นายรอบรู้ หัวใจสีเขียว พาเที่ยว จ.สมุทรปราการ
ปั่นชมธรรมชาติ สูดอากาศบริสุทธิ์ ที่คุ้งบางกะเจ้า
"ไปทริปกระเพาะหมูพระประแดงกันมั้ย" "น่าสนใจนะ ว่าแต่ไปกินกระเพาะหมู ไกลถึงพระประแดงเลยเหรอ" "ไม่ใช่ ! ฉันหมายถึงคุ้งบางกะเจ้าที่พระประแดงต่างหาก" "แล้วกระเพาะหมู?" "ไป ! ฉันจะพาไปดูว่าที่นั่นกระเพาะหมูยังไง" ไม่กี่อึดใจเราก็เดินทางมาถึงดินแดนที่ใครๆ ขนานนามว่า "กระเพาะหมู" ทัศนียภาพรอบข้างเปลี่ยนจากตึกสูงและสิ่งก่อสร้างเป็นคันคลองร่องสวนและร่มไม้ ทันทีที่สายตาได้สบกับภาพตรงหน้า เราก็รู้สึกได้ทันใดว่าสถานที่แห่งนี้กำลังจะกลายเป็นอีกที่ที่เราตกหลุมรัก !
รู้จักคุ้งบางกะเจ้า
คุ้งบางกะเจ้าเป็นส่วนหนึ่งของ อ. พระประแดง จ. สมุทรปราการ ด้วยสัณฐานคล้ายกระเพาะอาหาร ใครๆ จึงเรียกพื้นที่นี้กันติดปากว่ากระเพาะหมู กระเพาะหมูขนาดใหญ่แห่งนี้มีแม่น้ำเจ้าพระยาล้อมรอบจึงดูคล้ายเกาะ และเกาะนี้ก็มีเนื้อที่กว้างใหญ่ถึง ๑.๒ หมื่นไร่ ครอบคลุมพื้นที่ถึง ๖ ตำบลของ อ. พระประแดง ได้แก่ ต. ทรงคนอง ต. บางยอ ต. บางกระสอบ ต. บางน้ำผึ้ง ต. บางกอบัว และ ต. บางกะเจ้า ถือเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ใกล้กรุงที่นอกจากจะอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติแล้ว ยังพรั่งพร้อมด้วยวิถีวัฒนธรรมและภูมิปัญญา ในปี พ.ศ. 2549 จึงได้รับการยกย่องจากนิตยสาร ไทม์ส (Times) ให้เป็น The Best Urban Oasis of Asia
คุ้งสีเขียว สวรรค์ของนักปั่น
ในวันที่พาหนะ 2 ล้อกลายเป็นสัญลักษณ์ของความเก๋ เท่ ฮิป และกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งของคนเมืองใหญ่ ชาวคุ้งบางกะเจ้ากลับมองวิถีแห่งจักรยานเป็นเรื่องปกติธรรมดา การขี่จักรยานเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันเหมือนการกินข้าวหรืออาบน้ำ ดังนั้นวิธีรู้จักคุ้งบางกะเจ้าที่ดีที่สุดสำหรับเราจึงเป็นการเรียนรู้ผ่านจักรยานจุดเช่ารถจักรยานมีด้วยกัน 2 จุด คือ ที่สวนป่าทรงคนอง หมู่ 2 (สวนป่าเกดน้อมเกล้า) ใน ต. ทรงคนอง และบ้านธูปสมุนไพร ใน ต. บางน้ำผึ้ง
เมื่อจักรยานพร้อม แผนที่พร้อม ก็เริ่มปั่นได้ แต่หากไม่มีความรู้เรื่องพื้นที่และเส้นทางใน ๖ ตำบลของคุ้งบางกะเจ้า ให้ตรงไปยังศูนย์บริการการท่องเที่ยวด้วยจักรยาน หรือจะถามหาบ้านลุงกุล ต. บางยอ ก็ได้ลุงกุล หรือ กุล สาธิตานุรักษ์ เป็นประธานชมรมจักรยานรักษ์บางยอและผู้เชี่ยวชาญเส้นทางจักรยานในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า
หากเข้าไปขอคำแนะนำจากคุณลุง นักปั่นจะได้ข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางหลายเส้นทางเพื่อเลือกให้สอดคล้องกับศักยภาพและความต้องการของตนเอง ถ้าชอบผจญภัย ลุงกุลจะแนะให้ขี่ไปบนเส้นทางวิบากระยะทาง 25 กิโลเมตร แต่ถ้าเป็นมือใหม่ อยากปั่นสบายๆ ก็มีเส้นทาง 7 กิโลเมตรให้ปั่นซึมซับความงามของธรรมชาติอย่างไม่ต้องเหนื่อยมาก ส่วนเส้นทางยอดนิยมที่นักปั่นส่วนใหญ่สมัครใจปั่นให้รู้จักคุ้งบางกะเจ้า คือเส้นทางที่เราแอบเรียกในใจว่า "เส้นทางสายกลาง" ระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร ผ่าน 6 ตำบลของคุ้งบางกะเจ้าไปบนถนนใหญ่บ้าง ลัดเลาะไปตามคันคลองร่องสวนบ้าง และเรากำลังจะนำคุณปั่นไปบนเส้นทางนี้
สัมผัสรากเหง้าของ คุ้งบางกะเจ้าที่ทรงคนอง
หากยึดสะพานภูมิพลเป็นหมุดหมายแรกของการมาถึงคุ้งบางกะเจ้า ก็ต้องถือว่า ต. ทรงคนองเป็น "หน้าบ้าน" ที่ผู้มาเยือนจะได้พบก่อนผ่านไปรู้จักตำบลอื่นๆ และในฐานะเจ้าบ้าน คงไม่มีตำบลใดทำหน้าที่นี้ได้ดีเท่าตำบลนี้ ด้วยมีสถานที่สำคัญหลายแห่งที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับคุ้งบางกะเจ้า โดยเฉพาะ พิพิธภัณฑ์คลองลัดโพธิ์ บริเวณสะพานภูมิพล ซึ่งจัดแสดงประวัติความเป็นมาของการสร้างสะพานภูมิพล คลองลัดโพธิ์ ชุมชนคลองลัดโพธิ์ ด้วยการนำเสนอที่น่าสนใจพร้อมเครื่องมือสมัยใหม่ปั่นต่อไปอีกนิดจะพบ
พิพิธภัณฑ์มอญวัดคันลัด จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับคนมอญถิ่นพระประแดงให้ผู้มาเยือนได้ทราบว่า ผืนดินที่ย่ำเดินอยู่นี้เป็นถิ่นชาวมอญซึ่งพึ่งพิงอิงอาศัยมาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ อุดมด้วยวัฒนธรรมล้ำค่าของชาวมอญ สิ่งยืนยันถึงการสร้างบ้านแปงเมืองของมอญในพื้นที่นี้คือมี หมู่บ้านมอญ บริเวณรอบวัดคันลัด บ้านเรือนของคนมอญเป็นบ้านไม้คล้ายเรือนไทยใต้ถุนสูง มีลานโล่งกว้างไว้เล่นสะบ้าในช่วงสงกรานต์พิพิธภัณฑ์ทั้ง 2 แห่งถือเป็นแหล่งความรู้เชิงวัฒนธรรมของคุ้งบางกะเจ้าที่ดีที่สุด
ส่วนข้อมูลเชิงธรรมชาตินั้น นักท่องเที่ยวต้องไปที่ สวนป่าทรงคนอง หมู่ 2 (สวนป่าเกดน้อมเกล้า) ศูนย์กลางการเรียนรู้เรื่องธรรมชาติซึ่งคนในท้องถิ่นร่วมกันจัดการและดูแลรักษา พร้อมเปิดให้ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมตลอดเวลา ใกล้กันนั้นมี วัดป่าเกด วัดเก่าแก่ของคุ้งบางกะเจ้าซึ่งมีจิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม รวมถึงหน้าบันรูปนารายณ์ทรงครุฑอันแสนวิจิตรให้ชม
ชมวิถีชีวิตพื้นบ้านในบางยอจาก ต. ทรงคนอง เราปั่นตรงขึ้นไปตาม ถ. เพชรหึงษ์จนเข้าสู่เขต ต. บางยอ ผ่าน สวนป่าเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พื้นที่อนุรักษ์ของโครงการสวนกลางมหานครซึ่งร่มรื่นไปด้วยพันธุ์ไม้ และเราก็มาถึงที่ตั้งของบ้านลุงกุล ที่ ซ. เพชรหึงษ์ 23 ซึ่งจัดตั้งเป็น ศูนย์บริการการท่องเที่ยวด้วยจักรยาน อันเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้สำหรับนักปั่นหน้าใหม่และแหล่งพบปะสังสรรค์ของสิงห์นักปั่นผู้เจนทาง ไม่ไกลจากบ้านลุงกุล มี สวนมะพร้าวน้ำหอมลุงพงษ์ศักดิ์ แถวเถื่อน ผู้ยึดอาชีพทำน้ำตาลมะพร้าวมากว่า 50 ปี มะพร้าวน้ำหอมถือเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของที่นี่ เช่นเดียวกับการทำน้ำตาลมะพร้าวซึ่งเป็นภูมิปัญญาสืบทอดมาจากบรรพบุรุษของชาวบางกะเจ้าที่นับวันจะหาดูได้ยากเต็มที
เที่ยวสวนป่า แหล่งเพาะกล้าพันธุ์ ที่บางกระสอบ
"ห้ามตัดต้นไม้ทุกต้นในพื้นที่ 6 ตำบลนี้" คือกฎสำคัญที่คนในชุมชนบางกะเจ้าร่วมกันบัญญัติไว้ ยิ่งปั่นลึกเข้าไปในสวนป่าและแหล่งเพาะกล้าพันธุ์ เรายิ่งกล้ายืนยันว่านี่คือกฎที่แข็งแกร่งที่สุดเมื่อปั่นจาก ถ. เพชรหึงษ์เข้าไปยัง ซ. เพชรหึงษ์ 22 เราก็พบบรรยากาศของผืนป่าใน สวนป่าชุมชนบางกระสอบ สวนป่าขนาดใหญ่ร่มรื่นด้วยไม้ยืนต้นประจำถิ่นอย่างหว้า จิก ลำพู ลำแพน เป็นทั้งที่อยู่อาศัยของหิ่งห้อยและบ้านของสัตว์น้อยใหญ่อีกมากมาย นอกจากนี้ยังมีลำคลองเส้นทางสัญจรของชาวบ้านซึ่ง 2 ฝั่งปกคลุมด้วยป่าจากเสียงลุงกุลให้ข้อมูลเรื่องป่าแว่วมาว่า "วิธีการปลูกป่าที่นี่คือปลูกต้นใหม่แซมไปกับต้นเก่า" เมื่อไม้เล็กแตกกิ่งก้าน โดยไม้ใหญ่ไม่ถูกตัดทำลาย ผืนดินแห่งนี้จึงกลายเป็นผืนป่าสีเขียวแห่งใหญ่ ผลแห่งการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างสิ่งมีชีวิตปั่นลึกต่อเข้าไปอีกในซอย เราได้พบโฮมสเตย์เล็กๆ ริมป่าจากชื่อ บ้านชายคลองริมน้ำ ที่ให้ผู้เข้าพักได้กิน-นอน-อยู่อย่างคนบางกะเจ้าของแท้
บรรยากาศรอบบ้านร่มรื่นเหมาะสำหรับหนีความวุ่นวายจากโลกภายนอกมาผ่อนพักกายใจ ไม่ใกล้ไม่ไกลจากนั้นมี สวนไม้ดอกไม้ประดับ สุพจน์ สำเภาเล็ก แหล่งเพาะพันธุ์ต้นอโกลนีมาหรือแก้ว-กาญจนา ชวนชม และหน้าวัว ผู้ชื่นชอบอโกลนีมาซึ่งได้สมญาว่าราชาแห่งไม้ประดับ ไม่ควรพลาดแวะชมสวนนี้ อีกสวนที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ สวนหมากแดงลุงกลม ซึ่งเพาะพันธุ์หมากแดงไว้จำหน่าย หมาก-แดงเป็นพืชตระกูลปาล์ม ใบและผลเป็นสีแดงสดสวยงาม ทนน้ำเค็มได้ดี ปัจจุบันที่นี่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์หมากแดงแหล่งใหญ่แหล่งหนึ่งของประเทศก่อนออกแรงปั่นกันต่อ เราสูดหายใจลึกๆ ตักตวงอากาศบริสุทธิ์เข้าไปจนเต็มปอด พลางตระหนักว่า กฎเหล็กที่ชาวบ้านให้ความร่วมมือปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัดนั้นส่งผลดีเช่นนี้เอง
ไม่มีคำว่าเหงาเมื่อเราไปบางน้ำผึ้ง
บรรยากาศรอบข้างเริ่มเปลี่ยนอีกครั้งเมื่อเราปั่นฉิวขึ้นไปยัง ต. บางน้ำผึ้ง สัญญาณของความคึกคักเริ่มปรากฏเมื่อเข้าใกล้ ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง ตลาดซึ่งเกิดจากการร่วมมือกันขององค์การบริหารส่วนตำบลและคนในชุมชน สินค้าในตลาดล้วนเป็นผลิตผลในท้องถิ่น จึงเป็นการสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน ขณะเดียวกันชาวบ้านก็มีส่วนร่วมในชุมชนอย่างเต็มที่
จุดน่าสนใจอีกแห่งอยู่ด้านหลังตลาด มีชื่อเป็นทางการว่า เส้นทางศึกษาธรรมชาติในโครงการสวนกลางมหานคร แต่เรียกกันง่ายๆ สั้นๆ ว่า สวนป่าบางน้ำผึ้ง สวนที่เกิดขึ้นตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งมีพระราชประสงค์ให้เพิ่มแหล่งศึกษาเรียนรู้ทางธรรมชาติมากขึ้น พื้นที่เพียงไม่กี่ไร่นี้จึงอัดแน่นไปด้วยความรู้เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในคุ้งบางกะเจ้าและความสำคัญของธรรมชาติที่มนุษย์ควรหวงแหนและดูแลรักษาได้รับความรู้จากห้องเรียนธรรมชาติกันจุใจแล้ว
เราจึงปั่นเจ้า 2 ล้อไปต่อที่ บ้านธูปสมุนไพร ศูนย์การเรียนรู้การผลิตธูปสมุนไพรแบบต่างๆ ทางเข้าบ้านธูปฯ เป็นทางปูนเล็กๆ ยกระดับเลียบร่องสวน รถใหญ่เข้าไม่ได้ ทางเส้นนี้จึงยังคงความเป็นธรรมชาติไว้ได้สมบูรณ์ที่สุด ที่บ้านธูปสมุนไพร นอกจากการทำธูปสารพัดรูปแบบ ยังมีกิจกรรมให้เข้าร่วมอีกหลากหลาย อาทิ การทำขนมไทย อาหารไทย การประดิษฐ์สิ่งของจากวัสดุเหลือใช้ ทุกกิจกรรมล้วนเป็นการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่ ผู้ที่สนใจต้องติดต่อมาล่วงหน้า ทางบ้านธูปฯ จะได้จัดเตรียมเนื้อหา อุปกรณ์การสอน และสถานที่ให้พร้อม เพื่อให้ผู้ฝึกอบรมได้รับความรู้อย่างเต็มที่สำหรับใครที่อยากซึมซับบรรยากาศยามค่ำคืน ใน ต. บางน้ำผึ้งมีที่พักหลายรูปแบบให้เลือก ใครอยากพักในหมู่บ้านเพื่อเข้าถึงความเป็นบางกะเจ้าแท้ๆ ก็มีโฮมสเตย์ให้พักแรม เช่น ผึ้งนางโฮมสเตย์ นอกจากจะได้กินอยู่อย่างชาวบางกะเจ้าแล้ว ยังจะได้ชมของเก่าอัน
มีค่าและหายาก เช่น เปลือกหอยนานาชนิด เครื่องประดับ ของใช้ในครัวเรือนของคนไทยในอดีต ที่ พิพิธภัณฑ์ของเก่า ซึ่งจัดแสดงในบริเวณโฮมสเตย์นี้ แถมถ้าใครไม่ได้นำจักรยานมาด้วย ก็มีจักรยานให้บริการฟรี หรือหากอยากสัมผัสธรรมชาติท่ามกลางบรรยากาศรีสอร์ตก็พอมีให้เลือกพักอยู่หลายแห่ง
ใกล้ชิดธรรมชาติ ย่านบางกอบัว
จากบ้านธูปสมุนไพร เราค่อยๆ ปั่นลัดเลาะคันคลองร่องสวนไปตามทางปูนยกระดับ บางช่วงมีราวกั้น 2 ฝั่งปั่นได้อุ่นใจ บางช่วงมีราวฝั่งเดียวแต่ยังปั่นได้แบบพอมีหลักยึด ขณะบางช่วงไร้ราวใดๆ กั้นขวางจนบางคนในหมู่พวกเราชื่นชมธรรมชาติเพลินไปนิดเผลอปั่นออกนอกทางปูนตกลงไปในร่องสวน ฉะนั้นใครไม่อยากสัมผัสธรรมชาติแบบ "เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน" คงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษปั่นชมธรรมชาติพลางกำกับเส้นทางกันไปพลาง เพียงครู่เดียวเราก็เข้าเขต ต. บางกอบัว ว่ากันว่าชื่อ "บางกอบัว" มีต้นเค้ามาจากคำว่า "บางกะบัว"
แม้ถ้อยคำอาจผิดเพี้ยนแปรเปลี่ยนไปจากวันเก่าก่อน แต่หัวใจสำคัญของการเป็นตำบลที่บริสุทธิ์สงบงามยังคงมีอยู่และดำเนินเรื่อยมาเราแวะ ฟาร์มเห็ดช่างแดง เป็นแห่งแรก ฟาร์มนี้เกิดจากใจรักบวกกับความอุตสาหะใฝ่เรียนรู้ของช่างแดง หรือ สมศักดิ์ ชัยเขื่อน-ขันธ์ ในปัจจุบันกลายเป็นฟาร์มเห็ดที่มีชื่อเสียง แถมยังเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องราวสารพันเกี่ยวกับเห็ดด้วย จากฟาร์มเห็ดไปไม่ไกล เราพบ วัดบางกอบัว ตั้งเด่นอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แวะไหว้พระเพื่อความเป็นสิริมงคลแล้วจึงเดินทางต่อไปยัง ซ. เพชรหึงษ์ 57 เพื่อชม วิสาหกิจชุมชนชมรมหมากผู้หมากเมีย สถานที่เพาะพันธุ์ "เพชรน้ำค้าง" ซึ่งเป็นหมากผู้หมากเมียพันธุ์ดั้งเดิมของคุ้งบางกะเจ้า ที่สมาชิกชมรมฯ ส่งขายเป็นรายได้เลี้ยงครอบครัวและคนในชุมชนนี้
ท่องปอดใหญ่ใกล้กรุงใน ต. บางกะเจ้า
และแล้วเราก็ปั่นมาถึง ต. บางกะเจ้า ตำบลเหนือสุดของกระเพาะหมู เดินทางเข้าสู่ พิพิธภัณฑ์ปลากัดไทย ซึ่งรวบรวมพันธุ์ปลากัดและมีนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับชุมชนพระประแดงอย่างจุใจ ก่อนจะเดินทางต่อไปยัง สวนสาธารณะและสวนพฤกษชาติศรีนคร-เขื่อนขันธ์ สวนขนาดใหญ่ใจกลางตำบล ทันทีที่ 2 ล้อและ 2 เท้าเข้าสู่เขตสวน เราก็เลิกกังขาในฉายาที่ใครๆ ตั้งให้สวนนี้ว่า "ปอดแห่งใหญ่ของกรุงเทพมหานคร"
ด้วยพื้นที่กว้างใหญ่กว่า 148 ไร่นั้นดารดาษด้วยพันธุ์ไม้หลากหลายล้อมรอบสระใหญ่ใจกลางสวน ภายในสวนมีทั้งศาลาให้ผู้มาเยือนนั่งพักผ่อนหย่อนใจ มีทั้งลานดูนก ลานอเนกประสงค์ และกิจกรรมหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการขี่จักรยานชมสวน การให้อาหารปลา หรือเพียงแค่เดินเล่นชมธรรมชาติก็เพียงพอแล้วสำหรับการเก็บความประทับใจกลับไปบ้านใครบางคนกล่าวไว้ว่า เราต้องช่วยกันรักษาต้นไม้ เพราะต้นไม้เท่านั้นที่จะรักษาเรา คำพูดนี้อาจไม่พอเพียงสำหรับบางกะเจ้า เพราะที่นี่ "คน สัตว์ และต้นไม้ คือลมหายใจเดียวกัน"
ความรู้สึกใหม่ในจุดเริ่มต้น
ก่อนกลับเราแวะชมความงามของสะพานภูมิพล สะพานเชื่อม 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา อันเป็นโครงการในพระราชดำริเพื่อแก้ปัญหาจราจรในย่านนี้ เรากลับมายังจุดเริ่มต้นด้วยความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดเส้นทางกว่า 20 กิโลเมตร เราได้เห็นความร่วมมือร่วมใจกันของคนในชุมชน เห็นวิถีธรรมชาติและวิถีวัฒนธรรมหลอมรวมกลายเป็นความงดงามลงตัวบนพื้นที่กระเพาะหมูแห่งนี้ขณะเฝ้าดูแสงสุดท้ายของวันลาลับขอบฟ้า ณ สะพานภูมิพล
ความคิดหนึ่งผุดพรายขึ้นอย่างแจ่มชัด - ความเข้มแข็งของชุมชนใดๆ ไม่จำเป็นต้องสร้างด้วยอิฐปูนหรือถนนหนทางชั้นดี แต่สร้างได้ด้วยรากอันแข็งแรงของต้นไม้และกิ่งก้านสาขาอันเหนียวแน่นของจิตใจซึ่งสอดประสานกันเป็นหนึ่งเดียว
**ที่เที่ยวหลายแห่งในคุ้งบางกะเจ้าไม่ได้เปิดให้เข้าชมทุกวัน ดังนั้นควรโทรศัพท์ติดต่อล่วงหน้า**
พิพิธภัณฑ์คลองลัดโพธิ์ เปิดวันศุกร์-เสาร์ คณะใหญ่ต้องติดต่อล่วงหน้า โทร. 0-2464-2057-8 พิพิธภัณฑ์มอญวัดคันลัด ติดต่อล่วงหน้า โทร. 08-7709-0304
สวนป่าทรงคนอง หมู่ 2 (สวนป่าเกดน้อมเกล้า) โทร. 08-6101-0704 ศูนย์บริการการท่องเที่ยวด้วยจักรยาน (บ้านลุงกุล) โทร. 0-2461-0560
สวนมะพร้าวน้ำหอมลุงพงษ์ศักดิ์ แถวเถื่อน ติดต่อล่วงหน้า โทร. 0-2461-0792 บ้านชายคลองริมน้ำ โทร. 08-7934-8134
สวนไม้ดอกไม้ประดับ สุพจน์ สำเภาเล็ก โทร. 08-9817-3728 สวนหมากแดงลุงกลม โทร. 0-2815-0373
ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง เปิดวันเสาร์-อาทิตย์ โทร. 0-2819-6762 บ้านธูปสมุนไพร ติดต่อล่วงหน้า โทร. 08-1801-3702
ผึ้งนางโฮมสเตย์ (พิพิธภัณฑ์ของเก่า) โทร. 0-2461-3810-1 Bangkok Tree House โทร. 08-2995-1150
ฟาร์มเห็ดช่างแดง โทร. 08-4317-7409 พิพิธภัณฑ์ปลากัดไทย ติดต่อล่วงหน้า โทร. 0-2815-0149
สวนสาธารณะและสวนพฤกษชาติศรีนครเขื่อนขันธ์ โทร. 0-2461-0972
เรื่อง: ปฐวี พรหมเสน ภาพ: วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
แวะชมแหล่งท่องเที่ยว เกาะช้าง เชียงคาน ภูเก็ต เขาใหญ่ และ ปาย
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook.. ได้ที่นี่เลย!!