ท่องเที่ยวสไตล์พิศาลพาเที่ยวถ้ำพระยานคร unseen เมืองประจวบฯ
ท่องเที่ยวสไตล์พิศาลเดือนตุลาคม 2557 พาเที่ยวถ้ำพระยานคร อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกของประเทศไทย ถ้ำพระยานคร นับเป็นสถานที่ท่องเที่ยว unseen แห่งหนึ่งของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นสถานที่ท่องเที่ยว unseen ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะการเดินทางไปถึงแหล่งท่องเที่ยวนี้ค่อนข้างลำบาก ต้องลงเรือเพื่อไปเดินขึ้นเขาสูงชันต่อเพื่อไปยังถ้ำ ใครเลือกที่จะไม่ลงเรือ ก็ต้องเดินข้ามเขา ที่ทางไม่ดีและชันมากถึง 2 ลูก เพื่อไปยังถ้ำพระยานคร
ถ้ำพระยานครนอกจากจะมีความสวยงามแล้วก็ยังเป็นถ้ำประวัติศาสตร์ที่มีกษัตริย์ในราชวงศ์จักรี เสด็จประพาสถึง 3 พระองค์ คือ รัชกาลที่5 รัชกาลที่7 และรัชกาลที่ 9 ที่เสด็จประพาสถึง2ครั้ง
ส่วนที่มาของคำว่าเขาสามร้อยยอด ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่ามาจากไหน เพราะนับดูแล้วยอดเขาแถวนั้นไม่น่าจะมีถึงสามร้อยยอด แต่ที่มาของคำว่า สามร้อยยอด มีตำนานเล่ากันต่อๆ มาว่า ในสมัยก่อนแถบนี้เป็นเส้นทางเดินเรือค้าขายที่มีเรือผ่านไปมาเป็นประจำ วันหนึ่งมีเรือสำเภาของพ่อค้าผ่านมาเจอพายุลูกใหญ่จนเรือล่ม คนในเรือเสียชีวิตมากมาย แต่มีผู้รอดตาย 300คน จึงเรียกบริเวณนี้ว่า สามร้อยรอด และคาดว่าคงจะเพี้ยนเป็นคำว่า สามร้อยยอดในเวลาต่อมา เพราะบริเวณแถบนั้นมีภูเขาหินปูนมากมายอยู่รอบๆ
เราออกจากกรุงเทพฯแต่เช้า ตั้งใจว่าจะไปเที่ยวแบบไปเช้าเย็นกลับ แวะทานข้าวแกงระหว่างทางที่ร้านแม่เสียน ที่อยู่ในปั๊มบางจาก ก่อนถึงนครชัยศรี ถ้ามาจากกรุงเทพฯ จะเป็นปั๊มบางจากปั๊มแรกอยู่ทางซ้ายมือก่อนถึงนครชัยศรี ข้าวแกงแม่เสียน ร้านนี้อร่อยกว่าข้าวแกงแถวเขาย้อยมาก แม่ครัวเป็นพยาบาล สามีเป็นทหารเรือ เป็นคนรุ่นหนุ่มสาว ได้สูตรข้าวแกงจากแม่เสียนที่เป็นยายจากสุพรรณบุรี ภรรยาที่เป็นพยาบาล และแม่ครัวจะตื่นตั้งแต่ตี 4 ทำกับข้าวประมาณ 20 อย่าง โดยมีสามี และลูกมืออีก 4-5 คนช่วยทำ เสร็จประมาณเกือบ 7 โมงเช้า แล้วก็แต่งตัวไปทำงานทั้ง 2 คน กับข้าวหมดแล้วหมดเลยไม่มีการทำเพิ่ม
ถ้าไปใกล้เที่ยงกับข้าวส่วนใหญ่ก็เหลือน้อยแล้ว ทานตอนเช้าดีที่สุด อาหารอร่อยทุกอย่าง ราคาไม่แพง แถมพม่าที่เป็นคนขายตักกับข้าวแบบไม่เกรงใจเจ้าของ จานเดียวอิ่ม มีแกงจืดร้อนๆ อร่อยๆ ให้เลือก 3-4อย่าง อร่อยทุกอย่าง นอกจากนี้ร้านป้าที่ขายขนมและผลไม้ที่อยู่ติดกับร้านอาหารก็มีขนม อร่อยๆ และผลไม้ขายด้วย หลังจากทานอาหารแล้วก็ซื้อขนมและผลไม้ติดรถไปทานระหว่างทาง ปัญหาของที่นี่คือ มีที่จอดรถค่อนข้างน้อย ถ้าไม่มีที่จอดก็ขอให้อดใจรอ รับรองทานแล้วไม่ผิดหวัง
หลังจากทานอาหารเช้าเสร็จ เราก็ขับรถไปยังอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ผ่านเพชรบุรี หัวหิน เข้าปราณบุรี ตามป้ายถ้ำพระยานคร อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดไป จนเจอทางแยกที่ไปวัดหุบตาโคตร จะเห็นป้ายชี้ไปหาดบางปู และถ้ำพระยานคร ก็เลี้ยวตามป้ายเพื่อไปที่หาดบางปูเพื่อเหมาเรือไปยังถ้ำพระยานคร
เมื่อขับรถถึงหาดบางปูก็จะเห็นอนุสรณ์สถานบ้านบางปูอยู่ริมชายหาด เราจอดรถ (พิกัดN12.20597*E100.00951*) เสร็จแล้วก็ไปติดต่อเช่าเรือไปยังหาดแหลมศาลาเพื่อเดินขึ้นเขาไปถ้ำพระยานคร ถ้าไม่เหมาเรือไปหาดแหลมศาลา เราก็ต้องเดินขึ้นเขาสูงชันและทางไม่ดีประมาณครึ่งกิโลเมตรเพื่อไปที่หาดแหลมศาลา เพราะที่หาดแหลมศาลารถเข้าไม่ถึง เราเลยคิดว่าช่วงแรกขอออมแรงนั่งเรือไปลงที่หาดแหลมศาลาดีกว่า เก็บแรงไว้เดินขึ้นเขาที่สูงชันในช่วงที่สองจากหาดแหลมศาลาไปยังถ้ำพระยานคร
เราเหมาเรือในราคา 400 บาท เจ้าหน้าที่จะให้เบอร์เรือเรามาเพื่อโทรเรียกให้เรือมารับตอนขากลับ ที่นี่ไม่มีท่าเรือเราต้องถอดรองเท้าเดินหิ้วไปขึ้นเรือหางยาวที่จอดรอเราอยู่ริมฝั่ง ถ้าใครจะมาเที่ยวถ้ำพระยานคร แนะนำให้ใส่กางเกงขาสั้นมาเพื่อลุยน้ำขึ้นเรือ ไม่ควรใส่รองเท้าแตะมาแม้จะลุยน้ำได้สะดวก แต่เวลาขึ้นเขาสูงชันทางไม่ดีใส่รองเท้าแตะจะเดินขึ้นลำบาก ยอมเดินหิ้วรองเท้าผ้าใบไปขึ้นเรือดีกว่า พอถึงหาดแหลมศาลาเขาจะมีก๊อกน้ำและที่ให้นั่งล้างเท้าเพื่อใส่รองเท้าผ้าใบเพื่อเดินขึ้นเขา ควรเตรียมกระดาษทิชชู่เพื่อเช็ดเท้าไปด้วย
เมื่อขึ้นเรือเรียบร้อยแล้ว เราก็ถามคนขับเรือว่าแถวนี้มีที่ไหนเที่ยวบ้างนอกจากถ้ำพระยานคร คนขับเรือบอกว่ามีหมู่บ้านชาวประมงค์หาดบ้านปู และศาลเจ้าแม่นมสาวที่ตั้งอยู่ที่เกาะนมสาว เราเลยขอให้คนขับเรือพาเราไปเที่ยว หาดแหลมศาลาอยู่ถัดจากหาดบ้านปูไปโดยมีภูเขาขวางอยู่ ขับเรืออ้อมภูเขาลูกนี้ก็ถึงหาดแหลมศาลาแล้ว ใช้เวลาเพียง10-15 นาทีเท่านั้น แต่ถ้าเดินข้ามภูเขา (ระยะทางประมาณครึ่งกิโลเมตร) เพื่อมาที่หาดแหลมศาลาก็จะต้องใช้เวลาเดินไม่ต่ำกว่า30-40 นาที เพราะเขาสูงชัน
เรือผ่านหมู่บ้านชาวประมงค์บ้านปู หมู่บ้านค่อนข้างเงียบเพราะชาวประมงค์ออกหาปลายังไม่กลับ เรือประมงค์บางลำทยอยกลับหมู่บ้านหลังจากหาปลาเสร็จแล้ว จากนั้นเราผ่านเกาะนมสาวซึ่งเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าแม่นมสาวซึ่งชาวบ้านแถวนี้เคารพนับถือเป็นอย่างมาก จากนั้นเรือก็พาเรามายังหาดแหลมศาลา ซึ่งเป็นหาดทรายติดเชิงเขาทอดยาวไปตามชายทะเล เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินขึ้นเขาสูงชัน ระยะทางประมาณ 430 เมตรเพื่อไปยังถ้ำพระยานคร ชายหาดแหลมศาลาติดเชิงเขา อีกด้านของเชิงเขาก็จะเป็นหาดบ้านปูที่เรานั่งเรือมา
ป้ายบอกทางไปถ้ำพระยานคร บ้านพัก และศูนย์บริการท่องเที่ยว ระหว่างทางที่เราจะเดินไปขึ้นเขาจะผ่านบ่อพระยานคร ซึ่งขุดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเจ้าพระยานครศรีธรรมราช เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชเมื่อครั้งที่เดินทางเข้ากรุงรัตนโกสินทร์โดยทางเรือ ได้นำเรือมาหลบพายุที่หาดแหลมศาลาเป็นเวลาหลายวัน จึงได้ขุดบ่อน้ำนี้ขึ้นเพื่อใช้ระหว่างหลบพายุ ชาวบ้านจึงเรียกบ่อน้ำนี้ว่า บ่อพระยานคร ระหว่างทางก่อนถึงทางขึ้นเขาไปยังถ้ำพระยานคร ก็มีป้ายเตือนสำหรับผู้มีโรคประจำตัว ให้พิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจขึ้นเขา เพราะเป็นทางสูงชัน
เดินผ่านบ่อพระยานครและป้ายเตือนผู้มีโรคประจำตัวมา ก็จะถึงทางขึ้นเขาระยะทาง 430 เมตรเพื่อไปยังถ้ำพระยานคร ทางขึ้นค่อนข้างชันและขุรขระ เส้นทางศึกษาธรรมชาตินี้ เป็นทางเดินเพื่อขึ้นไปชมถ้ำพระยานคร ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ สร้างขึ้นเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสในปี พ.ศ. 2433 ทางเดินนี้มีระยะทาง 430 เมตร ความลาดชันค่อนข้างสูง ใช้เวลาเดินประมาณ 30 นาที ผิวเส้นทางมีหินขุรขระจำนวนมากเกือบตลอดเส้นทาง จึงต้องใช้ความระมัดระวังในการเดินสูง
ทางเดินเริ่มชันมากขึ้นเรื่อยๆ เดินไปช้าๆถ้าเหนื่อยก็พักชมทิวทัศน์ทะเลสวยระหว่างทาง เดินบ้างพักบ้างจนในที่สุดก็เห็นป้ายชื่อถ้ำพระยานครอยู่ข้างหน้า แสดงว่าใกล้จะถึงแล้ว เฮ้อ! เหนื่อย จากป้ายนี้ก็ต้องเริ่มเดินลงเข้าถ้ำกันแล้ว จะได้เห็นพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์กันแล้ว ระหว่างทางเดินลงเข้าถ้ำ เราจะผ่านทำนบหินปูน เกิดในพื้นถ้ำที่เป็นทางน้ำไหลผ่านในอดีต เวลาที่น้ำไหลจะทิ้งตะกอนหินปูนและพอกพูนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมีลักษณะคล้ายเขื่อน เกิดการกักน้ำเป็นแอ่ง เมื่อน้ำเอ่อล้นและตกตะกอนผ่านเวลายาวนาน จึงค่อยๆ เกิดเป็นสันเขื่อนเหลื่อมล้ำกันในลักษณะขั้นบันไดเป็นชั้นๆ ลดหลั่นกันอย่างสวยงาม ปัจจุบันไม่มีน้ำผ่านบริเวณนี้แล้ว จึงไม่มีการเพิ่มทำนบหินปูนอีก เหลือเพียงความวิจิตรที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ไว้ให้
ทำนบหินปูนพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ เห็นแล้วหายเหนื่อย สวยงามมาก มีโพรงด้านบนให้แสงส่องมาที่ตัวพระที่นั่ง ส่วนคนโสดถ้าอยากมีคู่ก็ให้ลอดซุ้มนี้
สะพานมรณะ เป็นช่องว่างขนาดใหญ่เหนือศีรษะ เกิดจากชั้นหินบริเวณหลังคาถ้ำบางส่วนสึกกร่อนและยุบตัว พังหล่นลงมา บางส่วนที่มีความคงทนก็ยังคงสภาพไม่ยุบถล่มลงมา กลายเป็นสะพานหินธรรมชาติดังที่เห็น ที่เรียกสะพานมรณะก็เพราะมีสัตว์ที่หาอาหารอยู่ด้านบน ตกลงมาเสียชีวิตอยู่ด้านล่างเสมอๆ โพรงหินดังกล่าวเป็นการเปิดช่องว่างให้แสงส่องลงมาได้ ช่วยให้พืชพรรณต่างๆที่อยู่ด้านล่างเติบโตได้ ทำให้ถ้ำพระยานครแห่งนี้มีชีวิตชีวามากขึ้น ความจริงน่าจะเรียกสะพานนี้ว่าสะพานแห่งการกำเนิด สะพานมรณะหรือสะพานแห่งการกำเนิด?ในที่สุดเราก็มาถึงปากทางเข้าถ้ำพระยานคร
พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ เป็นพลับพลาแบบจัตุรมุข พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อคราวเสด็จประพาสถ้ำพระยานคร เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2433 พระที่นั่งนี้เป็นฝีพระหัตถ์ของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์ ทรงสร้างข้ึนที่กรุงเทพฯ แล้วส่งมาประกอบที่นี่ โดยมีพระยาชลยุทธโยธินเป็นนายงานก่อสร้าง พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ยังเป็นตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในปัจจุบันอีกด้วย
พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ในระยะไกล แต่ถ้า ใกล้เข้ามาอีกนิด พระที่นั่งสวยงดงามจริงๆ เด่นสง่าอยู่กลางถ้ำ ถ้ำพระยานครค้นพบโดยเจ้าพระยานครศรีธรรมราชเมื่อครั้งเดินทางเข้ากรุงรัตนโกสินทร์โดยทางเรือ ได้นำเรือมาหลบพายุที่หาดแหลมศาลาเป็นเวลาหลายวัน จึงได้สำรวจพบถ้ำที่อยู่ด้านบน และขณะเดียวกันก็ได้ขุดบ่อน้ำไว้ใช้ระหว่างหลบพายุที่นี่ เลยมีการตั้งชื่อบ่อน้ำว่า บ่อพระยานคร และตั้งชื่อถ้ำว่า ถ้ำพระยานครจนถึงปัจจุบันนี้
นอกจากนี้ถ้ำพระยานครยังเป็นถ้ำที่มีประวัติศาสตร์อันน่าจดจำมายาวนาน เนื่องจากเป็นถ้ำที่มีพระมหากษัตริย์ของไทยเสด็จประพาสถึง3พระองค์คือ รัชกาลที่5 เสด็จประพาสเมื่อวันที่20 มิถุนายน พ.ศ.2433 รัชกาลที่7เสด็จประพาสเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2469 และรัชกาลที่9 เสด็จประพาสถึง2ครั้ง เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2501และวันที่31พฤษภาคม พ.ศ.2524
พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ถ่ายจากด้านข้าง อีกมุมหนึ่งของพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ ก่อนออกจากถ้ำเราก็แวะไปไหว้อัฐิหลวงพ่อเงินวัดบางคลาน มีรูปเหมือนและโต๊ะหมู่บูชา พร้อมเชิงเทียนและกระถางธูปสำหรับประชาชนเข้ามากราบไหว้
หลังจากกราบสักการะอัฐิหลวงพ่อเงินแล้ว เราก็เดินลงไปยังหาดแหลมศาลา บอกเจ้าหน้าที่อุทยานให้โทรไปเรียกเรือตามเบอร์ที่ได้รับแจกมาตอนเช่าเรือ หลังจากนั้นประมาณ 5 นาที เรือก็จะมารับเราที่หาดแหลมศาลาเพื่อนำเรากลับไปที่หาดบ้านปูที่เราจอดรถไว้
เกี่ยวกับผู้เขียน: พิศาล มโนลีหกุล ศิษย์เก่าสวนกุหลาบ และเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ศึกษาต่อต่างประเทศด้วยทุนธนาคารกสิกรไทย อดีตกรรมการผู้จัดการ(คนแรก)ศูนย์วิจัยกสิกรไทย หลังจากเกษียณจากตำแหน่งประธานกรรมการศูนย์วิจัยกสิกรไทยแล้ว ก็ใช้เวลาส่วนใหญ่ขับรถเดินทางท่องเที่ยวทั่วประเทศ หาที่เที่ยวที่กินใหม่ๆ เขียนเรื่อง ท่องเที่ยวสไตล์พิศาลพาเที่ยว ท่องเที่ยวสไตล์พิศาลชวนกิน และท่องเที่ยวสไตล์พิศาลชวนพักให้ web OSK 80 และ Sanook.com
(คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขนาดใหญ่)
แวะชมแหล่งท่องเที่ยว เกาะช้าง เชียงคาน ภูเก็ต เขาใหญ่ และ ปาย
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook.. ได้ที่นี่เลย!!
อัลบั้มภาพ 44 ภาพ