โฮมบุญ ประเพณีแห่งศรัทธาในวันออกพรรษาของชาวชัยภูมิ

โฮมบุญ ประเพณีแห่งศรัทธาในวันออกพรรษาของชาวชัยภูมิ

โฮมบุญ ประเพณีแห่งศรัทธาในวันออกพรรษาของชาวชัยภูมิ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อปลายฝนต้นหนาวที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาออกพรรษา หลายพื้นที่คงเต็มไปด้วยสีสันของงานประเพณี อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ ก็เป็นหนึ่งในสีสันของงานประเพณีที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก ประเพณีโฮมบุญ แห่ต้นกระธูป ซึ่งจัดติดต่อกันมาจนถึงปีนี้ก็เข้าปีที่ 10 แล้ว

ประเพณีแห่กระธูปคืออะไร มีต้นกำเนิดอย่างไร มีรายละเอียดการจัดอย่างไร "นายรอบรู้" พาคุณไปเยือนถิ่นกำเนิด เพื่อเจาะลึกจากต้นสายสู่ปลายทางแห่งกระธูป พร้อมซึมซับแรงศรัทธาที่ฟุ้งกระจายอยู่ในดินแดนพุทธศาสนานามว่าชัยภูมิ

สัมผัสความศรัทธาผ่านประเพณีโฮมบุญวันออกพรรษา ที่บ้านหนองบัวแดง เมื่อพูดถึง "ประเพณีโฮมบุญ" หลายคนอาจจะไม่รู้จัก แต่สำหรับชาวอีสานโดยเฉพาะชาวชัยภูมิย่อมรู้ดีว่านี่คืองานประเพณีที่มีความสำคัญยิ่งในช่วงเทศกาลออกพรรษา การ "โฮม" หรือ "รวม" หมายถึงการรวมผลานิสงส์แห่งการทำบุญไว้ด้วยกันผ่านการแห่ต้นกระธูป ชาวบ้านเชื่อกันว่า "ต้นกระธูป" เป็นตัวแทนของ "ต้นหว้า" ซึ่งเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์แห่งชมพูทวีป มีกลิ่นหอมขจรขจาย การทำต้นกระธูปขึ้นเพื่อเลียนแบบต้นหว้าจึงมีความหมายสื่อถึงความร่มเย็นที่ฟุ้งกระจายไปยังทุกทิศทาง สร้างความปีติสุขและเบิกบานให้แก่สรรพสัตว์

การทำต้นกระธูปถือเป็นประเพณีแต่ดั้งเดิมของชาวอีสาน ต่อมาได้เริ่มสูญหายไปตามยุคสมัย จนกระทั่ง พ.ศ. 2532 ชาวบ้านหมู่บ้านราษฏร์ดำเนิน อ.หนองบัวแดง ได้เริ่มฟื้นฟูประเพณีดั้งเดิมของชาวอีสานขึ้นมาอีกครั้งโดยการจัดให้มีการทำต้นกระธูปเพื่อจุดเป็นพุทธบูชาและมีการจัดมหรสพก่อนวันออกพรรษา ในปี พ.ศ. 2545 อ.หนองบัวแดงได้ตระหนักถึงคุณค่าของประเพณีนี้จึงได้ส่งเสริมให้ชุมชนต่างๆในอำเภอร่วมกันจัดทำต้นกระธูป และนำออกมาแห่แหนในวันก่อนวันออกพรรษา เพื่อหวนคืนกลับไปสู่ประเพณีแต่ดั้งเดิมที่เคยปฏิบัติสืบต่อกันมาอีกครั้ง

ขั้นตอนการทำต้นกระธูปนั้น เริ่มจากการเอา "ใบอ้ม" และ "ใบเนียม" พืชพื้นบ้านซึ่งมีกลิ่นหอม มานึ่งแล้วตากให้แห้ง จากนั้นนำมาบดให้ละเอียด ผสมเข้ากับผงกาบมะพร้าว เมื่อได้ผงทั้งสามอย่างรวมกันจึงนำมามวนเข้ากับกระดาษเป็นแท่งยาวลักษณะเหมือนธูป ตกแต่งภายนอกเป็นลวดลายสวยงามต่างๆ ที่นิยมมากคือลายไทย โดยเฉพาะลายมัดหมี่ เมื่อได้ "ธูป" จำนวนมากแล้ว จึงนำธูปนั้นไปมัดเข้ากับ "ดาว" ซึ่งสานขึ้นจากใบลาน มัดห้อยกับคันไม้ไผ่ซึ่งคล้ายคันเบ็ด เมื่อมัดเข้ากันดีแล้วก็นำคันไม้ไผ่นั้นไปเสียบกับลำไม้ไผ่ความยาวราว 3-5 เมตรที่เจาะรูไว้แล้วอีกต่อหนึ่ง เป็นอันเสร็จสิ้นการทำต้นกระธูปในเบื้องต้น หลังจากนั้นแต่ละบ้านก็ตกแต่งต้นกระธูปของตนให้สวยงามตามใจชอบ แต่ส่วนใหญ่จะเน้นให้เป็นทรงฉัตร

 

เมื่อถึงวันออกพรรษา ก่อนนำไปแห่และจุดไฟบูชา จะมีการนำ "ลูกตูมกา" ซึ่งเป็นผลไม้ที่มีเปลือกแข็งและผลคล้ายส้มมาผ่าเป็น 2 ซีก มาวางหงาย ใส่น้ำมันพืชไว้ แล้วควั่นด้ายเป็นรูปตีนกา เพื่อบูชา "พญาเผือกกา" ตัวละครศักดิ์สิทธิ์ตามนิทานพื้นบ้านอีสาน และถือเป็นการจุดไฟเพื่อให้แสงสว่างใต้ต้นกระธูป

ปัจจุบัน งานบุญแห่ต้นกระธูปจะเริ่มตั้งแต่ช่วงเช้าของราววันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 11 เริ่มด้วยการทำบุญตักบาตร หลังจากนั้นจึงจะนำต้นกระธูปแห่รอบตลาดในเขตเทศบาลตำบลหนองบัวแดง แล้วนำไปตั้งสมโภชน์ที่วัดบ้านราษฏร์ดำเนิน ในช่วงกลางคืนจะมีการแสดงและการละเล่นของชาวบ้าน จากนั้นจึงจะจุดต้นกระธูปบูชาในวันขึ้น 14 ค่ำ และ 15 ค่ำ เป็นอันสิ้นสุดพิธี

"ตีคลีไฟ" แห่งเดียวในประเทศไทย การละเล่นรับเทศกาลออกพรรษา

สัมผัสความศรัทธาของชาวหนองบัวแดงกันเต็มอิ่มแล้ว ที่ จ.ชัยภูมิในช่วงออกพรรษา ยังมีประเพณีน่าสนใจอีกอย่างนั่นคือการละเล่น "ตีคลีไฟ" ซึ่งเป็นการละเล่นพื้นบ้านที่เล่นสืบต่อกันมานานกว่าหกสิบปีของชาวบ้านหนองเขื่อง ต.กุดตุ้ม อ.เมือง จนถือได้ว่านี่คือการละเล่นประจำเทศกาลออกพรรษาที่ชาวบ้านทุกคนตั้งหน้าตั้งตารอ

 

การละเล่นตีคลีไฟนี้เดิมชาวบ้านเรียกกันว่า "คลีโหลน" คำว่า "โหลน" มาจากคำว่า "โล้น" อันหมายถึงเป็นการตีคลีแบบโล้นๆ เปล่าเปลือย ไม่ได้มีอุปกรณ์การเล่นมากนัก การแข่งขันในยุคแรกเป็นการตีคลีไกล ใครตีไปได้ไกลกว่าถือว่าเป็นผู้ชนะ ส่วนการตีคลีไฟนั้นว่ากันว่าเริ่มขึ้นราวปี พ.ศ. 2489 เมื่อชาวบ้านในหมู่บ้านต้องเดินทางไกลไปอาบน้ำยังท่าน้ำในตอนเย็น หลังจากอาบน้ำเสร็จจึงคิดการละเล่นตีคลีมาเล่นกันสนุกๆเพื่อเป็นการคลายหนาว โดยมีการก่อกองไฟให้ความอบอุ่นไว้ใกล้ๆ จนวันหนึ่งลูกคลีที่ตีเล่นกลิ้งเข้าไปในกองไฟ ชาวบ้านเห็นว่าเป็นการละเล่นที่เข้าที เพราะทั้งให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายและช่วยให้มองเห็นลูกคลีได้ชัดเจนในความมืด จึงเริ่มเล่นคลีไฟอย่างแพร่หลายกันมาตั้งแต่บัดนั้น

การตีคลีไฟนอกจากจะเป็นการละเล่นท้องถิ่นแล้ว ยังถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นในการหาวิธีคลายหนาวในช่วงฤดูหนาวได้เป็นอย่างดี ในช่วงค่ำ ชาวบ้านจะออกมารวมตัวกันที่ลานบ้าน ผู้หญิงจะเป็นผู้เผาลูกคลีไฟให้ และผู้ชายก็จะนำลูกคลีไฟเหล่านั้นมาตีเล่นกันเป็นที่สนุกสนาน

ปัจจุบันการละเล่นคลีไฟไม่แพร่หลายเท่าในอดีต แต่ก็ยังคงมีการอนุรักษ์การละเล่นนี้เอาไว้ โดยในช่วงออกพรรษา ชาวบ้านในหมู่บ้านหนองเขื่องจะมารวมตัวกันและเล่นคลีไฟ วิธีการเล่นยังคงวิธีดั้งเดิมเอาไว้เกือบทั้งหมด โดยจะแบ่งกลุ่มคนเล่นออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 7 หรือ 11 คนตามความเหมาะสม จากนั้นนำลูกไม้นุ่น เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10-15 ซม. มาเผาไฟให้ร้อน แล้วเริ่มเล่นเกมโดยผู้เล่นแต่ละคนจะมีเหง้าไม้ไผ่ของตัวเองไว้สำหรับตีลูกคลีไฟ เหง้าไม้ไผ่นี้มีความยาวประมาณ 1 เมตร อาจจะทำจากไม้นุ่น ไม้งิ้ว หรือไม้ทองหลางก็ได้ เพราะมีน้ำหนักเบา จากนั้นเริ่มเล่นแข่งขันกันตีลูกไฟให้เข้าประตูของตนเอง กติกาสำคัญคือจะใช้อวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายเล่นไม่ได้ ต้องใช้เหง้าไม้เท่านั้น

แม้ว่าปัจจุบันสภาพสังคมจะเปลี่ยนไป แต่การตีคลีไฟก็ยังคงเป็นการละเล่นที่ให้ความสนุกสนานและความบันเทิงแก่คนในหมู่บ้านหนองเขื่องอยู่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยน ออกพรรษานี้ หากได้มาเยือนถิ่นชัยภูมิ หนึ่งในจุดหมายปลายทางที่ไม่ควรพลาดจึงอยู่ที่บ้านหนองเขื่อง ต.กุดตุ้ม มาสัมผัสและเรียนรู้ประเพณีพื้นบ้านที่อยู่คู่ชุมชนมาเนิ่นนานอย่างการ "ตีคลีไฟ"

"ไม่ควรพลาด" แห่งชัยภูมิ

นอกจากวิถีวัฒนธรรมอันล้ำค่า ชัยภูมิยังเป็นจังหวัดที่รุ่มรวยด้วยสถานที่ท่องเที่ยวทั้งเชิงธรรมชาติและวัฒนธรรม "นายรอบรู้" ชวนคุณไปสัมผัสสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่ "ไม่ควรพลาด" ด้วยประการทั้งปวง ดังนี้

มอหินขาว

สถานที่ท่องเที่ยวภายในเขตอุทยานแห่งชาติภูแลนคา อ. เมืองชัยภูมิ เป็นกลุ่มแท่งหินสีขาวขนาดใหญ่ที่เรียงตัวกระจัดกระจายกันอยู่ภายในบริเวณทุ่งกว้างในเนินเขา แท่งหินเหล่านี้อายุประมาณ 175-195 ล้านปี เกิดจากการตกตะกอนของชั้นดินและชั้นหิน ผุพังแตกหักไปตามวันเวลาจนกลายเป็นรูปร่างแปลกตาอย่างที่เห็น นอกจากแท่งหินใหญ่ 5 แท่งความสูงราว 12 เมตรที่จะปรากฏแก่สายตาก่อนเมื่อเดินทางมาถึง ลึกเข้าไปภายในบริเวณยังปรากฏหินขนาดยักษ์รูปร่างแปลกตาอีกมากมาย เหมาะสำหรับจินตนาการเป็นรูปร่างหรือเรื่องราวต่างๆเพื่อความสนุกสนาน

ภายในบริเวณยังมีจุดชมทิวทัศน์ผาหัวนาค เป็นพื้นที่กว้างที่มีหินน้อยใหญ่กระจายตัวอยู่ทั่วไปและมีทางลาดเอียงขึ้นไปเรียกว่าผาหัวนาค เหมาะสำหรับขึ้นไปชมทิวทัศน์กว้างไกลของเมืองชัยภูมิ หากมาในฤดูฝน นอกจากจะได้พบความยิ่งใหญ่อลังการของกลุ่มหิน ยังจะได้ชมดอกไม้ป่าหายากอีกหลายชนิดที่จะขึ้นแซมทุ่งหญ้าในเนินมอหิวขาว ประดับประดาให้ภาพหินในทุ่งหญ้าดูงดงามน่าชมมากยิ่งขึ้นอีกหลายเท่าตัว

พระมหาธาตุรัชมงคลเจดีย์สิริชัยภูมิ อ.แก่งคร้อ

พระมหาเจดีย์ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ รูปแบบปราสาทเป็นแบบเรือนยอด ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนแบบล้านช้างปางห้ามสมุทรทั้งสี่ทิศ ส่วนยอดองค์พระเจดีย์หุ้มด้วยแผ่นทองสำริดปิดทองคำเปลวตามแบบล้านนา เรียกได้ว่าเป็นการสร้างพระมหาเจดีย์แบบโบราณที่มีการผสมผสานระหว่างศิลปะล้านนาและล้านช้างได้อย่างงดงามลงตัว

พระมหาธาตุรัชมงคลเจดีย์สิริชัยภูมิประดิษฐานอยู่บนเขาช่องลม ณ อรุณธรรมสถาน บ้านภูสองชั้น อ.แก่งคร้อ ในพื้นที่ตั้งพระมหาธาตุเจดีย์นี้นอกจากเป็นสถานที่แห่งความศักดิ์สิทธิ์และสถานที่สงบร่มรื่นสำหรับปฏิบัติธรรมแล้ว ยังถือเป็นจุดชมทิวทัศน์ที่งดงาม มองเห็นเทือกเขาภูแลนคาได้ 360 องศา รวมทั้งสัมผัสทิวทัศน์ในมุมสูงของเมืองชัยภูมิได้ไกลสุดลูกหูลูกตาด้วย

เรื่องและภาพ: ปฐวี พรหมเสน

(คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขนาดใหญ่)

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook.. ได้ที่นี่เลย!!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook