ประเพณีแห่ต้นดอกไม้ อ.นาแห้ว จ.เลย
วัดศรีโพธิ์ชัย (แสงภา) ก่อสร้างขึ้นราว 400 ปี ผ่านมา การแห่ต้นดอกไม้ นั้น เริ่มมีการแห่มาตั้งแต่ก่อสร้างวัดแล้วเสร็จเป็นต้นมา จวบจนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลากว่า 400 ปี แล้ว โดยแรกเริ่มเดิมทีนั้นเกิดจากความเชื่อว่าการนำดอกไม้มาบูชาพระ ในวันสงกรานต์ ซึ่งชาวไทยถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ นั้น การบูชาพระรัตนตรัยด้วยดอกไม้ถือว่า เป็นสิ่งอันเป็นมงคล เริ่มจากการเก็บดอกไม้ ที่มีดอกไม้สดที่จากเป็นดอก ก็กลายมาเป็นช่อ และพัฒนามาเป็นพานพุ่มพานบายศรีขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ และได้พัฒนาไปจนถึงการทำโครงสร้างด้วยไม้ไผ่ เป็นพานพุ่มขนาดเล็ก ใช้มือถือทำคนเดียว ต่อมาก็เริ่มใหญ่ขึ้นต้องใช้คนหาม 4 คน และจนถึงต้นดอกไม้ขนาดใหญ่ ที่ต้องใช้คนหาม 6 คน, 8 คน และ 10 คน ตามลำดับ
ชาวบ้านมีความเชื่อว่า การที่ได้นำดอกไม้มาบูชาพระรัตนตรัย นั้น จะทำให้อยู่ดีมีสุขฝนตกต้องตามฤดูกาล ให้เรือสวนไร่นาอุดมสมบูรณ์ บ้านเมืองมีความร่มเย็นเป็นสุขปราศจากโรค ภัย ไข้ เจ็บ วัว ควาย สัตว์เลี้ยงต่างๆ ขยายดอกออกผลสมบูรณ์ เกิดเป็นศิริมงคลแก่ทั้งตนเอง ญาติๆ และชาวบ้านคนอื่นๆ
เทศกาลแห่ต้นดอกไม้มีการแห่ทุกปี เริ่มจากวันสรงน้ำพระพุทธรูป (ช่วงวันสงกรานต์) เริ่มจากวันที่ 13 เมษายน โดยหลักปฏิบัติแต่ปัจจุบันนี้จะเริ่มแห่ตั้งแต่วันที่ 14-15-16 เมษายน ติดต่อกัน และจะมีการแห่ต้นดอกไม้ทุกคืนวันพระ ตลอดเดือนเมษายน ของทุกปี การแห่ต้นดอกไม้ของชาวตำบลแสงภา ต้องแห่ตอนกลางคืน ราว 1 ทุ่ม - 3 ทุ่ม และต้องมาแห่ที่วัดรอบพระอุโบสถเท่านั้น โดยต้องแห่ให้ครบสามรอบ โดยรอบที่ 1 แห่เพื่อบูชาพระพุทธ รอบที่ 2 เพื่อบูชาพระธรรม และรอบที่ 3 เพื่อบูชาพระสงฆ์ เมื่อทำการแห่จนครบสามรอบแล้ว ต้องวางต้นดอกไม้ทุกต้นไว้รอบพระอุโบสถ เพื่อบูชาพระรัตนตรัยตลอดทั้งคืน รุ่งเช้าชาวบ้านจะช่วยกันนำต้นดอกไม้ออกจากวัด ถ้าต้นไหนยังแข็งแรง ไม่เสียรูปทรง สามารถที่จะนำมาเปลี่ยนดอกไม้ใหม่ แล้วนำไปแห่ในคืนต่อไปได้อีก
การแห่ต้นดอกไม้นั้น ผู้หามต้องโยกประกอบจังหวะให้ต้นดอกไม้หมุนซ้าย ขวา ตามจังหวะเสียงกลอง ฆ้อง ฉิ่ง ฉาบ ที่บรรเลงประกอบจนกว่าจะครบ 3 รอบ และภายในต้นดอกไม้นั้นจะต้องติดเทียนไข และจุดไฟเพื่อให้เกิดแสงสว่างด้วยทุกต้น
ต้นดอกไม้ทุกต้น โครงสร้างจะประกอบด้วยไม้ไผ่ทั้งหมด ชาวบ้านจะไม่ใช้ลวด ตะปู มาผูกหรือตอก เพื่อทำโครงสร้าง โดยโครงสร้างที่สำคัญมีชื่อเรียกตามภาษาท้องถิ่น คือ
1. คาน (ฐานรากใช้หาม)
2. ขาธนู (ส่วนยึดคาน)
3. ง่าม (เสาของต้นดอกไม้)
4. พ่ง (ตัวรัดมุมขนาด)
5. ดวด (ส่วนรัดลำต้น)
6. แกนกลาง (แกนค้ำยัน)
7. ลี้ก (ระแนงสานลำต้น)
8. คันกล่อง (ส่วนประกอบสำหรับร้อยมาลัย)
9. แมงมุม (ส่วนประกอบยอดสูงสุด)
ต้นดอกไม้ จะเป็นต้นเล็กหรือต้นใหญ่ จะต้องมีส่วนประกอบหลักทั้ง 9 อย่าง นี้เสมอ การทำต้นดอกไม้ นั้น จะต้องให้แล้วเสร็จภายในวันเดียว เริ่มจากตอนเช้ามืด ชาวบ้านจะร่วมกันไปตัดไม้ไผ่ที่มีอยู่ตามหัวไร่ปลายนา หรือบนภูเขา และนำกลับมาในหมู่บ้าน หลังจากนั้นชาวบ้านจะช่วยกันประกอบโครงของต้นดอกไม้ เรียกว่า ฝ่ายทำต้น ส่วนอีกฝ่ายก็จะหาเก็บดอกไม้ที่มีตามฤดูกาล รอบๆ บริเวณหมู่บ้านหรือชุมชน แต่จะต้องเป็นดอกไม้สดเท่านั้น จะไม่นิยมนำดอกไม้เทียมหรือดอกไม้ประดิษฐ์ มาประดับทำต้นดอกไม้ เมื่อต้นดอกไม้เสร็จแล้ว ชาวบ้านจะช่วยกันนำต้นดอกไม้ไปรวมกันที่วัดเพื่อรอเวลาแห่ในช่วงค่ำ
ก่อนที่จะถึงเวลาแห่ทางวัดจะตีกลองหลวง (กลองเพล) เพื่อเป็นสัญญาณให้คนในชุมชนรู้ว่าใกล้เวลาที่จะถึงกำหนดแห่แล้ว ทุกคนจะไปรวมกันที่วัด โดยแบ่งหน้าที่ออกเป็น 3 ฝ่าย โดยฝ่ายที่ 1 เรียกว่า "ฝ่ายหามต้นดอกไม้" ฝ่ายที่ 2 เรียกว่า "ฝ่ายตีกลอง ฆ้อง ฉิ่ง ฉาบ แคน พิณ " และ ฝ่ายที่ 3 เรียกว่า "ฝ่ายแห่ต้นดอกไม้นำหน้า" โดยจะมีขบวนกลองให้จังหวะ และตามด้วยผู้แห่
โดยปกติแล้ว การแห่ต้นดอกไม้ในเทศกาลสงกรานต์ นั้น จะทำกันเกือบทุกวัดในจังหวัดเลย และทุกวัดจะมีความเชื่อที่คล้ายคลึงกัน แต่ต้นดอกไม้ของตำบลแสงภา อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย นั้น จะมีลักษณะเด่นกว่าทุกวัด คือ มีขนาดต้นใหญ่และสูงกว่าทุกวัด การแห่ต้องโยกให้หมุนตามจังหวะกลองอย่างสวยงาม และสนุกสนาน ต้นดอกไม้วัดศรีโพธิ์ชัยแสงภา นั้น ต้นใหญ่ที่สุดมีความกว้างถึง 3 เมตร และสูงถึง 15 เมตร โดยใช้ไม้ไผ่ประกอบเป็นโครงสร้างตั้งแต่ 10-40 ลำ แล้วแต่ขนาด ซึ่งที่วัดอื่นๆ จะมีขนาดที่เล็กกว่า ส่วนใหญ่ความกว้างไม่เกิน 1 เมตร และสูงไม่เกิน 3 เมตร
ช่วงเวลาจัดงาน (เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว) วันที่ 14 เมษายน ของทุกปี
ขอขอบคุณ :
(คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขนาดใหญ่)
แวะชมแหล่งท่องเที่ยว เกาะช้าง เชียงคาน ภูเก็ต เขาใหญ่ และ ปาย
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook.. ได้ที่นี่เลย!!