วิเคราะห์การทำทีมอีสปอร์ตของ "อนาคตใหม่" ผ่านมุมนักการเมืองเจ้าของสโมสรบอลไทย
กีฬา กับ การเมือง คือสองสิ่งที่มีความเกี่ยวโยงกันมาตลอด ประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ ของทั้งสองวงการ บางครั้งสามารถแสดงออกอย่างชัดเจน บางครั้งหลบซ่อนจนมองไม่ออก
ความสัมพันธ์ระหว่างกีฬากับนักการเมืองไทย ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นักการเมืองมีบทบาทสำคัญกับวงการกีฬา ผ่านบทบาทการเป็นเจ้าของหรือผู้บริหารทีมกีฬา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ฟุตบอล”
ในปี 2019 ความสัมพันธ์ของ วงการกีฬากับนักการเมือง เดินหน้าไปอีกก้าว เมื่อพรรคอนาคตใหม่ ของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประกาศตั้งทีมอีสปอร์ตของตัวเองขึ้นมา ในชื่อ ฟิวเจอร์ริสตา เกมมิง (Futurerista Gaming) ก่อนจะจับมือกับทีม เมเปิล คลับ (Maple Club) ทีมชื่อดังจากเกม CS:GO (Counter-Strike: Global Offensive) เป็นทีมแรกภายใต้สังกัดทีมอีสปอร์ต ของพรรคการเมืองสีส้ม
จากวันที่นักการเมืองเริ่มต้นทำทีมฟุตบอล จนถึงวันที่ พรรคอนาคตใหม่ประกาศตั้งทีมอีสปอร์ต ของตัวเองขึ้นมา มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร? เป้าหมายการทำทีมกีฬาของนักการเมือง เหมือนเดิมหรือไม่? สุดท้ายใครกันแน่ที่ได้ผลประโยชน์?
ทีมกีฬา กับ นักการเมือง
ชลบุรี เอฟซี คือสโมสรแรกเริ่ม ที่สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ ระหว่างฟุตบอลกับนักการเมือง ผ่านการสนับสนุนสโมสร โดย สนธยา คุณปลื้ม และ วิทยา คุณปลื้ม นับตั้งแต่ยุคโปรวินเชียลลีก หรือลีกของสโมสรฟุตบอลต่างจังหวัด นอกเขตกรุงเทพมหานคร
ทีมฉลามชลของตระกูลคุณปลื้ม เป็นส่วนสำคัญที่ปลุกฟุตบอลลีกไทยให้ได้รับความนิยม หลังชลบุรี เอฟซี คว้าแชมป์ไทยลีกในปี 2007 กระแสท้องถิ่นในนิยม ส่งให้แฟนบอลแห่เข้าสนาม ต้องการสนับสนุนทีมบ้านเกิด
ปรากฏการณ์ฟุตบอลไทยลีกบูม ในปี 2009 คือจุดเริ่มต้นแท้จริง ซึ่งทำให้นักการเมืองท้องถิ่น สนใจอยากเข้ามาเป็นเจ้าของทีมฟุตบอล เพราะเห็นว่าฟุตบอลไทยกำลังเป็นกีฬาแห่งอนาคต สามารถเติบโต และ ย้อนกลับมาให้ประโยชน์แก่ตัวนักการเมืองได้ในทางใดทางหนึ่งผ่านการเป็นกีฬา ตัวแทนท้องถิ่น
หลังจากปี 2009 มีนักการเมืองจำนวนมาก เริ่มเข้าถือครองทีมฟุตบอล ด้วยวิธีแตกต่างกันออกไป เช่น ซื้อสโมสรฟุตบอลจากองค์กรรัฐ ในกรณีของเนวิน ชิดชอบ กับบุรีรัมย์ พีอีเอ (บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ในปัจจุบัน), เข้าไปทำทีมสโมสรประจำจังหวัด แทนที่ส่วนกลาง เช่นกรณีของวราวุธ ศิลปอาชา กับสโมสรสุพรรณบุรี เอฟซี รวมไปถึงการตั้งสโมสรขึ้นมาใหม่ เช่น กรณีของทีมเชียงราย ยูไนเต็ด ของมิตติ ติยะไพรัช
จากช่วงแรกเริ่มของไทยลีกยุคใหม่ ที่สโมสรฟุตบอลเป็นทีมจากหน่วยงานรัฐ และองค์กรเอกชนเป็นหลัก ปัจจุบันเจ้าของทีมฟุตบอลในเมืองไทย เต็มไปด้วยนักการเมืองท้องถิ่น ตั้งแต่ลีกสูงสุด ไปจนถึงลีกภูมิภาค กลายเป็นอีกหนึ่งกลุ่มคนสำคัญที่ผลักดันให้วงการฟุตบอลไทยเติบโต
วงการอีสปอร์ตไทย ในปัจจุบัน ไม่ต่างอะไรกับช่วงไทยลีกบูมใหม่ๆ เป็นกีฬาที่สังคมไทย ให้ความตื่นเต้นและสนใจ ธุรกิจอีสปอร์ตกำลังเติบโต มีภาครัฐคอยสนับสนุน บริษัทเอกชนจำนวนมาก หันมาเป็นสปอนเซอร์ ทีมอีสปอร์ต และจัดการแข่งขัน ที่เกิดขึ้นมากมาย ทั้งในและนอกประเทศ ชิงเงินรางวัลหลายหลักสำหรับทีมชนะเลิศ
สโมสรฟุตบอลหลายทีมได้สร้างทีมอีสปอร์ตของตัวเอง เพื่อลงแข่งขันในกีฬาประเภทนี้ด้วยเช่นกัน เพราะทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า เป็นกีฬาที่สามารถเติบโตไปได้อีก
“ธุรกิจอีสปอร์ตเติบโตเร็วมาก มีฐานแฟนคลับเหนียวแน่นพอๆกับฟุตบอล หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ ผมเชื่อว่าสักวันหนึ่ง โลกของอีสปอร์ต จะใหญ่กว่าเอเชียนเกมส์ หรือใหญ่กว่าโอลิมปิกด้วยซ้ำ” เนวิน ชิดชอบ คือ อดีตนักการเมืองคนแรกๆ ที่กระโดดเข้าสู่เวทีอีสปอร์ต ผ่านแบรนด์บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด กล่าวถึงกีฬารูปแบบใหม่
สำหรับกีฬาที่ถูกมองว่าเป็นอนาคตใหม่อย่างอีสปอร์ต คือ ความท้าทายสำหรับนักการเมืองไทย ที่หันมาลองปั้นกีฬาชนิดนี้ ให้ประสบความสำเร็จ เหมือนที่เคยทำให้เห็นมาแล้วกับวงการฟุตบอล
เพียงแต่ครั้งนี้ มีตัวละครหน้าใหม่ ที่ชื่อพรรคอนาคตใหม่ เข้ามาร่วมสังเวียนด้วย
ทำไมต้องอีสปอร์ต?
สำหรับนักการเมืองท้องถิ่นรุ่นเก่า เหตุผลหลักของการทำทีมฟุตบอล มาจากการหวังผลตอบแทน อย่างฐานคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง ซึ่งส่งผลต่ออาชีพและอนาคตของตัวนักการเมืองเอง
หากทำทีมฟุตบอล แล้วผลงานดี มีถ้วยรางวัล อานิสงส์อาจส่งต่อไปยังผลการเลือกตั้งของนักการเมือง ซึ่งแสดงภาพให้เห็นในหลายกรณี จากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา
นักการเมืองภายใต้สังกัดของประธานสโมสร ชัยนาท, สุโขทัย, ราชบุรี และสุพรรณบุรี พาเหรดกันเข้าสู่สภาในช่วงเดียวกับที่สโมสรเหล่านี้ ยังคงโลดแล่นอยู่ในลีกสูงสุด
หรือสองทีมที่ได้เลื่อนชั้นจากไทยลีก 4 ขึ้นสู่ไทยลีก 3 อย่างนครปฐม ยูไนเต็ด และขอนแก่น ยูไนเต็ด ผู้บริหารซึ่งเป็นนักการเมืองของทั้งสองทีม ล้วนเป็นสส.สอบผ่านทั้งคู่
ดร.พาณุวัฒน์ สะสมทรัพย์ ผู้จัดการทีมนครปฐม ยูไนเต็ด สามารถยึดเก้าอี้ สส.นครปฐม เขต 2 ด้วยการล้มเจ้าของตำแหน่งคนเก่า ขณะที่วัฒนา ช่างเหลา ประธานสโมสรขอนแก่น ยูไนเต็ด จากพรรคพลังประชารัฐ สามารถยึดเก้าอี้ สส. ในจังหวัดขอนแก่นมาได้ ทั้งที่เป็นถิ่นของขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้ามอย่างพรรคเพื่อไทย
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผลงานที่ดีบนสนามฟุตบอล มีผลไม่น้อย กับการชักจูงให้ประชาชน กากบาทเลือกนักการเมือง ยามเข้าคูหา การทำทีมกีฬา จึงเป็นการหาเสียงที่ดีอีกรูปแบบหนึ่ง
ไม่ต่างกัน พรรคอนาคตใหม่กับกีฬาอีสปอร์ต หนึ่งในจุดประสงค์ของการทำทีม ย่อมหวังถึงผลประโยชน์ในการเลือกตั้ง เพียงแต่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เลือกใช้กีฬา โปรโมตพรรคการเมือง ที่ตอบโจทย์กับกลุ่มเป้าหมายของพรรค
สิ่งสำคัญที่ทำให้พรรคอนาคตใหม่แตกต่าง คือพวกเขาเลือกไม่ใช้ทีมฟุตบอล ในการสร้างฐานเสียงเลือกตั้ง (ไม่มีสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ เป็นเจ้าของทีมฟุตบอลในไทยลีก 1-4 เลย) แต่เลือกสร้างทีมอีสปอร์ตในนามของพรรคขึ้นมา เพื่อตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายของตัวเอง
พรรคอนาคตใหม่ ได้รับการตอบรับอย่างดี จากกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มคนหลัก ที่เป็นแฟนกีฬาอีสปอร์ต การทำทีมอีสปอร์ตของพรรคอนาคตใหม่ สามารถดึงดูดความสนใจ ของคนวัยเยาว์ และแสดงภาพให้เห็นว่า พรรคมีจุดยืนทางสังคมในแนวทางเดียวกับคนวัยหนุ่มสาว
ขณะเดียวกัน กีฬาอีสปอร์ตกับพรรคอนาคตใหม่ มีภาพลักษณ์ไปในทางเดียวกันอย่างชัดเจน ในฐานะกีฬา และพรรคการเมืองทางเลือกใหม่ ที่ฉีกกรอบจากภาพเดิมๆ ให้เข้ากับความต้องการ และพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่
เมื่อดูถึงผลการเลือกตั้ง ในพ.ศ. 2562 เห็นได้ว่า เก้าอี้สส.ของพรรคอนาคตใหม่ ส่วนใหญ่มาจาก สส.แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งเป็นการรวมคะแนนจากคนทั้งประเทศ มากถึง 50 ที่นั่ง เยอะที่สุดจากทุกพรรคการเมือง ในขณะที่ สส.แบบแบ่งเขต พรรคสีส้มได้เก้าอี้มาเพียง 31 ที่นั่งเท่านั้น
การทำสโมสรฟุตบอล ซึ่งถูกจำกัดด้วยเขตที่ตั้งของสโมสร ไม่ตอบโจทย์ กับแนวทางการเดินหมากทางการเมืองของพรรคอนาคตใหม่ ในขณะที่กีฬาอีสปอร์ต ไม่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่ สามารถโปรโมตทีมกีฬา ที่ทุกคนสามารถเป็นแฟนคลับได้ผ่านโลกออนไลน์
หากพรรคอนาคตใหม่ สามารถโชว์ภาพลักษณ์ในการทำทีมอีสปอร์ตอย่างจริงจัง และประสบความสำเร็จ วิสัยทัศน์และความเชื่อมั่นของตัวนักการเมือง สามารถแสดงผ่านทีมอีสปอร์ตออกมาได้ ไม่ต่างอะไรกับที่ นักการเมืองหลายคนแสดงความสามารถในการบริหารของตัวเองผ่านทีมฟุตบอล
คนไทยได้ประโยชน์
ผลประโยชน์ทางการเมือง เป็นหนึ่งในแรงจูงใจสำคัญ ให้นักการเมือง ลงมาทำกิจกรรม กับวงการกีฬา อย่างไรก็ดี นักการเมืองไม่ใช่คนกลุ่มเดียว ที่ได้ผลประโยชน์ เพราะแฟนกีฬา ล้วนได้รับผลดีด้วยเช่นกัน
ไม่ต่างอะไรกับหลักกลไกตลาดในโลกทุนนิยม เมื่อมีการแข่งขัน ทุกคนต้องพัฒนาคุณภาพสินค้าของตัวเอง เพื่อเอาใจลูกค้า แข่งขันกับคนอื่น วงการฟุตบอลไทยที่เต็มไปด้วยนักการเมืองและนักธุรกิจ ที่ลงมาทำทีมบอล ต้องแข่งขันกัน ทำผลงานให้ดีที่สุด เพื่อเอาใจแฟนบอลในท้องถิ่น เมื่อการแข่งขันมาก ส่งผลให้คุณภาพฟุตบอลไทย พัฒนาขึ้นไปด้วย
นับตั้งแต่นักการเมือง ทยอยเข้ามาบริหารทีมฟุตบอล ฟุตบอลไทยค่อยๆพัฒนาขึ้นตามลำดับ กลายเป็นลีกที่มีคุณภาพ มีความเป็นมืออาชีพ นักฟุตบอล, บุคลากร, สนามฟุตบอล ความพร้อมต่างๆ มีการพัฒนา ส่งผลดีจนถึงฟุตบอลในระดับทีมชาติ
วงการอีสปอร์ต ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก การลงมาทำทีมของพรรคอนาคตใหม่ คือการก้าวสู่ความท้าทาย ที่พรรคการเมือง ไม่เคยทำมาก่อน หากพรรคการเมืองอื่น ต้องการแข่งขัน ในการหาเสียงกับพรรคของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หมายความว่า พวกเขาต้องสร้างทีมอีสปอร์ต ขึ้นมาเช่นกัน
พรรคอนาคตใหม่ ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนากีฬาอีสปอร์ต ตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ที่เห็นว่า วงการนี้สามารถไปได้ไกล มากกว่าที่คนไทยหลายคนจะคาดคิด
“ต้องยอมรับว่านี่เป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมแพร่หลาย และเติบโตเร็วมากในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมา ดูได้จากมูลค่าการตลาดที่มหาศาล การแข่งขันเกม มีคนดูหลายร้อยล้านวิว ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่เติบโตในเศรษฐกิจสมัยใหม่ รวมถึง ยังเป็นโอกาสในการพัฒนา ทักษะทางดิจิตอลของคนไทย” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ให้สัมภาษณ์กับ Main Stand
นอกจากนี้ สมาชิกพรรคอนาคตใหม่ เคยชูนโยบายผลักดันให้อีสปอร์ต เป็นวิชาทางเลือกในโรงเรียน ไม่ต่างอะไรกับกีฬาประเภทอื่น เหมือนกับกีฬาฟุตบอล ที่มีการสนับสนุนให้เล่นอย่างจริงจังในสถานศึกษา
อนาคตของกีฬาอีสปอร์ตจะเป็นอย่างไร เติบโตตามการคาดการณ์ หรือเป็นแค่กระแสดอกไม้ไฟ เป็นเรื่องยากที่จะคาดเดา แต่การทำทีมอีสปอร์ตของพรรคอนาคตใหม่ ถือเป็นก้าวที่น่าสนใจ สำหรับวงการกีฬา และวงการการเมืองบ้านเรา
ไม่แน่ว่า การสร้างทีมอีสปอร์ตของพรรคอนาคตใหม่ อาจเป็นกลไกเล็กๆ ที่ช่วยผลักดันให้กีฬาอีสปอร์ต เติบโตไปในอนาคตอย่างมั่นคง เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในวงการฟุตบอลบ้านเรา
อัลบั้มภาพ 6 ภาพ