นานาชีวิตในอ้อมกอดทะเลน้อย

นานาชีวิตในอ้อมกอดทะเลน้อย

นานาชีวิตในอ้อมกอดทะเลน้อย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"ทะเลน้อย...อีกแล้ว" หลายคนคงคิดในใจ เหตุไฉนไปพัทลุงแล้วต้องแวะ "ทะเลล้านบัว" นี้แทบทุกครั้งจริงอยู่ที่อุทยานนกน้ำทะเลน้อยเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวมาหลายสิบปี มีคนมาเยี่ยมเยือนแล้วนับไม่ถ้วน แต่ทุกครั้งที่มาถึงเราก็พบว่าทะเลน้อยยังคงมีมนต์เสน่ห์ไม่เสื่อมคลาย โดยเฉพาะฉากชีวิตอันงดงามของนกนานาชนิด บัวหลากพันธุ์ ควายน้ำ รวมถึงชาวบ้านชาวประมงที่ต่างโลดแล่นอยู่บนโรงละครแห่งทะเลสาบ 

ทะเลน้อย

การกลับมาเยือนทะเลน้อยจึงเป็นความเพลิดเพลินอย่างเดียวกับการหยิบหนังชีวิตดีๆ ที่เคยประทับใจขึ้นมาชมอีกรอบ และยิ่งสนุกขึ้นด้วยเรารู้จักตัวละครแห่งทะเลสาบนี้มากกว่าเดิม"นายรอบรู้" จึงขอชวนมาเที่ยวทะเลน้อยอีกครั้งแบบอินไซด์แต่ละชีวิตมากขึ้นอีกนิด เพื่อเพิ่มอรรถรสในการรับชม เชิญหยิบกล้องสองตามาคล้องคอ ก้าวลงเรือแล้วไปสนุกกันเลย

เที่ยวบ้านของนก

 มาทะเลน้อยเหมือนมาเที่ยวบ้านของนก เพราะทะเลนี้มีระบบนิเวศเหมาะแก่การใช้ชีวิตของบรรดานกยิ่งนัก ทั้งมีตัวอ่อนสัตว์น้ำและแมลงที่เป็นอาหารอันโอชะของนกอยู่ชุกชุม มีพรรณไม้น้ำอุดมสมบูรณ์เหมาะสร้างรังวางไข่ จึงมีนกมาขออิงอาศัยนับแสนตัว เป็นนกประจำถิ่นและนกอพยพรวมถึง 187 ชนิด  และการที่ทะเลน้อยได้รับการประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าแห่งแรกของไทยเมื่อปี พ.ศ. 2518 ย่อมมีส่วนก่อร่างให้บ้านหลังนี้ยิ่งน่าอยู่สำหรับนกนานามารู้จักสมาชิกในบ้านนี้ที่เราเห็นกันบ่อยๆ เพราะเป็นนกประจำถิ่น 

ตัวแรกคือนกอีโก้ง  ลำตัวสีครามตัดกับปากสีแดงสด ดูหล่อเหลากว่าใครเพื่อน  ในอดีตอีโก้งเป็นศัตรูตัวฉกาจของชาวนา เพราะมันชอบย่องมากินข้าวเสียหาย จึงถูกไล่ด้วยกระสุนปืน แต่ต่อมาเมื่อหอยเชอรี่ระบาดหนัก เจ้าอีโก้งมาช่วยจิกกิน ชาวนาคงเห็นประโยชน์ จึงถือมติว่าอยู่แบบปรองดองพึ่งพากันดีกว่า

ต่อมาคือบรรดานกเป็ดผีเล็ก ที่มักไปไหนไปกันเป็นฝูง  เหตุที่ได้ชื่อว่าเป็ดผี เพราะเวลาตกใจมันจะดำน้ำหายวับไปโผล่ไกลๆ ราวกับผีหลอก แต่ตัวจริงนั้นมันแสนน่ารัก โดยเฉพาะยามมันกระพือปีกเร็วจี๋บินขึ้นพร้อมกัน แล้วเพียงอึดใจเดียวก็ร่วงกราวสู่ผิวน้ำอีกครั้ง ดูเหมือนพวกมันสนุกกับการบินแม้จะบินได้ไม่ไกล ส่วนตามดงกระจูดหนู มักพบเจ้ากระสาแดงคอยาวยืนนิ่งเป็นอนุสาวรีย์รอจังหวะแมลงหรือปลาเข้ามาในระยะหวังผลได้ แล้วยืดคอไปงับไวราวกับงูฉก  กระสาแดงพวกนี้เวลาบินจะกระพือปีกเนิบช้า ดูสง่างามมาก  นอกจากนี้ยังมีนกขาประจำอีกหลายพันธุ์ เช่น นกยางควาย นกกาน้ำ นกพริก นกอีล้ำ เหยี่ยวแดง ให้ดูกันเพลิดเพลิน

ทะเลน้อยเป็นบ้านหลังที่ 2 ของนกจากแดนไกลด้วย  ช่วงเดือนธันวาคม นกอพยพ เช่น เป็ดแดง เป็ดคับแค เป็ดลาย นกช้อนหอยขาว จะบินมาหาไออุ่นที่นี่  ในบรรดานกทั้งหมด นกที่สำคัญและหายากที่สุดคือ นกกาบบัว หรือ นกบัว ที่จะมาสร้างรังเฉพาะที่ทะเลน้อยเท่านั้น  ปัจจุบันเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง  การได้เห็นตัวเป็นๆ คงต้องรอให้ส่วนผสมของโชคและโอกาสซึ่งลงตัวเหมาะเจาะช่วยดลบันดาล  ถึงอย่างนั้นในที่ทำการเขตห้ามล่าสัตว์ป่าฯ ก็มีนกกาบบัวสตัฟฟ์ไว้ให้ชม

โลกของบัวหลากพันธุ์ 

นอกจากนก สัญลักษณ์สำคัญอีกอย่างของทะเลน้อยคือบัว ดังมีคนตั้งฉายาไว้ว่า "ทะเลล้านบัว" โดยเฉพาะในเดือนธันวาคม-มีนาคมที่บัวสายบานสะพรั่งเต็มทะเลเสมือนหนึ่งโลกของบัว  ยิ่งในยามเช้าตรู่ แสงแดดอ่อน อากาศสดชื่น การชมนกในบึงบัวยิ่งราวกับต้องมนตร์สะกด...บัวในทะเลน้อยมีหลากพันธุ์ โดดเด่นที่สุดคือ บัวสาย ดอกสีชมพูสด ใบปริ่มน้ำ  ถึงจะชื่อบัวสายแต่ไม่ได้หมายว่าบานตอนสายๆ ตรงกันข้ามมันบานตั้งแต่แสงแรกจับขอบฟ้า แล้วพอถึงแปดโมงเช้าก็บานสะพรั่งไปทั่ว  สายกว่านั้นดอกบานจะเริ่มหุบ ใครมาชมช่วงนี้อาจต้องอุทาน "เฮ้อ...สายเสียแล้ว"

บัวหลวง เป็นบัวอีกชนิดที่พบมาก มีดอกใหญ่เกสรชูช่อ ใบลอยเหนือน้ำ ถือเป็นพืชสารพัดประโยชน์ ดอกตูมใช้บูชาพระ เมล็ดนำมากินสดหรือทำขนมลูกบัว ใบใช้ห่ออาหาร เกสรใช้ทำยา ส่วนรากอ่อนก็มีสรรพคุณทางยาหลายอย่างขณะเรือล่องเอื่อย บัวบา ดอกสีขาวหลายแฉกขนาดจิ๋ว กลีบดอกมีขนปุย ทำให้เราสะดุดความน่ารักของมัน  แล้วบัวเผื่อน-บัวผัน บัวที่คล้ายกันราวคู่แฝดก็ปรากฏโฉม นอกจากมีกลิ่นหอมเหมือนกัน หน้าตายังคล้ายกันมากด้วย บัวเผื่อนดอกสีขาว ปลายกลีบสีม่วงอ่อน ส่วนบัวผันดอกสีม่วงอ่อน หากบานเต็มที่สีม่วงจะเข้มขึ้นชนิดของบัวบ่งบอกถึงฤดูกาลและความตื้นลึกของทะเลน้อยได้  

ช่วงน้ำลดเดือนเมษายน-กันยายน บัวหลวงกับบัวสายจะแบ่งพื้นที่กันชัดเจน บัวหลวงจับจองที่น้ำตื้น ขณะที่บัวสายครองพื้นที่น้ำลึก  กระทั่งถึงหน้าน้ำราวเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม บัวหลวงจะฝังเหง้าในตม รอวันน้ำลดเพื่อผุดบานอีกครั้ง ขณะบัวสายรุกคืบพื้นที่แทบทั้งหมดเพื่อชูดอกสีชมพูสะพรั่งทั่วท้องน้ำ เปลี่ยนทะเลน้อยเป็นทะเลล้านบัวไกลสุดตา...

สวรรค์น้อย ๆ ของควายน้ำ

จากดงบัวนานาพันธุ์ เลยออกไปทางปากคลองนางเรียม บริเวณแผ่นดินใกล้กับสะพานเอกชัยที่เชื่อมจากทะเลน้อยไป อ. ระโนด จ. สงขลา คือที่อยู่ของบรรดาควายน้ำ หรือควายทะเล ฝูงใหญ่ ซึ่งแท้ที่จริงเป็นควายทุ่งที่คนทะเลน้อยเลี้ยงโดยให้หาอยู่หากินตามธรรมชาติจนมันปรับตัวเข้ากับพื้นที่ลุ่มทะเลสาบ สามารถดำน้ำได้ลึกขึ้นเพื่อลงไปเล็มหญ้าใต้น้ำกิน ยกเว้นบางปีที่ระดับน้ำลึกมากเท่านั้นที่คนเลี้ยงต้องต้อนฝูงควายเข้าคอกแล้วตัดหญ้ามาให้ ป้องกันไม่ให้มันจมน้ำ  นิสัยชอบแช่โคลนชื้นแฉะตามประสาควาย ทำให้เราได้เก็บภาพชวนยิ้ม--ควายน้ำฝูงใหญ่ลงไปนอนเบียดเสียดแช่อยู่ในปลักเล็กๆ พลางกระดิกหูอย่างบันเทิงเริงใจ เหมือนปลักน้อยเป็นสวรรค์ของพวกมัน

กระจูด ไม่กระจอก

ในอดีต กระจูด หรือ จูด คือวัชพืชไร้ค่า จนเมื่อร้อยปีก่อนหน้านี้เองชาวบ้านลองนำมันมาสานเป็นเสื่อและกระสอบไว้ใส่กะปิใส่เกลือ แล้วพบว่าเสื่อหรือกระสอบนั้นใช้งานได้ดี เหนียวทนทาน กาลต่อมาจึงมีการสานกระจูดกันเป็นล่ำเป็นสัน นำไปขายตามงานวัดที่มีโนราแสดง สร้างรายได้ให้คนทะเลน้อยเป็นกอบเป็นกำกระจูดในทะเลน้อยมี 2 พันธุ์ใหญ่ๆ คือ กระจูดใหญ่ ลำต้นเหนียว นิยมนำมาสานเพราะไม่ขาดง่าย และกระจูดหนู ต้นเล็กที่แห้งแล้วเปราะ ชาวบ้านจึงปล่อยไว้เป็นอาหารและที่ทำรังของนก  เดิมแหล่งเก็บกระจูดอยู่ที่พรุควนเคร็ง 

บริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำตอนเหนือของทะเลน้อยติดกับ จ. นครศรีธรรมราช แต่ภายหลังคนเข้าไปเก็บจูดกันมากจนไม่พอกับความต้องการ จึงต้องหาซื้อจากแหล่งอื่นหรือปลูกนากระจูดขึ้นแทนจากเสื่อและกระสอบ ปัจจุบันผลิตภัณฑ์จากกระจูดแตกหน่อมาเป็นกระเป๋า กล่อง ตะกร้า หมวก กว่า 70 แบบ หลากสีสัน ชาวบ้านจึงมีรายได้จากงานหัตถกรรมท้องถิ่นนี้ถึงเดือนละ 5,000-6,000 บาทเลยทีเดียว

ทะเลงามเมื่อเราอยู่ร่วมกัน

ภาพชินตาอีกภาพเมื่อมาเยือนทะเลน้อยยามเช้า คือภาพชาวบ้านแวะมาเก็บลอบดักปลา หลังจากวางลอบทิ้งไว้ตั้งแต่เมื่อเย็นวาน  ในลังโฟมของพวกเขามักมีปลาดุก ปลาสวาย หรือกุ้งแม่น้ำตัวโต ซึ่งจะแปรเป็นเงินเลี้ยงปากท้อง  บางคนก็มาเก็บสายบัวไปแกง จับปลาไปกิน บางวันชาวทะเลน้อยจึงไม่ต้องใช้เงินเลยสักบาทนอกจากการประมงที่เป็นอาชีพหลักแล้ว การท่องเที่ยวก็นำรายได้เข้าสู่ชุมชนด้วย ทั้งการขายสินค้าอาหาร การบริการเรือให้เช่า และการสานกระจูด คนลุ่มน้ำนี้จึงไม่ต้องออกไปทำงานไกลถิ่น ทะเลน้อยเสมือนช่วยถักทอสายใยครอบครัวให้เหนียวแน่นขึ้นในทางอ้อมเมื่อพบว่าทะเลน้อยคือแหล่งเลี้ยงปากท้องสำคัญ 

การอนุรักษ์ก็เกิดตามมา มีการตั้งกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลน้อย คอยสอดส่องคนภายนอกที่เข้ามาล่านก หรือร้องเรียนเมื่อมีผู้ปล่อยน้ำเสียลงทะเล  วงจรเช่นนี้เองเกื้อหนุนให้ทุกชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขและยังคงเหลือภาพชีวิตงดงามให้เราได้พบเห็นขอยืนยันอีกครั้งว่า หากมาถึงพัทลุง แล้วผ่านเลยทะเลน้อยไปนั้น นับเป็นเรื่องน่าเสียดาย

>>> สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติ่มที่ ททท. สำนักงานหาดใหญ่ โทร.0-7423-1005, 0-7423-8518 หรือ อบจ. พัทลุง โทร. 0-7461-3079<<<


คลิกชมภาพสวยๆ บรรยากาศทะเลน้อย จ.พัทลุง

คลิกชมภาพทะเลน้อย

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook.. ได้ที่นี่เลย!!

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ ของ นานาชีวิตในอ้อมกอดทะเลน้อย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook