แห่ผ้าขึ้นธาตุ ประเพณีสำคัญของคนเมืองคอน
ในวันมาฆบูชาที่ผ่านมา "นายรอบรู้" ได้เข้าร่วมงานบุญ ประเพณีการแห่ผ้าขึ้นธาตุ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อ. เมืองนครศรีธรรมราช ในวันนั้นพื้นที่อันกว้างของวัดพระมหาธาตุฯคลาคล่ำไปด้วยประชาชนทั้งชาวนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียงผู้ศรัทธาในพระบรมธาตุซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุมาร่วมแห่ผ้าขึ้นธาตุครั้งนี้เป็นจำนวนมาก
การแห่ผ้าขึ้นธาตุ มีปราฎกครั้งใดไม่มีใครทราบ แต่มีหลักฐานในสมัยรัชกาลที่ 2 ว่าครั้งนั้นกระทำกันในวันวิสาขบูชาหรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 กำหนดให้แห่ผ้าขึ้นธาตุในวันมาฆบูชาอีกวันหนึ่ง และได้ถือปฎิบัติสืบมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวประเพณีนี้ว่า ในสมัยโบราณประมาณปี พ.ศ. 1773 ขณะที่กษัตริย์สามพี่น้อง คือ พระเจ้าศรีโศกธรรมาโศกราช พระเจ้าจันทรภาณุและพระเจ้าพงษาสุระ กำลังสมโภชพระบรมธาตุ ก็พอดีพระบฎซึ่งเป็นผ้าแถบผืนใหญ่ยาวผืนหนึ่ง ถูกคลื่นซัดขึ้นมาที่ชายหาดอำเภอปากพนัง นครศรีธรรมราช ชาวบ้านได้เก็บผ้านั้นไปซักทำความสะอาดแล้วถวายพระเจ้าศรีธรรมาโคกราช พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศหาเจ้าของ จึงทรงทราบว่า ผู้เป็นเจ้าของคือกลุ่มชาวพุทธประมาณร้อยคนที่เดินทางมาจากหงสาวดี กำลังนำพระบฏไปบูชาพระพุทธบาทที่ลังกา ทว่าระหว่างที่เดินมามากลางทะเลนั้นเกิดพายุเรือแตก มีผู้รอดชีวิตมาได้ราวสิบคนเท่านั้น พระเจ้าศรีธรรมมาโศกราชทรงเสนอให้นำพระบฎนั้นไปห่มองค์พระธาตุเจดีย์เนื่องในโอกาสสมโภชพระบรมธาตุผู้เป็นเจ้าของผ้าพระบฎก็อนุโมทนาด้วยจากนั้นชาวนครศรีธรรมราชก็ได้ถือปฎิบัติเป็นต้นมา
นักวิชาการสันนิษฐานว่าประเพณีแห่งผ้าขึ้นธาตุนี้ น่าจะได้รับแบบแผนปฎิบัติมาจากอินเดีย แฝงความคติความเชื่อที่ว่า การสร้างบุญกุศลที่ให้ผลสัมฤทธิ์นั้นจะต้องปฎิบัติต่อพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า แม้พระพุทธองค์จะเสด็จสู่ปรินิพพานแล้ว การกราบไหว้บูชาสัญลักษณ์แทนพระองค์เช่นเจดีย์ หรือพระพุทธรูป ก็ให้ผลเสมือนได้กราบไหว้บูชาพรพุทธองค์ด้วยเช่นกัน
เดินผ่านกลุ่มคนและพ่อค้าแม่ค้าที่เข้ามารุมล้อมเพื่อขายดอกไม้ ธูปเทียน จนได้เจอกลุ่มชาวบ้านที่รวมตัวกันซื้อผ้าไตรสีเหลืองที่มีพ่อค้ามาตัดขายกันเป็นเมตร สอบถามจนได้ความว่าทั้งวันนี้ใครที่อยากแห่ผ้าธาตุก็ทำได้เลย ไม่ต้องรอให้มีการรวมตัวเป็นคณะใหญ่ โดยซื้อผ้าจากพ่อค้าแม่ค้า ที่ขายอยู่โดยรอบ ไปแห่ทักษิณรอบพระบรมธาตุเจดีย์ 3 รอบก่อนนำเข้าไปผูกรอบเจดีย์รายที่วางตัวล้อมอบองค์ แตกต่างจากแบบเดิมที่ชาวบ้านจะนำผ้ามาตัดเย็บเป็นผืนยาวก่อนวาดภาพสีสันงดงาม ประดับประดาด้วยลูกปัดสีและดอกไม้ ชาวบ้านจะร่วมตัวกันแห่อย่างเอิกเกริก ปัจจุบันนอกจากพระบรมธาตุเจดีย์เมืองนครแล้ว ยังเห็นในตามวัดต่างๆ ใน จ. นครศรีธรรมราชและพัทลุง
เรื่องและภาพ: เอกพงศ์ ศรทอง
(คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขนาดใหญ่)
แวะชมแหล่งท่องเที่ยว เกาะช้าง เชียงคาน ภูเก็ต เขาใหญ่ และ ปาย
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook.. ได้ที่นี่เลย!!