Low carbon high happiness 3 เส้นทางจักรยานที่เมืองตราด
ตราด หัวเมืองชายทะเลที่ขึ้นชื่อความสวยงามของหาดทรายบนเกาะสวยอย่างเกาะช้าง เกาะกูด และเกาะหมาก นักท่องเที่ยวผู้หลงใหลเม็ดทรายและน้ำทะเลสีฟ้าใสต่างหมายตาว่าจะไปสักครั้งหนึ่งชีวิต ครั้งนี้"นายรอบรู้" ขออาสาพาทุกคนไปเที่ยวเมืองตราดในมุมที่แตกต่าง ออกกำลังปั่นจักรยานสองล้อ LOW Carbon ทว่า High Happiness ความแตกต่างที่ลงตัว
เดือนที่แล้ว "นายรอบรู้" มีโอกาสไปนั่งอาน ถีบรถจักรยานบนเส้นทางที่เรียกว่าeco สุดๆ ด้วยการร่วมมือขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. และชุมชนในจ. ตราด จัดสามเส้นทางเพื่อเปิดการท่องเที่ยวให้ชุมชนเป็นผู้จัดการ
>>>เส้นทางจักรยานบ้านท่าโสม
เส้นทางจักรยานนี้ซ่อนตัวอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆริมทางหลวงหมายเลข 3156 ที่มุ่งสู่ท่าเรืออ่าวธรรมชาติ "ท่าโสม" คือชื่อของที่นี้ มีที่มาจากในอดีตบ้านท่าโสมเป็นท่าเรือศูนย์กลางค้าขาย มีเรือสำเภาต่างถิ่นต้องการสินค้าจากที่นี้ โดยเฉพาะหวายโสม พืชพื้นถิ่นที่มีประโยชน์หลายอย่าง หมู่บ้านนี้จึงรู้จักกันในชื่อบ้านท่าหวายโสม ต่อมาจึงกร่อนเป็นบ้านท่าโสมในปัจจุบัน
แม้ปัจจุบันบ้านท่าโสมไม่ได้มีหวายโสมให้เห็นดาดตาเหมือนก่อน แต่วิถีที่ยังคงเอื้ออยู่กับธรรมชาติ เป็นชาวสวน ชาวไร่ ชีวิตเรียบง่ายตามวิถีเกษตรกรสวนยางพารา "นายรอบรู้"มาถึงบ้านท่าโสมหลังฝนหยุด สองข้างทางเต็มไปด้วยทิวสวนยางพารา ที่แผ่ก้านกันแดดเป็นร่มเงาและอากาศเย็นๆชุ่มๆจึงผ่านตลอดเส้นทาง เส้นทางจักรยานเริ่มต้นที่วัดท่าโสม ศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านทั้งยังเป็นจุดให้บริการจักรยานสำหรับปั่นชม
เมื่อเข้ามาในวัดก็พบกับความโอ่อ่าของโบสถ์ และศาลาการเปรียญ ซึ่งล้วนเป็นเงินบริจาคจากชาวบ้านในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดท่าโสม ทรงคุณค่าด้วยเป็นเรือนไทยอายุกว่าร้อยปี เดิมเป็นกุฏิเก่าของอดีตเจ้าอาวาสวัดท่าโสม พระครูคุณสารพิสุทธิ์ (สะอาด มนัสสนิท) ผู้เคร่งพระวินัยอย่างมาก พร้อมกับให้การช่วยเหลือกับชาวบ้าน ชาวท่าโสมจึงให้การเคารพจนพาขานนามท่านว่า "ท่านก๋ง"
ภายในจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ของชาวบ้านที่ร่วมใจกันบริจาค เครื่องถ้วยลายคราม เครื่องทองเหลือง และรูปปั้นของพระครูคุณสารพิสุทธิ์ ไม่ไกลเป็นเป็นวิหารท่าโสมซึ่งเดิมเป็นโบสถ์เก่า ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปไม้ ปางสมาธิ และ พระนอนปางไสยาสน์ศิลปะงดงามมาก แต่ที่โดดเด่นคือ โบสถ์หลังใหม่ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปหยกขาว ปางสมาธิ ทรงเครื่องและภาพจิตรกรรมฝาผนังอันวิจิตรสวยงาม ฝีมือช่างชาวตราด
และที่เพิ่งเปิดใหม่ล่าสุดคือ ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช วัดท่าโสม เป็นอาคารสองชั้น จัดแสดงเรื่องราว ประวัติความเป็นมาของวัดท่าโสม รวมทั้งวิถีชีวิตของชาวท่าโสมที่เกี่ยวข้องกับสวนยางพารา สวนผลไม้และการประมง
หลังจากอิ่มกับข้อมูลของบ้านท่าโสมกันแล้ว ถึงเวลาไปปั่นหาประสบการณ์ในพื้นที่กันบ้างด้วยจักรยานซึ่งมีให้บริการ โดยการสนับสนุนขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ใครกลัวจะไม่ชินกับจักรยานแปลกหน้า สามารถนำเอาจักรยานมาปั่นก็ได้
เส้นทางจะเริ่มจากวัดท่าโสม ปั่นไปบ้านร้อยปีบ้านกลางสวน ที่อยู่กันมา 7 ชั่วอายุคน เป็นแหล่งเรียนรู้การทำว่าวดุ๊ยดุ๋ย ว่าวพื้นถิ่นของคนแถบภาคตะวันออก รูปร่างคล้ายกับว่าวจุฬา แต่ส่วนหางแตกต่างออกไป และไม่มีหัวแหลมเหมือนว่าวจุฬา ด้วยภูมิปัญญาของชาวท่าโสมที่ได้คิดค้นเอาว่าวดู๊ยดุ๋ยมาพยากรณ์การติดดอกออกผลของผลไม้ในสวน ในช่วงที่ผลไม้ในสวนใกล้ติดผล ชาวท่าโสมจะปล่อยว่าวดุ๊ยดุ๋ยขึ้นสู่ท้องฟ้า และสังเกตว่าหากว่าวติดลมอยู่ข้ามคืนได้ ผลไม้จะติดลูกดก มีผลผลิตมาก ทว่าว่าวกลับตกลงมาเสียก่อนแสดงว่าในปีนั้นผลไม้ออกน้อย นับเป็นภูมิปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการทิศทางของลม ความชื้นที่ช่วยให้ผลไม้ติดผลหรือช่วยผสมเกสร
หลังจากเรียนรู้เรื่องว่าวพยากรณ์ แล้ว พวกเราปั่นไปต่ออีกนิดก็ถึงบ้านภูมิปัญญายางพารา ไปดูการทำยางแผ่นที่ไม่ทำร้ายธรรมชาติ ไม่มีกลิ่น เริ่มต้นจากการนำเอาน้ำยางสดมาผสมกับกรดฟอร์มิก เพื่อทำให้น้ำยางจับตัวเป็นก้อน แลัวนำไปรีดจนเป็นแผ่น ตากให้แห้งก่อนนำไปเก็บ ผู้นำยางพาราเข้ามาปลูกที่บ้านท่าโสมเป็นคนแรกคือ พระครูคุณสารพิสุทธิ์ ในครั้งนั้นท่านรับกิจนิมนต์ไปจันทบุรีซึ่งมีคนนำเม็ดยางพาราจากมาเลเซียมาปลูก ท่านจึงได้นำเม็ดยางพาราจากจันทบุรีกลับมาด้วยใน ปี พ.ศ. 2497 และเผยแพร่ในบ้านท่าโสม
จากนั้นเราก็ปั่นไปดูรูเดือน รูดาว แค่ชื่อก็น่าสนใจแล้ว แม้จะไกลจากหมู่บ้านไปซักหน่อย มีลักษณะ เป็นบ่อน้ำใสสีเขียวฟ้า เป็นแหล่งน้ำของชาวบ้านท่าโสม ในช่วงหน้าแล้งที่ น้ำลดระดับลง ชาวบ้านเล่าว่ารูดาวและเดือนมีลักษณะคล้ายถ้ำ เชื่อมโยงถึงกันหมด ในครั้งที่สงรามโลกครั้งที่ 2 ชาวบ้านใช้ที่นี้เป็นหลุมหลบภัยสงครามด้วย พวกเราปิดท้ายเส้นทางด้วยการกลับมาที่วัดท่าโสม กราบนมัสการรูปเหมือนพระครูคุณสารพิสุทธิ์ ก่อนไปยังเส้นทางต่อไปซึ่งรอพวกเราอยู่อีกฟากหนึ่งบนเกาะช้าง
>>>เส้นทางจักรยานบ้านด่านใหม่
บ้านด่านใหม่ ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเกาะช้าง ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวประมงและมีเชื้อสายชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้ามาค้าขาย บ้านด่านใหม่เติบโตมากจาการเป็นด่านเก็บภาษีการค้าทางเรือ พวกเราจึงเห็นวัฒนธรรมการนับถือศาลเจ้าแม่ทับทิมซึ่งเป็นเทพผู้ประทานพรให้กับชาวประมงออกทะเลได้อย่างปลอดภัย
สำหรับเส้นทางนี้ พวกเราเริ่มต้นที่ศาลเจ้าก๋ง 108 เจ้าแม่ทับทิม ภายในประดิษฐานเฮียยี่กง องค์ 108-109 เจ้าแม่ทับทิมพร้อมองค์รักษ์หูทิพย์-ตาทิตย์ องค์เจ้าแม่โต๊ะโม๊ะ และเจ้าสมุทรในช่วงเดือนเม.ย. ด้านหน้าศาลเป็นสะพานคึกฤทธิ์ สะพานไม้ที่ทอดยาวไปในทะเล ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลนายกรัฐมนตรีศึกฤทธิ์ ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า "สะพานคึกฤทธิ์" ด้วยสร้างมานานนับสิบปีจึงผุพัง สะพานที่เห็นปัจจุบัน ชาวบ้านร่วมใจกันสร้างขึ้นมาใหม่
จุดหมายต่อไปพวกเราไปดูพิพิธภัณฑ์หนังสือเก่าซึ่งเก็บรวมรวมหนังสือ นิตยสาร วารสารอันเกี่ยวกับบันเทิง ประวัติดารา นักร้อง รวมถึงเพลงเก่ามากมายที่ประทีป เยาวรัตน์หรือลุงแดงที่เก็บมาตั้งแต่ พ.ศ. 2518 จวบจนปัจจุบันเกือบแสนเล่มแล้ว
พวกเราเพลินกับการนั่งฟังคุณลุงแดงแล่าถึงประวัติดาราเก่าๆคนนั้นคนนี้อย่างสนุกสนาน จากนั้นจึงปั่นไปดูต้นสีระมัน 200 ปีที่วัดคลองนนทรี จุดเด่นของวัดนี้คือความร่มรื่นของต้นไม้ใหญ่ โดยเฉพาะต้นสีระมันหรือลิ้นจี่ป่า ไม้หายากที่สันนิษฐานว่ามากับชาวจีนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่บ้านด่านใหม่นำเข้ามา เพราะถิ่นเดิมของสีระมันอยุ่ทางตอนใต้ของประเทศจีน ปัจจุบันเหลือเพียงไม่กี่ต้น
หลบร้อนใต้ร่มสีระมันกันสักพัก ก็ถึงเวลาปั่นเลียบคลองนนทรีไปเรื่อยๆ จะพบกับสะพานปลาที่มีโรงงานน้ำปลาเกาตั้งอยู่ ในช่วงที่แดดร่มเหมาะสำหรับการปั่นไปรับลมทะเลและกระชังปลาของบ้านท่าใหม่
เป็นการปิดทริปปั่นจักรยานเส้นนี้ในบรรยากาศได้ชิลล์สุดๆ
>>> เส้นทางจักรยานบ้านสลักเพชร
เป็นชุมชนขนาดใหญ่และเก่าแก่ที่สุดบนเกาะช้าง มีบ้านเรือนกว่า 500 หลังคาเรือน ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพประมงและทำสวนทุเรียน ยางพารา เป็นหมู่บ้านที่เงียบสงบอยู่เหนืออ่าวที่หมู่เกาะ และมีทิวเขาโอมล้อม ส่วนในด้านประวัติศาสตร์ ยังเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ยุทธนาวีที่เกาะช้าง เมื่อเรือหลวงสงขลาและเรือหลวงชลบุรีถูกเรือฝั่งเศสยิงจมลงในอ่าวสลักเพชร ชาวบ้านได้ออกไปช่วยทหารเรือที่บาดเจ็บและช่วยดับไฟที่ไหม้เรืออย่างกล้าหาญ
นักปั่นส่วนใหญ่นิยมเริ่มต้นที่วัดสลักเพชร เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยหลวงสลักเพชร พัฒนกิจ (ติ้น สลักเพชร ) เป็นผู้ปกครองในขณะนั้น วัดนี้โดดเด่นด้วยโบสถ์ที่มีสถาปัตยกรรมงดงาม ภายในมีจิตกรรมงดงามซึ่งเป็นเรื่องพุทธประวัติซึ่งบางส่วนเป็นรูปนูนต่ำสวยงามมาก
นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์วัดสลักเพชร ภายในรวบรวมงานศิลปะไทย ทั้งภาพจิตกรรมและเรือสุพรรณหงส์จำลอง จากนั้นพวกเราปั่นไปตามเส้นทางผ่านคลองนาในซึ่งรัชกาลที่ 5 เคยเสด็จผ่านคลองนี้เพื่อประพาสบ้านสลักเพชร สองข้างทางเป็นทิวมะพร้าวสูงชะลูด
ปั่นไปสักพักก็เจอทางเข้าป่าชายเลนบ้านนาใน โกงกางใบเล็ก พังกาหัวสุมยืนต้นต้อนรับการอย่างหนาตา สะพานสีแดงทอดผ่านเข้าไปป่าชายเลน เชิญให้ผู้มาเยือนด้วยสองล้อเดินเข้าไปสำรวจ ยิ่งเข้าไปลึกจะเห็นตาตุ่มทะเล ถั่วขาวและแสมดำขึ้นแซมอยู่
ป่าชายเลนบ้านาเป็นหนึ่งในป่าชายเลนของเกาะช้างซึ่งมีเนื้อที่ทั้งหมด 690 ไร่ แม้จะเป็นจะไม่ได้เปิดเป็นการท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ ทว่าสงบเรียบและทางเดินภายในป่าชายเลนก็แข็งแรงด้วย
หลังจากฟินกับป่าชายเลนได้สักพักก็หมดเวลาที่จะสนุกบนอาบจักรยานของทริป3 เส้นทางบนเกาะช้างแล้ว เส้นทางปั่นจักรยานเมืองตราด อาจเป็นหนึ่งในทางเลือกหรือเป็นการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ชุมชน ทำให้จิตใจของนักท่องเที่ยวอ่อนโยนขึ้น
>>>สอบถามรายละเอียดได้ที่ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. โทร. 0-3955-2222
แวะชมแหล่งท่องเที่ยว เกาะช้าง เชียงคาน ภูเก็ต เขาใหญ่ และ ปาย
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook.. ได้ที่นี่เลย!!
อัลบั้มภาพ 32 ภาพ