เวียงสา จ. น่าน : เมืองเล็กและคนรักจักรยาน

เวียงสา จ. น่าน : เมืองเล็กและคนรักจักรยาน

เวียงสา จ. น่าน : เมืองเล็กและคนรักจักรยาน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อำเภอเวียงสาได้ชื่อว่าเป็น "ประตูสู่น่าน" เพราะการมาตัวเมืองน่านไม่ว่าจากสถานีรถไฟเด่นชัย ขับรถมาทางแพร่ หรือนั่งเรือมาตามลำน้ำน่าน ต้องผ่านเวียงสาก่อนเสมอ แต่ด้วยเป็นอำเภอเล็ก คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่ามีอะไรดี จึงเหยียบคันเร่งผ่านไป ต่อเมื่อใครสักคนตั้งใจมาจริงๆ จึงจะได้พบกับเมืองเล็กซึ่งเก็บบรรยากาศน่านแบบดั้งเดิมไว้ได้ครบครัน-เมืองที่มีสายน้ำไหลผ่านถึง 7 สาย การเกษตรอุดมสมบูรณ์ มีทุ่งนาเขียวขจีตลอด 2 ข้างทาง เมืองที่มีวัฒนธรรมประเพณีที่งดงาม ทั้งผู้คนก็จิตใจดีอารี ต่อผู้มาเยือน เหล่านี้ทำให้เวียงสามีเสน่ห์ไม่แพ้เมืองไหนๆ ใครบางคนยังบอกอีกว่า เมืองนี้คือเมืองของคนรักจักรยาน นอกจากมีพิพิธภัณฑ์ "เฮือนรถถีบ" แล้ว คนเวียงสายังใช้รถถีบหรือจักรยานในชีวิตประจำวันอยู่เสมอ ดังนั้นพาหนะสำคัญที่จะพาเราไปรู้จักเวียงสาคงไม่มีอะไรดีกว่าเจ้า 2 ล้อที่พาซอกแซกไปยังทุกมุมของเมืองเล็กนี้ได้อย่างกลมกลืน

"นายรอบรู้" ขอชวนคุณผู้อ่านไปถีบรถถีบช้าๆ รับลมเย็นๆ กันที่เวียงสา

>>>ชีวิตเริ่มต้น ที่ตลาดเช้า

ดวงอาทิตย์เพิ่งจับขอบฟ้า ตอนที่รถตู้ของพวกเราควบปุเลงๆ ฝ่าไอหมอกจากตัวเมืองน่านมาถึงอำเภอเวียงสา ไม่นานหลังความมืดคลี่คลาย อาคารไม้เก่าตั้งอยู่ใกล้กับวัดบุญยืนก็เผยให้เห็นความสง่างาม อาคารแห่งนี้เป็นที่ตั้งของ ตลาดเทศบาลตำบลเวียงสา หรือตลาดวัดบุญยืน ซึ่งคนที่นี่เรียกกันว่า "กาดเจ๊า" เวลาเช้าอย่างนี้ตลาดเป็นจุดที่มีผู้คนคึกคักที่สุด ถนนด้านหน้าเต็มไปด้วยจักรยานของบรรดาแม่บ้าน ถ้าอยากรู้ว่าคนเวียงสากินอะไร ให้มาหาคำตอบในตลาดนี้ตลาดวัดบุญยืนมีขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ อยู่ในอาคารไม้เก่าแก่อายุนับร้อยปี ตัวอาคารมีเสาไม้ตั้งเรียงรายเป็นแนว เพดานสูงโปร่ง

แม่ค้าพ่อค้าตั้งแผงวางของขายเรียงรายเต็มไปหมด ส่งเสียงอู้คำเมืองดังไปทั่ว เสริมให้บรรยากาศตลาดแบบดั้งเดิมนี้ยิ่งเปี่ยมเสน่ห์ เราเดินเมียงมองผักพื้นบ้านหน้าตาแปลกๆ เช่น ผักขี้หูด ผักเฮือด ผักปลัง ผักพวกนี้กินกับน้ำพริกได้อร่อยนัก แต่ที่สะดุดตามากที่สุดคือแผงขาย "เมี่ยง" ของขบเคี้ยวพื้นเมืองยอดนิยมซึ่งไม่ค่อยได้พบเห็น หน้าแผงมีเข่งเมี่ยงขนาดใหญ่ตั้งเรียงอยู่หลายเข่ง แต่ละเข่งมีใบเมี่ยงซึ่งมัดเป็นกำวางเรียงเป็นวงอัดแน่นแม่ค้าบอกด้วยรอยยิ้มว่า ใบเมี่ยงส่วนใหญ่รับมาจากจังหวัดแพร่

วิธีการทำเมี่ยงคือ เก็บใบอ่อนมาล้างทำความสะอาด มัดเป็นกำแล้วนำมานึ่งในไหประมาณ 3-4 ชั่วโมง นำไปผึ่งให้เย็น จากนั้นหมักทิ้งไว้ในไหอีกประมาณ 2-3 เดือน ใบเมี่ยงจะมีรสเปรี้ยว มัน และมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว เมื่อนำใบเมี่ยงมาขายจะมัดเป็นกำ คนซื้อก็จะนำไปม้วนเป็นคำเล็กๆ กินเปล่าๆ หรือผสมเกลือ ขิงดอง น้ำตาล และมะพร้าวคั่ว ให้ออกรสเค็ม หวาน มัน ตามแต่ชอบ เมี่ยงเป็นพืชวงศ์เดียวกับใบชา กินแล้วจึงรู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่า

คนเวียงสารุ่นผู้ใหญ่ยังนิยมเคี้ยวเล่นหลังกินข้าว เรียกว่าติดเมี่ยงไม่ต่างกับคนกรุงติดกาแฟ วันไหนไม่ได้เคี้ยวจะสะลึมสะลือหาวหวอดทั้งวันว่าแล้วแม่ค้าก็หยิบเมี่ยงมาให้ชิมอย่างเป็นมิตร เราหยิบเข้าปากแล้วถึงกับหยีตา เพราะรสชาติทั้งเปรี้ยวทั้งฝาดเกินคาด แต่ก็ดีใจที่ได้ลิ้มลอง เพราะทำให้รู้ว่ารสไม่เหมือนกับเมี่ยงอุตรดิตถ์หรือเมี่ยงคำที่เคยชิมมาแม้แต่น้อยในตลาดยังมีของพื้นบ้านอีกหลากหลายอย่างให้เดินชมกันเพลิน รวมทั้งมีอาหารมื้อเช้าขายด้วย จวบจนเวลาล่วงเข้าเกือบ 8 โมงเช้า ตลาดจึงเริ่มวาย ชีวิตของคนเวียงสาเริ่มต้นที่ตลาดเช้าเช่นนี้เอง

>>>วัดเก่าแก่และรอยพระบาทแรกแห่งแผ่นดินน่าน

จากตลาดเช้าเราแวะไปที่ วัดบุญยืน พระอารามหลวงสำคัญที่สุดของอำเภอเวียงสา นับเป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองมาช้านาน พระอุโบสถและพระเจดีย์สร้างด้วยศิลปะล้านนา มีหลังคาลดหลั่นยาวไม่เท่ากันดูสวยงามแปลกตา

เมื่อเข้าไปภายในอุโบสถเราพบเสากลมใหญ่ที่นำสายตามุ่งตรงไปยังพระประธานปางประทับยืนองค์สูงสง่า สงบเย็น และงดงามหลังก้มกราบพระประธาน เราเดินชมงานศิลปกรรมในวัด ซึ่งอาจไม่วิจิตรอย่างงานภาคกลาง แต่ก็มีเสน่ห์น่าสนใจด้วยฝีมือช่างพื้นถิ่น ทั้งบานประตูขนาดใหญ่ด้านหน้าที่แกะสลักซ้อน ๓-๔ ชั้นเป็นรูปเทวดาแซมด้วยลายพรรณพฤกษาดูสวยงาม และคันทวยไม้แกะสลักรูปพญานาคและสัตว์ประจำปีนักษัตร ที่ประทับใจที่สุดคงเป็นลายปูนปั้นรูปตัวละครในวรรณคดีโบราณด้านหน้าพระอุโบสถ เช่น รูปหนุมานหาวเป็นดาวเป็นเดือน รูปกินรี รูปพระแม่ธรณีบีบมวยผม ช่างปั้นปั้นได้น่ารักราวกับหลุดออกมาจากหนังสือการ์ตูนมากกว่าวรรณคดีจนเราอดยิ้มไม่ได้จากวัดบุญยืน

พวกเราเดินมาฝั่งตรงข้ามสู่ สำนักงานเทศบาลตำบลเวียงสา ซึ่งเป็นอาคารไม้หลังประวัติศาสตร์ที่ชาวเวียงสาภาคภูมิใจ เนื่องจากเป็นอนุสรณ์ถึงความห่วงใยที่พระบาทสมเด็จ-พระเจ้าอยู่หัวทรงมีต่อราษฎรในอำเภอเล็กๆ แห่งนี้คนเวียงสาอายุ 50 ปีขึ้นไปต่างไม่เคยลืมว่า วันที่ 16 มีนาคม 2501 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินจากจังหวัดแพร่มาที่อาคารเก่าหลังนี้ ซึ่งในสมัยนั้นยังเป็น "ที่ว่าการอำเภอสา" ตามชื่อเก่าของอำเภอ ทั้งสองพระองค์เสด็จฯ ขึ้นไปประทับ ณ มุขหน้าที่ว่าการอำเภอ โดยมีราษฎรเฝ้ารับเสด็จอย่างเนืองแน่น การเสด็จฯ มาเยี่ยมเยียนพสกนิกรชาวน่านครั้งนั้นนับเป็นการเสด็จพระราชดำเนินมายังจังหวัดน่านเป็นครั้งแรก เวียงสา-ประตูสู่น่าน จึงเป็นแห่งแรกที่ได้รองรับ "รอยพระบาทแรก" ของทั้งสองพระองค์ซึ่งประทับลงบนแผ่นดินน่านก่อนจะเสด็จฯ ต่อไปยังตัวจังหวัดน่าน วิโรจน์ หวั่นท๊อก นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเวียงสา เล่าให้ฟังว่า เมื่อครั้งยังเป็นเด็กตัวกะเปี๊ยก เขาได้มาร่วมรับเสด็จกับครอบครัวด้วย ยังเก็บความประทับใจนั้นไว้มิรู้ลืม เมื่อมีโอกาสจึงได้ฟื้นฟูอาคารหลังนี้ในปี 2552

ด้านบนที่เคยเป็นห้องเก็บของก็จัดเป็นห้องนิทรรศการอนุสรณ์รอยพระบาทแรกแห่งแผ่นดินน่าน และพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นซึ่งจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้โบราณของชาวเวียงสา ทั้งยังรวบรวมหัวเรือแข่งเก่าแก่อายุหลายร้อยปีมาแสดงไว้ด้วยส่วนหน้ามุขอันเป็นบริเวณที่ทั้งสองพระองค์ประทับ

ทางเทศบาลฯ ได้ปรับปรุงจำลองให้เหมือนครั้งอดีตราวกับหยุดเวลาไว้ โดยนำพระปรมาภิไธยย่อ กระดาษฉลุลาย และป้ายที่ว่าการอำเภอสา กลับมาประดับตกแต่งโดยยึดตามภาพถ่ายการเสด็จฯ ครั้งนั้นเป็นแบบ ที่สำคัญคือม้านั่งไม้ที่ประทับ ซึ่งผู้มีอำนาจบางคนเคยยึดไปเป็นสมบัติส่วนตัว ทางเทศบาลฯ ก็ได้ทำเรื่องขอคืนและนำกลับมาวางไว้ดังเดิมความสุขในแววตาของนายกเทศมนตรีรวมทั้งคนเวียงสา ยามเมื่อมองภาพถ่ายบันทึกการเสด็จฯ เยือนครั้งแรกของ 2 พระองค์ ทำให้เราอดปลื้มปีติไปด้วยไม่ได้...

>>>เฮือนรถถีบ :ความรักกับจักรยาน

หลังกินข้าวเช้าเสร็จสรรพเราก็มาพบกับ "กลุ่มฮักเมืองเวียงสา" กลุ่มชาวบ้านที่ทำงานด้านอนุรักษ์วัฒนธรรมและส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในอำเภอเวียงสา ช่วงที่การท่องเที่ยวในเมืองเล็กแห่งนี้ เพิ่งเริ่มตั้งไข่ กลุ่มฮักเมืองเวียงสาจะคอยทำหน้าที่ดูแลสอดส่องไม่ให้กิจกรรมเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเติบโตเร็วเกินไปจนส่งผลกระทบต่อวิถีดั้งเดิมของพวกเขา

วันที่เราไปเยือน พี่นาย-จามรี เต็งไตรรัตน์ กับอาจารย์ระดม อินแสง 2 สมาชิกคนสำคัญของกลุ่ม กรุณามาให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเมืองที่เขารัก พร้อมย้ำหนักแน่นว่า ถ้าจะเรียนรู้จักเวียงสาให้ถ่องแท้ ต้องลงจากรถยนต์มาปั่นจักรยานเท่านั้น เพราะจักรยานจะพาเราซอกแซกไปได้ทุกมุมของเมืองโดยพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยไม่ตกอกตกใจ แถมการขี่จักรยานยังเป็นมิตรกว่าการขับรถเข้าไปถ่ายรูป 2-3 แชะแล้วกลับเป็นไหนๆ

จุดเริ่มต้นของเส้นทางจักรยานในครั้งนี้คือ เฮือนรถถีบ หรือพิพิธภัณฑ์จักรยานของคุณลุงสุพจน์ เต็งไตรรัตน์ คุณพ่อของพี่นายนั่นเอง พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เก็บสะสมจักรยานเก่านับร้อยคัน ทั้งหมดเป็นจักรยานแบบยุโรปที่หลายรุ่นเคยมีขายในตัวเมืองน่าน ที่สำคัญมันได้บันทึกความทรงจำส่วนตัวของคุณลุงสุพจน์เอาไว้ ย้อนกลับไป 60 กว่าปีก่อน ครอบครัวเต็งไตรรัตน์ย้ายจากอำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ มาตั้งรกรากที่ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน

แล้วเริ่มต้นประกอบอาชีพด้วยการเปิดร้านซ่อมจักรยาน และซื้อเกลือรวมทั้งของใช้ประจำวันมาแลกกับข้าวเปลือกของชาวบ้าน ต่อมาภายหลังจึงคิดขยายกิจการโดยติดต่อกับห้างเซ่งง่วนเฮงที่กรุงเทพฯ ขอเป็นตัวแทนจำหน่ายจักรยานนำเข้าจากยุโรปหลายยี่ห้อ เช่น ราเลห์ กาเซลล์ โรบินฮูด ฟิลลิปส์ นิวฮัดสัน มาขายในจังหวัดน่าน

การขนส่งจักรยานจากกรุงเทพฯ มายังน่านในครั้งนั้น จะแยกชิ้นส่วนบรรจุลงกล่องแล้วส่งมากับรถไฟ เมื่อถึงปลายทางที่น่าน ร้านเต็งไตรรัตน์จะเป็นผู้ประกอบชิ้นส่วนเหล่านั้นขึ้นเป็นคันรถ คุณลุงสุพจน์ในวัยเด็กทำหน้าที่นี้ร่วมกับเตี่ย จนเหมือนชิ้นส่วนจักรยานต่างๆ เป็นเพื่อนสนิทที่เติบโตมาด้วยกัน ขณะเดียวกันจักรยานก็คือของเล่นอย่างดีที่เตี่ยและแม่สรรหามาให้คุณลุง แล้วครอบครัวก็เริ่มก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาได้ในวันนั้น

ครั้นต่อมายุคสมัยเปลี่ยน จักรยานยนต์เข้ามามีบทบาทแทนรถถีบ ร้านเต็งไตรรัตน์จึงต้องปรับตัวตามด้วยการแยกส่วนเจ้ารถถีบ เก็บชิ้นส่วนชิ้นเล็กชิ้นน้อยลงกล่อง แล้วหันมาขายจักรยานยนต์ ก่อนจะเปลี่ยนมาดำเนินธุรกิจสถานีบริการน้ำมันจนถึงปัจจุบันเจ้ารถถีบเพื่อนเก่ากลายเป็นความทรงจำเนิ่นนานจนเกือบลืมเลือน กระทั่งเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ที่จังหวัดน่านเมื่อเดือนสิงหาคม 2549 คุณลุงสุพจน์ได้ไปช่วยทำความสะอาดเก็บกวาดข้าวของในบ้านคุณแม่หลังน้ำลด และพบชิ้นส่วนจักรยานที่ถูกเก็บไว้จนเกือบลืม แต่ละชิ้นยังคงสภาพดี ทำให้รำลึกถึงอดีตที่ครอบครัวเคยขายจักรยานจนลงหลักปักฐานเป็นปึกแผ่นได้ถึงทุกวันนี้

คุณลุงจึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะรวบรวมจักรยานโบราณและก่อตั้ง "เฮือนรถถีบ" ขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์และแหล่งเรียนรู้แก่คนรุ่นหลังจากจักรยานไม่กี่คันที่ประกอบชิ้นส่วนให้กลับมีชีวิตขึ้นใหม่ คุณลุงสุพจน์ยังลงทุนตามซื้อจักรยานยุโรปกลับมารวบรวมไว้ที่เฮือนรถถีบจนครบทุกรุ่น แม้แต่นักปั่นชาวต่างชาติที่เคยมาเยี่ยมชมถึงกับบอกว่า สมบูรณ์ยิ่งกว่าพิพิธภัณฑ์จักรยานในเยอรมนีที่เขาเพิ่งไปมาเสียอีกใครที่มาเยือนเฮือนนี้อาจถึงกับตะลึงเมื่อได้ยืนอยู่ท่ามกลางจักรยานโบราณหลากหลายรูปแบบ และแต่ละคันก็มีรูปทรงคลาสสิกเหมือนที่เราเคยได้เห็นในภาพถ่ายขาว-ดำสมัยก่อน

ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นจักรยานยี่ห้อดัง อย่างราเลห์ หรือเบียงคี แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือเรื่องเล่าเกี่ยวกับวิวัฒนาการของจักรยานอันเกี่ยวโยงกับประวัติศาสตร์ยานยนต์โลก เช่น "จักรยานล้อโต" อายุกว่า 130 ปี มีล้อหน้าใหญ่ล้อหลังเล็ก เป็นจักรยานยุคแรกที่ยังไม่ใช้ระบบโซ่ ต้องถีบเคลื่อนแกนล้อโดยตรง ดังนั้นจึงต้องมีล้อขนาดใหญ่กว่าจักรยานในสมัยปัจจุบันเพื่อให้ถีบได้ระยะทาง "จักรยานไทรดอน" ที่วิวัฒนาการต่อจากเจ้าล้อโต โดยนำเฟืองและโซ่มาใช้เป็นครั้งแรก ช่วยให้ใช้แรงถีบน้อยกว่า ขับขี่สะดวกและปลอดภัยมากขึ้น "จักรยานบีเอสเอ" หรือจักรยานพับรุ่นแรกของโลก ออกแบบเพื่อใช้ในสงคราม ตัวรถพับและหิ้วสะพายหลังได้ ทหารจะกระโดดร่มลงมาพร้อมจักรยานนี้แล้วกางออกปั่นต่อได้ทั้งจักรยานคลาสสิกแท้ๆ ทั้งเรื่องเล่า ทำให้เราถึงกับทึ่งในวิวัฒนาการก่อนจะมาเป็นจักรยานที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ จักรยานทุกคันในเฮือนรถถีบยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ คุณลุงจึงชวนให้ลองขี่ดู เราขี่เล่นแล้วติดลม เลยขอเช่าจักรยานธรรมดาไปปั่นเที่ยวต่อ โดยมีอาจารย์ระดม อินแสง เป็นมัคคุเทศก์กิตติมศักดิ์ปั่นนำชมเมืองเวียงสา

>>>สองล้อ สองขา พาทัวร์เมืองเล็ก

พี่นายมอบแผนที่สำหรับขี่จักรยานเที่ยวแผ่นเล็กๆ ให้เรา พร้อมกับบอกว่า บนเส้นทางมีฉากชีวิตที่เปลี่ยนไปตามฤดูกาล ในฤดูฝนจะเห็นชาวนาดำนา ถอนกล้า พอถึงฤดูเก็บเกี่ยวชาวนาก็จะเกี่ยวรวงข้าวเหลืองทองนั้นด้วยเคียว แล้วฟาดข้าวที่ลานนวดข้าว

ส่วนตามใต้ถุนบ้านอาจได้พบแม่บ้านนั่งอีดฝ้าย (แยกเมล็ดฝ้ายออกจากดอกฝ้าย) ปั่นด้าย ทอผ้า ผู้เฒ่าผู้แก่ทำตุง โคมไฟพื้นเมือง และในช่วงที่มีประเพณีใส่บาตรเทียนที่วัดบุญยืน งานตานก๋วยสลาก หรืองานแข่งเรือ บรรยากาศในชุมชนก็จะแตกต่างกันไป ซึ่งผู้ไปเยือนเลือกเข้าร่วมได้แบบแทบไม่ซ้ำซีนกันเลยในแต่ละครั้งเวลาที่เหมาะสมสำหรับการขี่จักรยานเที่ยวคือ ช่วงเช้าราว 6 โมงครึ่งถึง 8โมงครึ่ง หลังจากนั้นแดดจะแรง แต่ในฤดูหนาวอาจปั่นเที่ยวได้ถึง 11 โมง ส่วนช่วงเย็นเริ่มปั่นได้ตั้งแต่บ่าย 3 โมงครึ่งเป็นต้นไป

แต่เพราะพวกเราสนใจบรรดารถถีบที่เฮือนรถถีบกันมาก กว่าจะได้ออกปั่นเที่ยวจึงล่วงเลยมาจนเที่ยงที่แดดร้อนเปรี้ยงชนิดที่ต้องวิ่งหาหมวกมาสวมกันจ้าละหวั่นอาจารย์ระดมขี่นำเราไปตามถนนสายสา-นาน้อย ก่อนลัดเลาะเข้าถนนเส้นเล็กผ่านทุ่งนา ๒ ข้างทาง แล้วไปแวะที่ เฮือนกะหล๊ก บ้านของอาจารย์ซึ่งเป็นที่ตั้งของกลุ่มฮักเมืองเวียงสาด้วย เรือนหลังนี้เป็นเรือนกาแลติดแม่น้ำน่าน แม่น้ำบริเวณนี้เป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา

ทุกวันอาจารย์ระดมจะเคาะ "กะหล๊ก" หรือ "กะหลก" คือเกราะไม้ที่ในอดีตใช้เคาะแจ้งข่าวหรือเรียกประชุมชาวบ้าน แต่อาจารย์เคาะเรียกปลา แล้วจึงยิงหนังสติ๊กให้อาหารที่เรียกว่า "ยิงลูกก๋งพระอินทร์" เมื่อเรามาเยือนถึงเฮือน อาจารย์เลยชวนเรายิงไปด้วยอย่างสนุกสนาน นอกจากนี้เฮือนกะหล๊กยังเปิดสอนตัวอักษรธรรมล้านนา หรือ "ตั๋วเมือง" ให้แก่ชาวบ้านด้วย ความคิดนี้เกิดขึ้นหลังจากที่อาจารย์ระดมไปชมจิตรกรรมฝาผนังที่วัดภูมินทร์แล้วรู้สึกสะกิดใจว่า อาจารย์เอง เป็นคนน่านแต่อ่าน "ตั๋วเมือง" ที่บรรยายภาพไม่ออก จึงเชิญผู้รู้มาช่วยสอนและสอนแก่คนทั่วไปด้วย ดังนั้นถ้าผ่านเฮือนนี้ในตอนเย็นก็อาจพบชาวบ้านนั่งเรียนกันเต็มใต้ถุน

จากนั้นเราขึ้นรถถีบไปกันต่อที่หมู่บ้านดอนไชยใต้ อาจารย์ระดมบอกว่า คนที่นี่ทอผ้าใช้กันมาตั้งแต่อดีต ระหว่างทางเราพบคุณยายบุญเย็น อารัญ ซึ่งทอผ้ามาตั้งแต่อายุ 17 ปี จนปัจจุบันคุณยายอายุ 76 ปีและยังคงทอผ้าโดยใช้ "กี่เมือง" แบบดั้งเดิมอยู่

ฝั่งตรงข้ามบ้านคุณยายเป็นร้าน วราภรณ์ผ้าทอ แหล่งรวมผลิตภัณฑ์ผ้าทอจากหมู่บ้านและอำเภอเวียงสา มีผ้าทอลายดั้งเดิม อย่างซิ่นลายน้ำไหล ซิ่นม่าน ซิ่นปล้อง ที่นำแบบมาจากจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ รวมทั้งของฝากฝีมือชาวบ้าน ให้เลือกซื้อใส่ตะกร้าหน้ารถติดกลับไปด้วย เราขี่จักรยานเลียบเลาะไปตามเส้นทางริมแม่น้ำน่าน ผ่านวัดดอนไชย

ก่อนไปจบที่ ร้านจ๊างน่านมิลค์คลับและแกลเลอรี ร้านขายนม กาแฟ และของที่ระลึกตรา "จ๊างน่าน" ที่โด่งดังติดตลาดไปแล้ว ด้านบนของร้านเป็นแกลเลอรีจัดแสดงผลงานศิลปะ แต่สิ่งที่เราสนใจที่สุดคือภาพถ่ายขาว-ดำรูปช้างและรถประจำทางที่ติดตามผนังร้าน หยก-วงศกร ไกรทอง เจ้าของร้าน เฉลยให้ฟังว่า เดิมบ้านคุณตาเลี้ยงช้างไว้ลากซุง จนกระทั่งถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 2 จึงไปซื้อรถมาทำกิจการเดินรถโดยสารประจำทางสายแพร่-เด่นชัย-น่าน โดยใช้ชื่อ "รถเมล์วาสนา" ต่อมาเปลี่ยนมาทำกิจการอะไหล่รถยนต์ในชื่อร้าน "วาสนาพานิช"

ก่อนที่หยกจะปรับปรุงเรือนไม้เก่าหลังนี้เป็นมิลค์คลับตามความฝันเล็กๆ ของเขาและภรรยา รถเมล์ที่จอดข้างร้านก็คือรถเมล์วาสนาที่เคยวิ่งรับส่งผู้โดยสารนั่นเองในตัวเมืองเวียงสายังมีร้านขายเครื่องจักสานและมีดพร้าราคาย่อมเยาให้แวะซื้อ

ตลอดทางเราได้เห็นชาวบ้านขี่จักรยานผ่านไปมา เป็นภาพชีวิตประจำวันของคนเวียงสา ก่อนกลับเรายังมีโอกาสได้แวะไปชมการทำหัวเรือแข่งที่บ้านสล่าเหวียน วงศรีสม ได้รู้รายละเอียดของการเลือกไม้มาทำหัวเรือว่า มักเลือกไม้ที่มีน้ำหนักเบา เช่น ไม้ซ้อที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น และไม้ที่มีชื่อมงคล เช่น ไม้ขนุน ไม้ทองหลาง เป็นต้น แล้วเวลา 1 วันก็ผ่านไปอย่างรวดเร็วจนถึงเวลาที่ต้องจากลา แม้เราได้พบเห็น ได้เรียนรู้ เรื่องราวของเมืองนี้ในหลากหลายแง่มุม แต่ดูเหมือนเมืองเล็กๆ แห่งนี้ยังมีความเรียบง่ายงดงามอีกมากรอให้เรามาค้นหา ถ้าเป็นเช่นนั้น นี่คงไม่ใช่ครั้งเดียวที่เราจะมาเยือนเวียงสา

ควรรู้ก่อนเที่ยว

เฮือนรถถีบ เปิดเวลา 09.00-11.00 น. และ 14.00-16.00 น. มีจักรยานให้เช่าคันละ 50 บาท โทร. 0-5478-1359

อาคารที่ว่าการอำเภอหลังเก่า เปิดวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-16.00 น.

กลุ่มคนฮักเวียงสา โทร. 08-5864-9820,08-6118-9054

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook.. ได้ที่นี่เลย!!

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ ของ เวียงสา จ. น่าน : เมืองเล็กและคนรักจักรยาน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook