ต้นตอปัญหาที่เป็นบทเรียนให้นักธุรกิจทั่วโลกจากโบลตัน วันเดอเรอร์ส
การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ คำง่ายๆที่มีความหมายลึกซึ้ง และเชื่อว่าใครหลายคนจดจำวลีนี้ไว้ขึ้นใจ ยามใดที่ยากควักกระเป๋าเอาเงินมาใช้ แต่จำนวนธนบัตรที่อยู่ด้านในไม่อำนวย
ธุรกิจกีฬาเองก็ไม่ต่างอะไรจากมนุษย์คนหนึ่ง หากจะอยู่รอดได้อย่างมั่นคง การคำนวณตัวเลขในบัญชีเป็นเรื่องสำคัญ หากผิดพลาดติดลบเป็นตัวสีแดงขึ้นมา ย่อมเจอปัญหาใหญ่ไม่ต่างจากมนุษย์ทั่วไป
เราขอเสนอเรื่องราวของ โบลตัน วันเดอเรอร์ส สโมสรฟุตบอลเก่าแก่ในประเทศอังกฤษ ที่เคยโลดแล่นบนพรีเมียร์ลีกมาไม่ต่ำกว่า 10 ฤดูกาล จากวันที่รุ่งโรจน์ พวกเขาพุ่งลงสู่จุดต่ำสุด กลายเป็นทีมที่ค้างเงินเดือนนักเตะเกือบครึ่งปีได้อย่างไร?
ติดตามที่เรื่องราวที่เกิดขึ้นไปพร้อมกัน…
อดีตอันรุ่งโรจน์
สโมสรฟุตบอลโบลตัน วันเดอเรอร์ส คือทีมฟุตบอลประจำเมืองโบลตัน ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1874 โดยถือเป็นหนึ่งในสโมสรฟุตบอลที่เก่าแก่ และมีอิทธิพลที่สุดในประเทศอังกฤษ จากการเป็น 1 ใน 6 สโมสรผู้ก่อตั้งลีกฟุตบอลอาชีพของประเทศ
Photo : www.bwfc.co.uk
แม้จะเป็นสโมสรที่เต็มไปด้วยเรื่องราวและประวัติศาสตร์ แต่ตลอดระยะเวลา 145 ปีที่ผ่านมา ของโบลตัน พวกเขาไม่ค่อยประสบความสำเร็จจากการลงแข่งขันในสนามเท่าใดนัก เกียรติประวัติสูงสุดที่เคยได้ คือแชมป์เอฟเอ คัพ การแข่งขันฟุตบอลถ้วยอันดับหนึ่งของอังกฤษ เป็นจำนวน 4 สมัย
ส่วนการแข่งขันระดับลีกที่พวกเขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง โบลตัน วันเดอเรอร์ส ไม่เคยมีโอกาสได้สัมผัสแชมป์บนลีกสูงสุด ถึงจะเข้าร่วมการแข่งขันดิวิชั่น 1 หรือ พรีเมียร์ลีก เป็นจำนวนมากถึง 73 ฤดูกาล เคยแต่ได้แชมป์ในลีกระดับที่สองอย่าง ดิวิชั่น 2 หรือ เดอะ แชมเปี้ยนชิพ รวมทั้งหมด 3 สมัย
แต่ถึงอย่างนั้นในช่วงทศวรรษที่ 2000 พวกเขาก็สามารถเปลี่ยนสถานะจากทีมดิ้นรนหนีตกชั้น มาเป็นหนึ่งในทีมน่าจับตามองของพรีเมียร์ลีก จากการดึงตัวผู้เล่นที่มีชื่อเสียงโลกในวัยโรยรามาร่วมทีมอย่าง อิวาน คัมโป อดีตกองหลัง เรอัล มาดริด, ยูริ จอร์เกฟฟ์ กองกลางทีมชาติฝรั่งเศสชุดแชมป์ฟุตบอลโลก 1998 หรือ เจย์ เจย์ โอโคชา เพลย์เมกเกอร์ทีมชาติไนจีเรีย
ภายใต้การขับเคลื่อนของ แซม อัลลาไดซ์ และผู้เล่นระดับโลก โบลตันทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม จบอันดับท็อป 8 ติดต่อกัน 4 ฤดูกาล ในช่วง 2003/04 ถึง 2006/07 โดยอันดับสูงสุดที่พวกเขาทำได้ในช่วงเวลาดังกล่าว คืออันดับที่ 6 เมื่อฤดูกาล 2004/05 ซึ่งเป็นอันดับที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสร จนได้สิทธิไปเล่นศึกยูฟ่า คัพ ในฤดูกาลถัดมา
Photo : www.telegraph.co.uk
เมื่อได้โอกาสก้าวไปสู่เวทียุโรป โบลตัน วันเดอร์เรอร์ส ไม่ทำให้แฟนบอลอังกฤษผิดหวัง ด้วยผลงานสุดน่าประทับใจ ทั้งการบุกไปยันเสมอ บาเยิร์น มิวนิค ยอดทีมจากเยอรมัน 2-2 หรือบุกไปชนะเรด สตาร์ เบลเกรด 1-0 เป็นทีมแรกจากอังกฤษที่ทำแบบนี้ได้
ความสำเร็จในสนามที่ยอดเยี่ยม ส่งให้ผลให้สโมสรฟุตบอลขนาดเล็กแห่งนี้ กลายเป็นทีมที่มีชื่อเสียง จนสามารถดึงดูดให้นักเตะชื่อดังเข้าสู่ทีมได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ฮิเดโตชิ นาคาตะ กองกลางทีมชาติญี่ปุ่น และ นิโกล่า อเนลก้า ดาวยิงชาวฝรั่งเศส ในขณะเดียวกันยังเป็นที่สร้างชื่อของ แกรี่ เคฮิลล์ ที่ต่อมาย้ายไปเป็นกำลังสำคัญของเชลซี
แต่ความสำเร็จก็อยู่กับพวกเขาได้ไม่นาน เมื่อมีจุดสูงสุดก็ย่อมมีจุดต่ำสุด เหมือนกับสัจธรรมของชีวิต เมื่อก้าวเข้าสู่ช่วงปี 2010’s สโมสรโบลตัน วันเดอเรอร์ส ต้องเจอกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แบบที่พวกเขาไม่ทันตั้งตัว
ผลกระทบหลังตกสวรรค์
จุดเปลี่ยนโชคชะตาของสโมสรโบลตัน วันเดอเรอร์ส มาถึงเมื่อปี 2012 เมื่อพวกเขาตกชั้นจากพรีเมียร์ลีก ลงมาสู่เดอะ แชมเปี้ยนชิพ หลังลงเล่นบนลีกสูงสุดของฟุตบอลอังกฤษยาวนาน 11 ปี
Photo : lionofviennasuite.sbnation.com
การตกชั้นลงมาแบบกะทันหันของโบลตัน วันเดอเรอร์ส ส่งผลกระทบขนาดใหญ่ต่อสถานะทางการเงินของพวกเขา เพราะก่อนหน้าจะตกลงมาสู่เดอะแชมเปี้ยนชิพ พวกเขามีหนี้ติดตัวอยู่ 136.5 ล้านปอนด์ และเมื่อลงมาเล่นลีกล่าง ที่รายได้น้อยกว่าอย่างไม่เห็นฝุ่น โบลตัน วันเดอร์เรอร์ส ขาดทุนทันที 50.7 ล้านปอนด์
หลังจบฤดูกาล 2012/13 มีประกาศอย่างเป็นทางการว่า สโมสรกำลังติดหนี้ 163.8 ล้านปอนด์ หลังตกชั้นจากพรีเมียร์ลีกได้เพียงฤดูกาลเดียว แถมผลประกอบการจากฤดูกาลก่อนหน้าในพรีเมียร์ลีก อยู่ที่ 58.5 ล้านปอนด์ ยังลดฮวบลงมาเหลือเพียง 28.5 ล้านปอนด์ อันมีสาเหตุหลักมาจากค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดที่หายไป ซึ่งหมายถึงเงินมหาศาล
แม้ได้เงินจากกฎร่มชูชีพ (Parachute payments) ซึ่งเป็นเงินพิเศษช่วยเหลือทีมที่ตกชั้นจากลีกสูงสุด เป็นจำนวน 16 ล้านปอนด์ แต่เมื่อรวมส่วนแบ่งทั้งหมดที่พวกเขาได้จากลีก โบลตัน วันเดอร์เรอร์ส รับเงินไปแค่ 19 ล้านปอนด์ ต่างจากปีสุดท้ายในพรีเมียร์ลีก ที่พวกเขาจบอันดับ 18 แต่ยังได้ส่วนแบ่ง 42 ล้านปอนด์
การแก้ไขสถานการณ์ของโบลตัน วันเดอร์เรอร์ส เป็นไปอย่างเชื่องช้า ถึงจะลดรายจ่ายแก่นักเตะและพนักงานจาก 55.3 ล้านปอนด์ เหลือ 37.4 ล้านปอนด์ได้ แต่พวกเขาไม่สามารถหารายได้ทางอื่นเพิ่มเข้ามาได้เลย
Photo : www.footballgroundguide.com
นอกจากนี้ คนดูที่เคยหนาแน่นในรังเหย้ายังหายไปถึง 24% หลังตกชั้น รายได้จากการเก็บค่าผ่านประตูทั้งฤดูกาล จึงเหลือเพียง 3.8 ล้านปอนด์ ขณะที่รายได้จากสปอนเซอร์ยิ่งแย่หนัก พวกเขาสูญเสียรายได้ทางนี้ 68% เมื่อเทียบกับฤดูกาลสุดท้ายบนลีกสูงสุด โดยได้เงินเพียง 1.4 ล้านปอนด์ เท่านั้น
เมื่อหนี้ท่วมหัว และดูจะเอาตัวไม่รอด เจ้าของสโมสรโบลตัน วันเดอร์เรอร์ส ผู้ถือหุ้น 100% อย่าง เอ็ดดี้ เดวี่ส์ ที่เคยทุ่มเงิน 185 ล้านปอนด์แก่สโมสร เมื่อครั้งยังเล่นในพรีเมียร์ลีก จึงถอนการลงทุนทั้งหมดกับทีม และปล่อยให้เรือที่กำลังจมน้ำลำนี้ ช่วยตัวเองตามกำลังที่มี
ปี 2014 โบลตัน วันเดอร์เรอร์ส ประกาศว่าพวกเขาขาดทุนเพียง 9.1 ล้านปอนด์ ลดจากปีก่อนหน้า 50.7 ล้านปอนด์ เนื่องจากสาเหตุสำคัญคือตัดรายจ่ายเรื่องค่าเหนื่อยนักเตะลงไปได้ 9 ล้านปอนด์
แม้แก้ปัญหารายจ่ายได้ แต่ปัญหาหนี้สะสมยังคงอยู่ โบลตัน วันเดอร์เรอร์ส มีหนี้ค้างชำระอยู่ที่ 172.9 ล้านปอนด์ เนื่องจาก เอ็ดดี้ เดวี่ส์ แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนว่าจะไม่ควักเงินในกระเป๋า เข้ามาสนับสนุนสโมสรแห่งนี้อีกแล้ว เขาลดแรงกดดันจากแฟนบอล ด้วยการยืนยันว่า จะไม่มีการเรียกเก็บทุกปอนด์ที่ให้สโมสรโบลตัน วันเดอร์เรอร์ส ยืม(?)ไปลงทุนตลอดหลายปีที่ผ่านมา
Photo : lionofviennasuite.sbnation.com
ปัญหาที่ซุกซ่อนใต้สนามหญ้า ถูกตีแผ่เป็นข่าวใหญ่ในเดือนตุลาคมปี 2015 เมื่อพวกเขาถูกโทษแบนห้ามซื้อขายนักเตะ หลังได้รับคำรองจาก กรมสรรพากรและศุลกากรของพระบาทสมเด็จพระราชินี (Her Majesty's Revenue and Customs) หลังไม่ยอมจ่ายภาษีมูลค่า 6 แสนปอนด์แก่รัฐบาล
เมื่อถูกบีบคั้นจากส่วนกลาง โบลตัน วันเดอร์เรอร์ส ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะหานายทุนรายใหม่ เข้ามาเทคโอเวอร์สโมสรต่อจาก เอ็ดดี้ เดวี่ส์ ที่จะไม่ใช้หนี้หรือแก้ปัญหาใดหลังจากนี้ หากพวกเขาไม่สามารถหานายทุนที่จะเข้ามาสนับสนุนสโมสรได้ทันเวลา โบลตัน วันเดอร์เรอร์ส จะถูกตัด 12 แต้มเป็นการลงโทษทันที
อาณาจักรล่มสลาย
เดือนมีนาคม ปี 2016 แฟนโบลตัน วันเดอร์เรอร์ส ได้ยิ้มออกเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี หลังมีการยืนยันอย่างเป็นทางการว่า เคน แอนเดอร์สัน อดีตเอเย่นต์จากกรุงลอนดอน ผู้พันตัวเป็นนักธุรกิจฟุตบอล จะเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 94.5% ของสโมสร
Photo : @OfficialBWFC
โชคร้ายที่แฟนโบลตัน วันเดอร์เรอร์ส มีความสุขกับเรื่องนอกสนามได้ไม่นาน ผลงานในสนามของพวกเขาเละไม่เป็นท่า สโมสรต้องตกชั้นสู่ลีกระดับสาม หรือ ลีกวัน เป็นครั้งแรกในปี 1993
โบลตัน วันเดอเรอร์ส กู้ศักดิ์ศรีของสโมสรกลับมาในปี 2017 ด้วยการเลื่อนชั้นกลับสู่ เดอะ แชมเปี้ยนชิพ ภายในเวลาแค่ฤดูกาลเดียว พร้อมกับข่าวดีที่ว่า โทษแบนซื้อขายนักเตะที่สโมสรต้องเจอมาตั้งแต่ปี 2015 ได้ถูกยกเลิกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ขณะที่เรื่องราวในสนามกำลังเป็นไปด้วยดี ปัญหานอกสนามเริ่มกลับมาหลอกหลอนสโมสรแห่งนี้อีกครั้ง เมื่อโรงเรียนที่สโมสรเคยเปิดให้เด็กขาดโอกาสเข้ามาเรียนฟรี ต้องปิดตัวลงในเดือนมีนาคม 2017 หลังเปิดใช้งานได้เพียง 3 ปี แสดงถึงปัญหาด้านการเงินที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข แม้จะได้เจ้าของใหม่เข้ามา
หลังจบฤดูกาล 2017/18 โบลตัน วันเดอร์เรอร์ส เกือบถูก EFL (English Football League) เข้าควบคุมการบริหาร โดยรอดตัวมาได้ด้วยการยืมเงิน 5 ล้านปอนด์ จากบริษัทของ เอ็ดดี้ เดวี่ส์ อดีตเจ้าของสโมสรที่เสียชีวิต หลังจากปล่อยเงินให้ทีมเก่าของเขาเพียงไม่กี่วัน
Photo : www.thetelegraphandargus.co.uk
เมื่อข่าวดังกล่าวออกมา กระแสแง่ลบทั้งหลายจึงพุ่งโจมตีไปยัง เคน แอนเดอร์สัน เจ้าของคนใหม่ที่นอกจากจะไม่มีปัญญาใช้หนี้เก่า ยังเพิ่มหนี้ใหม่เข้ามาอีก มีรายงานออกมาอย่างต่อเนื่องในฤดูกาล 2018/19 ว่า โบลตัน วันเดอร์เรอร์ส กำลังค้างค่าเหนื่อยของนักเตะในทีมเป็นเวลาหลายเดือน
เคน แอนเดอร์สัน ออกมาตอบโต้กระแสลบของตัวเอง ด้วยการยืนยันว่า เขาควักเงินส่วนตัวเพื่อจ่ายเป็นค่าเหนื่อยนักเตะในเดือนพฤศจิกายน 2018 ทั้งหมด และสโมสรมีเงินพอที่จะจ่ายให้นักเตะในเดือนธันวาคม
เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2019 โบลตัน วันเดอร์เรอร์ส ได้รับคำร้องจาก กรมสรรพากรและศุลกากรของพระบาทสมเด็จพระราชินี อีกครั้ง หลังไม่ยอมชำระหนี้ที่มีมูลค่า 1.2 ล้านปอนด์ แถมยังถูกฟ้องร้องจากสโมสรฟอเรสต์ กรีน โรเวอร์ส ที่ยืมนักเตะชื่อว่า คริสเตียน ดอยจ์ ไปใช้งาน แต่ไม่ยอมจ่ายเงินซื้อขาดตามตกลง อีกทั้งยังปล่อยให้สโมสรเก่าจ่ายค่าเหนื่อยให้ ระหว่างยืมตัวอีกต่างหาก
สถานการณ์ทุกอย่างจะเลวร้ายลงไปในเดือนมีนาคม 2019 เมื่อสโมสรตัดสินใจปิดตัวสนามฝึกซ้อม เนื่องจากไม่มีเงินมาจัดซื้ออาหารหรือเครื่องดื่ม ให้แก่นักเตะและทีมสตาฟ ระหว่างการฝึกซ้อมอีกต่อไป และมีรายงานออกมาชัดเจนว่า นักเตะและพนักงานทุกคนในสโมสร ไม่ได้รับค่าจ้างในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม
เมื่อได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม นักเตะจึงพากันประท้วงขอไม่ลงเล่นให้แก่สโมสร จนเกิดความวุ่นวายในวันที่ 26 เมษายน เมื่อเกมที่พวกเขาต้องพบกับสโมสรเบรนท์ฟอร์ด ต้องถูกเลื่อนกะทันหันก่อนเตะ 16 ชั่วโมง เพราะนักเตะโบลตัน วันเดอร์เรอร์ส ไม่ยอมลงเล่น ก่อนจะถูกปรับแพ้ด้วยสกอร์ 1-0 ในเวลาต่อมา
Photo : extra.ie
ท่ามกลางช่วงเวลาที่มืดมน ทางแก้ปัญหาเดียวของพวกเขายังคงเหมือนเรื่องราวที่เกิดขึ้นหลายปีก่อน คือการหาเจ้าของใหม่เข้ามาโอบอุ้มให้ทันเวลา โชคร้ายที่ครั้งนี้ไม่เหมือนคราวก่อน เคน แอนเดอร์สัน ไม่สามารถหาใครมาเทคโอเวอร์ได้
เมื่อการเจรจากับ ลอว์เรนซ์ บาสซินี่ อดีตเจ้าของสโมสรวัตฟอร์ดล้มลงไป พวกเขาจึงไม่สามารถหาเงินมาใช้หนี้ที่ถูกยื่นคำร้องได้ตามเส้นตาย EFL จึงเข้ามาควบคุมกิจการของสโมสรโบลตัน วันเดอร์เรอร์ส อย่างเต็มตัว พร้อมกับลงโทษตัดแต้ม 12 คะแนนในฤดูกาลหน้า โทษเดียวกันที่พวกเขาเคยรอดมาได้ในปี 2016
อนาคตที่ยังมืดมน
ปัจจุบัน โบลตัน วันเดอร์เรอร์ส ต้องลงเล่นในศึกลีกวัน หรือลีกระดับสามของอังกฤษ เนื่องจากตกชั้นมาในปีที่แล้ว พร้อมกับถูกตัด 12 แต้ม แถมยังมีนักเตะเหลืออยู่ในทีมเพียง 5 ราย
Photo : Bolton Wanderers FC
แม้สโมสรจะยังอยู่ได้ด้วยการถูกควบคุมกิจการ และแก้ปัญหานักเตะขาดแคลนจากการดันเยาวชนขึ้นสู่ชุดใหญ่ แต่ปัญหาการเงินยังคงเป็นเรื่องที่แก้ไม่หายจนกระทั่งตอนนี้
มีรายงานออกมาว่า พนักงานของสโมสร ไม่ได้รับเงินเดือนมายาวนานกว่า 5 เดือน จนต้องขอรับบริจาคอาหารจากธุรกิจท้องถิ่น ที่รวมตัวกันเปิดธนาคารอาหารเพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนเหล่านี้ (Food Bank) ขณะที่นักเตะยังคงสไตร์คไม่ลงเล่นเกมอุ่นเครื่อง เนื่องจากไม่ได้รับค่าจ้างตามกำหนดเช่นกัน
ทางเดียวที่จะแก้ปัญหาการเงินเรื้อรังได้ในตอนนี้ คือการหาเจ้าของใหม่เข้ามาเทคโอเวอร์ แต่จนถึงตอนนี้ นอกจากการหาเจ้าของใหม่จะไม่คืบหน้า ยังกลายเป็นปัญหาที่ไม่จบสิ้น เมื่อศาลมีคำสั่งเลื่อนเวลาการเทคโอเวอร์สโมสร ออกไปถึงเดือนกันยายน
เพื่อเปิดทางให้บริษัท Football Ventures consortium ที่พร้อมตอบรับข้อเสนอของผู้ควบคุมสโมสร ฉีดเงินเข้าสู่โบลตัน วันเดอร์เรอร์ส ทันที 1 ล้านปอนด์ โดยไม่มีข้อแม้ แถมยังมีเครดิตดี จากการให้สโมสรแห่งนี้ยืมเงิน 5.5 ล้านปอนด์ ในช่วงสามปีที่ผ่านมา
เรื่องราวดังกล่าว ไม่จบง่ายๆตรงที่ว่า ลอว์เรนซ์ บาสซินี่ ผู้สนใจเข้าซื้อสโมสรที่ดีลล่มไปก่อนหน้านี้ หลังถูกศาลตัดสินว่าไม่มีเงินทุนมากพอจะบริหารสโมสร เขายังคงไม่ยอมแพ้ต่อการซื้อโบลตัน วันเดอร์เรอร์ส
บาสซินี่ยื่นเรื่องเข้าไปที่ศาล ให้ทำการคุ้มครองชั่วคราว พร้อมเปิดเผยว่า เคน แอนเดอร์สัน พยายามจะขู่เอาเงิน 5 ล้านปอนด์ไปจากเขา ทำให้การซื้อขายครั้งก่อนหน้าไม่ลุล่วง
มาถึงตรงนี้ หากถามว่าปัญหาของโบลตัน วันเดอร์เรอร์ส เริ่มมาจากตรงไหน การตกชั้นจากพรีเมียร์ ย่อมเป็นคำตอบที่ชัดเจนและแน่นอน แต่พวกเขาไม่ใช่ทีมเดียวที่ตกจากลีกสูงสุด ยังมีอีกหลายสิบทีมที่ตกชั้นลงมา และสามารถอยู่รอดได้ แม้จะไม่เคยกลับไปสู่ลีกสูงสุดก็ตาม
Photo : www.bbc.com
ต้นตอปัญหาที่แท้จริงของโบลตัน วันเดอร์เรอร์ส
จึงมาจากการใช้เงินแบบไม่คิดหน้าคิดหลังของพวกเขาเอง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจในวงการใดก็ตาม การที่มีหนี้อยู่ในบริษัทเป็นจำนวนมากกว่า 100 ล้าน คือปัญหาที่ไม่สามารถมองข้ามได้ แต่ผู้บริหารสโมสรไม่เคยรับรู้ หนี้ดังกล่าวจึงกลายเป็นระเบิดเวลา รอทำลายสโมสรที่เปี่ยมประวัติศาสตร์แห่งนี้จนหมดสิ้น
อนาคตของโบลตัน วันเดอร์เรอร์ส จึงยังคงดำเนินต่อไปอย่างมืดมนและไร้ทิศทาง จากสโมสรที่เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งลีก วันนี้กลับกลายเป็นสโมสรที่ถูกลีกควบคุมเสียเอง เรื่องราวของสโมสรฟุตบอล จึงกลายเป็นบทเรียนอย่างดีแก่ธุรกิจกีฬาทั่วโลก ถึงอิทธิพลของตัวเลขในบัญชี ที่บางครั้งก็มีความหมาย ยิ่งกว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสนามแข่งขัน