10 สถานที่ห้ามพลาดเมื่อไปเชียงคาน
10 ที่เที่ยวเชียงคาน เงียบสงบ บรรยากาศดี
1.วัดศรีคุนเมือง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2485 ตั้งอยู่ที่ ถนนชายโขง ซอย 6-7 วัดนี้เป็นแหล่งรวมงานศิลปะทั้งแบบล้านนาและล้านช้างดังจะเห็นได้จากโบสถ์ ซึ่งหลังคาลดหลั่นอย่างศิลปะล้านนาและพระประธานมีลักษณะคล้ายวัดเชียงทอง (หลวงพระบาง-สปป.ลาว)
ศิลปวัตถุที่สำคัญมีหลายชิ้น เช่น พระพุทธรูปไม้จำหลัก ลงรักปิดทองปางประทานอภัยแบบล้านช้าง พระพุทธรูปดังกล่าวมีพระเกศาเป็นปุ่มแหลมเล็ก พระกรรณค่อนข้างแหลมและยาว
สันนิษฐานว่ามีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 24-25 นอกจากนี้ในวัดยังมีธรรมาสน์แกะสลักไม้ลงรักปิดทองทุกด้านที่พนักหลังมียอดคล้ายปราสาทและฮางฮดหรือรางรดในลักษณะเดียวกันซึ่งเป็นเครื่องใช้แบบล้านนาที่ทำเป็นรางคล้ายรูปเรือสุพรรณหงส์เพื่อใช้ในพิธีรอน้ำพระสงฆ์ ส่วนด้านหน้าโบสถ์มีภาพจิตรกรรฝาผนังอยู่เต็มหน้าบัน ภาพทั้งหมดเป็นภาพนิทานชาดกชุดพระเจ้าสิบชาติซึ่งวาดขึ้นใหม่แทนของเดิม
2.วัดมหาธาตุ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2197 ตั้งอยู่ที่ ถนนศรีเชียงคาน ซอย 14-15 เดิมเป็นศาลาว่าการเมืองเก่า อุโบสถมีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังโบราณ ซึ่งยังคงหลงเหลืออยู่ มีพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระพุทธรูปไม้ศิลปะล้านช้าง เจดีย์เก่าแก่ นอกจากนี้ยังมีห้องน้ำที่ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมฝรั่งเศสดูแล้วแปลกตาดี
3.วัดท่าคก สร้างเมื่อ พ.ศ. 2395 ตั้งอยู่ที่ ถนนชายโขง ซอย 20-21 อุโบสถเป็นศิลปะล้านช้าง เดิมวัดตั้งอยู่ริมแม่น้ำเป็นคุ้งน้ำวน ภาษาท้องถิ่น เรียกว่า "คก" จึงใช้ตั้งชื่อว่า "วัดท่าคก" จากศิลาจารึกกล่าวว่า..
พระศรีอรรคฮาต และชาวบ้านช่วยกันสร้างวัดขึ้น มีพระประธานปูนปั้นพระพุทธรูปทองเหลือง พระเขี้ยวแก้ว พระพุทธรูปแกะด้วยไม้ และศิลาจารึกรูปใบพายเป็นหินทราย
4.วัดท่าแขก สร้างเมื่อ พ.ศ. 2208 โดยพระสุวรรณ แผ่นแผ้ว (กษัตริย์แห่งอาณาจักรหลวงพระบาง) เป็นวัดเก่าแก่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ห่างจากอำเภอเชียงคาน 2 กิโลเมตร ก่อนถึงหมู่บ้านน้อยและแก่งคุดคู้
ปัจจุบันเป็นวัดธรรมยุติ ภายในโบสถ์มีพระพุทธรูป 3 องค์สกัดจากหินทรายทั้งก้อน หน้าตักกว้าง 2 ศอก เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่และศักดิ์สิทธิ์ มีอายุประมาณ 300 กว่าปี
5.พระใหญ่ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า พระพุทธนวมินทรมงคลลีลาทวินคราภิรักษ์ ประดิษฐานอยู่ ณ ภูฟ้า บ้านท่าดีหมี ห่างจากเชียงคาน 20 กม. เป็นพระพุทธรูปปางลีลา
สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในวโรกาสพระชนมายุครบ 72 พรรษา เป็นบริเวณที่มีแม่น้ำสองสายคือ แม่น้ำเหือง และแม่น้ำโขงมาบรรจบกันเป็นจุดต่อระหว่างชายแดน 2 ประเทศ และถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่แม่น้ำโขงไหลเข้ามาในประเทศไทย ณ บริเวณบ้านท่าดีหมี อ.เชียงคาน จ.เลย
จึงเป็นจุดที่มีทัศนียภาพสวยงามของไทย-ลาว และสามารถชมแม่น้ำโขงในมุมสูงที่มีความสวยงามไม่ยิ่งหย่อนกว่าจุดใด โดยเฉพาะในยามที่อาทิตย์อัสดง ตลอดระยะทางจากอำเภอเชียงคานมาถึงที่นี่ คุณจะได้ชมวิถีชีวิตของชาวบ้าน การทำเกษตรกรรม และชมวิวทิวทัศน์เทือกสวนไร่นาที่อุดมสมบูรณ์
6.ถ้ำผาแบ่น อยู่ห่างจากเชียงคาน 12 กม. เป็นถ้ำหินปูนขนาดเล็ก สามารถมองเห็นจากแก่งคุดคู้ได้สวยงามสุดสายตา
7.แก่งคุดคู้ ห่างจากเชียงคาน 5 กม. เป็นแก่งหินใหญ่ขวางอยู่กลางลำน้ำโขง ช่วงโค้งของลำน้ำโขงพอดี
ทำให้เกิดกระแสน้ำเชี่ยวไหลผ่านแก่ง ในหน้าน้ำ น้ำจะท่วมจนมองไม่เห็นแก่ง เวลาที่เหมาะจะชมแก่งคุดคู้คือ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นเวลาที่น้ำแห้งมองเห็นเกาะแก่งชัดเจนมีโค้งสันทรายริมแม่น้ำ
สำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากสัมผัสสายน้ำโขงและธรรมชาติสองฝั่งอย่างใกล้ชิด ที่บริเวณแก่งคุดคู้มีบริการเช่าเรือยนต์ล่องแม่น้ำโขง ใช้เวลาไป-กลับประมาณ 1 ชั่วโมง ราคาแล้วแต่จะตกลง นอกจากนี้ยังมีร้านขายอาหาร เช่น ไก่ย่าง ส้มตำ ลาบ โดยเฉพาะพล่า กุ้งเต้น ต้มยำปลาจากลำน้ำโขงเป็นอาหารแนะนำในราคาไม่แพง
8.ภูทอก เป็นจุดชมวิวอำเภอเชียงคานและลำน้ำโขงที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะช่วงเช้าจะมีทะเลหมอกขาวปกคลุมเกือบทั้งเทือกเขา ได้สูดอากาศที่บริสุทธิ์อย่างเต็มปอด พร้อมดื่มด่ำกับบรรยากาศที่แสนสดชื่น และยังสามารถชมพระอาทิตย์ตกได้ในยามเย็น
9.หมู่บ้านวัฒนธรรมไทดำ บ้านนาป่าหนาด ห่างจากเชียงคาน 17 กม. เป็นหมู่บ้านชาวไทดำกลุ่มสุดท้ายที่อพยพมาจากเมืองเชียงขวาง สปป.ลาว
ช่วงสงครามปราบจีนฮ่อ ชาวบ้านยังคงสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีแบบไทดำไว้ได้เป็นอย่างดี นับถือผี นับถือแถน นอกจากนี้ยังมีภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตัวเอง จะใส่เสื้อผ้าสีดำในวันสำคัญ เช่น วันโฮมไทดำ (ช่วง เม.ย. ของทุกปี)
10.ท่องเที่ยวทางการเกษตรบ้านบุฮม (แหล่งส่งมะม่วงรายใหญ่) แหล่งเรียนรู้ สวนผลไม้ปลอดสารพิษหลากหลายชนิด ทุกฤดูกาล (สวนลุงเยื้อน) บ้านบุฮม หมู่ที่ 1 อยู่ห่างจากเชียงคาน 14 กม.
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : นิตยสารคู่หูเดินทาง
แวะชมแหล่งท่องเที่ยว เกาะช้าง เชียงคาน ภูเก็ต เขาใหญ่ และ ปาย
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook.. ได้ที่นี่เลย!!