ท่องตามเส้นทาง “ทวารวดี” ที่ราชบุรี-กาญจฯ-สุพรรณ-นครปฐม
"ทวารวดี" ชื่อนี้อาจไม่คุ้นหูคนทั่วไป ยิ่งหากไม่ได้สนใจประวัติศาสตร์ อาจไม่รู้ว่ายุคทวารวดีนั้น ถือเป็น "ปฐมบท" ของยุคประวัติศาสตร์ไทย พูดง่ายๆ ว่า "ยุคประวัติศาสตร์" ของเรา เริ่มขึ้นตรงนี้
การศึกษาทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี กำหนดช่วงเวลาการเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ โดยเริ่มจากที่มนุษย์ในชุมชนนั้นรู้จักภาษาเขียน หรือการใช้ตัวอักษร ยุคทวารวดีถือเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ เนื่องจาก มีการค้นพบจารึกบนหลังเหรียญที่กล่าวถึงอาณาจักรนี้ ว่า "ศรีทวารวดี ศวรปุณยะ" ซึ่งนับเป็นการค้นพบหลักฐานที่บันทึกด้วยภาษาเขียนเป็นยุคแรกในประเทศไทย คำว่าทวารวดี แปลว่าเป็นปากประตู หรือประตูการค้า มีนัยถึงนครที่มีทะเลล้อม หรือติดต่อทะเลทำให้ค้าขายได้สะดวก
ย้อนกลับไปราวพุทธศตวรรษที่ 6 ชาวอินเดียและจีน เข้ามาค้าขายในดินแดนสุวรรณภูมิของเราพร้อมกับนำความเชื่อทางศาสนา การปกครอง และศิลปกรรมเข้ามาเผยแพร่ ส่งผลให้ดินแดนลุ่มแม่น้ำท่าจีนด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะชุมชนโบราณอู่ทอง จ. สุพรรณบุรี ที่เดิมเป็นสังคมหมู่บ้าน เริ่มรับวัฒนธรรมมาพัฒนาและเปลี่ยนแปลงชุมชนขึ้นเป็นสังคมเมืองในพุทธศตวรรษที่ 7-8 มีการขุดคูน้ำคันดิน การจัดระเบียบการปกครอง มีวัฒนธรรมประเพณีที่พัฒนาขึ้นโดยมีอารยธรรมอินเดียเป็นแม่แบบ อีกทั้งส่งผลผลักดันให้ชุมชนในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่อยู่ใกล้เคียง ทั้งราชบุรี นครปฐม และกาญจนบุรี เริ่มพัฒนาขึ้นเป็นเมืองเช่นกัน ก่อเป็นกลุ่มวัฒนธรรมยุค "ทวารวดี" เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคกลาง และสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ หรือ สนท. ร่วมกันจัดแนะนำเส้นทาง เที่ยวตามรอยทวารวดี 4 จังหวัด บนพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและท่าจีน ได้แก่ ราชบุรี กาญจนบุรี นครปฐมและ สุพรรณบุรี เพื่อเปิดเส้นทางท่องเที่ยวเส้นทางใหม่ ชวนนักเที่ยวผู้สนใจทางโบราณคดี ย้อนอดีตไปสู่จุดเริ่มต้นของยุคประวัติศาสตร์ไทย
"นายรอบรู้" ติดตามคณะสื่อมวลชนไปเที่ยวตามเส้นทางร่องรอยทวารวดีครั้งนี้ด้วย เรื่องราวเบื้องหลังซากโบราณสถาน พระพุทธรูปโบราณ และโบราณวัตถุต่างๆ ยุคทวารวดี มีอะไรน่าสนใจบ้าง ต้องตามไปพิสูจน์กัน!
ร่องรอยทวารวดีในเมืองโอ่งมังกร
จังหวัดแรกที่เราไปตามรอยกันคือ ราชบุรี เมืองนี้ไม่ได้มีแค่โอ่งมังกร หรือที่พักสวยน่านอน ใน อ. สวนผึ้ง เท่านั้น แต่ในสายตาของนักประวัติศาสตร์ ราชบุรีคือขุมทรัพย์ของหลักฐานโบราณคดีที่สำคัญ ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ มาจนถึงยุครัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะยุคทวารวดีนั้นนับว่าน่าสนใจมากคณะสื่อมวลชนเริ่มต้นที่ ถ้ำฤาษีเขางู ใน ต. เขางู อ. เมืองราชบุรี
เราไปชมพระพุทธรูปจำหลักบนผนังถ้ำ เป็นพระพุทธรูปปางแสดงปฐมเทศนา ประทับห้อยพระบาท ซึ่งดูแปลกตาต่างจากพระพุทธรูปยุคอื่น ระหว่างพระบาทมีจารึกว่า "ปุญกรมชฺระศรีสมาธิคุปต" แปลว่าพระศรีสมาธิคุปตะเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยการทำบุญ พระพุทธรูปที่มีลักษณะเช่นนี้นิยมสร้างกันในสมัยทวารวดี ดังปรากฎอยู่หลายแห่ง พุทธศิลป์ต่างๆ ทั้ง พระพักต์ ลวดลายจีวร ท่าประทับนั่ง รวมถึงอักษรจารึกซึ่งเป็นอักษรปัลวะ และคำว่า "คุปตะ" ล้วนได้รับอิทธิพลจากอินเดียสมัยคุปตะ (ราว พ.ศ. 1000-1100) แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของอินเดียที่มีต่อการกำเนิดวัฒนธรรมทวารวดีในย่านนี้
จากนั้นเรามาที่ วัดมหาธาตุ ในตัวเมืองราชบุรี วัดแห่งนี้ สันนิษฐานว่าเดิมสร้างขึ้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 13 ในยุคทวารวดีเช่นกัน แต่ต่อมาเมื่อวัฒนธรรมขอมแพร่เข้ามาและมีอำนาจขึ้นแทน จึงได้มีการดัดแปลงศาสนสถานเดิมให้เป็นพระปรางค์แบบขอมที่สวยงาม และสร้างกำแพงศิลาแลงล้อมรอบดังที่เห็นในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ยังเหลือร่องรอยทวารวดีให้ชมอยู่ เช่น ที่พระระเบียง มีพระพุทธรูปศิลปะทวารวดีหลายองค์ องค์ที่สำคัญคือพระพุทธรูปประทับยืน ปางแสดงธรรมทั้งสองพระหัตถ์ มีจารึกอักษรปัลลวะเช่นเดียวกัน เป็นคาถา "เย ธมฺมา" ซึ่งเป็นคาถาสำคัญในยุคนั้น
คาถา เย ธมฺมา ถือเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา แปลสรุปความว่า "ธรรมทั้งหลายล้วนเกิดแต่เหตุ" มีเรื่องเล่าตามพุทธประวัติว่า หลังได้ฟังคาถานี้ พระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรจึงนับถือพระพุทธศาสนา เข้ามาเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้า พุทธศาสนิกชนจึงนับถือกันเป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์ และนิยมจารึกไว้โดยมีนัยเพื่อประกาศพระพุทธศาสนาให้เผยแพร่ออกไป ทำให้เรามักพบคาถา เย ธมฺมาปรากฏอยู่ในงานศิลปกรรมทางพุทธศาสนาในยุคแรก เช่นศิลปะทวารวดี ศิลปะศรีวิชัย รวมถึงที่วัดมหาธาตุแห่งนี้
ทั้งคณะเริ่มเครื่องติด อยากไปชมศิลปะทวารวดีให้เห็นภาพมากขึ้นอีก จึงต้องบึ่งรถไปต่อที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ซึ่งรวบรวมหลักฐานโบราณคดีจากเมืองโบราณคูบัว เมืองที่สำคัญสมัยทวารวดี ใน จ. ราชบุรี นำมาเก็บไว้ เช่น พระพุทธรูปดินเผา พระโพธิสัตว์ รวมถึงประติมากรรมรูปคน สัตว์ ยักษ์ มาร ที่ทำเป็นลวดลายประดับองค์เจดีย์ ประติมากรรมรูปพ่อค้าชาวตะวันออกกลาง ฯลฯ สิ่งที่น่าสนใจในพิพิธภัณฑ์นี้อีกอย่าง คือ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี ศิลปะลพบุรี สมัยพุทธศตวรรษที่ 18 ซึ่งพบเพียง 5 ชิ้นในประเทศ พระโพธิสัตว์องค์นี้เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า วัฒนธรรมจากขอมได้เข้ามาแทนที่วัฒนธรรมทวารวดีที่เสื่อมอำนาจลง
เกริ่นถึงเมืองโบราณคูบัว คงต้องอธิบายสักนิดว่า เมืองนี้เป็นเมืองท่าสำคัญริมแม่น้ำอ้อม (แม่น้ำแม่กลองสายเดิม) ยุคหลัง พ.ศ. 1200เจริญรุ่งเรืองมากและเป็นจุดค้าขายกับจีน อินเดีย เปอร์เซีย ทำให้ขุดพบศิลปวัตถุจำนวนมาก เราอยากไปเยี่ยมชมเมืองโบราณคูบัว แต่เนื่องจากมีเวลาจำกัด คณะสื่อมวลชนจึงตัดสินใจไปที่ จิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว แทน จิปาถะภัณฑ์สถานฯ เป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ตั้งอยู่บริเวณเมืองโบราณคูบัว ชาวบ้านเล่าว่าในอดีตเมื่อฝนตก น้ำจะชะหน้าดินออกจนเห็นเศียรพระพุทธรูปกองเต็มไปหมด ชาวบ้านในอดีตไม่ทราบว่าเป็นของมีค่าทางประวัติศาสตร์จึงนำไปขาย ปัจจุบันเหลือโบราณวัตถุบางส่วน ชาวบ้าน นำโดย ดร. อุดม สมพร จึงนำมาจัดแสดงให้ลูกหลานได้ดู และยังจัดแสดงวิถีชีวิตชาวไทยวน ซึ่งเป็นคนท้องถิ่นที่นี่ไว้อย่างน่าชมด้วย เช่น วิถีการกิน การคลอด การอยู่ไฟ การทอผ้า ฯลฯ
ถึง กาญจนบุรี ต้องแวะที่ ปราสาทเมืองสิงห์
เราไปตามรอยทวารวดีกันต่อที่ จ. กาญจนบุรี จังหวัดนี้มีร่องรอยอารยธรรมทวารวดีเหลืออยู่ และมีอารยธรรมขอม ซึ่งเป็นยุคต่อมาหลังจากทวารวดีเสื่อมสลายลง โดยเฉพาะปราสาทเมืองสิงห์ ซึ่งเป็นปราสาทหินที่เปรียบเสมือนเพชรเม็ดงามยุคขอมของเมืองกาญจน์
รอยอารยธรรมทวารวดีที่สำคัญ เช่น โบราณสถานพงตึก ต.พงตึก อ. ท่ามะกา ซึ่งเป็นซากปราสาทหิน มองผิวเผินอาจคิดว่าเป็นปราสาทหินยุคขอม แต่นักวิชาการอธิบายว่าเป็นศาสนสถานยุคทวารวดี โดยสังเกตุจากมุมของปราสาทที่แตกต่างกัน ที่นี่ขุดพบตะเกียงโรมันสำริดยุคโบราณ (ปัจจุบันเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร) และพระพุทธรูปศิลปะทวารวดีจำนวนมาก อีกที่หนึ่งคือ วัดดงสัก ซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน มีเทวรูปศิลารูปพระนารายณ์สี่กรแบบอินเดียยุคทวารวดี ขุดพบบริเวณโบราณสถานพงตึก อย่างไรก็ตามสถานที่ทั้งสองนี้ยังไม่ได้ปรับปรุงให้สะดวกสบายต้อนรับนักท่องเที่ยว จึงเหมาะสำหรับคอประวัติศาสตร์ตัวจริงมากกว่าคนคิดจะมาเดินเล่นถ่ายรูปสนุกๆ ส่วน อุทยานประวัติศาสตร์ ปราสาทเมืองสิงห์ นั้น ไม่ควรพลาดชมโดยเด็ดขาด เพราะถือเป็นอีกไฮไลต์บนเส้นทางนี้
ปราสาทเมืองสิงห์สร้างขึ้นเพื่อเป็นศาสนสถานในพระพุทธศาสนา นิกายมหายาน รูปแบบคล้ายกับปราสาทที่สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ.1720-1780) กษัตริย์ขอมนักสร้างปราสาท กรมศิลปากรขุดพบโบราณวัตถุชิ้นสำคัญคือ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระพุทธรูปปางนาคปรก และพระนางปรัชญาปารมิตา ศิลปะสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เราเดินรอบปราสาทเมืองสิงห์แล้วต้องทึ่งกับความศรัทธาในพุทธศาสนาของคนโบราณ!
เข้าสู่ใจกลางอารยธรรมทวารวดี ที่เมืองอู่ทอง
นักโบราณคดีต่างกล่าวว่าเมืองอู่ทอง คือใจกลางของอารยธรรมทวารวดี แถบลุ่มแม่น้ำท่าจีน-เจ้าพระยา ขบวนรถของคณะสื่อฯ จึงล้อหมุนต่อมาที่ จ. สุพรรณบุรี เพื่อมเยี่ยมชม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง ซึ่งเป็นที่รวบรวมโบราณวัตถุสมัยทวารวดีชิ้นเอกของประเทศ จนอาจกล่าวได้ว่าเป็น "ไคลแมกซ์" ของการตามรอยครั้งนี้
บริเวณนี้ เดิมคือเมืองโบราณอู่ทอง ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจรเข้สามพัน ราวพุทธศตวรรษที่ 5-9 มีการติดต่อค้าขายกับต่างชาติ เช่น จีน เวียดนาม อินเดีย เปอร์เซีย และยุโรป ฯลฯ ต่อมาปลายพุทธศตวรรษที่ 11 อาณาจักรฟูนันล่มสลายลง อาณาจักรทวารวดีจึงเจริญขึ้นแทนโดยมีเมืองอู่ทองเป็นศูนย์กลาง มีการค้นพบเหรียญเงินสมัยพุทธศตวรรษที่ 12 จารึกคำว่า "ศรีทวารวดี ศวรปุณยะ" เป็นอักษรปัลลวะด้วย ซึ่งแปลว่า บุญกุศลของพระราชาแห่งศรีทวารวดี ต่อมาจึงกลายเป็นชื่อของยุคนี้นั่นเอง
เมืองอู่ทองเป็นทั้งศูนย์กลางการค้า ศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ในยุคนั้น จึงพบหลักฐานสำคัญจำนวนมาก เช่น พระพุทธรูปปูนปั้นศิลปะอมารวดีแบบอินเดีย ลูกปัดแก้ว เหรียญกษาปณ์ เหรียญโรมัน ซึ่งนำมาเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ อู่ทอง ชิ้นที่สำคัญชนิดพลาดชมไม่ได้ ได้แก่ ประติมากรรมดินเผารูปพระสงฆ์สามรูปกำลังอุ้มบาตร-ซึ่งลายจีวรเป็นศิลปะอมารวดี พุทธศตวรรษที่ 4-10 นับเป็นหลักฐานบ่งชี้การเผยแผ่พุทธศาสนาในยุคแรกเริ่ม และนับเป็นหลักฐานแสดงถึงอิทธิพลศิลปะอินเดียที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย เครื่องทองสมัยทวารวดี-นับเป็นเครื่องประดับทองคำที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย อายุราว 1,200-1,600 ปี และธรรมจักรศิลาศิลปะทวารวดี ที่แกะลวดลายสวยงาม
นอกจากนี้ยังมีโบราณวัตถุที่น่าสนใจ เช่น แผ่นดินเผารูปตัวคน รูปคนฟ้อนรำ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการแต่งกายและการละเล่นในยุคนั้น ที่น่าแวะชมอีกอย่าง คือการจัดแสดงการก่อร่างสร้างเมืองอู่ทอง เป็นแบบมัลติวิชัน ซึ่งชวนตื่นตาตื่นใจดีทีเดียว
จบเส้นทางที่พระปฐมเจดีย์
จากสุพรรณบุรี เราเดินทางต่อมาที่นครปฐม เพื่อชม พระปฐมเจดีย์ ซึ่งเสมือนเป็นสัญลักษณ์ของการหยั่งรากของพระพุทธศาสนาในดินแดนแห่งนี้ตั้งแต่ยุคทวารวดี ในช่วงที่เมืองโบราณคูบัว จ. ราชบุรีกำลังเติบโตรุ่งเรือง บริเวณพื้นที่ จ. นครปฐม เมืองนครชัยศรี ก็เริ่มก่อตัวและพัฒนาขึ้นเช่นเดียวกัน ต่อมาเมืองนครชัยศรีเจริญถึงขีดสุดในช่วง พ.ศ. 1100 กระทั่งขึ้นแทนที่เมืองอู่ทอง (สุพรรณบุรี) ซึ่งเจริญอยู่ก่อนหน้า ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนาของคนในเมืองนครชัยศรี ทำให้มีการสร้างพระประโทณเจดีย์ที่ใจกลางเมือง และสร้างพระปฐมเจดีย์อยู่ห่างออกมาราว 4 กม.
องค์พระปฐมเจดีย์ได้รับการบูรณะปรับปรุงมาหลายยุคสมัย การบูรณะครั้งสำคัญเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์ท่านทรงเชื่อว่าเจดีย์องค์นี้เป็นเจดีย์แรกแห่งสยามที่พระเจ้าอโศกมหาราชให้สร้างไว้ตั้งแต่ พ.ศ . 218 จึงตั้งชื่อว่า "พระปฐมเจดีย์" และโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะเป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบลังกา องค์เจดีย์ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบจากจีน สูง 120.45 ม. นับเป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดในประเทศ แต่ละวันมีผู้คนมากราบไหว้ไม่ขาดสาย โดยเฉพาะคนนครปฐมซึ่งถือว่าพระปฐมเจดีย์เป็นศาสนสถานคู่บ้านคู่เมือง
ด้านข้างพระปฐมเจดีย์ ทางด้าน ถ. ขวาพระ มี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ ซึ่งมีศิลปวัตถุน่าสนใจหลายอย่างจึงไม่ควรพลาดเช่นกัน การจัดแสดงส่วนใหญ่เน้นนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของ จ. นครปฐม ตั้งแต่สมัยทวารวดีจวบจนปัจจุบัน โดยมีโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ เช่น พระพุทธรูปศิลาปางเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ศิลปทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 12-16 ธรรมจักรขนาดใหญ่แบบต่างๆ หลายชิ้น และภาพจำหลักบนหินศิลปะทวารวดี ที่เป็นรูปพระพุทธเจ้าแสดงธรรม แวดล้อมด้วยพระสงฆ์และพระฤาษี แสดงให้เห็นถึงความเชื่อทางศาสนาที่หลากหลายในสังคมทวารวดี
คณะสื่อเดินออกพิพิธภัณฑ์ เราแวะเที่ยวกันที่พระราชวังสนามจันท์กันอีกเล็กน้อย ก่อนเดินทางกลับ ...สิ่งที่ได้เห็นในการเดินทางครั้งนี้ คือภาพที่ชัดเจนขึ้นของอาณาจักทวารวดีที่เคยเจริญรุ่งเรืองยิ่งใหม่เมื่อกว่าพันปีก่อน แม้ปัจจุบันเสื่อมสลายเหลือเพียงซากอิฐซากปูน แต่ก็ยังแฝงเรื่องราวความศรัทธาอันแรงกล้าในพุทธศาสนา และวิถีชีวิตของมนุษย์ในยุคนั้นที่ชวนค้นหาต่อไป...
ขอขอบคุณ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคกลาง และสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ หรือ สนท.
เรื่องและภาพ : ปณัสย์ พุ่มริ้ว
(คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขนาดใหญ่)
แวะชมแหล่งท่องเที่ยว เกาะช้าง เชียงคาน ภูเก็ต เขาใหญ่ และ ปาย
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook.. ได้ที่นี่เลย!!
อัลบั้มภาพ 10 ภาพ