เที่ยวตลาดศาลเจ้าโรงทองในเมืองวิเศษชัยชาญ
ณ ริมฝั่งแม่น้ำน้อย เขต ต. ศาลเจ้าโรงทอง อ. วิเศษชัยชาญ จ. อ่างทอง มีตลาดอันกว้างขวางราว 7 ไร่ตั้งอยู่ ผู้คนเรียกขานมาเป็นร้อยปีว่า "ตลาดศาลเจ้าโรงทอง" ด้วยมีศาลเจ้ากวนอูและโรงทำทองรูปพรรณที่มีชื่อเสียงหลายเจ้าตั้งอยู่ในตลาด ศาลเจ้า โรงทอง รวมถึงร้านค้าต่างๆ ในตลาด ล้วนมีขึ้นเพราะชาวจีนโพ้นทะเลที่มาตั้งถิ่นฐานที่นี่ตลาดศาลเจ้าโรงทองมีท่าเรืออยู่ใกล้ๆ กันถึง 3 ท่า เดินถึงกันได้สะดวก
ในอดีตท่าตลาดเหนือเป็นที่จอดเรือเขียว ท่าตลาดกลางจอดเรือแดง ท่าตลาดใต้จอดเรือสีเลือดหมู แต่ละท่าจะมีเรือสองชั้นจากสิงห์บุรีมาจอดรับผู้โดยสารที่ขึ้นล่องระหว่างสิงห์บุรี-วิเศษชัยชาญ-นครสวรรค์-อยุธยา ลงไปจนถึงท่าเตียน กรุงเทพฯ นอกจากเป็นเรือโดยสารที่ผู้คนในภูมิภาคนี้นิยมใช้บริการแล้ว ยังเป็นเรือขนส่งสินค้าเกษตรไปจำหน่ายที่กรุงเทพฯ ขากลับก็ขนข้าวของเครื่องใช้จากกรุงเทพฯ มาลงตามหัวเมืองต่างๆ รวมทั้งตลาดศาลเจ้าโรงทองนี้ด้วยตลาดแห่งนี้จึงคึกคักและมีพัฒนาการมายาวนาน ผ่านยุครุ่งโรจน์ที่มีแม่น้ำเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญ สู่ยุคร่วงโรยที่ความเจริญย้ายไปอยู่ริมถนนแทนแม่น้ำ ถึงกระนั้นตลาดศาลเจ้าโรงทองก็ยังคงมีชีวิตสืบต่อมา
เนื่องเพราะเจ้าของถิ่นหลายชั่วคนไม่ทิ้งถิ่นไปไหน ยังคงทำมาหากินอยู่ในตลาดนี้แต่แล้วโศกนาฏกรรมก็อุบัติขึ้น ! ใกล้รุ่งสางของวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2548 พระเพลิงได้เผาผลาญตลาดเหนือของตลาดศาลเจ้าโรงทอง ลามมาถึงตลาดกลางบางส่วน ร้านค้าห้องแถวไม้สถาปัตยกรรมเก่าแก่และทรัพย์สินสูญสิ้นไปกับกองเพลิง ปรากฏเป็นข่าวครึกโครมตามสื่อต่างๆ อย่างไรก็ตามหลังเหตุการณ์ผ่านพ้นไปไม่นาน คนในชุมชนก็สามารถพลิกฟื้นตลาดให้กลับคืนสู่สภาพเดิมอีกครั้ง เรือนแถวครึ่งตึกครึ่งไม้ที่พยายามรักษารูปแบบสถาปัตยกรรมเดิมถูกเนรมิตขึ้นใหม่โดยสถาปนิกและนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาเลื่องชื่อของประเทศ ใครเคยประกอบอาชีพใดก็กลับมาประกอบอาชีพนั้นดังเดิม เช่นเดียวกันกับบ้านที่รอดพ้นจากกองเพลิง
>>>เที่ยวไปอร่อยไป ในตลาดศาลเจ้าฯ
วันหยุดสุดสัปดาห์ ตลาดศาลเจ้าโรงทองจะคึกคักกว่าทุกวัน นอกจากมีชีวิตชุมชนคนตลาดให้ชม มีขนมของกินที่ขายอยู่ในตึกแถวให้เลือกชิมแล้ว ชาวตลาดยังร่วมแรงร่วมใจจัดตลาดน้ำขึ้นในลำน้ำน้อย มีร้านค้าเปิดแผงอยู่ริมน้ำ ขายข้าวของเครื่องใช้ งานฝีมือและงานศิลปะ ทั้งยังมีเรือพาเที่ยวชมชุมชนและทิวทัศน์สองฝั่งแม่น้ำด้วย
กิจกรรมที่ไม่น่าพลาดสำหรับคนมาเที่ยวตลาดนี้ก็คือ การหาของอร่อยๆ ชิมแบบเดินไปกินไปร้านแรกที่เราแวะคือร้านทรงนิมิต หากไม่เคยรู้จักมาก่อน ชื่อร้านนี้ก็ไม่ชวนให้นึกถึงขนมไทย ถามเจ้าของร้านจึงรู้ว่าชื่อนี้มีมาตั้งแต่ครั้งยังเป็นกิจการตัดกางเกงสุภาพบุรุษ แม้ต่อมาจะเปลี่ยนมาขายขนมไทยก็ยังคงใช้ชื่อเดิมนี้ ขนมร้านทรงนิมิตเป็นที่รู้จักกันทั่วไป ห้างดังๆ ในกรุงเทพฯ ก็มีวางขาย แต่เรามาถึงถิ่นจึงได้เห็นการทำขนมเกสรลำเจียก ขนมไทยโบราณลักษณะเป็นแผ่นแป้งบางๆ ใส่ไส้มะพร้าวหอมหวานที่เจ้าของร้านแนะนำ แบบทำกันสดๆ อยู่หน้าร้าน
ภายในร้านยังมีขนมไทยอีกหลายชนิด ทั้งขนมสาลี่เนื้อนุ่ม ขนมชั้น ขนมกลีบลำดวน และขนมโสมนัสที่ชื่อไม่คุ้นหูทว่ารสชาติอาจคุ้นเคย เพราะคล้ายๆ เมี่ยงคำที่เราเคยกินนี่เองบริเวณปากทางเข้าตลาด ตรงที่จอดรถวัดนางใน มีข้าวเหนียวมูนเจ้าอร่อยให้ชิม หน้าสังขยา หน้าปลาแห้ง หน้ากุ้ง ของเขาล้วนแต่อร่อย ช่วงที่มะม่วง ทุเรียนออกผล ก็มีข้าวเหนียวมะม่วงข้าวเหนียวทุเรียนเพิ่มความอร่อย ขนมที่เคยได้ยินแต่ชื่ออย่างขนมไส้ไก่ เราก็ได้มาเห็นมาชิมกันที่ตลาดนี้
คนท้องถิ่นแนะนำให้นั่งเรือที่ท่าตลาดกลางข้ามแม่น้ำน้อยไปยังฟากฝั่งกระโน้น ไปชมเรือโบราณจำลอง ก่อนถึงท่าเรือมีแม่ค้าขายทอดมัน ที่บางคนเรียกว่าปลาเห็ด เจ้านี้เขาร้อยทอดมันเป็นพวงด้วยตอก ขายพวงละ 20 บาท ระหว่างเดินไปท่าเรือเราจึงมีของว่างกินกันเอร็ดอร่อยเพลิดเพลินนอกจากนี้เรายังได้แวะที่ร้านยาจีนและยาไทยแผนโบราณซึ่งอยู่คู่ตลาดมานาน
ติดกับร้านนี้เป็นร้านประชาบาล ในอดีตเป็นร้านขายหนังสือขายเครื่องเขียนที่รู้จักกันดีในวิเศษชัยชาญ และเป็นบ้านเดิมของอาจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นักวิพากษ์สังคมและอดีตสมาชิกวุฒิสภา
ในตลาดแห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของบ้านคนดังที่รู้จักในสังคมไทยอีกหลายคนพอข้ามไปถึงฟากกระโน้น บ้านที่มีเรือโบราณจำลองให้ชมเป็นบ้านของก๋งเล็ก หรือนายแม้น จันทร์ประเสริฐ ที่ปัจจุบันอยู่ในวัย 73 ปีแล้ว ในวัยหนุ่มก๋งเล็กทำงานและอาศัยอยู่ในเรือที่วิ่งในลำน้ำน้อย ก๋งหลงใหลในรูปทรงของเรือต่างๆ และเห็นว่าเรือที่ตนเคยเห็นนั้นหลายชนิดหายไปจากท้องน้ำแล้ว จึงคิดประดิษฐ์เป็นเรือจำลองขึ้น ดังเช่นเรือเก๋ง เรือลากจูง หรือเรือโดยสารสองชั้นที่เรียกว่าเรือเขียว เรือแดง
>>>โกสาลี่กับพิพิธภัณฑ์กลางตลาด
"ผมอยากให้คนมาเดินเที่ยวตลาด ได้เห็นได้ชมงานศิลปะในข้าวของเครื่องใช้ของคนโบราณมากขึ้น"บัญญัติ จีรธรรมโรจน์ หรือที่คนในตลาดเรียกขานอย่างคุ้นเคยว่า "โกสาลี่" หนึ่งในผู้ประสบอัคคีภัยครั้งร้ายแรงเมื่อปี 2548 กล่าว ปัจจุบันเขาเป็นเจ้าของพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นอาคารตึกแถวที่สร้างแทนอาคารเดิมที่ถูกไฟไหม้ ตั้งอยู่กลางตลาดศาลเจ้าโรงทองโกสาลี่เป็นนักสะสมของเก่า เขาได้ของโบราณมาจากชาวบ้านร้านถิ่น และส่วนหนึ่งเป็นของสะสมของคุณยายที่เป็นชาวผักไห่ จ. พระนครศรีอยุธยา
หลังเกิดเพลิงไหม้ เขาตั้งปณิธานว่าจะร่วมพลิกฟื้นตลาดบ้านเกิด ด้วยการนำของเก่าที่เก็บสะสมมากว่า 3 ทศวรรษและนำออกมาจากกองเพลิงอย่างทุลักทุเล มาจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ผู้มาเดินเที่ยวตลาดได้ชมโดยไม่ต้องเสียค่าเข้าชม ทั้งโกสาลี่เองก็ยินดีจะเป็นผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้าวของแต่ละชิ้น ตั้งแต่ชิ้นเล็กๆ อย่างถ้วยโถโอชาม เครื่องแก้ว ไปจนถึงชิ้นใหญ่ๆ อย่างโต๊ะ ตั่ง เตียงนอนอายุนับร้อยปีแม้อดีตเป็นสิ่งที่เราไม่อาจเรียกกลับคืนได้ แต่เราสามารถเดินเข้าไปหาอดีตในตลาดศาลเจ้าโรงทองแห่งนี้ ตลาดอันเปรียบเสมือนของ "วิเศษ" ของเมืองวิเศษชัยชาญ
แวะชมแหล่งท่องเที่ยว เกาะช้าง เชียงคาน ภูเก็ต เขาใหญ่ และ ปาย
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook.. ได้ที่นี่เลย!!