยานนท์ ไทยนิยม) เป็นประธานชมรม ฝีมือของรุ่งโรจน์ พัฒนาขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุด เขามีโอกาสเข้าสู่รั้ว ทีมชาติไทย ตั้งแต่อายุยังน้อย

“ผมไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีกีฬาสำหรับคนพิการ เพราะผมฝึกและแข่งปิงปองกับคนปกติมาโดยตลอด อย่างตอนเข้าโครงการช้างเผือก ผมก็ไปคัดกับคนปกตินะ ตอนเรียนอยู่ที่หอวัง ผมก็ได้เป็นตัวแทนโรงเรียน  เคยได้รางวัลชนะเลิศ ประเภททีม ระดับ มัธยมต้นฯ การแข่งขันของกรมพละฯ ซึ่งเป็นรายการใหญ่ระดับประเทศ”

“มีอยู่วันหนึ่งระหว่างการฝึกซ้อม โค้ชมาโนชย์ อรชร ถามผมว่า ‘ทำไมไม่ไปเล่นกีฬาพิการล่ะ’ ผมจึงลองไปคัดกับทีมชาติไทย เพื่อหาตัวแทนไปแข่งชิงแชมป์เอเชีย ตอนนั้นผมอยู่ ม.2 แต่ผมสามารถเอาชนะรุ่นพี่คนเก่าที่อายุ 30 กว่า ได้อย่างง่ายดาย ผมจึงได้เป็นตัวแทนทีมชาติไทยไปแข่งชิงแชมป์เอเชีย ที่ประเทศญี่ปุ่น”

รุ่งโรจน์ อาจทำผลงานได้ไม่ดีนัก ในการแข่งขันทัวร์นาเมนต์แรกระดับทวีป แต่ประสบการณ์ในครั้งนั้น ทำให้เขาได้เห็นว่า ตัวเองสามารถพัฒนาขึ้นไปอีกในระดับนานาชาติ เขาเริ่มฝึกซ้อมอย่างจริงจังมากขึ้น ควบคู่กับการเรียนหนังสือ และกวาดความสำเร็จในระดับภูมิภาคอาเซียนมาครองได้อย่างไม่ยากเย็น 

แม้บางครั้งความพิการ จะเป็นอุปสรรคในการเดินทาง ที่เขาใช้การนั่งรถเมล์เป็นหลัก และคนส่วนมากในสังคมยุคนั้น ยังไม่ค่อยรับรู้ว่าในเมืองไทยก็มีนักกีฬาคนพิการเป็นตัวแทนทีมชาติ

แต่เพราะความฝันที่อยากคว้า เหรียญรางวัลในพาราลิมปิกเกมส์ให้ได้ ทำให้ รุ่งโรจน์ ทุ่มเทฝึกซ้อมเทเบิลเทนนิสอย่างเข้มข้น โดยมีจุดหมายสำคัญคือ พาราลิมปิก ที่ประเทศจีน ในปี 2008

ในโลกความจริง

“ไม่เอาอ่ะ! กีฬาคนพิการคืออะไร ไม่เห็นรู้จัก?” เสียงปฏิเสธที่ รุ่งโรจน์ และครอบครัว คุ้นเคยเป็นอย่างดี ยามหอบเอกสารไปขอสปอนเซอร์จากผู้ใหญ่ ให้ช่วยสนับสนุนนักเทเบิลเทนนิสคนพิการทีมชาติไทย

“การจะไปแข่งพาราลิมปิกเกมส์ ได้นั้น ไม่ใช่แค่มีฝีมืออย่างเดียว จะไปได้ แต่ต้องมีเงินทุนด้วย ซึ่งการหาทุนในยุคก่อนนั้น มันยากมากเลย เพราะในสังคมยังไม่ค่อยรับรู้เกี่ยวกับนักกีฬาคนพิการ พวกเราเป็นแค่คนกลุ่มเล็กๆ ที่ไม่ค่อยมีปากเสียงมากนัก”

“อย่างเทเบิลเทนนิส คุณต้องเล่นรายการต่างๆ เพื่อเก็บคะแนนสะสมให้ติดอันดับ 1 ใน 16 ของโลก ถึงจะได้สิทธิ์ไปแข่ง พาราลิมปิก เกมส์ ดังนั้นในช่วง 4 ปีก่อนหน้านั้น ผมจะต้องวางแผน และเลือกรายการลงแข่ง รวมถึงไปขอสปอนเซอร์ด้วยตัวเอง” 

“การแข่งขันแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายต่างๆมากมาย ทั้ง ค่าเดินทาง ค่ากิน ค่าที่พัก  เฉพาะค่าลงทะเบียนการแข่งขัน ก็ประมาณ 20,000 บาทต่อคน / แมตช์ พ่อผมก็ต้องไปกู้สหกรณ์ เพื่อนำมาเงินมาให้ผมไปแข่งรอบคัดเลือก โค้ชผมก็ต้องเรี่ยไรจากผู้ปกครองลูกศิษย์ในอคาเดมี”

เมื่อไม่มีเงิน ก็เท่ากับไม่มีโอกาสได้ไปเล่นรอบคัดเลือก และเมื่อไม่มีคะแนนสะสมมากพอ ก็ย่อมส่งผลให้ นักกีฬาคนนั้นไม่ได้สิทธิ์ไปแข่ง พาราลิมปิกเกมส์ 

นั่นคือความจริงที่วงการนักกีฬาคนพิการไทยยุคก่อน ต้องทำใจยอมรับ เพราะพวกเขาเป็นเพียงกลุ่มคนเล็กๆ ที่มักถูกมองข้ามความฝัน

รุ่งโรจน์ ไทยนิยม และครอบครัว พยายามอย่างยิ่ง ในการวิ่งเข้าหาสปอนเซอร์เจ้าต่างๆ จนในที่สุด เขาได้รับการช่วยเหลือจากผู้อุปถัมภ์รายหนึ่งในเรื่องการเดินทางตามแผนที่เขาวางไว้แค่ 3 แมตช์ รวมถึงนำเรื่องราวของเขาลงหนังสือ เพื่อให้ผู้คนได้ช่วยระดมทุนอีกทาง และเมื่อการคัดเลือกสิ้นสุดลง รุ่งโรจน์ จบอันดับ 11 ของโลก ได้โควต้าไปแข่งพาราลิมปิก เกมส์ 2008 สมใจ 

“กว่าเราจะได้ไปพาราลิมปิกเกมส์ มันยากลำบากมากแล้วนะ แต่พอได้แข่งจริง เราตกรอบแรก  เหมือนความตั้งใจเราพังทลายหมดแล้ว” 

“ผมตัดขาดจากการเล่นปิงปองไปเล่น 3 เดือน ไม่ไปเรียน ไม่ไปซ้อม ถึงขนาดที่ พี่เบิร์ด (สุริยะ พ่วงสมบัติ) โค้ชของผม ต้องมาตามถึงร้านเกมส์ สาเหตุที่ผมกลับมาสู้อีกครั้ง เพราะผมได้รับกำลังใจจากคนรอบข้าง จึงกลับมาวางแผนใหม่อีกครั้ง เพื่อพาราลิมปิก เกมส์ 2012”

เขานำข้อผิดพลาดจากตกรอบแรก มาปรับปรุงแก้ไข และทุ่มเทในการฝึกซ้อมมากยิ่ง รวมถึงวางโปรแกรมการแข่งขันในทัวร์นาเมนต์ต่างๆ เพื่อเก็บคะแนนสะสมให้ได้มากขึ้น 

โดยมีเป้าหมายเพื่อขยับอันดับ ติดท็อป 4 ของโลก เพื่อจะได้เป็นมือวางรอบ 8 คนสุดท้าย ในพาราลิมปิกเกมส์ แบบไม่ต้องเปลืองแรงเล่นรอบแบ่งกลุ่ม 

ช่วงเวลานั้น สิงห์ ได้เป็นบริษัทเอกชนรายแรกที่เข้ามาสนับสนุน วงการกีฬาคนพิการไทย อย่างเต็มรูปแบบ 

ทำให้มีนักกีฬาคนพิการมากมายได้รับโอกาสจากสิงห์ หนึ่งในนั้นคือ รุ่งโรจน์ ไทยนิยม ที่ได้บรรจุเป็นพนักงานของบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด โดยจะมีรายได้จากการทำงาน ควบคู่กับการเก็บตัวฝึกซ้อม ลงแข่งขันในนามทีมชาติ

“นักกีฬาคนพิการทุกคน มีครอบครัว มีคนข้างหลังที่เขาอยากดูแล แต่บางทีต้องออกจากงานประจำ เพื่อจะได้มีเวลามาเล่นกีฬาให้ทีมชาติ เพราะบางบริษัทเขาไม่เข้าใจว่า นักกีฬาคนพิการ ก็ต้องใช้เวลาฝึกซ้อมไม่แพ้นักกีฬาคนปกติ” 

“แต่ผมได้รับโอกาสจากสิงห์ ในการบรรจุผมเป็นพนักงาน ที่สามารถใช้เวลาในการทำงานปกติ ไปฝึกซ้อม เพื่อเป็นตัวแทนทีมชาติ และมีรายได้เลี้ยงดูครอบครัว ตั้งแต่ก่อนที่ผมจะได้เหรียญทองพาราลิมปิก เกมส์”

แรงสนับสนุน เป็นอีกส่วนที่สำคัญในการต่อยอดความฝันของ นักกีฬาคนพิการ และนั่นทำให้ความสัมพันธ์ของ รุ่งโรจน์ กับ สิงห์ จึงก้าวข้ามไปมากกว่าแค่ นักกีฬากับสปอนเซอร์ใจดี เท่านั้น...ถึงขนาดที่เขาตั้งชื่อลูกชายว่า “น้องบุญรอด” 

“ผมยังจำวันนั้นได้ดี มันเป็นการแข่งขันเฟสปิกเกมส์ นัดชิงชนะเลิศ ตอนนั้นผ่านไป 3 เซ็ต ผมตามหลังคู่แข่งอยู่ 1-2 ก็เหลือบไปเห็นนาย (จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี 

“ประธานคณะกรรมการพาราลิมปิก​แห่งประเทศไทย) ท่านเข้ามาเชียร์เรา ความรู้สึกก็ดีใจ เพราะไม่คิดว่านายจะมาดูเรา ทำให้ผมบอกกับตัวเองว่า เราจะแพ้ไม่ได้ นายอุตส่าห์มาดูเรา”

“ผมพลิกกับมาชนะในเซ็ตที่ 4 และ 5 ได้เหรียญทอง หลังจบเกม นายเดินลงมากอดผม และแสดงความยินดีด้วย ตั้งแต่นั้นมา นายก็จะมาดูผมแข่งตลอด ผมประทับใจที่ท่านให้ความเป็นกันเองและใส่ใจกับนักกีฬาทุกคน ไม่ว่านักกีฬาคนนั้นจะประสบความสำเร็จหรือไม่ก็ตาม ท่านช่วยเหลือ และอยากให้ทุกคนมีงานทำ เพื่อจะได้มีทุนซัพพอร์ทตัวเอง”

“จนถึงวันนี้ที่ผมประสบความสำเร็จ ท่านก็ยังคงให้ความเอ็นดูผม ท่านยินดีที่ได้มาประธานงานแต่งผมฯ รวมถึงท่านก็อนุญาต หากผมตั้งชื่อลูกว่า น้องบุญรอด แม้จะเป็นชื่อจากทางต้นตระกูลของท่านก็ตาม ท่านจึงเป็นผู้มีพระคุณกับผมอย่างมาก” 

รุ่งโรจน์ ในฐานะมือ 4 ของรายการ ลงทำการแข่งขันเทเบิลเทนนิส ประเภทชายเดี่ยว คลาส 6 ด้วยความรู้สึกที่ไม่ประหม่า และกังวลเหมือนกับพาราลิมปิกครั้งแรก ในสมองเขาโฟกัสแค่การเล่นให้ดีที่สุด เล่นอย่างที่ซ้อมมา ตัดเรื่องของดีกรีคู่แข่งที่ต้องพบเจอ

เขาผ่านนักตบตัวเต็งของรายการ รวมถึงมือ 1 ของโลก ประกาศศักดาคว้าเหรีญทองพาราลิมปิก เกมส์ 2012 มาครองได้อย่างยิ่งใหญ่ ด้วยการเอาชนะ วาเลรา อัลบาโร จากสเปน ไปได้ขาดลอย 3-0 เซ็ต ในนัดชิงชนะเลิศ

จากคนที่เคยถูกล้อเรื่องรูปลักษณ์และความพิการ เคยโดนปฏิเสธการสนับสนุน… เขาได้พาธงชาติไทย ขึ้นไปอยู่บนสุดเหนือธงชาติอื่นๆในมหกรรมกีฬา พาราลิมปิก เกมส์ ที่ประเทศอังกฤษ

อย่ามองเราแค่เหรียญทอง 

“ผมดีใจนะ หลังจากเราได้เหรียญทองกลับมา มีขบวนแห่นักกีฬาเหมือนกับคนปกติ และคนในสังคมก็เริ่มเปลี่ยนมุมมองต่อคนพิการไป ส่วนหนึ่งมาจากการที่พวกเราไปสร้างความสำเร็จด้านกีฬา ทำให้ผู้คนทั่วไป เริ่มมองว่า คนพิการ ก็สามารถสร้างประโยชน์ และชื่อเสียงแก่ประเทศชาติได้ ไม่ได้เป็น ภาระสังคม”

“ผมอาจจะได้ออกสื่อเยอะกว่าพี่น้องนักกีฬาคนพิการคนอื่นๆ เพราะผมสะดวกเดินทางกว่า พูดจารู้เรื่อง เนื่องจากใช้ชีวิตอยู่กับคนปกติมาโดยตลอด ผมจึงดีใจเสมอที่ได้เป็นสะพานเชื่อมให้คนปกติได้เข้าใจคนพิการ” 

“ผมอยากให้คนปกติ เวลามองคนพิการ อย่าไปมองแค่ภายนอก หรือความสำเร็จ แต่อยากให้มองลึกลงไปว่า เขาต้องพยายามมากแค่ไหน เพื่อให้มาได้ซึ่งความสำเร็จ หรือการมีที่ยืนในสังคม”

สำหรับคนที่ผ่านจุดสูงสุดที่คว้าเหรียญทองพาราลิมปิก เกมส์ มาแล้ว เขาอธิบายว่าคนทั่วไป ยังไม่ค่อยรับรู้ว่า นักกีฬาคนพิการ มีโปรแกรมการฝึกซ้อมที่หนักหนาไม่ต่างกับคนปกติ และต้องเสียสละความสุขส่วนตัว เมื่อเข้าสู่ช่วงเก็บตัว มาใช้ชีวิต กินนอน ฝึกซ้อม ในแคมป์ทีมชาติ   ดังนั้นการเป็น นักกีฬาคนพิการ จึงต้องต่อสู้กับปัจจัยด้านร่างกาย และสภาพแวดล้อมรอบนอก 

“นักกีฬาคนพิการก็ต้องฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ ไม่ต่างกับคนปกติ อย่างช่วงเก็บตัว เราก็ต้องซ้อมวันละ 3 มื้อ 6 ชั่วโมง เพราะกีฬาปิงปอง มันไม่มีหรอกที่คุณซ้อมแล้วจะก้าวกระโดดขึ้นไป เราซ้อมเพื่อรักษาระดับ ไม่ให้ตกลงไป ต้องมีวินัย และใช้ความพยายาม”

“การเป็นคนพิการมันมีข้อจำกัดเยอะ ทางออกเขาก็มีแค่ไม่กี่อย่าง แม้บางครั้งจะต้องฝืนร่างกายตัวเอง เล่นกีฬาที่ต้องใช้แรงเยอะ เขาก็ต้องสู้ต่อไป ทำไมบางคนอายุ 30 กว่าแล้ว ยังไม่เลิกยกน้ำหนักเลย ก็เพราะเขายังอยากติดทีมชาติ ยังอยากสร้างความสำเร็จ และทำให้ครอบครัวเขา ก้าวต่อไปได้”

ก่อนจากกัน เราถามเขาว่าอะไรคือ อุปสรรคที่ยากสุดในการเป็นนักกีฬาคนพิการ รุ่งโรจน์ ตอบกับเราว่า  “ตัวเอง” เพราะหากคนพิการคนนั้น มองว่าตัวเองไม่มีความสามารถที่ไปแข่งขันกับใคร ไม่ยอมรับความยอมรับความจริงว่าเป็นคนพิการ เขาก็จะจมอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย ที่ไม่มีใครมายุ่ง และไม่ต้องยุ่งกับใคร

แต่สำหรับคนพิการที่ออกมาเล่นกีฬา พวกเขาคือ คนที่กล้าจะออกสู่สังคม และต้องการลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง

สิ่งหนึ่งที่นักกีฬาคนพิการ มีเหมือนๆกัน ก็เป็นสิ่งที่แม้แต่คนปกติอย่างเรา สามารถนำไปปรับใช้ได้ ยามที่ชีวิตต้องเจอกับอุปสรรค ที่เราคิดว่ามันเกินขีดจำกัดของตนเอง 

“ผมว่าสิ่งที่นักกีฬาคนพิการทุกคนมี คือ หัวใจที่สู้และไม่ย่อท้อต่อข้อจำกัดมากมาย ผมมีวันนี้ได้เพราะผมสู้ แต่ผมไม่อยากให้คนมองผม แค่เหรียญทองที่ผมทำได้ แต่อยากให้มองย้อนกลับไปว่า กว่าที่ผมจะได้เหรียญทอง ผมผ่านอะไรมาบ้าง”

“ถามว่าผมเคยเบื่อปิงปองไหม? มันก็มีนะ ในช่วงก่อนแต่งงานและมีลูก แต่ตอนนี้ผมมีลูก เป็นหัวหน้าครอบครัว ผมกลับมามีไฟอีกครั้ง ผมไม่อยากให้ลูกผมโตมาแล้วรู้สึกว่า พ่อของเขาเป็นคนพิการที่ดูแลเขาไม่ได้”

“ดังนั้น ผมจะพยายามในทุกๆวัน และทำให้ลูกได้เห็นความสำเร็จของผม” รุ่งโรจน์ ในวัย 33  ปี กล่าวทิ้งท้าย 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook